๑๓. เมื่อผมเป็นที่ปรึกษา


หลังจากผมได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากร เป็นอาจารย์พิเศษบัณฑิตวิทยาลัย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้ประเมินภายนอก  ทำให้ผมพบเจอสถานศึกษาหลายแห่งที่สามารถจัดการศึกษาให้กับนักเรียนทุกคนอย่างมีคุณภาพได้ทั่วถึงทุกระดับชั้นของสถานศึกษา ทั้งด้านวิชาการและความประพฤติ ด้วยฝีมือผู้บริหารที่เอาจริงด้วยความ “เก่งและกล้า มีจิตวิญญาณความเป็นครู” ที่สามารถกระตุ้นคณะครูให้เป็นผู้ทรงความรู้ สามารถถ่ายทอดความรู้ และทักษะด้วยเทคนิคการสอนที่ดี รวมทั้งพัฒนาความประพฤติและจิตใจจนนักเรียนประสบความสำเร็จในชีวิตเวลาต่อมามากมาย ซึ่งคุณลักษณะผู้บริหารที่ผมรู้จักและชื่นชม เช่น รองอธิบดีชงค์ วงษ์ขันธ์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ลพบุรี ที่สามารถบริหารสถานศึกษาจนประสบความสำเร็จทั้งด้านวิชาการและกิจกรรมนักเรียน สร้างสรรค์นักเรียนจนเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าแก่สังคมอย่างกว้างขวาง, ผู้อำนวยการชื่น  ศรีสวัสดิ์  อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนนครสวรรค์ ที่ชอบเดินดูการเรียนการสอนของครู-นักเรียนเป็นประจำ,  กระตุ้นให้เพื่อนสอนเพื่อน พี่สอนน้อง(ติว) จนทำให้นักเรียนโรงเรียนนครสวรรค์สมัยนั้น เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาสูงที่สุดในภาคเหนือ, ผู้อำนวยการนิวัต พรหมศร อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนชุมแสงชนูทิศ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ที่ใช้วิธีการปรับเปลี่ยนห้องเรียนทุกภาคเรียนตามลำดับคะแนนที่นักเรียนทำได้(แบบดิวิชั่น-ลีก ฟุตบอลอังกฤษ) ทำให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนสูงสุด จนสามารถศึกษาต่อในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และมหาวิทยาลัยมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ,  ผู้อำนวยการประสพศรี เตมียบุตร อดีตผู้อำนวยการโรงเรียเฉลิมขวัญสตรี จ.พิษณุโลก ที่สามารถบริหารสถานศึกษาให้ประสบความสำเร็จทุกด้าน, ส่วนผู้อำนวยการรุ่นใหม่ เช่น ผู้อำนวยการสุภาวดี วงษ์สกุล ผู้พัฒนาโรงเรียนสายปัญญา รังสิต จากอันดับท้ายๆ ขึ้นมาเป็นผู้นำของจังหวัดปทุมธานี และพัฒนาโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต จนมีระบบปฏิบัติการที่ดี (Best Practice) ในการจัดการศึกษาจนประสบความสำเร็จอย่างสูงได้มาตรฐานระดับชาติ, ผู้อำนวยการสุพจน์ จินันทุยา ที่มุ่งมั่นพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้เป็นระบบมีคุณภาพ มีการปรับพื้นฐานนักเรียนก่อนเปิดภาคเรียนอย่างจริงจังตลอดเดือนเมษายน-พฤาภาคม  ส่งเสริมภาวะผู้นำนักเรียนด้วยกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นระบบทั่วถึงทั้งโรงเรียน, นายแพทย์กิจเกษม ทิพยานุรักษ์สกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลทิพยาหล่มสัก ที่มุ่งมั่นสร้างสถานศึกษาให้เด็กทุกคนได้พัฒนาสุขภาพที่ดี ได้รับการศึกษาที่รู้จริง ทำได้จริง เป็นต้น ที่จริงยังมีผู้บริหารสถานศึกษาที่ “เก่งและกล้า เอาจริงเอาจัง” กับการพัฒนาสถานศึกษาและการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพอีกหลายท่าน  ซึ่งผมเคยได้ยินชื่อเสียงและการยอมรับจากสังคม

ใจผมอยากเห็นสถานศึกษาดีมีคุณภาพเกิดขึ้นอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ   แต่เมื่อทำหน้าที่ทั้งเป็นวิทยากร เป็นอาจารย์พิเศษบัณฑิตวิทยาลัย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้ประเมินภายนอกรวมแล้วกว่า ๔๐ ปี ผมเองก็รู้สึกผิดที่ตัวเองไม่สามารถช่วยพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของสถานศึกษาเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางตามความฝัน  แต่ก็ยังอดคาดหวังไม่ได้ว่า  ต่อไปในอนาคตคงจะมีผู้บริหารที่สามารถสร้างสถานศึกษาให้จัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพอย่างแท้จริงมากมายทั่วประเทศ   เมื่อผมไม่สามารถผลักดันตามที่ไปลงทุนลงแรงกับบทบาทฐานะต่างๆได้ผลสำเร็จอย่างที่คาดหวังไว้  ก็น่าจะลองลงไปทำหน้าที่เป็นวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ตรวจ ผู้ประเมิน ฯลฯในสถานศึกษาอย่างเต็มตัวดูบ้าง คราวนี้ไปในฐานะบทบาทที่ปรึกษาการจัดการศึกษา เพื่อนิเทศชี้แนะ ติดตาม และอาจจะมีการติดตาม ตรวจสอบเพื่อแก้ไขปรับปรุงการจัดการศึกษาในสถานศึกษาให้เป็นระบบมีคุณภาพยิ่งขึ้น  ตามคำเชิญชวนของผู้บริหารสถานศึกษาหลายท่านที่ชวนให้มาช่วยเหลือพัฒนาการจัดการศึกษาในสถานศึกษาอยู่เสมอ ผมก็เลยได้ทำงานอีกครั้งในสถานศึกษา 

เมื่อลองมาเป็นที่ปรึกษาสถานศึกษา  ผมก็พูดคุยตกลงกับผู้บริหารก่อนว่า เราจะมีเป้าหมายอย่างไร แค่ไหน และเมื่อกำหนดเป้าหมายแล้ว จะต้องเอาจริงนะ ห้ามลังเล หรือเปลี่ยนใจ ถ้าเจออุปสรรค หรือแรงต้านจากครู บุคลากร ก็ต้องช่วยกันแก้ปัญหาให้ได้ ห้ามถอยเด็ดขาด ถ้าถอยหรือเกิดความกลัวขึ้นมา  ผมก็จะถอยเหมือนกัน ไม่งั้นเดี๋ยวจะเจ็บตัวเจ็บใจ เพราะเคยเกิดกรณีเช่นนี้หลายแห่ง (ส่วนมากเป็นผู้บริหารที่อยากขยับขยายไปสถานศึกษาที่ใหญ่ขึ้น  แต่ถ้าไม่คิดอยากย้าย หรือใกล้จะเกษียณก็จะลุยกันเต็มที่) 

ถ้าตกลงกันว่าจะเอาจริงกันแน่ ก็ปรึกษากันว่าเริ่มต้นต้องรู้สภาพปัญหาของสถานศึกษาในทุกๆด้านอย่างแท้จริงเสียก่อน  ต่อจากนั้น ผมก็ออกแบบสอบถามสภาพปัญหาในด้านต่างๆของสถานศึกษากับนักเรียน คณะครู ฝ่าย/งานต่างๆ และกรรมการสถานศึกษา บางแห่งก็ถามอดีตคณะครูหรือผู้บริหารที่เกษียณไปแล้ว  และนำผลการทดสอบของสภานศึกษา  ผลการทดสอบระดับเขต  ผลการทดสอบระดับชาติ(O-net) ผลการทดสอบเข้าศึกษาต่อ  ได้ผลสรุปอย่างไรก็มาวิเคราะห์ให้เห็นว่าสถานศึกษาของเราตอนนี้มีสภาพอย่างไรบ้าง การวิเคราะห์นี้ใช้ทั้งการวิเคราะห์โครงสร้าง  วิเคราะห์โดยใช้ทฤษฎี SWOT ทั้งจุดเด่น จุดบกพร่อง และที่มีปัญหานั้นมีเรื่องอะไรบ้าง จากสาเหตุไหน แล้วถ้าจะแก้ปัญหาให้ได้หรือจะพัฒนาให้ดีขึ้น ควรทำอย่างไร  และสุดท้ายก็ใช้ทฤษฎี force Model ของ Michael Porter เป็นตัววิเคราะห์ศักยภาพและสมรรถนะของสถานศึกษาว่ามีเท่าใดที่จะยกระดับหรือเร่งรัดการพัฒนาได้   

เมื่อได้ข้อมูลชัดเจนแน่นอน ก็ลองร่างเป้าหมายคร่าวๆ แล้วเขียนเป็นวิสัยทัศน์ /พันธกิจ นำเสนอให้ที่ประชุมคณะครูและกรรมการสถานศึกษาพิจารณารับทราบ ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ที่ประชุมได้ซักถามหรือโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์กันได้อย่างเต็มที่  (แต่ถ้าเราได้เตรียมข้อมูลทุกด้านจากงานปกติของสถานศึกษา และข้อมูลเชิงลึกจากแบบสอบถามสภาพปัญหา และเราเตรียมศึกษาหลักสูตร พระราชบัญญัติทางการศึกษา หรือแผนพัฒนาการศึกษา หรือแผนยุทธศาสตร์ชาติไว้ก่อน  รับรองว่าพวกที่ชอบโต้แย้งคัดค้านทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลอง หรือชอบเอาเท้าราน้ำ จะเถียงไม่ออก เงียบไปในที่สุด)  หลังจากผ่านการขัดเกลาวิสัยทัศน์/พันธกิจในที่ประชุม ก็ให้ช่วยกันระดมความคิดต่อว่า ถ้าเราจะทำตามพันธกิจให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ เราต้องใช้กลยุทธ์(strategy)ในแต่ละพันธกิจนั้นอย่างใด  และในแต่ละพันธกิจต้องใช้กลยุทธ์กี่อย่าง เมื่อได้กลยุทธ์แล้ว ก็นำกลยุทธ์ที่ได้นั้นไปจัดทำโครงการต่อไป (ตรงนี้ก็คือแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา : แผนยุทธศาสตร์) พูดกันง่ายๆ กลยุทธ์มีเท่าใด โครงการก็ควรมีเท่านั้น ปกติก็จะไม่เกิน ๑๔ โครงการ อาจจะเพิ่มโครงการพิเศษตามนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัดอีกไม่เกิน ๒ โครงการก็น่าจะพอแล้ว  ไม่ควรจัดทำเป็นโครงการให้มากมาย บางสถานศึกษาจัดทำโครงการไว้มากกว่า ๑๐๐ โครงการ (ถ้าเราศึกษาให้ดีบางโครงการก็ควรเป็นแค่กิจกรรมเท่านั้นก็พอ) เมื่อได้โครงการแล้ว (ก็แทบจะมองเห็นผู้รับผิดชอบโครงการตามแต่ละฝ่ายทันที) ก็นำกิจกรรมที่สถานศึกษาทำอยู่มาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ และถ้ากิจกรรมที่มีอยู่ยังไม่สนองตอบต่อกลยุทธ์และพันธกิจก็คิดสร้างขึ้นมาใหม่อีก (20240514143507.docx) ,(ตัวอย่างโครงการ/กิจกรรม 20240514143602.docx),  

เมื่อกำหนดกิจกรรมและแนวดำเนินการกิจกรรมแต่ละโครงการเสร็จสิ้น ก็ประชุมครูและกรรมการสถานศึกษาอีกครั้ง เพื่อแจ้งถึงแนวทางดำเนินการที่ได้ปรับปรุงให้เป็นไปตามกลยุทธ์และพันธกิจทั้งที่เป็นงานประจำ เช่น การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร และกิจกรรมตามโครงการต่างๆ เป็นลายลักษณ์อักษรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการทำงานต่อไป   ซึ่งแนวการดำเนินการด้านการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรผมได้เขียนบทความไว้มีรายละเอียดพอสมควร ท่านผู้สนใจหาอ่านได้ที่ “จัดการศึกษาอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพตามหลักสูตรฯ อย่างแท้จริง” (https://www.gotoknow.org/dashboard/posts/677882)

หลังจากนั้นได้จำแนกโครงการให้รองผู้อำนวยการและคณะครูแต่ละฝ่ายรับผิดชอบขับเคลื่อนพัฒนาต่อไป  ส่วนผมเน้นไปที่การ “พัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้เป็นการจัดการเรียนรู้” ให้ได้  เริ่มต้นผมขอให้คณะครูวางแผนการสอนแบบสังเขป พอให้เห็นว่า ครูท่านนั้นสอนวิชาอะไร มีจุดประสงค์(ตัวชี้วัด)การสอนหรือการฝึกไปเพื่ออะไร มีขอบเขตเนื้อหาที่ศึกษาอะไรบ้าง แต่ละจุดประสงค์(ตัวชี้วัด)จะใช้วิธีใดให้นักเรียนได้เรียนรู้หรือฝึกฝน จะใช้เวลาเท่าใดในการเรียนแต่ละเรื่อง แต่ละจุดประสงค์(ตัวชี้วัด)จะใช้วิธีวัดผลประเมินผล  และแต่ละจุดประสงค์(ตัวชี้วัด)จะกำหนดเกณฑ์การผ่านอย่างไร และกำหนดเป็นอัตราส่วนคะแนนไว้เท่าใด ถ้านักเรียนจะศึกษาเพิ่มเติมให้มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นจะไปศึกษาจากที่ใดหรือหนังสือเล่มใด (ตัวอย่าง : แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย ป.๑ 20240514143652.docx) แค่นี้ก็พอแล้วไม่ต้องเขียนละเอียดว่าแต่ละชั่วโมงจะต้องสอนอย่างไรครูพูดหรือทำอย่างไร(อันนี้เอาไว้ให้นักเรียนช่วยเขียนลบันทึกการเรียนการสอนดีกว่า) 

ต่อมา  ก็ขอให้คณะครูช่วยกันออกแบบทดสอบวัดความรู้พื้นฐานทุกวิชาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ จนถึงระดับสูงสุดของสถานศึกษาแห่งนั้น (ถ้าสถานศึกษาแห่งนั้นมีแค่ระดับประถมศึกษา ก็ให้ออกแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ จำนวน ๕๐ ข้อ, ถ้ามีแค่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ก็ออกเพิ่มจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ อีก ๓๐ ข้อ, ถ้ามีถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็ออกเพิ่มจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ อีก ๓๐ ข้อ หมายความว่าถึงจะอยู่ในระดับชั้น ม.๓ หรือ ม.๖ ก็ต้องทำข้อทดสอบตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ จนถึงระดับชั้นมัธยมที่ตนเองเรียนอยู่) การให้นักเรียนทำแบบทดสอบวัดความรู้พื้นฐาน  จะช่วยให้คณะครูและผู้บริหาร รวมทั้งนักเรียนต่างรับรู้ว่าที่ตนเองเรียนแล้วมีปัญหาเพราะเหตุใด  จากการวิเคราะห์สถภาพปัญหาและสอบถามพูดคุยโดยตรง มักพบว่า ปัญหาที่นักเรียนไม่รู้เรื่อง ไม่สนใจเรียน สาเหตุเพราะความรู้พื้นฐานไม่เพียงพอ หรือยังไม่รู้เรื่องของเก่าให้เข้าใจดีพอ ก็เรียนของใหม่แล้ว จึงยิ่งสับสนไม่เข้าใจเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ  และเมื่อถูกละเลยหรือถูกตำหนิจากครู ก็พลอยเกลียดการเรียน หันไปสนใจเกม หรือการเล่นที่สนุกดีกว่า

เมื่อสามารถจำแนกนักเรียนตามความรู้พื้นฐาน ก็จัดให้มีการปรับพื้นฐานกันจริงๆ ถ้าก่อนเปิดภาคเรียน ก็จะจัดสอนพื้นฐานให้กับกลุ่มที่จำแนกไว้ตามความสามารถ สัปดาห์ละวิชา  เมื่อจบแต่ละวันก็จะมีการทดสอบทันที  ถ้าผู้ใดทำได้ก็เลื่อนไปเรียนบทต่อไป หรือกลุ่มต่อไปทันที ถ้ายังทำไม่ได้ ก็เรียนเรื่องนั้นใหม่อีกครั้ง ทำจนกว่าจะผ่านแต่ละบท เช่น นักเรียนคนหนึ่งทำข้อทดสอบคณิตศาสตร์ได้แค่ ๑๑ ข้อ นั่นก็หมายความว่าเขามีความรู้ทางคณิตศาสตร์แค่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ครูก็จะให้นักเรียนคนนี้เข้ากลุ่มคณิตศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ เพื่อศึกษาทบทวนแบบเรียนคณิตศาสตร์ชั้นนี้ใหม่ เมื่อคิดว่าตัวเองเข้าใจก็จะให้ทำแบบฝึกท้ายบท  ถ้าทำแบบฝึกหัดได้  ครูก็จะให้ทำแบบทดสอบทันที  แต่ถ้าเปิดภาคเรียนแล้ว  ก็จะจัดให้ชั่วโมงแรกเป็นชั่วโมงพื้นฐานทั้งสถานศึกษา โดยจัดให้เรียนวิชาละ ๒ สัปดาห์ แบ่งกลุ่มนักเรียนไปตามระดับชั้นที่สอบได้ ถ้าครูไม่พอก็จัดให้นักเรียนที่เก่งไปช่วยสอนหรืออธิบายให้แต่ละกลุ่ม  ทำอย่างนี้ภาคเรียนเดียวก็เห็นผลแล้ว  นักเรียนมีความสุขมากขึ้น เพราะบางคนแค่ไปทบทวนอีกครั้ง ก็สามารถผ่านจนเรียนทันเพื่อนในชั้นเรียนปกติแต่ละวิชาได้  แสดงว่าสถานศึกษาที่ผมเป็นที่ปรึกษาสามารถจัดการศึกษาตามธรรมชาติและศักยภาพผู้เรียนจริงๆ พอคุยได้ว่าเป็นการจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ

ส่วนการสอนในชั่วโมงเรียนปกติ  ผมขอให้คณะครูสอนหรืออธิบายแค่ ๑๕ นาที ต่อจากนั้นก็ให้นักเรียนทำกิจกรรมหรือทำแบบฝึกหัดตามที่ครูวางแผนไว้  ถ้ามีเวลาเหลือก็ให้ครูเฉลยหรือตรวจทันที ถ้าใครยังไม่ผ่านก็ให้ไปหาเวลาฝึกฝนใหม่ที่บ้าน หรือช่วงพัก พอจบหน่วยการเรียนหรือบทเรียน ก็ให้มีการวัดผลด้วยข้อทดสอบแบบอัตนัยจำนวน ๑๐ ข้อ โดยข้อทดสอบต้องมี ๒ ตอน  ตอนที่ ๑ จะเป็นการถามความรู้ความเข้าในเนื้อหาหรือหลักการ (K) ตอนที่ ๒ จะเป็นการให้นักเรียนทดสอบการปฏิบัติหรือทักษะ (P)  เช่น บทว่าด้วยการบวกลบคูณหาร ตอนที่ ๑ จะถามหลักการบวกลบคูณหาร  ตอนที่ ๒ จะให้นักเรียนแก้โจทย์บวกลบคูณหาร  หรือ บทเรียนเรื่องการเรียงความ  ตอนที่ ๑ จะถามหลักการเขียนเรียนความ ขั้นตอนการเขียงเรียงความ และวิธีการเขียนเรียนความ  ตอนที่ ๒ จะให้นักเรียนเขียนเรียงความ การทดสอบประจำหน่วยด้วยแบบทดสอบอัตนัย ถือว่าเป็นการวัดผลประเมินผลเพื่อการพัฒนา (Formative Assessment) เมื่อทดสอบเสร็จถ้าผู้ใดไม่ผ่านเกณฑ์ ๘๐% ก็ให้ซ่อมปรับปรุงแก้ไขใหม่ จนกว่าจะผ่านบทเรียนนั้นๆ  เมื่อสิ้นสุดปลายภาคเรียนก็ค่อยทดสอบความรู้ ทักษะ และสิ่งที่ได้จากการปฏิบัติ (Summative Assessment) ด้วยข้อทดสอบแบบปรนัยที่ทางฝ่ายวิชาการของสถานศึกษาเป็นผู้ออก จำนวน ๓๐-๖๐ ข้อ ทำอย่างนี้รับรองว่านักเรียนจะไม่ติด ๐ หรือ ร อย่างแน่นอน   ถ้าสถานศึกษาใดมีนักเรียนติด ๐ หรือ ร แสดงว่าสถานศึกษานั้นไม่ได้ใส่ใจการเรียนการสอน และการวัดผลประเมินผลในแต่ละหน่วยหรือบทเรียนอย่างแน่นอน

ตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมานั้น เป็นสิ่งที่ผมถือว่าสำคัญที่สุดในการจัดการเรียนการสอน ผมตั้งใจคอยกระตุ้นผลักดันให้ครูทำตามขั้นตอนกระบวนการนี้อย่างจริงจัง ไม่ปล่อยปละละเลยครูคนใด แต่ก็มีบ้างที่มีครูบางคนไม่เอาใจใส่ที่จะทำตาม โวยวาย ทำหนังสือกล่าวหาผู้บริหารต่อผู้บังคับบัญชาที่สูงขึ้นไป แถมกล่าวหาว่าผมมายุ่งวุ่นวายในโรงเรียนทั้งที่ไม่มีหน้าที่(เสือก) เข้มงวดมาบังคับครูทำงาน หรือทำตัวยิ่งกว่าผู้บริหาร  ส่วนมากครูพวกนี้ไม่ค่อยมีวิญญาณครูเหลือ (เบื่อความเป็นครู ไม่อยากสอน ไม่อยากช่วยเด็ก) ถ้าเป็นโรงเรียนเอกชนก็ขอให้ลาออก หรือไปทำหน้าที่อื่นที่ไม่ต้องสอน ส่วนสถานศึกษาของรัฐส่วนมากก็จะให้ไปทำหน้าที่อื่น ถึงมาขอร้องก็ไม่อนุญาต จนกว่าจะเปลี่ยนสภาพจิตใจและทัศนคติ ทำอย่างนี้ภาคเรียนต่อไปก็ดีขึ้น นักเรียน และครูที่ชอบสอนต่างก็มีความสุข สามารถสร้างคุณค่าให้ตัวเอง ด้วยการทุ่มเทการเรียนการสอน  แต่ก็มีบางสถานศึกษาที่พอครูโวยวายหลายคน  ผู้บริหารก็ยกธงขาวยอมแพ้ซะดื้อๆ (ทั้งๆที่ตกลงกันอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะ เหลืออย่างเดียวคือไม่ได้สาบานต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น (ฮา) คงกลัวเสียประวัติ หรือกลัวเจ้านายไม่พอใจ ทำให้ไม่ได้เลื่อนตำแหน่งหรือโยกย้ายไปสถานศึกษาที่ใหญ่ขึ้น หรือบางแห่งก็เกิดความท้อ คิดว่าตัวเองตั้งใจทุ่มเทพัฒนาอย่างเต็มที่ แต่ชุมชนและคณะครูที่เหลือก็ไม่ออกมาช่วยพูดอธิบาย จึงวางมือ เพราะโรงเรียนและชุมชนก็ไม่ใช่ของเรา ปล่อยไปตามยถากรรมดีกว่า)

จากการเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการในสถานศึกษามากว่า ๒๐ แห่ง ผมถือว่าผมแพ้มากกว่าทำได้ แต่ก็พอยังชื่นใจที่สถานศึกษา ๗ แห่ง เป็นสถานศึกษาของรัฐ ๔ แห่ง ของเอกชน ๓ แห่ง ที่ผมถือว่าประสบความสำเร็จและได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจทั้งผลการทดสอบแห่งชาติ (O-net)  และผลการศึกษาต่ออยู่ในอันดับต้นของสถาบันนั้นๆ จะเรียกว่าเป็นความปลื้มปีติ-ภูมิใจที่ผมมีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดขึ้นก็ได้  ส่วนสถานศึกษาที่ไม่ประสบความสำเร็จ  ส่วนมากเกิดจากยอมแพ้ครูส่วนหนึ่งที่ขยันต่อรอง โยกโย้ที่จะไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้ มีตั้งแต่ไม่ยอมส่งงานตามกำหนดเวลา เช่น แผนการสอน, กิจกรรม/โครงการ, บันทึกการสอน, แบบทดสอบก่อนเรียน-หลังเรียน, แบบวิเคราะห์ผู้เรียน, ปพ.๕  พอผู้บริหารท่านใดใจอ่อน  ยอมให้ครูบางคนไม่ส่งงานตามกำหนดเวลาโดยไม่มีเหตุจำเป็น ผมถือว่าผู้บริหารท่านนั้นแพ้เรียบร้อยแล้ว ต่อให้ผมเก่งขนาดไหน มีวิธีการเลิศล้ำประการใด หรือมีจิตวิทยาสูงก็ตาม ผมก็คงทำอะไรไม่ได้ ถ้าบุคลากรส่วนหนึ่งไม่มีใจที่จะขับเคลื่อน แถมทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลอง พอมีครูส่วนหนึ่งไม่ทำตาม ก็ได้รับการผัดผ่อนให้ ไม่ช้าครูทั้งหมดก็จะทำตาม สุดท้ายสถานศึกษาแห่งนั้นจะไม่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพได้เลย

....

สรุป :การที่จะพัฒนาสถานศึกษา และจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพจนประสบความสำเร็จและยั่งยืนได้นั้นเป็นเรื่องยากมาก  เพราะมี “คน” มากกว่า “ครู” ตัวผู้บริหารเองก็ต้องอาศัยภาวะผู้นำที่สูงมาก (กล้าหาญ) ต้องเสียสละเวลา เสียสละทรัพย์สินเงินทอง เสียสละชีวิตครอบครัว ต้องอดทนอดกลั้นต่อ “ความเป็นคน”อย่างมาก  เพราะครูส่วนหนึ่งคิดว่าตัวเองเป็นข้าราชการ ไม่ต้องง้อใคร ขยันก็เท่านั้น ขี้เกียจก็เท่านั้น เงินเดือนก็เลื่อนให้ทุกปี  ไม่ให้ ๒ ขั้นก็ไม่เป็นไร     

ปกติของสถานศึกษา ถึงไม่มีผู้บริหารสถานศึกษานั้นก็ดำเนินการไปด้วยดี  เพราะมีครูที่ตั้งใจสอนและฝึกฝนเด็กอยู่เสมอ และที่เด็กหลายคนนั้นเก่งมากก็เพราะฝีมือครูที่อบรมสั่งสอนชี้แนะจนเรียนเข้าใจง่าย  ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้  แต่การที่มีผู้บริหารนั้นก็เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งด้านสื่อ อาคารเรียน ความเป็นอยู่ของนักเรียน แก่ครูที่ตั้งใจสอนให้สอนได้ดียิ่งขึ้นไปอีก และกำกับครูอีกส่วนหนึ่งให้สอนตามหลักการสอน/หลักสูตร  ตลอดจนกระตุ้นหรือควบคุมครูที่เริ่มขาดไฟในการทำงาน ขาดจิตวิญญาณครูให้กลับมาตั้งใจสอน มีอุดมคติเหมือนตอนบรรจุใหม่ๆได้  

แต่…ถ้าผู้บริหารสถานศึกษาท่านใดต้องการให้สถานศึกษามีคุณภาพอย่างทั่วถึง ประสบความสำเร็จโดยเร็ว ผู้บริหารคนนั้นก็ต้องอาศัยภาวะผู้นำทางวิชาการสูงมากเช่นกัน (เก่ง) ต้องรอบรู้ทั้งหลักสูตรของตัวเองและระดับอื่นๆ  กฎหมายทางการศึกษา การจัดการเรียนการสอน การวัดผลประเมินผล การจัดหาสื่ออุปกรณ์การเรียนให้กับคณะครู ทุกวิชา ทุกระดับชั้น แถมต้องคอยดูแลพัฒนาปรับปรุงอาคารสถานที่ให้สวยงาม สะอาด เรียบร้อย และอีกนับไม่ถ้วน เห็นแล้วก็เหนื่อยแทนครับ !!

ขอเอาใจช่วยผู้บริหารทุกท่านให้ “เก่งและกล้า”  เพื่อ “เอาจริง” กับการพัฒนาการศึกษาไทยให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เพื่อ...ช่วยเหลือเด็กเยาวชนให้มีศักยภาพและสมรรถภาพสูงขึ้น  เป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคมไทยในอนาคตต่อไปนะครับ

หมายเลขบันทึก: 718210เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2024 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2024 02:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท