พระมหากรุณาธิคุณของ ร. ๙ : เมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืน


พระมหากรุณาธิคุณของ ร. ๙ : เมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืน

เป็นเรื่องที่ส่งต่อๆ กันมา 

5th December 20202707 0
ทุกวันนี้คำว่า "ยั่งยืน" ถูกใช้กันบ่อยมากจนฟุ่มเฟือย แต่เรื่องราวในบทความนี้น่าจะเป็นความยั่งยืนที่สุดที่ผมเคยพบมาด้วยตัวเอง

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ผมได้ผ่านไปเห็นการก่อสร้างของโรงแรมแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้คูเมืองเชียงใหม่ ดูแล้วน่าจะสวยมากเมื่อสร้างเสร็จ

ในเดือนกรกฎาคม ปี 2563 ผมกับลูกชายขึ้นไปธุระที่เชียงใหม่ ก็เลยทดลองเข้าไปพักที่โรงแรมแห่งนี้ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จมาไม่กี่เดือน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มให้เดินทางกันได้หลัง covid-19 ระบาด จึงมีคนเข้าพักน้อยมาก

ธรรมดาผมไม่ชอบ ไม่ตื่นเต้นกับโรงแรมไม่ว่าจะหรูแค่ไหน ไม่ชอบนอนโรงแรมเสียด้วยซ้ำ แต่โรงแรมนี้ให้ความรู้สึกที่แตกต่าง และประทับใจอย่างบอกไม่ถูก โรงแรมนี้ชื่อ Smile Lanna

มีความรู้สึกบางอย่างที่บอกผมว่า โรงแรมนี้ไม่ธรรมดา
เดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน ผมขึ้นมาเชียงใหม่อีกครั้ง และก็ตั้งใจชวนภรรยามาพักที่โรงแรมนี้อีกครั้ง ด้วยความประทับใจจากครั้งก่อน

เช่นเดิม ความประทับใจเริ่มต้นทันทีที่จอดรถและได้รับการต้อนรับจากยามของโรงแรม ที่มาพร้อมรอยยิ้มที่ผมรู้สึกได้ว่าออกมาจากใจที่อยากบริการ พอเดินเข้าไปในโรงแรม ก็ได้รับความรู้สึกนั้นจากพนักงานหลายๆ คน

เมื่อเดินเข้าไปในโรงแรม ผมก็แปลกใจว่าทำไมเจ้าของโรงแรมจึงสร้างโรงแรมแบบนี้บนที่แปลงที่น่าจะแพงมาก ในกลางเมืองเชียงใหม่

ทุกจุดของโรงแรม ผมรู้สึกได้ถึงความตั้งใจและใส่ใจในรายละเอียดทุกอย่าง ไม่ใช่ความหรูหรา แต่หากเป็นรายละเอียดที่ลงตัว แต่โรงแรมนั้นมีเพียง 4 ชั้น แต่ละห้องกว้างขวาง และตึกก็ไม่ได้สร้างเต็มพื้นที่ จึงมีห้องพักเพียง 63 ห้อง

แต่หากมีแปลงนา คลองน้ำไหล และต้นไม้ใหญ่อยู่กลางโรงแรม !

ภรรยาผมตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าของต้องสร้างโรงแรมนี้ด้วยแรงบันดาลใจอะไรสักอย่างแน่ ด้วยความประทับใจ ผมถ่ายรูปและบรรยายความรู้สึกดีที่ผมยังไม่เข้าใจเหตุผลนี้ลงใน Facebook  ให้เพื่อนๆ อ่านตั้งแต่เช้า

เมื่อเราเดินเข้าห้องอาหาร ผู้ชายคนหนึ่งก็ลุกขึ้นไหว้เราและแนะนำตัวทักทายกัน

"ผมชื่อไพศาล เป็นเจ้าของโรมแรมนี้ครับ ผมจำได้ว่าพี่เคยเข้ามาพัก ขอโทษด้วยที่ครั้งที่แล้วไม่ได้เข้ามาทักทายครับ มาพักที่นี่ถ้ามีอะไรช่วยแนะนำด้วยนะครับ"

คนทางขวาคือคุณไพศาลครับ
ขณะที่ผมและภรรยานั่งจิบกาแฟอยู่ที่ร้านกาแฟของโรงแรม ซึ่งอยู่บนเนินสูง และเป็นร้านกาแฟที่ผมคิดว่าสวยที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ผมก็ได้รับโทรศัพท์จากสหายเก่า "บ็อบบี้" (คุณอาจจะเคยเห็นเขาในภาพยนตร์ ล่องไพรมหากาฬ ใน Thailand Outdoor YouTube Channel)

ร้านกาแฟสวยของ Smile Lanna ที่ไม่น่าเชื่อว่าตั้งอยู่กลางเมืองเชียงใหม่
"ตาเกิ้น เจ้าของโรงแรมที่คุณลงใน Facebook เป็นรุ่นน้องผมที่อัสสัมชัญศรีราชา ชื่อไพศาล สนิทกับผมมากเหมือนพี่น้องกันเลย"

พอได้แนะนำตัวกันละเอียดขึ้น ผ่านการแนะนำของสหายบ็อบบี้ ผมก็ได้นั่งคุยกับคุณไพศาลแบบยาวๆ จนได้ฟังเรื่องแรงบันดาลใจที่อยู่เบื้องหลังโรงแรมแห่งนี้ รวมไปถึงเรื่องราวชีวิตของคุณไพศาลที่น่าประทับใจจนกลายมาเป็นบทความนี้

คุณไพศาลเล่าให้ฟังว่า คุณพ่อเป็นนายทหารจีนที่เคยสู้รับกับทหารญี่ปุ่นตั้งแต่ก่อนสงครามโลก และรบกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่ออีก แต่ก็พ่ายแพ้ ถอยร่นมาอยู่ในเขตพม่า และเมื่อพม่าผลักดันไม่ให้อยู่ ก็ถอยร่นเข้ามาอยู่ในเขตไทย ใกล้ชายแดนตั้งแต่อำเภอฝางไปจนถึงจังหวัดเชียงราย กำลังส่วนใหญ่เดินทางกลับไปยังไต้หวัน มีเพียงกองกำลังส่วนหนึ่งของกองพล 93 ที่ถูกสั่งให้ปักหลักอยู่ต่อเพื่อช่วยยันกองกำลังจีนคอมมิวนิสต์

ในปี 2513 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปยังดอยอ่างขาง เพื่อส่งเสริมให้ชาวเขาที่นั่นปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่น

พ่อของคุณไพศาลเป็นแกนนำคนสำคัญที่ช่วยผลักดันเรื่องการเลิกปลูกฝิ่น และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าในหลวง

คุณพ่อของคุณไพศาลขณะที่ได้เข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 ในปี พ.ศ. 2513
เมื่อในหลวงทรงถามถึงครอบครัว และคุณพ่อบอกว่ามีลูกชาย 4 คน ในหลวงจึงทรงถามว่า ต่อไปอยากจะให้ลูกกลับไปอยู่ไต้หวันหรืออยากให้เป็นคนไทยอยู่เมืองไทย

ที่ทรงถามเช่นนั้นก็เพราะสำหรับลูกหลานกองพล 93 นั้นทางไต้หวันยินดีรับกลับไปและให้ทุนเรียนฟรีทั้งหมด

แต่คุณพ่อก็ตอบโดยไม่ลังเลว่า อยากให้อยู่เมืองไทย อยากให้ลูกเป็นคนไทย เพราะเมืองไทยสงบน่าอยู่และมีในหลวงใจดี

เมื่อได้รับคำตอบเช่นนั้น ในหลวงก็ทรงให้ผู้ติดตามพระองค์มาจดบันทึกรายละเอียดต่างๆ ไว้

อีกสามเดือนต่อมา ก็มีคณะขึ้นมารับคุณไพศาลและพี่น้องโดยเตรียมเอกสารทุกอย่างมาให้พร้อมและพาเดินทางมายังกรุงเทพฯ

เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ คุณไพศาลก็มาอยู่กับผู้ที่อุปการะ ซึ่งเชื่อว่าในหลวงท่านทรงเลือกสรรไว้ให้อย่างดี เพราะเจ้าของบ้านนั้นดูแลคุณไพศาลเหมือนสมาชิกในครอบครัว ส่งเสียให้เรียนหนังสือและวางแผนชีวิตให้อย่างเต็มที่

หลังจากที่เข้าโรงเรียนในกรุงเทพฯ จนพูดไทยและอ่านเขียนได้แล้ว ท่านผู้มีอุปการคุณนั้นก็บอกว่า "เธอมาจากดอย ไม่มีเพื่อนในเมือง ต้องไปมีเพื่อนก่อน" แล้วก็ส่งคุณไพศาลไปเข้าโรงเรียนกินนอนที่อัสสัมชัญ ศรีราชา และนั่นก็ทำให้คุณไพศาลได้รู้จักสหายบ็อบบี้ของผม คุณไพศาลบอกว่า 3 ปีนั้นคือเวลาที่มีความสุขมากของชีวิตและได้เพื่อนมากมายที่ยังคบหาและรักกันจนถึงวันนี้

จากนั้นท่านผู้มีอุปการคุณท่านนั้นก็บอกว่า "3 ปีเธอได้เพื่อนแล้ว เธอต้องกลับมาอยู่ในเมืองบ้าง จะได้เรียนรู้และปรับตัวเข้ากับสังคมเมืองได้" จึงให้คุณไพศาลกลับมาเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล และส่งเสียให้เรียนจบปริญญาตรี จากนั้นคุณไพศาลก็ทำงานไปเรียนไปจนจบปริญญาโท

เมื่อเรียนจบปริญญาโทแล้ว คุณไพศาลก็กลับไปอยู่ที่อำเภอฝาง ด้วยความตั้งใจจะกลับไปพัฒนาบ้านเกิด ไม่นานนักก็ได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน จนกลายเป็น อ.บ.ต. ได้พัฒนาบ้านเกิดสมใจ

ในช่วงนั้นเองที่คุณไพศาลได้มีโอกาสรู้จักกับคุณครูสาวที่อาสาไปสอนหนังสือให้กับเด็กบนดอยสูง รับส่งกันจนสนิทสนมและในที่สุดคุณไพศาลก็แต่งงานกับคุณครูสาวคนนั้น ซึ่งต่อมากลายเป็น ครูสมศรี เจ้าของโรงเรียนสอนพิเศษภาษาอังกฤษที่โด่งดัง

หลังจากนั้นคุณไพศาลก็ย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯ และใช้เวลาอีกหลายสิบปีช่วยกันสร้างโรงเรียนสอนพิเศษของคุณครูสมศรี

จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง คุณครูสมศรีและคุณไพศาลตัดสินใจว่าพอแล้วกับโรงเรียนสอนพิเศษและอยากไปพัฒนาบ้านเกิดอย่างที่ตั้งใจไว้ ก็จึงปิดโรงเรียน แล้วคุณครูสมศรีก็เอาบทเรียนส่วนมากขึ้น YouTube เพื่อให้เด็กๆ สามารถเรียนได้ฟรี  ทุกวันนี้จะยังสอนอยู่เฉพาะทางช่องทาง Online เท่านั้น

คุณครูสมศรีและคุณไพศาลไปศึกษาเรื่องโคกหนองนากับอาจารย์ยักษ์แล้วประทับใจมาก แต่ทั้งสองคนอยากจะให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ของโมเดลนี้ได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องเดินทางไปยังชนบทไกลๆ จึงคิดทำศูนย์เรียนรู้ในรูปแบบของโรงแรมบนที่ที่ซื้อไว้ก่อนหน้านี้กลางเมืองเชียงใหม่ !

และนั่นก็คือที่มาของโรงแรม Smile Lanna

โรงแรม Smile Lanna สร้างเสร็จไม่กี่เดือนก็เกิดการระบาดของโรค covid-19 แต่คุณไพศาลก็ดูแลพนักงานอีกสิบกว่าชีวิตให้อยู่ด้วยกันที่โรงแรม แบบโมเดลโคกหนองนา คือปลูกข้าว เก็บผักและผลผลิตอื่นๆ ในพื้นที่โรงแรมนั้น !

หลังจากสถานการ covid ดีขึ้น ก็มีคนเข้ามาพักที่ Smile Lanna เพิ่มขึ้นเรื่อยจนเกือบเต็มตลอด ในขณะที่โรงแรมอื่นๆ ในเชียงใหม่นั้นว่างสนิท จนการท่องเที่ยวเชียงใหม่ต้องมาพบคุณไพศาลเพื่อเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่

หากจะเข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็คงต้องมองย้อนไปให้เห็นสิ่งที่คุณไพศาลและคุณครูสมศรีทำมาตลอดชีวิต

โรงเรียนสอนพิเศษครูสมศรีนั้นเป็นโรงเรียนที่เด็กที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยทุกคนต้องแย่งกันเข้าเรียน แต่ทุกเทอม คุณครูสมศรีกันที่ 20% ของทั้งหมด ไว้ให้กับนักเรียนที่ยากจนไม่สามารถเสียเงินเรียนได้ นอกจากนั้นยังมีทุนการศึกษาส่งให้นักเรียนยากจนเรียนจบปริญญาตรีไปนับร้อยๆ คน จนถึงทุกวันนี้คุณครูสมศรีและคุณไพศาลก็ยังให้ทุนกับนักเรียนยากจนมาตลอด

เพราะนั่นคือการตอบแทนของคุณไพศาลที่ได้รับโอกาสมาในวัยเด็ก

ดังนั้นเมื่อโรงแรมกลับมาเปิดอีกครั้ง นอกจากเพื่อนรักทั้งหลายของคุณไพศาล เช่น น้องชายของบ็อบบี้ที่ทำบริษัททัวร์และพาลูกทัวร์มาพักโรงแรมของเพื่อนซึ่งคุณไพศาลก็ให้การตอนรับอย่างดีเป็นพิเศษแล้ว ก็ยังมีผู้คนอีกมากมายที่เข้ามาพักที่โรงแรมนี้

มีเหตุการณ์กระทั่งว่า มีแขกที่เข้ามาพักที่โรงแรมคนหนึ่งเดินเข้ามาก้มลงกราบคุณครูสมศรีที่นั่งอยู่แล้วบอกว่า เขาคือเด็กคนหนึ่งที่คุณครูส่งเสียเรียนจนจบแพทย์และมีชีวิตที่ดีได้ในวันนี้

พนักงานของโรงแรมก็มีส่วนอย่างมากที่จะสร้างความแตกต่างให้กับแขกที่ไม่ได้รู้จักคุณไพศาลและคุณครูสมศรีและไม่รู้เรื่องราวที่มาของโรงแรมนี้มาก่อน

อย่างผมเป็นต้น

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะคุณไพศาลดูแลพวกเขาเหมือนลูกหลาน เสมือนสิ่งที่คุณไพศาลได้รับจากผู้มีอุปการคุณท่านนั้นมาตั้งแต่วัยเด็ก การแสดงออกและความตั้งใจเต็มใจทำงานของพวกเขาจึงออกมาจากความจริงใจจนคนภายนอกอย่างผมรู้สึกได้

เมื่อกล่าวชมพนักงานโดยเฉพาะยาม คุณไพศาลก็ยิ้มแล้วก็เล่าเรื่องที่น่าสนใจมากอีกเรื่องหนึ่งให้ผมฟัง แปลกประหลาดราวกับพล็อตหนังไทยเลยครับ

เรื่องนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่า คนดีย่อมดึงดูดคนดีเข้ามาหากัน

เรื่องมีอยู่ว่า ตั้งแต่เริ่มสร้างโรงแรม คุณไพศาลเจาะจงกับบริษัทยามว่าอยากได้ยามที่มีอายุสักหน่อยเพื่อจะได้รู้หน้าที่และความรับผิดชอบ

และก็มียามคนหนึ่งที่อายุเกือบ 60 ปีแล้วทำงานได้ถูกใจคุณไพศาลมาก ทั้งอัธยาศัยดี ตั้งใจทำงาน ดูแลแขกทุกคนและเพื่อนร่วมงานอย่างยอดเยี่ยม คุณไพศาลถึงกับยื่นคำขาดกับบริษัทยามว่าห้ามเปลี่ยนยามคนนี้เด็ดขาด

อยู่มาหลายปีจนไม่นานนี้ ยามคนนั้นมาลาคุณไพศาล บอกว่าอายุ 60 แล้ว จะเลิกทำงานกลับไปอยู่บ้านที่เชียงราย คุณไพศาลจึงมอบเงินจำนวนหนึ่งให้เพราะตั้งใจทำงานอยู่ด้วยกันมาหลายปี

เขาปฏิเสธ แล้วบอกว่าเขาได้อะไรจากที่นี่มากมายแล้ว เขาอยู่ที่นี่อย่างมีความสุข และบ้านเขาที่เชียงรายก็มีเงินและที่ดินมูลค่านับร้อยล้านบาท

คุณไพศาลตกใจมาก และเมื่อตรวจสอบดูก็พบว่า ยามคนนั้นเคยเป็นผู้จัดการในบริษัทใหญ่ที่กรุงเทพฯ และมีที่ทางและทรัพย์สินไม่น้อยที่เชียงราย เขาเพียงต้องการหางานที่สงบและปราศจากแรงกดดันทำ

ตอนแรกว่าจะมาทำงานเล่นๆ ไม่นาน แต่เขาก็มาพบกับความสุขกับการทำงานที่ Smile Lanna นี้ ก็เลยอยู่มายาว

ยามคนนี้ถ่ายทอดแนวคิดและแนวทางการทำงานดีๆ ไว้ให้ยามที่ทำงานด้วยกัน และพนักงานคนอื่นๆ ในโรงแรมมากมายอย่างที่คุณไพศาลเองก็คาดไม่ถึง

แบบย่อๆ โคกหนองนาโมเดล คือการขุดดินให้เป็นหนองเพื่อเก็บน้ำ ขุดคลองไส้ไก่เพื่อให้น้ำไหลผ่านสร้างความชุ่มชื้น เอาดินไปถมเป็นโคกแล้วปลูกบ้านบนนั้นไม่ให้น้ำท่วมบ้าน แล้วก็ทำนาปลูกพืชที่เป็นอาหาร
นอกจากโรงแรม Smile Lanna ที่ทำเป็นศูนย์เรียนรู้โคกหนองนาโมเดล กลางเมืองเชียงใหม่แล้ว คุณไพศาลและคุณครูสมศรียังตั้งใจไว้ว่าจะปลูกป่าปีละ 100 ไร่ เพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ช่วยให้คุณไพศาล เด็กดอยที่พูดไทยไม่ได้คนหนึ่ง มีชีวิตที่ดีมาจนถึงวันนี้

นี่คงจะเป็นตัวอย่างของความยั่งยืนที่ดีที่สุดที่ผมจะหาได้ เพราะเมล็ดพันธุ์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงหว่านลงที่ดอยอ่างขางนั้น มิได้มีเพียงพืชเมืองหนาวที่ทำรายได้ให้กับผู้คนแทนฝิ่น แต่ยังมีเมล็ดพันธุ์ของความดีที่ไปเติบโตในใจของคนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้มีโอกาส และได้มีชีวิตที่ดี เช่นคุณไพศาลและคนอื่นๆ อีกมากมาย มาจนถึงวันนี้เมล็ดพันธุ์นั้นก็ถูกส่งต่อไปสู่ผู้คนที่ได้รับความดีจากพวกเขาอีกในวงกว้าง

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เรารักและเทิดทูนนั้น จะทรงสถิตอยู่ในใจและทรงเป็นแรงบันดาลใจให้เราสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคมไทยอย่างไม่ย่อท้อ ตลอดไป

#โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่ 

หมายเลขบันทึก: 717646เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2024 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2024 08:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท