๑๑. เมื่อผม “เป็นอาจารย์พิเศษ”


ในช่วงปี ๒๕๓๒-๒๕๓๔ ผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโทหลายสถาบัน อาทิ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ต่อมาช่วงปี ๒๕๓๘-๒๕๔๕ ผมได้รับเชิญช่วยสอนวิชาปรัชญา สังคมวิทยา และจิตวิทยา ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาบริหารการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร, คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ สาขาหลักสูตรและการสอน และวิชามานุษยวิทยา วิชาไทยศึกษา ให้กับนักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลชัยนาท เป็นต้น

 

ปกติชั่วโมงเรียนแรกของวิชาที่ผมจะสอน  ผมจะบอกจุดมุ่งหมายการสอน แนวทางการศึกษา แนวทางการวัดผลประเมินผลและหนังสือที่ควรไปอ่านเพิ่มเติมก่อน  และ ๒-๓ ชั่วโมงเรียนถัดมา ผมจะบรรยายให้ความรู้ด้านหลักการ แนวคิด ทฤษฎีต่างๆของวิชานั้น   ชั่วโมงต่อมาจนจบภาคเรียน ผมจะนำกรณีศึกษา (Case study) จากงานวิจัยบ้าง วิทยานิพนธ์บ้าง จากบทความตามสื่อมวลชนต่างๆ ที่กล่าวถึงสภาพปัญหาจากการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษาต่างๆ  สภาพปัญหาการบริหารของผู้บริหาร สภาพปัญหาการสอนของครู และปัญหาการเรียนของนักเรียนหรือนักศึกษามาเป็นหัวข้อสนทนา แล้วให้นักศึกษาช่วยกันวิเคราะห์สภาพปัญหา สาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหา (ห้ามวิจารณ์ปัญหา สาเหตุปัญหา หรือคำตอบของเพื่อนนักศึกษา) ซึ่งผมก็พยายามซักถาม(ขัดคอ) ตะล่อมคำตอบของนักศึกษา โดยใช้แนวคิดหมวก ๖ ใบ ของท่าน ดร.เอ็ดเวิร์ด เดอโบโน เพื่อให้นักศึกษาคิดได้รอบด้าน มองทุกอย่างให้ครอบคลุม เห็นมุมมองหลายๆมุมต่อสภาพปัญหานั้น ผมก็จะซักสิ่งที่นักศึกษาคิดว่าเป็นสาเหตุปัญหาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะซักต่อไปไม่ได้ หรือ คิดว่าเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาแล้ว  และที่สำคัญที่สุด คือ การแสดงความคิดเห็นต้องมีเหตุผล และหลักฐานอ้างอิงจากบทความ  สรรนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ งานวิจัย หรือ ทฤษฎีมาประกอบเสมอ (แสดงความคิดเห็นลอยๆไม่ได้) 

ส่วนรายละเอียดของทฤษฎีต่างๆ ในวิชา ผมตั้งเป็นคำถามที่ครอบคลุมทั้งประเด็นในวิชา และสภาพปัญหาของการจัดการศึกษาไทยที่ผ่านมา จำนวน ๒๐ คำถาม ให้นักศึกษาตอบตามทัศนะหรือประสบการณ์ตัวเอง  โดยต้องมีหลักฐานอ้างอิงจากหลักทฤษฎีทางปรัชญาหรือจิตวิทยา หรือผลวิจัยที่มีผู้ศึกษาในด้านนี้ประกอบความคิดเห็น  แล้วเขียนส่งผมในลักษณะรายงานการศึกษาค้นคว้า   ทำอย่างนี้หลายปี ก็พบว่าวิธีการเรียนการศึกษาแบบกรณีศึกษา น่าจะเป็นแนวทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพสูงในระดับอุดมศึกษามากอีกวิธีหนึ่ง  แต่ถ้าผู้ใดสนใจวิธีนี้ก็ต้องพยายามหาความรู้  ติดตามข่าวสารรอบตัวที่เกี่ยวข้องให้ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ และที่สำคัญที่สุด คือ “เข้าใจและอดทน” ต่อนักศึกษา จึงทำให้เหน็ดเหนื่อยพอสมควร 

การสอนในระดับอุดมศึกษา  ข้อดี คือ นักศึกษามักจะเชื่อถือผู้สอนในระดับที่สูง เพราะเชื่อว่าผู้สอนคงมีความรอบรู้กว้างขวางสามารถถ่ายทอดความรู้และเทคนิคการเรียนแก่นักศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ   แต่จุดอ่อน คือ นักศึกษาระดับนี้ มักคิดว่า อาจารย์ผู้สอนมักรู้แต่หลักการ หรือทฤษฎี  ไม่ค่อยมีประสบการณ์การทำงาน หรือเก่งในการปฏิบัติงาน  ยิ่งสาขาการบริหารการศึกษา ระดับปริญญาโท-เอก นักศึกษาส่วนมากมักจะเป็นผู้บริหารสถานศึกษา หรือทำงานในสถานศึกษาอยู่แล้ว    แต่หลังจากที่นักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี หรือโทได้เรียนแบบกรณีศึกษา และการแสดงความคิดเห็นในกรอบแนวคิดหมวก ๖ ใบ  กลายเป็นว่าทำให้พวกเขามีประสบการณ์การเรียนที่ดี  สามารถเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น  เวลาพูดคุยจึงง่ายต่อการสรุปได้เร็ว  เพราะพวกเขามีประสบการณ์อยู่แล้ว  แม้ตอนแรกจะมีอคติยึดมั่นในความคิดตนเอง  ไม่ยอมรับมุมมองของเพื่อนนักศึกษา  กลายเป็นว่าเมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาได้รับฟังและซักถามทัศนะความคิดเห็น ประสบการณ์ของเพื่อนนักศึกษาที่หลากหลาย จึงทำให้พวกเขามีมุมมองกว้างขวาง แทบจะเรียกว่าครอบคลุมทุกมิติ  ต่อมาพบกันก็พากันบอกว่าวิธีการเรียนแบบกรณีศึกษา เกิดประโยชน์ต่อชีวิตและการทำงานของเขาได้มากทีเดียว

 

มีตัวอย่างที่ชัดเจนที่ผมพบมา เช่น เวลาสอนนักศึกษาพยาบาลที่จบ ม.๖ แล้วเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีเลย  กับนักศึกษาที่จบ ม.๓ แล้วออกไปทำงานตามสถานีอนามัย หรือ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล  มีความคิด และแนวคิดต่างกันมาก  พอผมยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของคนไข้ หรือวิธีการทำงานในหน่วยงานสาธารณสุขขึ้นมาพูดคุยวิเคราะห์  นักศึกษาระดับปริญญาตรีจะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นเชิงประจักษ์  มีแต่ความคิดเห็นที่คิดว่า คาดว่า  อยากให้คนไข้รู้จักตนเอง หมั่นดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี  แต่มีข้อดีตรงที่ยังมองประชาชน หรือคนไข้แบบอุดมคติ   ส่วนนักศึกษาที่ผ่านการทำงานมานานแล้ว  เข้าใจสภาพปัญหาได้เร็ว  วิเคราะห์สาเหตุสภาพปัญหาได้ตรงจุด  และมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาที่พบเจอหลายรูปแบบ   แต่มีข้อจุดอ่อนตรงที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรเพื่อประชาชนได้มากนัก  เพราะส่วนมากเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย  มีกฎเกณฑ์ทางราชการที่มีรายละเอียดกำกับควบคุมการทำงานมากไป  ส่วนจุดเด่นตรงที่อยู่ใกล้ชิดกับชาวบ้าน  เข้าใจปัญหาชาวบ้าน พยายามช่วยเหลือชาวบ้านได้ทันท่วงที บางทีที่ทำก็ไม่ถูกระเบียบ แต่เพราะสงสารชาวบ้าน ก็ต้องแอบเสี่ยงทำ  ถ้าเกิดผลเสียหายขึ้นมาก็ต้องรับผิดชอบด้วยตนเอง  แต่ยังดีที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจ ทำเป็นไม่สนใจหรือร้องเรียนมากนัก  

 

วิธีการสอนแบบนี้  คนสอนก็ได้รับความรู้และประสบการณ์การทำงานจากนักศึกษาเพิ่มขึ้นทุกวัน  นักศึกษาก็มีความสุขที่มีเพื่อนนักศึกษารับฟังปัญหา  และเห็นแนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนาการทำงานได้หลากหลายวิธีมากขึ้น

.

การเรียนรู้ที่ได้รับ   การเรียนจากสภาพปัญหาที่หลากลาย   ทำให้มีความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น  และเกิดการเรียนรู้ตระหนักถึงคุณค่าบทบาทของตัวเองมากขึ้น  

หมายเลขบันทึก: 717940เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2024 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2024 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท