การตลาดพิพิธภัณฑ์


ในช่วงระหว่างปีใหม่ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนพิพิธภัณฑ์และศูนย์ศิลปะหลายๆ แห่งทั้งในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัด การไปและเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นั้นก็เป็นความสุขใจอย่างหนึ่งที่ได้เห็นและเรียนรู้เรื่องราวของศิลปะ วัฒนธรรม ของบ้านเราในหลายแง่มุม ก่อนไปพิพิธภัณฑ์นั้นผมก็ได้ศึกษาจากเว็ปไซต์นั่นแหละครับว่ามีที่ไหนบ้างและก็จัดเส้นทางไปดูชมเรื่อยๆ

ในบ้านเรานั้นพิพิธภัณฑ์นั้นก็มีอยู่หลากหลายประเภทจริงๆ ครับ เท่าที่ศึกษาดูในเว็ปไซต์นั้นพบว่ามีเป็นร้อยแห่ง และมีความหลากหลายของสิ่งที่จัดแสดงอยู่สูง ทั้งสถานที่บางแห่งก็อยู่ในรูปแบบของพิพธภัณฑ์แบบแต็มรูปแบบคือมีการจัดเรียงงานศิลปะ หรืองานวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปแบบ มีการให้ข่าวสารความรู้ที่ดี แต่บางที่นั้นก็ทำกันแบบแกนๆ คือมีคน มีสตางค์ก็ทำ ไม่มีก็ไม่ทำ ปล่อยไปเรื่อยๆ ผู้ดูแลคงคิดว่าใครสถานที่แบบนี้ในบ้านเราใครกันจะมีคนสนใจมาดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาหนาวๆ ของปีนี้ นักท่องเที่ยวทั้งไทยทั้งเทศก็แห่ขึ้นไปดูงานพืชสวนโลกที่จังหวัดเชียงใหม่กันเสียหมด พิพิธภัณฑ์และศูนย์ศิลปะในแถบนี้จะมีใครบ้างที่สนใจมา ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ ก็มีน้อยลงไปด้วย หรือไม่มีเอาเสียเลย

ช่วงเวลาที่ผมเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และศูนย์ศิลปะนั้นทำให้ผมได้ลองทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมาคือได้ไปที่ยวเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในหลายๆ ประเทศ ซึ่งสิ่งที่ผมเห็นแตกต่างออกไปจากบ้านเราคืองานพิพธภัณฑ์ในต่างประเทศนั้นเป็นสถานที่เรียนรู้เรื่องราวทางประวัติดศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมจากคนท้องถิ่นหรือคนต่างชาติที่เข้าไปท่องเที่ยวในประเทศเหล่านั้นกันมาก ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ลูฟท์ที่ฝรั่งเศส บอสตันมิวเซียมในมลรัฐแมสซาซูเซส ในสหรัฐอเมริกา หรือเอาแบบใกล้ตัวก็เช่นพิพิธภัณฑ์และสถานที่คาราวะศพของท่านประธานโฮจิมินห์ที่กรุงฮานอย ในประเทศเวียดนาม

หากท่านผู้อ่านได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนประเทศเวียดนามท่านอาจจะเคยไปคาราวะศพท่านประธานโฮจิมินห์ ได้เยี่ยมชมบ้านทรงเรียบง่ายที่ท่านประธานโฮจิมินห์ใช้เป็นที่พักผิงก่อนสิ้นอายุไข รวมทั้งได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่นำเอาชิ้นงานประวัติศาสต์ และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในช่วงยุคสงครามภายใต้การนำของท่านประธานโฮจิมินห์มาจัดแสดง ซึ่งมีทั้งจดหมายที่ท่านเขียน ภาพถ่ายที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ในขณะที่ท่านโฮจิมินห์ทำงานอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือข้าวของอุปกรณ์ต่างๆ ที่เคยใช้งานตลอดชั่วอายุไขของท่าน ดูแล้วก็ประทับใจครับที่ประเทศเวียดนามได้ยกย่องให้เกียรติท่านประธานโฮจิมินห์ทั้งในช่วงเวลาสงครามและหลังที่ท่านถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว

เรื่องที่น่าสนใจของนักการตลาดอีกประการหนึ่งก็คือในวันๆ หนึ่งๆ นั้นมีคนมาต่อแถวเพื่อเข้าเยี่ยมชมนับกันเป็นพันคนครับ มีทั้งคนเวียดนามเอง และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทั้งนี้ไม่รวมนักท่องเที่ยวที่หลังจากเข้าคาราวะศพแล้วยังไปเที่ยวชมในพิพิธภัณฑ์และสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ติดๆ กันอีกเป็นจำนวนหลายพันขึ้นเช่นกัน ทำให้สถานที่แห่งนี้ดูคึกคักตลอดวัน มีทั้งเด็กเล็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่มาเที่ยวชมกัน มีการทำกิจกรรมต่างๆ มากมายแทบตลอดปีเลยทีเดียว ทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นเป้าหมายหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่เมื่อไปเยี่ยมฮานอยต้องเป็นที่แวะเป้าหมายที่ขาดเสียไม่ได้ นอกจากนี้สถานที่คาราวะศพ และพิพิธฑภัณฑ์นั้นก็จัดวางสิ่งต่างๆ ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว แถมสะอาดสะอ้านน่าเดินชม มีเจ้าหน้าที่ และไกด์มาให้บริการ ไกด์หลายคนนั้นก็พูดภาษาไทยได้เสียด้วย พอสอบถามไปมาสำหรับไกด์ที่มีอายุหน่อยว่าทำไมถึงพูดภาษาไทยได้ชัดกันจัง ก็เพิ่งทราบความว่าไกด์เวียดนามเหล่านี้นั้นบางคนเกิดที่เมืองไทยครับ เนื่องจากพ่อแม่นั้นหนีภัยสงครามมาอยู่อาศัยที่บ้านเมืองเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบอาศัยอยู่กันแถบจังหวัดนครพนม พอพวกเขาโตขึ้นหน่อยก็อาสากลับไปที่เวียดนามเพื่อไปช่วยรบเพื่อชาติ ที่ตายไปก็เยอะที่อยู่รอดก็ตกลงทำมาหากินกันที่ถิ่นบ้านเกิดของพ่อแม่หลังสงครามสงบ ทำให้การนำเที่ยวและให้ความรู้ของไกด์เวียดนานั้นไม่ต้องใช้ภาษาต่างๆชาติมาเป็นภาษากลางเพื่อสื่อสารระหว่างกัน

พอนึกอย่างนี้ก็ย้อนกลับมาดูงานพิพิธภัณฑ์ที่บ้านเรา ในช่วงปีใหม่ที่ผมตระเวณไปเยี่ยมเยียน ผมพบว่าตลาดพิพิธภัณฑ์ในบ้านเรานั้นยังสดอยู่มากครับ คำว่า “สด”ของผมคือยังมีโอกาสอีกมากในการที่จะได้รับการพัฒนาและทำรายได้ให้กับประเทศของเรา ไหนๆ ทุกคนรวมทั้งชาวต่างชาติก็รับรู้กันอยู่แล้วว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่รุ่มรวยวัฒนธรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่บ้านเรานับว่ายังมีศิลปะวัฒธรรมอีกมากมายที่สามารถนำมาจัดแสดงเป็นงานพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร แต่งานพิพิธภัณฑ์ในบ้านเรานั้นยังไม่ไปถึงไหนเลย เท่าที่ผมได้สัมผัสผมคิดว่าพิพิธภัณฑ์ในบ้านเรานั้นแบ่งตามความเป็นเจ้าของสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ดังนี้ครับ

1. พิพิธภัณฑ์หรือศูนย์แสดงศิลปะที่เป็นของรัฐและดำเนินการโดยรัฐ
ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหากเป็นของรัฐและเป็นพวก ศิลปะ โบราณวัตถุ หรืองานอื่นๆ ก็จะอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ถ้าเป็นเรื่องการเกษตรก็อาจจะอยู่ในความดูแลของกระทรวงเกษตร
2. พิพิธภัณฑ์หรือศูนย์แสดงศิลปะที่เป็นขององค์กรอิสระ หรือมูลนิธิ สมาคมต่างๆ
พิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้นโดยองค์กรอิสระเหล่านี้อาจจะดำเนินการเองหรือให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ กลุ่มนี้ดูจะเป็นกลุ่มที่มีการจัดแสดงงานต่างๆ ที่คึกคักและเป็นมีการใช้การตลาดเข้ามาช่วยมากที่สุด
3. พิพิธภัณฑ์หรือศูนย์แสดงศิลปะของเอกชน
กลุ่มพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์ศิลปะที่เป็นของเอกชนนั้น อาจจะจัดตั้งขึ้นเป็นรูปองค์กรหรือเป็นบุคคลเพื่อแสดงงานศิลปะ โบราณวัตถุ หรือของสะสม ที่ตนเองเก็บรักษาเอาไว้เป็นอย่างดีและอยากที่จะแบ่งปันความรุ่มรวยของศิลปะให้ผู้อื่นได้รับชมกัน กลุ่มนี้ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งครับที่พยายามจะผลักดันให้คนเห็นค่าของศิลปะแขนงต่างๆ และมีการใช้ยุทธวิธีทางการตลาดบ้างเหมือนกัน แต่บางแห่งก็ต้องการเพียงแค่ให้ผู้คนได้รับรู้ถึงศิลปะที่ตนเองชอบและเก็บรักษาเอาไว้

อย่างไรก็ตามผมพิพิธภัณฑ์และศูนย์ศิลปะที่ผมไปเยี่ยมชมนั้นผมพบว่า พิพิธภัณฑ์และศูนย์ศิลปะของรัฐนั้นมีงานหลายชิ้นที่ล้ำค่า และมีชิ้นงานจำนวนมากชิ้นที่เป็นสมบัติของชาติ แต่วิธีการจัดการทางการตลาดนั้นดูแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย หากท่านเข้าไปเยี่ยมเว็ปไซต์พิพิธภัณฑ์และศูนย์ศิลปะของรัฐแล้วท่านจะรู้สึกว่า ไปดูแล้วได้อะไร เพราะมีข้อมูลมีน้อยมาก บางหน้านั้นมีแต่หัวข้อเช่น หน้ากิจกรรมนั้นแทบจะไม่มีอะไรเลยหลายเว็บ หน้ากิจกรรมนั้นแทบจะเรียกกันว่า “ว่างเปล่า” และผมก็คิดว่าคงจะว่างแบบนี้ไปอีกนาน แต่หากท่านผู้บริหารพิพิธภัณฑ์และศูนย์ศิลปะคิดเสียหน่อยว่า มีคนปีละนับแสนนับล้านที่เดินทางท่องเที่ยวในบ้านเรา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวนั้น ไม่ใช่ทุกคนหรอกครับที่ต้องการมาเที่ยวแต่สถานที่บันเทิง หรืออยากดูตึกรามบ้านช่องสูงๆ ของพวกนี้ที่บ้านเมืองเขาก็มีออกถมไป ทำไมต้องมาหาดูที่บ้านเรา แต่นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งที่มีรสนิยม มีกำลังซื้อสูง นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้แหละครับที่เป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของพิพิธภัณฑ์และศูนย์ศิลปะ ที่ตอนนี้เขาไม่มาก็เพราะเขาไม่รู้ครับว่าเรามีสิ่งเหล่านี้อยู่ การประยุกตืใช้การตลาดขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นการสร้างการรับรู้ สร้างความสนใจ เติมจุดขาย ก็สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เริ่มมองเห็น อยากค้นหางานศิลปะเหล่านี้ในบ้านเมืองเราได้แล้ว จากนั้นรายได้ที่เกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ก็นำมาหมุนเวียนจัดกิจกรรม ทำการแสดง จัดนิทรรศการ และจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก อาหาร สมุดภาพ หนังสือ หรือของจำลองต่างๆ ได้อีกมากมาย

บางท่านอาจจะมองว่าผมเอาการตลาดเข้าไปทำลายศิลปะ แต่หากท่านมองมุมกลับอีกมุมหนึ่งว่า ท่านจะหวงความรู้ของงานพวกนี้ไว้คนเดียวเหรอครับ เมื่อท่านเรียนรู้แล้วว่างานศิลปะเหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ในระดับไหน ท่านจะไม่นำความรู้เหล่านี้มาให้ผู้อื่นได้รับทราบบ้างเชียวเหรอครับ รูปแบบการจัดการตลาดพิพิธภัณฑ์และศูนย์ศิลปะอันที่จริงแล้วก็ไม่ใช่ของใหม่อะไร ที่ต่างประเทศก็ทำกันเยอะแยะ บางครั้งเป็นข้อดีเสียอีกเพราะรายได้ที่ท่านได้รับ อาจนำมาเป็นทุนต่อในการค้นหาศิลปะที่ท่านยังไม่เคยพบ และทำให้คนอื่นๆได้รับรู้ว่ามีสิ่งล้ำค่าเหล่านี้อยู่ในผืนแผ่นดินไทยของเรา

หากอยากจะลองตามผมไปดูสิ่งที่ผมเล่าให้ฟังและไปพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจบางที่ที่อยู่ไม่ไกลนักจากกรุงเทพ ท่านลองแวะไปที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียติ รังสิต อยู่ตรงข้ามกับร.พ.นวนคร นะครับ ท่านก็อาจจะมืความรู้รู้สึกร่วมแบบเดียวกับผมก็ได้ เพราะพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อันที่จริงแล้วเป็น พิพิธภัณฑ์ที่มีควมน่าสนใจเป็นอย่างมาก เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเกษตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย ในพิพิธภัณฑ์มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระอัจริยภาพของในหลวงของเราต่อเรื่องการทำการเกษตร พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีขนาดกว้างขวางประกอบด้วยหลายหมู่ตึก นอกจากนี้ยังมีข้าวของเครื่องใช้ที่ทรงพระราชทานให้ไว้กับพิพิธภัณฑ์มากพอสมควร แต่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งครับ แทบจะไม่มีใครไปเยี่ยมชมเลย ที่ท่านเห็นเดินกันเข้าๆ ออกๆ นั้นอย่างเพิ่งคิดว่าเขาไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นะครับ ที่จริงเขาไปฝึกอบรมกันครับ เพราะเนื่องจากมีการใช้สถานที่นี้ในการฝึกอบรมบ่อยครั้ง แต่ก็ดูเหมือนว่าผู้ดูและพิพิธภัณฑ์จะละเลยงานหลักในการจัดแสดงงานของพิพิธภัณฑ์ไป ตัวอาคารสถาปัตยกรรมของพิพิธภัณฑ์เองก็ในถูกออกแบบมาอย่างสวยงาม ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ แต่ก็เปิดน้อยครั้งเต็มทีเนื่องด้วยอาจเป็นเพราะเรื่องค่าใช้จ่าย ที่ต้องเปิดเครื่องปรับอกาศทิ้งโดยไม่ค่อยมีใครมาเยี่ยมชม

ผมเองก็ไปเยี่ยมที่แห่งนี้มาหลายครั้งแล้วครับ และแอบปลื้มใจอยู่เงียบๆ เมื่อเห็นงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้กับเราทุกคน แต่ก็แอบเสียใจอยู่มากๆ ที่เห็นสถานที่นี้ขาดการดูแลเอาใจใส่ แบบจำลองมีฝุ่นผงจับอยู่เต็มไปหมด ที่จอดรถสำหรับผู้เข้าชมมีแต่ความว่างเปล่า ที่จอดรถด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ก็กลายเป็นที่จอดทั้งรถมอเตอร์ไซด์และจักรยานของฝูงชนที่มีมาทำงานในแถบนั้น

ผมเชื่อว่าอันที่จริงแล้วความต้องการในการชมพิพิธภัณฑ์ของเราก็มีมากไม่แพ้ชาติอื่นหรอกครับ เพราะหากดูจากผมเข้าชมงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติที่จัดขึ้นที่เมืองทองธานีในช่วงเฉลิมฉลอง 60 ปีทรงครองราชย์นั้น เนืองแน่นจนรถติดกันยุ่งเหยิงไปหมด นอกจากนี้ยังมีผู้เข้าชมงานนับเป็นล้านๆ คน เสียดายที่งานเหล่านั้นมีเพียงแค่ครั้งแค่คราวไม่ต่อเนื่อง แต่งานพิพิธภัณฑ์นั้นหากจัดกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ในปีๆหนึ่งผมเชื่อว่าสามารถทำรายได้ที่จะนำมาใช้เจือจุนให้พิพิธภัณฑ์สามารถอยู่รอดได้อย่างสบายๆ หรืออย่างน้อยก็ไม่ต้องพึ่งพิงงบประมาณจากส่วนกลางทั้งหมด แถมคนไทยเองก็จะได้ศึกษา เรียนรู้สิ่งที่ดีมีคุณค่าที่เราทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันด้วยครับ

บุริม โอทกานนท์

หมายเลขบันทึก: 78082เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2007 00:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จริงครับ อาจารย์

ผมชอบเข้าพิพิธภัณฑ์ ได้ความรู้ดีครับ ได้เห็นประวัติศาสตร์ หลายๆอย่าง ชาติเรามีดีมากมาย เป็นการจัดการไม่ค่อยดีเลย

ผมชอบตั้งคำถามประจำ เลยครับว่า ทำไมคนไทยไม่ค่อยเข้าพิพิธภัณฑ์ แต่เวลาไปทัวร์ต่างประเทศ หลายประเทศเค้าก็จะพาเข้าพิพิธภัณฑ์ของเค้าทั้งนั้น

บ้านเรา ประวัติมีมานานมาก จนมีพิพิธภัณฑ์หลากหลายแบบมาก มีให้เที่ยวได้มาก ส่งเสริมการท่องเที่ยวท่องถิ่นเยอะมาก ให้ความรู้ที่เป็นความภูมิใจในชนชาติ

แต่การที่จะให้ใครมาเที่ยวชม แต่ตัวพิพิธภัณฑ์เองกลับ ดูเป็นที่ที่เข้าถึงยาก ลำบาก เวลามีจำกัด 

ผมว่าเมืองไทยพิพิธภัณฑ์ ต้องพัฒนาอีกมากเลยครับ

พิพิธภัณฑ์การเกษตร เคยได้ยินสมัยก่อสร้างใหม่ๆนะ เลยยังไม่รู้ว่าเสร็จแล้วนะครับ

คงต้องหาเวลาไปแล้วครับ ขอบคุณครับที่แนะนำครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท