ดับทุกข์ด้วย อปัสเสนธรรม


ปุจฉา : การมีทุกข์เพราะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คิดวนไปมาแบบหยุดไม่ได้ ทำอย่างไรจึงจะหยุดคิด ดับทุกข์ได้

วิสัชนา : หลัก อปัสเสนธรรม ธรรมดุจพนักอิง คือพออิงแล้วอยู่สบาย มักใช้ในการละคลายกิเลสสำหรับพระ โดยหลักนั้นมีใจความว่า

-พิจารณาแล้วเสพ

-พิจารณาแล้วข่ม

-พืจารณาแล้วเว้น

-พิจารณาแล้วบรรเทา

อันที่จริง ฆราวาสก็ใช้ได้นะคะ แถมนำมาใช้ได้กับทุกสถานการณ์ด้วย 

พิจารณาแล้วเสพ (เสพ แปลว่าคุ้นเคย) คือมองให้เห็นโทษหรือผลอันเป็นโทษของการทำความคุ้นเคยกับการคิดในแนวทางเดิมๆ เห็นผลเสียที่เกิดกับตัวเอง เช่น ทำให้เสียสุขภาพจิต เพิ่มโอกาสการเกิดภาวะซึมเศร้า   ทำให้เกิดโรคทางกายที่มาจากอาการทางใจ เช่น กระเพาะ แผลในปาก ทำให้ขาดการดูแลตัวเอง ทำให้ครอบครัวห่วงใย ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานแย่ลง ฯลฯ

พิจารณาให้เห็นข้อดีของการเปลี่ยนแนวทางการคิดใหม่ ข้อดีของการที่จะออกจากความทุกข์นั้นได้ 

เมื่อเห็นข้อเสียนั้นแล้ว จึงตั้งใจหันมาทำความคุ้นเคยกับการคิดในแนวทางใหม่แทนการคุ้นเคยกับแนวทางเดิม

พิจารณาแล้วข่ม การที่เรามีเรื่องกวนใจและคุ้นเคยกับการคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆในแนวทางใดแนวทางหนึ่งจนคุ้น การจะไม่คิดตามความคุ้นเคยเดิมนั้นยากมาก ดังนั้น เมื่อใจอยากจะหวนไปคิดในแนวทางเดิม ก็ต้องข่มไว้ อย่าปล่อยใจให้ไหลคิดไปตาม เพราะยิ่งคิด ก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งออกจากความคุ้นเคยเดิมๆไม่ได้

พิจารณาแล้วเว้น เช่น เว้นจากการเสวนากับคนที่มีความคิดไปในทางชักชวนให้คิดแค้นหรือคิดหาทางโต้กลับ เว้นจากการฟังเพลงหรือละคร หรือการแสดงความเห็นของผู้คนในเรื่องที่คล้ายๆกับเรื่องของตน จนย้อมใจให้เพิ่มทุกข์ จนข่มใจในการไม่คิดตามไม่ได้ จนไหลกลับไปจมในความทุกข์เหมือนเดิม

พิจารณาแล้วบรรเทา คือพยายามหาเหตุผลเพื่อน้อมลงสู่ความดับของความทุกข์ใจ น้อมสู่การสำรวจตัวเอง การเมตตาตนด้วยการฝึกเพื่อพบกับความสุข การเข้าใจธรรมชาติของโลก ธรรมชาติของความเป็นสภาพเกิดดับ การไม่สามารถทนอยู่ในความเป็นไปเดิมๆได้ ต้องมีอันแปรปรวนไป ความเป็นสภาพที่เกิดจากหลายปัจจัยประกอบเข้าด้วยกันแล้วเกิดขึ้น ฯลฯ

เพื่อจะสามารถเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจเขา เข้าใจตัวเรา อันทำให้สามารถอภัยให้ผู้อื่นได้ หรือ เห็นข้อผิดพลาดของตนเองอันนำไปสู่การหาทางปรับปรุงแก้ไขได้ 

เพราะทุกอย่างเกิดจากหลายปัจจัย ตัวเราเองก็มักเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดเรื่องราว

เมื่อค่อยๆเข้าใจ ทุกข์ก็น้อยลงเรื่อยๆ 

เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ก็หมดทุกข์ เพราะทุกข์ดับได้ด้วยกระบวนการดับ จากการพิจารณาจนเข้าใจ เมื่อเข้าใจก็ปล่อยวางได้ 

ไม่ใช่เกิดจากการคิดว่าวางได้ แต่อย่างใด

หมายเลขบันทึก: 717427เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2024 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2024 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท