มหากาพย์ทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างท้องถิ่นที่จบยาก


มหากาพย์ทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างท้องถิ่นที่จบยาก

5 มกราคม 2567

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

จบไม่ลงจริงๆ ขอต่ออีกสักนิด ว่าด้วยเรื่องการทุจริต ที่ใครจะดูว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะที่ไหนๆ ก็เห็นมีแบบนี้กันไปหมด มิใช่เฉพาะแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)เท่านั้น ที่จริงหากไม่ถือว่าเป็นเรื่องไร้สาระยังมีเรื่องเล่ากันได้อีกมากมาย [2] คนในองค์กร อปท. ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ในสิ่งที่มีคนท้วงติงว่ามา ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน แก้ไข มิใช่แถลแถไถ ฝืนต้าน ขวางทาง ต่อว่า รวมไปถึงการด้อยค่าด่าทอผู้ที่ได้ว่ากล่าวคนนั้น 

งานวิจัยเก่าของโกวิทย์ พวงงาม (2549) [3] พบว่า หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนว่าคอร์รัปชันมากที่สุดในช่วงปี พ.ศ.2543-2550 คือ อปท. พฤติกรรมการคอร์รัปชันใน อปท.โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการบริหารงานบุคคลมักจะมีพฤติกรรม ที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ซึ่งพฤติกรรมทั้ง 8 ประการ ได้แก่ 1)การยักยอก 2)การเรียกรับเงินหรือการให้สินบน 3)การเลือกจ้างหรือแต่งตั้งญาติและพวกพ้อง 4)การให้สัมปทานเฉพาะพรรคพวก 5)การใช้ข้อมูลภายในเพื่อการค้า 6)การฟอกเงิน 7)การมีผลประโยชน์ทับซ้อน และประการสุดท้ายคือ 8)การเอื้อประโยชน์ เมื่อวิเคราะห์ลักษณะการคอร์รัปชันของ อปท. พบว่า ลักษณะการคอร์รัปชันที่พบได้จากการปฏิบัติงานของ อปท.โดยภาพรวมและรายด้าน อยู่ในระดับปานกลางลักษณะเช่นนี้แสดงว่ามีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นจริง

จากข้อมูลของมานะ นิมิตรมงคล (2566) [4] พบว่า เงินบาปจากคอร์รัปชันในภาครัฐเสียหายราว 5 แสนล้านบาทต่อปี นี่ยังไม่รวมถึงความเดือดร้อนและผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนอื่นอีก เกิดจากกลโกง 3 ประเภทคือ “1)โกงหลวง 2)ฉ้อราษฎร์และ 3)กัดกินกันเอง” ซึ่งจากการประเมิน ITA ในรอบปีที่ผ่านมาพบว่า หน่วยงานต่างๆ ที่เข้ารับการประเมินมีผลคะแนน การประเมินที่สูงมากถึง99% [5] มีคะแนน ระดับผ่านดีเยี่ยม ที่ไม่สอดคล้องกับสถิติข้อมูลการทุจริตที่พบ

ระบบบริหารบุคคลบิดเบี้ยว​ เพราะวัฒนธรรมอุปถัมภ์​ [6]

อยากได้อะไรก็วิ่งลอบบี้​ คิดสรุปกันเพียงไม่กี่คน ทำอะไรก็มีเบื้องหลัง ไม่ตรงไปตรงมา​ ไม่ต้องมีเหตุผล​ ไม่เปิดเผย​ ไม่โปร่งใส ที่มีมานานแล้ว ข่าวเมื่อหลายปีก่อน ป.ป.ช.ชี้มูลทุจริตสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนนายอำเภอ [7] ศาลสั่งลงโทษก็มีแบบนี้มานานแล้ว ที่แม้การสอบแข่งขันในช่วงสิบปีที่แล้วมีมาก เพราะระบบอุปถัมภ์เส้นสายมันลงรากลึกมาก ว่ากันว่าส่วนหนึ่งคนฝ่ายปกครองได้ถ่ายทอดระบบอุปถัมภ์ให้ อปท.มากมาย หรือ อปท.ลอกเลียนแบบแนวมาจากครู สพฐ. ก็เป็นได้ เพราะการทุจริตในกระบวนการงานบริหารบุคคลมันแยบยลมากๆ ที่สามารถเลียนแบบจากหน่วยราชการอื่นข้างเคียงได้ เรียกว่า ยืมแบบก้อปแบบแนวทางกันมา และก็มักได้ผล เพราะเป็นแนวทางปกติ ที่เขาทำตามกันอย่างได้ผล แม้บางอย่าง อาจทำมาใช้ใน อปท.โดยตรงไม่ได้ เช่น การขายข้อสอบ การทำข้อสอบรั่ว หรือ การซื้อขายแลกเปลี่ยนการย้ายสลับแลกเปลี่ยนกันจากที่อยู่เดิมไปอยู่ตำแหน่งในท้องที่ที่ดีกว่า เจริญกว่า ก็ต้องมีการจ่ายเงินซื้อตำแหน่งนั้น เป็นต้น ว่ากันว่ามือที่มองไม่เห็นเป็นตัวการใหญ่อยู่เบื้องหลังเอกสารต่างๆ มักไม่ปรากฏตัวให้เห็น หรือมีพยานหลักฐานที่สืบสาวเอาผิดได้ มักจะลอยตัว ไม่ต้องรับผิด มักเป็นคนใหญ่ในส่วนกลางหรือผู้มีบารมีในพื้นที่และวงการ มีเรื่องก็โยนให้คน อปท. เช่น การจัดสอบ [8], การประเมิน, โครงการเงินอุดหนุนทั้งหลาย บางแห่งหนักข้อเข้าไปแทรกแซงแบ่งงานการจัดซื้อจ้างโครงการ ใน อปท.หลายแห่ง อย่างคดีกำนันนก

ที่จริงการทุจริตของท้องถิ่นต้องมีการแก้ไข เริ่มต้นที่การบริหารงานบุคคลที่ต้องโปร่งใสไร้ทุจริต กล่าวคือ ความโปร่งใสควรเน้นเรื่องบริหารงานบุคคลก่อนอันดับแรก [9] แต่ที่ผ่านมา อปท.ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้ได้ ไม่ว่าจะดำเนินการการหาบุคลากร ที่ระดับส่วนกลางหรือที่ระดับ ก.จังหวัดก็ตาม และพบว่า ในการต่อสู้เรียกร้องต่างๆ ของคน อปท. นั้น มีกลไกการขับเคลื่อนที่ซับซ้อนหลากหลายรูปแบบ ที่อ่อนไหว เหนื่อยล้า ฟันเฟืองกัดกร่อน ไร้แรงดัน คนที่สู้ ก็สู้ไป แม้ทุกฟันเฟืองต่างแสดงอาการดันสุดแรงแล้ว แม้ว่าเมื่อมีการนัดรวมพลังจะได้แสดงพลังให้มากที่สุดแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ชนะได้ง่าย กล่าวคือ การเสนอความเห็นใดขึ้นมาที่จะเห็นพ้องเป็นมติเสียงส่วนใหญ่ (consensus) [10] มิใช่เรื่องง่าย เพราะคน อปท. มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) [11] มากมายหลายกลุ่ม หลายพวก หลากหลายแนวคิด “มีความเห็นต่างเป็นสรณะ” [12] ความเห็นลงตัวจึงยากที่จะเกิด ประกอบกับมีปัญหาคือ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ก.จังหวัดที่แต่งตั้งกัน มักเป็นมิใช่ผู้ทรงคุณวุฒิที่แท้จริงตามเจตนารมณ์ แต่เป็น “ผู้ทรงอิทธิพล” เสียมากกว่า ก็เท่ากับว่าการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นนั้นยังไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2560 [13] ที่มุ่งแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่นแต่อย่างใด ข้อมูลต่างๆ จึงมีหลากหลายที่ต้องฟังหู ไว้หู แม้ว่าคนส่วนหนึ่งจะเห็นว่า คำสั่ง คสช.นี้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานบุคคลทำให้เกิดปัญหา ไม่สามารถ สรรหาบุคลากร สายงานผู้บริหาร ให้ดำรงตำแหน่งให้ครบตามโครงสร้างของ อปท.ได้ “ก่อให้เกิดตำแหน่งอัตราว่างมากมาย” ดูได้จากจำนวนคนที่มีสิทธิสอบบริหาร และคนไม่มีสิทธิสอบบริหารแต่ต้องรักษาราชการแทนที่มากขึ้น [14] ทำให้การบริหารงานขาดประสิทธิภาพ ส่งผลให้ขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ลดลง เพราะไม่มีโอกาสได้ก้าวหน้าในวิถีชีวิตข้าราชการเช่นข้าราชการพลเรือนทั่วไป แต่ท้องถิ่นก็ต้องมีวิสัยทัศน์จุดยืนที่ค้นหาตัวตนของท้องถิ่นให้ถูกทาง

ดุลพินิจที่มากเป็นช่องทางในการทุจริตแสวงประโยชน์จากอำนาจหน้าที่ได้

“มหากาพย์การทุจริตท้องถิ่น” จึงเกิดขึ้นได้ต่างๆ กันไป เช่น การฮั้ว [15] หรือ คดีทุจริตของท้องถิ่นที่เจอ หรือ ประเด็นอื่นที่คนทั่วไปคิดไม่ถึง คาดไม่ถึง เพราะไม่เข้าใจบริบทของท้องถิ่น ที่หลากหลาย ไม่น่าจะเกิดขึ้น ก็เกิดได้ เช่น การทุจริตยักย้ายถ่ายเทเงิน ด้วยระบบออนไลน์ [16] เพราะ ให้เจ้าหน้าที่เพียงผู้เดียวเป็นถือรหัสเป็นผู้ดำเนินการ ก่อให้เกิดการสูญเสียงบประมาณจำนวนมากมายหลายล้าน หรือการใช้รถหลวง [17] ในกิจการส่วนตัว นำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้ในกิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนตน หรือการทุจริต ในการประเมิน จัดเก็บภาษี การออกใบอนุญาตต่างๆ การซิกแซกไม่ตรงไปตรงมา เบิกเงินสวัสดิการ ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าซื้อบ้าน หรือค่าเงินกู้ เพื่อซื้อบ้านหรือสร้างบ้าน จึงมีหลากหลายรูปแบบ ที่อาจไม่ถูกต้องทำให้ทางราชการเสียประโยชน์ เป็นต้น

แม้ว่าจะมี “การใช้ดุลพินิจ” [18] ที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบท้องถิ่นกับวงการอื่น เอาว่ากันคร่าวๆ แบบบ้านๆ เช่น ตำรวจและฝ่ายปกครองที่มีช่องทางอาจจะมากหน่อย ด้วยเม็ดเงินที่สูงกว่า จากเงินส่วย เงินสีเทา สีดำ รางวัลนำจับ การออกใบอนุญาต เพราะมีอำนาจให้คุณให้โทษได้มากที่สุดและอยู่ใกล้ชิดกับความเป็นอยู่ของประชาชนได้มากกว่าเจ้าหน้าที่อื่น เจ้าหน้าที่สรรพากรมีช่องทางกับส่วนต่างประเมินภาษีเงินได้ นิติบุคคล บุคคลธรรมดา และเงินแวต การตบแต่งสอดใส้ตัวเลขการประเมินให้ดูดี ที่ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ศุลกากร ตม.ในรางวัลนำจับ และส่วย เจ้าหน้าที่สรรพสามิต ก็รางวัลนำจับ ส่วย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ก็รางวัลนำจับ แรงงานผี ยักยอกของกลาง เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่อาจมองว่ามีช่องทางน้อย เช่น ทหาร กรมชลประทาน กรมทางหลวง ก็มีเงินทอน มีแรงงานผี งานเหมาตัดช่วง ส่วยทางหลวง ได้เหมือนกันแทบทุกหน่วย ดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป ส่วนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็อาจมีช่องทางจากการขอใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต การรับเหมางานจ้าง การผูกขาดงานการจัดซื้อ ที่ดูจะน้อยกว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่น แต่กลับมีมากมายด้วยเรื่องข่าวการทุจริต ที่พักหลังดูว่าจะมีเหมือนกับเจ้าหน้าที่อื่นด้วย ในเงินส่วย เงินทอน ใบอนุญาต รางวัลนำจับ การสวมสิทธิต่างด้าว การตกแต่งตัวเลข โบนัส ฯลฯ [19] เมื่อแยกแยะออกมาหลายๆ หน่วยงานแล้ว จะพบว่ามันมีมิใช่น้อย ดังข่าวแปลกว่า บริษัทผลิตรถยนต์ได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐได้ ไปถึงตุลาการมีการทำถุงเงินหล่นวางถุงเงินก็มีมาแล้ว [20] แม้ ปตท.และธนาคารไปอยู่ใน สปป.ลาวก็มีข่าวถูกคุกคามจากสีเทาสีดำได้ ข่าวหุ้นลมในกิจการโรงแรม การท่องเที่ยว โรงงาน กิจการต่างๆ ทั้งในประเทศ ในลาว กัมพูชา เมียนมา 

แม้ว่าภาครัฐไทยจะเริ่มโปร่งใสขึ้น ผลประโยชน์ตกไปอยู่สาธารณะประชาชนคนไทยมากขึ้น แต่ก็มีข้อสงสัยบ้างจากฝ่ายค้านและผู้เห็นต่าง เช่น การกู้เงินภาครัฐอ้างมาช่วยประชาชนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำมาทุกรัฐบาลเงินได้ลงถึงประชาชน 100% หรือไม่เพียงใด 

ส่วนรวมหรือส่วนตัวอะไรกันแน่ 

อาจมีข้อสงสัยว่าประโยชน์ส่วนรวม [21] หรือประโยชน์ส่วนตัว ที่จริงแล้วมันคืออันไหนกันแน่ สิ่งสำคัญคือผู้นำหัวเรือที่ดีต้องพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน มิใช่ว่าทั้งคนที่บอกว่าทำเพื่อส่วนรวม หรือคนที่บอกว่าทำเพื่อ ส่วนตัวกลุ่มตัวเอง กลับไม่เห็นออกมาพูดคุยกันเลย มัวแต่ยึดมั่นถือมั่นทิฐิแขวะกันไปมา รังแต่จะทะเลาะกัน ว่า ใครทำเพื่อส่วนตัว ใครทำเพื่อส่วนรวม กันแน่ บางทีทำเพื่อส่วนรวม แต่แอบแฝงเพื่อส่วนตนก็มากหลาย หรือแอบอ้างบังหน้าให้ดูดีก็มี

เจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นคนที่ทำเพื่อส่วนรวมก่อน ใครที่ทำเพื่อตัวเอง ให้ตัวเองได้ประโยชน์ไม่สมควรที่จะให้อยู่ทำงานต่อไป หากเจ้าหน้าที่ทำเพื่อส่วนรวม เพื่อคนท้องถิ่นจริงๆ แม้จะมีน้อย ก็ยังทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ คน อปท.ที่อยู่มานาน หากมีความสังเกตอย่างผู้ที่มีความรับผิดชอบ ก็จะสังเกตและรับรู้ตรงจุดนี้ได้ไม่ยาก ว่าใครทำเพื่อตัวเอง ใครทำเพื่อส่วนรวม โดยมองว่า เมื่อส่วนรวมได้ประโยชน์ ทุกคน หรือ ตัวเองก็จะได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ กล่าวคือ ผลประโยชน์ตกแก่ส่วนรวม แม้เขาคนนั้นจะเป็นผู้บริหารท้องถิ่นก็มองออก ยกเว้นคน อปท.ผู้นั้นจะเป็น “พวกหมดไฟ” [22] หรือ พวก “ลู่ลมตามน้ำ” หรือเป็น “พวกหัวกลมหัวเหลี่ยม” [23] ที่อาจตกเป็น “พวกทุจริตขี้ฉ้อ” ได้ง่าย เพราะคน อปท.หลายคนมักขวัญหนีดีฝ่อกับจากเรื่องแย่ๆ ดังกล่าวคือเรื่อง หัวคิวทุจริตเส้นสายทำให้ “ไฟตก” ไม่มีแรงฮึดทำงานขาดขวัญกำลังใจ ขาดระบบการตรวจสอบ ขาดหลักการ ขาดความรับผิดชอบจึงเข้าทาง “การทุจริต และ ทุจริตเชิงนโยบาย” ได้อย่างไม่ยากเย็น เจ้าหน้าที่เหล่านี้ต่างรอเกษียณ งานไหนทำไม่ได้ก็ลองผิดลองถูกไป โชคดีก็รอดโชคร้ายหน่วยตรวจสอบพบก็รับเวรกรรมกันไป

หลากหลายการล็อกสเปคการจัดซื้อจัดจ้าง

ลองมาเจาะประเด็นการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement) [24] กันดีกว่า “มันดี” ข่าวการตรวจพบการทุจริตในท้องถิ่นต่างๆ ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะที่เป็นงานจ้างก่อสร้าง หรืองานก่อสร้างสิ่งแวดล้อมก็ต้องติดตาม เป็นปัญหาพื้นๆ ที่อาจตรวจสอบติดตามผลงานไม่ยาก ส่วนงานการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการที่เป็นภารกิจในอำนาจหน้าที่ของ อปท.นั้นมีมากมาย แจกแจงได้หลายประเภท เช่น โครงการวัฒนธรรมประเพณี งานส่งเสริมอาชีพ การศึกษา การสาธารณสุข ก็ควรตรวจตามเรื่องนี้ให้มาก เช่นกันเพราะถือได้ว่า เป็นหัวใจ หลักในการทำงานบริการประชาชน (Public service) [25] ของ อปท. ตามรัฐธรรมนูญ แต่อย่าลืมว่า “คนเป็นหัวใจสำคัญของงาน” ตำแหน่งหน้าที่จะสูงเพียงใด ในบางเวลาบางสถานการณ์ก็ไม่ได้การันตีว่า บุคคลนั้นจะไม่มีจิตคิดอันธพาล เพราะคนมีกิเลส จริต สันดานได้ทุกตัวตน ได้คนดีมีคุณภาพผลงานด้านบริการประชาชนก็ย่อมดีตาม ที่ผ่านมามีแต่เอาพวกใครพวกมัน พวกเดียวกันถึงโกงก็ว่าดี ต่างพวกถึงทำดีก็ว่าโกงใส่ร้ายป้ายสี จนคนกลางไม่รู้จะเชื่อใครได้ ต้องแก้สันดานพฤติกรรมร่วมโกงตรงนี้ให้ได้ 

มีตัวอย่างข่าว ป.ป.ช. ลงพื้นที่ตรวจ อปท.โครงการก่อสร้างถนน ค.ส.ล. งบ 2.2 ล้านบาท เพราะมีข้อร้องเรียนในสเปค [26] เช่น 1)ตะแกรงไวเมชไม่ได้ขนาด กรรมการฯ รายงานผู้เกี่ยวข้องแล้ว แต่ยังไม่แก้ไข 2)ทรายรองพื้นไม่ได้ตามแบบรูปรายการที่อาจจะส่งผลให้เกิดถนน คสล. ไม่เป็นไปตามแบบมาตรฐานกำหนด ซึ่งผลงานการก่อสร้างที่ไม่ถูกตามรูปแบบรายการจะทำให้รัฐเสียเปรียบในราคาของสินค้า สูญเสียงบประมาณเกินกว่าราคากลางที่ควรจะเป็น (ราคากลางไม่สูงเกิน)

ตัวอย่างข่าวการล็อกสเปคด้วยสินค้านวัตกรรมไทย มีข้อมูลใหม่จากสำนักข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า [27] อปท.แห่ทำถนนพ่วงติดตั้งโคมไฟนวัตกรรม TOR กำหนดรหัสสินค้าชัดเจน อ้างเป็นนโยบายผู้บริหาร พบว่า อปท.หลายแห่งพ่วงซื้อพร้อมโครงการถนนฯ กำหนดเงื่อนไขทีโออาร์เป็นเนื้องาน ผู้รับเหมาต้องมีเอกสารรับรองจากผู้ผลิตระบุเลขรหัสสินค้าชัดเจน เผยเป็นนโยบายผู้บริหารตามนโยบายของรัฐ โดย อปท. หลายแห่ง ดำเนินงานโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างก่อสร้างถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีต แต่มีการระบุเนื้องานให้ผู้รับเหมาที่เข้ามารับงานต้องดำเนินการติดตั้งเสาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย สำนักงบประมาณด้วย บาง อปท.วงเงินงบประมาณสูงถึงเกือบ 10 ล้านบาท ว่าทำไมต้องเจาะจงเป็นสินค้าเสาไฟถนนโคมไฟแอลอีดีพลังงานแสงอาทิตย์ตามรหัสบัญชีนวัตกรรมไทย ที่กำหนดเอาไว้ ทำให้ผู้รับจ้างที่ไม่มีก็ไม่สามารถเข้าร่วมการประกวดราคาได้ ที่ดูแล้วถือเป็นการล็อกสเปคการจัดซื้อจัดจ้าง แม้จะอ้างเป็นวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แต่ตามกฎหมายฮั้ว นั้น ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ได้ เพราะ มีการอ้างนโยบายของรัฐบังหน้าไว้ มีข้อสังเกตจะว่าเป็นส่วนดี หรือส่วนเสียก็ตามว่า โคมไฟแอลอีดีพลังงานแสงอาทิตย์มันคนละประเภทกับไฟฟ้าปกติ เพราะไฟถนนแบบนี้ไม่ต้องฝังสายไฟฟ้า และไม่ได้อยู่ในมาตรฐานไฟถนน

โครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกตรวจสอบเล่นงานและคิดเป็นมูลค่าเสียหายสูง มักมีต้นตอมาจากกลุ่มผลประโยชน์ส่วนกลางที่คิดให้ใส่พานมาให้ทั้งนั้น เช่น สนามฟุตซอล โคมไฟโซล่าเซลล์ เสากินรี สูบน้ำไฟฟ้าโซล่าเซลล์ โซล่ารูฟ ถนนพาราซีเมนต์ ถนนพาราซอยล์ ประปาป๊อกแท๊งค์ หรือแม้แต่ลานกีฬาต้านยาเสพติด หรือ งานฝังกลบขยะ เตาเผาขยะ เครื่องคัดแยกขยะ ที่เป็นงานนโยบายรัฐก็ไม่เว้น คน อปท.ต้องไม่หลงทางไปกับคำสั่ง หรือนักวิ่งที่มาสอดงบประมาณใส่มือให้จนโดนคดีหางเลขดังเช่น สนามฟุตซอล เสาไฟฟ้ากินรี-โคมไฟโซล่าเซลล์ ฯลฯ เพราะพวกวิ่งแค่ให้ได้งาน ได้ใช้เงินโครงการ จะหาประโยชน์แก่นสารยั่งยืนอะไรให้แก่ท้องถิ่นไม่ได้เลย ถึงเวลาที่คน อปท.จะร่วมกันต้านการโกงได้แล้วมั้ง แต่ก็อย่างว่าแหละ คน อปท.มันมีหลายเหล่าเกินกว่าที่จะเห็นร่วมกันได้ นี่ก็คือปัญหาโลกแตก


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unari-ne, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 5 มกราคม 2566, 23:00 น., https://siamrath.co.th/n/504893   

[2]ภาพลักษณ์ว่าท้องถิ่นมีการทุจริตมาก เป็นภาพลักษณ์ที่มีมานานแล้ว ในช่วงยุคทองของท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ 2540 สนับสนุนการกระจายอำนาจเต็มที่และในปี พ.ศ.2546 ก็มีการศึกษาวิจัยรูปแบบการทุจริไว้โดยโกวิทย์พวงงาม (2549) แยกพฤติกรรมได้ 8 รูปแบบ ต่อมาก็เริ่มมีข้อมูลติดตามมาว่าท้องถิ่นมีการทุจริตมาก ก็เพราะ อปท.มีหน่วยอิสระ(เป็นนิติบุคคล) มากถึงเกือบ 8 พันแห่ง จึงแน่นอนว่าจับตรวจตรงไหนมาย่อมเจอความผิดได้เสมอ แม้ฝ่ายผู้บริหารท้องถิ่นและนักวิชาการบางท่าน เช่น จากสถาบันพระปกเกล้าจะออกมาค้านว่า ท้องถิ่นมีการทุจริงจริง แต่เป็นเรื่องเล็กน้อยกว่า เพราะมูลค่าความเสียหายน้อยกว่าการทุจริตในภาครัฐของ “ส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค” 

จากบทความสถาบันพระปกเกล้า สรุปว่า ประเทศไทยยังมีการทุจริตคอรัปชั่นอยู่มาก และมีแนมโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สถาบันการเงินและภาพรวมของประเทศมีความน่าเชื่อถือที่ลดลง ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นนั้นไม่ได้เกิดเฉพาะในระดับประเทศ ในระดับการปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจัยสำคัญส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดปัญหานี้คือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์สาธารณะ ที่เราเรียกกันว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) ที่สะท้อนให้เห็นในลักษณะของระบบเครือญาติ พวกพ้อง หรือระบบอุปถัมภ์ เกิดการทุจริตคอรัปชั่นในรูปแบบต่างๆ ขึ้นมากมาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นการคอรัปชั่นอย่างหนึ่ง เป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้เกิดกันและกัน

มูลค่าความเสียหาย (2556) ในแต่ละปีพ่อค้าและนักธุรกิจกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ต้องสูญเสียเงินให้กับการคอรัปชั่นเป็นจำนวนสูงถึงเกือบ 3 แสนล้านบาท แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 จนถึงปี พ.ศ.2554 พบว่า ค่าดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นยังอยู่ในระดับต่ำนั่นคืออยู่ที่ระดับ 32 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน มาโดยตลอด 

มีผลการศึกษาที่น่าสนใจ (2565) ว่า สถานภาพความสัมพันธ์เชิงอำนาจราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เป็นการเจรจาต่อรองในฐานะหุ้นส่วนถ้าเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่ถ้าเป็นเรื่องความมั่นคงเป็นการเจรจาเพื่อให้ส่วนกลางมีพื้นที่ในท้องถิ่น ในขณะที่โครงสร้างที่ส่วนกลางส่งลงมาท้องถิ่นมีลักษณะ “จำแลง” คือ โครงสร้างนโยบายของรัฐที่ต้องการใช้ท้องถิ่นจัดหาประโยชน์ให้ส่วนกลาง ทำให้ส่วนท้องถิ่นไม่สามารถใช้มิติการปกครองได้อย่างเต็มที่

คำถามจากสื่อมวลชนเกี่ยวกับ “10 คดีคอร์รัปชันแห่งปี 2566” มานะ นิมิตรมงคล (2567) ตั้งข้อสังเกตว่า “...เชื่อว่าจะเลวร้ายลงอีก จากปัจจัยลบ 1. นักการเมืองเร่งตอบสนองกลุ่มทุนของพรรคการเมืองที่เพิ่งเปลี่ยนขั้ว/ข้ามกระทรวง 2. การเร่งถอนทุนจากที่ลงไปในการเลือกตั้ง 3. ข้าราชการนิ่งเฉยมองสถานการณ์อำนาจที่เพิ่งเปลี่ยน 4. นักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นที่มั่นใจในเครือข่ายของตนว่ามีอำนาจและจะปกป้องกันได้ จึงใช้อำนาจอย่างย่ามใจ 5. ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. ยังไม่เป็นที่เกรงกลัวของคนโกง ขณะที่กลไกตรวจสอบภายในหน่วยงานล้มเหลว...”

ดู พัฒนาการของแนวคิดการปกครองตนเองของท้องถิ่น: โอกาสและความท้าทายภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (DEVELOPMENT OF LOCAL SELF-GOVERNMENT IDEAS : OPPORTUNITIES AND CHALLENGES UNDER POLITICAL CHANGES) โดยฒาลัศมา จุลเพชร วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ปีการศึกษา 2565, https://digital.car.chula.ac.th/cgi/viewcontent.cgi?article=7450&context=chulaetd& แนวโน้มของคอรัปชั่นในประเทศไทย, โดย จารุวรรณ สุขุมาลพงษ์ วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานกฎหมาย 2 สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ในรัฐสภาสาร, กันยายน 2556, https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/ewt_dl_link.php?nid=1484 & การทุจริตคอรัปชั่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, โดย กฤษณ์ วงศ์วิเศษธร, สถาบันพระปกเกล้า, สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2566, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การทุจริตคอรัปชั่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น & ปี 2567 คอร์รัปชันจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง, โดยมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), สำนักข่าวอิศรา, 5 มกราคม 2567, https://www.isranews.org/article/isranews-article/125248-corrup-16.html 

[3]ดู ปัจจัยที่มีผลต่อการคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Factors Affecting Corruption in Local Administrative Organizations) โดย พชรดนัย วัชรธนพัฒน์ธาดา, คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิษณุโลก, ในวารสารการเมือง การบริหาร และกฎหมาย ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 (2562), https://so03.tci-thaijo.org/index.php/polscilaw_journal/article/download/249757/168234/881186

[4]เงินคอร์รัปชันมีมากแค่ไหนในแต่ละปี, โดยมานะ นิมิตรมงคล, เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), 12 ธันวาคม 2566, 18:10 น., https://www.isranews.org/article/isranews-article/124603-Mana-3.html & ACT จับตา 10 คดี คอร์รัปชันแห่งปี เสนอรัฐปฏิรูปด่วน “ตำรวจ-ราชทัณฑ์-ป.ป.ช.”, theactive, 21 ธันวาคม 2566, https://theactive.net/news/politics-20231221/

[5]ยกตัวอย่างคือ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สป.ทส.) ได้รับการประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ประจำปี 2566 ด้วยคะแนน 99.01 คะแนน อยู่ใน “ระดับผ่านดีเยี่ยม” จัดเป็นลำดับที่สองของหน่วยงานประเภทกรม หรือเทียบเท่า ซึ่งเป็นผลคะแนนที่สูงกว่าเมื่อปีที่ผ่านมา ดู สป.ทส. คว้าคะแนน ITA ภาครัฐ ระดับ “ผ่านดีเยี่ยม” 99.01 คะแนน ตอบรับนโยบาย “ทส. โปร่งใสและเป็นธรรม”, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 13 สิงหาคม 2566, https://www.mnre.go.th/th/news/detail/162165

[6]วัฒนธรรมอุปถัมภ์ ที่ใช้ในการบริหารงานบุคคล หมายถึง “ระบบอุปถัมภ์” (Spoil System) ที่ตรงกันข้ามกับระบบความรู้ความสามารถ หรือ “ระบบคุณธรรม” (Merit System) ซึ่ง “Spoil System” จะเรียกได้อีกอย่างคือ “The Patron-client System” หรือ “Patronage System” คือระบบที่มีเจ้านายมีลูกน้อง (นาย-บ่าว) มีเส้นมีสาย ไม่ได้แต่งตั้งตำแหน่งกันตามความรู้ความสามารถ เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม (relationship) ที่มีอยู่ในสังคมจารีตนิยม ได้แก่ ประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฯลฯ ซึ่งมีนัยยะว่า “มีการอุปถัมภ์ค้ำชูกันแบบพวกพ้อง” นั่นเอง คำนี้หากนำมาใช้ในทางการเมืองก็คือ การค้ำจุน การค้ำชู การสนับสนุน การเลี้ยงดู หรือมีการอุปถัมภ์ค้ำชูกันแบบนาย-บ่าว โดยเฉพาะแนวโน้มในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง (Politicians used Patron-Client system to be a criteria or sometimes used Democratic Governance as a tool when decided to change high bureaucrats.) 

[7]ป.ป.ช.ชี้มูลทุจริตสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนนายอำเภอปีงบประมาณ 2552 โดยมีการแก้ไขเขียนกระดาษคำตอบขึ้นใหม่ให้ผู้เข้าสอบ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงตามข่าวว่ามีคำสั่งให้แก้ไขกระดาษคำตอบปรับเพิ่มคะแนน เชื่อว่า ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรมีส่วนร่วมในการสั่งการให้ปรับเพิ่มคะแนนสอบเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เข้าสอบที่มีรายชื่อตามใบฝาก หรือโผฝากประมาณ 150 รายชื่อ ดู ยกฟ้อง “วงศ์ศักดิ์” ขอถอนคำสั่งไล่ออกราชการเหตุทุจริตสอบนายอำเภอ ศาล ปค.สูงสุด ชี้ผิดจริง, ผู้จัดการออนไลน์, 11 ตุลาคม 2566, 19:09 น., https://mgronline.com/politics/detail/9660000091931

 [8]ตัวอย่างกรณีศึกษาการทุจริตการสอบแข่งขันคดีอาญาที่คลาสสิคมาก ในการสอบแข่งขันบุคคลเพื่อบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบลในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม พ.ศ.2557 จากข่าว : กลุ่ม7 คดีสอบบรรจุพนง.สารคาม คุก 50 ปี อดีตนายกอบต.เขวาไร่, หน.ภาคฯจุฬาโดนเพิ่ม 3ปี, สำนักข่าวอิศรา, 12 ตุลาคม 2565, 15:59 น., https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/112763-inves09639-225.html

& กลุ่ม9 คดีสอบบรรจุพนง.สารคาม คุกอดีตนายก อบต.แพง, สำนักข่าวอิศรา, 20 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/116257-inves09-304.html

& กลุ่ม11 คดีสอบบรรจุ พนง.สารคาม! คุก5 ปี อดีตนายก อบต.ราษฎร์พัฒนา-หน.ภาคจุฬาฯโดนอีก, สำนักข่าวอิศรา, 5 พฤษภาคม 2566, https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/118302-inves099-15.html 

[9]ปัจจุบันหลักการและแนวทางการบริหารงานภาครัฐตามแนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญ คือ การมุ่งเน้น “การบริหารงานในแบบมืออาชีพ” (hands-on professional management) โดยอาศัยนักบริหารที่มีทักษะสูงเพื่อรับผิดชอบการบริหารงานขององค์กรโดยรวมอย่างคล่องตัวและมีความเป็นอิสระ โดยเฉพาะมี “ระบบในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล” (Human Resource Development: HRD) เช่น เพื่อพัฒนาเกี่ยวกับการดำเนินงานที่ส่งเสริมความเสมอภาคเพื่อนำไปสู่ "การบริหารงานบุคคลและการบริหารจัดการอื่นๆ" ที่โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ดู คู่มือการจัดระดับการกำกับดูแลองค์การภาครัฐ ตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance Rating), โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.), กันยายน 2552, https://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER7/DRAWER041/GENERAL/DATA0000/00000090.PDF& ทําไมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงมีความสำคัญ, optimistic, 2563, สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2566, https://www.optimistic-app.com/why-hrd-important/

[10]ในภาษาอังกฤษมีสับสนอยู่ 2 คำ คือ Unanimityหมายถึงเอกฉันท์ คือ การออกเสียงเห็นด้วยหมดทุกเสียง หากมีเพียง 1 เสียงที่คัดค้าน เรื่องนั้นก็ดำเนินการต่อไปไม่ได้ ส่วน Consensus หมายถึง ฉันทามติ เป็นการให้ความเห็นชอบโดยไม่ต้องมีการลงคะแนน เนื่องจากไม่มีการแสดงความเห็นคัดค้าน จะเห็นว่า ไม่มีการยกมือ ไม่มีการลงคะแนนอะไรใดๆ ทั้งนั้น ใช้คำว่า consensus จะใช้ unanimity ไม่ได้ คำที่คล้ายๆ กันกับ consensus ก็คือ agreement

ฉันทานุมัติ หรือ ฉันทามติ (consensus)หรือ ความเห็นพ้อง หมายถึง ความรู้สึกร่วมกัน (feel together) โดยพจนานุกรมฉบับ Merriam-Webster’s ให้ความหมายของ consensus ไว้ว่าเป็นข้อตกลงร่วมกันที่มีลักษณะเป็นการยอมรับแบบเอกฉันท์ (unanimity) หัวใจของความเห็นพ้องมีสาระสำคัญอยู่ที่การประนีประนอมระหว่างกัน และจัดกระบวนการให้คนในสังคมหรือชุมชนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เป้าหมายของความเห็นพ้องมีเพื่อเป็นเครื่องรับประกันว่าสมาชิกทุกคนในชุมชนจะสามารถแสดงความคิดเห็นและหาข้อตกลงร่วมกันได้ ความเห็นพ้องมักเชื่อมโยงกับการตัดสินใจ (consensus decision making) : วิกิพีเดีย

ซึ่งหมายถึง มีความรู้สึกร่วมกัน เห็นด้วย เห็นพ้องกันอย่างเอกฉันท์ มีข้อตกลงหรือผลสรุปร่วมกันอย่างเป็นเอกฉันท์สรุป ฉันทามติ (consensus) หมายถึงการยอมรับที่เป็นเอกฉันท์ (unanimity) คือ ได้รับการยอมรับหรือความเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง (มากกว่าครึ่งหนึ่ง) ของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งในการเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้เกินกว่ากึ่งหนึ่ง จะได้รับความยินยอม หรือ “ฉันทามติ” (ฉันทานุมัติ) ให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล หรือ การเสนอชื่อให้ที่ประชุมรัฐสภา ให้ความเห็นชอบเป็น นายกรัฐมนตรี 

ดู เสียงเอกฉันท์กับฉันทามติต่างกันอย่างไร?, โดยคุณนิติ นวรัตน์, ไทยรัฐ, 25 เมษายน 2556, https://www.thairath.co.th/content/340717 

[11]“ผู้มีส่วนได้เสีย” (Stakeholder) ในที่นี้อาจเทียบได้กับ “กลุ่มผลประโยชน์” (Interest Group) ซึ่งในกรณีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นสามารถแยกย่อยได้ค่อนข้างจะซับซ้อนมาก ซึ่งแยกได้เป็น 2 ฝ่ายหลัก คือ 1)ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ตามวาระ 4 ปี ได้แก่ นายก อปท.และสมาชิกสภา อปท. 2)ฝ่ายประจำที่มาจากการสอบแข่งขัน ไม่มีวาระแต่ปฏิบัติราชการได้จนเกษียณอายุราชการ 60 ปี ได้แก่ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้าง และพนักงานจ้าง

เพราะ ในระหว่างกลุ่มเดียวกันก็อาจแยกย่อยได้เป็นกลุ่มเล็กๆ ได้อีก เช่น กลุ่มข้าราชการส่วนท้องถิ่น แม้จะแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1)ข้าราชการส่วนจังหวัด (อบจ.) 2)พนักงานเทศบาล (เทศบาล) และ 3)พนักงานส่วนตำบล (อบต.) แล้ว ยังมีกลุ่มข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอีกกลุ่มที่ล้อหลักเกณฑ์จาก ก.ค.ทั้งหมด ยกเว้นข้าราชการบางตำแหน่งที่คงไว้ไม่อยู่ภายใต้ระเบียบของ ก.ค. เช่น ผอ.กองการศึกษา นักวิชาการศึกษา เป็นต้น ซึ่งกลุ่มข้าราชการส่วนท้องถิ่นสามารถแยกย่อยลงไปได้อีกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ 1)กลุ่มสายงานผู้บริหาร คือ ข้าราชการท้องถิ่นประเภทบริหารท้องถิ่น และประเภทอำนวยการท้องถิ่น และ 2)กลุ่มสายงานผู้ปฏิบัติ คือประเภทวิชาการ และประเภททั่วไป

[12]ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติในสังคมตามระบอบประชาธิปไตย ที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (Free Speech) ตามกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ สังคมประชาธิปไตยมีความเห็นต่างเป็นสรณะ ความเห็นต่างถือเป็นเรื่องปกติ แต่มันอาจกลายเป็นความขัดแย้ง (Conflict) ได้ ตามหลัก “confirmation bias” เป็นหลักจิตวิทยาที่ใช้อธิบายว่าทำไมคนเราจึงได้มีความเห็นที่ต่างกันมากขนาดนี้ ทั้งที่อยู่ในสังคมเดียวกัน หรือแม้แต่คนบ้านเดียวกัน ก็ยังมีความคิดต่างกันคนละขั้วเลยก็มี มีข้อสังเกตเพิ่มเติม คือ

(1)มีอีกคำที่ควรทราบและเข้าใจ คือคำว่า "Empathy และ Sympathy" Empathy คือความสามารถในการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในความรู้สึก หรือสถานการณ์คนอื่นเผชิญ ทำให้เข้าใจเหตุผล และความรู้สึกจากมุมมองของคนคนนั้นจริงๆ สรุปคือเป็นความเข้าใจคนอื่นง่ายๆ ด้วยการ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" ซึ่งจะต่างจาก Sympathy คือความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทั้งความรู้สึกเศร้า เสียใจ เห็นใจ เมื่อเห็นคนอื่นต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่ดีนั้น

(2)มีคำอธิบายเรื่องการอยู่ร่วมกันกับความเห็นต่าง ก็คือ "confirmation bias"เป็นความลำเอียงของสมองที่จะเลือกเข้าข้างกับความเชื่อเดิมที่มีอยู่ของตัวเอง ทำให้เราเหมือนติดอยู่ใน “echo chamber” หรือห้องเสียงสะท้อน ที่มีแต่เสียงสะท้อนของตัวเราเองจากทุกทิศทางๆ ซ้ำไปซ้ำมาก้องเข้าหู เพราะเราได้เห็นเฉพาะความเชื่อแบบเดิมๆ เห็นเฉพาะมุมมองของคนอื่นที่ล้วนแต่มีความคิด มีความเชื่อไปในทางเดียวกับเราเท่านั้น นั่นทำให้เกิดเหตุการณ์ “false consensus effect” ตามมา สิ่งนี้เองที่เป็นกับดัก เพราะทำให้เราหลงเชื่อว่า “ใครๆ ก็คิดแบบเดียวกับเรา เชื่อแบบเดียวกันกับเรา” ยิ่งถ้าเรารู้สึกว่ามีคนที่มีความคิดเหมือนกันเข้ามาอยู่ฝั่งเดียวกันกับเรามากขึ้น เราก็ยิ่งมั่นใจในความเชื่อของเรามากเท่านั้น ว่าความคิดเรานี่แหละที่ถูกต้องที่สุด และเริ่มไปตราหน้าฝั่งที่คิดตรงกันข้ามกับเราว่าเป็นฝ่ายที่ผิด ไม่เปิดใจรับความจริง หรืออาจถึงขั้นด่าทอว่าโง่เลยก็มี และเริ่มมีคำเรียกที่ใช้แสดง "ความเกลียดชัง" ที่เป็นต้นเหตุนำไปสู่ "การแสดงออกซึ่งความเกลียดชัง (Hate Speech)

ดู จิตวิทยาว่าด้วย “การเห็นต่าง” ทำอย่างไรถึงจะอยู่ร่วมกันได้, TerraBKK.com, 25 ตุลาคม 2563, https://www.terrabkk.com/articles/199099 

(3)มีคำศัพท์อยู่ 3 คำที่ต้องหาจุดสมดุลพอดี (balance) เพื่อหานิยามความหมายว่า จะมีขอบเขตความหมายได้กว้างขวางเพียงใด คือ คำว่า 1)Hate Speech คำพูดหรือการแสดงออกที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังแก่ผู้ฟัง 2)Freedom of Expression (Free Speech) : เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 3)Discrimination : การเลือกปฏิบัติ 

(3)มีคำอธิบายเรื่อง “ความเห็นต่างทางการเมือง” คือ หลักรัฐต้องไม่ละเมิด “สิทธิเสรีภาพ” (rights and freedom) ของประชาชน หรือละเมิดอำนาจอธิปไตย (Popular Sovereignty) ที่ถือว่าเสียงของประชาชน คือเสียงของสวรรค์ (vox populi, vox dei) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพบว่า “ทัศนคติทางการเมือง” (Political Attitude) หมายถึงระบบความเชื่อในทางการเมืองของบุคคล (แตกต่างจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นระบบความเชื่อร่วมกันของสังคม) โดยทั่วไปเราสามารถแบ่งทัศนคติทางการเมืองออกเป็น 5 แบบคือ พวกซ้ายจัด พวกเสรีนิยม พวกเป็นกลาง พวกอนุรักษ์นิยม และพวกขวาจัด แต่ของไทยเราในสถานการณ์ปี 2557 อาจแบ่งได้เพียง 3 แบบเท่านั้น คือ กลุ่มเสื้อเหลือง(พันธมิตร/กปปส./คปท./พุทธะอิสระ /40 สว./ป.ป.ช./ศาลรัฐธรรมนูญฯลฯ) กลุ่มเสื้อแดง(นปช./ควป./โกตี๋/ขวัญชัย/รักเชียงใหม่51 ฯลฯ) และกลุ่มที่อยู่กลางๆ พร้อมที่จะสนับสนุนหรือต่อต้านสองกลุ่มดังกล่าว ดู บทความเรื่อง เหตุเพราะความเชื่อทางการเมือง, ในเวบเครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย, 20 เมษายน 2557, http://www.public-law.net/publaw/printPublaw.aspx?ID=1954

[13]คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 8/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 54 ง วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 หน้า 109-110, https://library.parliament.go.th/sites/default/files/assets/files/give-take/content_ncpo/NALT-ncpo-head-order8-2560.pdf

[14]ตำแหน่งสายงานผู้บริหาร ซึ่งเป็นตำแหน่งหัวขององค์กรว่างมาก อาจเกิดปัญหาในการบริหารงานว่า ท้องถิ่นจะพัฒนาไปแบบไหน ทำไมต้องปล่อยให้ตำแหน่งสำคัญว่างมากมาย ยิ่ง อบต.ตำแหน่งว่างเยอะมาก แต่ผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะเข้าสู่ตำแหน่งน้อย ตั้งแต่ระดับ ผอ.ขึ้นไป ประมาณการว่า ปัจจุบันตำแหน่ง ปลัดต้น และรองปลัดต้น ของ อบต. เฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติมีสิทธิสอบ ปลัดกลาง/ต้น มีจำนวนประมาณไม่น้อยกว่า 1,700 อัตรา สอบรอบนี้ อบต.ก็ยังคงมีตำแหน่งว่างมากเหมือนเดิม เพราะมีผู้ที่เกษียณมากกว่าผู้มีคุณสมบัติสอบ ตำแหน่งว่างผู้ที่เกษียณถือเป็น “ตำแหน่งว่างใหม่” มีปัญหาเรื่องรายงานตำแหน่งว่าง ทั้งสายงานปฏิบัติ และสายงานผู้บริหาร บางจังหวัดขาดการติดตาม อปท.บางแห่งก็นิ่งเฉย ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบจำนวนอัตราว่างที่แท้จริงได้

สำหรับอัตราตำแหน่งว่าง อบต. ดังนี้ ปลัด อบต. สูง 2 อัตรา ปลัดกลาง 849 อัตรา ปลัดกลาง/ต้น 631 อัตรา ปลัดต้น 95 อัตรา รวม 1,577 ตำแหน่ง (เครดิต : ประภาส ประตุมมา, ธันวาคม 2566) 

มีข้อสังเกตว่า การประชุม ก.กลาง ครั้งที่ 12/2566 เมื่อ 21 ธันวาคม 2566 มติที่ประชุม เสนอให้ปลดล็อคการย้าย ก็เท่ากับว่าคือ การเสนอไม่ให้มีการจัดสอบบริหารทางอ้อมนั่นเอง เพราะ คำสั่งล็อคตำแหน่งทำไปเพื่ออะไร ในเมื่อโอนย้ายแล้วอัตราตำแหน่งก็ยังเท่าเดิมเพราะย้ายใน อปท.ประเภทเดียวกัน (ไม่ข้ามห้วย) หน่วยงานอื่นไม่เห็นมีการล็อคการโอนย้าย คนที่จะสอบก็สอบไป ตำแหน่งที่ใดว่างก็เรียกใช้บัญชีไป ยกตัวอย่างกรณีของ ก.พ.เมื่อสายบริหารว่างเพื่อไม่ให้ราชการเกิดความเสียหายและเกิดประสิทธิภาพ ก็จะดำเนินการคัดเลือกตำแหน่งประเภทบริหารและประเภทอำนวยการเพื่อให้ได้คนมาบริหารทันที

เนื่องจากยังไม่มีแผนการสอบ และมีแนวโน้มว่า เทศบาลอาจยังไม่สามารถดำเนินการสอบได้ในรอบปี 2567 มีผู้เสนอว่า (1) ให้ ก.อบต. แยกสอบก่อน เพราะ อบต. มีจำนวนอัตราว่างที่มากกว่าเทศบาล สงสารคนนั่งรักษาราชการแทนหลายตำแหน่ง (2) การแก้ปัญหาสายงานผู้บริหารว่างที่จะทำให้ตำแหน่งบริหารว่างเหลือน้อยที่สุด โดยให้ท้องถิ่นนั้นสรรหาเอง จะสามารถแก้ปัญญาได้อย่างแน่นอน แต่หากให้ส่วนกลาง (กรม) สรรหา ตำแหน่งก็จะมีว่างจำนวนมากเหมือนเดิม ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องความโปร่งใส (ที่พากันเข้าใจว่าสอบส่วนกลางโปร่งใสกว่า) เมื่อได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง อปท.ก็ต้องเลือกเอา

[15]การฮั้วเป็นภาษาพูด หมายถึง ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 120 ก วันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 หน้า 70-76, https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/120/70.PDF

[16]ข่าวสำนักงาน ป.ป.ท. ตรวจสอบพบความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงินของฝ่ายการเงินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online ต้องสงสัยหลายรายการ จึงได้ตรวจสอบพบว่า มีการยักยอกเงินงบประมาณของหลวงไปใช้จ่ายส่วนตัว โดยใช้อำนาจหน้าที่ที่สามารถเข้าถึงรหัสการเบิกถอนเงินออกจากธนาคาร 

ดูข่าว รวบเจ้าหน้าที่ อบต. 7 แห่ง ยักยอกเงินหลวง โอนเข้าบัญชีตัวเอง เสียหายกว่า 80 ล้าน โดย PPTV Online, 14 มิถุนายน 2566, 17:55น., https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/198699& ย้ำ ท้องถิ่น รู้ทัน “แก๊งอมเงินหลวง” หลังเสียหายสะสม 2.9 พัน ล. ปูด! ผู้มีอำนาจ-คนถือรหัส-คนเซ็น หัวขบวนโกงผ่านช่องว่าง “กรุงไทยออนไลน์”, โดย ผู้จัดการออนไลน์, 23 พ.ย. 2565, 16:43 น., https://mgronline.com/politics/detail/9650000111820  

[17]หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 0546 ลงวันที่ 25 มกราคม 2562 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ดู มท.สั่งคุมใช้รถหลวงอปท.ล่าสุด ผู้บริหารทำเองโดนสอบพ้นตำแหน่ง-จอดไว้บ้านคืนค่าน้ำมัน, โดยisranews, 21 กุมภาพันธ์ 2562, 09:48 น., https://www.isranews.org/content-page/item/74006-news03_74006.html 

[18]ตามทฤษฎีว่าด้วยการทุจริตให้ค่าน้ำหนักตัวแปร “การใช้ดุลพินิจ” (discretion) ไว้มากว่า หาก มีการเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่มีอำนาจ (Power)ผูกขาด (Monopoly) ได้ใช้ดุลพินิจมาก จะมีแนวโน้มที่เกิดการทุจริต (Corruption) ได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจาก “ดุลพินิจมาพร้อมกับความรับผิดชอบ” (Accountability)

ศ.โรเบิร์ต คลิตการ์ด (Robert Kitgaard) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน คณบดีแห่ง Rand Graduate School, California ที่มีผลงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชันซึ่งเป็นที่ยอมรับ ได้เสนอกรอบแนวคิดเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตในรูปแบบของสมการที่เรียกว่า “สมการคอร์รัปชัน” ว่า C (Corruption) การทุจริต = M (Monopoly) การผูกขาด + D (Discretion) การใช้ดุลพินิจ – A (Accountability) กลไกความรับผิดชอบ

ดู ส่วย สินบน สินน้ำใจ ภัยร้ายขวางชาติเจริญ, INN WHY?, 16 กรกฎาคม 2566, https://www.innwhy.com/nacc160723/ & การทุจริตคอรัปชั่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, โดย กฤษณ์ วงศ์วิเศษธร, สถาบันพระปกเกล้า, อ้างแล้ว

[19]ข่าวช่วงหลังเกี่ยวกับการทุจริตของท้องถิ่นก็ใช่ย่อย ในแดนอิทธิพลบางพื้นที่อาจมีสีเทา สีดำ มีการจัดสรรประโยชน์ (การทุจริตเชิงนโยบายรูปแบบหนึ่ง) ได้ไม่น้อยหน้าเหมือนดังการทุจริตที่มีในราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคได้เช่นกัน มิใช่มีเพียงพื้นที่กำนันนกเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่อื่นๆ ด้วย เป็นต้น ดูตัวอย่างข่าวการเรียกรับเงินโบนัส

อ้างอิง บุกจับกลางงานกีฬาสี นายก อบต.อุบลฯ โกงเงินโบนัสปีใหม่ลูกน้อง 6 หมื่นบาท, ข่าวสด, ข่าวด่วน, 5 มกราคม 2567, https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_8039169 & ป.ป.ช.บุรีรัมย์ จ่อสอบเทศบาล หักเงินโบนัส 10% อ้างใช้ดูแลพนง.จ้างเหมา, ข่าวสด, 5 มกราคม 2567, 16:20 น., https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_8039276 & นายกเทศมนตรี หนองไม้งาม ปฏิเสธไม่รู้เรื่องหักโบนัสข้าราชการ 10 % คาดพนักงานตกลงกันเอง, มติชนออนไลน์, 20 ธันวาคม 2566, https://www.matichon.co.th/region/news_4339289 & คดีทุจริตอดีตนายก อบต.แม่ท้อ แม่โดน คุก 6 ปี 32 ด.-'ลูก' รอลงอาญา ป.ป.ช.ขออุทธรณ์ (คดีเรียกเงินพนักงานแจ้งโอนย้ายมาทำงาน อบต. และเรียกเงินตอบแทนโบนัส), สำนักข่าวอิศรา, 11 กรกฎาคม 2566, https://www.isranews.org/article/isranews-news/120082-inves0999-43.html & ป.ป.ช.อุทธรณ์สู้ รอลงอาญาคุกยกทีม อบต.ท่าสองคอน 'นายก-2รอง-1เลขา' เรียกเงินจ่ายโบนัส, สำนักข่าวอิศรา, 11 ธันวาคม 2564, https://isranews.org/article/isranews-news/104898-inves-18.html 

[20]เช่น ข่าวถุงเงิน(ล้าน)หล่นที่ศาล โดยไม่ปรากฏเจ้าของเงิน แม้แต่ศาลทหารในภูมิภาคแห่งหนึ่งเมื่อราว 10 ปีก่อนก็เคยมี 

[21]คำภาษาอังกฤษใช้ว่า “Public Interest”ส่วนในภาษาไทย มีใช้อยู่หลายคำ ซึ่งมีบัญญัติไว้ในกฎหมายต่างๆ เช่น คำว่า ประโยชน์ส่วนรวม หรือ ประโยชน์โดยรวม หรือ ประโยชน์สาธารณะ และในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีคำว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” (conflict of interest : COI) คือ สถานการณ์ที่บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งอันเป็นที่ไว้วางใจ (เช่น ทนายความ นักการเมือง ผู้บริหาร หรือ ผู้อำนวยการของบริษัทเอกชน หรือ หน่วยงานรัฐ) เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างผลประโยชน์ ส่วนตัวกับผลประโยชน์ทางวิชาชีพ (professional interests) อันส่งผลให้ เกิดปัญหาที่เขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง / ไม่ลำเอียงผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้น อาจส่งผลให้เกิดความไม่ไว้วางใจที่มีต่อบุคคลผู้นั้น ว่าเขาจะสามารถปฏิบัติงานตามตำแหน่งให้อยู่ในครรลองของคุณธรรมจริยธรรมได้มากน้อยเพียงใด

ภาษาไทยใช้อยู่ 3 อย่าง(คำ) คือ (1) ความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม (2) ผลประโยชน์ทับซ้อน (3) ผลประโยชน์ขัดกัน คำว่า มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูฐแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ มาตรา 184-187 แต่ไม่มีนิยามให้ความหมายบัญญัติไว้

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธี พิจารณาศาลปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 3 ““ประโยชน์แก่ส่วนรวม” หมายความว่า ประโยชน์ต่อสาธารณะหรือประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะหรือการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือประโยชน์อื่นใดที่เกิดจากการดำเนินการหรือการกระทำที่มีลักษณะเป็นการส่งเสริม หรือสนับสนุนแก่ประชาชนเป็นส่วนรวม หรือประชาชนส่วนรวมจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินการหรือการกระทำนั้น”

(มาตรา 3 เพิ่มบทนิยามต่อจากบทนิยามคำว่า “สัญญาทางปกครอง” ตาม ฉบับที่ 5 พ.ศ.2551 มาตรา 3)

ดู ผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) โดย act, 26 ธันวาคม 2559, http://www.anticorruption.in.th/2016/th/detail/56/1/ผลประโยชน์ทับซ้อน%20(conflict%20of%20interest)

[22]คนหมดไฟ (Burn out) มักมีทัศนคดิ แนวทางการทำงานที่ไม่กระตือรือร้น ขาดขวัญกำลังใจ เปรียบเหมือนคนที่หมดไฟ หรือแบตเตอรี่อ่อน (แบตหมด) ประมาณนั้น 

[23]คำว่าหัวกลมหัวเหลี่ยม เป็นคำเปรียบเปรยให้เห็นภาพ หัวกลมหมายถึงผู้ที่ยึดระเบียบกฎหมายหลักเกณฑฯ อย่างเคร่งครัด ส่วนหัวเหลี่ยมหมายถึงพวกที่พยายามเลี่ยงระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งบุคคล 2 จำพวกนี้ไม่เป็นผลดีต่อหน่วยงานมากนัก 

[24]การจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement) ในที่นี้ก็คือการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ แต่เดิมเรียกว่า "การพัสดุ" ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

[25]บริการสาธารณะ (Public Service)คือ กิจกรรมประเภทหนึ่งซึ่ง รัฐมีหน้าที่ต้องจัดทำขึ้น เพื่อสนองความต้องการของประชาชนโดยส่วนรวมเป็นการให้บริการแก่ประชาชน หรือการดำเนินการอื่นเพื่อ สนองความต้องการของประชาชน (นันทวัฒน์ บรมานันท์, 2543)

[26]ป.ป.ช. ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ลงพื้นที่ตรวจสอบหลังได้รับแจ้งจากทางศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center : CDC) โครงการของเทศบาลตำบลหินกอง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2566 พบว่าใบแบบสรุปข้อมูลวัสดุและค่าดำเนินการงานก่อสร้างทาง สะพาน และท่อเหลี่ยม ได้ระบุว่า จะต้องใช้ตะแกรงเหล็กเส้นกลม ผิวเรียบชนิดสี่เหลี่ยมจัตุรัสเหล็กศก.6.0 มม. ขนาดตาราง 0.30 X 0.30 ม. ตราทีเอ็ม แต่ในข้อเท็จจริง การก่อสร้างโครงการนี้ใช้ตะแกรงเหล็กขนาด 6x4 มม. ซึ่งอาจจะไม่เป็นไปตามรูปแบบรายการได้ และทำให้รัฐเสียเปรียบในราคาของสินค้าได้

[27]ชนะคู่เทียบหลักพันไส้ใน อบต.สร้างมิ่ง ทำถนนพ่วงซื้อโคมไฟนวัตกรรม กำหนดคุณสมบัติเจาะจง, สำนักข่าวอิศรา, 25 ธันวาคม 2566, 14:34 น., https://www.isranews.org/article/isranews/124966-invesroodstoooo.html



ความเห็น (1)

Thank you for this expansive coverage on corruption.

I wonder now if we could set up (a set of) ‘key review criteria’ to train an AI model to detect frauds and corruption in the public service systems as data comes into ‘some’ management/report systems.

Automated, real-time audit is what I am thinking of.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท