มองสกว.ย้อนดู นครศรีธรรมราช (10-พัฒนาการสกว.และการเปลี่ยนผ่านความรู้)


ใช้ความหลากหลายของพืชพันธุ์ที่คัดเลือกมา(อย่าง)ดี ทำให้เกิดการผสมข้าม สร้างสายพันธุ์ใหม่และความหลากหลายของเชื้อพันธุ์ ผมเห็นว่าการเป็นนักวิทยาศาสตร์ในความหมายของการมีจินตนาการและความสนใจใคร่รู้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องคือข้อเด่นของอาจารย์วิจารณ์ พานิช

วันนี้เป็นวันแห่งความรัก ผมขออวยพรให้ชาวBlog gotoknowทุกท่านได้รับความรักและเกิดความรักขึ้นในจิตใจ ซึ่งเป็นที่มาของปิติและความสุขด้วยกันทุกคนครับ

เมื่อวานมีการประชุมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกันผ่านขบวนสวัสดิการชุมชนต่อเนื่องจากคราวที่แล้ว มีเรื่องราวเขียนเล่าได้อีกหลายตอน ที่จริงเรื่องราวที่ไหลเลื่อนเข้ามาทำให้ผมต้องใช้เวลาย่อยด้วยการเขียนเล่าไว้อย่างต่อเนื่องทุกวัน วันละหลายชั่วโมง แต่เนื่องจากผมได้แบ่งเวลาทำเรื่องสำคัญที่ไม่ด่วนไว้ทุกวัน วันละนิดละหน่อยคือ การออกกำลังกายและนั่งสมาธิ ผมออกมาเดินเล่นยามเช้าทุกวัน (ที่มหาวิทยาลัยอากาศสดชื่นดีมาก) วันละประมาณ 1 ชั่วโมง รวมกับรำไทเก๊ก24ท่าที่ผมฝึกหัดจากหนังสือและVCD ตอนเย็นเลิกงานกลับถึงบ้านพักก็มีนัดตีปิงปองกับลูกและเพื่อนๆของลูกซึ่งผมเป็นแชมป์มาหลายสมัยแล้ว เราจะเล่นกันไปเรื่อยๆก่อน เกมละ11ลูก พอจะเลิกก็เล่นจัดลำดับประจำวันว่าใครเป็นมือ1, 2, 3 บางทีถ้ามี4คนก็เล่นคู่ ผมใช้เวลาช่วงเย็นกับปิงปองชั่วโมงกว่า สำหรับการนั่งสมาธิก็มีทั้งช่วงเช้าและตอนกลางคืนวันละนิดละหน่อยซึ่งพักหลังนี้ รู้ตัวว่าสมาธิไม่ดี นั่งได้ไม่นานเท่าไร ผมใช้อานาปานสติของสวนโมกข์ในการฝึกฝนซึ่งไม่ก้าวหน้ากว่าเดิมเลย แต่ก็ทำไปด้วยระลึกถึงคำเตือนของหลวงปู่ชาว่า พยายามทำไป สบายก็ทำ เบื่อก็ทำ นึกขึ้นได้เมื่อไรก็ทำเมื่อนั้น ซึ่งอานาปนสติสามารถทำได้ทุกเวลา

การประชุมเมื่อวานทำให้ผมมองเห็นภาพการเชื่อมโยงงานในหลายระนาบ โดยหน่วยงาน/องค์กรในhardwareการปกครองของรัฐไทยทั้งส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งกำหนดเป้าหมายโดยมีกลไกการจัดการและแผนงาน/โครงการที่ซ้อนทับกันอย่างพิศดาร ซึ่งผมจะค่อยๆคลี่ภาพออกมาในตอนต่อๆไป สำหรับตอนนี้จะขอเล่าพัฒนาการของสกว.ด้วยมุมมองของผมซึ่งไม่ครบถ้วน ดังนี้

สกว.ก่อตั้งในช่วงเว้นวรรคทางการเมือง สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน โดยการเปลี่ยนhardwareใหม่จัดตั้งเป็นองค์การมหาชนเพื่อหนีhardwareเก่าของระบบราชการที่อุ้ยอ้ายด้วยกฏระเบียบเพื่อการตรวจสอบมิใช่เพื่อการทำงานด้วยคำขวัญ "สร้างสรรค์ปัญญา เพื่อพัฒนาประเทศ"โดยมีศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เข้ามาเป็นผอ.คนแรก สกว.ในยุคนั้นมีความเข้าใจ"ความรู้"ที่ต่างจากตอนนี้มาก โดยเฉพาะตัวของอาจารย์วิจารณ์ พานิชเอง ผมจำได้ว่าในปี2540 เมื่อครั้งยังเป็นเกษตรกรเอ็นจีโอ ผมได้ร่วมเป็นนักวิจัยโครงการวิจัยประชาคมในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช(สกว.ได้สร้างนวัตกรรมชุดโครงการวิจัยมาก่อนหน้านั้นแล้วซึ่งเข้าใจว่ามาจากฝีมือของผอ.คนปัจจุบัน) มีการประชุมสรุปงานชุดโครงการวิจัยจากทุกพื้นที่โดยเชิญอาจารย์วิจารณ์มาร่วมรับฟังข้อคิดเห็นในช่วงท้ายรายการเพื่อขอการสนับสนุนการเคลื่อนงานในระยะต่อไป

ในเวทีได้วางตัวพี่เดช(พุ่มคชา)พี่ใหญ่คนหนึ่งในวงการเอ็นจีโอเป็นผู้นำเสนอ ซึ่งพี่เดชก็พูดได้สะใจมาก ประเด็นเน้นคือ ควรเบาๆงานวิจัยแบบNATO(No Action Talk Only)ได้แล้ว แต่ควรสนับสนุนงานmovementของขบวนประชาสังคม ผมฟังแล้วเกิดอารมณ์ฮึกเหิมไปกับพี่เดชด้วย นั่งนึกว่าอาจารย์วิจารณ์จะตอบว่าอย่างไร?

คำตอบของอาจารย์ถือว่าเป็นมวยชั้นครูทีเดียว คือ อาจารย์ตอบโดยอ้างถึงพันธกิจของสกว.ว่าเป็นหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยมิใช่การเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นหมัดเด็ดที่ทำให้อารมณ์ฮึกเหิมของผู้ชมต้องสยบกับวาทกรรม"การวิจัยและความรู้"ของอาจารย์วิจารณ์ในสมัยนั้น

(ขอย้ำว่าเป็นการรื้อฟื้นความจำเมื่อ10ปีมาแล้ว) แต่วันนี้วาทกรรม"ความรู้"ของอาจารย์วิจารณ์ พานิช เปลี่ยนไปจากเดิมมาก แม้คนทำงานใกล้ชิดก็บอกเช่นนั้น ซึ่งผมก็รับรู้โดยตรงจากการ ส่งเสริมการจัดการความรู้ที่อาจารย์มาบุกเบิกตั้งขึ้นใหม่ภายใต้ร่มเงาของสกว.

อาจารย์ใช้วิธีการทางธรรมชาติในการพัฒนาองค์กร คือ ใช้ความหลากหลายของพืชพันธุ์ที่คัดเลือกมา(อย่าง)ดี ทำให้เกิดการผสมข้าม สร้างสายพันธุ์ใหม่และความหลากหลายของเชื้อพันธุ์ ผมเห็นว่าการเป็นนักวิทยาศาสตร์ในความหมายของการมีจินตนาการและความสนใจใคร่รู้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องคือข้อเด่นของอาจารย์ โดยที่หากตัดช่วงการทำงานเปลี่ยนผ่านทางความรู้ของสกว.เป็น3ช่วงสำคัญก็พอจะสรุปได้ดังนี้

ช่วงแรกเป็นการสนับสนุนงานวิจัยตามวาทกรรมความรู้ชัดแจ้ง(Explicit Knowledge)อย่างมีประ สิทธิภาพ(ตัวช่วยคือมีhardwareใหม่)อย่างมืออาชีพด้วยมาตรฐานงานวิจัยที่(เชื่อว่า)มีคุณภาพค่อนข้างสูง

ช่วงที่สองเป็นการสนับสนุนงานวิจัยที่คำนึงถึงความรู้ฝังลึก(Tacit knowledge)โดยเฉพาะภูมิปัญญาของคนเล็กคนน้อย รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งานวิจัยซึ่งมาจากภาคีต่างๆ งานนี้เริ่มขึ้นโดยอาจารย์ปิยะวัติ บุญ-หลง ผอ.คนปัจจุบันในกลุ่มงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น และงานวิจัยพัฒนาที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับนักวิจัยที่ไม่ใช่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น

ช่วงที่สามคือ การเกิดขึ้นของสคส. เป็นการเข้าใจ"ความรู้"ในความหมายที่กว้างขวางกว่าเดิมมาก

คำสำคัญ (Tags): #แก้จนเมืองนคร
หมายเลขบันทึก: 78421เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2007 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท