เรื่องเล่าจากดงหลวง 20 ขึ้นภูดูแหล่งน้ำซับ


“ในมโนสำนึกผมได้ยินชาวบ้านพูด..ว่า..ตอนเราออกจากป่าทางราชการสัญญาจะให้โน่นให้นี่เพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีให้แก่พวกเราผู้ยากจน น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับเราที่จะใช้บริโภคใช้ปลูกพืช เราขอตามระบบแต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา...ปล่อยให้เราคอยไปอีกนานเท่าไหร่กัน.....”

1.        ขึ้นภู :  ชาวบ้านที่เราทำงานด้วยร้องขอการพัฒนาแหล่งน้ำซับจากภูเขามาสู่หมู่บ้าน พวกเราจึงตัดสินใจเดินทางขึ้นไปสำรวจ มีคณะเดินทางไปด้วยมากกว่า 10 คน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรไทบรู ต.ดงหลวง เดินออกจากหมู่บ้านกว่าจะถึงตีนภูก็ประมาณ 3 ก.ม. ผ่านอ่างเก็บน้ำห้วยขี้หมูที่กรมชลประทานมาสร้างไว้ และมีท่อระบายน้ำเพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก ชาวบ้านว่ามีใช้ประโยชน์บ้างแต่ไม่มากเท่าที่ควร เดินขึ้นภูไป เห็นกองหินคล้ายปิรามิดอยู่ข้างทาง ชาวบ้านว่านี่คือการแสดงความเคารพต่อเจ้าป่าเจ้าเขา คนที่ขึ้นภูลงภูจะต้องเอาเศษหินมากองรวมกันตรงนี้ทุกครั้ง ? ยิ่งสูงขึ้นสภาพป่ายิ่งหนาแน่นมากขึ้น เราใช้เส้นทางเดินป่า บางช่วงมีร่องรอยทางรถยนต์ ชาวบ้านว่ามีรถขึ้นมาข้างบนลากไม้สมัยการสัมปทานป่าหลังพวกเขาออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยแล้ว  

 

ต้นไม้ใหญ่ที่เราเห็นตอที่ผ่านมานั้นแหละคือสภาพเดิมของป่าที่เห็นนี่คือป่าฟื้นตัว  แต่กระนั้นก็ตามความอุดมสมบูรณ์ผู้เขียนรู้สึกว่ายังมีอยู่มากพอสมควร  โดยเฉพาะสมุนไพรป่า เดินไปเรื่องยๆสองข้างทางมีต้นไม้ต่างๆ พ่อชาดี วงษ์กะโซ่ผู้ส่งข้าวส่งน้ำให้ท่านพันโทโพยม จุฬานนท์ก็บอกให้รู้ว่า นี่ต้นอะไร นั่นต้นอะไร เป็นสมุนไพรใช้รักษาโรคอะไร  ผู้เขียนไม่ได้บันทึกไว้ในช่วงนั้น แต่ก็มากพอควร โดยเฉพาะต้นหมากเหน่ง หรือ เร่ว ที่เคยกล่าวถึงมาแล้วว่าเป็นสมุนไพรที่เอาไปเป็น ส่วย ส่งเมืองบางกอกเมื่อสมัยก่อน  พ่อชาดี และชาวบ้านพาไปดูแหล่งของมัน  เราได้สัมผัสแหล่งมันแล้ว เป็นดง อยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ถ้าชาวบ้านไม่บอกเราก็จะเดาว่าเป็นต้นข่าป่า เราเห็นผลมันด้วย ชาวบ้านกล่าวว่าสมัยก่อนเข้าป่าร่วมกับ พคท. นั้น หมากเหน่งเป็นดงใหญ่มากแม้ตีนเขาก็มีมากมาย เมื่อชาวบ้านต้องการที่ดินปลูกปอ ปลูกมัน ปลูกอ้อย ก็เผาทำลายหมากเหน่งหายไปหมด 

 

เราได้เห็น ต้นช้างน้าวป่า  ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดมุกดาหาร  คนในเมืองมุกดาหารเรียกอีกชื่อว่า ต้นตรุษจีน เพราะจะออกดอกสีเหลืองเต็มกิ่งก้าน ในช่วงตรุษจีนพอดี  สวยงามมาก  ชาวบ้านจะตัดกิ่งมันที่กำลังออกดอกตูม เอาไปขาย กิ่งละ 20 บาทขึ้นไป เอาไปจุ่มน้ำในแจกันหรือขวดหรือภาชนะใหญ่ๆหากกิ่งนั้นใหญ่ แล้วเมื่อดอกบาน จะมีสีเหลืองสวยมาก  ไม่มีกลิ่น อยู่นานเป็นเดือนๆแล้วก็โรยดอกลง แต่กลับแตกใบอ่อนแทนที่ 

 

เราพบต้น ตะไคร้ต้น เถาวัลย์ม้ากระทืบโรงและอื่นๆ ที่นี่อุดมด้วยสมุนไพร  พวกเราพูดถึงการอนุรักษ์กัน  พ่อชาดีก็ว่าส่วนมากชาวบ้านก็มาหาไปกินไปใช้ ไม่ได้เอาไปขายอะไร  หากแต่ชาวบ้านแถบนาแก ที่มักขึ้นมาเอาไม้ และเอาสมุนไพรไปขายด้วย  เพราะอาศัยภูแหล่งเดียวกัน  ระหว่างทางชาวบ้านคนหนึ่งเห็นเถาวัลย์ชนิดหนึ่งที่มีขนาดลำต้นเท่านิ้วก้อยแต่ยาวมาก หมายตาไว้ว่าขาลงจะมาเอาไปใช้ประโยชน์ ชาวบ้านบางคนหอบเอาเครื่องมือดักหนูป่ามาด้วยเขาเรียก หล่วง จำนวนมากกว่า 20 ชิ้น เดินไปก็เอาไปวางดักไป โดยใช้ปูที่หาเก็บตามแหล่งน้ำในป่า ฉีกเป็นท่อนๆ ล่อหนูมากิน ทิ้งไว้ข้ามคืนบ้าง แล้วค่อยขึ้นมาเก็บ เรายังสงสัยว่าเมื่อเอาไปวางดักหนูป่าแล้วจำได้หรือว่าวางตรงไหนบ้าง เพราะจำนวนมากขนาดนี้ เขาบอกว่าจำได้หมด...

 

2.        อาหารกลางวัน: รวมประมาณ 5 ชั่วโมงที่เดินขึ้นภูก็ถึงแหล่งน้ำซับ และเป็นช่วงเที่ยงวันพอดี เหนื่อย เหงื่อเต็มตัว และหิวข้าว...  เราเตรียมข้าวเหนียวและไก่ย่าง น้ำพริก และของชอบของใครก็เตรียมมา ส่วนชาวบ้านเห็นห้อยย่ามคนละใบ นึกว่าจะมีอย่างที่เราเตรียมแต่ไม่ใช่ครับ มีแต่ข้าวเหนียว ส่วนกับข้าวหรือ.... ชาวบ้านแยกย้ายกันไปเดินตามลำธารที่น้ำซับไหลรินไปนั้น สักพักเล็กๆพอเรานั่งหายเหนื่อย ชาวบ้านกลับมาพร้อม ปูคาย ในลำธารหลายตัว และเขียดป่า ชาวบ้านบางคนก่อไฟเตรียมไว้ก่อนแล้วเหมือนรู้กัน เอากิ่งไม้ป่ามาผ่าซีกแล้วคีบปู คีบเขียดทั้งหมด  ย่างบนกองไฟที่ชาวบ้านเอาไว้เหลือแต่ถ่านแดงๆ....ปูบางตัวก็ไม่ได้เสียบ ทิ้งเข้ากองไฟไปเลย คลุกขี้เถ้า แล้วก็คอยหยิบกลับไปกลับมาให้ปูสุกทั่วตัว  

 

ชาวบ้านอีกคนไปเอาหม้ออลูมิเนียมมาจากไหนไม่ทราบดำปี๋เลย เอา เขียดใส่ลงไปใส่น้ำและเครื่องปรุงที่เตรียมติดตัวมาตั้งไฟบนกองที่เป่าให้ลุกแล้ว  สอบถามว่านั่นคือแกงป่า  หม้อนั้น เหมือนเป็นของสาธารณะไม่มีเจ้าของ เมื่อใช้เสร็จแล้วก็ล้างแล้วแขวนทิ้งไว้ที่ต้นไม้นั่น ใครผ่านไปผ่านมาก็มาใช้ประโยชน์ได้ แล้วก็เอาไว้ที่เดิม...เผื่อคนอื่นๆจะได้มาใช้ต่อไป....(แหม...จิตใจเขานี่...ทำด้วยอะไรนะ..ประเสริฐแท้แท้)  ชาวบ้านคนที่ไม่ได้ปรุงอาหารต่างก็ไปหักกิ่งไม้เล็กๆที่มีใบมาวางรองนั่ง เตรียมทำเป็นลานกินข้าว  บางคนก็ไปเก็บใบไม้ป่าอ่อนๆที่กินได้ ล้างน้ำแล้ววางกองไว้ เตรียมจิ้มแจ่ว ง่ายจริงๆ.....ชีวิตในป่านี่...

 

เมื่อทุกอย่างพร้อม ผู้อาวุโสก็หยิบข้าวเหนียวมาปั้นหนึ่ง ยกขึ้นท่วมหัวพร้อมบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขาที่อยู่ในบริเวณนี้ มากินข้าวด้วยกัน...แล้วก็เอาข้าวปั้นนั้นวางไว้ที่ รอยบาก ที่ต้นไม้ใกล้ๆลานกินข้าว ความสูงขนาดตัวคน  เป็นการเซ่น ไหว้เจ้าป่าตามความเชื่อของชาวบ้าน...น้ำแกงป่าร้อนๆ เขียดย่างหอมหอม ปูป่าหอมกรุ่น ข้าวเหนียวนุ่ม น้ำพริกและแจ่วรสแซบ...พร้อมกับความหิว.....เป็นข้าวป่าที่อร่อยที่สุดครับ...

3. เก็บข้อมูล กลับบ้าน และความผิดหวัง: เสร็จมื้อเที่ยง ทุกคนก็เก็บกวาด เอาน้ำมาดับกองไฟ คืนภาชนะต่างๆเข้าที่เดิม แล้วก็เริ่มเก็บข้อมูล ต่างๆทางวิศวกรรม ซึ่งในทีมของเรามีน้องวิศกรร่วมเดินทางไปด้วย สอบถามรายละเอียดต่างที่จำเป็นทางเทคนิคและข้อมูลในฤดูกาลต่างๆ ตรวจสอบปริมาณน้ำที่ไหลออกมา ถ่ายรูปแนวทางที่จะทำท่อส่งน้ำ จับพิกัดด้วยเครื่อง GPS  ฯลฯ แล้วทั้งหมดก็เดินลงดอย ชาวบ้านแต่ละคนมีของป่าติดมือมาคนละอย่างสองอย่าง ส่วนมากเป็นเถาวัลย์ยาวมากที่ม้วนเป็นขดกลมๆ เขาบอกว่าเอาไปถักภาชนะดักปลา  พ่อชาดีและพ่อเวชได้สมุนไพร พ่อหวังได้ข่าป่า... ส่วนพวกเราได้ข้อมูล ภาพ และความทรงจำที่ไม่ลืมเลือน..  ต่อมาเรานำข้อมูลทั้งหมดเขียนเป็นโครงการตามแบบฟอร์มราชการเสนอขอรับการสนับสนุนจาก ส.ป.ก. ผลตอบมาว่า ไม่สามารถสนับสนุนได้ เพราะทั้งหมดอยู่ในเขตป่า นอกเขต ส.ป.ก. เรานำข่าวไม่ดีไปบอกชาวบ้าน...ด้วยความเศร้า.. ในมโนสำนึกผมได้ยินชาวบ้านพูด..ว่า..ตอนเราออกจากป่าทางราชการสัญญาจะให้โน่นให้นี่เพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีให้แก่พวกเราผู้ยากจน น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับเราที่จะใช้บริโภคใช้ปลูกพืช เราขอตามระบบแต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา...ปล่อยให้เราคอยไปอีกนานเท่าไหร่กัน.....

คำสำคัญ (Tags): #น้ำซับ
หมายเลขบันทึก: 77719เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2007 00:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 04:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ลูกช้างรหัส 32และ36 มารายงานตัวครับผม..
  • ขอต้อนรับลูกช้าง ที่น่ารักทุกคน
  • พี่น่ะหรือ..แหะ.แหะ.... ระหัส 12 ครับ
  • หากน้องๆมีโอกาสไปทางมุกดาหารนะครับ พวกเรารวมกลุ่มกันแน่นปึกเลย ให้ไปหาที่ร้าน "วาย วาย วาย" ริมโขงนะครับ ที่นั่น ระหัส 14 เปิดร้านอาหาร และพวกเรานัดพบกันทุกพุธต้นเดือน  หากลูกช้างคนใดหลงป่าไปทางมุกดาหารก้เชิญแวะนะครับ 
  • หรือใครข้องการข้อมูลไปเที่ยวลาวสะหวันนะเขต เที่ยวเวียตนามละก้อ เชิญติดต่อครับ
  • ไม่ใช่ลูกช้าง.. ลูกหมี.. ลูกแมว...ก็ยินดีเช่นกันครับ อิ...อิ..เพื่อนชาว Blog ยินดีต้อนรับทุกท่าน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท