ชีวิตที่พอเพียง : 215. ภูมิใจที่ได้บริจาคเพื่อสังคม


           วันที่ ๑๘ ม.ค. ๕๐ ผมนั่งประชุมคณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์    มีวาระพิจารณาเงินเดือนของประธานคณะกรรมการบริหาร (Chairman of the Executive Committee and CEO)  และของกรรมการผู้จัดการใหญ่    ซึ่งเงินเดือนเท่าไรผมเปิดเผยไม่ได้

  
             แต่ตัวเลขเงินเดือนนี้ทำให้ผมนึกถึงเมื่อราวๆ ปี ๒๕๓๘ - ๒๕๓๙ ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต  ซึ่งเป็นประธานกรรมการนโยบาย สกว. บอกผมว่า  "เงินเดือนของคุณหมอต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับเงินเดือนของภาคเอกชน คุณหมอควรได้ ..." ตัวเลขที่ท่านเอ่ยเท่ากับประมาณ ๓ เท่าของเงินเดือนที่ผมได้รับในขณะนั้น     ผมนึกในใจและพูดกับท่านและคนอื่นๆ ว่า แค่นี้ก็เกินพอแล้ว      ได้มากเกินไปไม่ดี

            มาเห็นตัวเลขเงินเดือนของผู้บริหารธนาคารในตอนนี้    ผมเกิดความรู้สึกภูมิใจตนเอง   ที่ได้รับเงินเดือนที่ผมเองคิดว่ามากกก (ก หลายตัว แปลว่าเกินพอ)    แต่จริงๆ แล้วเป็นเสมือนว่า ในมาตรฐานของภาคธุรกิจเอกชน     ผมรับเงินเดือนต่ำกว่าความเป็นจริงหลายเท่าตัว     โดยที่ผมทำงานแบบมีเป้าหมายรับใช้สังคมอย่างทุ่มเท     และหลายครั้งก็เกิดความเครียดเหมือนพวก ซีอีโอ ของภาคธุรกิจนั่นแหละ     จึงสามารถคิดได้ว่า เงินเดือนส่วนต่างจากที่ผมได้จริง กับอัตราเงินเดือนของภาคธุรกิจ เป็นส่วนที่ผมบริจาคให้แก่สังคม     นี่เป็นการคิดเข้าข้างตัวเอง     แต่ก็ทำให้ผมเกิดความสุข ความภูมิใจ ที่ได้ "บริจาคเพื่อสังคม"

           วิธีคิดแบบนี้ ไม่ใช่เพื่อยกอัตตา หรือโอ้อวดตน     แต่เป็นวิธีคิดเพื่อสร้างจิตใจที่พอเพียง     และเห็นคุณค่าของการทำประโยชน์ให้แก่สังคม     มากกว่ามูลค่าของเงินเดือนที่ได้รับ     เงินเดือนเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้     แต่ไม่ใช่ตัวความสุข     ไม่ใช่เงินเดือนมากยิ่งมีความสุขมาก     ผมฝึกฝนตนเองให้เอาความสุขไปไว้ที่การทำประโยชน์ให้แก่หน่วยงาน แก่สังคม     ไม่เอาไปไว้ที่ตำแหน่ง หรือระดับเงินเดือน

           ความเกินพอดีของระดับเงินเดือน แบบสุดๆ อยู่ในบริษัทยาข้ามชาติ     และบริษัทข้ามชาติอื่นๆ มีคนบอกว่า เงินเดือนและค่าตอบแทนพิเศษอาจจะถึงปีละ ๑๕๐ ล้านดอลล่าร์ คือกว่า ๕,๐๐๐ ล้านบาท      ย้ำว่าเป็นรายได้ของ ซีอีโอ บริษัท ในปีเดียว 

วิจารณ์ พานิช
๑๙ ม.ค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 77063เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2007 08:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 18:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เค้าจะเอาเงินนั้นไปทำอะไรนักหนานะคะ อาจารย์ น่าจะพากันไปทำมรณานุสติบ่อยๆ ให้เห็นว่าตอนที่นอนสงบนิ่งหมดลมหายใจไปแล้วนั้น เงินที่ได้มามากมายก็เอาไปด้วยไม่ได้ สิ่งที่อยู่กับตัวได้ตลอดเวลา แม้ในยามป่วยมากจนทำอะไรไม่ได้แล้วก็คือ ความภาคภูมิใจในตัวเอง ยิ่งถ้าเราได้ทำประโยชน์อะไรให้ใครๆไว้มากมายเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งมีเก็บไว้ในใจเรามากเท่านั้น ติดอยู่กับตัวเราแน่นอน ไปไหนไปด้วย แล้วยังมีส่วนก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำดีเพื่อผู้อื่นต่อๆกันไปอีกด้วย เหมือนที่อาจารย์ทำเป็นแบบอย่างนี้แหละค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ที่บอกความดี สิ่งดี ออกมาดังๆ ทำให้พวกเราอยากบอกความดี สิ่งดีที่เราทำ ไม่ต้องเก็บเอาไว้ รู้สึกวัฒนธรรมการไม่อวดอ้างความดี ทำให้คนทำดีไม่กล้าชวนคนอื่น ความดีก็เลยเหมือนของที่ต้องแอบทำ ถ้าคนที่เป็นผู้ใหญ่ของสังคม บ้านเมืองบอกเล่าเหมือนที่อาจารย์ทำ จะดึงให้คนดีๆเปิดตัวแล้วส่งพลังให้คนอื่นทำดี น่าจะยิ่งดีกันใหญ่ ในยามที่โลกชอบเอาความไม่ดีมาแฉกันเกินไป กลายเป็นการเชิญชวนประชาสัมพันธ์ให้ดังไปโดยปริยาย

ได้อ่านที่อาจารย์บันทึกแล้วเรียนว่าอาจารย์ คิดถูกต้องแล้ว เพราะ เงินเป็นเพียงสะพานเท่านั้นเอง  ขณะนี้คนส่วนใหญ่เห็นเป็นสำคัญ สังคมจึงวุ่นวายไม่แบ่งบัน เหตุร้ายๆตามมาเป็นระยะๆลืมคิดว่าตายแล้วเอาอะไรไป ไม่ได้เลยทายาทที่อยู่ข้างทะเลากันกันอีกเป็นบาปต่อเนื่องอีก

ในยุคปัจจุบันเงินได้มาเป็นปัจจัยหลักของการดำรงชีวิตของคนไปเเล้ว  การใช้ชีวิตอย่างพอเพียงละครับดีที่สุด

รู้สึกว่ารวย เพราะมีเกินพอ อยู่แล้ว

 อ่านบล็อกของอาจารย์  ได้ความรู้สึกดีๆว่า  รวยบุญด้วย

เราก็ได้บริจากให้สังคมด้วยส่วนต่างเงินเดือนด้วย ภูมิใจไปด้วยค่ะ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท