ปัญหาหมอกควัน PM2.5 ตอน 4 : ปลูกต้นไม้ช่วยลดโลกร้อนได้เพียงใด


ปัญหาหมอกควัน PM2.5 ตอน 4 : ปลูกต้นไม้ช่วยลดโลกร้อนได้เพียงใด

26 เมษายน 2567

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1]

 

ปีนี้โลกเดือด(ร้อน)

ตอนนี้ไม่เกี่ยวเรื่องฝุ่น PM2.5 โดยตรงเป็นเรื่องอากาศร้อนที่มันเกี่ยวโยงกันได้ ตามข่าวปีนี้จะเป็นปีที่ร้อนที่สุด แม้ช่วงเดือนเมษายนของทุกปี อากาศมันจะร้อนสุดได้ใจ แต่ปีนี้ “โลกจะเดือด” จากความร้อนและความแห้งแล้ง จนทะเลดูดซับความร้อนไม่ไหวเลยทีเดียว เช่นจากเครื่องวัดอุณหภูมิที่ติดโชว์สาธารณะที่เทศบาลจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่วันที่ 22 เมษายน 2567 เวลา 15:47 ร้อนถึง 46 องศา (ภาคเหนือคาดการณ์ที่ 43 องศา) เป็นปรากฏการณ์ว่าเอลนีโญ (El Nino)[2] ใกล้จบแต่ความร้อนยังไม่จบ บวกกับโลกร้อนที่มนุษย์สร้างขึ้น นี่คือ “โลกเดือด” มิใช่ “โลกร้อนธรรมดา” ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม[3] อธิบายว่า ปริมาณฝนสะสมในอีก 3 วันข้างหน้า ดำสนิทเกือบทั้งประเทศ หมายถึงแทบไม่มีฝนจริงจังเลย ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งฝนที่มาในช่วงนี้ก็ต้องระวัง ลมแรง ตกหนัก ฟ้าผ่า ไฟดับ น้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่เล็กๆ เป็นฝนโลกร้อน ทะเลร้อน น้ำระเหยเยอะ อากาศร้อน เมฆจุไอน้ำได้เยอะขึ้น สำหรับพื้นที่อื่น โลกจะเดือดต่อไป ร้อน แล้ง แห้ง แถมบางพื้นที่อาจมีฝุ่นซ้ำเติม คนที่ทำมาหากินแบบพึ่งพาธรรมชาติ ทำสวน ทำประมง เลี้ยงสัตว์บก/สัตว์น้ำ ต้องระวังให้หนัก เพราะฝนยังไม่มา อุณหภูมิยังไม่ลดทางแก้หรือ ยากมากๆ เพราะเราทำร้ายโลกมาถึงตอนนี้ นับร้อยปีที่ก๊าซเรือนกระจกสะสมบนฟ้า ทะเลช่วยดูดซับความร้อนไว้ แต่ตอนนี้ทะเลบอกไม่ไหวแล้ว มันจึงมาถึงจุดที่ต้องบอกว่า ต้องหาทางรอด ปรับตัวเท่าที่ทำได้ โลกเดือดยังส่งผลต่อเศรษฐกิจรุนแรง ทั้งความแปรปรวนของลมฟ้าท้องน้ำ เรื่อยไปจนถึงภัยพิบัติ 

จากข่าวข้างต้นพอจะมองเห็นถึงฤทธิเดชของความร้อนที่มิใช่ธรรมดา แต่เป็น “เดือด” ที่ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจการทำมาหากินของชาวบ้านไปด้วย มีเสียงเรียกร้องให้ทุกคนหันมาใส่ใจเรื่องนี้ และ มาช่วยกันปลูกต้นไม้กัน สำหรับคนรักต้นไม้คงไม่มีปัญหา แต่คนอื่นทั่วไปต้องช่วยกันอธิบายว่าทำไมต้องปลูกต้อนไม้

 

ป่าไม้ไทยหายปีละแสนไร่

ภาครัฐต้องกระตุ้นส่งเสริมให้ชาวบ้านได้ปลูกไม้ อาจสนับสนุนเป็นตัวเงินไปเลยว่าต้นละกี่บาท มารับเงินได้ ปลูกกันทั้งประเทศก็ทีอย่างอื่นก็มัวแต่แจกๆ เงินแค่นี้ทำไมจะแจกกันไม่ได้ ประกอบกับผลกระทบจากการทำสงครามคู่ขัดแย้งในต่างประเทศ ทำให้พืชผลเกษตร สินค้าฉิบหาย ขาดแคลน เพราะทำให้ยูเครนแหล่งผลิตข้าวสาลีโลกลดลง การปล้น โจมตีเรือสินค้าตะวันออกกลาง ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย คนที่เป็นเกษตรกรชนบทบ้านนอกที่ทำเกษตรไม่มีปัญหา เขาปลูกต้นไม้กันอยู่แล้ว เป็นห่วงว่า อีกไม่กี่ปีป่าแถวบ้านจะไม่เหลือสักต้น ตามข่าวพบว่าปีนี้ (2567) ป่าไม้ไทยหายไปถึง 3 แสนไร่เศษ เหลือพื้นที่ป่าไม้เพียง 101 ล้านไร่ หรือ 37.47% ของพื้นที่ประเทศ[4] สอดคล้องกับที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรบอกว่าป่าไม้ไทยหายไปปีละแสนไร่[5]

มีคำถามว่า การปลูกเต็มบ้านแล้วช่วยลดความร้อนได้จริงหรือ เพราะความร้อนมันมาได้หลายทาง ไฟป่า เผาฟางข้าว โรงงานต่างๆ รถยนต์ ฯลฯ เยอะแยะ นี่เป็นคำตอบที่กรมโลกร้อน หรือ “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” ที่ตั้งขึ้นใหม่ปี 2566[6] ต้องหาคำตอบและอธิบายให้ชาวบ้านฟัง ว่าการมีต้นไม้ช่วยได้อย่างไร เพื่อให้คนได้ปลูกกันเยอะๆ รัฐต้องรณรงค์เรื่องนี้ ต้องรณรงค์โครงการปลูกป่าอย่างจริงจัง กรมป่าไม้ต้องมีต้นกล้าแจกฟรี อย่างน้อยก็เริ่มในระดับชุมชนออนไลน์ก่อนก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะโลกทุกวันนี้หายใจเข้าหายใจออกเป็นโซเซียลหมด คนไทยเล่นเน็ตสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ปี 2566[7] ไทยติดผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก (Facebook) อันดับ 8 ของโลก ปี 2564[8] ใช้ Facebook Messenger มากเป็นอันดับ 6 ของโลก และใช้ Twitter มากเป็นอันดับ 10 ของโลก

 

ภาครัฐมัวทำไรอยู่ จะส่งเสริมรณรงค์ปลูกป่ากันแบบใดดี

เพราะว่าหากรัฐยังมัวทำเงื้อง่าจะไม่ทันคนทำลายป่า รัฐบาลคงนิ่งเฉยไม่ได้แล้วอันตรายมากที่ป่าไม้ถูกทำลาย ต้นไม้กว่าจะโตใช้เวลาถึง 10 ปี แต่คนตัดใช้เวลาเพียง 10 นาที วันหนึ่งตัดหลายต้น และก็ตัดไปขายทุกวัน ตัดกันทั่วไปด้วย ไม่ใช่เพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เพราะมนุษย์เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลายเอง ในพื้นที่ที่อำนวยรัฐอาจปลูกป่าแบบอุตสาหกรรม อย่างที่ต่างประเทศเขาทำปลูกเป็นผืนป่าเลย และปล่อยพื้นที่ให้รกหญ้ารกต้นไม้เยอะๆ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิ หากไม่มีนโยบายจากภาครัฐคุ้มครอง ห้ามตัดต้นไม้โดยเสรี ไม้ที่ตัดไปก็ไปเป็นเชื้อเพลิงให้กับอุตสาหกรรมนายทุน รัฐต้องปลูกฝังให้คนรักตันไม้ ลองประเมินดูว่าพอมีทางใดที่จะแก้ไขบ้าง อีกอย่างด้วยสภาวะอากาศปัจจุบัน ต้นไม้ก็ไม่ได้รอดง่ายๆ [9] แต่ก่อนดูแล 3 ปีแค่ก็ปล่อยได้ เดี๋ยวนี้ช่วงแล้งก็ต้องให้น้ำช่วยประคองให้จนถึงฤดูฝน ฤดูฝน ลมพายุก็รุนแรง บอกได้เลยว่าไม่ง่ายแล้วที่จะปลูกต้นไม้แล้วโตได้ดั่งใจ หากไม่ดูแล นี่ก็เป็นเพียงหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้มีพื้นที่สีเขียว (Green Zone) เพิ่มขึ้นได้ คนปลูกต้องพยายามมานะด้วย ช่วยกันปลูก ต้นไม้รอดบ้างตายบ้างก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ปัญหาอีกอย่างคนไทยไม่มีที่ส่วนตนที่จะปลูกต้นไม้ หรือพอบ้านเมืองเจริญขึ้น เขตเมืองก็มีแต่ “ป่าคอนกรีต” จะปลูกต้นไม้ในกระถางก็ไม่ได้ หาพื้นที่ปลูกไม่เจอ ที่สิงคโปร์ในเมืองก็ทำได้ทำสวนแนวตั้ง (ปลูกบนตึกตามระเบียงตึก) [10] เพราะการปลูกต้นไม้ใหญ่ต้องมีพื้นที่ให้ปลูก อันนี้เป็นปัญหามากที่ชาวบ้านไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่กลับเป็นว่านายทุนมีสัดส่วนที่ถือครองที่ดินมากกว่าชาวบ้านทั่วไปที่เป็นคนจน แม้รัฐจะพยายามแจกที่ ส.ป.ก.4-01 แก่ชาวบ้าน ยิ่งปีนี้ก็แจก “โฉนดเพื่อการเกษตร”[11] อีกต้องทำจริงจัง อย่าให้มีช่องว่างว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้สิทธิในการเข้าถึงที่ดินอยู่กับชาวบ้านจริงๆ เพราะ กลุ่มนายทุนคนมีทรัพย์พยายามแสวงประโยชน์จากนโยบายรัฐตรงนี้อยู่ มิใช่การปล่อยให้นายทุนถางเอาๆ ชาวบ้านตัวเล็กทำไรไม่ได้ หรือพอป่าเสื่อมโทรมก็แจกเป็น ส.ป.ก. แทนที่จะฟื้นฟู อย่าให้ใครเขาว่ารัฐออก ส.ป.ก.บุกรุกที่ป่า ทำให้ตัดไม้จนภูเขาโล่งเตียน นอกจากนี้ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติก็สำคัญ เช่นกัน กว่าจะเขียวแบบนี้ได้นับเป็นร้อยปี แต่แอบระเบิดภูเขาเป็นลูกๆ เอาหินขายป่าไม้วอดวายในพริบตา ที่สำคัญอย่าให้มีนายทุนใหญ่ หรือพวกฟอกเงินกว้านซื้อที่ป่ารกร้างจากชาวบ้าน แล้วถากถางเป็นที่ฟาร์ม หรือทำเพื่อประโยชน์แก่พวกทุน

พ่อหลวง ร.9 ท่านเคยพาเราปลูกป่า ปลูกต้นไม้ต้นน้ำลำธาร[12] เพื่อเป็นกำแพงธรรมชาติกันน้ำท่วมกันโลกร้อน แต่ปัจจุบันมีแต่เผามีแต่ทำลายต้นไม้ แรกสุดยังไม่ต้องหวังพึ่งรัฐ หากชาวบ้านพากันปิดตาปิดใจ ไม่มองคนที่ตัดไม้ มองเพียงว่าพากันปลูกเพื่อลดอุณหภูมิโลก ช่วยลดโลกร้อน ช่วยกันคนละไม้ละมือ ปลูกทั้งที่บ้าน ที่สวน ทั้งไม้ป่า ไม้ป่าหายาก และไม้กินผล เช่น ลำไย มะม่วง มะขาม ทำอุโมงค์ต้นไม้ด้วยนนทรี ไม้ประดับอย่างชวนชม, แตรนางฟ้า (แตรสวรรค์ หรือลำโพง หรือมะเขือบ้า) ก็ได้ หรือปลูกผักไชยาไว้ลวกกินกับทำร่มเงาก็ยังได้ เอาบ้านละ 3-5 ต้นพอ เริ่มจากบ้านของเราเองก่อน บ้านเรือนหลังใดแม้จะไม่มีที่ดินกว้างให้ปลูกต้นไม้ได้ แต่ก็ปลูกต้นไม้ลงในกระถางได้ “รักโลก โลกก็จะรักเรา” เชื่อว่าทุกคนจะมีแรงบันดาลใจ เริ่มปลูกที่สวนหรือที่ที่ทำกินอยู่ก่อน ปลูกเพื่อตัวเราเองก่อน ต้องช่วยกันปลูกเพิ่มเรื่อยๆ เพราะที่ใดมีร่มเงาไม้ที่นั่นย่อมมีอากาศบริสุทธิ์ เย็นสบาย ช่วยลดความร้อนในตัวบ้านได้ หลายปีผ่านไปเมื่อไม้ยืนต้นเริ่มทยอยโตก็จะได้ชื่นชมชื่นใจผลผลิต เพราะต้นไม้คือสิ่งมีชีวิตเดียวที่ไม่ทำร้ายโลก เกิดมาเพื่อทำให้โลกน่าอยู่ ลดมลพิษ สร้างออกซิเจน เกิดความร่มรื่น เขียวชอุ่ม อากาศดี ร่มเย็นอุดมสมบูรณ์ การปลูกต้นไม้จะเป็นมงคลสูงได้อานิสงส์มาก เพราะต้นไม้ให้ประโยชน์เกื้อหนุนทุกสรรพสิ่งทุกชีวิต การปลูกป่านึกเสียว่าปลูกให้เทวดาแม่นางธรณีและสัตว์อื่นๆ ได้อาศัย แต่อย่าลืมว่าคนปลูกกับคนตัดมันคนละพวกกัน คนปลูกหน้าฝนนี้ หน้าร้อนครั้งหน้าก็มีคนตัด เป็นแบบนี้ตลอด อีกอย่างลองคิดดูเมื่อคนปลูกมีหลักพัน แต่ความต้องการใช้มีหลักล้าน ปลูกให้ตายก็ปลูกไม่ทัน คนถางขยายพื้นที่ทำกินทุกปี ปลูกให้ตายก็ช่วยไม่ได้ รัฐต้องหาทางตัดลดวงจรนี้ให้ได้ มิใช่ว่า “คนจนปลูกคนรวยตัด” ไม่เป็นคนรวยที่สร้างโรงงาน สร้างมลพิษสนองตัณหาตนเองตามลัทธิ “บริโภคนิยม” [13] ก็ต้องมี “บรรษัทภิบาล” (Corporate Governance)[14] ด้วย หากไม่ช่วยกันมนุษย์ก็เตรียมรับชะตากรรมอันเกิดจาก “วิกฤตภูมิอากาศ” หรือ “โลกรวน”[15] ที่จะตามมา เช่น ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ถึงตกก็ตกน้อย ปลูกป่าให้เอาอย่างดาบวิชัยศรีสะเกษเป็นไอดอล [16]

นอกจากการปลูกต้นไม้แล้ว ต้องมีการอนุรักษ์และไม่เผาด้วย ทำให้ครบวงจร สมัยโครงการอีสานเขียว ก็ยังรณรงค์กันปลูกต้นไม้กันคนละต้นได้ การจัดเก็บภาษีที่ดินว่างเปล่า ทำให้คนถางที่ป่าออกเพื่อปลูกต้นไม้ทำการเกษตรใหม่ เช่น ปลูกกล้วย ก็อาจจะมีการตัดต้นไม้ใหญ่ออก จะมีการเผาเศษไม้ วัชพืช หญ้าอีกก็ต้องดูด้วย หน่วยงานภาครัฐต้องช่วยรณรงค์ปลูกต้นไม้ในสำนักงานที่มีพื้นที่ว่าง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อบจ. อบต.เทศบาล รวมทั้งการปลูกต้นไม้ในเขตทางด้วย เพราะไม้ข้างทางมักจะถูกตัดออกไป แล้วไม่มีการปลูกทดแทน แม้ในอนาคตจะต้องตัดต้นไม้เพื่อขยายความเจริญก็ไม่เป็นไร ขอให้ปลูกไปก่อน มาตรการทางภาษีก็สำคัญ ฝากเป็นแนวคิดให้รัฐในส่วนที่สนับสนุน เพราะมีคาร์บอนเครดิตแล้ว เช่น ที่ดินว่างเปล่าหากมีต้นไม้ใหญ่​คิดเป็น % ของพื้นที่ควรส่งเสริมด้านลดภาษี เพราะโลกยังต้องการต้นไม้ใหญ่ เก็บไม้ใหญ่ไว้พอได้มีร่มเงา ใบร่วงยังทำเป็นปุ๋ยได้อีก หรือหากเป็นพืชไร่ที่เจ้าของพื้นที่มีรายได้จากพืชไร่ที่ไม่ใช่ไม้ใหญ่ควรเสียภาษีแบบใด ยิ่งพืชไร่ที่ที่มีกระบวนการก่อให้เกิดมลภาวะโลกร้อนควรเก็บภาษีชดเชยอย่างไร เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่ทำได้ แม้น้ำมันแพงแค่ไหนยังต้องทนซื้อใช้ เพราะภาระภาษีมักตกอยู่กับผู้บริโภคเป็นคนสุดท้ายเสมอ

การไม้เพาะต้นไม้รอขยาย หรือจำหน่ายก็ทำไป ไม้อะไรก็ได้ มะเดื่อก็ยังได้ อีกอย่างในมาตรการทางด้านกฎหมาย เพิ่มพื้นที่สีเขียวควรมีกฎหมายว่าหมู่บ้าน (ชุมชนจัดสรร) สร้างใหม่มีพื้นที่กี่ไร่ต้องมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อยร้อยละ 50-60 ของพื้นที่ทั้งหมด เพราะหมู่บ้านเกิดใหม่จะตัดต้นไม้ทิ้งหมด ไม่ใช่จะมีแต่บ้านแต่ไม่มีพื้นที่ปลูกต้นไม้เลย ควรปลูกรอบบ้านด้วย โดยเฉพาะการรักษาความเป็นป่า ในพื้นที่เคยถูกตัดโค่นให้ฟื้นคืนชีพ

มาดูป่าภาคเหนือตอนบน แต่ก่อนดูจะสมบูรณ์มาก ดอยช้างที่เชียงราย มีแต่ดินและรีสอร์ทผุดขึ้นมากมาย[17] ผืนป่าถูกทำลาย อย่างนี้ป่าความชุ่มชื้นก็จะหายไป ในวัฏจักรการเกษตร เมื่ออย่างหนึ่งเพิ่ม อีกอย่างก็จะลด เช่น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาก (มีการทำลายป่าและเผาป่ามาก) ก็จะไปเพิ่มการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไก่เลี้ยงหมูที่มากขึ้น เป็นนัยยะว่าลดทานบุฟเฟต์หมูกระทะก็เหมือนจะช่วยลดโลกร้อนได้ ก็ต้องทำใจ เข้าใจโลกในสองมุมมองสองมิติ

 

ไทยกับมาตรการควบคุมคาร์บอนเครดิต (Carbon credit)

ต้นไม้หาย มันเป็นภัยระดับโลก (Global) ประเทศที่เป็นต้นเหตุนี้อันดับต้นๆ อยู่ทางตะวันตก อเมริกา ยุโรป หรือประเทศอุตสาหกรรมที่เจริญแล้ว ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น โดยจะสังเกตว่า นโยบายการลดโลกร้อน ที่กำหนดมาตรการควบคุมคาร์บอนเครดิต กฎหมายยังไม่บังคับใช้กับประเทศไทย (ไทยยังคงใช้ระบบสมัครใจ) [18] แต่จะเริ่มใช้บังคับราว 6 ปีข้างหน้า ตอนนี้จึงทำอะไรไม่ได้มาก แต่ก็ต้องเตรียมการ เพราะตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 สหภาพยุโรปเริ่มใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) [19] นับเป็นครั้งแรกที่จะมีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสีเขียวเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ในผู้นำเข้าสินค้าเป้าหมาย 6 กลุ่ม ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน จะต้องรายงานปริมาณการนำเข้า รวมถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนทางตรงและทางอ้อม (Embedded Emission) ของสินค้า และ CBAM จะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มกราคม 2569 (ปี 2026) ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องซื้อ CBAM Certificate ตามปริมาณการนำเข้าและปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้า ตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย[20] เริ่มจากภายในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) หรืออีก 6 ปีข้างหน้า จะเพิ่ม “การผลิตรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์” เป็นร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด เพื่อมุ่งสู่ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 หรืออีก 26 ปีข้างหน้า และเป้าหมาย “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ.2065 หรืออีก 41 ปีข้างหน้า

แต่ผลงานที่ผ่านมาของรัฐบาลประยุทธ์พบว่า นโยบายแก้โลกร้อนของไทยถูกประเมินในระดับแย่ที่สุด ในขณะที่ปล่อยก๊าซอันดับที่ 19 มีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศอันดับ 9 ของโลก[21] ดูประหนึ่งว่ารัฐไม่ใส่ใจเท่าใด เพราะการดำเนินการที่แลกกับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจรัฐคงไม่ทำ ภัยที่ตะวันตกเจอจะเป็นภัยหนาว ส่วนบ้านเราเป็นตรงกันข้ามเป็นภัยร้อน แถมตั้งแต่ปีที่แล้วมีเอลนีโญ[22] เข้ามาเพิ่มดีกรีความร้อนเข้าไปอีก ไทยเป็นประเทศเล็กจึงทำอะไรได้ไม่มาก เอาแค่เรื่องลดการเผาต้นเหตุ PM2.5 ประเทศเพื่อนบ้านเราก็ยังเผาอยู่เลย ในทางระหว่างประเทศไทยยังทำอะไรไม่ได้ 

 

ถ้าพวกเราทุกคนช่วยกันปลูกต้นไม้ ไม่ต้องไปสนใจภาครัฐ สองมือสองขาของทุกคนช่วยกันปลูก ชวนกันปลูกให้เยอะๆ ไม่ต้องบ่น ไม่ช่วยกันโลกจะดีได้อย่างไร ต่อไปจะไม่ร้อน ไม่แล้งอย่างเดียว อาหารก็จะไม่ขาดแคลน หากอากาศร้อนพืชจะไม่เจริญเติบโต แถมน้ำแล้งมากก็ระดมขุดบาดาลสูบน้ำมาใช้เยอะเกิดดินทรุดตัวลง เด็กๆ ภายหน้าก็ลำบากแน่นอน คนรวยร้อนก็เปิดแอร์ถือเป็นการสร้างภาวะโลกร้อนที่ไม่ใส่ใจสังคม คุณไม่รู้สึกสงสารโลกเลยหรือ อากาศร้อนมากขึ้นทุกวัน พื้นที่รอบบ้านตัดต้นไม้กันเยอะโล่งเตียนไปหมด โลกต้องตระหนักเร่งร่วมมือกันทั่วโลก นี่คือหายนะเกิดภาวะโลกร้อนที่จะตามมาแน่นอน

 


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Bhumi Watchara Charoenplitpon, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 3 พฤษภาคม 2567, 23:00 น., https://www.siamrath.co.th/n/533512  

[2]เอลนีโญ (El Niño)เป็นรูปแบบสภาพอากาศที่เกิดขึ้นตลอดมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน โดยเกิดขึ้นเฉลี่ยทุกห้าปี ลักษณะของเอลนีโญ คือ เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก โดยอุ่นขึ้นหรือเย็นลงผิดปกติ ซึ่งเรียกว่า เอลนีโญและลานีญา (La Niña) ตามลำดับ ส่วนลานีญา เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิมหาสมุทรเย็นลงผิดปกติ ประกอบกับความดันบรรยากาศต่ำบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก, วิกีพีเดีย

สรุป "ลานีญา" (La Niña) ถือเป็นปรากฏการณ์สภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งเป็นสภาวะตรงข้าม "เอลนีโญ" (El Niño) สามารถเกิดขึ้นได้ทุก 2-3 ปี โดยปกติจะเกิดขึ้นนานประมาณ 9-12 เดือน แต่บางครั้งอาจปรากฏอยู่ได้นานถึง 2 ปี 

ดู ความต่าง "ลานีญา" กับ "เอลนีโญ" เตือนไทยวางแผนบริหารจัดการน้ำ, ไทยรัฐออนไลน์, 11 กรกฎาคม 2566, 08:00 น., https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2708436 & เอลนีโญ-ลานีญา คืออะไร และส่งผลต่อสภาพอากาศอย่างไร, โดยมาร์ก พอยน์ทิง และ เอสมี สตอลลาร์ด, บีบีซีนิวส์ แผนกข่าวภูมิอากาศและวิทยาศาสตร์, 25 เมษายน 2567, https://www.bbc.com/thai/articles/cp9gj9xvkrzo & แผนที่อากาศพยากรณ์อากาศประเทศไทย ชี้ วันนี้ดำเดือด 40 องศาขึ้นไปเกือบทั่วประเทศ, มติชน, 25 เมษายน 2567, 10:55 น., https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4543813 

[3]เตือนโลกเดือด ร้อน-แล้ง ทะเลดูดซับความร้อนไม่ไหว โดย PPTV Online เผยแพร่ 22 เมษายน 2567, 08:09น., https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/222134

[4]ไทย มีพื้นที่ป่าไม้เพียง 101 ล้านไร่ หรือ 37.47% ของพื้นที่ประเทศ, กรุงเทพธุรกิจ, 13 มีนาคม 2567, https://www.bangkokbiznews.com/environment/1117515 

[5]ป่าไม้ไทยหายแสนไร่ต่อปี, ThaiPost, 17 มีนาคม 2567, https://www.thaipost.net/news-update/553725/ 

[6]พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนชื่อ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2566, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนที่ 48 ก วันที่ 17 สิงหาคม 2566 หน้า 55-56, https://medias.thansettakij.com/media/pdf/2023/3FYbOb7s5KCb6CAlPXfA.pdf 

[7]สรุปสถิติ Facebook ที่น่าสนใจ ช่วงครึ่งปีแรก 2023, Thai PBS NOW, 1 กันยายน 2566, https://www.thaipbs.or.th/now/content/281

[8]เปิดสถิติคนไทยเสพติด 'ออนไลน์ โซเชียล' สูงติดอันดับโลก, โดยโต๊ะข่าวไอที-ดิจิทัล, กรุงเทพธุรกิจ, 25 กรกฎาคม 2564, 10:21 น., https://www.bangkokbiznews.com/tech/950958

[9]การปลูกแล้วปล่อยให้ธรรมชาติดูแล พบว่า โครงการปลูกป่าลดโลกร้อนมักจะจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้แบบ “ปลูกแล้วไป” บริษัทและภาคธุรกิจมักจะไม่มีแผนการดูแลและบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง มีบทเรียนที่ชัดเจนว่าในประเทศเขตร้อนการปลูกต้นไม้แล้วปล่อยเติบโตตามธรรมชาติมักไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ เช่น งานวิจัยของสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชเกี่ยวกับการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าดิบแล้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นักวิจัยได้สำรวจอัตราการรอดตายของต้นไม้ 7 ชนิดพันธุ์ หลังจากที่ปลูกไปแล้วเป็นระยะเวลา 5 ปี พบว่า ชนิดพันธุ์ไม้แต่ละชนิดมีอัตราการรอดตายที่แตกต่างกัน เช่น ไม้มะค่าโมง มีอัตราการรอดตาย ร้อยละ 55.1 ในขณะที่ไม้ยางนามีอัตรารอดตายเท่ากับศูนย์ นั่นหมายความว่าถ้าโครงการปลูกกล้าไม้มะค่าโมงในปีที่ 1 จำนวน 100 ต้น เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี จะเหลือต้นมะค่าโมงเพียง 55 ต้นเท่านั้น ในขณะที่ต้นยางนานั้นตายหมดทุกต้น ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่าอัตราการรอดตายของต้นไม้ยังสัมพันธ์กับสภาพของพื้นที่ ต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่ลาดชันมีแนวโน้มรอดตายน้อยกว่าบริเวณพื้นที่ราบ

ดู ทำไมเราต้องสงสัยพีอาร์ “ปลูกป่าลดโลกร้อน” ของกลุ่มทุนอุตสาหกรรม, โดยสุรินทร์ อ้นพรม, greenpeace, 16 ตุลาคม 2566, https://www.greenpeace.org/thailand/story/28677/climate-questioning-reforestation-net-zero/ 

[10]ราว 50 ปีที่แล้ว 'สิงคโปร์' ถูกนิยามว่าเป็น 'เมืองในสวน' ด้วยนโยบายของประเทศที่วางแผนสร้างเมืองที่มีตึกสูงระฟ้า แต่ขณะเดียวกันก็อุดมไปด้วยพื้นที่สีเขียว มีวิวทิวทัศน์สบายตา ‘Heatherwick Studio’ บริษัทสถาปัตยกรรมในลอนดอน จึงได้นำแรงบันดาลใจจากแนวคิดเช่นนี้มาออกแบบ ‘EDEN Singapore Apartments’ อาคารที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ประวัติศาสตร์อย่างย่าน Newton ประเทศสิงคโปร์

ดู EDEN Singapore Apartments อะพาร์ตเมนต์ในสวนแนวตั้ง เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนเมืองได้ใกล้ชิดธรรมชาติ, urbancreature, 8 เมษายน 2566, https://urbancreature.co/eden-singapore-apartments/

[11]ที่ดิน ส.ป.ก.4-01คือ เอกสารที่แสดงการครอบครองที่ดิน ซึ่งสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ออกให้กับประชาชน เพื่อใช้ทำเกษตรกรรมเท่านั้น เอกสารนี้ไม่สามารถซื้อ ขาย โอน จำนอง และห้ามใช้ทำประโยชน์ที่ไม่ใช่การเกษตร แต่สามารถโอน แบ่งแยก และตกทอดทางมรดกแก่ทายาทได้ และทายาทต้องใช้ทำเกษตรกรรมเท่านั้น ดู โฉนดที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ต่างจากที่ดินทั่วไปอย่างไร, ประชาชาติธุรกิจ, 10 มกราคม 2567, 16:30 น., https://www.prachachat.net/economy/news-1476476

[12]ทฤษฎีการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกตามหลักการฟื้นฟูสภาพป่าด้วยวัฎธรรมชาติ (Natural Reforesrtation) ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ด้วยวิธีการ 3 วิธี คือ

1.ถ้าเลือกได้ที่เหมาะสมแล้ว ก็ทิ้งป่านั้นไว้ตรงนั้น ไม่ต้องไปทำอะไรเลย ป่าจะเจริญเติบโตมาเป็นป่าสมบูรณ์โดยไม่ต้องไปปลูกเลยสักต้นเดียว

2.ไม่ไปรังแกป่าหรือตอแยต้นไม้เพียงแต่คุ้มครองให้ขึ้นเองได้เท่านั้น

3.ในสภาพป่าเต็งรัง ป่าเสื่อมโทรมไม่ต้องทำอะไรเพราะตอไม้ก็จะแตกกิ่งออกมาอีกถึงแม้ต้นไม่นสวยแต่ก็เป็นไม้ใหญ่ได้

ดู ทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ, มูลนิธิชัยพัฒนา, https://www.chaipat.or.th/site-content/item/254-theory-developed-forest-restoration.html

[13]ลัทธิบริโภคนิยม (consumerism)หมายถึงการนิยมบริโภคฟุ่มเฟือยเกินความต้องการที่จำเป็นในชีวิตและเกินกว่าฐ านะรายได้หรือความสามารถในการผลิตของคนหรือของประเทศ เป็นลัทธิที่แพร่หลายในประเทศไทยมาก ไม่ใช่เฉพาะนิสิต นักศึกษา เยาวชนวัยรุ่นหนุ่มสาวเท่านั้นที่นิยมใช้จ่ายฟุ่มเฟือย คนทั่วไปต่างก็นิยมใช้จ่ายฟุ่มเฟือยกันเป็นส่วนใหญ่ ในทางธรรมะ ถือว่า "ลัทธิบริโภคนิยมมาจากตัณหาของมนุษย์"

บริโภคนิยม หมายถึง วัฒนธรรมการบริโภคอย่างหนึ่งที่ผู้คนมีพฤติกรรมการ บริโภคสินค้า หรือบริการที่ลอกเลียนแบบ และตามแฟชั่นนิยม การที่ผู้คนมีพฤติกรรมที่ติดหรือ หลงใหลการบริโภคมากเกินไป จะตกอยู่ภายใต้การครอบงำของระบบทุนนิยมและการโฆษณา ซึ่ง จะยั่วยุให้เกิดการบริโภคอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด กระตุ้นให้บริโภคสินค้าให้มากที่สุด

เศรษฐกิจทุนนิยม (capitalism)มีเป้าหมายอยู่ที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งวัดจากการเพิ่มขื้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือรายได้ประชาชาติ เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้น ก็จะทำให้รายได้ประชาชาติสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ทำให้เกิด "บริโภคนิยม" หรือ "ลัทธิบริโภคนิยม" (consumerism) การบริโภคที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นเป็นสิ่งไม่ดี เพราะจะมีผลให้เงินออมลดลงจนถึงกับต้องกู้หนี้มาใช้บริโภค เช่น การใช้บัตรเครดิต ซึ่งก็คือการยืมรายได้ในอนาคตมาใช้บริโภคในปัจจุบัน

การบริโภคที่มากเกินความจำเป็น (Hyperconsumerism)มีผลต่อการใช้ทรัพยกรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย สิ้นเปลือง และส่งผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น การเสียสมดุลของระบบนิเวศ ปัญหาขยะ ความเสื่อมโทรมของดิน น้ำ ป่า และอากาศ (Dimitrova et al., 2022) นักวิชาการชี้ว่าบรรทัดฐานของสังคมบริโภคได้เปลี่ยนมนุษย์ให้เป็น “ผู้แสวงหาความพอใจส่วนตัว” (pleasure seekers) สะท้อนให้เห็นการนิยามชีวิตแบบใหม่ที่ว่า “ฉันบริโภค ฉันจึงมีอยู่” (I consume therefore I am) (Msafiri, 2008)

ดู ลัทธิบริโภคนิยม เกิดจากอะไรและจะแก้ไขกันอย่างไร, โดยชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล, ใน wordpress, 5 กันยายน 2551, https://witayakornclub.wordpress.com/2008/09/05/ลัทธิบริโภคนิยม-เกิดจาก/ & บริโภคนิยม โดยวรชัย ทองไทย, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 8 ธันวาคม 2564, https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=566 & บริโภคนิยมสุดโต่ง (Hyperconsumerism), โดยนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, วัฒนธรรมร่วมสมัย, ในศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 8 ธันวาคม 2566, https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/549 

[14]บรรษัทภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) คือ การบริหารจัดการบริษัทที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

บริษัทจดทะเบียน เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศทั้งในแง่การสร้างรายได้ การจ้างงาน รวมถึงการมีส่วนร่วมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นคณะกรรมการบริษัท ฝ่ายจัดการและหน่วยงานภายในองค์กรจึงควรมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้องค์กรมีบรรษัทภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้บริษัทสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทั้งตนเองและสังคมได้อย่างยั่งยืน โดยต้องมีการวางโครงสร้างและระบบการกำกับดูแลกิจการอย่างมีประสิทธิภาพทั้งด้านการกำกับดูแล การติดตาม และการประเมินผล เพื่อให้ทุกฝ่ายมีแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันตามหลักพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดี 5 ประการ ได้แก่ 1.ความซื่อสัตย์ (Integrity) 2.ความยุติธรรม (Fairness) 3.ความโปร่งใส (Transparency) 4.ความรับผิดชอบ (Responsibility) 5.ภาระรับผิดชอบ (Accountability) ดู CORPORATE GOVERNANCE (บรรษัทภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการ), โดย SET : Sustainable Capital Market Development (ศูนย์พัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน), https://setsustainability.com/page/corporate-governance

[15]ยกเครื่องกลไกรัฐ แก้ปัญหาโลกรวน World Economic Forum และธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าข่ายเสี่ยงสูงจากวิกฤตภูมิอากาศ เนื่องจากมีพื้นที่ส่วนใหญ่พึ่งพาเกษตรกรรม มีแรงงานในภาคเกษตร 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรมีสัดส่วน 21% ในตะกร้าเงินเฟ้อไทย และเศรษฐกิจไทยยังขับเคลื่อนด้วยภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศมีผลโดยตรงต่อภาคการเกษตร และทรัพยากรทางธรรมชาติ

ดู คาร์บอนเครดิต สู่เป้าหมาย Net Zero ของไทย, theactive, 27 กรกฎาคม 2566, https://theactive.net/read/carbon-credit-to-net-zero/

[16]ดาบวิชัย หรือร้อยตำรวจตรี วิชัย สุริยุทธ อดีตตำรวจ เจ้าของฉายา “คนบ้าปลูกต้นไม้” ผู้พลิก “ปรางค์กู่” จากความแห้งแล้ง ให้เขียวขจี ดาบวิชัย นายตำรวจธรรมดาที่สามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้กับคนในพื้นที่ โดยการปลูกต้นไม้มากกว่า 30 ปี มีต้นไม้ที่เติบโตมากกว่า 3 ล้านต้น ในอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ จนสามารถพัฒนาท้องถิ่นจากแห้งแล้งให้กลายเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ดู เปิดประวัติ ดาบวิชัย วิชัย สุริยุทธ อดีตตำรวจ ฉายา “คนบ้าปลูกต้นไม้”, ประชาชาติธุรกิจ, 27 พฤศจิกายน 2566, 18:19 น., https://www.prachachat.net/person/news-1447677 

[17]ป่าไม้บุกยึดคืนเรียบ “ม่อนดอยช้างงู-ชายแดนเชียงแสน”รุกป่า พัวพัน“พระครูดังแม่สาย”, MGR Online, 27 พฤษภาคม 2565, 07:55 น., https://mgronline.com/local/detail/9650000050312

[18]ดู ประเทศไทยจะใช้มาตรการบังคับคาร์บอนเครดิตในปี พ.ศ.2576 : 4 เรื่องที่ควรรู้ เมื่อรัฐบาลเศรษฐาสานต่อ ‘คาร์บอนเครดิต’ จากรัฐบาลประยุทธ์, thecitizen, 15 กันยายน 2566, https://thecitizen.plus/node/86607 

[19]นับถอยหลังสู่ CBAM: ไทยพร้อมแค่ไหนเมื่ออียูจะเก็บภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน By Prapan Leenoi, ในวิจัยกรุงศรี, 3 สิงหาคม 2566, https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/cbam-2023 

[20]คาร์บอนเครดิต สู่เป้าหมาย Net Zero ของไทย, theactive, 27 กรกฎาคม 2566, https://theactive.net/read/carbon-credit-to-net-zero/ 

[21]ประเทศไทยจะใช้มาตรการบังคับคาร์บอนเครดิตในปี พ.ศ.2576 : 4 เรื่องที่ควรรู้ เมื่อรัฐบาลเศรษฐาสานต่อ ‘คาร์บอนเครดิต’ จากรัฐบาลประยุทธ์, thecitizen, 15 กันยายน 2566, อ้างแล้ว

[22]สำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลียรายงานว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญที่เริ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนปี 2023 ได้สิ้นสุดลงแล้ว ทว่า ปรากฏการณ์นี้ยังส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซ้ำเติมภาวะโลกร้อนระยะยาวที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์, ดู เอลนีโญ-ลานีญา คืออะไร และส่งผลต่อสภาพอากาศอย่างไร, บีบีซีนิวส์, 25 เมษายน 2567, อ้างแล้ว

หมายเลขบันทึก: 717996เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2024 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2024 01:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท