ประเมินโครงการKmเมืองนคร


เป็นการปฏิรูปที่มีคุณค่ายิ่งใหญ่กว่าการปฏิรูปของคมช. เป็นการทำลายตราสังข์ที่ผูกมัดประเทศ ไม่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือมีนโยบายที่ดีอย่างไร เรื่องเหล่านี้ก็ยังมีความสำคัญเป็นอันดับต้น

ผมได้รับเอกสารรายงานผลการประเมินความเข้มแข็งของหมู่บ้านจากปลัดวาสนา โครงการเสริมสร้างกระบวนการชุมชนเข้มแข็งอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน(ชุมชนอินทรีย์)จังหวัดนครศรีธรรมราชรุ่นที่1 จำนวน400หมู่บ้าน จัดทำโดยปกครองจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย

เนื้อหามี3ส่วนคือ

1.ตัวโครงการ (เหตุผล/ที่มาการดำเนินโครงการ กรอบแนวคิด พื้นที่เป้าหมายและRoad mapการเคลื่อนงาน/ผู้รับผิดชอบ)

2.หลักการและกรอบแนวคิดการประเมินความเข้มแข็งของหมู่บ้านรุ่นที่1 จำนวน400หมู่บ้าน

3.สรุปผลการประเมินความเข้มแข็งของหมู่บ้าน

ตัวโครงการนำเสนอหลายครั้งแล้ว โดยสรุปคือ ใช้กระบวนการแผนแม่บทชุมชน และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทำร่วมกันแบ่งกันรับผิดชอบทั้งภาครัฐและชุมชน รุ่นแรก 400 หมู่บ้าน ปกครองกับยมนาสนับสนุนจัดทำแผน ปีสอง แปลงแผนสู่การปฏิบัติด้วยKM กศน.เจ้าภาพ

ปีสาม KM เชื่อมต่อการพัฒนากับศูนย์ถ่ายทอด เกษตรจังหวัด สกย.และธกส.เจ้าภาพ

ปีสี่ สร้างความยั่งยืนด้วยKMมาตรฐานชุมชน/สุขภาพ พัฒนาชุมชนและสาธารณสุขเจ้าภาพ

ในรายละเอียดการดำเนินงานของแต่ละรุ่น และจากรุ่นสู่รุ่น มีการผสานกิจกรรมและงบดำเนินการ ไม่เถรตรงตามกรอบที่กำหนดไว้ ดังที่เล่าไว้ในวงเรียนรู้คุณเอื้อวันที่9ม.ค. ซึ่งจะมีการหารือกันในวันที่11ม.ค.นี้ ลิงค์

ในที่นี้จะเสนอกรอบในการประเมินซึ่งกำหนดไว้5เรื่องคือ ผู้นำ แผนชุมชน การจัดการความรู้ ทุนของชุมชน และการบริหารจัดการ โดยมีแบบประเมินความเข้มแข็งของหมู่บ้าน 9 ประเด็นคือ

ทำบัญชีครัวเรือน

การออม

กิจกรรมลดรายจ่าย

กิจกรรมเพิ่มรายได้

ทำเกษตรทฤษฎีใหม่

กิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากร/สิ่งแวดล้อม

กิจกรรมเอื้ออาทร/สวัสดิการ

การดำรงชีวิตตามหลักศาสนา

ผู้นำ

นอกจากนี้ยังมีการประเมินกิจกรรมออมทรัพย์ อาชีพ วิสาหกิจชุมชน ศูนย์การเรียนรู้และด้านอื่นๆ

ตัวบ่งชี้ทั้งหมดจะจัดไว้ในกลุ่มครัวเรือนและระดับหมู่บ้านเพื่อนำมาวิเคราะห์จัดลำดับความเข้มแข็ง 3 ระดับคือ มาก ปานกลาง น้อย     แยกเป็นรายหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ โดยมีข้อมูลกลุ่ม/กิจกรรม/โครงการที่สามารถเป็นตัวอย่าง/แหล่งเรียนรู้ในแต่ละตำบลด้วย

ผมไม่แน่ใจว่าตัวบ่งชี้ต่างๆบ่งชี้ความเข้มแข็งได้หรือเปล่า ไม่ทราบว่าทีมประเมินเก็บข้อมูลอย่างไร (ครบถ้วน ถูกต้อง) ซึ่งก็คงเหมือนกับการประเมินทั่วไป เช่นการประเมินสถานศึกษาของสมศ. แต่ไม่ใช่ปัญหา

ผมชื่นชมการทำงานของทีมงานที่มีความตั้งใจ มีหลักคิด แนวทางที่ค่อนข้างเป็นระบบชัดเจน ในรายละเอียด เราต้องเรียนรู้จากกันและกัน สร้างภาพฝันร่วมกันให้ชัดเจนยิ่งๆขึ้น ขยายภาพฝันให้รับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น สร้างทีมเรียนรู้ภายในหน่วยงานและระหว่างหน่วยงานเป็นทีมKMหลากหลายบทบาท ส่งลูกรับลูกเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ สอดประสานกัน เพิ่มเติมการคิดเชิงระบบให้เห็นภาพย่อยในภาพใหญ่ และเห็นภาพใหญ่ในภาพย่อย

เรื่องที่ทำเป็นเรื่องยาก เป็นการปฏิรูปที่มีคุณค่ายิ่งใหญ่กว่าการปฏิรูปของคมช. เป็นการทำลายตราสังข์ที่ผูกมัดประเทศ ไม่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือมีนโยบายที่ดีอย่างไร เรื่องเหล่านี้ก็ยังมีความสำคัญเป็นอันดับต้น
รายงานประเมินผลนี้ควรนำเข้าสู่การเรียนรู้ของทีมทำตัวชี้วัดเศรษฐกิจพอเพียงด้วย เพื่อเข้าสู่กระบวนการ คิด ทำ ประเมิน เรียนรู้ ทั้งเป้าหมาย กระบวนการ และผลที่เกิดขึ้น ให้เกิดเป็นวัฏจักร/วัฒนธรรมการเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนKMนครศรีธรรมราชสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

หมายเลขบันทึก: 71910เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2007 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ
  • เคยได้มีโอกาสรับฟังแนวคิดจากท่านผู้ว่าฯ
  • เคยได้ร่วมสังเกตุการณ์การประชุมเครือข่ายยมนา
  • เคยพานักศึกษาลงพื้นที่ไปอยู่กับชาวสวน ชาวประมง และอยู่วัด คนละ 2 เดือน
  • เคยไปคุยกับน้ายงค์และทีมงาน

ได้เห็นพลังของพื้นที่แล้วรู้สึกชื่นชมมาก

นครฯมีหลายภูมินิเวศน์ มีฐานเศรษฐกิจหลายฐาน ในขณะที่เป็นข้อดี  ก็อาจทำให้มีเรื่องต้องดูแลหลายเรื่อง เช่น นา ประมง สวน ทรัพยากรธรรมชาติ และอื่นๆ  ทำให้ต้องกระจายทรัพยากรในการดูแลและบริหารจัดการ (เทียบกับจังหวัดอื่นๆที่อาจไม่มีความหลากหลาย เช่น ข้าวเป็นฐานเศรษฐกิจสังคมที่สำคัญเพียงอย่างเดียว การแก้ปัญหาก็มุ่งไปที่ข้าวได้เลย)

ดังนั้น การทำแผนแม่บทที่เชื่อมโยงกิจกรรมหลายฐานเหล่านี้ (โดยมีคนเป็นศูนย์กลาง) จึงเป็นความปราดเปรื่องของน้ายงค์   และการทำงานเป็นขบวนอย่างเชื่อมโยงก็เป็นความปราดเปรื่องของท่านผู้ว่าฯ  ถ้าสำเร็จ  ขบวนเมืองนครฯก็จะเป็นตัวแบบที่สำคัญสำหรับที่อื่นๆค่ะ

สนใจการทำตัวชี้วัดเศรษฐกิจพอเพียงนะคะ ตัวเองได้มีโอกาสร่วมทำตัวชี้วัดเศรษฐกิจพอเพียงในระดับประเทศให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ)  เพื่อเป็นตัวชี้เพื่อตรวจสอบหรือให้คำแนะนำทิศทางในการดำเนินนโยบายของรัฐ     หนึ่งในตัวชี้วัดที่สภาที่ปรึกษาฯสนใจด้วย คือ  ความเข้มแข็งของชุมชน   ซึ่งวัดยากในระดับประเทศเพราะชุมชนมีความหลากหลายและอาจมีตัวชี้วัดที่ต่างกัน จะหาตัวชี้วัดความเข้มแข็งชุมชนชุดหนึ่งสำหรับทั้งประเทศได้อย่างไร

ถ้าได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทีมงานก็คงจะน่าสนใจค่ะ

ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ทุกท่านค่ะ

 

ทีมพช.รับเป็นแกนในเรื่องนี้ ผมเคยคิดว่าน่าจะชวนอ.ปัทมาวดีและคุณพิพัฒน์ซึ่งทำวิจัยฐานข้อมูลชุมชนศก.พอเพียงมาเสวนาที่นครศรีธรรมราชสักครั้งครับ
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

วันนี้ดิฉันและคุณพิพัฒน์ได้ไปเป็นวิทยากรคุยเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับภาคตะวันออก ที่ ม.บูรพา   ข้าราชการในพื้นที่ และคณาจารย์ดูจะกระตือรือร้นและรู้สึกเหมือนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ที่ทำให้เห็นภาพการเป็นเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นรูปธรรมขึ้น  ท่านรองผู้ว่าฯบอกว่า "ได้เห็นแนวทางในการขับเคลื่อน"  เราสองคนดีใจที่ได้ทำประโยชน์ค่ะ

ทีมสภาที่ปรึกษาฯแจ้งว่าอยากจะลงพื้นที่ภาคใต้ช่วงวันที่ 18-22 เมษายน  พื้นที่ที่อยู่ในใจดิฉัน (ยังไม่ตัดสินใจ) คือ ที่ตรัง (ปะเหลียน) พัทลุง  สงขลา (จะนะ)  รวมทั้งนครฯ ค่ะ

ถ้ามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทีมพื้นที่ก็ยินดีค่ะ 

ดิฉันเองก็ได้เรียนรู้จาก KM เมืองนคร ผ่าน blog คุณภีม   ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท