ชีวิตที่พอเพียง 4716. ขับเคลื่อนงานพระพุทธศาสนา


 

วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๗ ผมมีเวลาว่างเกือบทั้งวัน (หลังจากชุลมุนอยู่ ๑ สัปดาห์เต็มๆ)    จึงมีโอกาสใคร่ครวญว่า ที่ผมได้รับเชิญเข้าวงสานเสวนากับพระในวันที่ ๓ เมษายน ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ   คนจัดต้องการอะไรแน่   

ผู้จัดตั้งชื่อ “โครงการล้อมวงทัมม์   วงสนทนาที่ตั้งใจให้เป็นพื้นที่พบปะของพุทธบริษัททั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์  ที่จะมาทำความรู้จักคุ้นเคยกัน ช่วยกันเหลียวมองอดีตแลไปข้างหน้า แล้วมาร่วมลงมือสร้างสรรค์เหตุปัจจัยขับเคลื่อน สนับสนุน งานธรรมของพุทธศาสนาอย่างเป็นไทย (อิสระ) ให้ก้าวหน้าและพากันไปข้างหน้าสู่ชีวิตเสรี สังคมรมณีย์ตามความสนใจ ความรู้ความสามารถ ความถนัดชำนาญ และด้วยทรัพยากรที่ตนมีอยู่”    โดยกำหนดให้มี วงทัมม์ ๖ ครั้ง  และจัดให้ผมไปร่วมในครั้งที่ ๑    

ผู้จัดเริ่มอารัมภบทที่ “การขับเคลื่อนงานพระพุทธศาสนา”  ตามด้วยถ้อยคำยืดยาว    ที่ผมตั้งคำถามต่อว่า เราขับเคลื่อนงานพระพุทธศาสนาเพื่ออะไร  และตอบตัวเองว่า   การขับเคลื่อนงานพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือ (means)    ไม่ใช่เป้าหมาย (end)   คิดอย่างนี้ถูกหรือไม่ก็ไม่ทราบ      

ชวนให้ผมตั้งใจไปแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นว่า   การขับเคลื่อนงานพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างสังคมดี ผู้คนมีความสุข  เป็นการขับเคลื่อนงานพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม    ไม่ใช่เพื่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น    คือต้องเอาสังคมเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาพุทธศาสนาเป็นตัวตั้ง   

กล่าวใหม่ว่า ต้องไม่หยุดอยู่แค่ให้พุทธศาสนาเข้มแข็ง   ต้องให้พุทธศาสนาที่แข็งแรงนั้น ทำให้สังคมไทย (และสังคมโลก) เข้มแข็ง เป็นเป้าหมายสุดท้าย    

กล่าวใหม่อีกที ว่ากิจการที่ช่วยหนุนให้วัด พระ องค์การพระพุทธศาสนา และอุบาสกอุบาสิกา เข้าถึงธรรมนั้น    ยังไม่เพียงพอ   ต้องหนุนให้คนทั้งสังคม “เข้าถึงธรรม” ด้วย  

จึงเกิดคำถามว่า “เข้าถึงธรรม” หมายความว่าอย่างไร   ที่ผมขอตอบว่า หมายถึงเป็น “ผู้ปฏิบัติธรรม”    ซึ่งก็นำสู่คำถามต่อเนื่องว่า “ผู้ปฏิบัติธรรม” หมายความว่าอย่างไร   ที่ผมขอตอบเองว่า หมายถึงผู้ปฏิบัติตาม “แก่นธรรม” ของศาสนาใดก็ได้ทั้งสิ้น     

ผมจึงอยากเห็น “วงทัมม์”   ที่ผู้เข้าร่วม เอาการปฏิบัติตาม “แก่นธรรม” ของตน มาเล่า    และช่วยกันตีความว่า พฤติกรรมเช่นนั้น มีส่วนสร้าง “สังคมรมณีย์” ได้อย่างไร  และจะมีทางส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางได้อย่างไร 

ข้อความข้างบนเขียนก่อนการประชุม    ในการประชุมจึงได้ทราบว่า กิจกรรมนี้คิดขึ้นโดยพระหนุ่มสองรูป  ที่ในวันนี้ทำหน้าที่ดำเนินรายการ คือท่านพระครูธรรมรัต หรือท่านปุ้ยวัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม  กับ  พระวุทธ สุเมโธ วัดนครสวรรค์จ.นครสวรรค   โดยให้ชื่อการประชุมนี้ว่า “การศึกษาพระ_พุทธศาสนามีทางออก (ไม่รอแล้วนะ)”    และดาราของการประชุมคือ พระเทพเวที (พล อาภากโร ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม กรรมการที่ปรึกษาแม่กองธรรมสนามหลวง, รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,  กรรมการสภาการศึกษา (สกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ   ที่เป็นผู้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในการศึกษาคณะสงฆ์ คือให้ได้รับงบประมาณแผ่นดิน   โดยมีการออก พรบ. การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ 

ผมถามว่า “วงทัมม์” หมายความว่าอย่างไร    ได้คำตอบว่า มาจากคำ ทม ในฆราวาสธรรม คือ  สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ   คำ “วงทัมม์” จึงช่วยให้สติผู้เข้าร่วม ว่าต้องอดทนอดกลั้นต่อกันและกัน 

การประชุมเริ่ม ๑๔ น.  ตามกำหนดว่าจะเลิก ๑๖ น.   แต่สนุกจนเลิกจริงๆ ๑๗ น.   ฆราวาสที่เข้าร่วมวงในของการเสวนามี ๓ คนคือคุณเบิ้ม วีระพงษ์กังวานนวกุล ฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์,  ดร. ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ ทีมงานโครงการองค์กรรมณีย์ และเป็นกรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง ADGES   รวมทั้งเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วย,   และผม  

สนุกเพราะบรรยากาศเป็นการสานเสวนาอย่างแท้จริง ท่านเจ้าคุณพระเทพเวที ท่านเป็นปราชญ์ และใจกว้างรับฟัง   รวมทั้งสามารถตอบคำถามเรื่องในกิจการคณะสงฆ์ได้ทุกเรื่อง    เพราะความจำของท่านดีมาก   

ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องวงการสงฆ์ดีขึ้นมาก    และเห็นชัดเจนว่า วงการสงฆ์ก็เหมือนวงการอื่นๆ ที่มีพลวัตในระบบไม่หยุดยั้ง   ทุกการเปลี่ยนแปลงมีทั้งมุมพัฒนาและมุมเสี่ยง    มุมมองของท่านเจ้าคุณฯ มองว่าเป็นความก้าวหน้าในการดึงทรัพยากรของรัฐมาสนับสนุนกิจการพระพุทธศาสนา    ซึ่งผมเห็นด้วย   แต่ก็ต้องแลกกับการเข้าไปตกอยู่ใต้กฎหมายและกติกาทางโลกย์   และเสี่ยงต่อการที่กิเลสตัณหาจากโลกย์จะเข้ามากัดกร่อน   

เห็นได้ชัดเจนว่า วงการสงฆ์มีพระดีมีความสามารถ   ที่ทำงานพระศาสนาในหลากหลายกิจกรรม   ในวงในของการเสวนามีพระมหาบัณฑิต สุจิตโต ที่เมื่อค้นในอินเทอร์เน็ตก็พบว่าท่านเป็นพระนักเผยแผ่พระศาสนา   

พระที่มาร่วมวงนอกอีกท่านหนึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดวังตะวันตก  จ. นครศรีธรรมราช   ผมกลับมาค้นที่บ้านจึงรู้จักชื่อ ว่า พระครูพรหมเขตคณารักษ์, ดร.  และได้รู้เรื่องอื้อฉาวของวัดนี้เมื่อ ๗ ปีก่อน จนต้องปลดเจ้าอาวาสองค์ก่อน และตั้งท่านเข้าไปแทน     

ทีมฆราวาส เสนอมุมมองด้านการศึกษา และการเรียนรู้ แนวกว้าง    แต่พระท่านลงลึกเข้าไปที่กฎหมาย และการจัดองค์กรพระสงฆ์ไทย   ที่เชื่อมโยงกับการเมืองการปกครองของประเทศด้วย    เป็นวงที่เน้นเรื่องการศึกษาพระก็จริง    แต่ผมรู้สึกว่าเน้นไปทางโลกย์ มากกว่าไปทางการเรียนรู้เพื่อลดละกิเลส      

วิจารณ์ พานิช

๑๕ เม.ย. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 718066เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2024 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2024 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท