บทความเรื่อง "น้ำใจ" ของ พระธรรมราชานุวัตร หรือ หลวงเตี่ย


อารัมภบท

เนื่องในโอกาสจะครบ ๑ ศตวรรษ ชาตกาล ของ พระธรรมราชานุวัตร หรือ หลวงเตี่ย อดีตเจ้าอาวาส วัดไทยในลอสแอนเจลีส ในอีกไม่ถึง ๒ เดือนข้างหน้านี้ ผมจึงนั่งพิมพ์ บทความ ของท่าน จากหนังสือสมานมิตร ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งผมเคยอ่านแล้วประทับใจ เมื่อกว่า ๕๐ ปีก่อน เป็น อาจาริยบูชา สมัยเมื่อผมเข้าเรียนที่นั่นในปีแรก มาไว้ข้างล่างนี้ เพื่อเป็นการรักษา และเผยแพร่ งานเขียนของท่านชิ้นนี้ เอาไว้ใน ไซเบอร์สเปซ คงมีคนจำนวนมากที่เคยรู้จักท่านในฐานะ อดีตเจ้าอาวาสวัดไทยใน แอลเอ สหรัฐอเมริกา คงยังไม่เคยอ่าน

---------

น้ำใจ

คัดจาก หนังสือ สมานมิตร พ.ศ. ๒๕๑๔ (หนังสือประจำปีของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย)

 

บทความโดย พระราชโมลี (กมล โกวิโท ปธ. ๖ นักธรรมเอก พ.ม. พธ. ด. กิตติมศักดิ์ ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระธรรมราชานุวัตร) (ชาตะ วันพุธที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ มรณภาพ วันจันทร์ที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ สิริรวมอายุได้ ๗๘ ปี ๓ เดือน ๒๕ วัน, บวชในพระพุทธศาสนา ๕๗ พรรษา)

อดีต อาจารย์พิเศษวิชาศีลธรรมของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และอีกหลายโรงเรียน

อดีต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ

อดีต เจ้าคณะภาค ๓,

อดีต เจ้าอาวาสวัดไทยในลองแองเจลีส

(เริ่มบทความ)

วันนั้นเป็นวันที่ ๒๙ พ.ศ. ๒๕๑๓ แน่นอน เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. เศษ จำไม่ได้ว่าเป็นเดือนอะไร พอเดา ๆ ได้ว่า เป็นเดือนที่อยู่ในเทอมต้นของปีการศึกษา น่าประหลาดดีเหมือนกัน ที่จำอะไร ๆ ได้ แต่จำเดือนไม่ได้ อย่าคิดให้รกสมองไปเลย มีคำตอบรออยู่แล้ว

วันนั้น เป็นวันที่ข้าพเจ้ามีชั่วโมงสอนตอนเช้า ที่โรงเรียนศึกษานารี เวลา ๙.๐๐ - ๑๐.๐๐ น. เมื่อเสร็จการสอน ก็นั่งรถของโรงเรียนกลับมาวัด ระหว่างนี้รถข้ามมาฝั่งพระนครไม่ต้องรอคิวเหมือนตอน ๘-๙.๐๐ น. จึงใช้เวลาประมาณ ๕-๖ นาทีเท่านั้น ข้าพเจ้าจึงประมาณเวลาได้ใกล้เคียงว่าถึงกุฏิประมาณ ๑๐.๐๐ น. เศษ ซึ่งคงไม่เกิน ๑๕ นาทีอย่างแน่นอน พอวางย่ามลงที่อาสนะแล้ว กำลังจะลดผ้าที่ห่มคลุมลงเป็นห่มลดไหล่ ธรรมเนียมพระภิกษุออกนอกวัดต้องห่มคลุมปิดไหล่ทั้งสองข้าง เมื่อเข้าวัดจะเป็นวัดไหนก็ตามต้องลดผ้าจากไหล่ข้าวขวาเรียกว่าห่มลดไหล่ หรือห่มเฉียง ขณะที่กำลังจะลดผ้าลงนั้น ก็ได้ยินเสียงทักมาแต่นอกประตู พร้อม ๆ กับเสียงหัวเราะอย่างพอใจว่า "วันนี้โชคดีจริง มาพบหลวงเตี่ยได้"

"อ้อ ... สมปอง ... ไปไหนมา" ข้าพเจ้าทักตอบเมื่อมองไปพบเจ้าของเสียงแล้ว

"หนูมาเยี่ยมหลวงเตี่ย นี่ พี่ ... ที่ทำงานอยู่ด้วยกัน" สมปองแนะนำเพื่อนหญิงที่มาด้วย หลังจากที่เข้ามานั้งเก้าอี้รับแขกหน้ากุฏิ

"ขอบใจ ยินดีด้วย ... แล้วสมปองช่วยเป็นหน้าที่จัดหาน้ำเย็นมาเลี้ยงให้ด้วย" ข้าพเจ้าสั่งสมปองให้ทำหน้าที่ลูกศิษย์

สมปองยังคงเป็นสมปองเมื่อ ๑๐ ปีล่วงมาแล้ว คือกุลีกุจอจัดหาแก้วหาน้ำ นำมาถวายข้าพเจ้าแก้วหนึ่งก่อน แล้วจึงของเพื่อนและของเธอเอง อากัปกิริรยาของสมปองถึงจะเป็นผู้ใหญ่ก็ยังคงเส้นคงวาเหมือนเดิม

สมปอง มีความสนิทสนมคุ้นเคยและเคารพข้าพเจ้าเป็นพิเศษเรียกว่า "หลวงเตี่ย" ซึ่งก็ตำแหน่งหลวงพ่อนั่นแหละ คุณแม่ของสมปองก็มีความคุ้นเคยกันดีเรียกหลวงเตี่ยเหมือนสมปอง สมัยเมื่อประมาณ ๑๐ ปีก่อนโน้น สมปองเป็นนักเรียน พ.ต. ซึ่งตั้งอยู่ในวัด เวลาที่วัดมีงานสงกรานต์ประจำปีอันเป็นงานใหญ่ ๙ วัน ๙ คืน งานนี้ต้องพึ่งกำลังผู้มีศรัทธาเป็นจำนวนมาก เพื่อประหยัดรายจ่าย สมปองกับเพื่อนอีกคนได้ได้อาสาสมัครมาช่วยงานแผนกเลี้ยงน้ำ เด็กนักเรียนทั้งสองคนนี้ทำงานดีมากใคร ๆ ก็ชมเชยคือขยันขันแข็ง ตั้งใจทำงานไม่ละทิ้งงานไปหาความสนุกเพลิดเพลินรู้จักรับผิดชอบ หน้าตายิ้มแย้ม หน้าที่ของเธอก็คือ ต้องหิ้วกาน้ำเย็นใบโต ๆ ไปแจกน้ำเจ้าหน้าที่ประจำประตูรอบวัดซึ่งเป็นหนทางหลายกิโลทีเดียว เริ่มงานตั้งแต่ประมาณบ่าย ๔ โมงเย็น กว่าจะเลิก็ ๕ ทุ่มถึง ๒ ยาม คืนหนึ่งต้องเดินแจก ๓-๔ รอบ เลิกแล้วก็เก็บแก้วมาล้างทำความสะอาดเสียอีก ที่น่านักอีกอย่างหนึ่งก็คือ เธอแต่งเครื่องแบบนักเรียนมาทำงานทุกคืน แต่ก่อนนั้นเธอมิได้รู้จักคุ้นเคยกับพระภิกษุรูปใด ๆ หรือคณะกรรมการ ฯ มาก่อนเลย ผลงานที่เธอมาช่วยทีแรกนั้นทำให้เป็นที่รู้จักคุ้นเคยกับพระเถระผู้ใหญ่และพระภิกษุสามเณรตลอดจนกรรมการผู้ที่มาช่วยงานวัดเป็นอย่างดี สำหรับข้าพเจ้านั้น รู้สักตัวว่ามีเมตตาต่อเด็กสองคนนั้นมากทีเดียว เพราะข้าพเจ้ารักคนที่ทำงานโดยไม่เลือกงาน งานเดินแจกน้ำบางคนเข้าใจว่าเป็นงานกุลี รังเกียจไม่ยอมทำ ความจริงงานทุกอย่างมีความสำคัญทั้งนั้น คนทำงานดีกว่าคนไม่มีงานทำ งานนั่นแหละจะช่วยเลื่อนตำแหน่งที่ ค่าของคนอยู่ที่การทำงาน ผู้ที่มีงานทำจึงมีภาษีดีกว่าผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่แล้วไม่ทำงานหรือไม่มีงานทำ สมปองกับเพื่อนมาช่วยงานวัดตลอดเวลาเป็นนักเรียน ๓ ปี เมื่อออกจากโรงเรียนแล้วก็ไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนอยู่เสมอโดยเฉพาะท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ เจ้าอาวาสเธอมีความเคารพมาก ทุกครั้งที่มาวัดจะต้องเข้าไปกราบนมัสการแสดงคารวะ ครอบครัวของสมปองมีฐานะพอกินมีใช้ บิดาทำงานเป็นพ่อครัวปรุงอาหาร มารดาอยู่บ้าน น้องชายคนหนึ่ง สมปองเป็นคนโชคดีพอออกจากฟอร์มนักเรียนก็เข้าทำงานราชการ และไม่นานนักก็แต่งงานเวลานี้มีลูก ๓ คน สมปองมีเงินเดือนเกือบสองพัน สามีได้เงินเดือนสองพันกว่าเธอแยกออกจากบิดามารดามาเช้าบ้านอยู่ต่างหาก ตอนหลัง ๆ นี้ นาน ๆ จึงจะมาวัด นี่คือ "ภูมิหลัง" อย่างย่อของสมปอง

ข้าพเจ้าดื่มน้ำเย็นแก้วที่สมปองจัดถวายแล้วก็สนทนาถึงสารทุกข์สุขดิบ เมื่อทราบว่าสมปองและครอบครัวมีความเป็นอยู่สุขสบายดีก็พลอยดีใจด้วย แล้วข้าพเจ้าจึงถามถึงบิดามารดาของเธอซึ่งมิได้มาพบนานแล้วว่า

"พ่อกับแม่สบายดีหรือ ไม่ได้พบกับแม่เรามานานแล้ว"

"สบายดีค่ะ แต่เวลานี้ย้ายจากในสวนมาเช่าห้องอยู่ใกล้ ๆ วงเวียนใหญ่ น้องชายก็แยกอยู่ต่างหาก พ่อก็คงทำงานอย่างเดิม"

"แล้วพ่อกับแม่อยู่กับใครล่ะ"

"มีญาติมาอาศัยอยู่ด้วยคนหนึ่ง"

"เธอพาลูก ๆ ไปเยี่ยมบ้านบ้างหรือเปล่า"

"หนูก็ไปเสมอ ๆ แต่ตอนนี้ห่างไปหน่อย"

"ต้องหมั่นไปเยี่ยมนะ คนแก่จะได้ไม่ว้าเหว่า เห็นลูกเห็นหลานแล้วก็ใจอบอุ่น เป็นความสุขอย่างหนึ่งของคนมีอายุ แล้วส่งเงินไปให้ใช้บ้างหรือเปล่าล่ะ"

"เวลาไปหนูก็ซื้อของไปฝาก แต่ไม่เคยให้เงิน" สมปองตอบยิ้ม ๆ

"อ้าว ทำไมไม่ให้บ้างเล่า ห้าสิบบาทก็ยังดี"

"โธ่ หลวงเตี่ย หนูเองก็ยังไม่ค่อยพอใช้เลย" เธอหัวเรา เพื่อนก็คงนึกสนุกร่วมหัวเราะกันด้วย

"นี่ มาอีกแล้ว คนไหนก็คนนั้น ตอบเป็นแบบเดียวกัน แต่ยังไม่เต็มฟอร์มต้องต่ออีกว่า หนูไม่ขอก็เป็นบุญแล้ว" ตอนนี้เลยเป็นเรื่องขำขันหัวเรากันครื้นเครงทีเดียว

"แต่ก่อนสมปองมีเงิน ๖๐๐ ก็ไม่พอให้ เดี๋ยวนี้มีเงินสองคนตั้ง ๔๐๐๐ เศษ เธอก็ยังพูดเหมือนเมื่อกินเงินเดือน ๖๐๐" ข้าพเจ้าตั้งโจทย์เลขให้ทบทวนใหม่

"หลวงเตี่ย เดี๋ยวนี้หนูต้องเลี้ยงลูกถึง ๓ คน ลูกเข้าโรงเรียนแล้ว ต้องเสียเงิน จุก ๆ จิก ๆ แทบจะไม่ไหวอยู่แล้ว" เธอยกเหตุขึ้นมาหักล้างคำแย้งของข้าพเจ้า ก็น่าฟังทีเดียว

"ก็เธอมัวแต่เอาไปเลี้ยงลูก บำรุงความสุขลูกเสียมากมาย แล้วมาบ่นว่าไม่พอใช้นี่นา" ข้าพเจ้าแกล้งเย้าดูอารมณ์

"หนูไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนหนู อยากให้ลูกกินอิ่มนอนหลับ เรียนหนังสือเก่ง ๆ จะได้สบาย" สมปองเปิดหัวใจแม่ออกมาทันที

"พุทโธ่ หัดให้ลูกอ่อนแอ ไม่มีนิสัยนักสู้เลย" ข้าพเจ้าแกล้งขัดอีก

"หลวงเตี่ย ลูกคนโตของหนูเรียนเก่งนะคะ เขาบอกว่าโตขึ้นจะเรียนหมอ ได้เงินก็จะให้แม่หมด คนกลางบอกว่า จะเป็นตำรวจ คนเล็กก็บอกว่า จะเป็นทหาร โอ ... บางวันแกแข่งกันคุย หลวงเตี่ย พอลูกหนูโต หนูก็สบายแล้ว" สมปองพูดอย่างพูมอกพูมใจ

"แล้วอย่าลืมหลวงเตี่ยนะ"

"สัญญาได้เลย ตอนนั้นหนุ้จะทำปิ่นโตให้มาส่งหลวงตาทุกวัน" สมปองพูดพลาง หัวเราะพลาง เพื่อนของเธอและข้าพเจ้าก็หัวเราะ พลอยสนุกไปด้วย

"สมปองแม่ของเธอก็เคยเล่าให้ฉันฟังอย่างนี้เหมือนกัน" ข้าพเจ้าหยุด เพื่อสังเกตว่าสมปองจะพูดอย่างไร เมื่อเธอมองหน้าข้าพเจ้า มีกิริยาแสดงความสนใจอย่ากจะทราบต่อไป ข้าพเจ้าจึงชวนเธอกลับไปในอดีต

"ตอนที่สมปองเป็นเด็กนักเรียน เวลาแม่เธอมาคุยกับฉัน แม่เธอชอบพูดเสมอ ๆ ว่า ปองเขาบอกว่า เขาจะเลี้ยงพ่อแม่เอง พอเขามีเงินเดือนกินเขาก็จะยกให้แม่หมด ยิ่งฉันชมสมปองว่าเป็นเด็กดี เรียบร้อย ต่อไปข้างหน้าจะร่ำรวย แม่ของเธอก็หัวเราะชอบอกชอบใจ และพักพูดว่า ใคร ๆ ก็บอกว่า จะได้พึงลูกคนนี้ สมปองได้เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่แล้วหรือยัง" ข้าพเจ้าตั้งปัญหาไว้ตอนท้าย

"โธ่ ... หลวงเตี่ยก้อ ... ตอนนี้ หนูยังต้องผ่อนส่งที่ดินอีกนี่คะ" เธอโต้ปัญหาของข้าพเจ้าอย่างขอความเห็นใจ

"เห็นใจ ทำไมฉันจะไม่เห็นใจเธอ แต่ฉันก็อดเห็นแม่เธอพ่อเธอไม่ได้ คิดดูซิ มีลูกสองคน โตแล้ว ต่างคนต่างไป ปล่อยพ่อกับแม่ไว้ตามลำพัง ถ้าเธออย่างกับน้องชายฉันคงไม่พูด เพราะน้องชายเธอยังลืมตาอ้าปากไมได้" ข้าพเจ้าหยุดให้คิด สมปองนั่งมองข้าพเจ้า กิริยาของเธอจับได้ว่ากำลังรับฟังความเห็นของข้าพเจ้า จึงเสนอคำทบทวนต่อไป

"พ่อกับแม่ก็คงดีอกดีใจมาก่อนเหมือนสมปอง เพราะลูกนั้นเป็นความหวังของพ่อแม่ ลูกที่บอกพ่อบอกแม่ว่าจะเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ อยู่กับพ่อกับแม่ มีเงินเดือนเงินดาวก็ยกให้พ่อให้แม่หมดนั้นน่ะ พูดด้วยใจจริง เป็นความรู้สึกของลูกที่มีความรักพ่อรักแม่ เห็นใจพ่อแม่แต่ตอนนั้น ใจของลูกมีความรักลึกซึ้งอยู่เฉพาะพ่อกับแม่เท่านั้น พอโตขึ้นเกิดมี "รักแทรก" เข้ามา แล้วก็มี "รักซ้อน" เพิ่มอีก อย่างสมปองนี่แหละ จึงทำให้ลืม "รักเก่า" ที่สัญญาไว้แต่ก่อนเสีย" ข้าพเจ้าเสริมท้ายให้ขำ เพื่อคลายอารมณ์หนัก ๆ สมปองและเพื่อนเลยพากันหัวเราะ เมื่อยังไม่มีคำตอบ ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นที่ควรจะ "รุก" อีกจึงเทศน์ต่อ

"สมมติว่าอย่างนี้ สมปอง ถ้ามีใครไปถามแม่เธอว่า เวลานี้ลูกสาวทำงานอยู่ที่ไหน มีเงินเดือนเท่าไร เธอคิดว่าแม่จะตอบเขาว่าอย่างไร แม่เธอคงตอบว่า สมปองรับราชการมีเงินเดือนเกือบสองพัน สามีของเขาก็ได้เงินเดือนสองพันกว่า ผู้ที่ถามก็พูดด้วยความภาคภูมิใจแทนแม่เธอว่า ป้าก็สบายละซิคราวนี้ ลูกกินเงินเดือนตั้งสี่พันกว่า สมปองลองคิดว่าถ้าอย่างนี้แม่เราจะตอบว่าอย่างไร" สมปองยิ้มน้อยลงเมื่อฟังข้าพเจ้าตั้ง "ตุ๊กตา" เมื่อเห็นเธอนิ่งไม่ตอบ ข้าพเจ้าก็ทำคะแนนต่อทันที

"แม่เธอจะตอบด้วยเสียงสะบัดว่า เขาซิสบายกัน ตั้งแต่มีเงินเดือนยังไม่เคยเห็นสักแดงเดียว อย่าไปพูดถึงเขาเลย กรรมของเรา อะไร ๆ ทำนองนี้แหละ ซึ่งแม่จะพูดด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ นี่เป็นเรื่องสมมตินะ"

ระหว่างที่ข้าพเจ้าพูดนั้น สีหน้าของสมปองเปลี่ยนจากอาการร่าเริงเป็นเคร่งขรึม เธอก้มหน้า มือจับแก้วน้ำเลื่อนไปมา นัยตาแดง แล้วน้ำตาหยดออกมา โดยที่ไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น เธอดึงผ้าเช็ดหน้าจากเอวขึ้นมาซับน้ำตา เพื่อนของเธอก็มีอาการสงบนิ่งไปด้วย ข้าพเจ้ารู้สึกสงสารจึงรีบเปลี่ยนเรื่องใหม่

"อ้าว ... ต้นไผ่ใบเหี่ยวเสียแล้ว" ทั้งสองมองตามสายตาของข้าพเจ้าไป

"สมปอง ช่วยตักรดน้ำหน่อย พักนี้เด็ก ๆ ชักจะไม่ได้ความเสียแล้ว ต้นไม้จะตายหมด" สมปองลุกไปตักน้ำมารดที่กระถางต้นไผ่ และพูดกับเพือนว่า

"พี่ ... หลวงเตี่ยชอบเอาต้นอะไรต่ออะไรมาปลูกในกระถาง มะพร้าวก็ปลูกในกระถาง" แล้วก็หัวเราะกัน ข้าพเจ้าก็เลยอธิบายสรรพคุณต้นหมากรากไม้ที่ปลูกไว้ไปตามเพลงเพื่อให้สมปองเพลิดเพลินก่อน และพอเห็นว่าอารมณ์ดีขึ้น จึงวกเข้าเรื่องเดิมอีก

"เออนี่... จะสิ้นเดือนแล้ว เงินเดือนออกเมื่อไหร่"

"วันนี้วันที่ ๒๙ ตอนบ่ายก็ออกแล้วค่ะ" เพื่อนของสมปองตอบ

"วันนี้ฤกษ์ดี พอเงินเดือนออก สมปองรีบเอาไปให้พ่อแม่สักร้อยหนึ่งนะ เออ ... ลูก ๆ จะได้อยู่เย็นเป็นสุข เจริญรุ่งเรือง พ่อแม่เป็นพระของลูก ท่านจะได้ให้ศีลให้พร" ข้าพเจ้ายิงลูกเข้าประตูทันที

"ตกลงค่ะ หนูเชื่อหลวงเตี่ย ตั้งแต่เดือนนี้ไป หนูก็สบายใจเรื่องผ่อนส่งที่ดินแล้วค่ะ"

"ขอบใจสมปองที่เป็นคนมีเหตุมีผล ที่พูดมานั้นหลวงเตี่ยพูดด้วยความรัก อยากเห็นสมปองมีความสุขมาก ๆ ไม่มีใครจ้าง ไม่มีใครวานให้พูด แต่คำว่า หลวงเตี่ย บังคับให้ต้องพูด เพราะสมปองนับถือฉัน ยอมลงทุนขนาดเรียกว่าหลวงเตี่ย ฉันเห็นอะไรที่จะเป็นความดีงาม แม้จะต้องเสี่ยงบ้างก็ต้องทำ"

"หนูต้องกราบขอบพระคุณหลวงเตี่ยต่างหาก ที่ช่วยเตือนหนู ความจริง หนูก็คิดถึงพ่อแม่เสมอ ๆ แต่มิได้คิดอย่างหลวงเตี่ยบอกหน่อยเดียวเท่านั้น"

"ดีแล้ว อย่าลืมนะ ต้องเอาไปให้วันนี้" ข้าพเจ้าย้ำอีก

"สัญญาค่ะ" สมปองตอบอย่างหนักแน่นและเต็มใจ ตอนนี้หน้าตากลับร่าเริงหัวเราะได้อีก

"ระวังหน่อยนะ เดี๋ยวแม่ไม่รับ หรือพูดไม่น่าฟัง อย่าไปเสียใจ ท่านพูดไปอย่างนั้นเอง ยิ่งจู่ ๆ ไม่นึกไม่ฝันลูกสาวนำเงินไปประเคน ก็ต้องแปลกใจ ยังไง ๆ ต้องยัดเยียดไว้ให้ได้นะ" ข้าพเจ้าเตือน

"ฉันเคยมาแล้ว เวลาไปให้โยม โยมบอกเสมอ ๆ ให้เก็บไว้ มีแล้ว อะไร ๆ ทำนองนี้ ฉันเริ่มให้มาตั้งแต่เป็นเณร ปีมาอยู่กรุงเทพฯ ใหม่ ๆ ตอนนั้นอายุ ๑๖ เท่านั้น ซื้อผ้านุ่งโจงกระเบนผืนละสิบสลึง ไปอาบน้ำสงกรานต์ โยมบอกว่าอย่าซื้อมาเลย แต่ก็รับด้วยความยิ้มแย้ม และยังอนุโมทนาให้ใคร ๆ ฟังอีกว่าลูกชายซื้อให้ เท่านี้เราก็ได้รับศีลรับพรชั้นเยี่ยมแล้ว"

"หนูก็ไม่เคยส่งไปให้แม่เลย ตั้งแต่มีเงินเดือน" เพื่อนของสมปองสารภาพออกมาบ้าง

"ยังงั้น วันนี้ จัดแจงธนานัติส่งไปซินะ" ข้าพเจ้าแนะ

"แต่คุณแม่หนูเหลือกินเหลือใช้ บางเดือนหนูยังต้องขอท่านอีก" เธอกำลังจะเบี้ยว

"ถึงจะมีเงินมีทองเป็นเศรษฐี พ่อแม่ก็ยังยินดีจะเห็นเงินที่เป็นน้ำพักน้ำแรงของลูก คนอื่นให้หมื่นให้แสน ไม่ดีใจเท่าเงินลูกบาทเดียว เหมือนผลไม้ที่เขาให้หรือซื้อเขา สู้ต้นที่เราปลูกเองไม่ได้ ความจริง มิใช่ท่านไม่มี อย่างพ่อแม่สมปอง ท่านเลี้ยงลูกมาได้ เดี๋ยวนี้ท่านก็เป็นอยู่ได้ แต่อยากได้น้ำใจจากลูก นึกถึงตัวเราเอง เพียงแต่เราทำอะไรให้ใคร แล้วเขาพูดขอบใจคำเดียวเท่านั้น เรายังดีใจว่าเขารู้ว่าเราทำอะไรให้ นี่ท่านเลี้ยงเรามา ส่งเสียจนมีเงินเดือนเงินดาว แล้วหายต๋อม หัวใจมันแห้ง"

"เอ ... ถ้าจะจริง ตกลงหนูส่งเงินไปให้แม่บ้าง" เพื่อนสมปองพลอยเซ็นสัญญาอีกคน

"ต้นไม้ต้นนั้น อีกสักครู่คงจะฟื้นตัว มันเหี่ยวเพราะขาดน้ำ ถ้ามีน้ำชุ่ม ใบก็สดเขียว น่าดู เหมือนพ่อแม่ที่ขาดน้ำใจจากลูก ใจก็แห้ว ไม่ชุ่มชื่น ผู้ที่ให้น้ำใจแก่พ่อแม่ ย่อมเป็นอุดมมงคลและยังเป็นคุณธรมที่จะทำให้คนเป็นพระอินทร์ จอมเทพแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แม้จะยากจนเข็ญใจอย่างไร ก็ยังได้รับยกย่องสรรเสริญ เป็นที่นับถือของคนทั่วไป ดีกว่าผู้ที่มีทรัพย์สมบัติมหาศาล มีสติปัญญาดี มีอำนาจวาสนา แต่ลืมพ่อลืมแม่ เธอสองคนรับพยากรณ์ได้เลยว่า อนาคตจะไม่ตกต่ำ เพราะยังมีน้ำใจซื้อตรงต่อพ่อแม่" ข้าพเจ้าเทศน์อานิสงส์และยังแถมตัวอย่างอีกหลายเรื่อง จนกระทั่งเด็กลูกศิษย์เข้านั่งพนมมือบอกว่า ท่านครับ นิมนต์ฉันเพลได้แล้วครับ สมปองกับเพื่อนก็เลยขอลากลับ

หลังจากนั้น ๓-๔ วัน สมปองกลับมาส่งข่าวว่า ได้นำเงินไปให้พ่อกับแม่แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๙ แม่ดีใจมาก

จำเริญ จำเริญ แม่คุณ สมปองผู้มีน้ำใจ นี่แหละเขาเรียกว่า คนมีกตัญญูกตเวทีละ

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 717623เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2024 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2024 09:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท