เศรษฐกิจการเมืองท้องถิ่น


เราเห็นพลังของชุมชนท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น กลไกสำคัญ คือ เครือข่าย

วันที่ 29 มกราคม คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จัดเสวนาเรื่อง เศรษฐกิจการเมืองท้องถิ่น 2550”    

อาจารย์สกนธ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ทำวิจัยเรื่องนี้มานาน ได้พบปะ อบต.เกือบทั่วประเทศ  อาจารย์ให้รายละเอียดของกระบวนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้อย่างดี  และมองเห็นภาพเชิงบวกของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 

อีกด้านหนึ่ง  อาจารย์ชัยยนต์ จากมหาวิทยาลัยบูรพา ทำวิจัยเรื่องเจ้าพ่อท้องถิ่น อาจารย์แบ่งอำนาจเป็น 2 ประเภท คือ อำนาจที่เป็นอิทธิพล กับอำนาจที่เป็นอำนาจหน้าที่    อาจารย์เห็นภาพของความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ร่วม ระหว่างผู้มีอิทธิพล กับผู้มีอำนาจหน้าที่   กระบวนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจึงมีความน่าเป็นห่วง 

เราเองคิดเชิงบวกคล้ายอาจารย์สกนธ์   แต่เหตุผลอยู่ที่..เราเห็นพลังของชุมชนท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น   กลไกสำคัญ คือ  เครือข่าย 

ในความเห็นของเรา  เครือข่ายมี 2 แบบ

แบบแรก   เครือข่ายชาวบ้านที่ทำงานโดยมีประเด็นเป็นตัวตั้ง   จะทำงานข้ามพื้นที่และมีความเข้มแข็งเพราะมีโจทย์ร่วมกัน จึงมีเป้าหมายและทิศทางการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน  เช่น  เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน  เครือข่ายด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เครือข่ายประชารัฐ  เป็นต้น  เครือข่ายที่เข้มแข็ง มักจะมองข้าม อปท. ไปทำงานหรือต้องการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะระดับชาติ  (อาจสะท้อนความไม่ไว้วางใจต่อ อปท. หรือ อาจสะท้อนว่า อำนาจหน้าที่ อปท.จำกัดเกินกว่าที่จะแก้ปัญหาให้พวกเขาได้) 

แบบที่สอง  เครือข่ายแนวระนาบที่ทำงานในพื้นที่เดียวกัน เป็น area base  มักเป็นเรื่องของการพัฒนาท้องถิ่น  เราคิดว่า ลักษณะเครือข่ายเช่นนี้ เพิ่งเกิดขึ้นในระยะหลัง อาจมีแผนชุมชนเป็นตัวเชื่อม  เครือข่ายแบบนี้สามารถทำงานได้ใกล้ชิดกันมากกว่าแบบแรก  แต่ความเข้มแข็งจะเป็นอย่างไรยังไม่แน่ใจ  เพราะเพิ่งเริ่ม หรือเพราะในหนึ่งพื้นที่อาจมีโจทย์หลายข้อ  ถ้าไม่จัดลำดับความสำคัญของโจทย์อย่างชัดเจน  บางครั้ง  ต่างกลุ่มต่างคนที่มาทำงานร่วมกัน ก็มีโจทย์ในใจคนละอย่าง   การหาเป้าหมายร่วมจึงมีความสำคัญ 

องค์กรการเงินชุมชน มีความพิเศษที่รวมลักษณะของแบบแรก (มีเป้าหมาย มีประโยชน์ชัดเจน) และแบบที่สอง (ทำงานในพื้นที่ได้กว้างถึงระดับจังหวัด) ไว้ด้วยกัน  มีสมาชิกมาก มีเงินทุนมาก เป็นองค์กรชาวบ้านที่เข้มแข็งที่สุดในขณะนี้   ในทางกลับกัน  ภายใต้การมีเป้าหมายกลุ่มที่ชัดเจน  หากกลุ่มองค์กรการเงินสามารถร่วมผสานกับกลุ่มอื่นๆในพื้นที่ซึ่งอาจมีเป้าหมายด้านอื่นๆด้วย ก็จะเป็นพลังการพัฒนาพื้นที่ได้มาก

หมายเลขบันทึก: 75627เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2007 03:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 08:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

               ผมคิดว่าแบบที่ 2 ถึงจะโจทย์ในใจคนละโจทย์ก็จริงแต่ถ้าจัดวางตำแหน่งกันให้ดีๆอย่างที่เยกกันว่าบูรณาการหรือเชื่อมต่อการพัฒนา มุ่งสู่เป้าหมายใหญ่หรือหัวปลาเดียวกัน ก็ไม่น่าจะมีปัญหาเท่าไหร่ครับ เป้าหมายย่อย หรือกิจกรรมย่อย และชุดความรู้รายทาง ก็ให้แต่ละหน่วยงานเขาทำได้ตามฟังชั่นของเขา การทำงานร่วมกันอย่างนี้มันก็จะได้กันทุกฝ่าย ยกระดับการทำงานจากแบบแรกที่มุ่งในเชิงประเด็นเพียงประเด็นเดียว แบบสองนี้ผมคิดว่าจากสวัสดิการชุมชุมชนก็จะแตกประเด็นออกไปได้มามมายตามแต่แผนชุมชนเขาจะได้คิดกัน หน่วยงาน องค์กร เครือข่าย ฯลฯ ต่างๆที่เกี่ยวข้องก็จะได้เข้ามาเป็นเจ้าภาพหรือเป็นเครื่องมือให้กับชาวบ้านได้ ไม่ว่าจะแบบที่ 1 หรือ 2 ผมว่าดีทั้งนั้นครับ เป็นพัฒนาการการทำงาน อาจจะพบแบบใหม่เป็นแบบที่ 3 ที่ 4 อีกก็ได้ไม่แน่นะครับ

             อยากเห็นรูปอาจารย์เจ้าของบันทึกนี้ครับ...ขอบคุณครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ ว่าการมีเครือข่ายไม่ว่ารูปแบบใดๆเป็นเรื่องที่ดี   พลังจากฐานรากเป็นพลังที่จะทำให้สังคมมีความแข็งแกร่ง

จะรีบหารูปค่ะ  ปกติไม่ค่อยถ่ายรูปเดี่ยว คงต้องขอจากเพื่อนๆ   พยายามตัดรูปมาก็ไม่สำเร็จค่ะ

องค์กรการเงินชุมชนมีศักยภาพที่จะเป็นหน่วยจัดการงบประมาณ(รัฐ)มูลฐาน(กว่าอบต.)เพื่อสร้างสวัสดิการชุมชน
สวัสดิการแรกคือ การพึ่งพากันด้านการเงินโดยการออมกู้ ซึ่งพัฒนามาเป็นออมให้และ ออมบุญคือ
ทำบุญกันทุกวันๆละ1บาทเพื่อคนอื่น ต้นแบบที่ลำปาง สงขลาและตราด
ต่างคนต่างทำก็กลับมาถึงตัวเราเองด้วยในรูปสวัสดิการเกิดแก่เจ็บตาย

เนื่องจากเป็นหน่วยจัดการที่มีกิจกรรมร่วมกันต่อเนื่องจึงสามารถใช้ดำเนินการในสวัสดิการด้านอื่นๆได้อย่างหลากหลายไม่รู้จบด้วยการคิดค้นเรียนรู้ของชาวบ้าน เป็นการพึ่งตนเองและพึ่งพากันของคนในชุมชน เป็นการสร้างทุนทางสังคม พัฒนาคน ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักในความสำคัญโดยมอบหมายให้กระทรวงพม.ดำเนินการใช้องค์กรการเงินชุมชนเป็นหน่วยจัดการหลัก(มีหน่วยจัดการอื่นๆด้วย)เพื่อเชื่อมโยงงบประมาณกับภาครัฐทั้งอปท.และรัฐบาลกลางผ่านพรบ.กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมที่มีอยู่(มีแนวคิดกระจายลงมาอยู่ที่จังหวัด ซึ่งงานวิจัยของผมเสนอให้จัดสรรตามสัดส่วนประชากร)

วันที่4-5ก.พ.นี้จะมีงานขับเคลื่อนเรื่องนี้จากเครือข่ายสวัสดิการชุมชน7ภาคทั่วประเทศที่มสธ.โดยการหนุนเสริมของพอช.

สรุปคือ
ตอนนี้ตามแบบจำลอง3เหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของอ.ประเวศ วะสี การเคลื่อนภูเขาเรื่องสวัสดิการชุมซึ่งเป็นเรื่องยากจึงต้องทำครบทั้ง3เหลี่ยมนั้น ตอนนี้2เหลี่ยมคือ1.การเมือง(นโยบายและการปฏิบัติ) 2.การเคลื่อนไหวทางสังคมกำลังเชื่อมโยงกันไปได้ดี เหลือเพียงเหลี่ยมที่3คือ การจัดการความรู้ ที่จะเข้าไปหนุนเหลี่ยมทั้ง2อย่างไรให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

ประสบการณ์งานวิจัยใน5พื้นที่ของหน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชนม.วลัยลักษณ์พบว่า ภาพฝันกับของจริงยังห่างกัน ต้องใช้ความรู้และการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนอีกมาก

เราจะเคลื่อนเรื่องนี้เป็นวาระต่อเนื่องทุกปี โดยปีนี้จะจัดมหกรรมขับเคลื่อนเรื่ององค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชนในเดือนธันวาคม2550 โดยใช้กรอบ3เหลี่ยมเขยื้อนภูเขาเป็นแนวทางในการสรุปสถานะการณ์และวางแผนการขับเคลื่อนในปีต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท