ชีวิตที่พอพียง  4653. อ่านบทความ “เล่าเรื่องด้วยภาพ”  สู่การใช้เป็นปัจจัยกระตุ้นการสะท้อนคิดของตนเอง


 

เว็บไซต์ ของ McKinsey เสนอเรื่อง The art of storytelling : 10 must-see insights ที่แนะนำการเล่าเรื่องด้วยภาพ เพื่อการสื่อสารปัญญาสมัยใหม่    ที่เมื่อเข้าไปอ่านเรื่องแรก From poverty to empowerment : Raising the bar for sustainable and inclusive growth  ก็พบว่าเป็นรายงานที่ยาวพอควร    เล่าเรื่องใหญ่ของโลก เพื่อความอยู่รอดร่วมกันของมนุษยชาติ   โดยเสนอเรื่องการหนุนให้พลโลกส่วนที่อยู่ใต้ “เส้นชีวิตที่ดีพอควร” (empowerment line … มีรายได้วันละ US $ 12)    ที่มีอยู่ร้อยละ ๖๑ ของพลโลก หรือ ๔.๗ พันล้านคน    กับเรื่องการบรรลุ net zero ด้านคาร์บอนของโลก        

เป็นการเล่าเรื่องด้วย multimedia ที่ช่วยให้สามัญชนที่มีไม่มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ พอจะตามประเด็นได้    ช่วยให้มองเห็นภาพใหญ่ของความท้าทายระดับโลกที่ผู้คนต้องร่วมกันเอาชนะ   ที่คนอย่างผมก็ตามได้แบบเข้าใจได้ไม่แจ่มชัด เพราะมีเวลาน้อย   ถ้าจะละเลียดก็ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อเรื่องเดียว   

ผมจึงขยับไปอ่านเรื่องที่ ๘ Mindsets for success : Lessons from top CEOs    ที่บอกข้อสรุปว่า ในยุคนี้ ซีอีโอ ต้องสวมวิญญาณ service-minded leadership   ซึ่งหมายความว่า ใช้ตา และสมองให้มาก  ใช้ปากน้อยๆ (แหม ผมกำลังฝึกอยู่พอดี)    มองให้เห็นคน และเห็นเส้นทางของกิจการในอนาคต   นี่ตีความจากภาพเดียวตรงหัวข้อเรื่องนะครับ   

นี่คือ ตัวอย่างการ “เล่าเรื่องด้วยภาพ” ตัวจริง   ที่สามารถได้สาระสำคัญภายใน ๕ นาที   โดยดู infographic ๕ แผ่น    ตามด้วยแผ่นที่ ๖ เชิญชวนอ่าน ๓ บทความ ใช้เวลา ๕๐ นาที   ผมขอเชิญชวนผู้สนใจเทคนิคการเล่าเรื่องด้วยภาพ หรือด้วย multimedia เข้าไปชม    เป็นการนำเสนอเรื่องแบบ customer-focused สุดสุด         

ผมจึงลองไปที่ประเด็นที่ ๑๐ ซึ่งเป็นประเด็นสุดท้าย 2023 Summer Reading Guide   ก็พบวิธีนำเสนออีกรูปแบบหนึ่ง    ต้องเข้าไปดูเอง จะเห็นว่า เป็นวิธีนำเสนอที่ user friendly อย่างไร    

ลองไปที่เรื่องที่ ๓  The State of Organization 2023 : Ten shifts transforming organizations  ก็พบว่าเขามีรายงานฉบับเต็ม ๙๒ หน้าให้    และมี   infographic สรุปแต่ละประเด็นสำคัญรวม ๑๐ ประเด็นให้    ผมติดใจที่ประเด็นที่ ๖ เรื่อง talent   ที่เขาบอกว่าจากผลงานวิจัยพบว่า top performer มีผลงานสูงเป็น ๘ เท่าของค่าเฉลี่ย    ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์เมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อน   ตอนที่ผมทำงานที่คณะแพทยศาสตร์ มอ. ที่หาดใหญ่    ผมปลอบใจตนเองว่า สภาพที่อยู่และการทำงานน่าจะช่วยให้ผมมีเวลาทุ่มเทกับงานมากกว่าคนที่กรุงเทพ ๓ เท่า    ผลงานไม่ดีให้มันรู้ไป   

เรื่องที่สอง  The art of data : Empowering arts institutions with data and analytics    ผมสนใจในฐานะนักชมพิพิธภัณฑ์    ภาพแรกเป็นภาพเด็ก ๒ คนกำลังชมโมเดลเรือใบสมัยโบราณ มีผู้ใหญ่คนหนึ่งกำลังชี้มือ   สะท้อนการเสวนาเรื่องเรือใบโบราณ    ที่ชวนให้ผมสะท้อนคิดว่า ข้อมูลที่ควรเก็บคือ customer journey data   ที่ควรเก็บในรูปของวิดีทัศน์กิจกรรมหรือพฤติกรรมของผู้ชม   นำมาคัดเลือกเป็น “ผู้ชมแห่งวัน” ที่มีการตั้งคำถามและเรียนรู้จากสิ่งจัดแสดงแต่ละชิ้นอย่างมีพลัง     นำมาสังเคราะห์ตัดต่อเป็นวิดีทัศน์ของจุดหรือประเด็นเรียนรู้สำคัญของสิ่งจัดแสดงชิ้นนั้น ทำเป็น QR Code สองชิ้น  ที่ชิ้นแรกนำสู่คำอธิบายสั้นๆ สองสามนาที สำหรับคนทั่วไป    ชิ้นที่สองนำสู่คำอธิบายยาว ๑๐ - ๑๕ นาที สำหรับผู้สนใจจริงๆ    งานนี้ พิพิธภัณฑ์น่าจะร่วมมือกับคณะโบราณคดี หรือภาควิชาประวัติศาสตร์    ให้นักศึกษาทำเป็นโครงการวิจัยได้   

กิจกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่ผมบอดสนิท   แต่ก็มีความเห็นว่า เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้คนมีที่พักผ่อนหย่อนใจ และได้รับการกล่อมเกลาด้านสุนทรียะ   เป็นเรื่องที่ อปท. ควรเอาใจใส่   และควรมีการวิจัยว่าแต่ละกิจกรรมมีส่วนสร้างสังคมที่ดีอย่างไร    กิจกรรมแบบไหนให้ผลบวก กิจกรรมแบบไหนให้ผลลบ   

สรุปว่า การนำเสนอเรื่องของ McKinsey ด้วยภาพและพหุสื่อ    น่าจะมีส่วนกระตุ้นจินตนาการ และการสะท้อนคิดของผู้เสพข่าวได้ดีกว่าการนำเสนอด้วยตัวหนังสือล้วนๆ    

วิจารณ์ พานิช

๖ ก.พ. ๖๗

  

 

หมายเลขบันทึก: 717272เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2024 08:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2024 08:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท