ชีวิตที่พอเพียง  4730. อัลแบรฺต กามูส์ : วรรณกรรมและปรัชญาแห่งความไร้สาระ


 

หนังสือ เรื่อง อัลแบรฺต กามูส์ : วรรณกรรมและปรัชญาแห่งความไร้สาระ แปลโดยวิภาดา กิตติโกวิท จากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส    เสนอวรรณกรรม ๓ เรื่อง และภาคผนวก    ที่สุดแสนจะประเทืองปัญญา  ที่เตือนว่า มนุษย์เราสุดแสนจะไร้สาระ

อ่านประวัติโดยย่อของ อัลแบรฺต กามูส์ ได้ที่ (๑)     

ผมเลือกอ่านเรื่อง คนแปลกหน้า เป็นเรื่องแรก   อ่านแล้วอยากตั้งชื่อให้ใหม่ว่า คนประหลาด   นึกคิดไม่เหมือนคนทั่วไป   ตัวเองจะต้องถูกประหารชีวิตก็ไม่ทุกข์ร้อน   

ที่จริงเรื่องที่ไม่ควรเป็นเรื่องเกิดมาตั้งแต่ตอนที่จะเดินพกปืนกลับไปที่ชายหาดแล้ว   

ดังนั้นความมีชื่อเสียงของ อัลแบรฺต กามูส์ จึงอยู่ที่ความละเอียดลออในการบรรยายฉากต่างๆ    และเดินเรื่องที่ “ไม่เป็นเรื่อง” ให้น่าสนใจได้

ผู้ตกต่ำ เป็นเรื่องถัดมา    อ่านแล้วผมตั้งชื่อเรื่องให้ใหม่ว่า “ผู้ไม่ยอมให้อภัยแก่ตนเอง”   เมื่ออ่านถึงวันที่ ๒ ก็รู้สึกว่า คลามองซ์ ชีวิตตกต่ำเพราะความหลง .. หลงยึดติดความดี    และเมื่อถึงวันที่ ๓ ผมก็จับได้ว่าเขาทำเช่นนั้นเพื่อยกตน  หรือเพื่อโชว์ ว่าตนเป็นคนดี คนที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น    แต่เมื่อผมอ่านครบ ๖ วัน ก็สรุปว่า เขาตกต่ำเพราะทำตัวเสเพล   ดื่มและมั่วสตรี   จนป่วยและความสามารถในการเป็นทนายเสื่อมลง   

ผมตีความว่า  คลามองซ์ เป็นคนที่พัฒนาไม่ครบด้าน   หย่อนที่สุดด้านบังคับใจตนเอง และด้านมีจุดมุ่งหมายในชีวิต   จึงถูกสังคมในปารีสชักจูงไปในทางเสื่อม   ชีวิตจึงตกต่ำ จากทนายความที่มีชื่อเสียงในปารีส  หลบไปเป็นพนักงานบาร์ใน อัมสเตอร์ดัม 

รวมความแล้ว เรื่องนี้ก็สะท้อน ความไร้สาระ (absurdity) ของชีวิตมนุษย์กลุ่มหนึ่ง   

ผมสะท้อนคิดว่า วรรณกรรมชุดนี้มีกลิ่นนมเนยจัด   มีวาทะที่เชื่อมโยงกับความเชื่อโบราณด้านศาสนาคริสต์ และวัฒนธรรมกรีก และยุโรปสมัยกลาง ที่เราไม่คุ้นเคย   ดีที่ท่านผู้แปลทำเชิงอรรถอธิบาย เราจึงพอจะติดตามความหมายได้    แต่ผมคิดว่า เราไม่มีทางเข้าใจความหมายลึกๆ ในเรื่องได้    แต่กระนั้นก็ตาม  พอจะจับความไร้สาระของชีวิตของ คลามองซ์ ได้    

เรื่องที่สาม เทพตำนานซีซิฟ (ซีซิฟุส)    แค่อ่านคำนำของผู้แปล    ผมก็สะท้อนคิดว่า ความคิดเชิงปรัชญาเหล่านี้เลื่อนลอย   มีผลให้ชีวิตของคนในเรื่องเลื่อนลอยไร้เป้าหมาย   เพราะคิดถึงตัวเองเท่านั้นหรือเป็นหลักใหญ่    ชีวิตคนเราต้องมีเป้าหมาย   และยิ่งดีหากเป้าหมายนั้นเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ... เหนือผลประโยชน์ของตนเอง ... มี purpose   ซึ่งหมายความ มุ่งทำเพื่อประโยชน์สังคม    นี่คือชีวิตที่ผมดำเนินมากว่าแปดสิบปี   และพบว่ามันให้พลังที่ประหลาด  และให้ปิติสุข   

อ้าว!    ผมวางท่าทีทางใจในการอ่านนวนิยายผิดเสียแล้ว    การอ่านหนังสือแบบนี้ เราต้องปล่อยใจให้ล่องลอยไปตามตัวหนังสือที่อ่าน    ไม่เอาเหตุผลเข้าไปจับ    ต้องไม่ลืมว่าเรากำลังอ่านเรื่องไร้สาระ    ต้องสนุกกับเรื่องไร้สาระ   

แต่ก็อดไม่ได้ ที่จะคิดว่า นักปรัชญาไร้สาระนี้ เก่งในการทำให้เรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยาก    เมื่ออ่านหน้าแรกของเรื่อง ว่าด้วยการฆ่าตัวตายเพราะชีวิตไม่มีค่า   ในเมื่อโดยธรรมชาติชีวิตมนุษย์ย่อมมีค่าเสมอ หากเจ้าตัวรู้จักสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิตตน   

ในที่สุด กามูส์ ก็สรุปว่า ผลของความไร้สาระ ๓ อย่างคือ การกบฏ เสรีภาพ และไฟลุกโชนในใจ (passion) ที่ผู้แปลแปลว่าความลุ่มหลง (หน้า ๔๓๒)    แปลกมากที่ความไร้สาระในมุมมองของ กามูส์ มีพลังถึงเพียงนี้    และชวนให้ผมตีความว่า ความไร้สาระ (absurdity) ของเขาคือความซับซ้อนยุ่งเหยิง (complexity) ของผม    ซึ่งหมายความว่า มีพลังแฝงอยู่อย่างมากมายล้นพรรณา หากรู้จักมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพนี้     

อ่านไปเรื่อยๆ ผมก็ยิ่งคิดว่า คำว่า absurd ของเขาไม่น่าจะหมายถึง ไร้สาระ   น่าจะหมายถึงไร้เหตุผล หรือกำกวม มากกว่า    ประเด็นสำคัญคือ มีพลังแฝงอยู่ในนั้นมากมาย   โดยที่สิ่งต่างๆ เหตุการณ์ คำอธิบาย เชิงปรัชญาในอดีต โยงเข้าหากันผ่านความไม่ชัดเจนนี้ทั้งสิ้น   และกามูส์เอามาเขียนได้ยืดยาววว   

ในที่สุด กามูส์ ก็เชื่อมโยงสู่ความสร้างสรรค์ (หน้า ๕๑๐)   ผมตีความว่า ความไร้เหตุผล กำกวม เป็นบ่อเกิดของความสร้างสรรค์   คนที่ไม่กล้า หรือไม่รู้จักเล่นกับความไร้เหตุผล กำกวม ไม่ชัดเจน จะสร้างสรรค์ไม่ได้     

เมื่ออ่านจบเรื่องที่หน้า ๕๒๗ ผมก็ได้ข้อสรุปว่า ซีซิฟ มีความสุขอยู่กับกิจกรรมกลิ้งหินขึ้นลงภูเขาก็เพราะจิตของเขาอยู่กับปัจจุบันขณะ             

ยิ่งได้อ่านการตีความเรื่องเทพตำนานซีซิฟ ของท่านไพศาล วิสาโล   กับของคุณสกุล บุณยทัต ก็ยิ่งประเทืองปัญญาในการตีความเรื่อง “พิลึก”  (อีกคำหนึ่งที่ใช้แปลคำว่า absurd)   ท่านไพศาลเชื่อมกับพุทธศาสนา   คุณสกุลเชื่อมกับความสร้างสรรค์   

วิจารณ์ พานิช

๑๐ เม. ย.  ๖๗ 

 

หมายเลขบันทึก: 718293เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2024 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2024 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท