ชีวิตที่พอเพียง  4733. ทำความรู้จักพุทธศาสนาในมิติที่ลึก กับท่านพุทธทาส 


 

หนังสือชุดธรรมะใกล้มือ มารู้จักพระพุทธศาสนากันให้ยิ่งกว่าที่แล้วมา ชุดที่ ๑ : ๑ – ๒๐    เริ่มด้วย ข้อที่๑ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งวิวัฒนาการ มิได้มีผู้ใดสร้างหรือเนรมิต    จบด้วยข้อที่ ๒๐  พุทธศาสนานี้ เป็นศาสนาประหลาดมหัศจรรย์ 

เป็นธรรมบรรยายเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๓๑   ก่อนท่านถึงแก่มรณภาพ ๕ ปี   

ในข้อที่ ๑  ท่านบอกว่า ศาสนามี ๒ พวก   คือพวกพระเจ้าสร้าง    กับศาสนาที่เกิดจากวิวัฒนาการ คือเกิดมาโดยธรรมชาติ    ผู้ถือศาสนากลุ่มแรกมีวัตรอ้อนวอนพระเจ้า   ส่วนผู้ถือศาสนาชุดหลังมุ่งเตือนสติตนเอง  ซึ่งผมเถียง   ว่าศาสนิกกลุ่มแรกอ้อนวอนพระเจ้า ก็เพื่อบอกตัวเองให้ประพฤติดี   

ท่านพุทธทาสเอ่ยถึงพิธีกรรมในศาสนาพวกแรก    โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์    ที่ผมมองว่า ส่วนหนึ่งเป็นกุศโลบายให้คนประพฤติชอบ   อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้ศาสนาเพื่อสร้างอำนาจเหนือ    ไม่ว่าศาสนาใด กูกผู้มีอำนาจในแผ่นดินใช้ประโยชน์เพื่อรักษาอำนาจของตนเสมอ  ในทุกยุคสมัย

ข้อที่ ๒  พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีวิถีทางอย่างวิทยาศาสตร์    ผมตีความว่า มีการพิสูจน์ได้จากการปฏิบัติของตนเอง      และตีความต่อว่าเรียนรู้และพิสูจน์จากประสบการณ์ ใช้หลักการ experiential learning   ไม่ใช่จากการท่องจำ หรือจากศรัทธามืดบอด   แต่พุทธศาสนาที่ปฏิบัติกันในประเทศไทยนั้น เจือการถือผี และศาสนากลุ่มพระเจ้าสร้าง     

ข้อที่ ๔  เป็นศาสนาที่เห็นโลกทั้งปวงเป็นเพียงกระแสแห่งอิทัปปัจยตา    เป็นเรื่องของการเป็นเหตุเป็นผลตามธรรมชาติ    มีเหตุผลอยู่ในธรรมชาติทั้งปวง    ไม่สามารถก้าวล่วงได้ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ หรือำนาจลี้ลับใดๆ    ผมตีความว่า เป็นศาสนาที่สอนให้เราเป็นตัวของตัวเอง    “ชีวิตของสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”    กรรมในที่นี้คือกรรมของธรรรมชาติ และของตัวเราเองที่ทำไว้   แต่ต้องไม่ลืมว่า “การไม่ทำ” ก็เป็นกรรมอย่างหนึ่ง   

ข้อที่ ๙  เป็นศาสนาแห่งการควบคุมวิวัฒนาการของสัญชาตญาณ    ผมชอบข้อนี้มาก เพราะเชื่อมโยงกับการศึกษาหรือการเรียนรู้ของมนุษย์  ที่ต้องหมั่นฝึกการควบคุมพฤติกรรมที่มาจากสัญชาตญาณ    ที่เรียกว่าฝึก EF - Executive Functions  เพื่อให้ตัวตนของเรามีพฤติกรรมอัตโนมัติ ที่มาจากสมองส่วน “สมองมนุษย์” (neocortex)   ที่เป็นพฤติกรรมรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อส่วนรวมหรือสังคม และต่อโลก   ไม่แสดงพฤติกรรมที่ขับดันมาจากสมองสัตว์เลื้อยคลาน    นี่คือเป้าหมายสำคัญของการศึกษา

ข้อที่ ๑๐   มีนิพพานเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตประจำวัน    นี่คือประเด็นที่สมัยท่านพุทธทาสยังหนุ่ม และเทศเรื่องนี้   ถูกพระผู้ใหญ่หาว่าอวดอุตริมนุษยธรรม หรืออวดดี   เพราะวงการพุทธศาสนาไทยสอนให้คนเชื่อว่านิพพานเป็นของสูง    เฉพาะบุคคลพิเศษเท่านั้นที่บรรลุได้    แต่ท่านพุทธทาสบอกว่าทุกคนบรรลุได้    อย่างน้อยก็ในบางขณะ   

ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ มี “ห้องนิพพานชิมลอง”

ข้อที่ ๑๑  เป็นศาสนาที่ปราศจากไสยศาสตร์   ข้อนี้บอกเราว่า สภาพที่เราเห็นส่วนใหญ่ในวัดดังๆ นั้น   เป็น “พุทธปนไสย”    แล้วแต่ใครจะเชื่อแนวไหน    ที่บ้านผมไม่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์  แต่ลูกสาวบางคน (ที่เติบโตในต่างประเทศ) เป็นนักบนศาลพระพรหม    ผมไม่เคยตำหนิ เพราะรู้ว่าเป็นการหาที่พึ่งทางใจแบบหนึ่ง   

ข้อที่ ๑๒  จิตมีธรรมชาติอันเป็นพุทธะมาแล้วทุกคน   คนเราเกิดมาบริสุทธิ์ กิเลสมาทีหลัง    จิตตอนเกิดมาเป็นจิตบริสุทธิ์   ต่างจากบางศาสนาที่สอนว่าคนเราเกิดมามีบาปติดตัว    ต้องมีการล้างบาป    แต่ทางพุทธสอนว่า คนเราเกิดมาบริสุทธิ์ แต่ต้องฝึกฝนตนเองให้หลีกเลี่ยงการเอาบาปมาใส่ตัว   

ข้อที่ ๑๘  สอนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่อย   หมายความว่ามองการเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ หรือเป็นเรื่องธรรมดา   ตรงนี้ต้องตีความให้ดีๆ  หลักการไม่เปลี่ยน แต่สภาพแวดล้อม ทั้งด้านกายภาพ สังคม อารมณ์ เปลี่ยนแปลงไปตามหลักอิทัปปัจยตา    ที่สำคัญคือ เราต้องไม่หลงยึดมั่นถือมั่นกับบางสถานการณ์ที่เราพึงใจ  ต้องยอมรับว่ามีหลากหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง    

ข้อที่ ๑๙  มีมนุษย์ธรรมดาอย่างเราๆ เป็นพระศาสดา    ข้อนี้ท่านพุทธทาสกล้าหาญมากที่กล่าวเช่นนี้    และคงจะเป็นคำที่สร้างศัตรูไม่ใช่น้อย    เราต้องไม่ลืมว่า ท่านพุทธทาสถูกพุทธศาสนิกกลุ่มหนึ่งกล่าวหาว่าเป็น “เดียรถีย์”    หลักฐานของท่านคือ พระพุทธเจ้าเป็นคนธรรมดา    และผมขอต่อว่า พวกเราที่ปฏิบัติจนรู้แจ้ง ก็เป็นครูซึ่งกันและกันได้    แม้คนกำลังหมั่นฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเอง ก็เป็นครูซึ่งกันและกันได้   นี่คือหลักของการเรียนรู้ หรือการศึกษาสมัยใหม่   

ข้อที่ ๒๐  เป็นศาสนาประหลาดมหัศจรรย์    พระพุทธเจ้าไม่ได้ผูกขาดแต่ผู้เดีนว    คนอื่นก็รู้ได้    คือไม่เป็นความรู้ที่ลี้ลับ    ทุกคนบรรลุได้โดยการปฏิบัติของตนเอง    ผมตีความว่าเป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ   แล้วจะประจักษ์สัจธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน ด้วยตนเอง              

ผมเอาคำสอนของท่านพุทธทาสมาตีความต่อ    ถูกหรือผิดก็ไม่ทราบ    พึงอ่านอย่างใช้วิจรณญาณ ตามกาลามาสูตร 

วิจารณ์ พานิช

๒๖ เม. ย.  ๖๗ 

บนรถตู้ ไปจังหวัดชุมพร  

 

หมายเลขบันทึก: 718349เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2024 17:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2024 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท