ชีวิตที่พอเพียง 4789. บันทึกชีวิตการทำหน้าที่นายกสภา มทส. 4. ประชุมสภานัดที่สอง (ของผม) ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๗


 

วันศุกร์ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ประชุมสภาช่วงบ่าย    แต่ผมมี ๓ นัดในช่วงเช้า  คือ (๑) กรรมการสภาที่เป็นอาจารย์สำนักแพทยศาสตร์   (๒) กรรมการสภา ๓ ท่าน   (๓) ท่านอธิการบดี   ทั้งหมดนั้น ช่วยให้ผมได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ มทส. อย่างกว้างขวาง และในมิติที่ลึกเกี่ยวกับความขัดแย้งที่นำสู่การร้องเรียนมายังสภา และไปยัง สป.อว.    เพื่อหาทางช่วยกันสร้างความสมัครสมานสามัคคีภายใน มทส.   เพราะยิ่งรับทราบเรื่องราวลึกๆ ก็ยิ่งเห็นความจำเป็นที่จะต้องหาทางยุติความขัดแย้งภายในประชาคม มทส.     

วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ผมกลับจากพัทยามาถึงบ้านก็พบแฟ้มประชุมสภา มทส. สำหรับการประชุมวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒ แฟ้มใหญ่รออยู่    คือแฟ้มวาระปกติกับแฟ้มวาระลับ   แฟ้มวาระปกติวาระสำคัญคือเรื่องเชิงนโยบาย    เป็นเรื่องสถานะการเงินของ มทส. ที่ยังไม่มีเอกสารประกอบการประชุม   

แฟ้มวาระลับ เรื่องสำคัญคือ รายงานของคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีมีผู้ร้องเรียนเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้บริหาร ในการจัดการเรื่องตำแหน่งวิชาการ ที่เป็นเรื่องค้างคามาระยะหนึ่งแล้ว   

อ่านเอกสารทั้งหมดแล้ว   เห็นข้อเท็จจริงเชิงพฤติกรรมของฝ่ายต่างๆ    และเห็นประโยชน์ของ “ผู้เป่านกหวีด” (whistle blower) ในกรณีนี้    ตั้งแต่การร้องเรียนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๖ เรื่องความไม่เป็นธรรมในการกำหนดภาระงานขั้นต่ำสำหรับขอตำแหน่งวิชาการ    ที่ท่านอดีตนายกสภา ศ. ดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน วินิจฉัยว่า แม้จะเป็นบัตรสนเท่ห์ เพราะไม่ลงชื่อผู้ร้อง แต่สาระน่ารับฟัง    และการร้องเรียนครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ตามที่กล่าวแล้ว    คือการร้องเรียนช่วยให้การดำเนินการของ มทส. เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม    เป็นส่วนหนึ่งของระบบกำกับดูแลองค์กร

ทั้งหมดนั้น ผมตีความว่า เราต้องยึดเป้าหมายความเจริญก้าวหน้าขององค์กร คือ มทส. เป็นเป้าหมายหลัก    หรือกล่าวให้ลึกยิ่งขึ้น เพื่อให้ มทส. ทำประโยชน์แก่ประเทศไทย สังคมไทย และแก่โลก เป็นเป้าหมายหลัก

การร้องเรียนทั้งสี่ครั้ง ได้ก่อผลดีต่อ มทส. ไปแล้ว   คือมีการถอนหลายเรื่อง และเห็นชัดเจนว่า ได้ส่งผลต่อการเรียนรู้ ว่าผู้บริหารต้องระมัดระวังเรื่อง ผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ให้เกิดข้อสงสัย ไม่ไว้วางใจกัน      

คำถามของผมคือ สภามหาวิทยาลัย ในฐานะกลไกสูงสุดของ มทส. ควรเลือกวางท่าทีอย่างไร    เน้นแนวทางเชิงนิติศาสตร์  หรือจะเน้นแนวทางเชิงรัฐศาสตร์   

หากยึดหลักการใช้กฎหมายเป็นหลัก ก็ต้องถามว่ามีคนทำผิดหรือไม่  เป็นใคร  หากมีคนทำผิดต้องนำตัวมารับโทษ   พร้อมทั้งพิจารณาโทษ   

แต่หากยึดหลักการเชิงรัฐศาสตร์ ก็ต้องถามว่า เพื่อให้ มทส. ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของสังคมและบ้านเมืองต่อไปได้อย่างดี และราบรื่น    เราควรให้อภัยกันในเรื่องความผิดพลาด    และร่วมกันทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมได้อย่างไร   

ผมเองมีความเชื่อว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือ มากกว่าเป็นเป้าหมาย   โดยเป้าหมายของสถาบันอุดมศึกษาต้องเน้นเพื่อทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองในด้านวิชาการ   

และอคติ หรืออุดมคติ ของผมคือ การให้อภัยต่อความผิดพลาด   และให้โอกาสแก้ตัวหรือปรับตัว ทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม    ยึดหลักว่า มนุษย์ผิดพลาดได้ (To err is human)     แต่เมื่อผิดพลาดและยอมรับก็ต้องไม่ทำผิดซ้ำอีก    โดยหลักการที่ผมยึดถือคือ ความจริงใจ    และความไว้วางใจต่อกัน (mutual trust)    แต่นั่นเป็นเรื่องอุดมการณ์ส่วนตัว   จะเอามาใช้กับองค์กรได้หรือไม่ต้องปรึกษากัน   

ผมอยากเห็นประชาคม มทส. มีความไว้วางใจต่อกันและกัน   ที่จะเป็นพลังให้เราร่วมกันต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคและความยากลำบากในการบรรลุเป้าหมายที่สูงส่ง (purpose) ร่วมกัน

อ่านเอกสารประกอบการประชุมวาระลับหลายรอบ    เห็นได้ชัดว่ามีความผิดพลาดในการบริหารงาน   และการร้องเรียนมีผลให้มีการแก้ไข   ช่วยให้ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น   แต่กล่าวอย่างนี้ก็อาจจะผิด คือที่จริงมีความเสียหายเกิดขึ้นชัดเจนภายใน มทส. คือความไม่ไว้วางใจต่อกัน    ผมคิดไว้ล่วงหน้าว่า สภามี ๒ แนวทางตัดสินใจ   คือแนวทางเชิงรัฐศาสตร์ กับแนวทางเชิงนิติศาสตร์ดังกล่าวแล้ว   โดยที่ผู้ร้องเรียนเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เรียกร้องให้ใช้แนวทางนิติศาสตร์   ทำให้ผมเดาว่า หากสภาใช้แนวทางรัฐศาสตร์ จะเกิดการร้องเรียนออกไปนอก มทส.  ซึ่งที่จริง เขาไปร้องเรียนที่ สป.อว. แล้ว     แต่ยังไม่ได้เปิดโปงออกสื่อ 

ทำอย่างไร จะสื่อสารให้เป็นที่เข้าใจทั่วกันในประชาคม มทส. ว่า    หน้าที่สำคัญที่สุดของสภามหาวิทยาลัยคือ กำกับดูแลให้ มทส. ทำหน้าที่ให้แก่บ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ    รวมทั้งให้สมาชิกในครอบครัว มทส. อยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข   ซึ่งหมายความว่า การกระทบกระทั่งกันภายในครอบครัวย่อมมีบ้างเป็นธรรมดา     สภาฯ ในฐานะผู้ใหญ่น่าจะให้ทั้งกติกา การกำกับ และการให้อภัย    คิดแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ในความคิดของผู้ร้องเรียน       

ในนัด ๓ นัดในตอนเช้า   และประชุมสภาในตอนบ่าย   ผมตั้งใจไปหาข้อมูลแวดล้อม ความรู้สึกนึกคิดคนที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด   เพื่อลดปัจจัยไม่คาดคิด (the unpredictable) ลงให้เหลือน้อยที่สุด    เพื่อจะได้ดำเนินการประชุม สู่การตัดสินใจ ที่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากที่สุด    นำสู่โอกาสสูงสุดที่จะยุติความขัดแย้ง และฟื้นความไว้วางใจระหว่างกัน (mutual trust) ภายใน มทส.                                        

การประชุมสภาในตอนบ่าย ใช้เวลากับวาระปกติไม่ถึง ๑ ชั่วโมง   และวาระลับใช้เวลา ๒ ชั่วโมงเศษ    การประชุมราบรื่นกว่าที่คิด เพราะกรรมการสภามีความสามารถสูงมาก   

ส่วนวาระปกติที่สำคัญคือ ตั้งคณะกรรมการร่างและทำประชาพิจารณ์ข้อบังคับเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการใหม่    มี ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ เป็นประธาน   

ตามการโปรดเกล้าฯ ผมเริ่มเป็นนายกสภา มทส. วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๗    ถึงวันนี้ยังไม่ถึง ๒ เดือน    แต่ในช่วงเวลานี้ ข้อมูลที่ได้รับช่วยให้ผมได้เรียนรู้มากจริงๆ    ข้อหนึ่งช่วยยืนยันความเชื่อของผมตั้งแต่หนุ่มๆ ว่า    ยิ่งบริหารองค์กรมีความสำเร็จมาก ก็ยิ่งสะสมด้านลบหรือปัจจัยของความอ่อนแอมากเท่านั้น (ความสำเร็จเป็นเส้นทางสู่ความล้มเหลว)     เป็นเหตุให้ผมเสนอให้คณะกรรมการนโยบาย สกว. ออกข้อบังคับในปี ๒๕๓๙ ให้กำหนดให้ผู้อำนวยการ สกว. ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน ๒ วาระ    ทั้งๆ ที่ พรบ. กองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดเพียงว่า ให้ผู้อำนวยการกองทุนดำรงตำแหน่งวาระละ ๔ ปี และจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อได้   

ผมมีความภูมิใจ ว่าตนได้วางรากฐานให้ สกว. ไม่หมักหมมจุดอ่อนที่เกิดจากความสำเร็จ    แต่ต่อมาอีกนาน ผมก็ได้เรียนรู้ว่า องค์กรที่ตั้งขึ้นให้มีอิสระและความคล่องตัวนั้น    ถูกนำไปใช้สนองเป้าหมายส่วนบุคคลได้ง่าย   

ความท้าทายต่อคนแบบผมคือ ผมมุ่งที่ความสำเร็จเชิงระบบ และระยะยาว   ที่ไม่ใช่ผลประโยชน์ของตนเอง   แต่คนส่วนใหญ่ต้องการความสำเร็จ ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนและเห็นผลเร็ว    เป็นผลสำเร็จที่ตนเองได้รับส่วนแบ่งด้วย   การที่ผมจะได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการตามวิสัยทัศน์ระยะยาว จึงไม่ใช่เรื่องง่าย     ต้องมีวิธีทำความเข้าใจ ต้องอดทน และต้องยอมรับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า   ต้องเตือนตนเองให้เจียมตัวว่า ตนเองเป็น “ชนส่วนน้อย”          

สติเตือนผมว่า สภามหาวิทยาลัยต้องไม่หลงวนเวียนอยู่แค่การแก้ปัญหา    ต้องมุ่งหนุนการสร้าง มทส. ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต       

วิจารณ์ พานิช          

 ๒๒ ก.ค. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 719085เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2024 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2024 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท