< เมนูหลัก >
ตอน 6 (1)
ปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างมหาวิทยาลัย ภารกิจหลักสร้างสรรค์ปัญญา
แยกระบบการสร้างกับการใช้อาจารย์
มหาวิทยาลัยไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าคุณสมบัติขั้นต่ำของคนที่จะเป็นอาจารย์ คือ ระดับใด หากจะให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเข้มแข็งทางการวิจัยจริง ๆ อาจารย์ต้องมีคุณวุฒิระดับปริญญาเอก หรือจะให้ยิ่งดีก็ต้องผ่านการฝึกอบรมหลังปริญญาเอกเป็น “รีเสิร์ชฟิลโลว์” ( Research Fellow ) มาแล้ว
คนที่มีหน่วยก้านดี และเพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาเอก หากอยากเป็นอาจารย์ที่มุ่งทำงานวิจัยเป็นหลัก ควรมีระบบให้เตรียมสร้างตัว โดยสมัครเข้าทำงานวิจัยกับศาสตราจารย์ที่มีฝีมือด้านการวิจัยระดับเยี่ยมในด้านที่ตัวเองสนใจ
รวมทั้งจะต้องมีเงินสนับสนุนการวิจัย ให้แก่ศาสตราจารย์ระดับนี้เพียงพอให้สามารถจ้างผู้จบปริญญาเก่ง ๆ มาเป็นทีมงานวิจัยได้ ระบบเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ 3 ด้าน คือ
1. เป็นการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพสูง
2. เป็นการส่งเสริมให้ส่วนรวมได้รับประโยชน์ จากศาสตราจารย์ที่พิสูจน์แล้วว่ามีความสามารถสูงโดยศาสตราจารย์ผู้นั้นได้ทำงานสร้างสรรค์ ทางวิชาการอันเกิดประโยชน์ต่อสังคม และ
3. เป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบสร้างสรรค์วิชาการของประเทศ
นั่นหมายความว่า ผู้ที่จะได้รับตำแหน่งทางวิชาการ จะต้องเป็นคนที่พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า สามารถทำงานวิจัยในระดับหัวหน้าโครงการได้
ผู้ที่ยังมีคุณสมบัติต่ำกว่านี้ก็ให้อยู่ในระบบการสร้างอาจารย์ คือมีทุนสนับสนุนให้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท – เอก และมีการฝึกอบรมหลังปริญญาเอก คือ แยกระบบการสร้างอาจารย์กับระบบการใช้อาจารย์ออกจากกัน ไม่ใช่รับผู้จบปริญญาตรี – โท เข้าเป็นอาจารย์แล้วส่งไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท – เอก อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ทุนศึกษาต่อระดับปริญญา โท – เอก และค่าจ้างผู้ช่วยวิจัยระดับหลังปริญญาเอกต้องสูงพอที่จะดึงดูดคนเก่งเข้ามาในระบบวิชาการได้
บทความพิเศษ ตอน 6 (1) นี้ได้ จากหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 9 ล. 2816 (108) 6 มิ.ย. 39 พิเศษ 6 (บทความไอที)
เขียนโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
วิบูลย์ วัฒนาธร