ชีวิตที่พอเพียง  4655. การดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง


 

หนังสือชุด ธรรมะใกล้มือ เรื่อง การดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง ที่ท่านพุทธทาสแสดงปาฐกถาแก่นักศึกษา มศว. และวิทยาลัยครูพระนคร เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒   และถอดเทปนำมาเผยแพร่โดยหอจดหมายเหตุพุทธทาสเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๓  โดยท่านสรุปว่าหัวใจของพุทธศาสนาคือการดำรงจิตอย่างถูกต้อง    

น่าสนใจตรงที่ท่านบอกว่า เรื่องจิตแบ่งเป็นสองตอนคือ สมาธิหรือสมถะ กับ วิปัสสนาหรือปัญญา   ที่ร่วมกันดำเนินการพัฒนาจิตสู่การปล่อยวาง   

ผมอดเถียงไม่ได้ว่า การดำรงจิตไว้อย่างถูกต้องนั้นต้องอาศัยการกระทำด้วย    คือการกระทำเป็นตัวกำหนดจิตด้วย    เพราะการกระทำส่งอิทธิพลต่อสมอง    ทั้งช่วยพัฒนาสติตั้งมั่น (ท่านใช้คำว่าจิตเป็นสมาธิ)   และช่วยพัฒนาปัญญาที่พุ่งไปข้างหน้า   

ท่านพุทธทาสย้ำแล้วย้ำอีก ว่าคนเราต้องสอนตัวเอง (หน้า ๖ - ๘)   ที่สมัยนี้เป็นหลักการด้านการเรียนรู้ตามศาสตร์ด้านการเรียนรู้ (learning science)    ท่านย้ำว่าคนอื่นสอนไม่ได้ หรือเรียนแทนไม่ได้   

ผมก็เถียงอีก ว่าคนอื่นสอนไม่ได้ เรียนแทนไม่ได้   แต่ช่วยเอื้ออำนวย (facilitate)  หรือช่วยโค้ชได้    โดยช่วยตั้งคำถาม เพื่อให้ผู้เรียนปฏิบัติแล้วสะท้อนคิด   โดยเฉพาะอย่างยิ่งสะท้อนคิดสู่หลักการหรือทฤษฎี    ซึ่งจะช่วยให้เกิดปัญญา    ทั้งปัญญาปฏิบัติ และปัญญาทฤษฎี   

ท่านเปรียบเทียบการเรียนเพื่อพัฒนาจิตเหมือนการฝึกขี่จักรยาน    อ่านจากหนังสือแล้วเห็นชัดเจนว่า ไม่ว่าทำอะไรหรือฝึกอะไร ท่านพุทธทาสมีนิสัยสะท้อนคิดมาตั้งแต่เด็กๆ    แม้การขี่จักรยานท่านก็สะท้อนคิดสู่หลักการทางการฝึกจิต      

โปรดสังเกตว่า การดำรงจิตอย่างถูกต้อง ไม่เพียงจิตตั้งมั่นมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ หรือที่เรียกว่ามีสมาธิเท่านั้น    ยังต้องสามารถดำรงจิตที่สะท้อนคิดใคร่ครวญ ในเชิงหลักการหรือทฤษฎีจนรู้แจ้ง (mastery learning)  ที่ผมขอตีความต่อว่า   คำว่ารู้แจ้งในทางพุทธหมายถึงรู้แจ้งในด้านการพ้นทุกข์   ไม่ถูกเรื่องราวหรือความวุ่นวายรอบตัวกระทำให้ทุกข์ใจ     

ผมอดคิดต่อไม่ได้ว่า    คนที่ฝึกจิตดีขนาดนี้ ย่อมสามารถคิดใคร่ครวญในเรื่องอื่นๆ   จนรู้แจ้ง (mastery) ในเรื่องนั้นๆ ได้เช่นเดียวกัน  แต่การรู้แจ้งในเรื่องต่างๆ ทางโลกนั้น น่าจะไม่มีที่สิ้นสุด    คือแม้จะรู้แจ้ง ต่อมาก็อาจเปลี่ยนความรู้ชุดนั้นได้อีก เมื่อสภาพแวดล้อมหรือบริบทเปลี่ยนแปลงไป   

ดังนั้น ผมจึงสงสัยว่า คำว่า “รู้แจ้ง” น่าจะใช้เฉพาะเรื่องการพ้นทุกข์เท่านั้น    ไม่ควรใช้กับเรื่องอื่นๆ เพราะมันชักชวนให้เราเข้าใจไขว้เขวว่ารู้เจนจบแล้ว ไม่มีอะไรให้เรียนรู้อีกแล้ว   ทำนองเป็น “น้ำเต็มแก้ว”  หรือมี Fixed Mindset คิดว่าสิ่งที่ตนรู้เป็นที่สิ้นสุดแล้ว   

การดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง ในลักษณะ “น้ำไม่เต็มแก้ว”   มีความเชื่อใน Growth Mindset    ความอ่อนน้อมถ่อมตน   แต่ก็เชื่อมั่นในตนเอง    การมีพื้นฐานจิตเชิงบวก (positive mindset)   การเห็นคุณค่าของความกำกวมไม่ชัดเจน   ความอดทนมุ่งมั่นฟันฝ่า ฯลฯ    ที่เป็นองค์ประกอบของ ทักษะ (สมรรถนะ) แห่งอนาคต จึงเป็นสภาพจิตที่ถูกต้อง ในมุมของฆราวาสด้วย    คิดอย่างนี้ผิดหรือถูกก็ไม่ทราบ    

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ธ.ค. ๖๖ 

 

หมายเลขบันทึก: 717277เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2024 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2024 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท