ชีวิตที่พอเพียง  4707. คนเจ็นมิลเลนเนียม ต้องเตรียมตัวมีชีวิตการทำงานและเรียนรู้ ๖๐ ปี  และสถาบันอุดมศึก ษาก็ต้องปรับตัวเข้าไปหนุน 


                                                                                             

หนังสือ The 60-Year Curriculum  : New Models for Lifelong Learning in the Digital Economy (2020)  Edited by Christopher J. Dede & John Richards   บอกว่าหลักสูตรการศึกษาต้องยืดหยุ่น และสนองการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย   

ผมใช้ Gen AI สามสำนักช่วยอ่านและสรุปประเด็นสำคัญให้    พบว่าทำได้ดีทั้ง เจมีไน,  โคไพล็อต และ ASK AI (Chat GPT)   ที่สรุปดีที่สุดคือ  ASK AI   รวมความแล้วสาระสำคัญคือ 

  1. ระบบการศึกษาต้องปรับตัว เพื่อสอดคล้องกับยุคแปรผันเร็ว  ยุคดิจิทัล (เอไอ)  และธรรมชาติของงานและการดำรงชีวิตที่แตกต่าง
  2. ต้องส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  3. ระบบการศึกษาต้องยืดหยุ่น ตามช่วงชีวิต และตามความต้องการที่แตกต่างหลากหลาย
  4. ต้องหนุนให้เกิด “ปัญญาดิจิทัล” (digital literacy) 
  5. การเรียนรู้ในหน่วยปฏิบัติงาน   ร่วมมือกับภาคการศึกษา    และจัดให้มี L&D (Learning & Development) แก่พนักงาน 
  6. ความเสมอภาค และเปิดรับทุกคน
  7. ใช้เทคโนโลยีช่วยเอื้อความสะดวกในการเรียนรู้   

ระหว่างเดินทางไปโกเบ วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๗  บนการบินไทย TG 672 ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ ที่ดาวน์โหลดตัวอย่างฟรีมาใน Kindle   ได้แนวความคิดว่า ในโลกยุคปั่นป่วนผันผวนจาก ๓ ปัจจัยคือ  (๑) โลกาภิวัตน์  (๒) วิกฤติสิ่งแวดล้อม  และ (๓) เอไอ   คนเราต้องใช้ทั้งสามวิกฤติเป็นตัวป้อนให้เรียนรู้จากประสบการณ์   โดยต้องฝึกสร้างปัญญาใส่ตัวจากประสบการณ์   โดยฝึกสะท้อนคิดข้อสังเกตจากประสบการณ์สู่หลักการหรือทฤษฎี แล้วนำไปทดลองใช้ต่อเนื่อง    ตามหลักการ Kolb’s Experiential Learning Cycle  ที่อธิบายไว้ในหนังสือชุด “เรียนรู้ ‘ขั้นสูง’ จากประสบการณ์”     ซึ่งหนังสือ The 60-Year Curriculum ก็เน้น “learning through reflection”       

โปรดสังเกตว่า คนรุ่นผม คิดทำงานสร้างตัว ๓๐ ปี ในสถานทำงานที่เดียวหรือเพียงสองที่    เพื่อชีวิตวัยเกษียณที่มั่นคงหลังอายุ ๖๐ ปี    แต่คนรุ่นมิลเลนเนี่ยม ต้องทำงาน ๖๐ ปี    ผ่านงานหลายที่หลายบทบาท    จึงจะได้ความมั่นคงในวัยเกษียณหลังอายุ ๘๐ ปี   โดยต้องดำรงชีวิตไปจนถึงอายุ ๙๐ - ๑๐๐ ปี    คิดๆ ดูก็น่าเห็นใจนะครับ 

เพื่อผชิญความท้าทายนี้ หนังสือบอกว่า คนเราต้องฝึกทักษะเรียนรู้จาก ๓ แหล่งคือ  (๑) จากหลักสูตรที่เป็นทางการ  (๒) จากที่ทำงาน  และ (๓) จากชีวิตประจำวัน    ผมคิดต่อว่า ต้องเรียนรู้ในสัดส่วน 10 : 40 : 50  โดยใช้ทักษะเรียนรู้จากประสบการณ์ดังระบุข้างต้น 

อ่านหนังสือใน Kindle ไปเรื่อยๆ ผมก็ได้ไอเดียว่า   คนเราต้องเตฆรียมเรียนรู้เพื่อชีวิต ๓ ช่วง คือ (๑) เตรียมเข้าสู่งาน  (๒) ระหว่างทำงาน  (๓) ในวัยเกษียณ    สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะอุดมศึกษา ต้องพัฒนาชาลาปฏิบัติการของตน เพื่อเข้าไปรับใช้สังคม หรือรับใช้พลเมือง ๓ วัยนี้    ไม่ใช่มุ่งทำหน้าที่เพียงข้อ (๑) อย่างในอดีตจนถึงปัจจุบัน    

เขาอ้างถึง OECD (2018) ที่กำหนดเป้าหมายการศึกษา ว่าเพื่อส่งเสริมให้เกิด Personal Well-being  ที่เลยไปจากรายได้, ความมั่งคั่ง, การมีงานทำและมีรายได้   ไปสู่การมีโอกาสเข้าถึงการมีสุขภาพดีอย่างเท่าเทียมกัน   การมีโอกาสมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (civic engagement), การได้มีกิจกรรมทางสังคม,  การเรียนรู้, ความมั่นคง, ความพึงพอใจในชีวิต และการได้มีส่วนร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี   

เขาย้ำแนวทางของ โออีซีดี ว่าการศึกษาต้องหนุนให้พลเมืองบรรลุความเป็นพลเมืองผู้ก่อการ (ดี) (agentic citizen)   ที่ไม่ใช่แค่มี S & K ที่เข้มแข็งเท่านั้น   ยังต้องพัฒนา  V&A เพื่อความเป็นผู้มีศีลธรรมจริยธรรมค่านิยมด้านดี    และมีเจตคติเชิงบวก เอาไว้ทำหน้าที่พลเมืองผู้ก่อการด้วย   

นี่คือเป้าหมาย ที่การศึกษาไทยส่วนที่เป็นทางการ ยังไม่ได้เอ่ยถึง    โดยที่ โออีซีดี ประกาศมา ๖ ปีแล้ว       

วิจารณ์ พานิช

๒๖ มี.ค. ๖๗

บนเครื่องบินการบินไทย  TG 672 ไปโอซาก้า 

   

 

หมายเลขบันทึก: 717934เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2024 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2024 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท