โครงการธนาคารขยะชุมชน (Recyclable Waste Bank) ตอน 4 : หวังผลการลด/กำจัดขยะจากต้นทาง


โครงการธนาคารขยะชุมชน (Recyclable Waste Bank) ตอน 4 : หวังผลการลด/กำจัดขยะจากต้นทาง

9 กุมภาพันธ์ 2567

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

มีเสียงเจ้าหน้าที่บอกว่า เรื่องขยะจะแก้ยังไงก็เยอะอยู่ดี เพราะคนทุกวันต้องผลิตขยะอยู่ดี ตามสูตรคำนวณที่อัตรา 0.8 กก.ต่อคน/วัน หรือในเขตเมืองที่ 1 กก.ต่อคน/วัน ยิ่งมีคนมากขยะยิ่งมากตาม แถมโลกโซเซียลไฮเทคยังมีขยะแปลกๆ ขยะพิษ ขยะที่ย่อยสลายยาก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะอันตรายตามมา ยิ่งพลาสติกยิ่งมีมากขึ้นจนต้องรณรงค์การใช้ถุงพลาสติก นอกจากนี้ยังมีขยะอื่นที่ไม่นับรวมเทศกาลลอยกระทงอีกมากมาย ซึ่งตามสถิติของกรมควบคุมมลพิษพบว่า คนผลิดขยะมากกว่าสูตรประมาณการที่คิดคำนวณไว้ เช่น ปี 2559 คนละ 1.14 กก./วัน ปี 2563 คนละ 1.05 กก./วัน ปี 2564 คนละ 1.03 กก./วัน ที่น่าตกใจก็คือพบว่า ปี 2565 คนกรุงเทพสร้างขยะถึงวันละ 2-3 กก./วัน เป็นต้น [2]

นอกจากนี้ แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ.2559-2564 (มติ ครม.3 พฤษภาคม 2559) โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้สิ้นสุดลงแล้ว ต้องมาดูแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2565-2570) [3] กำหนดเป้าหมายไว้ ดังนี้ (1) ขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ร้อยละ 80 โดยจะเพิ่มการคัดแยกขยะจากบ้านเรือนและนำกลับไปรีไซเคิลร้อยละ 36 การกำจัดขยะจะมุ่งเน้นการการเผาสู่พลังงาน เพื่อลดการเทกองและการเผาขยะอย่างไม่ถูกต้อง (2) เพิ่มปริมาณการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์หรือรีไซเคิล ทั้งขยะพลาสติกและขยะบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษ แก้ว อะลูมิเนียม ตั้งแต่ร้อยละ 74-100 (3) ลดปริมาณขยะอาหารเหลือร้อยละ 28 เพื่อลดปัญหากลิ่นเหม็นที่กองขยะและลดก๊าซเรือนกระจก (4) ของเสียอันตรายชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้องอย่างน้อยร้อยละ 50 (5) มูลฝอยติดเชื้อและกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายต้องจัดการอย่างถูกต้องร้อยละ 100 

 

Kick-Off ชัดๆ จาก Timeline 

สรุปการขับเคลื่อนธนาคารขยะ จากถ้อยแถลงของปลัด ของ มท.เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 [4] อปท. 7,773 (ไม่รวม อบจ./กทม.) แห่งทั่วประเทศ ตั้งเป้า 60 วัน ทุก อปท. ต้องมีธนาคารขยะอย่างน้อย 1 แห่ง ที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็นเลิศ (Best Practice) ได้แก่ อบต.โก่งธนู จังหวัดลพบุรี อบต.ผาสามยอด จังหวัดเลย อบต.หัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และ ทต.หนองล่อง จังหวัดลำพูน โดยมีศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ถอดบทเรียนตั้งแต่วันที่ 5 - 17 ตุลาคม 2566 ที่ถือเป็น “นวัตกรรมท้องถิ่น” (Local Innovation) [5] ที่สำคัญอย่างหนึ่ง โดย “จัดทำแผนงานและแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารขยะ” (Recyclable Waste Bank) ตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยภายใต้หลักการ 3ช (3Rs) คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) การคัดแยกขยะเป็นการรณรงค์ “กำจัดขยะจากต้นทาง” ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะและคัดแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลหรือไปขาย เพื่อให้มีรายได้สู่ชุมชน และพัฒนาสู่การจัดตั้งธนาคารขยะ อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนและนำรายได้ไปจัดสวัสดิการสังคมในรูปแบบต่างๆ โดยให้อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ทุกครัวเรือน เข้าร่วมเป็นสมาชิกธนาคารขยะของชุมชน/หมู่บ้านด้วย ตามระยะเวลาการการติดตามและรายงานผลการขับเคลื่อนโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) 3 ระยะ คือ 1) ภายในวันที่ 22 มกราคม 2567 เตรียมพร้อมฐานข้อมูลขยะมูลฝอยระดับครัวเรือน 2) ภายในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 จัดตั้งคณะทำงานฝ่ายต่างๆ ในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน 3) ภายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นวันแห่งการขับเคลื่อนโครงการฯ ที่จะมีการเริ่มเปิดรับสมาชิกธนาคารขยะชุมชน/หมู่บ้าน ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 สรุปได้ว่า สิ้นสุดคิกอ๊อฟระยะที่ 2 โครงการธนาคารขยะ อปท.ต้องมีข้อมูลพร้อม และจัดตั้งคณะทำงาน/กรรมการเสร็จเรียบร้อยแล้ว พอได้เค้าว่าจะลด/กำจัดขยะที่ต้นทางได้อย่างไร

 

ยังมีคำถามข้อสงสัยต่างๆ ตามมา

เช่นว่า อปท.สามารถตั้งงบประมาณอุดหนุนให้กลุ่มธนาคารขยะของชุมชน ตามระเบียบเงินอุดหนุนได้หรือไม่ ซึ่งระบุว่าหน่วยขอรับงบดำเนินการสาธารณะมาแล้ว 1 ปี มีโครงการในแผน เมื่อ อปท.จะทำธนาคารขยะก็ต้องเขียนโครงการรับรองโดยระบุกิจกรรม ค่าใช้จ่ายไว้ ด้วยเงื่อนไขนี้จึงทำให้การอุดหนุนงบประมาณกลุ่มดังกล่าวคงต้องเป็นปีต่อไป หรือ รอเพิ่มแผนพัฒนาเหมือนเช่น “โครงการถังขยะเปียก (100%) ในครัวเรือนเพื่อลดโลกร้อน” (36 ล้านครัวเรือนปี 2565) [6] หรือโครงการคาร์บอนเครดิตของ อปท. ยกเว้นกลุ่มองค์กรที่จัดตั้งมาก่อนหน้านี้แล้ว เพราะการที่จะอุดหนุนได้หมู่บ้านชุมชนต้องเสนอโครงการมา อปท.เพื่อตั้งงบประมาณ และนโยบายโครงการนี้มาในเดือนธันวาคม 2566 [7] ที่พ้นระยะเวลาการจัดทำแผนพัฒนามาแล้ว จึงมีปัญหาในเรื่องเงินทุนหมุนเวียนในระยะตั้งต้นนี้ในการดำเนินการ เพราะยังไม่มีงบประมาณ ไม่มีเครื่องชั่งขยะ หรือจะต้องไปอ้างอิงใช้ระเบียบใดมาบริหารจัดการ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามสำหรับ อปท.การดำเนินการโครงการแบบไร้ทุนอุดหนุนเช่นนี้มีบ่อยครั้ง เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและผู้บริหารท้องถิ่นต้องหาทางแก้ไขปัญหาเอง เทคนิคการแยกขยะเองขายเองบาง อปท.ได้ทดลองทำแล้ว ลำพังก็เข้าใจแล้วว่า การแยกขยะเพื่อลดปริมาณขยะแล้ว คราวนี้ก็ต้องบังคับให้จัดตั้งธนาคารขยะด้วยอย่างน้อย อปท.ละ 1 แห่ง แต่ปัญหามีว่าบาง อปท.อาจมีธนาคารขยะอยู่แล้วหลายธนาคารก็ได้ แต่มีขนาดเล็กๆ ตามอัตภาพ แบบชาวบ้าน หรือหน่วยงาน โรงเรียน ศูนย์เด็ก วัด มัสยิด รวมเอกชน บริษัทในพื้นที่เขาดำเนินการด้วยตัวเองแล้ว เพียงแต่ อปท.ไปตามเก็บข้อมูล จะต้องบูรณาการธนาคารขยะกันใหม่หรือไม่ อย่างไร สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือสิ่งแวดล้อมที่เพิ่งเข้ามาปฏิบัติงานใหม่ หรือเพิ่งรับโอนมาจากหน่วยงานอื่น อาจไม่คุ้นชินกับการบริหารงานภายใต้ภาวะจำกัดเช่นนี้ เพราะยังไม่ถนัดระเบียบท้องถิ่นหรืออื่นใด 

ตามตัวอย่างคำสั่งที่ สถ.ให้มา จะเป็นธนาคารขยะรายหมู่บ้าน ให้ตั้งคณะกรรมการบริหาร คณะทำงาน คณะกรรมการหมู่บ้าน สรุปคือบังคับให้ทำทุกหมู่บ้านหรือ จึงขัดกับที่บาง อปท.ทำอยู่ เช่น อาจมีรวมกัน 9 หมู่บ้านเป็นธนาคารขยะเดียวในเรื่องการดูแลบัญชี แต่กรรมการซื้อขายจะมีทุกหมู่บ้าน เข้าใจว่า น่าจะเป็นแบบนี้แทบทุก อปท. มีข้อสังเกตว่า การคิกอ๊อฟเร่งทำงานภายในเวลาที่กำหนดเท่านั้นเท่านี้วัน โดยมองว่าทำตามสเต็ปง่ายมาก ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ง่ายนัก เพราะเป็นนโยบาย top down แบบ “เสื้อโหล” (One size fits all) [8] ให้ทำเหมือนกันหมดทุก อปท.ทุกแห่ง มิใช่มาบังคับให้ทุกพื้นที่ทำเหมือนกัน ลองยกตัวอย่าง บนดอยไม่มีปัญหาผักตบชวาก็สั่งทำผักตบชวา หรือบางพื้นที่เลี้ยงปลาต้องไปเหมาเศษอาหารจากโรงงานมาเลี้ยงปลา หรือสั่งทำถังขยะเปียกทุกครัวเรือน เมื่อส่วนกลางบังคับมา อปท.ก็ต้องทำส่งไป มันก็จะไม่ดี ลืมไปว่า อปท.แต่ละถิ่นแต่ละพื้นที่นั้นมีบริบทที่แตกต่างกันไป มากน้อยแล้วแต่ถิ่นพื้นที่ ไม่ดูเลยว่าบริบทแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ควรปรับแก้กันแบบไหนดี เพราะมันทำได้ทุกแบบ กรณีที่ไม่เข้าบริบทกับท้องถิ่น ก็ปรับให้เข้ากับบริบทท้องถิ่นนั้นเสียเลย ตัวอย่าง การศึกษาดูงาน อบต.เล็กๆ งบน้อยไปดูงาน เทศบาลนคร มาก็ใช่จะทำได้เพราะบริบท อปท.มันแตกต่างกันมาก ลองดูแต่คงไม่ยึดแนวทางของ มท. 100% ทำตามบริบทของ อปท. ปัญหาในการกำจัดขยะบริบทของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน กรมฯ ก็สั่งมาตลอดแต่ท้องถิ่นอาจทำได้หรืออาจทำไม่ได้ แล้วมาเร่งรัดให้จังหวัดแจ้งให้ท้องถิ่นดำเนินการให้ครบ 100% การร้อนรนในการทำงานส่งผลต่อการรายงานที่ไม่หวังผลในความน่าเชื่อถือของข้อมูล “เมคดำน้ำข้อมูลคือหนทาง” ให้ได้ยอด 100% ตามที่จังหวัดหรือคนต้องการ ส่วนกลางชอบสั่งทำแบบนี้ ทำให้ท้องถิ่นไม่อยากทำ เพราะดูแนวทางไม่ได้จริงใจ ถ้าตั้งใจค่อยๆ สอนค่อยแนะนำ และเอาตัวอย่างที่สำเร็จ หรือแนวทางต่างๆ ให้ท้องถิ่นได้มาคิดมาปรับใช้ด้วยท้องถิ่นเอง น่าจะมีคนตั้งใจทำด้วยใจดีกว่า 

 

จำนวนกองทุน เอาเท่าไหร่แน่

โครงการธนาคารขยะเป้าหมายให้มีใน อปท.อย่างน้อย 1 กองทุน แต่ครอบคลุมพื้นที่ได้มากที่สุดจะไม่ดีกว่าหรือ เพราะหากทำโครงการธนาคารขยะแบบรวม มีข้อดีคือ จะมีคนมาช่วยงานเยอะขึ้น แต่ข้อเสียก็คือ 1) หากเมื่อใด สถ.ให้ขยายกองทุนให้มีทุกหมู่บ้าน กองทุนนี้จะยุบแบบใด ยุบไปไหน เพราะต้องมีเงินกองทุนและสินทรัพย์เดิมเหลืออยู่จะไปไหน 2) ชาวบ้านคนนอกพื้นที่ตั้งธนาคารขยะ เขาไม่น่าจะหอบหิ้วขยะไปขาย หากเขาต้องเดินทางไกลๆ หากทำโครงการแบบหมู่บ้านใด หมู่บ้านหนึ่งเป็นรายหมู่บ้านไปน่าจะง่ายในการจัดการ และการเข้าถึงของสมาชิกในการซื้อขาย เพียงแต่จะเป็นธนาคารขยะขนาดเล็ก ซึ่งหากเป็นหมู่บ้านชุมชนที่เล็กๆ ก็จะมีปริมาณน้อย กองทุนอาจไม่ขยายพัฒนา และยิ่งหมู่บ้านชุมชนที่เป็นสังคมเมือง ชาวบ้านเขาไม่สนใจการคัดแยกขยะและธนาคารขยะเลย

คน อปท.ต่างวิตกว่า การส่งเสริมรณรงค์โครงการที่มิใช่ปัญหาความเดือดร้อนปากท้องของชาวบ้านโดยตรงมักจะขาดความร่วมมือจากชาวบ้าน เช่นโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน นี่ยังมีโครงการธนาคารขยะตามมาอีก แม้ว่า อปท.จะมีโครงการคัดแยกขยะที่ดีอยู่แล้วเพียงใดก็ตาม โดย สถ. (2565) ชี้แจงแทน มท.ว่า [9] “การมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้ชีวิตของชาวบ้านเองจะไม่มีทางเป็นไปได้ หากวันนี้เราไม่ทำทันที” ตามตรรกะที่ว่า “สิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของคน หรือว่าคนเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม” เพราะวิกฤตหนึ่งที่สำคัญของท้องถิ่น ก็คือเรื่องการบริหารงานบุคคลที่ขาดแคลน ขาดเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเฉพาะทาง เช่นไม่เปิดสอบตำแหน่งนักวิชาการสุขาภิบาลที่ว่างนับร้อยที่ไม่มีคนทำงาน เพราะทุกวันนี้ท้องถิ่นทำงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมมากกว่างานสาธารณสุข งานเลยโหลดมาที่นักวิชาการสาธารณสุข หรือขาดสายงานผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่เป็นไปตามกรอบโครงสร้างของ อปท.แต่ละประเภทที่มีอยู่จริง อปท.หลายแห่ง เช่น อบต. และ อปท.ขนาดเล็กขาดเจ้าหน้าเป็นจำนวนมากทั้งสายงานผู้ปฏิบัติและสายผู้บริหาร แม้ว่าจะมีการจ้างพนักงานจ้างหรือพนักงานจ้างเหมาบริการจำนวนมาก เพื่อการแก้ไขปัญหาบุคคลากรก็ตาม แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะเป็นการบริหารงานที่ไม่มีหัวหน้า ซึ่ง อปท.หลายแห่งกลับภาคภูมิใจที่สามารถบริหารงานโครงการนโยบายต่างสำเร็จลุล่วงลงด้วยดีมาตลอดไม่ติดขัด มาครั้งนี้โครงการธนาคารขยะ พวกก็หวังว่าจะสำเร็จด้วยดีเช่นกัน เป็นความหวัง และผลงานบนความวิกตกกังวลของเจ้าหน้าที่คนท้องถิ่นมาก

สรุปการจัดตั้งธนาคารขยะ ของ อปท. กำหนดไว้อย่างน้อย 1 แห่ง สงสัยว่าธนาคารขยะแต่ละหมู่บ้านที่มีอยู่แล้ว หรือจะจัดตั้งเพิ่มอีกในหมู่บ้าน พิจารณาว่าการตั้งรายหมู่บ้าน ให้หมู่บ้านดูแลเงินเอง บัญชีเอง จัดซื้อขายเองน่าจะยุ่งยากกว่า เพราะมีหลายๆ แห่ง แต่ก็น่าสมเจตนารมณ์ของโครงการตั้งธนาคารขยะนี้มากกว่า เพราะเจ้าหน้าที่จะไปดูแลเรื่องบัญชี ร่วมกับ ตัวแทนจากชุมชนหลายแห่ง แม้ว่าสมาชิกชาวบ้านจะเชื่อถือเจ้าหน้าที่มากกว่า ในเรื่องความโปร่งใสในการบริหารงบ เมื่อมีการจัดซื้อขายขยะทุกครั้งเจ้าหน้าที่ต้องมีเวลาไปช่วยดูหรือออกร่วมด้วยทุกครั้ง การบริหารโครงการธนาคารขยะก็จะอยู่รอดยั่งยืนต่อเนื่องได้ดีกว่า เพราะมีหลายแห่งโครงการธนาคารขยะมักจะล้มไปด้วยข้อครหาในเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณของกองทุน ด้วยชาวบ้านขาดความเชื่อถือในตัวชาวบ้านที่บริหารด้วยกันเอง หรือบริหารแล้วขาดทุน (เจ๊ง) ก็ล้มไป 

 

การกำจัดขยะด้วยวิธีการเผาในที่โล่งเป็นทางเลือกสุดท้าย

จากข่าวเมื่อ 8-9 ปีก่อน ปริมาณขยะนอกจากมีมากในเขต กทม. เขตเมืองและเขตอุตสาหกรรมแล้ว ในเขตปริมณฑลและเมืองใหญ่ที่มีเขตอุตสาหกรรมก็มีขยะมากเช่นกันคือ จังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี ปราจีนบุรี อยุธยา เป็นต้น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (2558) ประกาศว่า [10] จะทำ “เมืองต้นแบบกำจัดขยะ” นำร่องกำจัดขยะล้นเมือง ตั้งโรงไฟฟ้าบ่อขยะ 3 เฟส ผนึกร่วม กฟภ. ที่อำเภอบางบาล กำจัดขยะครบวงจรด้วยงบ มท.500 ล้าน 

มีข้อสังเกตว่าขยะนั้นมีทุกหนแห่งทั่วประเทศ วิธีจัดการขยะมีหลายวิธี หลายอย่าง อาทิเช่น การฝังกลบ ทำปุ๋ยหมัก เผา กองทิ้งบริเวณบ้าน ทิ้งลงถังขยะ ทิ้งลงแหล่งน้ำ เก็บไว้ใช้ประโยชน์ เก็บแยกไว้ขาย เป็นต้น หาก อปท.ใดจำเป็น ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว “การเผาขยะชุมชน” [11] เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด โดยเฉพาะ อปท.ขนาดเล็กที่ไม่มีระบบเก็บขนจัดการขยะที่ดี หรือ อปท.ที่อยู่ในท้องที่ห่างไกลก็ต้องเผา เพราะการคัดแยกก่อนนำขยะไปฝังกลบ ที่ต้องใช้แทรคเตอร์หรือเครื่องจักร และไม่ว่าการคัดแยกขยะด้วยมือหรือเครื่องจักรล้วนเป็นภาระค่าใช้จ่ายมากแก่ อปท.ทั้งสิ้น แน่นอนว่าการเผาต้องเกิดควัน เกิดความร้อนจากการเผาไหม้ ทำให้เกิดมลพิษและโลกร้อนขึ้น เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกไปอีก การเลือกวิธีการกำขัดขยะให้เหมาะสมกับพื้นที่ตนเองจึงจำเป็น เรื่องขยะในเมืองใหญ่ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะปริมาณเยอะ ที่ใดมีการพาณิชย์ค้าขายที่นั้นก็จะมีขยะเยอะ ปัจจุบัน (2566) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” [12] หรือ “กรมโลกร้อน” แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าชื่อกรมย่อมชี้ชัดว่ามุ่งเป้าหมายการจัดการขยะไปในทิศทางใด อปท.ต้องมีกิจกรรมที่พร้อมแล้วคือ [13] 1) การส่งเสริมการคัดแยกขยะชุมชน 2) การนำมาใช้ให้ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น มีเป้าหมายรีไซเคิล 30% 3) อปท.มีระบบสารสนเทศในการบริหารที่พร้อม ข้อมูลเป๊ะสามารถตรวจสอบอ้างอิงที่มาเชื่อถือได้ ข้อมูลต้องไม่มั่ว หรือตรวจสอบยันไม่ได้ 

 

ขั้นตอนการรายงานคิกอ๊อฟย้อนแย้งไหม

ในขั้นตอนรายงานแต่งตั้งคณะกรรมการธนาคารขยะแล้ว จึงค่อยรับสมัครสมาชิก ทำให้เกิดการงงว่า การเลือกคณะกรรมการบริหารธนาคารขยะมิใช่ต้องให้สมาชิกธนาคารเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกเองเหรอ น่าจะเป็นบทเฉพาะกาล เหมือนการตั้งสมาคมที่จะมีบุคคลก่อตั้งสมาคมก่อน โดยมีผู้จะเป็นสมาชิกของสมาคมจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คนร่วมกันยื่นคำขอจดทะเบียนตั้งสมาคม ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นว่าต้องรับสมาชิกก่อนแล้วจึงเลือกคณะกรรมการ และเมื่อได้คณะกรรมการแล้วจึงร่วมกันออกระเบียบข้อบังคับ อปท.ทุกแห่งถูกจี้ทุกแห่งให้เร่งรัดการดำเนินการและรายงานทั้งๆ ที่ยังไม่มีสมาชิกโครงการธนาคารขยะ หรืออาจจะมีเป้าหมายคนไว้ แต่ตัวโครงการที่จะดำเนินการตั้งเป็นกองทุนยังไม่มี แต่ให้เลือกคณะกรรมการไว้ก่อน ที่สำคัญที่ถูกเน้นย้ำก็คือ ให้เอาสมาชิก​ อถล. (อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก) ให้มาเป็นสมาชิกโดยอัตโนมัติ เน้นปริมาณ เน้นตัวเลข เป็นการตกแต่งตัวเลข ไม่เน้นเชิงคุณภาพ แต่เน้นภาพ(สร้างภาพ) ที่มิใช่คุณภาพ ต้องรายงานครบทุกหมู่บ้านเหมือนเช่นโครงการถังขยะเปียกทำให้ได้ตัวเลขรายงานที่ดีมาก ทำเอาเจ้าหน้าที่มั่วและงุนงง(สงสัย) ทั้ง Re X-ray ทั้งธนาคารขยะทั้งขยะเปียกทำเอาเจ้าหน้าที่สับสน เพราะเขาจะเอารีบเอาข้อมูลไปทำรางวัลอะไรสักอย่างเป็นแน่

มีคำถามว่า ถ้าบอกให้ชาวบ้านทำเขาก็รับฟัง แต่หากส่วนใหญ่ไม่ทำหรือไม่ร่วมมือ สุดท้าย อปท.ก็ต้องทำเอกสารส่งไปว่ามีข้อมูลมีผลงาน ส่วนจะล้มเหลวหรือยั่งยืนเป็นอีกเรื่อง คิกอ๊อฟเพียง 60 วัน โดยผู้กำกับดูแลมาสั่งการ จึงดูแปลก ถามว่า อปท.ใดตั้งธนาคารขยะแต่ให้เอกชนเป็นผู้รับซื้อขยะเอง เพราะจะให้เจ้าหน้าที่รัฐทำธุรกิจเสียเองมันลำบากด้วยทักษะความเชี่ยวชาญต่างจากเอกชน แถมยังไม่มีผลประโยชน์ในรูปตัวเงินใดๆ จากโครงการแบบนี้เลย ท้องถิ่นเป็นนิติบุคคล เป็นทบวงการเมืองมีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะ บริบทเเต่ละ อปท.ก็ต่างกัน บาง อปท.ทำมาดีแล้วตามรูปแบบที่เขาทำก็เป็นการดีอยู่แล้วก็เป็นรูปแบบเดียวกันนั่นแหละ เพียงแต่ต่างที่บริบทและข้อบังคับเล็กๆ น้อยๆ จึงเป็นไปได้ว่า บาง อปท.ไม่แก้เปลี่ยนตามตัวอย่างที่ สถ.ให้มา เปลี่ยนไปมา ชาวบ้านค้านมาจะยุ่งอีก อีกอย่างการตั้งธนาคารขยะในวัด ในรร. น่าจะไม่เกี่ยวกับโครงการขยะนี้โดยตรง เพราะจุดประ​สงค์นี้คือ​ให้ชุมชน/หมู่บ้านในการตั้งธนาคารขยะ ต่อให้มีคนปฏิเสธไม่เห็นด้วย ไม่ทำในวันนี้สุดท้าย อปท.ก็ต้องทำอยู่ดี สู้ลองทำเสียก่อนเมื่อ​ไม่ได้หรือมีอุปสรรคปัญหาอย่างไรค่อยสะท้อนปัญหากลับมาดูได้ ไม่เสียหายอะไร​ เพราะในตัวแบบรายงานมีการลงชื่อผู้รายงาน​ เมื่อมีหน่วยมาสอบทานว่าเป็นรายงานเท็จก็ชี้แจงได้

 

ตอนหน้าไปดูว่าโครงการธนาคารขยะนี้จะเป็น “ธุรกิจเพื่อชีวิตที่ดี” (Business For Life : BFL) [14]ได้ไหม


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unari-ne, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 17 กุมภาพันธ์ 2567, 00:30 น., https://siamrath.co.th/n/514968  

[2]ดูเพิ่มเติม คู่มือโครงการศึกษาจัดทำแผนงานและแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย โดย ศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รวม 150 หน้า, https://anyflip.com/qglqa/yamh/basic & คนไทยสร้างขยะวันละ 4 หมื่นตัน, ThaiHealth Official, 6 มีนาคม 2558, https://www.thaihealth.or.th/คนไทยสร้างขยะวันละ-4-หมื/ 

[3]แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2565-2570), กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, https://www.pcd.go.th/publication/28745 & เป้าหมายการจัดการขยะของประเทศไทยจากนี้สู่อนาคต, โดยสิทธิชัย มุ่งดี นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ, https://www.mnre.go.th/reo02/th/view/?file=oJM3MRkjoF5aAaDknGy4ZUNkoGy3AHjloGAaZaD4nGM4ZKN0oGO3ARjloGAaZaDjnGW4YKN2oGy3BHjkoGOaBKD1nGW4Z3NloGu3AxjkoGEaZUD0nGW4Z3NloGO3ZxjgoJIaoUEcnJM4Y3OyoJk3nHkzoF9aqKEcnGO4AKNkoF93MRkuoJ9aoUEjnKI4Yjweweb3Qweweb3Q&n=%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%95%20%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2&t=GTMgq2qxqS9cMUug

[4]มหาดไทย Kick-Off ขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ร่วมกับ อปท. 7,773 (ไม่รวม อบจ./กทม.) แห่งทั่วประเทศ ตั้งเป้า 60 วัน ทุก อปท. ต้องมีธนาคารขยะอย่างน้อย 1 แห่ง, ข่าวทำเนียบรัฐบาล, 3 มกราคม 2567, https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/76958 

[5]ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา (นับแต่ปี 2542 เป็นต้นมา) ท้องถิ่นได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับท้องถิ่นเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสม จนกระทั่งได้เกิด “นวัตกรรมท้องถิ่น” (Local Innovation) ขึ้นหลากหลาย โดยสถาบันประปกเกล้า มักชอบชูคำว่า “นวัตกรรมท้องถิ่น” อยู่เสมอ ทำให้คนท้องถิ่นเริ่มคุ้นกับศัพท์เทคนิคคำนี้ แต่ในลึกๆ คนท้องถิ่นหลายคนอาจไม่เข้าใจในความหมายก็ได้ เพราะ ที่ผ่านมามีการปะปนกันระหว่างคำว่า “ท้องถิ่น” กับ “ท้องที่” และราชการส่วนภูมิภาคเช่นในระดับอำเภอและจังหวัด เนื่องจากงานบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่เป็นภารกิจของท้องถิ่นยังมิได้รับการถ่ายโอนตามแผนการกระจายอำนาจ ตาม พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ลักษณะงานหลายอย่างจึงทับซ้อนกัน เช่น งานพัฒนาชุมชน งานพัฒนาท้องที่ งานการสำรวจข้อมูลในระดับท้องถิ่น รวมถึงการจัดสวัสดิการแก่บุคคลด้อยโอกาสต่างๆ เป็นต้น สรุป นวัตกรรม คือ “สิ่งที่เกิดจากการใช้ความรู้ในศาสตร์สาขาต่างๆอย่างบูรณาการ เพื่อประดิษฐ์สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจ”

ดู แนวคิด ทฤษฎี การจัดการนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา, โดย mrslaongtip, 4 กรกฎาคม 2556, https://mrslaongtip.wordpress.com/2013/07/04/นวัตกรรมคืออะไร-มีองค์ป/   

[6]มีการรณรงค์จัดตั้งอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) เพื่อให้ทุกครัวเรือนมีถังขยะเปียก 100% ภายในปี 2566 และตามแผนปฏิบัติการการจัดการขยะมูลฝอย “จังหวัดสะอาด”

ดู การดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประเทศไทย, หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  ด่วนที่สุด ที่ มท 0820.4/ว 4816 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566, https://www.dla.go.th/upload/document/type2/2566/11/30407_1_1700473134108.pdf?time=1700473644729& การขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามนโยบายการจัดการขยะและดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกระทรวงมหาดไทย, หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0820.2/ว 8722 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565, https://www.dla.go.th/upload/document/type2/2022/11/28419_1_1669113317282.pdf?time=1669781411168 

[7]หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0820.4/ว 12706 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2566 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, https://www.dla.go.th/upload/document/type2/2566/12/30615_1_1703742877281.pdf?time=1703779057229 & https://www.dla.go.th/upload/document/type2/2566/12/30615_2_1703742877343.pdf?time=1703766387657 

[8]คำว่าเสื้อโหลสำเร็จรูป (One size fits all) คำนี้สถาบันพระปกเกล้ามักพูดกล่าวย้ำในทุกๆ ครั้งที่มีการจัดสัมมนาท้องถิ่น ซึ่งแรกๆ อปท.ต่างชื่นชมในวาทะนี้ว่าดี กล่าวคือ ท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องทำงานการพัฒนา หรือมีนวัตกรรม (Innovation) ใดที่เหมือนๆ กัน หรือลอกเลียนกันทำ ท้องถิ่นต้องคิดสูตรสำเร็จในการทำงานของตนเองขึ้นมา จึงจะดีกว่า เพราะ ท้องถิ่นมีหลากหลายบริบทที่ไม่เหมือนกัน บาง อปท.มีขนาดเล็ก มีความเป็นเมือง เป็นชนบท เป็นป่า ภูเขา เกาะ หรืออยู่ห่างไกล ที่ไม่เหมือนกัน แต่ด้วยรูปแบบการกระจายอำนาจที่ไม่ถูกต้อง เพราะมีการ “ท้องที่” และ “งานบริหารราชการส่วนภูมิภาค” ได้ทับซ้อนกับภารกิจงานในหน้าที่ของท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ที่มักสั่งการมอบนโยบายมาจากส่วนกลาง ได้รับงบประมาณอุดหนุนมาจากส่วนกลาง และให้ทำเหมือนๆ กัน เช่น โครงการเสาไฟฟ้าโซล่าเซลล์ โครงการถนนพาราซอยล์ โครงการสนามฟุตซอล โครงการป๊อกแทงค์ โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน โครงการสนามเด็กเล่น เป็นต้น

[9]กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ชี้แจง กรณีพาดพิงการดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน จากกรณีที่มีผู้บัญชี tiktok พาดพิงการดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนของกระทรวงมหาดไทย ในประเด็นว่า ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายให้ 36 ล้านครัวเรือน จัดทำถังขยะเปียก, อ้างจาก เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 (ข้อโต้แย้ง & เชียร์ถังขยะเปียกรักษ์โลกคาร์บอนเครดิต) 

[10]“อยุธยา”ลั่น1ปีเกิดแน่เมืองต้นแบบกำจัดขยะ มหาดไทยทุ่ม500ล.ผุดบ่อขยะบางบาล-ผนึก กฟภ.ตั้งโรงไฟฟ้า, ประชาชาติธุรกิจ, 19 มกราคม 2558 & พ่อเมืองกรุงเก่า เป็นประธานการจัดกิจกรรม Kick - off การขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, 26 มกราคม 2567, https://ayutthaya.prd.go.th/th/content/category/detail/id/9/iid/254149  

[11]การเผาขยะชุมชนในที่นี้หมายถึง “การเผาขยะในที่โล่ง” ซึ่งเป็นนโยบายต้องห้ามไม่ให้ปนะชาชนเผาขยะมูลฝอยต่างๆ ตามนโยบายลดโลกร้อน ลดหมอกควันฝุ่นพิษ PM2.5 แต่ข้อเท็จริงยังมีการแอบเผากันอยู่ หรือมีการเผาหญ้า เผาเศษใบไม้ เผาอ้อยก่อนตัดเข้าโรงงาน เพราะวิถีชีวิตของชาวบ้านคือเกษตรกร ที่ต้องเผาหญ้า เผาเศษวัชพืชต่างๆ ในการปรับพื้นที่เพื่อการเกษตร

[12]“กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” หรือ “กรมโลกร้อน” ที่เปลี่ยนชื่อมาจากเดิม “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป มีอาสาสมัครที่เรียกว่า “ทสม.” (อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน) ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งราษฎรจิตอาสา “อถล.”(อาสาสมัครท้องถิ่รักษ์โลก) ขึ้นในปี 2561 แต่ ทส.จัดตั้ง “ทสม.” ในปี 2562 ซึ่งมีภารกิจเดียวกัน

“อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน” (ทสม.) หมายความว่า บุคคลที่มีความสนใจมีความเสียสละ และอุทิศตนในการทำงานด้านการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเอง ใช้ชื่อย่อว่า “ทสม.” มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า “Natural Resources and Environmental Protection Volunteer” และใช้ชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า “NEV” ตามข้อ 4 แห่ง ระเบียบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน พ.ศ.2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 136 ง วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 หน้า 1-11, https://eservice.dcce.go.th/storage/Media/C202011178969.pdfhttps://trang.mnre.go.th/attachment/iu/download.php?WP=qUIcnKtlpQugZKqCGWOghJstqTgcWatkpQOgAUpkGQWgG2rDqYyc4Uux 

[13]เป็นเพียงข้อเสนอหรือความเห็นในทางปฏิบัติ

[14]“ธุรกิจเพื่อชีวิตที่ดี” (Business For Life : BFL) เป็นการประกอบธุรกิจเพื่อให้ประชาชนชุมชนมามีส่วนร่วมในการจัดการตนเอง เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น คือ ผลตอบแทนที่ได้ ก็เพื่อประชาชนและชุมชน มาจาก CSR (Corporate Social Responsibility) เป็น “กิจกรรมเพื่อสังคม” การจัดการบรรษัทภิบาล โดยใช้ระบบบริหารจัดการที่ดี เพื่อชุมชนที่ยั่งยืน รักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวคือภายใต้แนวคิดในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท