ท่านพุทธทาสบรรยายรื่อง มารู้จักพุทธศาสนากันให้ยิ่งกว่าที่แล้วมา เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๓๑ โดยบรรยายวันละ ๒๐ ประเด็น ผมได้ลงบันทึกสะท้อนคิดจากการอ่านหนังสือชุดธรรมะใกล้มือ ๒๐ ประเด็นแรกไปแล้ว อ่านได้ที่ (๑)
ต่อไปนี้จะเป็นข้อสะท้อนคิดจากการอ่าน ๒๐ ประเด็นที่สาม ที่ท่านบรรยายเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๓๑
ผมติดใจข้อที่ ๖ “พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความอยู่เหนือของคู่” อธิบายว่าอยู่เหนือความรู้สึกที่เป็นขั้วตรงกันข้าม เช่น พอใจ - ขัดใจ, เอา - ไม่เอา, ชอบ - ไม่ชอบ เป็นต้น ผมตีความว่า คนเราต้องฝึกจิตใจให้อยู่เหนือความรู้สึก โดยรู้เท่าทันหรือเข้าใจความรู้สึกนั้นและไม่ตกเป็นทาสของมัน
รู้เท่าทันและเข้าใจความรู้สึกทั้งของตนเอง และความรู้สึกของผู้อื่น (empathy) ที่นอกจากช่วยให้ตนเองพ้นทุกข์แล้ว ยังเผื่อแผ่ความสุขให้แก่ผู้อื่นได้ด้วย โดยผมตีความว่า empathy เป็นส่วนหนึ่งของ พรหมวิหาร ๔ (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) รวมทั้งช่วยให้บุคคลนั้นสามารถสงเคราะห์ผู้อื่นด้วย สังคหวัตถุ ๔ ได้ดีและลึกซึ้ง
พุทธศาสนาที่แท้จึงไม่ใช่เพื่อความสุขหรือการพ้นทุกข์ของตัวเราเท่านั้น ยังมีส่วนช่วยเอื้อเฟื้อความสุขหรือโอกาสพ้นทุกข์แก่ผู้อื่นได้ด้วย ผมสอนตัวเองว่า ต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นแหล่งความรู้สึกดีๆ ของคนรอบข้าง
เรื่องความสามารถในการก้าวข้ามขั้วตรงกันข้ามนี้ยังมีคุณในด้านความสร้างสรรค์ (creativity) คือความสามารถในการไม่ถูกครอบงำด้วยความคิดแบบผิวเผิน ง่ายๆ (simplicity) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วชีวิตและกิจการงานของคนเรามีธรรมชาติเป็นเรื่องที่ซับซ้อน (complexity) เมื่อเข้าใจและเห็นคุณค่าหรือพลังของความซับซ้อน ก็จะสามารถหาแง่มุมเข้าไปดำเนินการให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมได้ นี่คือความลี้ลับที่ผมหาทางเรียนรู้อย่างสนุกสนานมาตลอดชีวิต และตอนนี้ค้นพบว่าสิ่งเหล่านั้นซ่อนอยู่ในกิจกรรมหรือการปฏิบัติ เราต้องปฏิบัติแล้วสะท้อนคิดร่วมกันเป็นกลุ่ม ก็จะช่วยกันเผยหลากหลายมิติของความซับซ้อนออกมาได้
ข้อที่ ๑๓ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการศึกษาตัวเอง ท่านแยกตัวหนังสือ “ศึกษา” ออกให้เห็นว่าเป็นคำที่แปลว่า “ดูข้างในของตัวเอง” หรือ “ดูข้างในจนเห็น” ที่ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง และผมตีความต่อว่า การศึกษาที่แท้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ก็เน้นไปในทำนองเดียวกัน คือมีทั้งการเรียนรู้ภายนอก และ การเรียนรู้ภายในของตัวเอง ให้รู้จักตัวเอง (identity) ให้พัฒนาตัวตนอย่างมั่นคง และพัฒนาต่อเนื่องสู่เป้าหมายยิ่งใหญ่ในชีวิต (purpose) และสู่ความมั่นคงในคุณธรรม (integrity) ตามที่ ศ. Chickering เสนอไว้ใน Chickering’s Seven Vectors of Identity Development ที่ผมขอเสนอว่า การพัฒนาอัตลักษณ์หรือตัวตนที่มั่นคง จะนำไปสู่การละตัวตน (selfless) ง่ายขึ้น คิดอย่างนี้ถูกหรือผิดก็ไม่ทราบ
โดยที่พุทธทาสระบุในข้อที่ ๑๔ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการชนะตัวเอง น่าจะตรงกับวิธีคิดที่ถูกต้องด้านการเรียนรู้หรือการศึกษาที่ผมกล่าวไปแล้ว ว่าต้องนำสู่การมีเป้าหมายยิ่งใหญ่ในชีวิต ที่เลยจากผลประโยชน์ส่วนตน และเชื่อมสู่ ข้อที่ ๑๕ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความถูกต้อง ซึ่งหมายถึงถูกต้องในแง่การสอนให้พ้นทุกข์ ผ่านการละตัวตน
ข้อที่ ๑๗ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการมีสติสัมปชัญญะในขณะมีผัสสะ นี่ก็ตรงกับเรื่อง experiential learning ที่ต้องสังเกตและสะท้อนคิดในขณะที่ทำกิจการใดๆ โดยที่การเรียนรู้จากประสบการณ์ (experiential learning) นั้น ตัวผัสสะก็เป็นประสบการณ์ชนิดหนึ่ง การมีสติสัมปชัญญะก็เป็นประสบการณ์อีกชนิดหนึ่ง ที่มีระบุไว้ในหนังสือชุด การเรียนรู้ ‘ขั้นสูง’ จากประสบการณ์
บันทึกเรื่อง มองให้เห็นเบื้องหลังของสิ่งที่คุ้นเคย ย้ำการมีสติตื่นตัวอยู่เสมอ
ข้อที่ ๒๐ พุทธศาสนาคือศาสนาแห่งการรู้สิ่งที่วิญญูชนควรจะรู้ ท่านยกสัปปุริสธรรม ๗ ขึ้นมาอธิบาย ที่ผมอยากเติมข้อ ๘ ว่า สัปปุรุษแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ต้องมีทักษะเรียนรู้ตลอดชีวิต คือการตั้งคำถาม หรือความสงสัยใคร่รู้ ที่จะมีทักษะสำคัญที่ ๙ ตามมา คือทักษะสะท้อนคิด (reflection skills) ตามด้วยทักษะที่ ๑๐ ... เชื่อครึ่ง ไม่เชื่อครึ่ง
จะเห็นว่า เราสามารถเชื่อมต่อ พุทธธรรมเข้ากับหลักการด้านการเรียนรู้สมัยใหม่ได้ ผ่านการตีความ
วิจารณ์ พานิช
๑๐ มิ.ย. ๖๗
ไม่มีความเห็น