ชีวิตที่พอเพียง  4663. PMAC 2024  3. ระเบียบการค้าโลก


 

Subtheme 2 : Gopolitical Puppeteers : Identifying the Roles of Hidden Actors Shaping the Commercial Determinants of Global Health   คำหลักในหัวข้อย่อยที่ ๒ นี้คือ CDoH – Commercial Determinants of Health    หรือพฤติกรรมด้านการค้าที่ส่งผลต่อสุขภาพ   

จะมีการอภิปรายเรื่องสินค้าที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ ได้แก่ (๑) อาหาร เครื่องดื่ม และการเกษตร  (๒) อุตสาหกรรมพลังงาน  (๓) เทคโนโลยีใหม่  (๔) อุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์   

Plenary 2 ให้รายละเอียดมากขึ้น  ในส่วนที่ภาคธุรกิจทำตัวเป็นผู้ร้ายต่อสุขภาวะของผู้คน โดยหวังผลกำไรทางธุรกิจของตนแต่ถ่ายเดียว   โดยทำอย่างจงใจหรือตั้งใจ  โดยในเอกสาร Plenary 2 เริ่มด้วยนิยามของคำว่า commercial determinants of health (CDoH) ที่อ่านเอาเองนะครับ     

ผมตีความว่าหัวข้อย่อยที่ ๒ นี้ มุ่งทำความเข้าใจด้านลบของภาคธุรกิจ   และมุ่งหาทางลดปัจจัยลบเหล่านั้น ด้วยกลไกด้านธรรมาภิบาลโลก     

ข้างบนนั้นเขียนก่อนการประชุม    ในวิทยากร ๖ คนของ Plenary 2    มีคนไทยถึง ๒ คนคือ คุณบังอร ฤทธิภักดี นักรณรงค์ต่อต้านบุหรี่   กับคุณพิพิธ เอนกนิธิ president ของ K Bank

วิทยากรที่พูดเป็นคนแรก คล้ายๆ เป็นผู้กล่าวนำ คือ Lawrence O. Gostin ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายเพื่อสุขภาพประเทศและโลก มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ สหรัฐอเมริกา    พูดทางออนไลน์ โดยไม่มี PowerPoint ประกอบ ว่าคนเราบริโภคเพื่อประโยชน์ในชีวิต    แต่สินค้าหลายอย่างมีโทษต่อสุขภาพ    เรื่องบุหรี่โทษชัด  แต่สินค้าอีกหลายอย่างมีโทษแต่ไม่ชัด เช่นพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แอลกอฮอล์  อาหาร เทคโนโลยี (นำสู่ข่าวสารลวง) เป็นต้น   สินค้าเหล่านี้จึงต้องการข้อกำหนด (regulation) ๒ ทาง คือ (๑) ผู้บริโภคกำหนดให้แก่ตนเองว่าสินค้าใดมีโทษต่อสุขภาพ และหลีกเลี่ยง  ซึ่งได้ผลน้อย จึงต้องมี (๒) ข้อกำหนดของประเทศ หรือของโลก (นานาชาติ)  เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในชีวิตให้ผู้คนมีสุขภาพดี   

ตามด้วยคุณบังอร ฤทธิภักดี  ผู้อำนวยการ Global Center for Good Governance in Tobacco Control ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพ   เล่าว่า เมื่อ ๔๐ ปีก่อน คนที่เดินทางทางเครื่องบินมาเมืองไทย จะพบป้ายต้อนรับเมื่อนั่งรถเข้าเมืองว่า Welcome to the Marlboro Country  ซึ่งปัจจุบันทำไม่ได้   เพราะมีกติกาห้าม อยู่ใน Framework Convention on Tobacco Control (FCTC)   UNDP Engagement Policy to Industry   แต่อุตสาหกรรมบุหรี่ก็หาทางเล็ดลอดไปส่งเสริมการสูบบุหรี่ในเยาวชน    การต่อสู้ของฝ่ายกำกับดูแลและภาคประชาสังคม เน้นใช้ข้อมูลหลักฐาน  และการป้องกันไม่ให้ภาครัฐถูกล็อบบี้ 

ต่อด้วย Dan Smith, Director, Stockholm International Peace Research Institute   พูดทางออนไลน์  ชี้ให้เห็นว่า เราต้องไม่หลงอยู่ใน comfort zone ในขณะที่หลายพื้นที่ในโลกตกอยู่ในภาวะสงคราม   ซึ่งก่อผลกระทบไปทั่วโลกในด้านความมั่นคง ทั้งระดับประเทศและระดับบุคคล   โดนเราต้องคิดแบบเชื่อมโยง แบบมีข้อมูลหลักฐาน   ท่านบอกว่าเมื่อเราสื่อสารอย่างมีเจตนาดี และมีข้อมูลหลักฐานน่าเชื่อถือในระยะยาว จะเกิด Moral Capital  เมื่อพูดหรือสื่อสาร คนจะเชื่อ   

คุณพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย มาด้วยหัวข้อว่า From Silk Road to Sick Road   มี PowerPoint ประกอบ ถมยังสวยงามทันสมัย   เพื่อชี้ธรรมชาติของธุรกิจว่าเป็นเหรียญสองหน้า (ผมพูดเอง) มีทั้งหน้าที่เป็นคุณ และหน้าที่เป็นโทษ โดยเฉพาะโทษต่อสุขภาพ ซ่อนอยู่    จึงต้องการ New Economic Model เพื่อเพิ่มด้านที่เป็นคุณ ลดด้านที่เป็นโทษ ของธุรกิจ   แม้ว่าธนาคารจะเป็นสถาบันที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนด   แต่ก็ต้องไม่รอข้อกำหนดที่ชัดเจน   เมื่อมีกติกา (Framework) หรือข้อมูลหลักฐาน ก็นำมาริเริ่มเปลี่ยนหลักการทำธุรกิจของตนได้  

ฟังคุณพิพิธแล้ว ผมหวังในใจว่า ธนาคารกสิกรไทยอาจเข้าร่วมมือกับมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในการ transform กติกาของธุรกิจไทย เพื่อพัฒนาระบบ CIoH – Commercial Initiatives of Health ให้แก่โลก   

วิทยากรคนสุดท้ายคือ Nason Maani, Lecturer on Inequities and Global Health Policy, University of Edinburgh ผู้มีเครางาม    กล่าวหลักการเชิงวิชาการว่า CDoH เกิดจากความไม่สมดุลทางอำนาจ (Power imbalance)   โดยต้องแยกวิธีดำเนินการออกเป็น ๒ กลุ่ม คือบุหรี่กลุ่มหนึ่ง   สินค้าอื่นอยู่ในอีกกลุ่มหนึ่ง   หาทางเชื่อม Knowledge – Action Gap    โดยเน้น Synthesize evidences    และสร้าง Community of Research and Practice          

หลังจากนั้น มี 4 PS – Parallel Session  ได้แก่

PS 2.1 How Geopolitics of Commercial Determinants of Health Can Influence the Impacts of Food, Beverages and Agriculture Industry on Health 

PS 2.2 Road to Net Zero Emission - The Geopolitics of Energy Transitions and Health Nexus

PS 2.3: How Geopolitics of CDoH Can Influence the Impacts of the ‘New’ Technologies on Health

PS 2.4: Geopolitics, Arms Race and Humanity

 

ผมเลือกเข้าฟัง PS 2.1 How Geopolitics of Commercial Determinants of Health Can Influence the Impacts of Food, Beverages and Agriculture Industry on Health   ที่มีคุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ร่วมอยู่ใน panelist ด้วย    ผมจ้องไปฟังว่า ผู้พูดมีท่าที (mindset) เชิงสร้างสรรค์ หรือ positive mindset อย่างไรบ้าง     ผมอยากให้ประเทศไทยมีกลไกเชิงบวกหรือเชิงสร้างสรรค์ในเรื่องนี้   ในลักษณะของการใช้ข้อมูลหลักฐานยืนยัน    เอามาสานเสวนากันเพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และเปิดเผย    ผมอยากให้ใช้ DE – Developmental Evaluation – การประเมินเชิงพูนพลังเพื่อการพัฒนา    

PS 2.1 มี Nason Maani เป็นผู้บรรยายนำแบบนักวิชาการ    เริ่มด้วยการนิยาม health, Social Determinants of Health, Commercial Determinants of Health   ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์เราต้องการมีชีวิตที่มีสุขภาวะ  แต่ในความ เป็นจริง เราตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทั้งเอื้อ และขัดขวาง (อย่างลับๆ ไม่รู้ตัว) ต่อการมีสุขภาวะ   มี Evidence of Harm มากมาย    จึงต้องมีกติกา และมาตรการ เพื่อป้องกัน CDoH  

ตามด้วยนักปฏิบัติมาเล่าตัวอย่างการดำเนินการ เริ่มจากเม็กซิโก   Dr. Simon Barquera, Director, Nutrition and Health Research Center, National Institute of Public Health, Mexico เล่าเรื่องการป้องกันโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในเม็กซิโก  ที่มีการต่อสู้แบบที่ยังไม่รู้แพ้รู้ชนะ    สถาบันวิจัยและภาคีพันธมิตรได้พัฒนาข้อมูลหลักฐาน และการสื่อสารสาธารณะ ที่นำสู่การออกข้อบังคับให้อาหารขยะบรรจุสำเร็จ ต้องมีป้ายเตือนอันตรายต่อสุขภาพ    แต่ฝ่ายธุรกิจอาหารขยะก็สู้กลับอย่างไม่ลดละ   มีสไลด์ที่แสดงข้อมูลมาตรการต่อสู้กับธุรกิจการค้าที่เป็นภัยต่อสุขภาพ ในประเทศละตินอเมริกาที่น่าสนใจมาก   ดังในรูป 

อีกตัวอย่างมาจากไทยเอง โดยคุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล, FTA Watch Thailand  เล่าเรื่องที่หน่วยงานวิชาการ และ NGO เตรียมตั้งรับนโยบาย Bilateral FTA ของรัฐบาลทักษิณในปี ๒๕๔๖   ที่มีผลให้กระเทียมราคาถูกทะลักจากจีน ทำลายอาชีพของเกษตรกรปลูกกระเทียมไทยในภาคเหนือ    การควบคุมอาหารทอดด้วยน้ำมันที่ใช้แล้วใช้อีก (เช่นปาท่องโก๋) มีหลักฐานว่ามีสารก่อมะเร็ง   การรณรงค์ไม่เข้า CPTPP เพื่อไม่ถูกอันตรายจากสารเร่งเนื้อแดง และผลิตภัณฑ์ จีเอ็มโอ    การต่อต้านอาหารทะเลที่ส่งออกจากญี่ปุ่นหลังโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมาระเบิด ในปี ๒๕๕๔      

Purnima Menon, International Food Policy Research Institute, India  พูดเรื่อง Connecting the Dots : Food Systems and Nutrition at the intersection of geopolitics and commercial determinants of health   ด้วยที่ทีของนักวิชาการเกี่ยวกับระบบอาหาร    เริ่มด้วยการส่งเสริมนมแม่  ลดการใช้นมวัว    ที่อุตสาหกรรมนมสู้กลับด้วยสารพัดกโลบาย     ตามด้วยการชี้ให้เห็นว่า โลกต้องการการเปลี่ยนขาด (transformation) ระบบอาหาร เพื่อโลกที่มีสุขภาวะ   

สรุปภาพใหญ่ได้ว่า   ระบบการค้าในโลกนี้ ต้องมีการเปลี่ยนขาด เพื่อลดส่วนที่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพ   และมีส่วนสร้างเสริมสุขภาพ   คือเราต้องช่วยกันหนุนให้ระบบการค้าเปลี่ยนโฉมจากการเป็นผู้ร้ายในด้านสุขภาพ    ให้กลายเป็นพระเอกนางเอก         

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ม.ค. ๖๗ 

 

หมายเลขบันทึก: 717365เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2024 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2024 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท