ชีวิตที่พอเพียง : 211. ให้สัมภาษณ์ จดหมายข่าวประชาคมวิจัย


สร้างระบบวิจัยของประเทศให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น แต่มีกลไกให้ coordinate กัน มี feedback loop ให้ต้องทำงานร่วมมือกันอย่างซับซ้อน โดยความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ของระบบไม่เน้นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แต่เน้นความสัมพันธ์เชิงการอยู่รอดร่วมกัน

ชีวิตที่พอเพียง  : 211. ให้สัมภาษณ์ จดหมายข่าวประชาคมวิจัย

         ผู้รับผิดชอบจัดทำ "ประชาคมวิจัย" ของ สกว. คือคุณขวัญชนก โชติช่วง  อดีตเลขาของผม ที่ทำงานเก่งจนผมแนะนำ สกว. ให้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ ไปทำ ประชาคมวิจัย     และก็ไม่ผิดหวัง เธอทำให้ ประชาคมวิจัย ดีขึ้นทันตา

        เธอส่งคำถาม ๗ ข้อมาขอสัมภาษณ์ผมในวันพรุ่งนี้     ผมเตรียมคำตอบย่อๆ ไว้     จึงนำมาลงบันทึกไว้แลกเปลี่ยนแก่แฟน บล็อก ด้วย     (และเพื่อให้เห็นว่า ผมต้องใช้เวลาเตรียมงานต่างๆ มาก    จึงต้องขออภัยแฟน บล็อก ที่ไม่ค่อยได้ตอบข้อคิดเห็น) ดังต่อไปนี้

ประเด็นสัมภาษณ์
“เหลียวหลังแลหน้า  กว่าจะได้งานวิจัยเด่น สกว.”
เพื่อลงจดหมายข่าว “ประชาคมวิจัย” ฉบับที่ 71 (ม.ค.-ก.พ. 50)
Theme “19 งานวิจัยเด่น สกว.”

ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช
ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
นัดสัมภาษณ์ วันที่ 5 ก.พ.50 (8.00 น.)

1. ความเห็นต่อการคัดเลือกให้มีนักวิจัยดีเด่น โครงการดีเด่น ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
          คำตอบ
              เป็นสิ่งดี   มีประโยชน์ต่อสังคม   เป็นการนำเสนอสาระดีๆ แก่สังคม    เป็นคล้ายๆ การเข้าไปช่วงชิงพื้นที่ข่าวในสื่อมวลชน     ซึ่งมักเอาใจใส่ข่าวร้าย หรือข่าวความขัดแย้ง มากกว่าข่าวดี


2. เหตุผลที่ สกว.จัดให้มีการคัดเลือกผลงานวิจัยเด่น 
                    คำตอบ
                         ตอนที่ผมทำหน้าที่ ผอ. สกว. เราถูกคณะกรรมการบ่น หรือตำหนิ ว่ามีผลงานมาก แต่ไม่ค่อยเป็นข่าว     คนไม่รู้จักผลงานของ สกว.     ในที่สุดเราก็ทดลองและค้นพบ ว่าการจัดให้มีการประกาศผลงานวิจัยเด่นประจำปี เป็นเครื่องมือดึงดูดความสนใจของสื่อมวลชน    และช่วยให้ข่าวผลงานวิจัยได้ลงในสื่อสารมวลชนมากขึ้น


3. การคัดเลือกผลงานวิจัยเด่นในยุคแรกต่างกับยุคปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร
                  คำตอบ
                       การคัดเลือกในยุคแรกเราใช้คำว่า สิบผลงานวิจัยเด่น    ตอนนี้เรามีผลงานวิจัยเด่นมากกว่าสิบ     จนคัดเลือกให้เหลือ ๑๐ ยาก     จำนวนจึงมากขึ้น
                        สมัยก่อนผลงานวิจัยเด่นมีไม่หลากหลายแบบอย่างในปัจจุบัน     ยังไม่มีงานวิจัยท้องถิ่น    เราเน้นงานวิจัยที่มีผลนำเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างชัดเจนหรือกว้างขวาง     และแยกเอาผลงานวิจัยที่มีการอ้างอิงสูง หรือมี high impact factor เอาไปยกย่องในอีกรูปแบบหนึ่ง


4. คิดว่าควรมีการปรับปรุงวิธีการคัดเลือกผลงานวิจัยอย่างไรบ้าง
                 คำตอบ
                       น่าจะปรึกษาหารือกัน    มองหาทางจัดยกย่องผลงานวิจัยเด่นหลายๆ แบบ    และจัดเผยแพร่ในหลายโอกาส    เช่นในวันนักประดิษฐ์ (๒ ก.พ. ของทุกปี) จัดเผยแพร่ผลงานที่เข้าข่ายงานประดิษฐ์เด่น ๑๐ รายการ     ในวันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จัดเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมดีเด่น ๑๐ รายการ    ในวันเด็ก จัดยกย่องผลงานวิจัยที่ทำโดยเยาวชน (เช่นผลงานวิจัย คปก.) หรือเกี่ยวกับเยาวชน   เป็นต้น     แต่ต้องคำนึงว่า เรามีผลงานที่ดีจริงๆ และไม่เป็นการโหมประชาสัมพันธ์จนเกินพอดี

        
5. มองอนาคตของระบบวิจัยในประเทศไทยเป็นอย่างไร
               คำตอบ
                  ระบบวิจัยในปัจจุบันของประเทศไทยก้าวหน้ากว่าเมื่อ ๑๕ ปีที่แล้วอย่างชัดเจน      เราเห็นพ้องกันว่า “การจัดการงานวิจัย” ในทุกระดับ มีความสำคัญ    เราได้สร้างและสั่งสมความรู้และทักษะในการจัดการงานวิจัย    โครงการ คปก. ได้ช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้บัณฑิตศึกษาและการวิจัยเข้ามาเสริมพลังซึ่งกันและกัน    และช่วยทำให้เกิดมิติใหม่ของความร่วมมือวิจัยกับต่างประเทศ บนฐานของความเท่าเทียมกัน     สังคมไทยในภาพรวมมองเห็นคุณค่าของงานวิจัยมากขึ้น
                   ในอนาคตระบบวิจัยของประเทศจะต้องซับซ้อนมากขึ้น    มีหน่วยงานเข้ามาทำหน้าที่สนับสนุนการวิจัยมากขึ้น     เวลานี้ผมกำลังมีบทบาทเป็นประธานคณะทำงานยกร่าง พรบ. การวิจัยสุขภาพ    เสนอจัดตั้งหน่วยงานอิสระของรัฐ ๒ หน่วย คือสภาวิจัยสุขภาพ  และสำนักงานสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ    ผมมองว่าประเทศไทยต้องการหน่วยงานมันสมองของชาติที่ทำหน้าที่ “จัดการระบบวิจัย” ให้ระบบวิจัยมีการพัฒนา (เปลี่ยนแปลง) ไปในทางที่นำการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม-เศรษฐกิจ (ไม่ใช่ตอบสนอง  แต่นำไปข้างหน้า)
                   ผมมองว่าระบบวิจัยเป็นสมองของสังคมหรือประเทศ   เปรียบเสมือนสมองของสัตว์    เราจะเห็นว่าเมื่อสัตว์วิวัฒนาการเป็นสัตว์ชั้นสูงขึ้น สมองจะต้องซับซ้อนขึ้น    และส่วนต่างๆ ของสมองจะต้องทำงาน coordinate กันอย่างว่องไวทันการณ์    ระบบวิจัยของประเทศต่างๆ ที่ระดับการพัฒนาสูง ก็เป็นเช่นนั้น    ถ้าเราไม่พัฒนาระบบวิจัยของเราไปในทางที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงถึงกัน     การพัฒนาประเทศจะไม่ราบรื่น   สังคมที่ตัวใหญ่ สมองเล็ก กินจุ  จะปรับตัวไม่ได้ดี และจะล่มสลาย   


6. ถ้าจะให้ประเทศไทยเข้มแข็งด้านการวิจัย ผู้บริหารประเทศควรมีนโยบายและมาตรการอย่างไร
              คำตอบ
                  สร้างระบบวิจัยของประเทศให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น    แต่มีกลไกให้ coordinate กัน    มี feedback loop ให้ต้องทำงานร่วมมือกันอย่างซับซ้อน    โดยความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ของระบบไม่เน้นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ    แต่เน้นความสัมพันธ์เชิงการอยู่รอดร่วมกัน


7. ความเหมือนและความต่างระหว่างการวิจัยกับการจัดการความรู้
              คำตอบ
                  คำถามนี้ตอบสั้นๆ ให้เข้าใจได้ยาก

  • การวิจัยเน้นการสร้างความรู้ แล้วจึงเผยแพร่หรือถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้ใช้    การจัดการความรู้เป็นการสร้างและใช้ความรู้อยู่ในที่เดียวกัน หรือกระบวนการเดียวกัน
  • การวิจัยเป็นกิจกรรมของนักวิจัย    การจัดการความรู้เป็นกิจกรรมของผู้ปฏิบัติงาน
  • การวิจัยเน้นที่ความรู้แจ้งชัด (explicit knowledge) ความรู้ที่แยกส่วน มีความชัดเจน มีการพิสูจน์เชิงทฤษฎี   การจัดการความรู้เน้นที่ความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) เป็นความรู้บูรณาการ  ไม่ค่อยชัดเจน  ผ่านการพิสูจน์โดยการใช้ประโยชน์
  • การวิจัยเน้นทักษะด้านการวิเคราะห์    การจัดการความรู้เน้นทักษะด้านการสังเคราะห์
  • การวิจัยเน้นการทำเอกสารรายงานเป็นผลงานวิจัย      การจัดการความรู้เน้นการจดบันทึกเพื่อการใช้งานต่อของผู้ปฏิบัติ หรือเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  

วิจารณ์ พานิช

๔ ก.พ. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 76276เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2007 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท