ชีวิตที่พอเพียง 4624. เดินออกกำลังรับลมว่าวที่ชายหาดชะอำ


 

เช้าตรู่วันเสาร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ผมเดินออกจากโรงแรม แกรนด์แปซิฟิก ซอฟฟอริน หาดชะอำใต้   ออกไปยังชายหาด    พบว่าอากาศเย็นสบาย ลมแรง คลื่นแรงมาก   ซัดเข้ามาปะทะแนวทางเดินคอนกรีตที่เพิ่งสร้างเมื่อราวๆ ๓ ปีที่แล้ว เป็นแนวตลอดชายฝั่ง   ไม่เห็นหาดทรายตามปกติเลย   

ถามคนแถวนั้น ได้ความว่า ลมแรง คลื่นแรง อากาศเย็นเพิ่งเริ่มเมื่อเช้าวันที่ ๑๗   คลื่นซัดน้ำทะเลขึ้นมาที่ชายหาดด้านบนติดกับถนนเลยทีเดียวตอนราวๆ ๘ น.   เขาบอกว่า นี่คือสภาพ “หน้าว่าว”   ทำให้ผมนึกถึงคำพูดที่เราใช้กันที่บ้านที่ชุมพรสมัยผมเป็นเด็ก “หน้าว่าวมาแล้ว”   ทุกคนกระตือรือร้นที่จะเล่นว่าว    ผมรอฟังเสียงว่าวดุ๊ยดุ่ย ที่ดังตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืนหลายวัน   เพราะว่าว “ติดลม” ผูกให้ลอยลมส่งเสียงแว่วหวานอยู่เช่นนั้น   

ตอนนี้ก็ทำท่าว่าน้ำกำลังขึ้น คลื่นบางลูกซัดขึ้นมาทำท่าว่าจะโดนคนที่เดินอยู่บนเขื่อน   

เดินขึ้นไปทางทิศเหนือ ที่เมื่อเย็นวานผมไปเดินมารอบหนึ่งแล้ว    เพื่อเปรียบเทียบบรรยากาศยามเย็นกับยามเช้าตรู่    พบว่าร้านขายอาหารทะเลเพิ่งเริ่มจัดร้าน   ต่างจากเย็นวานที่มีวัตถุดิบวางอยู่เต็มหลายร้านมาก    ที่เตะตา (เมื่อวานตอนเย็น) คือมีแมงดาทะเลเป็นๆ อยู่มาก   รวมทั้งหอยปูปลากุ้งปลาหมึก  มีร้านหนึ่งมีปลาหมึกหลอดเป็นๆ ว่ายอยู่ในถัง    มีป้ายบอกว่าห้ามเอามือลงไปล้วงในถัง    มีสาวคนหนึ่งมาซื้ออยู่ก่อนแล้ว   แม่ค้าช้อนปลาหมึกตัวหนึ่งใส่ลงในแก้วพลาสติกเล็กๆที่มีน้ำขุ่นๆ ที่ผมเข้าใจว่าเป็นน้ำปรุงรสคล้ายซ้อสอยู่สูงราวๆ ๑ นิ้วฟุต แล้วเอาฝาปิด   ปลาหมึกดิ้นกระแด่วๆ ในลักษณะเอาส่วนหนวดลงล่าง    เป็นการกินปลาหมึกเป็นๆ ตัวละ ๑๒๐ บาท    คนซื้อเธอบอกว่าอยากลอง    ผมบอกตัวเองว่าไม่กล้าลอง กลัวท้องเสีย หรือกลัวตาย   มาเห็นป้ายตอนเช้านี้ว่าน่าจะเรียกว่า หมึกช็อต ตามรูป

เมื่อวานเช่นกัน เห็นร้านขายหอยนางรมที่เขากระเทาะจากเปลือกสดๆ  ขายถุงละ ๕๐ บาทพร้อมน้ำจิ้ม  นี่ก็เช่นกัน ผมเตือนตัวเองว่า แก่แล้ว ร่างกายไม่แข็งแรงที่จะทนเสี่ยงแบบตอนหนุ่ม  อย่ากินเลย    หากเป็นตอนหนุ่มๆ ผมกินแน่   ขนาดไปซื้อผักสดข้างถนนกินที่อินเดียยังเคยลองมาแล้ว   

สิ่งที่ได้เห็นเช้านี้คือคนมาเดินเล่นที่เขื่อนริมทะเลมักเป็นฝรั่ง   มีหญิงสูงอายุคู่หนึ่งที่เมื่อผมทักคนหนึ่งบอกว่า มาดามเป็นคนต่างประเทศ    จึงทักทายกัน พบว่าเป็นคนนิวซีแลนด์ที่ไปอยู่สิงคโปร์บ้าง มาพักผ่อนที่ชะอำบ้าง    เข้าใจว่ามีแม่บ้านคนไทยที่มาเดินเป็นเพื่อน

พบหญิงสูงอายุมาจัดเก้าอี้ผ้าใบ จึงเข้าไปทักทาย   ได้ความว่าเป็นลูกจ้างมาจัดการเอาเก้าอี้มาวางและเก็บ ได้รับค่าจ้างนิดหน่อย  และมีรายได้จากการขายส้มตำบ้าง   ค่าบริการเก้าอี้ตัวละ ๓๐ บาทต่อ ๕ ชั่วโมง    เล่าว่าเมื่อวานคลื่นแรงมาก ซัดข้ามเขื้อนเข้ามาเก็บเก้าอีไม่ทัน เปียกหมด   เธอเรียกตัวเองว่ายาย  คงจะเรียกตามที่คนทั่วไปแถวนี้เรียก    ผมถามว่าอายุเท่าไร ตอบว่า ๖๔   เธอบอกว่าปีที่แล้วนักท่องเที่ยวมากกว่าปีนี้   

เดินไปเห็นป้ายบอกว่าบริเวณวางเก้าอี้ผ้าใบล็อกที่เท่าไร    รวมแล้วมีถึง ๑๒๐ ล็อก  สะท้อนการจัดระบบการทำมาหากินอย่างเป็นระบบดีมาก    ร้านค้าริมถนนฝั่งด้านติดทะเลนอกจากมีป้ายชื่อร้านแล้ว ยังมีเบอร์เป็นตัวเลขให้จำง่าย     

เช้าวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน  ผมออกเดินอย่างเร็วระหว่างเวลา ๖ - ๗ น. ท่ามกลางอากาศเย็นสบายอย่างเดิม   ได้รู้ว่าวันที่ ๑๘ คลื่นก็ซัดข้ามเขื่อนเข้ามาในสนามอีก   ทำให้ทรายของสนามหญ้าทรุดเป็นแนวยาว  แต่เช้าวันนี้น้ำลง เห็นหาดทรายอยู่ถัดจากบันไดเขื่อนลงไปยังหาดทราย          

คุยกับชาวบ้านผู้ให้บริการเก้าอี้ผ้าใบ ว่าปีนี้นักท่องเที่ยงลดจากปีที่แล้ว   เพราะไปรับลมหนามทางภาคเหนือกันหมด      

วิจารณ์ พานิช

๑๙ พ.ย. ๖๖

 

 

1 สภาพคลื่นเย็นวันที่ ๑๗

 

2 สภาพคลื่นเช้าวันที่ ๑๘

 

3 เช้าวันที่ ๑๙ น้ำลง คลื่นไม่แรง

4 ร้านอาหารทะเล ริมชายหาด

5 ถนนริมหาดยามเช้า

6 พระอาทิตย์ขึ้นเช้าวันที่ ๑๙ พ.ย. ๖๖

7 ลานเก้าอี้ผ้าใบนอนเล่น และกินอาหารทะเล

8 ภายในโรงแรม Grand Pacific Sovereign

หมายเลขบันทึก: 716881เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2023 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2023 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับ สำหรับผมที่ไม่ค่อยได้เดินทางไปไหนไกลแล้ว และจากสิ่งข้างชายหาดกลับทำให้ผมนึกการแสดงคอนเสิร์ที่ผมเพิ่งบันทึกเสร็จเมื่อวานนี้ จึงขอส่งมาถึงอาจารย์ฯ เพื่อบรรยายความรู้สึกร่วมกับงาน และขอถือโอกาสอวยพรปีใหม่ด้วยเลยครับ…. Ocean musicเสียงทะเลเชื่อไหมที่ผมฟังเพลงหนึ่งในรายการคอนเสิร์ต Nobelprize และสามารถเข้าใจได้ดีกว่าเพลงทุกเพลงที่นำมาแสดงในวันนี้ อาจจะด้วยเหตุผลอย่างหนึ่งที่วาทยกร ส่งมอบหน้าที่ให้ผู้แต่งเพลงมากล่าวเหมือน อารัมภบท หรือ แนะนำเพลงที่อยู่ลำดับกลางๆ ของคอนเสิร์ตว่าว่านี้ เธอพูดถึงความคิดที่มาของเพลงว่า….เกิดจากการที่เธอ…ครั้งที่เธอเป็นเด็กสาววัยรุ่นเมื่อหลายปีก่อน และเป็นแบ็กแพ็คเก้อร์ ไปเที่ยวที่แคลิฟฟอร์เนีย บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และเธอ Gabriella Smith ตระหนักได้ทุกอย่างของสรรพเสียงของคลื่นในมหาสมุทร และรู้สึกเสียดายหากวันหนึ่งสิ่งนี้จะสูญหายไปจากเธอและหมู่มวลมนุษยชาติชั่วนิรันดร์ ด้วยเหตุแห่งอากาศวิปริตที่เรียกได้ว่า climate change เป็นมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่และไม่มีใครที่จะคาดคิดว่าสักวันมันจะถาโถมเข้ามาแทนเสียงคลื่นชายฝั่งมหาสมุทรที่กำลังจะถูกนำเสนอผ่านบทเพลงนี้ของเธอ และแล้วเธอผู้ประพันธ์เพลงก็ลงจากเวทีที่วาทยกรให้เวลากับเธอ เหมือนกับสะกดจิตด้วยคำพูดตอนเริ่มต้นที่ว่า Ladies and gentlemen ที่เธอคงฝากไว้กับพวกเรา….เพลงเริ่มต้นด้วยกลุ่มของไวโอลินที่เร่งคันชักสั้นๆ บางทีก็แค่ใช้คันชักตีลงบนสายไวโอลิน บางทีก็แค่เอามือเคาะที่ตัวโพรงไม้ ไวโอลินทำงานเดี่ยวอยู่พักใหญ่ จากนั้นไม่นานก็มีเสียงเครื่องดนตรีอื่น ๆ ทีละอย่างสองอย่าง ดาหน้ากันมาทำเสียงคลื่น และต่อมาด้วยเสียงของลม จนเหมือนคลื่นทีละลูกและลมกระโชกเป็นห้วง ๆ ด้วยทุกเสียงของแต่ละเครื่องดนตรี ไม่ว่าจะเป็น เบส เชลโล หรือฮอร์น ขลุ่ย ทิมปานีที่เบาเสียงจากเสียงของโลหะ ให้แค่เสียงสะท้อนหนึบ ๆ และเสียงเคาะ ..เสียงดัง แต๊ง ๆ จาก triangle เจ้าสามเหลี่ยมตัวน้อย แล้วก็กลายจากเสียงคลื่น ลม มาเป็นเสียงของ หวูดเรือ แล้วก็นกนางนวล …มากันฝูงใหญ่ บ้างถลาบินกลางอากาศ บ้างก็โฉบลงไปในน้ำ ส่งเสียงจิ๊กจั๊กตามมา ต่อจากนั้นก็มีเสียงหนัก ๆ เป็นห้วงสั้น ๆ ที่ดังจากทิมปะนีหรือกลองอะไรสักอย่าง ส่งเสียง…บูมสั้น ๆ แต่ดังเพียงพอที่จะทำให้กลบเสียงอย่างอื่นได้ชั่วขณะ มันเป็นเสียงของฟ้าคำรามมาจากที่ไกลๆ แต่คำรามขึ้นมาเป็นระยะ ๆ …อะไรกันที่เพลงของเด็กสาวคนนี้จะทำให้บรรยากาศเงียบสงัด quiet your world แม้เมื่อเสียงเพลงจะจบไปแล้ว ท่ามกลางนักดนตรีที่ส่วนมากเป็นผู้สูงวัย และท่ามกลางผู้เข้าชมหลายชั้นรอบเวทีการแสดงที่บอกได้เลยว่าเป็นคนชั้นสูงของสังคม ที่เป็นแขกรับเชิญมาในค่ำคืนนี้ ร่วมกับ laureate หรือผู้ได้รับรางวัลโนเบลประจำปี ของวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ด้วยวงดนตรี The Royal Stockholm Philharmonic Orchestra (บันทึกสดหลังจากดูวิดีโอนี้จบลง เมื่อ 14.45 น. ของวันที่ 24 ธันวาคม 2566 วันคริสมาสต์อีฟ)ป.ล. ผมขอให้ bing ใน MS Bing ช่วยหาชื่อเพลงนี้ให้ด้วยการไก้ด์นำทางของผมส่วนหนึ่ง ก็ได้ขื่อเพลงว่า Tumblebird Contralis โดยมีคำอธิบายด้วยว่า ….ในงานคอนเสิร์ต Nobel Prize ประจำปี 2023 ที่ Konserthuset Stockholm, Sweden นักดนตรีชื่อดังอย่าง Esa-Pekka Salonen และนักไวโอลิน Julia Fischer ได้ร่วมมือกับวงดนตรี Royal Stockholm Philharmonic Orchestra โดยได้เล่นเพลงของนักแต่งเพลงหนุ่มสาวที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่าง Gabriella Smith1.เพลงที่ถูกเล่นในงานครั้งนี้คือ “Tumblebird Contrails” ซึ่งเป็นเพลงที่ Gabriella Smith ได้แต่งขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากเสียงที่เธอได้ยินขณะที่เดินทางถึง Point Reyes และนั่งอยู่ที่ขอบของมหาสมุทรแปซิฟิก2. คอนเสิร์ตนี้เป็นครั้งแรกที่เพลงนี้ถูกเล่นในประเทศสวีเดน2.…นี่คือข้อความที่ทำให้ผมมั่นใจว่าเป็นชื่อเพลงที่เขานำบรรเลงในค่ำคืนนั้น แม้ผมจะเพียรพยายามหาชื่อเพลงนี้จากการดูวิดีโอกลับไปมาอยู่หลายเที่ยว…ก็ไม่สำเร็จ อาจเพราะตาไม่ดีก็ได้ … ขอบคุณ Bing ครับ

Very grateful thanks for youtube and https://youtu.be/B0m-xSV29ZI

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท