ปัญหามลพิษหมอกควันระหว่างประเทศ


ปัญหามลพิษหมอกควันระหว่างประเทศ

9 มีนาคม 2567

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

มีกฎหมายที่สำคัญอยู่ฉบับหนึ่ง คือ ร่างกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งกว่าจะตกผลึกมาเป็น ร่างพระราชบัญญัติ อากาศสะอาดได้นั้น มีการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้ถึง 7 ฉบับ นับว่าเป็นกฎหมายสำคัญที่คำนึงถึงสุขภาพอนามัยของคนไทยที่มีปัญหาในเรื่องฝุ่นพิษ หรือฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่เกิดมานานกว่า 10 ปีแล้ว เป็นการผลักดันร่างกฎหมายขึ้นมาแก้ปัญหา เพื่อบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ สำหรับความเป็นมาของกฎหมายฉบับนี้ มีความเป็นมาที่น่าสนใจ ก่อนอื่นที่จะวิพากษ์นำเสนอร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ซึ่ง ณ ปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเป็นเอกฉันท์ 443 เสียง รับหลักการ(วาระที่ 1) แห่งร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2567 และได้มีการแต่งตั้งกรรมาธิการจำนวน 39 คนพิจารณา [2] โดยยึดร่างของคณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นหลัก มาเท้าความถึงกฎหมายฉบับนี้ ว่าจะมีความสำคัญ มีเป้าประสงค์ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างไร โดยเฉพาะปัจจุบันเป็น “ปัญหาระหว่างประเทศ” ของชาติสมาชิกอาเซียน ในเรื่องฝุ่น PM2.5 (Particulate Matters)[3]เนื่องจากเป็น “มลพิษหมอกควันที่ข้ามพรมแดน” (Transboundary Haze Pollution) [4]

นับแต่อดีตมาถึงปัจจุบันโดยเฉพาะนับแต่ในระยะอันใกล้นี้ปัญหามลพิษปัญหาหมอกควันต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ที่มีขนาดอนุภาค 2.5 ไมครอน และแขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่างๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สำคัญมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานแล้ว มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องฝุ่น PM2.5 นี้ มาตลอด รวมทั้งการศึกษาในเรื่องของข้อพิพาทเกี่ยวกับปัญหาพิพาทหมอกควันข้ามดินแดนในหลายประเทศอาเซียน อันเป็นปัญหาระหว่างประเทศ ที่นำมาสู่ปัญหาภายในประเทศ และในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชายแดน เขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่างเช่น แม้ไม่มีสถิติตัวเลขที่แน่นอน แต่มีการยอมรับกันจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเกี่ยวกับ “จุดความร้อนและบริเวณพื้นที่เผาไหม้” (Hotspot & Burn Scar) [5]ว่า หมอกควันที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยส่วนหนึ่ง (จำนวนมาก) เป็นหมอกควันที่ข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีการทำการเกษตรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เพาะปลูกเป็นจำนวนมาก และมีการเผาหญ้าวัชพืชเพื่อทำการเกษตรด้วย

ดังนั้น เราจึงควรมาศึกษาต้นตอของปัญหาเหล่านี้ไว้ด้วย รากฐานปัญหาข้อพิพาทที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศในอาเซียนที่นำมาสู่ปัญหาหมอกควันข้ามดินแดนนั้นแรกเริ่มนั้นมาจากเหตุการณ์ไฟป่าที่อินโดนีเซียและยังมีเหตุการณ์ไฟป่าเกิดขึ้นเป็นระยะหลังจากนั้นในหลายประเทศในอาเซียน จึงทำให้มีการพยายามแก้ไขปัญหาพิพาทดังกล่าวโดยการหาแนวทางความร่วมมือในการแก้ปัญหาจนนำไปสู่ข้อตกลงว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดนอาเซียนในปี ค.ศ.2002 [6] (พ.ศ.2545)

โดยข้อตกลงดังกล่าวมีผลเพื่อที่จะป้องกันและลดมลพิษหมอกควันจากไฟป่าโดยอาศัยความร่วมมือระดับภูมิภาค ระดับชาติรวมถึงประชาชนภายในประเทศโดยมีสาระสำคัญที่กล่าวถึงการเสริมสร้างความร่วมมือ ติดตามและตรวจสอบมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอันเป็นผลจากการเผาป่า รวมถึงตั้งศูนย์ในการประสานงานและความร่วมมือทางเทคนิคและวิทยาศาสตร์ทั้งนี้ยังพยายามเปิดให้มีส่วนร่วมกันในทุกภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมอีกด้วยซึ่งข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงที่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือระดับระหว่างประเทศ

จากปัญหาเริ่มต้นที่ประเทศอินโดนีเซียดังกล่าวได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อหลายชาติอาเซียนไม่ว่าในประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และในโซนภาคใต้ของไทย ถึงแม้จะมีการตั้งกรรมการ มีการจัดทำข้อตกลงว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดนอาเซียน แต่เมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงจะเห็นได้ว่าข้อตกลงว่าด้วยมลพิษข้ามแดนอาเซียนดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาข้อพิพาทใดๆ ได้ โดยการศึกษาผ่าน “วิถีอาเซียน”  (ASEAN Way) ที่มีผลต่อข้อพิพาทผ่านกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

 

วิถีอาเซียน  (ASEAN Way) คืออะไร [7]

“ลักษณะวิถีอาเซียน” คือหลักคิด หลักปฏิบัติ การตัดสินใจเรื่องราวสำคัญๆ ของอาเซียน เป็นหลักการสำคัญที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจอาเซียนอย่างเป็นระบบ โดยมีหลักยึดที่สอดคล้องกับความเป็นอาเซียน ทั้งหมด 10 ชาติ [8] ได้แก่ กัมพูชา ไทย บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ไม่รวมประเทศรัฐสังเกตการณ์ 2 ชาติ ได้แก่ ปาปัวนิวกินี (1976) และ ติมอร์-เลสเต (2002) มีงานวิชาการศึกษาสรุปวิถีอาเชียน ที่เป็นเอกลักษณ์หลักคิดเบื้องต้นในการศึกษาทำความเข้าใจเรื่องราวของอาเซียนอย่างเป็นระบบอย่างมีหลักยึด ดังนี้ 

1.ไม่แทรกแซงกิจการภายใน (Non-interference) ปรากฏในกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเฉียงใต้ (ASEAN Charter) หรือธรรมนูญอาเซียน

2. การผูกพัน “อย่างหลวมๆ” เป็นข้อแตกต่างระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป (European Union : EU, 1992) เดิมคือ ประชาคมยุโรป (European Community : EC, 1967) อาเซียนร่วมมือกันด้วยกระบวนการสร้างความเข้าใจร่วมอย่างไม่เป็นทางการ ปราศจากข้อกฎบังคับทางกฎหมาย

3. การแทรกแซงอีกรูปแบบหนึ่ง แบบอาเซียน บางครั้งมีการแทรกแซงระหว่างกันแต่ด้วยบางวิธีการเท่านั้น เช่น พยายามควบคุมทางการเมืองระหว่างประเทศ กดดันภายใน เจรจาต่อรอง การพูดคุยและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ทางทั้งทางตรงทางลับ การแทรกแซงของอาเซียนจะกระทำโดยพยายามไม่โดดเดี่ยวหรือทำให้ชาติสมาชิกอับอายขายหน้า เช่น กรณีปัญหาโรฮิงญาในเมียนมา

4. ชาติสมาชิกรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนสูงสุด เช่น กรณีการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ ระหว่างฟิลิปปินส์ กับจีน ทำให้ชาติอาเซียนบางส่วนไม่เห็นด้วย เกิดความขัดแย้งในที่ประชุม

5. การตัดสินใจของชาติสมาชิกไม่ขึ้นกับหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ไม่ได้ดำเนินภายใต้สถาบันหรือกลไกที่มีหลักมีเกณฑ์ กระบวนการเจรจาของอาเซียน ปราศจากโครงสร้าง ไม่มีขั้นตอนนำสู่การตัดสินใจ

6. พยายามหาทางออกด้วยสันติวิธี ไม่เผชิญหน้า

 

เหตุการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย ปี ค.ศ. 2002 [9]

ไฟป่าที่เกิดปัญหามลพิษข้ามพรมแดนครั้งใหญ่เกิดในเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว เมื่อปี 2002 จนนำมาสู่ไฟป่าครั้งใหญ่ ซึ่งอินโดนีเซียได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินภายในประเทศและมีการจับกุมผู้ต้องหาเกือบ 200 คนที่มีความเกี่ยวข้องกับสาเหตุไฟป่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศที่ตกอยู่ภายใต้ม่านหมอกมลพิษดังกล่าวเช่น สิงคโปร์ มาเลเซียที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากหมอกควันนี้ด้วย ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่าดังกล่าวมีการศึกษาแล้วพบว่าไฟป่าดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ process การเผาป่าเพื่อตัดไม้ทำลายป่า ไฟถูกจุดในป่าฝนเขตร้อน หรือในป่าทุติยภูมิเพื่อล้างพื้นที่อาจมีการลักลอบเผาอย่างผิดกฎหมายซึ่งเป็นการเคลียร์พื้นที่เพื่อกำจัดพืชพรรณต่างๆ ออกไปไว้สำหรับสวนป่า โดยเฉพาะสวนปาล์มน้ำมัน

มีการศึกษาผลกระทบของเหตุการณ์ไฟป่าดังกล่าวโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและโคลัมเบียพบว่า เหตุการณ์ในปี 2558 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 100,000 คนทั่วภูมิภาคอาเซียน นำมาสู่การแสดงออกและวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาด้วยความไม่พอใจของประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์เพราะประชากรของทั้งสองประเทศต่างได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟป่าดังกล่าวไม่ต่างกัน จนทำให้นาย yeo bee yin รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมกระทำการขัดกับวิถีอาเซียนกล่าวคือมีการออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอินโดนีเซียอย่างตรงไปตรงมาว่าล้มเหลวในการแก้ปัญหาไฟป่า เป็นความล้มเหลวของรัฐบาลกรุงจาการ์ตาในการป้องกันไฟป่าแต่ท้ายที่สุดทางรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซีย siti Nurbaya Bakar ก็ได้ปฏิเสธถึงปัญหาหมอกควันข้ามแดนดังกล่าว ทั้งยังอ้างว่ามาเลเซียก็เป็นแหล่งผลิตมลพิษจากควันไฟเช่นกัน นาย yeo bee yin ในฐานะรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมมาเลเซียก็ได้แถลงตอบโต้ผ่านทาง facebook ว่า นาย Siti Nurbaya รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซียไม่ควรปฏิเสธความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่อมานาย Masagos Zulkifli รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมสิงค์โปร์ แถลงว่านี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องจริงจังกับการแก้ไขปัญหาและสร้างความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการทำให้ภูมิภาคอาเซียนปลอดจากหมอกควันภายในปี 2563 (ภายใน 6 ปีนับตั้งแต่เกิดเหตุเพลิงไหม้ป่าที่อินโดนีเซีย)

ในการแก้ปัญหานั้นอินโดนีเซียได้ดำเนินการตามแผนระยะสั้นคือ การส่งนักดับเพลิงอาสาสมัครนับพันคนลงไปในพื้นที่เกิดเหตุที่ท้องที่เกาะสุมาตราและกาลิมันตัน โดยทางรัฐบาลได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ไปทิ้งระเบิดน้ำเพื่อดับไฟในกาลิมันตันด้วย ถึงแม้อินโดนีเซียจะไม่ได้ชดใช้ค่าเสียหายประการใดๆ แก่มาเลเซียและสิงคโปร์ แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างชาติสมาชิกภายในภูมิภาคนี้ขึ้น อันได้แก่ “ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ค.ศ.2002” (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) [10] ซึ่งชาติสมาชิกอาเซียนทุกประเทศได้เข้าร่วมลงนามครบทั้ง 10 ชาติโดยข้อตกลงฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน ลด และติดตามตรวจสอบมลพิษหมอกควันที่มาจากไฟภาคพื้นดินหรือไฟป่าที่อาศัยความร่วมมือในระดับภูมิภาคและในระดับประเทศ เพื่อนำข้อมูลในแต่ละประเทศมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุลักษณะของปัญหาหมอกควัน และผลกระทบที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับปัญหาไฟป่าของชาติสมาชิกทุกชาติ โดยได้นำนโยบายวิธีปฏิบัติและเทคโนโลยีที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ ทั้งนี้ในข้อตกลงดังกล่าวยังมีการจัดให้มีการร่วมมือกันในการจัดการปัญหาหมอกควันข้ามแดนโดยมีข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการป่าพรุอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งมีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่จะลดจุดความร้อนและหมอกควันในภูมิภาคอาเซียนให้หมดไป

ถึงแม้จะมีกลไกตามข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนจากเหตุไฟป่าที่อินโดนีเซียก็ตาม แต่ปัญหาหมอกควันปัญหามลพิษก็ยังไม่ได้หมดไปเนื่องจากกลไกการแก้ไขปัญหาและการป้องกันปัญหามลพิษข้ามแดนของอาเซียนไม่มีข้อผูกมัดใดให้ชาติสมาชิกต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งเนื่องจากวิถีอาเซียนที่ยึดหลักอำนาจอธิปไตยของชาติสมาชิกเป็นหลักจนนำมาสู่การยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกได้ และอีกเหตุผลหนึ่งที่ข้อตกลงดังกล่าวล้มเหลวจนนำมาสู่ความล้มเหลวที่ไม่สามารถแก้ปัญหาข้อพิพาท ปัญหาหมอกควันข้ามดินแดนได้เนื่องจากชาติสมาชิกต่างไม่ได้ให้ความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะยังติดกับผลประโยชน์ของชาติตนเองเป็นหลัก แม้ว่าความตกลงดังกล่าวในทางปฏิบัติจะล้มเหลว แต่จากข้อพิพาทดังกล่าวก่อให้เกิดข้อตกลงในการแก้ปัญหามลพิษแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ [11]

1.กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง 5 ประเทศคือ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (ไทยและ CLMV) โดยก่อนหน้านี้ได้ทำข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่ให้มีจุดความร้อนเกิน 50,000 จุด

2.กลุ่มประเทศในอาเซียนตอนล่างอันได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน ในกลุ่มนี้ไม่ได้กำหนดจุดความร้อนแต่ใช้การกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองให้อยู่ในมาตรฐานที่กำหนดของแต่ละประเทศ

จากรายงานการศึกษาดังกล่าวนี้เริ่มจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ป่าในอินโดนีเซียนำมาสู่ปัญหาข้อพิพาทเรื่องหมอกควันข้ามดินแดน จนนำมาสู่ “ข้อตกลง” (Agreement) ในการกำหนดว่าแต่ละประเทศต้องมีมาตรการภายในของตนเองเพื่อควบคุมการเผาไหม้ ไม่ให้เกินค่ามาตรฐานที่ตนได้กำหนดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหมอกควันไปกระทบประเทศเพื่อนบ้านอื่น และช่วยให้หมอกควันในอาเซียนนั้นลดลงตามเป้าหมาย 

แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรคประการสำคัญที่เกิดคือ แนวคิดวิถีอาเซียนที่ทุกประเทศต่างยึดถือผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวที่ไม่มีบทลงโทษไม่มีผลทางปฏิบัติ และหลักการตามวิถีอาเซียนว่า แต่ละชาติจะไม่ก้าวก่ายกิจการภายใน จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน แต่ตามข้อตกลงนี้ทุกชาติยังเน้นการแลกเปลี่ยนความร่วมมือและการแก้ไขปัญหาของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทุกชาติเป็นหลัก

 

กล่าวโดยสรุปแล้ว ปัญหาข้อพิพาทในหมอกควันข้ามพรมแดน (Transboundary Haze Pollution) เป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศ ในระดับภูมิภาค ที่ชาติอาเซียนต้องหันมาทำความเข้าใจ และแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะมิเช่นนั้น ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้ ยกตัวอย่างแม้จะมีการทำข้อตกลงเพื่อแก้ปัญหามลพิษทั้งอาเซียนหลังจากที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ป่าที่อินโดนีเซีย จนประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ออกมาเรียกร้องเมื่อ 22 ปีที่แล้วเป็นอุทาหรณ์แล้วก็ตาม โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาข้อพิพาทนี้ล้มเหลวคือวิถีอาเซียนนั่นเอง

 


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Phattanat Nut, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 15 มีนาคม 2567, 23:00 น., https://siamrath.co.th/n/521627 

[2]ผ่านฉลุย สภาฯ ลงมติเอกฉันท์ 443 เสียง รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด 7 ฉบับ “พัชรวาท” ขอบคุณทุกฝ่ายมุ่งมั่นแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ถือเป็นวาระแห่งชาติ, ข่าวทำเนียบรัฐบาลไทย, 17 มกราคม 2567, https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/77587

[3]PM 10 และ PM 2.5 คืออะไร, สำนักหอสมุด KMUTT, https://www.lib.kmutt.ac.th/pm-10-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0-pm-2-5-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/ 

[4]ควันข้ามโขง : ฆาตรกรเงียบไร้พรมแดน, สารคดีจินตภาพแห่งลุ่มน้ำโขง โดยอัจฉราวดี บัวคลี่, เขียนเมื่อ 2007 ร่วมโครงการ Imaging Our Mekong ดำเนินการโดยสำนักข่าว Inter Press Service (IPS Asia-Pacific), ใน thecitizen.plus, ไทยพีเอส, 1 กุมภาพันธ์ 2562, https://thecitizen.plus/node/25359

[5]ปัจจุบันบริเวณพื้นที่มีค่าความร้อนสูงกว่าปกติบนพื้นผิวโลก สามารถตรวจวัดได้ โดยอุปกรณ์ตรวจวัดค่าความร้อนที่ติดตั้งไปกับดาวเทียมสำรวจโลก ดาวเทียมระบบ MODIS (Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer) เป็น 1 ใน 5 ของระบบเซนเซอร์ที่ติดตั้งบนดาวเทียม เป็นเครื่องมือถ่ายภาพที่ได้รับการติดตั้งบนดาวเทียม TERRA และ AQUA พัฒนาโดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Aeronautic and Space Administration: NASA) จะมีแถบการถ่ายภาพครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยและสามารถถ่ายภาพได้วันละ 4 ช่วงเวลา ระบบ MODIS ระบุพื้นที่เผาไหม้ (burn scar) ของพื้นที่มากกว่า 250 ตารางเมตร และวิเคราะห์จุดความร้อน (hotspot) ที่มีขนาดใหญ่กว่า 375 ตารางเมตร

จุดความร้อน (hotspot)คือ คือ จุดที่มีค่าความร้อนมากผิดปกติที่เกิดขึ้นผิวโลก ซึ่งเราสามารถตรวจวัดได้โดยใช้อุปกรณ์ตรวจวัดค่าความร้อน (Thermal sensor) ที่ติดตั้งอยู่บนดาวเทียมสำรวจโลก (Earth Observation Satellite) เช่น ดาวเทียม NOAA12 และ NOAA18 ใช้ระบบ AVHRR (Advance Very High Resolution Radiometer) ในการตรวจหา Hotspots พูดง่ายๆก็คือ จุดที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลก ซึ่งส่วนมากก็คือความร้อนจากไฟ จุดความร้อนที่ได้จากเซนเซอร์ MODIS และ VIIRS ต่างกันที่ขนาดจุดภาพ (Pixel) โดยเซนเซอร์ MODIS มีขนาดจุดภาพ 1 กิโลเมตร เท่ากับว่าครอบคลุมพื้นที่ 1x1 กิโลเมตร หรือ 1,000 x 1,000 เมตรบนพื้นโลกจริง ส่วนเซนเซอร์ MODIS มีขนาดจุดภาพ 375 เมตร ก็เท่ากับว่าครอบคลุมพื้นที่ 375 x 375 เมตรบนพื้นโลกจริง ที่สามารถตรวจสอบพื้นที่เผาไหม้ที่เกิดไฟป่า (burnt scar) หรือ พื้นที่เผาไหม้ที่เกิดไฟป่า (burnt scar) หรือ พื้นที่เผาไหม้ (Fire Burn Scar) จากข้อมูลภาพดาวเทียมได้

ดู คู่มือการใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศ เพื่อติดตามไฟป่าและหมอกควัน, โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, พิมพ์ครั้งที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558, https://www.gistda.or.th/article_attach/fire_manual_final_indd_2-20150210.pdf & จุดความร้อน (Hot Spot) คืออะไร, สยามรัฐออนไลน์, 14 มีนาคม 2566,14:22 น., htps://siamrath.co.th/n/430472 & แดงค่อนประเทศ PM 2.5 Comeback อากาศเป็นพิษที่จัดการไม่ได้, โดย Kanyapat Limprasert, thecitizen.plus, 4 กุมภาพันธ์ 2567, https://thecitizen.plus/node/71535

[6]ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) คือความตกลงทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ลงนามในปี ค.ศ.2002 ระหว่างชาติสมาชิกในกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการลดมลหมอกพิษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความตกลงเป็นปฏิกิริยาตอบโต้วิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในคริสต์ทศวรรษ 1990 ที่ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการถางป่าโดยการเผาในเกาะสุมาตราในอินโดนีเชีย ภาพจากดาวเทียมแสดงให้เห็นจุดต่างๆ ทั่วบอร์เนียว, สุมาตรา, คาบสมุทรมาลายู และอื่นๆ ที่มีผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงต่อมาเลเซีย, สิงคโปร์ และบ้างในประเทศไทย และ บรูไน สำหรับสุมาตรา ลมมรสุมพัดควันไปทางตะวันออกที่ทำให้สร้างความกระทบกระเทือนภายนอกประเทศต่อชาติอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มลหมอกหนาปกคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่หลายอาทิตย์ และมีผลต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศดังกล่าว ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2007 แปดชาติให้สัตยาบันในความตกลง, อ้างจาก วิกิพีเดีย สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567

[7]สถานการณ์โลก, เข้าใจอาเซียน ตอน: ลักษณะวิถีอาเซียน, โดยชาญชัย คุ้มปัญญา, 28 มกราคม 2556, http://www.chanchaivision.com/2013/01/blog-post_28.html

[8]ข้อมูลอ้างอิงจากวิกิพีเดีย

[9]ไฟป่าอินโดนีเซีย กับปัญหามลพิษข้ามพรมแดน, โดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์, สิ่งแวดล้อม ต่างประเทศ, ในมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร, 24 กันยายน 2562, https://www.seub.or.th/bloging/news/global-news/ไฟป่าที่อินโดนีเซีย-กับ/ 

[10]อ้างแล้ว 

[11]มลพิษหมอกควันข้ามแดน, โดย ศิริชนก วิริยเกื้อกูล, สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ใน วารสารจุลนิติ 2559, https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=36607

หมายเลขบันทึก: 717540เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2024 17:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2024 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท