การประมวลและสังเคราะห์ประสบการณ์การพัฒนาบุคลากรของ สพช.


ดีใจที่เห็นว่า KM มีที่ยืนในการพัฒนาบุคลากรและได้รับการยอมรับ

เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๐ สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) ได้จัดประชุมเพื่อประมวลและสังเคราะห์ประสบการณ์ “การพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ ในการดำเนินงานป้องกันประชากรกลุ่มเสี่ยงและการบริบาลดูแล ป้องกันผู้มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง” ที่โรงแรมริชมอนด์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี

ในการประชุมครั้งนี้ทาง สพช.ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์มานำเสนอรูปแบบการพัฒนาบุคลากรที่ตนดำเนินการอยู่ ซึ่งมาได้ ๗ คนด้วยกันคือ พญ.อารยา ทองผิว รพ.เปาโลเมโมเรียล ในฐานะอดีตนายกสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน พญ.ฉายศรี สุพรศิลป์ชัย ผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ สาธารณสุขนิเทศ เขต ๓ กระทรวงสาธารณสุข พญ. สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผอ.สพช. เอง คุณกมลาภรณ์ คงสุขวิวัฒน์และคุณอรอนงค์ ดิเรกบุษราคม ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน ภาคเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ และดิฉัน ในนามของผู้ประสานงานเครือข่าย KM เบาหวาน โดยมี นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่ดำเนินการอภิปรายและเจาะลึกประเด็นต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีผู้เข้าร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอีก ๖ คน ในจำนวนนี้มีสมาชิกเครือข่ายของเราคือ นพ.ปรเมษฐ กิ่งโก้ รอง สสจ.สกลนคร และ หมอฝน พญ.สกาวเดือน นำแสงกุล รพ.ครบุรี นครราชสีมา ร่วมอยู่ด้วย

ผู้จัดการประชุมคือ สพช. มีการเตรียมการล่วงหน้าและได้กำหนดประเด็นการนำเสนอประสบการณ์ไว้ ๔ หัวข้อคือ
๑. Design ของหลักสูตร (ขอบเขตเนื้อหา ประกอบด้วย ที่มา หลักการ และเป้าหมายของหลักสูตร กลุ่มเป้าหมายและสมรรถนะที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และการออกแบบกระบวนการพัฒนา)
๒. กระบวนการและวิธีการนำหลักสูตรไปใช้
๓. ผลลัพธ์ เงื่อนไขกำหนด ต้นทุนที่ลงทุน และวิธีการประเมินผล
๔. ข้อพึงระวัง/เงื่อนไขปัจจัยที่ควรคำนึงถึงต่อการนำหลักสูตรไปใช้
กล่าวง่ายๆ คือ สพช.ต้องการรู้วิธี approach ของแต่ละประสบการณ์ ถ้าจะนำไปใช้ต่อ จะมีวิธีการอย่างไร อะไรที่ยังเป็น gap ที่ต้องไปพัฒนาต่อ

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ หารือวิธีดำเนินการประชุม สรุปได้ว่าให้ผู้เชี่ยวชาญ/ผู้มีประสบการณ์นำเสนอก่อน โดยให้นำเสนอสั้นๆ แล้วให้ซักถาม จบแล้วจึงเปิดอภิปราย นพ.สุริยะ นำเสนอก่อนเป็นคนแรก อาศัยบทเรียนจากที่ได้เข้าไปช่วยงานใน ๓ จังหวัดและการศึกษาพื้นที่ ๗-๘ จังหวัดของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ใน setting ชนบท ตามด้วย พญ.สุพัตรา ที่ clarify จุดประสงค์ของการประชุมวันนี้เพิ่มเติม ก่อนที่จะเล่าถึงกระบวนการพัฒนาบุคลากรที่ได้ทำมา พญ.ฉายศรี นำเสนอต่อโดยเริ่มจากการนิยาม chronic disease เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เรื่องราวของภาระโรค ปัจจัยเสี่ยง โซ่สาเหตุและการจัดบริการที่แสดงให้เห็นว่าการป้องกันและการดูแลรักษาต้องทำไปพร้อมกัน ต้องเพิ่มคุณภาพการดูแล จะจัดการแบบเดิมๆ ไม่ได้ และอีกหลายสาระที่ช่วยให้มองเห็นว่าต้องมีการพัฒนาบุคลากรในเรื่องใดบ้าง เช่น การสื่อสารเรื่องความเสี่ยง เป็นต้น

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กระตุ้นผู้เข้าประชุมให้ช่วยกันคิดว่าในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังนั้น บุคลากรที่พึงประสงค์ควรมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ต้องมีทักษะอะไรบ้าง จุด start ในการพัฒนาคืออะไร (crucial point) ผู้เข้าประชุมร่วมออกความเห็นกันอย่างคึกคัก อาทิ นพ.ปรเมษฐ์กล่าวว่า “ถ้าให้ทัพหน้าคิดเอง ทำเอง อาจเป็นหายนะ ต้องมีนโยบาย มีการออกแบบ และมีการลงทุน เช่น เมื่อคัดกรองแล้ว เอาข้อมูลไปทำอะไรต่อ" ในขณะที่หมอฝนมองต่างกัน เพราะชอบคิดเองทำเอง ว่าอยากเห็นการพัฒนาบุคลากรว่าทำอย่างไรให้คนทำงานคิดเป็นคิดได้ มองคนไข้เป็นครู ชุมชนคือความร่วมมือ และมีความเห็นว่ากระบวนการ CQI สั่งไม่ได้จากข้างบน

นพ.สุริยะเปรียบเทียบกับการศึกษาธรรมะ ว่า “ไม่มีรูปแบบเดียว” มี spectrum ตั้งแต่สร้างพิธีกรรมจนถึงเรียนรู้แก่นพุทธศาสนา ไม่ต้องหาโมเดลเดียว แต่ให้รู้ว่าโมเดลอะไรให้ return เป็นอย่างไร พญ.ฉายศรีให้แนวหลักการในการพัฒนานวัตกรรมการดูแลสถานะสุขภาพที่เรื้อรัง รวมทั้ง พญ.สุพัตราที่กล่าวว่าจุดคลิกในการพัฒนาเจ้าหน้าที่คือการเห็นชัดตระหนักว่าตนเองจะต้องมีบทบาทอย่างไร การมีกรอบแนวทางในการทำงาน ทำตามแล้วเรียนรู้ ส่วนเนื้อหาในการพัฒนาจะแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าจะให้เขามีบทบาทแค่ไหน

กว่าจะหยุดพักรับประทานอาหารกลางวันกันได้ เวลาก็ล่วงเลยไปจนถึง ๑๒.๓๕ น.แล้ว ภาคบ่ายเริ่มการประชุมเมื่อเวลา ๑๓.๓๕ น. เหมือนจับเวลาเอาไว้เลย นพ.พงษ์พิสุทธิ์ทบทวนอีกครั้งว่าเป้าหมายของการประชุมวันนี้พูดถึงการพัฒนาผู้ให้บริการ ซึ่งต้องรู้ว่าเราคาดหวังจะให้คนเหล่านั้นไปทำอะไร เราจะสร้างและพัฒนาคนให้เหมาะกับการทำงานตรงนั้นอย่างไร ที่พูดไปแล้วคือเครื่องมือและ approach สำหรับเรื่องของระบบสนับสนุนและรูปแบบการจัดบริการ ไม่ใช่เป้าหมายหลักของการประชุมวันนี้

พญ.อารยา ทองผิว นำเสนองานของสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน ที่มีการจัดอบรมหลายหลักสูตร แผนการ certified และพัฒนาผู้ให้ความรู้แต่ละระดับ ตามด้วยดิฉันที่เล่าเรื่องการพัฒนาทีมดูแลผู้ป่วยเบาหวานโดยใช้ KM เป็นเครื่องมือ ซึ่งเป็น approach ที่ทำให้เกิดการทำงานเป็นทีม-เป็นเครือข่าย เป็นการเรียนรู้จากความสำเร็จของผู้อื่น ทำให้ได้รู้จักตนเอง รู้จักผู้อื่น Gap ที่ยังมีอยู่คือการติดตามและกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะหลายพื้นที่ยังขาด knowledge facilitator ปิดท้ายด้วยทีมจากนครสวรรค์ที่นำเสนอหลักสูตรการดูแลสุขภาพวิถีไทยสบาย เป็นเรื่องของการแพทย์ทางเลือกและธรรมชาติบำบัด

พญ.ฉายศรี ให้ความเห็นว่าการพัฒนาบุคลากรของเรามีหลายหลักสูตรในประเทศ แต่ยังไม่ได้มีการประเมินผลอย่างจริงจัง สำหรับของสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน มีความต่อเนื่องมากกว่า ในส่วนของ KM หมอฝนบอกว่าลูกน้องที่ได้มาร่วมกิจกรรม ได้กำลังใจ รู้ว่าตนเองขาดอะไรแล้วหาเติม นพ.ปรเมษฐ์เสริมว่าเป็นสิ่งที่น่าทำ เพราะนอกจากจะได้ความรู้แล้วยังได้กำลังใจ ขยายต่อได้เร็วมาก ขยายในเรื่องอื่นก็ได้ เพราะไม่ใช่เวทีที่บล๊าฟกัน

ช่วงสุดท้าย แต่ละคนได้พูดว่าตนได้รู้อะไร อยากได้อะไร (จากหลักสูตร) อยากเสนอแนะอะไร ดิฉันเก็บรายละเอียดมาไม่หมด แต่ทีมงานของ สพช.มีการบันทึกและคงจัดทำเป็นรายงานต่อไป ในความรู้สึกของดิฉัน ดีใจที่เห็นว่า KM มีที่ยืนในการพัฒนาบุคลากรและได้รับการยอมรับ นพ.พงษ์พิสุทธิ์กล่าวว่า “มีคนทำดีในพื้นที่ น่าสนใจว่าเขามีแรงบันดาลใจและเริ่มต้นมาอย่างไร....เรียนรู้จากอาจารย์วัลลาว่าสามารถเอาคนที่ทำดีมา share และขยาย...”

ก่อนปิดการประชุม พญ.สุพัตราได้สรุป ๔ ประเด็นคือ (๑) การพัฒนาบุคลากร อย่า fix รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง (๒) การพัฒนาบุคลากรต้องการ components ๔ อย่างคือ แนวคิด วิธีคิด, กำลังใจ แรงบันดาลใจ, ความรู้ ทักษะ, ประสบการณ์ (๓) จุดเริ่มต้นจะเป็นแบบไหนอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับ stage ของแต่ละคน อาจเริ่มแตกต่างกัน KM ไปช่วยจุดไฟใส่ฟืน และ (๔) การเลือกประยุกต์ความรู้และเทคโนโลยีเฉพาะ เช่น เรื่องของความเสี่ยง

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 75336เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2007 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เสียดายจัง ไม่ได้มีโอกาสเข้าประชุม

แต่อ่านบันทึกของอาจารย์ แล้ว มองเห็นภาพครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท