ชีวิตที่พอเพียง  4650. ธรรมชาติช่วยได้


 

หนังสือชุด ธรรมะใกล้มือ เรื่อง ธรรมชาติช่วยได้ ที่ท่านพุทธทาสแสดงปาฐกถาแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน และมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๒๓   และถอดเทปนำมาเผยแพร่โดยหอจดหมายเหตุพุทธทาสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑   

อ่านแล้วผมสรุปว่า ความเข้าใจธรรมชาติ ช่วยให้มนุษย์เข้าถึงธรรมะง่ายหรือสะดวกขึ้น   เพราะธรรมะมาจากการสังเกตและทำความเข้าใจธรรมชาตินั่นเอง    โดยต้องไม่ลืมธรรมชาติภายในตัวเรา  ภายในจิตใจของเรา ด้วย 

กล่าวใหม่ได้ว่า ธรรมะคือคำอธิบายธรรมชาติ   เน้นการตกผลึกเป็นหลักการ  รวมทั้งมีคำแนะนำวิธีเข้าถึง หรือบรรลุธรรมะ   โดยในทางพุทธ ธรรมะสูงสุดคือความหลุดพ้นจากกิเลส   เป็นชีวิตที่อิสระ ไม่ถูกกิเลสเข้าครอบงำบงการ   บรรลุสูงสุดที่กิเลสเข้าไม่ถึงอย่างถาวร  ไม่ว่าจะถูกยั่วยวนอย่างไร    โดยต้องไม่ลืมว่า ในหลายกรณีความยั่วยวนมาจากภายในใจของเราเอง   หรือมาจากกลไกทางสรีรวิทยาในร่างกายเราเอง เช่น ฮอร์โมน    แต่ธรรมชาติที่เป็นข้อดีของมนุษย์คือ หากเราฝึกฝนตนเองดี ก็สามารถกำกับแรงยั่วยวนนั้นได้ ทั้งแรงยั่วยวนที่มาจากภายนอก และจากภายในตัวเราเอง   

ในพุทธศาสนา ความเข้าใจธรรมชาติของการเกิดขึ้นของกิเลส   ในรูปแบบของผลเกิดจากเหตุ เป็นวงจรของเหตุนำสู่ผล ต่อเนื่องกันไป   ที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาท    มีรายละเอียดลึกซึ้งและซับซ้อนมาก    วิธีคิดอย่างง่ายๆ คืออย่าไปยึดติดกับความรู้สึก  ความคิด และความรู้    ให้มองเป็นสิ่งที่เราประสบ รับรู้ แต่ไม่ยึดมั่นถือมั่น   ไม่หลงเข้าไปเป็นทาสของความรู้สึก ความคิด และความรู้   

ผมอดสะท้อนคิดสู่เรื่องการเรียนรู้หรือการศึกษาไม่ได้    ว่าที่คุณภาพของการศึกษาไทยเราต่ำต้อย น่าจะเป็นเพราะครูเน้นสอนให้นักเรียนเชื่อตามที่ครูบอก หรือตำราบอก    คือเรียนจำ  ไม่ได้เรียนคิด ซึ่งต้องเริ่มจากสงสัย ไม่เชื่อ    เมื่อรู้เรื่องใดก็รู้แบบไม่ยึดมั่นถือมั่น    ตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า ที่เรารู้ในขณะนี้นั้น ต่อไปอาจเปลี่ยนได้  ที่กล่าวกันว่า การเรียนรู้ประกอบด้วย ๓ ช่วง คือ learn, unlearn, relearn เพราะความรู้ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งตายตัว   ยังมีเหตุปัจจัยในอนาคตที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความรู้ได้    และในเรื่องความเชื่อหรือศรัทธา ก็เปลี่ยนได้    ที่เรียกว่า “เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” (transformative learning)        

ที่จริงจะว่าคนเราต้องปล่อยวางไปเสียทั้งหมดก็ไม่ได้   ต้องมีความพอดีระหว่างการยึดมั่นกับการปล่อยวาง   เรื่องการยึดมั่นในกุศลธรรมเป็นเรื่องที่ดี    และตรงกันข้าม ยึดมั่นในอกุศลธรรม ไม่ดี    แต่ยึดมั่นในกุศลธรรมแบบเลยเถิด  ไม่ปล่อยวางยามพบพานคนที่อกุศลธรรมครอบงำ  ก็ก่อความทุกข์ได้   เรื่องนี้อธิบายได้ว่า ธรรมชาติมีความซับซ้อนเช่นนี้เอง   ดังกรณีพิษงูอยู่ในเขี้ยวงู   ลิ้นงูอยู่ใกล้ๆ แต่ไม่ถูกพิษร้ายจากเขี้ยว       

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ธ.ค. ๖๖ 

 

หมายเลขบันทึก: 717224เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2024 19:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2024 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท