ทำไมหนังอินเดียต้องเต้น : ภาพสะท้อนการเชื่อมโยงจักรวาล ท้องฟ้า ดวงดาว เทพเจ้า ภูติผี และชีวิต


ทำไมหนังอินเดียต้องเต้น : ภาพสะท้อนการเชื่อมโยงจักรวาล ท้องฟ้า ดวงดาว เทพเจ้า ภูติผี และชีวิต
วาทิน ศานติ์ สันติ

เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมภาพยนตร์อินเดียเกือบทุกเรื่องจะต้องมีการเต้นรำอยู่ในระหว่างเรื่องเสมอ โดยเฉพาะในตอนสำคัญเช่น พระเอกกับนางเอกเจอกัน พระเอกกับนางเอกแสดงความรักต่อกัน หรือการร่ายรำเพื่อการข่มกันในการต่อสู้ หรือแม้แต่การร้องเพลงเต้นรำแล้วก็วิ่งวนไปตามต้นไม้ที่เราเอามาล้อเลียนกันสนุกสนาน

#ดูคลิปนี้ได้ที่นี่

หากจะยกตัวอย่างหนังที่มีลีลาการเต้นชัดเจนที่สุดในยุคนี้ก็คงต้องให้เรื่อง RRR ก้องเกียรติกบฎ (2022) ว่าด้วยเรื่องราวของชายชาวอินเดียที่ร่วมมือกัน ต่อสู้กับจักรวรรดิตะวันตกเพื่ออิสรภาพของตนเองอย่างเข้มแข็ง โดยนำเพลง Naatu Naatu ที่มีจังหวะสนุกสนาน เร้าใจ ที่มีความโดดเด่นมาก ๆ ในฉากร้อง-เต้น จนสามารถคว้ารางวัลออสการ์มาครองเพลงประกอบยอดเยี่ยม

และอีกหนึ่งเรื่องคือ Dhoom 3 มหกรรมล่าคนเหนือเมฆ (2013) หนังแอ็คชั่นโจรกรรมอันตื่นเต้นที่นำแสดงโดย อาเมียร์ ข่าน นอกจากสนุกของภาพยนตร์แล้ว เพลงประกอบภาพยนตร์ก็ถือว่าเป็นจุดเด่นและโด่งดังไม่แพ้กับภาพยนตร์ก็คือ Dhoom Machale Dhoom ที่มีฉากการเต้นที่ตื่นตาตื่นใจมาก แล้วเพลงนี้ก็ถูกนำมาขับร้องโดยศิลปินหลายคน หนึ่งในนั้นก็คืออมิตา ทาทายังด้วย

อีกหนึ่งเรื่องที่พลาดไปไม่ได้เลยคือ Gangubai Kathiawadi ผู้หญิงแกร่งแห่งมุมไบ (2022) เล่าเรื่องราวหญิงสาวตัวเล็กที่สามารถปฏิวัติวงการอาชีพในมุมมืดของเธอให้มีศักดิ์ศรี มีรัฐสวัสดิการที่ดีในสังคม เราจะได้เห็นการเต้นประกอบเพลงในหลายฉาก ก็ต้องยอมรับว่าท่วงท่าลีลาในการเต้นนั้นสวยงามจนยากเกินจากอธิบาย

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่านักแสดงในภาพยนตร์อินเดียที่มีชื่อเสียงเกือบทุกคนนั้นจะมีความสามารถด้านการเต้นเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น สองนักแสดงนำจาก RRR ก็เต้นเก่งก็จนรู้สึกว่าเขาน่าจะเป็นแดนเซอร์มากกว่านักแสดง หรืออาเมีย ข่าน ก็เต้นได้อย่างดุดันดีงามไม่แพ้ฝีมือการแสดงของเขาเลย และโดยเฉพาะ อเลีย บาตต์ ที่โชว์ลีลาได้ท่วงท่าอันอ่อนช้อยแต่แข็งแรง การเคลื่อนไหวอย่างยอดเยี่ยมไม่มีที่ติ

ทั้งหมดนั้นนับเป็นการเต้นที่สื่อความหมายบางประการผ่านภาพยนตร์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดนั่นก็เป็นเอกลักษณ์ของภาพยนตร์อินเดียอย่างแท้จริงเช่นกัน

เพราะเหตุใดการเต้นหรือการร่ายรำจึงมีความสำคัญกับโลกทัศน์ของชาวอินเดียมากขนาดถึงกับต้องมีอยู่ในแทบทุกภาพยนตร์ของอินเดีย...

แล้วเพราะเหตุใดการเต้นหรือการร่ายรำจึงมีความสำคัญต่อสังคมมนุษย์ในโลกนี้ ทางช่อง Super Review Channal จะขออธิบายความสำคัญของการเต้นและร่ายรำในหลากหลายมิติพอสังเขป ดังนี้

หากพิจารณาถึงความหมายดั่งเดิมของมนุษย์ยุคโบราณจะเห็นว่า การรำเป็นเรื่องของพิธีกรรม รองลงมาเป็นเรื่องการเฉลิมฉลองและการแสดง จึงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า การร่ายรำสัมพันธ์กับจักรวาล ท้องฟ้า ดวงดาว เทพเจ้า และภูติผีตามโลกทัศน์ของมนุษย์ในสังคมดั่งเดิม

เทพปกรนัมอินเดียกล่าวถึงเทพเจ้าองค์สำคัญคือพระศิวะที่ชอบการร่ายรำเป็นพิเศษ จนมีปางหนึ่งคือ "ศิวนาฏราช" แปลตรงตัวว่าพระศิวะคือเทพเจ้าแห่งการร่ายรำ

ชาวฮินดู รวมถึงชนชาติที่รับวัฒนธรรมอินเดียมีความเชื่อว่าการร่ายรำของพระศิวะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของระบบสุริยจักรวาล อีกทั้งยังทำให้เกิดการสร้างโลกและสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย การร่ายรำอย่างสม่ำเสมอและงดงามตามจังหวะดนตรีจะทำให้ระบบจักรวาลหมุนเวียนเป็นปกติ หากรำแบบรุนแรงผิดจังหวะก็อาจทำให้โลกแตกได้

ในงานประติมากรรมศิวนาฎราช จะแสดงพระศิวะร่ายรำโดยยกขาขึ้นมาหนึ่งข้าง มีสี่พระกร พระกรขวาด้านบนถือกลองบัณเฑาะ การสั่นให้เกิดเสียงหมายถึงการสร้างโลก พระกรซ้ายด้านบนถือเปลวไฟ หมายถึงไฟใช้เผาผลาญโลกเพื่อสร้างใหม่ มืออีกสองข้างแสดงมุทรา จะเห็นได้จากภาพจำหลักที่ปรากฏในปราสาทศิลปะแบบเขมรฌบราณ์เช่นที่หน้าบันที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

ส่วนการยืนบนเท้าข้างเดียวนั้นเกี่ยวข้องกับการสร้างโลกใหม่ คือพระองค์จะยืนบนแผ่นดินในมหาสมุทร พญานาคแกว่งตัวให้มหาสมุทรสะเทือน หากพระองค์ยังทรงยืนอยู่ได้ก็หมายถึงโลกที่พระองค์สร้างนั้นแข็งแรง บ้านก็ว่า พระศิวะยืนอยู่บนตัวนาคด้วยพระบาทข้างเดียว เมื่อนาคไกวตัวและพระองค์ยังยืนอยู่ได้แสดงว่าพื้นดินนั้นแข็งแรง เมืองนั้นก็แข็งแรงไร้การรุกราน

การยืนเช่นนี้ได้กลายมาเป็นพิธีกรรมยืนชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย พระราชพิธีที่ทดสอบความแข็งแรงของการสร้างเมืองในช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์สืบเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันด้วย

การเต้นและร่ายรำมีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อที่สอดคล้องกับการประกอบพิธีกรรม ผู้รำจะสมมติว่าตนเองให้มีคุณลักษณะเดียวกับเทพเจ้าที่ตนนับถือ เพราะเชื่อว่าการร่ายรำจะทำให้มีพลังอำนาจของเทพเจ้า จะช่วยดึงพลังอำนาจจากเทพเจ้ามาสู่ตนเอง

ผู้รำจะสวมหน้ากาก เครื่องสวมหัว ใช้ผ้าปิดหน้า หรือแต่งกายให้ตรงกับเทพเจ้าตามคติที่ตนนับถือ เพื่อสมมติว่าตนเองนั้นเป็นเทพเจ้าอย่างสมบูรณ์ที่สุด อำนาจของเทพเจ้าจะช่วยในการป้องสิ่งชั่วร้ายที่แทรกเข้ามาในการประกอบพิธีร่ายรำ

การรำหรือการเคลื่อนไหวร่างกายจะเป็นการผลักดันให้เทพเจ้าเคลื่อนไหวด้วย เพื่อเป็นการขอให้อำนาจของเทพเจ้าดลบันดาลให้ช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เช่นการเพราะปลูก การสงคราม การล่าสัตว์ การรักษาโรค การทำนาย การส่งวิญญาณของผู้ตายให้ไปสู่สุขคติ และหากเป็นไปตามที่ประสงค์ก็จะมีการร้ายรำเพื่อขอบคุณเทพเจ้าอีกครั้ง

ในการไหว้ครูนาฎศิลป์ ผู้รำนอกจากจะบูชาครูด้วยเครื่องเส้นสังเวย ดอกไม้บายศรีแล้ว ยังมีการรำถวายมือแด่เทพเจ้า รวมถึงครูบาอาจาริยา เพื่อแสดงถึงความเคารพบูชามอบตัวเป็นศิษย์ ในที่นี้หมายรวมถึง มอบตัวเป็นศิษย์ต่อครูมนุษย์ และมอบตัวเป็นศิษย์ต่อครูเทวดาพร้อมกัน จะเป็นการรำที่เรียกว่า "รำถวายมือ" ถือเป็นการรำต่อหน้าเทพเจ้าหรือเทวดา เพลงที่ใช้จะเป็นเพลงไทยชื่อว่า "เพลงช้า" และ "เพลงเร็ว" เมื่อรำถวายมือแล้วเชื่อว่าเทพเจ้าหรือเทวดาจะประธานพรให้ผู้รำสามารถเรียนรำได้ผลดี จะเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและคณะ

การรำโนราห์โรงครู เป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญของนาฎศิลป์โนราห์ที่นิยมในภาคใต้ของไทย เพื่อเชิญครูเทวดาหรือครูบรรพบุรุษของโนราห์มายังโรงพิธี เพื่อรับการเซ่นสังเวย เพื่อรับของแก้บน และเพื่อครอบเทริด (ครอบครู) ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อคณะโนราห์และนักแสดงทุกคน

คติความเชื่อเรื่องการร่ายรำที่สอดคล้องกับท้องฟ้า ดวงดาวนั้น นักคติชนวิทยาอย่าง เกอร์ทรูด จ็อบส์ (Gertrude Jobs) ได้อธิบายว่า การร่ายรำคือการเลียบแบบพระอาทิตย์ที่โคจรไปตามเส้นทาง เพราะแสงอาทิตย์มีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ของการมีชีวิต การเกิดใหม่ รวมถึงกิจกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ซึ่งในครั้งแรกสุดกำเนิดขึ้นเพื่อการบูชาฤดูกาล ฤดูกาลจะเปลี่ยนแปลงไปตามเส้นทางโคจรของดวงอาทิตย์นั่นเอง

รูปแบบของการรำเป็นวงกลม เช่นการรำรอบเสาศักดิ์สิทธิ์ หรือวัตถุศักดิ์สิทธิ์ ผู้รำจะรำไปตามเส้นทางโคจรของดวงอาทิตย์ หากเกี่ยวข้องกับงานอัปมงคล เช่นการตาย หรือการสารภาพบาปจะรำทิศทางตรงกันข้ามกับการโคจรของดวงอาทิตย์

นอกจากนี้ยังมีการรำเพื่อบูชาสิ่งที่อยู่บนฟ้า เช่นชนพื้นเมืองที่อาศัยในแคนนาดา อะลาสกา ออริกอน แคลิฟอร์เนียรำบูชาสุริยคราส ชาวจีนและชนเผ่าหนึ่งในแอฟริกาเหนือจะมีการรำบูชาพระจันทร์ ชาวอียิปต์จะมีการร่ายรำเกี่ยวกับดวงดาว เป็นต้น

การรำยังเกี่ยวข้องกับภูติผีวิญญาณอีกด้วย เช่นการรำในพิธีศพ เมื่อมีคนตาย เจ้าภาพซึ่งมีฐานะดีจะจ้างคณะรำมารำในงานศพ ในช่วงที่พระสงฆ์พักสวดอธิธรรมยามค่ำคืน อาจจะจัดรำทุกคืนหรือคืนสุดท้ายก่อนวันเผา และจัดให้มีรำก่อนที่จะเผาศพเรียกว่า "รำหน้าไฟ" เพลงที่ใช้รำก็จะมีหลากหลายเช่นเพลงรำมอญ มโนราห์ ฉุยฉาย ตาลีกีปัส หรือรำโบราณคดี ทวารวดี ลพบุรี ศรีวิชัย สุโขทัย เป็นต้น แล้วแต่ความประสงค์ของเจ้าภาพจะขอ จุดประสงค์คือต้องการให้ดวงวิญญาณผู้ตายพอใจจะได้ไปสู่สุขคติ อีกทั้งยังเป็นการลดความเศร้าโศกให้แขกผู้มาร่วมงานอีกด้วย

การรำที่เกี่ยวกับผีที่ไม่อาจกล่าวข้ามไปได้คือ การรำเข้าทรงผีเพื่อทำการรักษาโรคหรือทำนายทายทักหรือหาของ เช่นการรำที่นิยมในภาคอีสานที่เรียกว่าการรำผีฟ้า

การรำผีฟ้าเป็นการรำเพื่อการรักษาทางกายและทางใจเป็นสำคัญ โดยจะเริ่มจากการตั้งเครื่องบูชาผีฟ้า หมอแคนเป่าแคน ผู้ช่วยจะกล่าวกลอนรำเชิญผีฟ้า ผู้เข้าทรงจะรำไปรอบ ๆ เครื่องบูชา เมื่อผีฟ้าลงมาเข้าสิงร่าง ผีฟ้าก็จะบอกวิธีการปฏิบัติเพื่อให้หายจากการเจ็บป่วย เช่นขับไล่วิญญาณชั่วร้ายที่เข้าสิงร่างผู้ป่วย หรือการใช้ไข่ไก่ไล้ไปตามลำตัวผู้ป่วยเพื่อให้โรคร้ายหรือสิ่งไม่ดีจากตัวผู้ป่วยเข้ามาอยู่ในไข่ จากนั้นก็จะตอกไข่ให้เห็นว่าผุ้ป่วยป่วยจากสิ่งใด หรือชี้ทางหาสิ่งของที่ตามหา หรือทำนายทายทักต่าง ๆ จากนั้นก็รำเพื่อส่งผีฟ้ากลับขึ้นไปยังเมืองฟ้า

ในสังคมล่าสัตว์จะมีการรำเพื่อเลียนแบบท่าทางของสัตว์ตัวนั้น เพื่อเป็นการบอกกล่าวภูติผีหรือดวงวิญญาณที่เกี่ยวกับสัตว์ตัวนั้น หรือบรรเทาความโกรธแค้นจากวิญญาณสัตว์ที่ถูกล่า ต่อมาพัฒนากลายเป็นการแสดงที่เลียนท่าทางของสัตว์เช่นระบำนก ระบำไก่ ระบำควาย รำบำกวาง อย่างการแสดงโขนไทยที่มีท่าทางแบบลิงเป็นต้น

การร่ายรำยังเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์มากมายเช่น การแสดงความรื่นเริงในงานเฉลิมฉลองพิธีกรรมผ่านภาวะ การก้าวผ่านช่วงชีวิตหนึ่งไปสู่ช่วงชีวิตหนึ่งอย่างเช่นวัยเด็กเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เข้าสู่วัยครองเรือนเป็นต้น  หรือการฉลองเกี่ยวกับการเปลี่ยนราศี เปลี่ยนฤดู ฉลองการเก็บเกี่ยวผลผลิต การเต้นรำเพื่อปลุกใจให้เกิดความฮึกเหิมก่อนเข้าร่วมในสงคราม ฉลองชัยชนะ การเกี้ยวพาราสี การรวมกลุ่มทางสังคมเพื่อปะทะสังสรรค์ การพักผ่อนหย่อนใจ การฝึกเต้นรำกรือร่ายรำยังเป็นการพัฒนาตนเองให้มีความอดทน การออกกำลังกาย การต่อสู้ และท้ายที่สุดยังสามารถต่อยอดให้เป็นอาชีพได้อีกด้วย

จากที่กล่าวไปทั้งหมดนั้นก็ทำให้ไม่แปลกใจว่าเพราะเหตุใดภาพยนตร์อินเดีย เป็นประเทศที่มีคติความเชื่อและการปฏิบัติต่อเทพเจ้าสืบต่อกันเป็นอย่างยาวนานหลายพันปี แทบทุกเรื่องจะต้องมีการเต้นประกอบอยู่ในฉากของภาพยนตร์เสมอ และก็ยังมีอยู่ในภาพยนตร์อีกหลายเรื่องในโลกใบนี้ที่มีฉากเต้นรำสวย ๆ ประกอบด้วย

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันคติความเชื่อหรือโลกทัศน์เกี่ยวกับเทววิทยาที่มันค่อย ๆ จางหายไปแล้ว และหนังหลายเรื่องก็คงไม่ได้ใช้แนวคิดนี้มาเป็นเชื้อในการใส่การเต้นเป็นเข้าไปแล้วก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุด การร้องรำทำเพลงและการเต้นก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ปลอบประโลมมนุษย์ให้ดำรงชีวิตด้วยความสุข  มีเรี่ยวแรงและกำลังใจในการต่อสู้กับภาระอันหนักอึ้งและเพิ่มพลังการดำรงชีวิตอยู่ต่อไปนั่นเอง

หนังสือประกอบการเขียน

เสาวลักษณ์ อนันศานต์. (2543). ทฤษฎีคติชนวิทยาและการศึกษา. กรุงเทพฯ : รามคำแหง.

วัฒนธรรมภาคใต้. โนราห์โรงครู. (ม.ป.ป.). สื่อออนไลน์. https://sites.google.com/site/wathnthrrmphakhti/khwam-cheuxm-no-rah-rong-khr. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2559.

wikipedia.org. Nataraja (ม.ป.ป.). สื่อออนไลน์. https://en.m.wikipedia.org/wiki/Nataraja. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2559.

หมายเลขบันทึก: 717717เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2024 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2024 08:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท