โครงการธนาคารขยะชุมชน (Recyclable Waste Bank) ตอน 2 : การรีไซเคิลขยะทั้งการคัดแยกขยะและการตั้งกองทุนธนาคารขยะ


โครงการธนาคารขยะชุมชน (Recyclable Waste Bank) ตอน 2 : การรีไซเคิลขยะทั้งการคัดแยกขยะและการตั้งกองทุนธนาคารขยะ

26 มกราคม 2567

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

         

โครงการธนาคารขยะชุมชนในภาพรวม ยังมีข้อสังเกตเรื่องเล่าบางประการต่ออีก เนื่องจากทั้งโครงการธนาคารขยะ โครงการคัดแยกขยะชุมชน (รีไซเคิล) โครงการกำจัดขยะรวม โครงการถังขยะเปียก โครงการ Carbon Credit ต่างเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยการลดปริมาณขยะ ณ ปัจจุบันท้องถิ่นได้มีการติดตามทวนสอบผู้ปฏิบัติถึงรอบที่สาม (Re x-ray) [2] แต่การดำเนินการก็ยังไม่ชัดเจน หรือมีตัวชี้วัดว่า ประสบผลสำเร็จไปแล้วเพียงใด ยิ่งมาเจอตัวเลข จากการอ้างอิง ในคราวการประชุม สถ.ออนไลน์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 แล้ว เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ อาจงงว่า สถ.ได้เก็บข้อมูล “ขยะชุมชน” (Solid Waste) [3] มาจากไหน อย่างไร เช่น ปริมาณขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิลและขยะอันตราย ที่ง่ายประมวลผลมาจาก อปท.จำนวน 1077 แห่ง 1679 โครงการ จากสมาชิก 533,524 ราย คิดเป็นปริมาณขยะที่ขายได้ 1335.5 ล้านตัน ในจำนวนนี้ เป็นรายจ่าย ค่าฌาปนกิจ ค่ารักษาพยาบาล ค่าคลอดบุตร และอื่นๆ แก่สมาชิกโครงการธนาคารขยะ เป็นจำนวน 689.4 ล้านบาท จากปริมาณเงินทุน ที่ขายขยะได้ 777.7 ล้านบาท จากเงินสมทบอื่น 119.7 ล้านบาทรวมทั้งสิ้น 897.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดเงินที่น่าสนใจมากว่า คิดคำนวณมาจากฐานข้อมูลใด

 

อย่าโทษ Human error หรือ ที่ความบกพร่องของระบบ

ระบบบันทึกข้อมูลออนไลน์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีมากเกือบ 30 ระบบนอกจากสร้างภาระให้เจ้าหน้าที่ อปท.แล้ว อาจมีปัญหาความเชื่อถือได้ (Reliability) ความเที่ยงตรง (Validity) ถูกต้องในคุณภาพของมาตรวัดเครื่องมือประเมินผลโครงการ หากเป็นตัวเลขประมาณการ สถ.ได้ข้อมูลนี้มาจากไหนที่สอบทาน (Recheck)แล้ว หรือเป็นเพียงตัวเลขที่นำมาอ้างอิงว่าโครงการนี้สัมฤทธิผล เป็น Human error หรือระบบมั่วกันแน่ เช่นบ้าตัวเลข เอาใจนาย เจ้าหน้าที่กรอกข้อมูลมั่ว ถูกแกมบังคับให้รายงานมั่ว ส่งผลต่อข้อมูลที่รายงาน

ที่ผ่านมาพบว่า ฐานข้อมูล Thai QM [4] ของกรมการปกครอง (บ้านเรือนหลังที่มีคนอยู่จริง) ในการสำรวจครัวเรือนยากจนนั้น ก็อาศัยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเป็นผู้สำรวจ ทั้งที่ในการสำรวจข้อมูลประเภทนี้ เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมการพัฒนาชุมชนที่จะต้องมีการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานหรือ จปฐ. เป็นประจำทุกปีในช่วงต้นปีอยู่แล้ว แม้ว่าตามประกาศกำหนดไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดก่อนว่า คนจนต้องหมดไปตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแม้จะลุยจบไปรอบหนึ่งแล้ว ปรากฏว่าตอนนี้ เจ้าหน้าที่ต้องกลับมาลุยอีกครั้ง เพราะประชาชนยังจนอยู่ จะเรียกว่ารีเช็ก หรือ ทบทวน หรือ ทวนสอบ (Re x-ray) หรือแก้ไข ก็สุดแท้แต่บริบทของแต่ละ อปท. ที่ผลสำเร็จอาจต่างกันไป อปท.บางแห่งอาจเคยถูก ปปช. ต่อว่าเจ้าหน้าที่รับการตรวจประเมิน ITA ว่าตบแต่งข้อมูล ในความหมายของ ปปช. จะตีความหมายไปในเชิงลบทางไม่ดี แต่สำหรับเจ้าหน้าที่นั้น อาจมองว่าเขาจะทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้มันมีข้อมูล หรือมันเข้าเกณฑ์การตรวจประเมินให้ผ่าน ให้ได้คะแนน 

 

ท้องถิ่นมีจุดยึดโยง (Connecting Point) คือประชาชน มิใช่ข้าราชการ

ในระบบราชการไทยหากเอาผลงานการสร้างปริมาณสร้างภาพผักชีโรยหน้าก็อาจเคยพบเห็นมาปกติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่ส่วนกลางหรือโครงการในท้องถิ่น หรือในราชการส่วนภูมิภาค ก็เช่นกัน เพราะจะมีงบประมาณและพลังงานส่วนหนึ่งที่หมดไปกับการสร้างภาพ ในการเปิดงานงานติดตามต้อนรับ เพื่อการโปรโมทหรืออีเว้นท์งาน เพื่อแสดงผลงาน แสดงศักยภาพของผู้ดำเนินการโครงการ ในสไตล์ท้องถิ่นนั้นก็เช่นกันเหมือนกัน ที่ไม่ถูกต้องตามหลักการบริหารจัดการที่ดี แต่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมานาน ต้องเสียทั้งเวลาและงบประมาณไปเพื่อการนั้น โดยไม่ถูกต้องตามหลัก “เจ้านายคือประชาชน” (People/Citizen) [5] ราชการต้องทำตามที่ประชาชนต้องการและให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน 

ข้าราชการท้องถิ่นมีบริบทที่แตกต่างจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมาก เพราะข้าราชการทั่วไปต้องทำตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา คือทำให้นายพอใจ มิใช่การหวังผลให้ประชาชนได้พอใจ อันเป็นหลักการที่ขัดแย้งกับการปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะข้าราชการส่วนภูมิภาคหรือส่วนกลางเหล่านั้นมิได้มี “จุดยึดโยง” (Connecting Point) กับประชาชนในท้องถิ่นที่เป็น “ผู้เลือกตั้ง” (Voters) [6] คณะผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อเข้ามาบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเองแต่อย่างใด อธิบดี ปลัดกระทรวง รมต.ไม่ใช่คนเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งให้เขา แต่หากข้าราชการอำเภอจังหวัดไม่ทำไม่จี้จะโดนตำหนิและให้โทษได้ เพราะยอดปริมาณผลงานมันโชว์ปริมาณ เอาแค่งานขอความร่วมมือขายเสื้อ ขายสลากส่วนภูมิภาคยังต้องทำยอดแข่งกัน

มีหลายโครงการที่ส่วนกลางได้คิดโครงการขึ้นมา เพื่อให้ท้องถิ่นได้ดำเนินการตามนโยบายของส่วนกลางที่มุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ตามแผนพัฒนาของชาติ หรืออื่นใดเพื่อปฏิบัติตามนโยบายโลก โดยไม่ได้คำนึงถึง กระบวนการขั้นตอนต่างๆ ว่า ประชาชนต้องเป็นผู้เสนอโครงการ หรือเป็นผู้ที่รับรู้และเข้าใจในโครงการนั้นๆ อันจะเป็นผลดีต่อการดำเนินการตามโครงการโดยไม่ต้องไปชี้นำชี้แนะ หรือซักซ้อมสร้างภาพใดๆ เลย ท้องถิ่นจึงเป็นเป้าหมายอันดับแรกในการยัดเยียดโครงการเหล่านั้นลงไปทันที ที่ผ่านมาในรอบไม่กี่ปีที่แล้วมีอยู่หลายโครงการถือเป็นเจตนาดีของส่วนกลาง แต่การไม่ดูบริบทของท้องถิ่น รังแต่จะเกิดปัญหาการจัดการบริการสาธารณะในท้องถิ่นตามมาอีกมาก

 

ย้ำอีกครั้งว่าทุกอย่างขึ้นกับบริบทของท้องถิ่น

นโยบายเดียวกันโยนมาทั้งประเทศทั้งๆ ที่แต่ละพื้นที่มีบริบทต่างกัน ธนาคารขยะอาจไม่เหมาะกับทุกที่ ข้อเท็จจริงมีว่า โครงการคัดแยกขยะชุมชน (รีไซเคิล) ปัจจุบันนี้ชาวบ้านเขาก็เก็บเองขายเองกันอยู่ ตามปกติ นี่ยังจะให้ อปท. ไปขอความร่วมมือหรือขอสั่งให้ฝ่ายปกครอง กำนันผู้ใหญ่บ้านมาร่วมปฏิบัติงานด้วยจึงอาจเกิดปัญหาทางปฏิบัติได้ แม้ว่าในความสัมพันธ์กับผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นนั้น กำนันผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ อาจจะมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับผู้บริหารท้องถิ่นก็ตาม โดยเฉพาะในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล อบต. แต่อย่างไรก็ตาม ในสายการบังคับบัญชานั้นก็ต้องนายอำเภอเป็นผู้สั่งตรงมาที่กำนันผู้ใหญ่บ้านเลย ส่วนในเทศบาลนั้นก็อาจพบว่า กำนันบางคนไม่เข้ากับ อปท.เลย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีการเมืองท้องถิ่น ที่เป็นคนละขั้วกับฝ่ายการเมืองท้องถิ่นก็เป็นได้

ฉะนั้น เรื่องโครงการธนาคารขยะก็เช่นกัน คงมาบังคับท้องถิ่น ให้ทำเหมือนกับโครงการอื่นในพื้นที่คงไม่ได้เช่นกัน เพราะวิธีการต่างๆ ขึ้นอยู่ที่บริบทของแต่ละท้องถิ่น บางแห่งทำได้ดีกว่าที่ส่วนกลาง หรือกระทรวงคิดเสียอีก เพราะว่าคนกระทรวงไม่เคยทำ รู้อยู่แต่ตัวหนังสือ พอๆ กันกับโครงการถังขยะเปียกนั่นแหละแนวเดียวกัน ตามหลักสายการบังคับบัญชา หากจะสั่งการกันต้องเป็นหน่วยงานในสังกัด หรือเป็นคนในสังกัด แต่ราชการส่วนท้องถิ่นนั้นไม่ได้เป็นลูกน้องโดยตรงของนายอำเภอ 

 

ท้องถิ่นอยู่ใน “การกำกับดูแล” มิใช่ “การบังคับบัญชา” ของส่วนกลาง

ตามกฎหมาย พรบ.จัดตั้งเทศบาลเดิมใช้คำว่า “การควบคุม” ได้แก้ไขเปลี่ยนเป็น “การกำกับดูแล” ในปี พ.ศ.2562 [7] แล้วก็ตาม ก็ยังมีความเข้าใจผิดอยู่เช่นเดิมว่าท้องถิ่นยังมี ผู้ควบคุมดูแลคือ นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด ด้วยความสับสนเหล่านี้ นำไปสู่ปัญหาในการบริหารจัดการบริการสาธารณะของท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เพราะในหลายๆ กรณีนั้น ท้องถิ่นยังเข้าใจว่า ผู้ที่สามารถควบคุมบังคับบัญชาท้องถิ่นได้ก็คือ นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะยังมีอำนาจในการ สั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่งได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งในแต่ละประเภท แม้ว่าต่อมานั้นกระทรวงมหาดไทยก็ได้พยายามแก้ไขกฎหมาย หรือระเบียบสั่งการต่างๆ เพื่อเป็นการปลดล็อกหรือนัยยะในการคลายอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดลงก็ตาม ด้วยนโยบายที่สับสนเหล่านี้ นำมาซึ่งปัญหาในการบริหารจัดการของท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เช่นล่าสุดมีการแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงินฯ พ.ศ.2566 [8] ได้ตัดอำนาจในการตรวจสอบ การใช้ดุลพินิจของผู้บริหารท้องถิ่นตามระเบียบเดิมข้อ 103 [9] กรณีที่มีการทักท้วงจากสตง. จะต้องส่งข้อทักท้วงนั้นเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัย ภายใน 15 วัน จากข้อเท็จในรอบหลายปีที่ผ่านมา โอกาสที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะวินิจฉัยกลับ หรือตามความเห็นของ อปท. หรือให้เป็นไปตามบริบทของท้องถิ่นนั้นๆ แทบไม่มี ร้อยละ 99 ผู้ว่าราชการจังหวัดมักจะมีความเห็นยืนตามความเห็นของ สตง. เป็นต้น

จากกรณีการตัดอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการวินิจฉัยระเบียบการเงินดังกล่าวนั้นไม่เป็นผลดีต่อ อปท.นัก ด้วยยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ยังไม่ได้แก้ไข ฉะนั้น การปลดล็อกในกรณีดังกล่าวเพียงกรณีเดียว ก็ยังไม่ได้หมายความว่าอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นจะหมดสิ้นไป เพราะว่า หากการกระทำทางปกครองของผู้บริหารท้องถิ่นเป็นคำสั่งทางปกครอง อย่างไรเสียหากมีการโต้แย้งคัดค้านหรืออุทธรณ์ก็ต้องส่งเรื่อง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้วินิจฉัยตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองซึ่งเป็นกฎหมายกลางที่นำมาใช้บังคับในเรื่องคดีปกครองนั้นๆ เท่านั้น อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด จึงยังไม่หมดสิ้นจากท้องถิ่น แต่อย่างใด

ความเข้าใจที่ว่า ราชการส่วนท้องถิ่นไม่ได้สังกัดราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค ยังมีความเข้าใจผิด มาจนถึงทุกวันนี้ เพราะการบริหารราชการแผ่นดินของไทยนั้น ประกอบไปด้วยกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวโยงกัน การจะแก้ไข ให้ครบทั้งหมด จึงต้องแก้ไขอย่างมีกระบวนการทั้งระบบ ที่เรียกว่า “การปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น” หรือการยกเครื่องใหม่ทั้งหมด หรือจะใช้คำว่า “ปลดล็อกการกระจายอำนาจ” [10] ก็ยังได้

ย้อนมาโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน (2562) นายอำเภอสามารถสั่งการกำนันผู้ใหญ่บ้าน ได้โดยตรง พร้อมหน้าพร้อมตาทำทันที เพราะเป็นโครงการที่ท้องถิ่นมิได้ดำเนินการเพียงลำพัง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ประสานดำเนินการ โดย ปลัดกระทรวงมหาดไทย กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตาม ระเบียบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน พ.ศ.2562 หรือ “อถล.” [11] เป็นวาระแห่งชาติว่าด้วยการลดโลกร้อน

 

งาน อปท.หนักทั้งงานรูทีน งานจริง และงานฝาก 

ด้วยระบบบันทึกฐานข้อมูลถึงเกือบ 30 ระบบเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการอัพเดทกรอกข้อมูลให้ทันสมัยเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ แต่ในมุมกลับถือเป็นการสร้างภาระงานให้แก่บุคลากรคนท้องถิ่นมาก ประกอบกับสถานการณ์ที่บุคลากรท้องถิ่นขาดแคลนสายงานผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งสายผู้ปฏิบัติในตำแหน่งเฉพาะทางเช่น นายช่างโยธา เจ้าพนักงานสาธารณสุข นักวิชาการสิ่งแวดล้อม สัตวแพทย์ เป็นต้น ในทางปฏิบัติจึงมีการใช้บุคลากรอื่นมาทำหน้าที่แทน ในลักษณะงานฝาก ที่ไม่ตรงกับตำแหน่งหน้าที่หรือสายงาน ตำแหน่งที่ปฏิบัติ เป็นจำนวนมาก แต่ท้องถิ่นกลับมิได้มีการกำหนดกรอบอัตรากำลังไว้ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลการสงวนเม็ดเงินงบประมาณด้านบุคลากรที่กำหนดไว้ไม่ให้เกินร้อยละ 40%[12]จึงจำเป็นที่ท้องถิ่นจะต้องสงวนเม็ดเงินงบประมาณจำนวนนี้ไว้ เพื่อให้โอกาสข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นสายงานผู้บริหารได้เจริญเติบโตก้าวหน้า ด้วยเงื่อนไขการบริหารงานบุคคลที่ซับซ้อนไม่ถูกต้องตามบริบทข้อเท็จจริงในพื้นที่ จึงทำให้การบริหารงานตามนโยบายของท้องถิ่นหรือจากส่วนกลางประสบปัญหาอุปสรรคดังกล่าวข้างต้น

 

โครงการคัดแยกขยะและโครงการธนาคารขยะคือโครงการเดียวกัน

มีข้อสังเกตว่าโครงการธนาคารขยะ กับโครงการคัดแยกขยะ(รีไซเคิล) เห็นว่าเป็นโครงการประเภทเดียวกัน เพียงแต่มีกิจกรมเสริมเพิ่มลดที่ต่างกัน ที่เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการของชุมชนหรือหมู่บ้านเข้ามาบริหารจัดการคัดแยกขยะในชุมชน เพราะมีการบริหารจัดการตามโครงการคัดแยกขยะ (รีไซเคิล) อยู่แล้ว ในพื้นที่ ซึ่งมีการรับซื้อขยะ และการนำขยะไปขาย เพื่อเป็นผลประโยชน์แก่ชุมชนนั้น ฉะนั้นทั้งสองโครงการนี้จึงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน [13] เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน คล้ายกัน เพราะโครงการธนาคารขยะนั้นเป็นการรวบรวมขยะไว้ให้เป็นจำนวนมาก และการแลกเปลี่ยนเป็นตัวเงิน โดยมีการนำขยะ ที่นำมาให้ธนาคารนั้น นำไปขายอีกทีหนึ่ง ส่วนโครงการคัดแยกขยะ (รีไซเคิล) นั้น เป็นการส่งขยะที่คัดแยกได้ไปขายโดยตรง ครั้นมองดูนัยยะนี้แล้ว ดูเป็นโครงการประเภทเดียวกันที่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการต่างหาก แต่ผลประโยชน์ตกเป็นตัวเงินแก่ประชาชนในพื้นที่ทั้งสิ้น เพียงแต่ในการจัดทำธนาคารขยะนั้นจะมีตัวกลางมาอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ซึ่งอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ดีในบางพื้นที่ เพราะประชาชนเขาได้ดำเนินการคัดแยกขยะของชุมชนนั้นดีอยู่แล้ว จนแทบไม่เห็นความสำคัญของโครงการธนาคารขยะก็เป็นได้

ข้อดีหากชาวบ้านเขาอยากได้ราคาดีๆ เขาก็แยกขยะมาเอง และให้เอกชนที่รับซื้อขยะมาติดต่อซื้อ แต่ถ้าจะให้ อปท. ซื้อก็จะได้กำไรเข้ากองทุนเยอะ จะเอาแบบไหน ต้องหาจุดสมดุลให้พอดีกัน มิใช่เป็นการสร้างภาระแก่เจ้าหน้าที่ เป็นต้น มองอีกมุมถือว่าเป็นการประกอบการธุรกิจของท้องถิ่นหรือที่เรียกว่า “กิจการพาณิชย์หรือเทศพาณิชย์” เท่ากับว่า ไปแย่งงานพ่อค้าคนรับซื้อขยะจากบ้าน 

การหาผู้รับเหมามาซื้อขยะแทน อาจพอทำได้ และจะดีกว่าที่ท้องถิ่นทำเอง แยกเองขายเอง แม้ว่าจะมีท้องถิ่นบางแห่ง ทำได้ดีมากเป็นผลเลิศแล้วก็ตาม แต่จะต้องเป็นชุมชนท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็ง และมีประสบการณ์ที่ดำเนินการมาแล้วหลายปี หาก อปท. ยังมาคัดแยกขยะเอง บาง อปท.อาจเป็นภาระ “งานงอก” เพราะอยู่ดีๆ มีงานใหม่เพิ่มมาให้เจ้าหน้าที่ได้เวียนหัวอีก เป็นงานที่ต้องมีงบประมาณค่าใช้จ่ายทั้งนั้น แต่ราชการจะไม่คิดเป็นค่าใช้จ่ายให้ ขอให้มีโครงการได้ถ่ายรูปว่าได้ดำเนินการทำแล้ว ถ้าเป็นเอกชนเขาจะไม่ทำ เพราะไม่คุ้มค่าในงบประมาณ เหมือนโครงการขยะเปียกที่มีการซื้อเครื่องชั่ง (ตราชั่ง) ขยะมาไว้สำหรับโครงการธนาคารขยะก็เช่นกัน อันเป็นต้นทุนหนึ่งของโครงการ เพราะเครื่องชั่งถือว่าเป็นครุภัณฑ์โดยสภาพ เป็นครุภัณฑ์การเกษตรที่ต้องมีการลงบัญชีควบคุมการใช้ด้วย จะซื้อเครื่องชั่งจากงบอะไร โครงการธนาคารขยะไม่ควรขายขยะเอง ควรหาผู้ซื้อข้างนอกเอา ให้เขาชั่งเขาจด เจ้าหน้าที่โครงการคิดราคา แล้วพอสิ้นสุดการขายก็นัดกับผู้ซื้อ มอบเงินตามที่เจ้าหน้าที่ได้สรุปให้น่าจะดีกว่า อีกประการเทคนิคการบริหารจัดการควรนำมาใช้ การกำหนดเงื่อนไขให้ครัวเรือนหลังที่รัฐให้สวัสดิการ รวมถึงบ้านหลังที่รับเบี้ยผู้สูงอายุหรือเบี้ยยังชีพอื่นใดต้องขอความร่วมมือให้คัดแยกขยะ แบบนี้จะทำได้ยอดแน่ แทนที่จะเหนื่อยไปขอความร่วมมือกัน หรือกะเกณฑ์เป้าหมายชาวบ้านกันตามอัตภาพ ตามเป้าหมายจากฐานข้อมูล 

 

ปัญหาซ้ำซากการจัดการขยะด้วยการคัดแยกขยะ

แนวคิดแรกเริ่มว่าการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้องจะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย จึงหาทางลดปริมาณขยะลงให้ได้มากที่สุด จนถึงขนาดที่จัดการขยะให้เหลือศูนย์ (Zero Waste) [14] เช่น ขีดความสามารถที่สามารถจัดการกำกัดขยะได้ 100% โดยไม่มีขยะตกค้าง เป็นต้น แต่โลกปัจจุบัน มีปัจจัยสาเหตุอื่นอีกมากมายตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมาก อย่างไรก็ตามขยะเกิดจากชุมชน (Solid Waste) อยู่กับชุมชน เดิมจะเป็นขยะอินทรีย์เสียเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นการจัดการกำจัดขยะจึงต้องอาศัยชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การดำเนินการตาม อปท. กรณีที่ชุมชนใดมีชาวบ้านจะให้ความร่วมมือหรือไม่ สงสัยในเป้าหมายที่แท้จริงนั้น ส่วนกลางต้องการอะไรกันแน่ มีวัตถุประสงค์อะไร ธนาคารขยะ ปักธงเพื่อลดขยะ หรือแค่กระแสเพื่องานตามแผน หรือที่คิดเพื่อสนองนโยบาย ด้วยวิธีคิดสั่งการแบบรวบอำนาจที่คิดว่างานจะสำเร็จได้ สถ.บอกว่า จะช่วยลดงบในการจัดการขยะ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี [15] หากคิดกันได้แค่นี้ งานนี้ก็คงไม่จบ เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 77 [16] ได้ระบุไว้ว่าการดำเนินการตามโครงการใดนั้น ต้องรับฟังความคิดเห็นเสียก่อนอย่างรอบด้าน

 

เขียนมาเขียนไปจะวนไปมาข้อมูลเดิม คงไม่ว่ากันถือเป็นการทวนซ้ำก็ยังดี เพราะข้อเท็จจริงบางเรื่อง พูดแล้วไม่ฟังหรือไม่อยากฟังกัน เพราะ อปท.นั้นมีทั้งงานจริงและงานฝาก ทำได้หมดทุกอย่างแม้จะงานซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ขอได้สั่งมา


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unari-ne, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 26 มกราคม 2567, 23:00 น., https://siamrath.co.th/n/509792

[2]คำว่า Re x-ray คำนี้เป็น “วาทกรรม” (discourse) ที่ใช้มานานแล้วตั้งแต่สมัยสงครามยาเสพติดยุคทักษิณปี 2546 (ช่วงระยะเวลาสามเดือนตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2546) ที่สื่อความหมายว่า มีการสำรวจตรวจสอบกับแบบถึงแก่นถึงรากถึงโคน คือตรวจสอบให้หมดเหมือนการฉาย x-ray อีกรอบหนึ่งเพื่อหาจุดบกพร่อง แต่นำมาใช้เรียกขานในโครงการ “การบริหารจัดการขยะ” เพื่อสื่อความหมายในการสอบทาน ผลการปฏิบัติงานตามโครงการ เพื่อเป็นการติดตามประเมินผลชี้วัดถึงประสิทธิภาพความสำเร็จของโครงการ สำหรับรอบที่สามนี้ Re x-ray มีกิจกรรมทวนสอบโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อบรรลุเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดแผนระหว่างวันที่ 15-22 มกราคม 2567 โดยผลการดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์

อ้างอิง บทสรุปสำหรับผู้บริหาร, รายงานการศึกษานี้อยู่ในช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560, http://library.nhrc.or.th/ulib/document/Summary/S09696.pdf 

[3]ขยะชุมชน หรือ “มูลฝอย” (Solid Waste or Municipal Solid Waste) หมายถึง เศษกระดาษ เศษผ้า เศษอาหาร เศษสินค้า ถุงพลาสติก ภาชนะที่ใส่อาหาร เถ้า มูลสัตว์ หรือซากสัตว์ รวมตลอดถึงสิ่งอื่น ใดที่เก็บกวาดจากถนน ตลาด ที่เลี้ยงสัตว์หรือที่อื่น เป็นขยะที่เกิดในชุมชน 

[4]กรมการปกครอง (สำนักทะเบียนกลาง) เปิดตัวแอปพลิเคชัน ThaiQM คือ ระบบสารสนเทศบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ติดตามกัก COVID-19 เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 กระทรวงมหาดไทย โดยพัฒนาต่อจาก ระบบรายงานข้อมูลผู้เดินทางเข้าหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในชื่อ Thai QM 2021 = THAI QUARANTINE MONITOR มาทำใหม่ โดยออกแบบตามมาตรา 9 ของ พรก ฉุกเฉิน 2548 ฉบับที่ 16 ลงวันที่ 3 มกราคม 2564 

ดู มาทำความรู้จัก THAI QM 2021 โดยภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CPE-CMU), 5 มกราคม 2564, https://cpe.eng.cmu.ac.th/content-thaiview.php?view_id=THAIQM2021

[5]ประชาชนหรือพลเมืองแห่งรัฐ (Voters/Citizen) มีความสัมพันธ์กับคำว่า “ความเป็นพลเมือง” (Citizenship) เป็นคำที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยประชาธิปไตยจะประสบความสำเร็จได้ไม่ใช่เพียงแต่มีรีฐธรรมนูญที่ดีเท่านั้นแต่ประชาชนจะต้องเป็น “พลเมือง” ตามระบอบประชาธิปไตยด้วย (วรากรณ์ สามโกเศศ, 2554) กล่าวคือ มีสมาชิกของสังคมที่ใช้สิทธิ เสรีภาพโดยมีความรับผิดชอบ เคารพสิทธิผู้อื่น เคารพความแตกต่าง เคารพกติกา ในนานาประเทศ อาทิประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศเยอรมนีจัดให้มีการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง (Civic Education) ขึ้นมา 

“คนไร้รัฐ หรือ Stateless persons หมายถึง คนที่ไม่ถูกบันทึกรายการบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก ส่วนคําว่าคนไร้สัญชาติ หรือ Nationality-less persons หมายถึง คนที่ไม่ได้รับการบันทึกในสถานะคนถือสัญชาติของรัฐใดเลยบนโลกนี้ กล่าวคือ ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนชาติของรัฐใดเลย”

ฉะนั้น ในความเป็นพลเมือง และประชาชน (People) ที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้น จึงมีอยู่ 2 มิติ คือ (1) ในฐานะ “ราษฎร” (civilian) หรือ “พลเมือง” (citizen) หรือคนในชาติ หรือประชาชนที่ทำมาหากินและอาศัยอยู่ในประเทศ และ (2) คนต่างด้าว (Alien or Foreigner) ที่เข้าเมืองมาทำงานหรือมาอยู่ในประเทศเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งบุคคลประเภทหลังจะไม่มีสิทธิทางการเมือง (Political Rights) แต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตามยังมีบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่ถือเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศเช่นกัน แต่อาจได้รับการจดทะเบียน (Register) หรือยังไม่ได้รับการรับรองหรือจดทะเบียนบุคคล (Undocumented) จากรัฐเจ้าของตัวบุคคลแต่อย่างใด (Personality Rights and Recognition Personality Rights) กล่าวคือ เป็นบุคคลที่มิได้มีการรับรองสถานะบุคคลจากรัฐใด ทำให้ไม่มีสัญชาติ หรือ ไร้รัฐไร้สัญชาติ (Stateless/Nationality-less)

เพราะ คนไร้รัฐ (Stateless Persons) คือ คนที่ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐใดบนโลกสถานะราษฎร (civilian) หรือ พลเมือง (citizen) จึงไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Lack of Personal State)

คนไร้สัญชาติ เป็นบุคคลซึ่งไม่ได้รับการยอมรับให้มีสถานะเป็นคนมีสัญชาติของรัฐใดเลย (Nationality - less)

ดู สถานการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหา คนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย : กฤษฎา บุญราช (ปลัดกระทรวงมหาดไทย), มติชน, 11 กรกฎาคม 2560, 12:07 น., https://www.matichon.co.th/article/news_599580 & 

ความเป็นพลเมืองในประเทศไทย (Citizenship in Thailand) โดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล, รัชวดี แสงมหะหมัด และ Eugenie Merieau, สถาบันพระปกเกล้า, 2554, https://www.kpi.ac.th/media_kpiacth/pdf/M10_452.pdf 

[6]คำว่า Connecting Point” แปลว่า “จุดเชื่อมโยง” หรือ “จุดยึดโยง” คำนี้สื่อความหมายถึงความผูกพันในสิทธิหน้าที่ของบุคคล ในทาง “สถานะบุคคล” (Personality) ระหว่างบุคคลหรือองค์กรที่ต้องผูกพันกัน ใน “สิทธิ” (Rights) นั้นๆ ในเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่ง ในทางปกครองสิทธิประเภทนี้จะฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้ โดยไม่มีอายุความ เช่น สิทธิในสัญชาติ ที่รัฐเจ้าของตัวบุคคลต้องจัดทำทะเบียนและให้รับรองบุคคลในสถานะบุคคล (Recognition Personality)

เทียบกับ “สิทธิเลือกตั้งและสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” เป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนในชาติ คือประชาชนหรือพลเมืองแห่งรัฐ (Voters/Citizen) ศัพท์คำว่า “ผู้เลือกตั้ง” คือ Voter, Electorate or Elector ส่วนคำว่า candidate หมายถึง “ผู้สมัครรับเลือกตั้ง”

เทียบกับ “สิทธิและเสรีภาพที่บริบูรณ์” (Absolute Rights) ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่อาจถูกจำกัดได้เลย เป็นสิทธิความเป็นเจ้าของและไม่มีเงื่อนไข จึงเป็นสิทธิอย่างเด็ดขาดหรืออย่างสัมบูรณ์ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ถือเป็น “สิทธิสมบูรณ์” เช่น สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา บุคคลจะนับถือศาสนาใดก็ได้ เป็นสิทธิที่อยู่ในใจ บุคคลอื่นจะบังคับให้เชื่อหรือไม่เชื่อไม่ได้ หรือ สิทธิในคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ หรือ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” (Human Dignity) หรือ สิทธิของสื่อมวลชน 

[7]ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ ตาม พรบ.เทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 ที่ได้มีการแก้ไขมาตรา 72 แห่ง พรบ.เทศบาล พ.ศ.2496 ที่ให้ยกเลิกชื่อของ "ส่วนที่ 6 การควบคุมเทศบาล" และความในมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ส่วนที่ 6 การกำกับดูแล" ดู พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 50 ก วันที่ 16 เมษายน 2562 หน้า 164-176, https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/050/T_0164.PDF 

[8]ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงิน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 271 ง วันที่ 31 ตุลาคม 2566 หน้า 1-27, https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/10671.pdf 

[9]ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงิน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 ข้อ 103 “ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นชี้แจงข้อทักท้วงไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินยืนยันว่ายังไม่มีเหตุผลที่จะล้างข้อทักท้วง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นชี้แจงเหตุผลและรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัยภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้รับคำยืนยันจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งผลการวินิจฉัยภายในสามสิบวันนับจากวันที่ได้รับรายงานจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัดให้ปฏิบัติให้เสร็จสิ้นภายในสี่สิบห้าวันนับจากวันที่ได้รับทราบผลการวินิจฉัย”

[10]"ปลดล็อกการกระจายอำนาจ” ในที่นี้หมายถึง การปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีหลายมิติ ได้แก่ การปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การปฏิรูปการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น เป็นต้น 

[11]อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) คือ บุคคลที่มีความสนใจ มีความสมัครใจ มีความเสียสละและอุทิศตน ในการทางานด้านการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย การปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเอง ใช้ ชื่อย่อว่า “อถล.” โดยกระทรวงมหาดไทย (มท.) อถล. เป็นการรวมกลุ่มของประชาชนในท้องถิ่นที่มีจิตอาสาในการช่วยเหลืองานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย การปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน มีจำนวนสมาชิก 6,936,820 คน “อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก” หมายความว่า ประชาชนที่มีจิตอาสา สมัครใจ เสียสละ และอุทิศตน เพื่อช่วยเหลืองานด้านการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย การปกป้อง และรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้ชื่อย่อว่า “อถล.” มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า “Local Environment Volunteer” และใช้ชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า “LEV” ตามข้อ 3 แห่ง ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ.2561, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 177 ง วันที่ 24 กรกฎาคม 2561 หน้า 1-10, ดู https://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER39/DRAWER097/GENERAL/DATA0000/00000051.PDFhttps://www.opsmoac.go.th/samutsakhon-news-files-451991791295

แต่ในขณะเดียวกัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย "กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม" หรือ "กรมโลกร้อน" ที่เปลี่ยนชื่อมาจากเดิม "กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม" ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป ก็มีอาสาสมัครที่เรียกว่า "ทสม." ที่ผู้เขียนมองว่าเหมือนกัน น่าจะภารกิจซ้ำซ้อนกัน หรือ เป็นภารกิจเดียวกัน มีข้อสังเกตว่า มท.จัดตั้งราษฎรจิตอาสา "อถล." ในปี 2561 แต่ ทส.จัดตั้ง "ทสม." ในปี 2562 

“อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน” หมายความว่า บุคคลที่มีความสนใจมีความเสียสละ และอุทิศตนในการทำงานด้านการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเอง ใช้ชื่อย่อว่า “ทสม.” มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า “Natural Resources and Environmental Protection Volunteer” และใช้ชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า “NEV” ตามข้อ 4 แห่ง ระเบียบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน พ.ศ.2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 136 ง วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 หน้า 1-11, https://eservice.dcce.go.th/storage/Media/C202011178969.pdfhttps://trang.mnre.go.th/attachment/iu/download.php?WP=qUIcnKtlpQugZKqCGWOghJstqTgcWatkpQOgAUpkGQWgG2rDqYyc4Uux

[12]ตามมาตรา 35 แห่ง พรบ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 บัญญัติว่า “ในการจ่ายเงินเดือน ประโยชน์ตอบแทนอื่น และเงินค่าจ้างของข้าราชการ หรือพนักงาน ส่วนท้องถิ่น และลูกจ้าง ที่นำมาจากเงินรายได้ที่ไม่รวมเงินอุดหนุนและเงินกู้หรือเงินอื่นใดนั้น องค์กรปกครองส่วนท้อง ถิ่นแต่ละแห่งจะกำหนดสูงกว่าร้อยละสี่สิบของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่ได้”

[13]ทั้งสองโครงการเป็นโครงการบริหารจัดการขยะที่คล้ายกันมาก แตกต่างเฉพาะวิธีการปฏิบัติ และวัตถุประสงค์ที่ต้องการ โดยมีเป้าหมายหลักคือ การลดปริมาณขยะ

[14]การจัดการขยะให้เหลือศูนย์ (Zero Waste)เป็นแนวทางการลดขยะให้เหลือศูนย์ หรือลดจำนวนขยะต่อคนให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นการหยุดปัญหาตั้งแต่ต้นทาง แทนที่จะกำจัดปัญหาขยะที่ปลายทาง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกดี ๆ ของการเริ่มต้นใช้ชีวิตแบบรักษ์สิ่งแวดล้อมและพร้อมช่วยโลกอย่างเต็มที่

[15]ข้อมูลจากสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร ระหว่างปี 2559-2563 ชี้ให้เห็นว่าขยะมูลฝอยที่ กทม. จัดเก็บมีปริมาณเฉลี่ย 3.5 ล้านตันต่อปี หรือเฉลี่ย 9,774 ตันต่อวัน ใช้เงินกำจัดขยะปีละหมื่นล้าน (อ้างจาก workpointTODAY, 6 เมษายน 2565) เมื่อขยะที่ต้องกำจัดลดลง เช่น กทม. ต้องเก็บขยะวันละเกือบ 9,000 ตัน ใช้งบประมาณถึงหมื่นล้านบาทต่อปี ใช้เจ้าหน้าที่กว่า 10,000 คน ใช้รถเก็บขยะกว่า 2,000 คัน เรือเก็บขนขยะหลายสิบลำ ถังขยะนับหมื่นใบ ต้องจ้างฝังกลบขยะตันละกว่า 100 บาท และใช้เป็นเงินเดือนเจ้าหน้าที่อีกมหาศาล เมื่อใช้งบประมาณน้อยลง สามารถนำไปพัฒนาด้านอื่นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

สถ.ชี้แจงในโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนว่า (17 พฤศจิกายน 2565) ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะที่เกิดขึ้นประมาณ 25 ล้านตันต่อปี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมกรุงเทพมหานครต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดการขยะ รวมกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นค่าซื้อรถขยะ ค่าถังขยะ ค่าน้ำมันรถ ค่าแรงคนขับ คนขนขยะ ซ่อมบำรุงรถ ค่าดูแลบ่อขยะ ค่าจ้างฝังกลบ ฯลฯ การคัดแยกขยะจะช่วยลดงบประมาณในการจัดการขยะถึง 2 หมื่นล้านบาทต่อปีลง

ดู ส่องสารพัดปัญหากรุงเทพ “ขยะ” กับงบประมาณหมื่นล้านบาทต่อปีที่สูญเสียไป, TODAY, 6 เมษายน 2565, https://workpointtoday.com/bkk2022-garbage/  

[16]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้บัญญัติไว้ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 77 บัญญัติว่า "รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอนเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น พึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง" 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท