๑๕. เมื่อผมเป็น "ผู้ทรงคุณวุฒิ" ด้านการศึกษา และการปลูกฝังคุณธรรม


เมื่อปีการศึกษา ๒๕๕๖ - ๒๕๕๙ ผมถูกชวนจากสำนักงานศึกษาธิการภาค ๓ (ปัจจุบันเป็นภาค ๑)  ซึ่งรับผิดชอบติดตามดูแลการจัดการศึกษาของหน่วยงานการศึกษาทุกระดับของกระทรวงศึกษาธิการ มีจังหวัด ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท เป็นผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการติดตามประเมินผลการดำเนินงานสถานศึกษาตามโครงการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรมพื้นฐาน ๘ ประการ ของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ “ขยัน, ประหยัด, ซื่อสัตย์, มีวินัย, สุภาพ, สะอาด, สามัคคี, มีน้ำใจ” ที่ต้องการยกย่องเชิดชูสถานศึกษาที่จัดกิจกรรมปลูกฝัง หรือส่งเสริม หรือพัฒนาคุณธรรมจนประสบผลสำเร็จ

และต่อมาในปีการศึกษา ๒๕๕๘-๒๕๖๑ ผมได้รับเชิญจากสำนักงานศึกษาธิการภาค ๑๗ ที่รับผิดชอบจังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี เพชรบูรณ์   เป็นผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการติดตามประเมินผลการดำเนินงานสถานศึกษาตามโครงการส่งเสริมคุณธรรมพื้นฐาน ๘ ประการ ของกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มขึ้น

ก่อนที่จะมีการประกาศเชิญชวนสถานศึกษาทุกสังกัดเข้าร่วมโครงการตามความสมัครใจ ทางสำนักงานศึกษาธิการภาค ๓ ได้จัดประชุมคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อตกลงหลักการ หลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินตัดสิน กว่าที่ประชุมจะได้ข้อตกลง แค่คำว่า “คุณธรรม” ก็มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นถึงนิยาม ความหมายว่ามันคืออะไรกันแน่, ต่างกับคำว่า “จริยธรรม หรือ ศีลธรรม หรือค่านิยม” อย่างไร, และจะรู้ว่าเป็นคุณธรรมได้อย่างไร, ถูกพัฒนาหรือสร้างด้วยวิธีใด, มีขอบเขตขนาดไหน ?  ซึ่งกว่าจะตกลงกันได้ก็ใช้เวลาพอสมควร เพราะทุกคนมีความเห็นและความเข้าใจที่รับรู้มาไม่ตรงกัน

ในที่นี้ ผมขอเล่าถึงที่มาของคำว่า “คุณธรรม, จริยธรรม" ก่อน  คำทั้งสองนี้เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นมาใช้แทนภาษาอังกฤษจากคำศัพท์ (Virtue or Ethic) ส่วน “ศีลธรรม เป็นศัพท์ที่ทางกระทรวงศึกษาธิการ นำมาจากคำศัพท์ที่ใช้ในพุทธศาสนาโดยตรง  เอาคำว่า “ศีลและธรรม” มาประสมคำขึ้นมาใหม่เป็น “ศีลธรรม” เพื่อใช้เป็นชื่อวิชา และหนังสือแบบเรียนในปี ๒๔๘๐  แต่ต่อมาเพื่อให้สอดคล้องกับคำว่าคุณธรรมและจริยธรรม จึงเทียบเคียงภาษาอังกฤษกับคำว่า  Moral หรือ  Morality  ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า “moralitas” ซึ่งมีความหมายว่า “กิริยา, ลักษณะ และการปฏิบัติอันเหมาะสม” (manner, character, proper behavior)  ซึ่งสอดคล้องกับคำว่า “ศีล หรือ จริยา”   แต่เพื่อให้กระจ่างยิ่งขึ้น  ผมขอใช้พจนานุกรมของไทย และ Dictionary ต่างประเทศ  เข้ามาช่วยอธิบาย ดังนี้

       - พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสภา ๒๕๕๔ 

  • คุณธรรม น. สภาพคุณงามความดี 
  • จริยธรรม น. ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ
  • ศีลธรรม น. ความประพฤติที่ดีที่ชอบ
  • ค่านิยม น. สิ่งที่บุคคลหรือสังคมยึดถือเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจ และกำหนดการกระทำของตนเอง               

    - พจนานุกรมแปลไทย-อังกฤษ LEXiTRON  

  • คุณธรรม [n.] virtue [syn.]  
  • จริยธรรม [n.] morality [syn.]  
  • ศีลธรรม ([n.] morals [syn.]  
  • ค่านิยม ([n.] popularity[syn.]                                                                                                                  

    - พจนานุกรมอังกฤษ-อังกฤษ ของเคมบริดจ์ (https://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/)

  • moral (n) principles and beliefs concerning right and wrong behavior. (adj.) relating to beliefs about what is right or wrong.
  • virtue (n) : a good moral quality in a person, or the general quality of being morally good,  or  the general quality of goodness in a person.
  • ethic (n) : a system of accepted beliefs that control behaviourespecially such a system based on morals.  

    - จากเว็บไซด์ https://coined-word.orst.go.th/  ศัพท์บัญญัติสำนักงานราชบัณฑิตยสภา

  • คุณธรรม ใช้คำศัพท์ทางจิตวิทยาว่า morality, ใช้คำศัพท์ทางปรัชญาว่า virtue
  • จริยธรรม ใช้คำศัพท์ทางจิตวิทยาว่า morality, ใช้คำศัพท์ทางปรัชญาว่า  Ethics, ใช้คำศัพท์ทางนิเทศศาสตร์ว่า ethics
  • ศีลธรรม ใช้คำศัพท์ทางปรัชญาว่า morality, ใช้คำศัพท์ทางนิเทศศาสตร์ว่า moral
  • ค่านิยม ใช้คำศัพท์ทางจิตวิทยา,รัฐศาสตร์,ศึกษาศาสตร์,บริหารธุรกิจว่าvalues,  ใช้คำศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์,สังคมวิทยา,นิติศาสตร์ว่า value,

เมื่อที่ประชุมเห็นความหมายของคำว่า“คุณธรรม” นั้นเป็นศัพท์บัญญัติที่มาจากคำศัพท์ทางภาษาอังกฤษว่า“virtues”จากที่ต่างๆแล้ว ที่ประชุมจึงเห็นสอดคล้องกันว่าควรยึดเอาความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสภา ๒๕๕๔ เป็นหลัก เพราะให้ความหมายชัดเจนมากพอแล้ว  แต่บางท่านในที่ประชุมก็ถามต่อว่า “สภาพคุณงามความดี” นั้นคืออะไร อยู่ที่ไหน ? (ที่จริงก็ไม่ต้องตีความอีกก็ได้  เพราะชัดเจนว่าหมายถึงสภาพคุณงามความดีของจิตใจ ส่วนคำว่าจริยธรรมและศีลธรรมนั้น มุ่งหมายไปที่ความประพฤติ บุคลิก หรือกิริยาอาการเท่านั้น)  แต่เพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็ต้องค้นหาว่าสิ่งที่ชาวตะวันตกถือว่าเป็นคุณธรรม (virtues) นั้น เขาดูจากอะไร และมีหลักพิจารณาอย่างไร  Google ได้ช่วยให้พบว่าสิ่งที่นักปราชญ์ชาวตะวันตกรุ่นเก่า เช่น เพลโต และโซเครติส ถือว่าเป็น “virtues(คุณธรรม)” นั้น ได้แก่ The four classic Western Cardinal virtues คือ ความอดทนอดกลั้น (temperance) ความรอบคอบ (prudence) ความกล้าหาญ (courage) และความยุติธรรม (justice)

และยังพบว่า อริสโตเติล ได้นิยามคุณธรรม(virtues) เป็นการหาจุดสมดุลระหว่างความขาดและเกินของคุณลักษณะ โดยคุณธรรมสูงสุดไม่ได้อยู่ที่ตรงกลาง ๆ แต่อยู่ที่จุดเฉลี่ย ของที่บางครั้งก็ใกล้ปลายหนึ่งมากกว่าอีกปลายหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ความกล้าหาญ เป็นจุดเฉลี่ยระหว่าง ความขี้ขลาด กับ ความโง่เขลา ความมั่นใจ เป็นจุดเฉลี่ยระหว่าง ความน้อยเนื้อต่ำใจ กับ ความหลงตัวเอง ความโอบอ้อมอารี เป็นจุดเฉลี่ยระหว่าง ความขัดสน กับ ความฟุ่มเฟือย เป็นต้น   ซึ่งอริสโตเติลเชื่อว่า การเป็นคนเป็นสิ่งประเสริฐ ที่ได้มีทักษะในการดำรงชีวิต ในการเจริญก้าวหน้า ในการมีความสัมพันธ์ที่ดี และในการแสวงหาความสุข  การเรียนรู้เพื่อสร้างคุณธรรมอาจจะยากตอนแรก ๆ แต่มันจะง่ายขึ้น ถ้าได้รับการฝึกฝน "จนเป็นนิสัย

Google ทำให้พบว่าชาวโรมันยุคก่อนเห็นว่าคนที่มีคุณธรรม (virtues) ควรมีลักษณะ ดังนี้  

  • อำนาจทางจิตวิญญาณ (Auctoritas หรือ "Spiritual Authority") การมีจุดยืนทางความคิด
  • ความเป็นมิตร (Comitas หรือ "Humour") ความสุภาพ ใจกว้าง และเป็นมิตร
  • ความบากบั่นพากเพียร (Constantia หรือ "Perseverance") ความมุมานะ พยายาม อดทน
  • ความอ่อนโยน (Clementia หรือ "Mercy")
  • ศักดิ์ศรี (Dignitas หรือ "Dignity") การมีคุณค่าแห่งตน มีความภาคภูมิใจในตัวเอง
  • วินัย (Disciplina หรือ "Discipline")
  • ความมั่นคงเด็ดเดี่ยว (Firmitas หรือ "Tenacity") ความแข็งแกร่งของจิตใจที่จะยึดมั่นกับจุดมุ่งหมาย
  • ความประหยัดมัธยัสถ์ (Frugalitas หรือ "Frugality")
  • ความรับผิดชอบ (Gravitas หรือ "Gravity") การรู้ถึงความสำคัญของงานที่ได้รับมอบหมาย
  • ความน่านับถือ (Honestas หรือ "Respectability")
  • การรู้จักมารยาทธรรมเนียม (Humanitas หรือ "Humanity")
  • การขยันทำงานหนัก (Industria หรือ "Industriousness")
  • การมีความยุติธรรม (Iustitia หรือ "Justice")
  • ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ (Pietas หรือ "Dutifulness")
  • ความรอบคอบ (Prudentia หรือ "Prudence")
  • การรักษาสุขภาพและความสะอาด (Salubritas หรือ "Wholesomeness")
  • การควบคุมตัวเอง (Severitas หรือ "Sternness")
  • ความซื่อสัตย์ (Veritas หรือ "Truthfulness")
  • ความเป็นลูกผู้ชาย (Virtus หรือ "Manliness") ความองอาจ กล้าหาญ

เบนจามิน แฟรงคลิน นักปรัชญาคนหนึ่ง เขียนรายการคุณธรรม (virtues) ที่ใช้ตรวจสอบชีวิตประจำวันของเขาไว้ ๑๓ ประการ [13 Virtues Extract of Franklin's autobiography, compiled by Paul Ford.] ดังนี้

  1. การควบคุมตัวเอง (Temperance): Eat not to Dullness. Drink not to Elevation.
  2. การรู้จักเงียบ (Silence): Speak not but what may benefit others or yourself. Avoid trifling Conversation.
  3. การจัดการสิ่งต่างๆ ให้เป็นระเบียบ (Order): Let all your Things have their Places. Let each Part of your Business have its Time.
  4. การแก้ปัญหา (Resolution): Resolve to perform what you ought. Perform without fail what you resolve.
  5. การประหยัดมัธยัสถ์ (Frugality): Make no Expense but to do good to others or yourself; i.e. Waste nothing.
  6. การขยันทำงานและใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ (Industry) : Lose no Time. Be always employed in something useful. Cut off all unnecessary Actions.
  7. ความจริงใจ (Sincerity): Use no hurtful Deceit. Think innocently and justly; and, if you speak, speak accordingly.
  8. ความยุติธรรม (Justice): Wrong none, by doing Injuries or omitting the Benefits that are your Duty.
  9. ความรู้จักพอประมาณ (Moderation): Avoid Extremes. Forbear resenting Injuries so much as you think they deserve.
  10. การรักษาความสะอาด (Cleanliness): Tolerate no Uncleanness in Body, Clothes or Habitation.
  11. การแสวงหาความสงบ (Tranquility): Be not disturbed at Trifles, or at Accidents common or unavoidable.
  12. การประพฤติพรรมจรรย์ (Chastity): Rarely use Venery but for Health or Offspring; Never to Dullness, Weakness, or the Injury of your own or another's Peace or Reputation.
  13. การอ่อนน้อมถ่อมตน (Humility): Imitate Jesus and Socrates.                                                                  

          ส่วนศาสนาคริสต์ ถือว่า ความศรัทธา (faith), ความหวัง (hope), และ ความรัก (love) คือ คุณธรรม (virtues)  โดยคุณธรรมทั้งสามนี้มาจาก Corinthians 13:13

คริสโตเฟอร์ ปีเตอร์สัน (Christopher Peterson) และ มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) ซึ่งเป็นนักวิจัยชั้นนำทางด้านจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ได้เสนอรายการของบุคลิกภาพและคุณธรรม ไว้ในหนังสือ Character Strengths and Virtues"  โดยใช้เวลาศึกษาอยู่ 3 ปี ทั้งคู่ได้จำแนกคุณธรรม (virtues) ออกเป็น ๖ ประเภท 24 ชนิด ซึ่งคุณธรรม(virtues) เหล่านี้ได้จากการศึกษาจากวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก และก็พบความคล้ายคลึงกันของคุณธรรม (virtues) ตามวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน คุณธรรม(virtues) 6 ประเภท ได้แก่ ๑.ความกล้าหาญ (courage), ๒.ความยุติธรรม (justice), ๓.ความมีมนุษยธรรม (humanity), ๔. การควบคุมอารมณ์ (temperance), ๕. การชนะจิตใจ (สภาวะที่อยู่เหนือความเข้าใจของมนุษย์ : อุตรภาพ (transcendence), และ ๖. ปัญญา (wisdom) 

มีนักจิตวิทยาบางคน [Jessica Shryack, Michael F. Steger, Robert F. Krueger, Christopher S. Kallie. 2010. The structure of virtue: An empirical investigation of the dimensionality of the virtues in action inventory of strengths. Elsevier.]ได้เสนอแนะให้นำคุณธรรมทั้ง ๒๔ ชนิด จำแนกเป็นกลุ่มในลักษณะพลังหรือจุดแข็งเชิงบวก ๓ ด้าน แทนคุณธรรม (virtues)  ๖ ประเภท ได้แก่ ๑. ด้านความรู้ความเข้าใจ (Cognitive Strengths), ๒. ด้านการควบคุมอารมณ์ (Temperance Strengths), และ ๓. ด้านสังคม (Social Strengths)

จึงสรุปได้ว่าสิ่งที่ทั้งชาวตะวันตกและนักวิชาการไทยเรียกว่า “คุณธรรม” นั้นก็คือ “สภาพคุณงามความดีของจิตใจ” ที่เกิดจากการฝึกฝน หรือถูกอบรมสั่งสอนอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นนิสัย หรือการจะสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นกันเยาวชนได้นั้น ต้องใช้วิธี“ปลูกฝัง อบรม บ่มเพาะ ฝึกฝน ขัดเกลา” หรือจะเรียกแบบวิชาการว่า “กระบวนการขัดเกลาทางสังคม (Socialization)” ของวิชาสังคมวิทยานั่นแหละ 

ที่ยกเหตุการณ์เรื่องนี้ขึ้นมา  ก็เพื่อชี้ให้ทุกท่านในวงการศึกษาเห็นว่า  ถ้าเราไม่สามารถ “นิยาม” ในสิ่งที่เราทำได้ชัดเจนว่ามันคืออะไร จะทำให้เราไม่รู้ว่าเราจะทำไปเพื่ออะไรกันแน่ เมื่อเราไม่รู้ สับสน มึนงง ก็จะทำให้เราทำงานไม่ได้ผลตามที่เราคาดหวังไว้  แม้จะทุ่มเทเพียรพยายามเท่าใด ก็สูญเปล่า เหนื่อยเปล่าแบบทุกวันนี้  เพราะไม่มีความชัดเจนตั้งแต่ต้น

เมื่อที่ประชุมเห็นทิศทางตรงกันแล้ว  ก็ช่วยกันร่างเกณฑ์การพิจารณา (20240518184703.doc) ว่าสถานศึกษาต้องทำอย่างไร ด้วยวิธีใด มีอะไรที่ชี้ให้เห็นชัดว่า “สถานศึกษาแห่งนั้นส่งเสริม / พัฒนา หรือ ปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ หรือตามที่สังคมของสถานศึกษานั้นต้องการ จนกลายเป็น “คุณธรรม” หรือนิสัยความเคยชินที่เห็นได้อย่างชัดเจนเป็นปกติทุกเวลา” จนสามารถที่จะประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชูให้สังคมรับทราบ และเป็นต้นแบบแก่สถานศึกษาอื่นๆต่อไป   

ในการประเมินครั้งแรก ทางสำนักงานศึกษาธิการภาค ๓  ขอให้คณะกรรมการได้ศึกษา/ตรวจสอบจากเอกสาร  ชมวีดิทัศน์ของสถานศึกษาต่างๆ ที่ส่งเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน ๓๓ โรงเรียน  เพื่อค้นหาว่ามีสถานศึกษาใดที่แสดงถึง “วิธีการกิจกรรม หรือกระบวนการที่ส่งเสริม/พัฒนา/ปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงประสงค์พื้นฐาน ๘ ประการที่กระทรวงศึกษาธิการต้องการให้มีขึ้นกับเด็กไทย ได้แก่ “ขยัน, ประหยัด, ซื่อสัตย์, มีวินัย, สุภาพ, สะอาด, สามัคคี, มีน้ำใจ” ด้วยหลักอะไร หรือทฤษฎีใดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ"

แต่...จากการศึกษา/ตรวจสอบเอกสาร ชมวีดิทัศน์ที่สถานศึกษาส่งมา  ผมและที่ประชุมพบว่า สถานศึกษาส่วนมาก “เข้าใจผิด” และ “หลงทาง” หลายประเด็น ดังนี้

  • ไม่เข้าใจว่า "คุณธรรม"  คือ อะไร  หรือไม่รู้จะดูจากตรงไหนถึงจะรู้ว่าเป็นคุณธรรม
  • นำเอาผลที่ได้แค่ "ค่านิยม" หรือ “จริยธรรม” มาเสนอเป็น “คุณธรรม”
  • ไม่ได้ทำกิจกรรมฯอย่างจริงจังต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เป็นกิจกรรมประเภท "กิจวัตร" 
  • ทำกิจกรรม "เฉพาะกิจแต่ละปี” ขึ้นมารองรับโครงการส่งเสริม และพัฒนาคุณธรรมที่จะส่งขอรับรางวัล
  • คิดว่า "กิจกรรมทางศาสนา"  เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมโดยตรง
  • ทำกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนทำ   แต่ครูไม่ต้องทำ หรือไม่ต้อง “เป็น” ก่อน
  • มุ่งแต่ทำกิจกรรมด้วยความศรัทธาหรือใจอยากทำ แต่ทำอย่างไม่เป็นระบบ หรือมีกระบวนการ/ขั้นตอนตามแนวคิดหรือทฤษฎีใดๆ ที่จะดำเนินการให้เกิด "เป็นปกตินิสัย" อย่างแท้จริง

                                              ………………..

                      “ถ้าเริ่มต้นผิด เข้าใจผิด  สิ่งที่ทำจึงผิด  เสียเวลา เสียทรัพย์ 

                           เสียแรงเหนื่อยเปล่า  เพราะไม่เกิดผลตามที่คาดหวัง”

                                                                ………….

ต่อมาผมได้เสนอแนะว่า เพื่อให้เห็นว่าสถานศึกษานั้นมีวิธีการดำเนินการอย่างไร ในการพัฒนานักเรียนให้เป็นผู้มี “คุณธรรม” จริงๆ คณะกรรมการควรได้ไปเยี่ยมชมสถานศึกษาต่างๆ ทุกแห่งที่เข้าร่วมโครงการฯอีกครั้ง ก่อนการตัดสินผลการประเมิน โดยไม่ได้นัดหมาย หรือแจ้งให้สถานศึกษาทราบล่วงหน้า เพื่อจะได้เห็นสภาพจริง จะเรียกว่าเป็นการ“ประเมินตามสภาพจริง” ก็ย่อมได้ ทั้งเยี่ยมชมสถานศึกษาในภาพรวม และการจัดกิจกรรมที่สถานศึกษาจัดขึ้นเพื่อส่งเสริม/พัฒนา/ปลูกฝังคุณธรรม (แบบตรวจเยี่ยมสถานศึกษา 20240518185158.docx) อีกส่วนหนึ่งจะได้ขอความอนุเคราะห์ครู ผู้บริหาร และนักเรียนตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับคุณธรรม เพื่อจะได้รู้สภาพปัญหาในการดำเนินการการพัฒนา/ปลูกฝังคุณธรรมของสถานศึกษาอีกทางหนึ่งด้วย (แบบสอบถามคุณธรรม 20240518185506.docx)  

ผลปรากฏว่าสถานศึกษาหลายแห่งเป็นไปตามที่ผม และคณะกรรมการตั้งข้อสังเกตไว้  โดยสถานศึกษาหลายแห่ง  ผมและคณะกรรมการเข้าไปก่อนเคารพธงชาติบ้าง  ในระหว่างพักรับประทานอาหารกลางวันบ้าง  บางครั้งเข้าไปขณะสถานศึกษากำลังเลิก  ทำให้ประจักษ์ชัดว่า  สถานศึกษาหลงทางไปทำ “กิจกรรมส่งเสริม” เป็นส่วนใหญ่ บางแห่งก็ทั้งหมด  ทั้งๆที่ความประพฤติ หรือบุคลิก หรือ กิริยาอาการของนักเรียนทั้งในห้องเรียนและขณะพบเจอนอกห้องเรียน  ควรจะได้รับ “การพัฒนาหรือปลูกฝัง” มากกว่า เพราะพฤติกรรมต่างๆที่พบเห็นแสดงถึงการขาดความเอาใจใส่ ปล่อยปละละเลย จากครู ผู้บริหารอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอเป็นประจำ เมื่ออ่านคำตอบจากแบบสอบถามก็ไม่สงสัยอีก เพราะพบว่า ส่วนมากครู ผู้บริหารจะแค่ชี้แนะ สั่ง บอกกล่าวตักเตือนนักเรียนตอนทำกิจกรรมเข้าแถวเคารพธงชาติตอนเช้าก่อนเข้าเรียน  และพูดว่ากล่าว(บ่น) หน้าชั้นเรียนเท่านั้น ไม่มีการอบรม บ่มเพาะ ขัดเกลา หรือฝึกฝนอย่างจริงจังต่อเนื่องทุกวัน  ปีต่อมาผมจึงได้จัดทำแนวทางการเขียนรายงานการจัดกิจกรรมการปลูกฝัง/พัฒนา/ส่งเสริมคุณธรรมให้แก่สถานศึกษาเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมที่น่าจะช่วยสถานศึกษาดำเนินการจัดกิจกรรมได้ชัดเจนต่อไป (20240518185017.doc)

การไปเยี่ยมเยือนโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า หรือนัดหมายก่อน ทำให้เห็นสภาพจริงว่าสถานศึกษา ผู้บริหาร ครู นักเรียนเป็นอย่างไรทั้งสภาพแวดล้อม อาคารสถานที่ บุคลิก พฤติกรรมของทุกคน ส่วนมากที่พบสถานที่ภายนอกจะดูเรียบร้อย สะอาดพอสมควร แต่ตามห้องต่างๆ จะไม่ค่อยสะอาดเรียบร้อย แม้แต่ในห้องเรียน นักเรียนส่งเสียงดัง วุ่นวาย ไม่สะอาด โต๊ะเรียนค่อนข้างสกปรก มีแต่รอยขีดเขียน ขยะเกลื่อนห้อง ถังขยะสกปรก สถานศึกษาบางแห่งพบเจอกระดานดำ โต๊ะครูสกปรกมาก เช่น ฝุ่นเต็มโต๊ะ ถ้วยชามที่ครูใช้รับประทานอาหารยังไม่ได้ทำความสะอาด    

แต่...มีสถานศึกษาที่น่าชื่นชม และประทับใจอยู่หลายแห่งที่แสดงถึง ความเอาใจใส่พัฒนาปลูกฝังคุณธรรมอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องเป็นปกติทุกวันตลอดปี  เช่น โรงเรียนบรรจงรัตน์ ลพบุรี, โรงเรียนอัสสัมชัญ ลำนารายณ์, โรงเรียนอัสสัมชัญ ลพบุรี,  โรงเรียนเมืองละโว้ ลพบุรี,  โรงเรียนอินทโมลีประทาน สิงห์บุรี,  โรงเรียนอนุบาลอ่างทอง, โรงเรียนเซนต์โยเซฟ จ.นครสวรรค์, โรงเรียนเซนต์โยเซฟ จ.เพชรบูรณ์, โรงเรียนเซนต์โยเซฟ อ.แม่ระมาด จ.ตาก, โรงเรียนอนุบาลทิพยา อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์, จัดว่า "ดีเยี่ยม" ทุกด้านสามารถเป็นตัวอย่าง หรือ "ต้นแบบ" ที่สถานศึกษาใดอยากพัฒนาปลูกฝังคุณธรรมจริงๆ ควรไปชมให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม อาคารสถานที่ต่างๆ ก็สะอาดเรียบร้อย ร่มรื่น สิ่งของในห้องเรียนหรือห้องต่างๆ ทุกห้องจัดได้เรียบร้อยสะอาด โต๊ะเรียนไม่สกปรก หรือมีการขีดเขียนให้เห็น ถังขยะตามห้องเรียนสะอาด มีถุงดำครอบ พร้อมฝาปิด ไม้กวาด ไม้ถูพื้นจัดเก็บได้เรียบร้อย ดูสบายตา โดยเฉพาะโต๊ะทำงานครู ห้องพักครูสะอาดเรียบร้อยมาก ครูนักเรียนพูดจาไพเราะ  มีสัมมาคารวะ มีอัธยาศัยและรู้จักปฏิสันถารในการต้อนรับ มีน้ำใจคอยช่วยเหลือกัน  ส่วนตัวครู ก็มีกิริยามารยาท วาจาเรียบร้อย แต่งกายสมเป็นครู เรียกว่าเขาดีจริงๆ ตามที่เป็นอยู่ปกติทุกวัน ไม่มีการจัดฉากสร้างภาพให้เห็น เพราะผู้บริหาร และครูต่างไม่ทราบว่าคณะกรรมการจะไปตอนไหน ไปอย่างไร  บางสถานศึกษาไปเกือบโรงเรียนใกล้เลิก จึงพลอยทำตัวเป็นผู้ปกครองที่ไปรับเด็กกลับบ้าน และได้เห็นสถานศึกษาแห่งนี้อีกรูปแบบหนึ่ง แถมได้ข้อมูลเชิงลึกหลายเรื่องจากผู้ปกครองที่พบสนทนาด้วย

ที่น่าชื่มชม ได้แก่ โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ลพบุรี, โรงเรียนสิงห์บุรี  จ.สิงห์บุรี, โรงเรียนเพ็ญพัฒนา อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี มีการจัด "กิจกรรมพัฒนา” ให้นักเรียนเป็นผู้มีคุณธรรมได้ผลดีจำนวนหนึ่ง แม้จะไม่ได้ผลทั่วถึงทั้งสถานศึกษา แต่ก็มีหลายกิจกรรมที่ทำมาอย่างยาวนานเกิน ๒๐ ปีขึ้นไป เช่น คณะสี การตักบาตรทุกวันพระ การเรียนแบบแข่งขันระหว่างห้องและกับเกณฑ์ ครูทุกคนต้องเรียบเรียงเอกสารประกอบการเรียนและจัดทำแบบฝึกหัด/กิจกรรมให้นักเรียนได้ฝึกฝนด้วยตนเอง มีการทดสอบท้ายหน่วยการเรียนเสมอ จนมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของสังคมว่า "นักเรียนเก่ง มีคุณภาพ" สามารถศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้เป็นจำนวนมาก

แม้ว่าโรงเรียนเทศบาล ๑ อ.เมือง จ.อ่างทอง จะไม่เด่นเรื่องวิชาการเท่าใด แต่มีกิจกรรมที่โดดเด่นมาก คือ กิจกรรมส่งเสริมนักเรียนเข้าประกวดร้องเพลงชิงช้าสวรรค์ มาเป็นตัวกระตุ้นการฝึกฝนนิสัย จิตใจให้ตั้งใจ มานะพยายามทุ่มเทในการฝึกซ้อมทั้งนักร้อง นักดนตรี นักแสดง รวมทั้งนักเรียนที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนช่วยเหลือกองประกวด  ต่างได้ฝึกฝนกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี  จนสามารถเป็นคุณลักษณะที่ดีติดตัวนักเรียนได้ผลเกือบทั้งโรงเรียน จนสามารถชิงชนะเลิศได้ถึง ๓ ปีซ้อน

ยังมีอีกหลายโรงเรียนที่ประทับใจมาก เช่น โรงเรียนระบบสาธิตเทศบาล ๑ อ.เมือง จ.ลพบุรี, โรงเรียนพิณพลราษฎร์(ตั้งตรงจิตร 12) อ.วังทอง จ.พิษณุโลก, โรงเรียนอนุบาลสุโขทัย จ.สุโขทัย, โรงเรียนวัดกำแพง อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ที่ผู้บริหารตั้งใจจริงอย่างมาก ทุ่มเท เอาใจใส่ เสียสละเวลาและทรัพย์สินส่วนตัว เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริม กิจกรรมพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์อยู่เสมอ แต่กิจกรรมบางอย่างก็ยังเน้นไปที่กิจกรรมเฉพาะกิจ เฉพาะกรณีไม่ทำอย่างต่อเนื่องเป็นปกติประจำทุกวัน เพื่อปลูกฝังนักเรียนให้เป็นผู้มีคุณธรรมได้อย่างทั่วถึงทุกระดับชั้น

มีสถานศึกษาที่น่าประทับใจ คือ โรงเรียนค่ายบางระจัน สิงห์บุรี  ไปเยี่ยมชมตอนปลายเดือนกันยายน ซึ่งแม้ว่ากิจกรรมที่สถานศึกษาดำเนินการจะไม่สามารถพัฒนาถึงคุณธรรมได้ก็ตาม แต่กลับมีกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณธรรมชั้นสูง (ความกตัญญูกตเวที) ได้ดีมาก โดยการให้นักเรียนได้อำลา/กราบคุณครูที่จะเกษียณอายุ ที่น่าประทับใจมาก คือ สถานศึกษาได้เชิญนักการภารโรงที่เกษียณอายุขึ้นบนเวทีให้นักเรียนกราบคารวะด้วย จากการสังเกต พบว่า นักเรียนต่างกราบคารวะนักการภารโรงผู้นี้ด้วยความนอบน้อมมากกว่าครูเสียอีก มีการมอบพวงมาลัยดอกไม้ บางคนมีดอกไม้ธรรมดาที่ดูเหมือนว่าจะนำมาจากบ้านของตัวเองอย่างเนืองแน่น ที่น่าประทับใจอีกอย่าง คือ ทางโรงเรียนพานักเรียนทำกิจกรรมเข้าแถวเคารพธงชาติ ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ และอบรมแนะนำนักเรียนที่บริเวณโบราณสถานวิหารเก่าแก่ที่โรงเรียนปรับปรุงขึ้น

 
ซึ่งตรงนี้ผมและคณะกรรมการ เห็นตรงกันว่า “ถ้าผู้บริหารและครูยังไม่ดีจริง ไม่เป็นตัวอย่างที่ดี แล้วจะให้นักเรียนมีพฤติกรรม หรือจิตใจที่ดี เป็นผู้มีคุณธรรมได้อย่างไร”

เป็นที่น่าสังเกตว่านักเรียนในระดับประถมศึกษา ยิ่งเป็นแถบชนบท มักจะมีคุณลักษณะทางจริยธรรมหรือคุณธรรม ด้านความสุภาพ ความซื่อสัตย์ ความสามัคคี และความมีน้ำใจ โดยเฉพาะ“ความมีน้ำใจ”นี้เด่นมาก ซึ่งเห็นได้ชัดเจนกว่านักเรียนตามสถานศึกษาชุมชนเมือง ซึ่งน่าจะมาจากอิทธิพลของครอบครัว/ชุมชน/สังคมมากกว่า 

และเมื่ออ่านคำตอบของแบบสอบถามที่ถามนักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษาต่างๆ ทำให้ยืนยันได้ชัดเจนว่าสถานศึกษาส่วนมากยังไม่เข้าใจว่า “คุณธรรม” คืออะไร การสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาต้องทำอย่างไร ด้วยวิธีใด  จึงทำให้สับสนระหว่างจริยธรรม และค่านิยม พลอยทำให้กิจกรรมที่สถานศึกษาคิดขึ้นมาดำเนินการ จึงยังไม่ส่งผลให้นักเรียน “เป็นผู้มีคุณธรรม” อย่างแท้จริง
 

สรุปได้ว่า

  • จริยธรรม จะดูจากพฤติกรรมที่แสดงออกมาทางกาย วาจา  แต่...คุณธรรมนั้นให้สังเกตว่าเป็นการกระทำที่แสดงออกมาทางคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตามความเคยชินหรือจากนิสัยจิตใจหรือไม่ 
  • การจัดกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่หลักสูตรฯ และสังคมต้องการ ควรทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอให้เป็นปกติประจำทุกวัน แบบเดียวกับกิจกรรมการเคารพธงชาติ สวดมนต์ไหว้พระที่สถานศึกษาทำอยู่แล้วทุกวันนั่นแหละ  
  • การไปแยกประเภทสิ่งต่างๆ หรือกิจกรรมใดเป็นค่านิยม จริยธรรม ศีลธรรม คุณธรรมนั้นไม่ถูกต้อง เช่น อย่าคิดว่า ขันติ ความอดทน เป็นคุณธรรม,  ส่วนความสุภาพเรียบร้อย สะอาด เป็นจริยธรรม หรือค่านิยม  
  • ผู้มี "คุณธรรม" นั้นหมายถึง บุคคลที่มีสภาพจิตใจลักษณะดีงาม เช่น “มีจิตสำนึกที่ดี” หรือ “มีจิตใจที่ดีงาม” หรือ "มีจิตใจที่เข้มแข็ง ยึดมั่นในความดี ความถูกต้อง” หรือ "มีจิตใจที่กล้ารับผิดชอบ" หรือ "มีจิตใจที่รู้จักผิดชอบชั่วดี"  หรือ "มีจิตใจที่เกรงกลัวต่อการกระทำ ความชั่ว" ที่เกิดจากการฝึกฝนเป็นประจำ จนกลายเป็นนิสัยหรือความเคยชินที่ดี  
  • ผู้ใดจะมีคุณธรรมหรือไม่ ให้ดูจากบุคลิก พฤติกรรมที่เคยชิน หรือแสดงออกมาทันทีตามสถานการณ์ต่างๆ

                                                                               …….

การจะจัดกิจกรรมพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้นักเรียน/นักศึกษา“เป็นผู้มีคุณธรรม”สามารถทำได้ ๕ ประการ ดังนี้ 

     ๑. ผู้บริหาร/ครูทุกคน“ต้องทำ/เป็นตัวอย่าง”ที่ดีงาม/ในสิ่งที่ตนเองจะพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้กับนักเรียน

     ๒. มีการจัดกิจกรรมส่งเสริม/พัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้นักเรียนทำเป็น“กิจวัตร”อย่างจริงจังต่อเนื่องทุกวันอย่างน้อย ๓ ปีขึ้นไป โดยมีระบบและกระบวนการขั้นตอนที่ดำเนินการตามหลักการสอน หรือหลักจิตวิทยา หรือทฤษฎีที่ใช้

     ๓. มีกิจกรรมที่ให้นักเรียนต้องทำด้วยตนเอง และ/หรือได้ร่วมทำกับผู้อื่นอย่าง “ยากลำบาก/ต้องต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรค” เช่น การแข่งขัน, การทำตามเป้าหมาย ฯลฯ จนกว่าสมหวัง หรือประสบความสำเร็จ 

     ๔. โน้มน้าว ชักชวน กระตุ้น(ปลูกฝัง) ให้นักเรียน “เชื่อมั่น หรือ ศรัทธา” ต่อกฎแห่งกรรม การเวียนว่ายตายเกิด บาปบุญคุณโทษ พระเจ้า เป็นต้น หรือ เชื่อมั่นศรัทธาต่ออุดมการณ์/เป้าหมายที่สูงส่งของชาติและสังคม เป็นต้น 

     ๕. ทำให้ “ตระหนัก” ในคุณค่าของชีวิต หรือทำให้ “เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง” ต่อความเป็นจริงของชีวิต เช่น ชีวิตประกอบจากขันธ์ ๕, ชีวิตเป็นไปตามไตรลักษณ์ หรือโลกธรรม ๘, เข้าใจเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งต่างๆของชีวิตและจิตใจ ด้วยหลัก ปฏิจจสมุปบาท/อิทัปปัจจยตา จนเห็นชีวิตมีแต่ความทุกข์ ทำให้เบื่อโลก เบื่อชีวิต เบื่อการเวียนว่ายตายเกิด เป็นต้น

จากที่ผมไปเยี่ยมชมสถานศึกษาต่างๆ ทุกระดับทุกสังกัด พบว่า สถานศึกษาส่วนมาก แค่ข้อ ๑ ก็ไม่ผ่านแล้ว, ข้อ ๒ มีอยู่ ๗ แห่งที่ทำได้ถึง, ข้อ ๓ ที่เด่นชัดมี ๔ แห่ง, แต่ข้อ ๔ ยังสรุปไม่ได้ชัดว่าเป็นฝีมือของสถานศึกษา หรือของชุมชน หรือจากครอบครัว หรือจากพระภิกษุกันแน่  แม้ในสถานศึกษาจะมีกิจกรรมทางศาสนา หรือกิจกรรมที่ใช้หลักทางศาสนา แต่จากการตอบแบบสอบถามของนักเรียน มีน้อยคนมากที่จะเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม หรือนรกสวรรค์ เป็นต้น แม้จะเป็นโรงเรียนที่วัดและพระสงฆ์ของศาสนาพุทธจัดขึ้นก็ตาม แต่...ที่น่าแปลก กลายเป็นว่าโรงเรียนในเครือของศาสนาคริสต์กลับสามารถปลูกฝัง "ความเชื่อ ความศรัทธา" ได้ดีจริงๆ   ส่วนข้อ ๕ คงยังไม่มีสถานศึกษาใดทำได้ นอกจากพระภิกษุสายปฏิบัติเท่านั้นที่ทำได้ หรือจากอิทธิพลสภาพจิตใจของครูบางคนที่เข้าถึงธรรม จึงกระตุ้นให้เด็กเห็นตามได้ 

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่โครงการนี้ ต้องยุติไม่ได้ดำเนินการเพื่อแสวงหาสถานศึกษาที่สามารถปลูกฝังคุณธรรมให้เกิดขึ้นกับนักเรียนได้ ตามนโยบายของผู้บริหารกระทรวงคนใหม่  ซึ่งแทบจะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของวงราชการก็ว่าได้ ที่ทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่ตามคนใหม่ เป็นสไตล์บริหารแบบไทยๆ  

แม้ว่าโครงการนี้ของกระทรวงศึกษาธิการจะยุติลง  แต่ก็ยังมีหน่วยงานหลายแห่งทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนที่มีความหวังดี มีน้ำใจอยากเห็นสังคมไทยเป็น "สังคมคุณธรรม" จึงได้ช่วยกันจัดทำโครงการยกย่องสถานศึกษาที่จัดกิจกรรมส่งเสริมจริยธรรม คุณธรรมขึ้นมาอีกหลายแห่ง ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี ทำให้สถานศึกษาต่างๆ ตื่นตัว มุ่งมั่นพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กเพิ่มขึ้นอย่างหลากหลาย เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ), เขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ, มูลนิธิยุวสถิรคุณ, ธนาคารออมสิน, มูลนิธิยุวพัฒน์ ฯลฯ เพียงแต่แนวทางที่ผมเคยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการนั้น แตกต่างจากหน่วยงานอื่นไปบ้าง ตรงที่ผมมุ่งเน้นความเป็นผู้มีคุณธรรมจากความปกติ, ความเคยชิน ที่แสดงถึงนิสัยจิตใจของนักเรียน/นักศึกษาก่อน แล้วค่อยไปดูกิจกรรมที่สถานศึกษาดำเนินการว่าทำด้วยกระบวนการที่มีขั้นตอนตามหลัก/ทฤษฎีอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวันส่งผลให้นักเรียน/นักศึกษาเป็นผู้มีคุณธรรมหรือเปล่า  และวิธีการเยี่ยมชมสถานศึกษาที่ผมจะไม่แจ้งให้สถานศึกษาทราบก่อน ทั้งนี้เพราะความเข้าใจนิยามความหมายคุณธรรมต่างกัน 

ถึงตอนนี้ผมเชื่อว่า หลายท่านคงมีความเข้าใจตรงกับผมบ้างว่า โรงเรียนคุณธรรม ก็คือ โรงเรียนที่ผู้บริหารและคณะครูช่วยกันดำเนินการ “ด้วยวิธีการหรือกระบวนการขั้นตอนอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตรประจำวันของสถานศึกษา” ซึ่งวิธีการนั้นจะนำมาจากทฤษฎีทางการศึกษา หรือหลักจิตวิทยาใดก็ตาม หรือจะเป็นหลักธรรมของศาสนาไหนก็ได้ ที่สามารถปลูกฝัง/พัฒนา "คุณลักษณะที่พึงประสงค์” ให้ทำจนเคยชินเป็นลักษณะนิสัย "ผู้มีพฤติกรรมที่ดีงาม และสภาพจิตใจที่ดีงาม"

ซึ่งถ้ามีท่านผู้อ่านเข้าใจตรงกันกับผมอย่างนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็เชื่อว่า เราจะมีโรงเรียนที่ปลูกฝังคุณธรรมจริงๆ บังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ แล้วในที่สุดเราก็จะได้พลเมืองที่เป็นผู้มีคุณธรรม สร้างคุณค่าแก่สังคม และประเทศอย่างแท้จริง.

หมายเลขบันทึก: 718260เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2024 18:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2024 08:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท