การทุจริตในระบบท้องถิ่นมันเผาคนทำงานให้กลายเป็นคนหมดไฟได้


การทุจริตในระบบท้องถิ่นมันเผาคนทำงานให้กลายเป็นคนหมดไฟได้

15 ธันวาคม 2566

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

ส่วนราชการใดที่ทำให้คนหมดไฟ

ประเด็นวิพากษ์ในแวดวงท้องถิ่นพักหลังนี้ชัดจะมีเสียงถี่ขึ้น มากขึ้น เพราะมีข่าวโจษขานกันทั้งในสื่อออนไลน์ต่างๆ และ เสียงวิพากษ์ในความถดถอยกำลังใจของบุคลากรคนท้องถิ่น โดยเฉพาะฝ่ายข้าราชการประจำ ที่ต้องมาทบทวน และหันมาพูด มาดูกันบ้าง เพราะ เรื่องนี้แต่เดิมมีประเด็นว่า ส่วนกลาง และหน่วยตรวจสอบโยนความผิดให้แก่คนท้องถิ่น เพราะ เรื่องทุจริต หรือข่าวต่างๆ ที่มาจากท้องถิ่นนั้น เมื่อเทียบปริมาณกับราชการบริหารส่วนกลาง หรือราชการส่วนอื่นแล้ว อปท. มีปริมาณมูลค่าความเสียหายที่น้อยมาก เพียงแต่จำนวนหน่วย อปท. มีมากถึงเกือบ 8 พันแห่ง (ข้อมูลปัจจุบัน 7,850 แห่ง) [2] ต่างหาก ข่าวที่พบเห็นจึงบ่อย และแท้ที่จริงแล้วข่าวนี้มักเป็นการตีข่าวขายข่าวเกินจริงให้ดูว่ามีความเสียหายมาก [3] ซึ่งคนท้องถิ่นต่างโต้แย้งว่า เทียบปริมาณแล้วมันน้อย ไม่ได้มีมากเหมือนการทุจริตในราชการส่วนอื่นที่เป็นหลักร้อยล้านพันล้าน

นี่เป็นเหตุผลที่จะว่ากันต่อไปว่า มันยังมีองค์กรประเภทนี้อยู่ ที่ทำให้ “คนหมดไฟ” [4] คนไม่อยากขับเคลื่อนการทำงาน อยู่เฉยๆ ดีกว่า ไม่เปลืองตัว ทำงานเช้าชามเย็นชาม เอาตัวรอดไปวันๆ หลายคนเลยนึกว่า ทำอย่างไรจึงจะหยุดเป็นองค์กรที่คนเก่ง “อยากลาออก” โดยคนที่เกี่ยวข้องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HR) หรือการบริหารงานบุคคล ต่างคิดหลักสูตร หลักการ HR และหาสูตรหาสาเหตุต่างๆ สารพัดมาจาระนัย เช่น บริหารคนไม่เป็นจนลูกน้อง Burnout, กดดันจนลูกน้องอยากลาออก, มอบหมายงานที่ไม่ตรงตามความถนัดของคน, วางตัวเป็นผู้บริหารไม่เป็นทำให้ลูกน้องอึดอัด, ไม่เข้าใจการสร้างวัฒนธรรมในองค์กร, ไม่เข้าใจการออกแบบสวัสดิการ สวัสดิการห่วย, ไม่รู้จักการให้โอกาสคนเก่งได้แสดงฝีมือ เพราะต่างมีสมมติฐานว่า ถ้าคุณคือ “ผู้บริหาร” หรือ “หัวหน้า” ที่มีลักษณะแค่ข้อใดข้อหนึ่งในข้างบนนี้ คุณควรรีบแก้ไขหรือปรับปรุงตัวนี้ให้เร็วที่สุด ก่อนที่องค์กรของคุณจะเป็น “องค์กรที่คนเก่ง อยากลาออก” ทั้งนี้ก็เพราะว่า ปัญหาเรื่องคน (man) หรือในที่นี้จะเรียกตามศัพท์ใหม่ไฮเทคก็คือ “ทรัพยากรมนุษย์” (Human Resource) ถือเป็นปัญหาอันดับ 1 ของคนในองค์กร ที่ไม่มีองค์กรไหนสามารถเลี่ยงได้ ข้อเสียก็คือมัน “แก้ยากที่สุด” ข้อดีคือถ้าคุณแก้ได้ องค์กรของคุณก็พร้อมที่จะ “เติบโตแบบก้าวกระโดด” ด้วยการอ้างหลักวิชาการ HR อาทิ เทคนิคการออกแบบองค์กรให้ทุกคนอยากร่วมงานด้วย, เทคนิคการหาคนเก่ง การดึงคนเก่งที่เข้ากับทีมได้เข้าองค์กร, เทคนิคการดึงคนเก่งให้อยู่กับองค์กรนานๆ, เทคนิคการออกแบบสวัสดิการที่น่าดึงดูดสำหรับคนยุคใหม่, เทคนิคการจัดระบบ HR, เทคนิคการปั้นและบริหารทีมที่มีอยู่แล้ว และรวมไปถึง เทคนิคการออกแบบ Organisational Culture ตามแต่กูรูที่เป็น Coach จัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ด้วยหวังปรับปรุงองค์ต่างๆ ที่เสียศูนย์เหล่านั้น ให้ฟื้นคืนชีพ และ ทำให้บุคลากรทำงานดี ทำให้องค์กรรอดในโลกแห่งการ Disrupt อย่างรวดเร็วและรุนแรงในสังคมแห่งโลกโซเซียลในวันนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นเจนวาย (Y) เจนซี (Z) ที่จะเข้ามาแทนรุ่นหลังหลัง เพราะจากข้อมูลไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) [5] แล้วตั้งแต่ประมาณปี 2548 ที่มีประชากรอายุ 60 ปี >10% 65 ปี >7 % ในปี 2565 ไทยเป็นสังคม “ผู้สูงอายุสมบูรณ์” (Complete Aged Society) ประชากรอายุ 60 ปี >20% 65 ปี >14 % และในปี 2575 ไทยจะเป็นสังคม “ผู้สูงวัยระดับสุดยอด” (Super Aged Society) ประชากรอายุ 65 ปี >20%

 

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรทางการเมือง ใครคือคนเก่ง

อปท.เป็นองค์กรบริหารราชการแผ่นดินหนึ่งในสังคม อปท.หลายแห่งก็มีเหตุที่ทำให้คนในองค์กรหมดไปเช่นกัน มีข้อสังเกตว่า ปกติบุคลากรคนเก่ง (ฝ่ายประจำ) ใน อปท. จะมีฝ่ายการเมืองเป็นคนค้ำจุนตำแหน่งของเขาไว้ต่างหาก ไม่ใช่เก่งทำงาน เพราะต้องเข้าใจว่า อปท.นั้น มีบุคลากรส่วนหนึ่งที่เรียกว่า “ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น” นั้น ถือเป็นบุคลากรทางการเมือง ที่มีวาระเพียง 4 ปี แต่บุคลากรฝ่ายประจำ หรือข้าราชการและพนักงานจ้างหรือลูกจ้างวาระที่เกษียณอายุราชการ 60 ปี ฉะนั้น ในการการทำงานเพื่อ “การบริหารสาธารณะ” (Public Service) จึงแยกส่วนกัน เพราะฝ่ายการเมืองมีหน้าที่กำหนดนโยบาย ฝ่ายประจำมีหน้าที่ในการนำนโยบายของฝ่ายการเมืองไปสู่การปฏิบัติ และหากฝ่ายประจำทำไม่ได้ หรือทำไม่ดี ก็จะส่งผลลบต่อบุคลากร และอาจถูกลงโทษทางวินัย หรือถูกกลั่นแกล้งต่างๆ ได้ นี่คือประเด็นปัญหาที่ทำให้เกิด “ปัญหาด้านบุคลากรของท้องถิ่น” มาจนทุกวันนี้ ว่า เขาเหล่านั้นจะเติบโตก้าวหน้าในชีวิตราชการได้อย่างที่เขาหวัง ตามระบบคุณธรรม (Merit System) ได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้ การสรรหาการบริหารบุคคลท้องถิ่นโดยการสอบแข่งขัน และ การสอบคัดเลือกสายงานผู้บริหารดำเนินการโดยส่วนกลาง คือ คณะกรรมการ ก.กลาง ทั้งนี้ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2560 [6] ที่เป็นปัญหายื้อกันว่า ส่วนจังหวัด โดยคณะกรรมการ ก.จังหวัด ก็อยากดำเนินการจัดสอบในกรณีดังกล่าว เพื่อความรวดเร็ว และเพื่อแก้ปัญหาบุคลากรไม่เลื่อนไหล เพราะไปติดที่คอขวด (Bottleneck) ทำให้ข้าราชการสายงานผู้บริหารโตไม่ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ก็ยังมิวาย ต่างฝ่ายต่างก็อ้างการทุจริต ทั้งการสอบที่ ก.กลาง หรือ ก.จังหวัดก็ทุจริต ไม่โปร่งใสเช่นกัน ดังเป็นคดีปกครอง และ ข่าวการร้องเรียนการสอบคัดเลือกที่ ก.กลาง เมื่อปี 2564 ปรากฏตามสื่อมีคดีพิพาทคดีปกครองถึง 500 กว่าคดี [7] 

 

การศึกษาวิจัยนวัตกรรมท้องถิ่นในกฎหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศ

ทางฝ่ายพรรคการเมือง (ก้าวไกล) พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นร่างกฎหมายหลายชุดเพื่อการปฏิรูปเปลี่ยนประเทศต่อสภาผู้แทนราษฎร [8] ชุดแรกยื่นแล้วเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 คือ (1) ชุดกฎหมายปฏิรูปกองทัพ (Demilitarize) มีร่างกฎหมาย 5 ฉบับ (2) ชุดกฎหมายปิดช่องทุนผูกขาด 2 ฉบับ (3) เป็นชุดที่สำคัญต่อมามี 12 ชุด ที่สำคัญ ประกอบด้วย ชุดกฎหมายปลดล็อกท้องถิ่น, ชุดกฎหมายปฏิรูประบบราชการ, ชุดกฎหมายป้องกันการทุจริต เป็นต้น ที่ว่าสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับฝ่ายประจำข้าราชการ และองค์กรข้าราชการ ที่ถือเป็นตัวจักรในการขับเคลื่อนการทำงานของรัฐ ที่น่าสนใจคือ ชุดกฎหมายปลดล็อกท้องถิ่น โดยเฉพาะ การยกเลิก คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2560 เกี่ยวกับการสรรหาบุคลากรท้องถิ่นตามที่กล่าวข้างต้น

แน่นอนว่าในปัจจัยการบริหาร การปฏิรูป “คน” เป็นสิ่งสำคัญที่สุด (Personnel is a difficult issue because of human nature) เพราะทุกองค์กร ความสำเร็จอยู่ที่คน ความเข้าใจในรายละเอียด อย่างครบถ้วนในธรรมชาติของคน การปฏิรูปจึงจะสำเร็จ หากเป็นเพียงวาทกรรม จะสำเร็จได้ยาก และถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากคนในองค์กรนั้นๆ ที่อาจไม่สามารถ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ตามวาทกรรมที่ชูขึ้นมาได้เลย 

สำหรับการศึกษาวิจัยนวัตกรรมและการนำผลวิจัยมาใช้นั้น ต้องเปิดโอกาสให้บุคคลกรได้วิพากษ์แสดงความคิดเห็น ไม่ปิดกั้นใด ดังเช่นการตรากฎหมายตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เช่น การเสวนาออนไลน์ (2564) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เรื่อง “ผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมเพื่ออนาคตประเทศไทย : Future Thailand” [9] เพื่อนำเสนอผลการวิจัยและสร้างการรับรู้ผลสำเร็จจากการวิจัยเกี่ยวกับประเทศไทยในอนาคต รวมถึงนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในมิติที่เกี่ยวข้องสู่สาธารณชนในมุมที่น่าสนใจ 

 

การตรวจประเมินความโปร่งใส เพื่อให้เจ้าหน้าที่มี “Service mind”

ปี 2566 ไทยทุ่มงบ 3.8 พันล้านเพื่อ “การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส” (Integrity and Transparency Assessment : ITA) [10] แต่ “ดัชนีการรับรู้การคอร์รัปชัน” (CPI) [11] กลับคงตัวอยู่ที่ราว 36 คะแนน (เต็ม 100) มานานถึง 10 ปีแล้ว ด้วยเสียงสะท้อนว่า การประเมินที่ไม่ได้ “ประเมิน” ความจริง ความโปร่งใส “โกง” ได้ ซึ่งในระยะหลังการประเมินใช้เอกสารในระบบอิเล็กทรอนิกส์ หน่วยงานต่างทำเว็บไซต์แต่ไม่ตอบเกณฑ์วัดผลทั้งที่ได้คะแนนสูงชะลูด ด้วยหน่วยงานมีช่องโหว่ช่องว่างที่แตกต่างกัน [12] ขอตั้งข้อสังเกตบางประการในส่วนของ อปท. เช่น ในการตรวจสอบเอกสารจริง และสุ่มตรวจโครงการงบประมาณต่างของหน่วยตรวจสอบ คือ สตง. และ ป.ป.ช.ตรวจจากการร้องเรียน เป็นข่าวแล้วลงพื้นที่จริง มีการคิดสูตรนวัตตกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อเป็นตัวชี้วัดถึง “ความโปร่งใส” ตั้งแต่ เอกสารแบบพิมพ์ธรรมดา มาถึงชั้นลงโปรแกรมในแอปลิเคชั่น ที่หน่วยตรวจสอบสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้โดยตรง ซึ่งทั้งมวลนั้นก็คือการตรวจกระบวนงานของ อปท. ว่ามีขั้นตอน ถูกต้อง โปร่งใส เปิดเผยได้หรือไม่ เพียงใด เพื่อกำหนดเป็นค่าคะแนน เอาผลงานไป 

นอกจากนี้ ในส่วนการตรวจคุณภาพของงาน อปท.นั้น มักจะตรวจได้เฉพาะงานก่อสร้าง และจัดซื้อครุภัณฑ์ ในด้านสังคม เช่น การศึกษา การสาธารณสุข ความสงบเรียบร้อย งานวัฒนธรรม ประเพณี งานกีฬา ฯลฯ นั้นตรวจแต่รายงานผลการประเมินผล ที่ค่อนข้างเชิงนามธรรม วัดกันที่ผลงานเชิงความพึงพอใจ ความเหมาะสม ในด้านเศรษฐกิจ การฝึกอบรม การส่งเสริมอาชีพ การกระตุ้นตลาด ภาครัฐส่วนใหญ่มักจะได้คะแนนตกเกณฑ์ในข้อนี้ คือไปไม่ทันโลก เพราะมัวแต่ไปติดที่ระเบียบฯ ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น มีการฝึกอบรม หรือดูงานทิพย์ เรียกกันภาษาบ้านๆ ว่า “ทิพย์” หรือ “เมฆ” เพราะไม่ได้ทำจริง หรือแบบสักแต่ว่าทำ ปลอมแปลง สร้างเอกสารต่างๆ ด้วยการสมรู้ให้ได้คะแนน หรือให้ผ่าน เป็นต้น ด้านการมีส่วนร่วม ก็มักจะแยกเอาเฉพาะผู้ที่เห็นด้วย ส่วนพวกค้านหลุดโลก มักจะถูกกันแยกออกไป ทำให้ผลคะแนนประเมินที่ได้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ในด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่มีหน่วยงานเจ้าภาพทางวิชาการที่เป็นมาตรฐานวิชาการที่เปลี่ยนแปลงผลยาก

มีงานที่แยกประเภทเป็นงานที่ อปท.รอรับผลถ่ายโอน หรือ อปท.ทำร่วม หรือ อปท.เชิญเข้าร่วม เมื่อการใช้เงินงบประมาณ ตามโครงการในแผนพัฒนา จึงมีการประชุม เพิ่มโครงการ เปลี่ยนแปลงโครงการกันบ่อยๆ เพราะนโยบายผู้บริหารท้องถิ่นที่มักเปลี่ยนแปลงกันบ่อยๆ รวมเหตุอื่นใดด้วยที่จะมีในข้างหน้าที่ไม่แน่นอน การตอบแบบสอบถามแบบ ITA เป็นการเก็บข้อมูลในภาพกว้างๆ ยังไม่มีผลต่อการบังคับ กำชับ อะไรในเรื่องความผิดแก่เจ้าหน้าที่ หรือผู้รับการตรวจได้ แต่หากมีเรื่องขึ้นมา ข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นการลำดับเหตุการณ์ และข้อมูลพื้นฐานการวัดว่าผิดหรือถูกได้ เพราะทุกอย่าง มีขั้นตอน เหตุผลเป็นลำดับกันมา ซึ่งก็เน้นตรวจได้เฉพาะกระบวนงาน (Process) แต่ถ้าตรวจความคุ้มค่า ต้องเก็บข้อมูลเชิงลึกลงไปอีก ซึ่งหน่วยตรวจสอบ ยังไม่ได้ทำ เหล่านี้คือข้อสังเกตในเชิงการปฏิบัติที่คนท้องถิ่นหลายๆ คนได้รับรู้ รับเห็นทราบกันดี

การปรับทัศนคติเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ให้บริการประชาชนให้มี “จิตสาธารณะ” (Service mind) [13] สำคัญมาก สถานการณ์วาทกรรม “จีนเทา” ได้สร้างบทเรียนแก่ราชการไทยให้ได้คิดในเรื่อง (1) แหล่งผลประโยชน์ สินบาทสินบน เทาๆ ไปจนถึงดำ กับ (2) ภัยความมั่นคง ที่ปรากฎข่าวผ่านสื่อต่างๆ มันกระทบใจคนไทย “งานบริการด่านหน้า” (Front Line Service) [14] ที่มีกระบวนการขั้นตอน และดุลพินิจของเจ้าหน้าที่มาก เช่นงานอำเภอ งานกรมการปกครอง งานกระทรวงมหาดไทย และงานท้องถิ่น (อปท.) อาจมีข่าวการซิกแซก วิ่งเต้นเอกสาร อำนวยความสะดวก เส้นสาย ไปจนถึงการทุจริต ไม่ว่าเรื่องงานบริการออกใบอนุญาตต่างๆ เพื่อการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ส่วนงานที่มีปัญหาต่อความมั่นคงเช่น คำร้อง “สถานะบุคคล”, เพื่อให้ได้สิทธิทางการทะเบียนและสัญชาติ, คนต่างด้าวขอมีถิ่นที่อยู่อาศัยในราชอาณาจักร การทำงาน การขอออกนอกพื้นที่ เหล่านี้ล้วนมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส (ทุจริต) ทั้งในช่องทางที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง เป็นต้น เหล่านี้ล้วนมาจากทัศนคติและขวัญกำลังใจที่ดีของข้าราชการผู้ให้บริการทั้งสิ้น

ฝากแง่คิดตบท้ายในมิติ HR โดยเฉพาะการสรรหาแต่งตั้งคน อปท.ด้วยการสอบแข่งขันหรือการสอบคัดเลือก เพราะการทุจริตของข้าราชการเป็นสิ่งไม่ดี บ่อยครั้งคน อปท.เจอข้อท้าทายความรู้สึก ยกตัวอย่างในสนามสอบคัดเลือกสายงานผู้บริหาร ที่มีเหตุแห่งการทุจริต เช่น ไม่ว่าจะเป็น มีคนได้เรียบเรียงให้อ่านกันแล้ว ก็ลองอ่านไป อย่าคิดมาก เพราะหลายอย่างมันคือความจริง ที่นำมาพูดเล่นๆ ไม่ได้ เพราะมันแทงใจดำคนไง อาทิ 1)คนที่ทำงานกับประชาชนอย่างมีคุณภาพ กับ คนที่ทำงานกับผู้บริหาร อยู่ในสนามเดียวกันตอนแข่ง 2)ต่อให้คุณเก่งให้ตาย สากลยอมรับคุณแค่ไหน แต่ถ้าคุณอยู่ในระดับที่น้อย และพื้นที่ปิด เสียงของคุณจะเงียบสนิท และคุณต้องยอมให้ใครก็ไม่รู้มานำคุณ ด้วยตำแหน่งของเขา 3)ตำแหน่ง ไม่ได้การันตีความสามารถและวุฒิภาวะ ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็น 4)บ้ากลับบ้านดึก จนครอบครัวพังกันหมด ขายฝันทำน้อยได้มากกันแบบเพ้อเจ้อมาก แต่ขยันประชุมกันยันค่ำมืด พูดอย่าง ทำอีกโลกเลย 5)ถ้าคนมีอำนาจบอกว่า หมาคือแมว เอาสัตว์แพทย์มาเถียง เขาก็ว่าหมาคือแมว 6)ด่าการเมืองกันสุดแรง รำคาญการเปลี่ยนแปลงตามการเมือง แต่สุดท้าย ทีมใหม่มา ก็พาตามกันไป แบบไร้จุดยืนที่มั่นคง 7)เด็กเก่งโตไว ไม่ผิดเลย แต่เด็กผีโตไว คือฝันร้ายของระบบมาก 8)ทันทีที่คุณลาออก ความเก่งและฝีมือของคุณ จะถูกยอมรับทันที แต่ถ้ายังนั่งอยู่ ก็ตามลำดับขั้น รอไป 9)ถ้าคุณเลือกจะเติบโต มีการสูญเสียมากมาย ที่คุณต้องพร้อมแลก คนเก่งจริงๆ มากมาย ที่มีครอบครัว เลยแทบเลือกจะจบชีวิตที่ซี 7 8 หรือ 9 แค่นั้นเลย 10)จังหวะชีวิตคืออะไรที่โคตรไม่เป็นธรรม แต่มันก็จริงที่สุดแล้ว เก่งนอกสายตา กับธรรมดาแต่ไม่ห่างเลย 11)แต่ละปีเดินไป แบบไม่เห็นอะไรของประชาชนที่ดีขึ้นเลย แทบจะทำเพื่อตอบสนองตัวเองกันล้วนๆ 12)มาตรการบุคคล มีไว้จัดการคนเก่ง พูดมาก เท่านั้น พวกคนไม่ได้เรื่อง ไม่ทำงาน หรือโกงเนี่ยคือ กลัวมาก กลัวจัดการเขา แล้วเขาฟ้องกลับ เลยต้องมาทุบแต่คนเก่ง คนดี ที่บ่น 13)รักษาคนไม่ได้ ไม่โทษระบบไม่พอ ยังทำแบบเดิมต่อไป และโทษว่า ไม่อดทน 14)เหมือนคนโตๆ เขาลืมว่า ที่ชมคนนั้นดีอย่างนั้นอย่างนี้ ก็คุณลองเป็นจ้างเหมา(บริการบุคคล) ดูสิ เขาจะยังดีกับคุณแบบที่คุณเป็นบริหารสูงอยู่ไหม 15)หลายคนตอนมีหน้าที่ปฏิบัติทำงานโง่บรรลัยพังยับเยินมาก พอได้มานั่งงานแผน วิชาการ นโยบาน โอ้โหปากอย่างแจ๋ว สอน สั่ง หน่วยอย่างเหนือ เดี๋ยว คุณเอาคนขี้แพ้ มาสอนหนทางชนะ มันจะเอาอะไรไปเชื่อมั่น ไปสำเร็จ ถ้าเขาเก่งอย่างปากที่แจ๋ว เขาทำสำเร็จตั้งแต่อยู่พื้นที่แล้ว

 

ที่สาธยายไม่พล่ามเลย ระบบได้เผาคนทำงาน จนแทบไม่มีใครอยู่ในระบบได้อย่างมีความสุขเลย การสร้างเงื่อนไขการบริหารงานบุคคลที่ไม่มาตรฐานได้ส่งผลลบต่อขวัญบุคลากรมาก อย่ากดดันคน อปท.เช่นนี้เลย


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unari-ne, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 15 ธันวาคม 2566,23:00 น., https://siamrath.co.th/n/500285 

[2]ข้อมูล ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2563 รวบรวมโดย : กลุ่มงานกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น 2 กองกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

[3]ข่าวข้อมูลปี 2559 พบว่า “ราชการส่วนภูมิภาค” 640 เรื่อง “ราชการส่วนท้องถิ่น” 1,496 เรื่อง และ “รัฐวิสาหกิจ” และ “องค์การมหาชน” 468 เรื่อง “หน่วยงานที่มีการทุจริตมาก 3 อันดับแรก คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,496 เรื่อง, ก.มหาดไทย 219 เรื่อง และ ก.ศึกษาธิการ 218 เรื่อง” ท่ามกลางเสียงบ่นจากข้าราชการส่วนท้องถิ่นใน ความเจ็บปวดของข้าราชการท้องถิ่น ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะบางสังคม บางองค์กรมองข้าราชการท้องถิ่นเป็นอะไรที่แย่มากๆ เช่น หน่วยตรวจตรวจสอบมักตรวจสอบแต่ท้องถิ่น และจับผิดเรื่องเล็กเรื่องน้อย ขณะที่เรืองใหญ่ๆ ขององค์กรอื่นกลับไม่ตรวจสอบ เพราะอะไร รู้อยู่แก่ใจ เพราะตรวจสอบไป กระทบเป็นระบบ แต่ข้าราชการท้องถิ่น อยู่กันแบบอนาถา ส่วนใหญ่ ไม่มีมือกฎหมายคอยดูแล หน่วยตรวจสอบ จะทำอะไรก็ได้ ทุกวันนี้ข้าราชการท้องถิ่น ต้องทำงานแบบผวา เพราะไหนจะนโยบายผู้บริหาร ความต้องการของประชาชน ความเดือดร้อนของชาวบ้าน ที่ข้าราชการท้องถิ่นสัมผัส มันเดือดร้อนลำบากจริงๆ ซึ่งในข้อเท็จจริงนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้จะมีการร้องเรียนมากก็จริงเพราะหูตาหรือการตรวจสอบมี มาก แต่การถูกชี้มูลและเม็ดเงินที่ถูกชี้มูลว่ามีการทุจริตมีน้อยกว่าราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคอย่างเทียบกันไม่ได้ (อ้างจากคณะก้าวหน้า, 2564) 

ดู การทุจริตคอร์รัปชั่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : มาตรการและกลไกการป้องกัน, โดย ดร.โกวิทย์ พวงงาม ใน วารสารสถาบันพระปกเกล้า, กันยายน-ธันวาคม 2550, หน้า 107-130, http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER43/DRAWER026/GENERAL/DATA0000/00000211.PDF

“อปท.”แชมป์ทุจริต, Facebook, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน, 28 ธันวาคม 2559, https://www.facebook.com/act.anticorruptionThailand/photos/a.115029758661780/714893945342022/?type=3&locale=ms_MY

& ขอพูดความในใจ ข้าราชการท้องถิ่น, Facebook, เวทีท้องถิ่นOnline, 8 กรกฎาคม 2560, https://www.facebook.com/tongting11/photos/a.1553792248246283/1763095577315948/?type=3

& สภาพปัญหาและสาเหตุการทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), 6 พฤศจิกายน 2560, http://www.anticorruption.in.th/2016/th/detail/643/4/สภาพปัญหาและสาเหตุการทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น%20%28อปท%29 

& 4 รูปแบบ 19 วิธี การทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), 2561, https://www.pacc.go.th/info_pacc/610807_06/

& 5 ข่าวทุจริตรอบสัปดาห์ “โกงข้าวเด็ก” มาอันดับ 1, workpointTODAY, 17 มิถุนายน 2561, https://workpointtoday.com/5-%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%95/

& “การเมืองท้องถิ่น” กับการคอรัปชั่น, คุยกับ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, workpointTODAY, YouTube, 18 ธันวาคม 2563, https://www.youtube.com/watch?v=4Dr6Um6gYE8

& ท้องถิ่น - กระจายอำนาจ “ไม่เท่ากับ” กระจายการโกง เทียบชัดๆ วัดกันจะๆ 5 ข้อพิสูจน์, Facebook, โดย คณะก้าวหน้า, 2 กรกฎาคม 2564, https://www.facebook.com/LocalProgressivemovement/photos/a.117300423510151/300048751901983/?type=3

& ACT เปิดข้อมูล “10 ปีคดีโกง” ของนักการเมือง ส่งสัญญาณ ปชช.รับเลือกตั้ง, Thai PBS, 17 เมษายน 2566, https://www.thaipbs.or.th/news/content/326721

& ภาครัฐต้องเปิดข้อมูล โปร่งใส ลดปัญหาทุจริตคอรัปชั่น l, TNN Online, YouTube, 22 กรกฎาคม 2566, https://www.youtube.com/watch?v=ktRv6IP3e0M

[4]คนหมดไฟ (Burn out) หมายถึง คนในองค์กรที่ไม่มีแรงจูงใจในการทำงานภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) คือ ภาวะความอ่อนล้าทางอารมณ์ เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรัง ทำให้รู้สึกหมดไฟ มองตัวเองในแง่ลบ ไม่มีแรงจูงใจที่จะประสบความสำเร็จในการทำงาน รู้สึกห่างเหินจากผู้ร่วมงาน และไม่รู้สึกผูกพันกับสถานที่ทำงาน ภาวะหมดไฟในการทำงาน ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโรคใหม่จากองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อให้อยู่ในแนวทางการวินิจฉัยโรค แม้ยังไม่ถูกจัดว่าเป็นความเจ็บป่วยหรือมีเงื่อนไขทางการแพทย์ (Medical condition) แต่นักวิชาการที่เกี่ยวข้องก็ให้ความสนใจและมีการพูดถึงประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง ภาวะหมดไฟในการทำงานมักมีความสัมพันธ์กับความเครียด, อ้างจาก โรงพยาบาลพญาไท 3

 ดู อนามัยโลกระบุให้ “ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ” เป็นสภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์ โดย ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ, thestandard, 28 พฤษภาคม 2562, https://thestandard.co/who-recognises-burn-out-as-medical-condition/

[5]ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้อีก 3 ปีไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ พบ 96% รายได้ต่ำ 9,000-10,000 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายพุ่งทุกปี โดย ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย, 12 พฤศจิกายน 2562, https://www.innwhy.com/aged-society/ & แผนแม่บทการพัฒนาศักยภาพคนไทยตามช่วงวัย พ.ศ.2561-2579, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กันยายน 2560, https://www.m-society.go.th/ewtadmin/ewt/mso_web/article_attach/21617/21324.pdf

[6]คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 54 ง วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 หน้า 109-110, https://library.parliament.go.th/sites/default/files/assets/files/give-take/content_ncpo/NALT-ncpo-head-order8-2560.pdf 

[7]ทบทวนข่าวคดีกบกระโดดที่สอบเมื่อ 30 ตุลาคม 2564 ปัจจุบัน (29 พฤศจิกายน 2566) มีคดีค้างศาลปกครอง 125 คดี จากทั้งหมด 587 คดี พิพากษาแล้ว/จำหน่ายคดี 462 คดี 

ดูข่าว ร้อง มท.สั่งสอบปมคัดเลือก ขรก.ท้องถิ่นสายบริหาร ปี 64, Thai PBS, 21 มีนาคม 2565, https://www.thaipbs.or.th/news/content/313837

ผู้เข้าสอบคัดเลือกข้าราชการสายบริหาร อบจ. เทศบาล พัทยา กว่า 100 คน ยื่นหนังสือร้องเรียนกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ตรวจสอบ การสอบคัดเลือกข้าราชการท้องถิ่นสายงานผู้บริหาร อ้างพบความผิดปกติจากการสอบ พร้อมเสนอ 3 ข้อเรียกร้อง

เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2565 ผู้เข้าสอบคัดเลือกข้าราชการสายบริหาร อบจ. เทศบาล พัทยา กว่า 100 คน จัดกิจกรรมที่ชื่อว่า “ฌาปณกิจกบ” ที่กระทรวงมหาดไทย และทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และไว้อาลัยให้การสอบคัดเลือกข้าราชการสายบริหารครั้งนี้ 

สำหรับการสอบดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2564 คณะอนุกรรมการสรรหาพนักงานเทศบาล อบจ. พัทยา ได้จัดการสอบข้าราชการ ให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร ได้จัดจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ดำเนินการออกข้อสอบ จัดสอบ ตรวจข้อสอบ และประมวลผลคะแนน

หลังการประกาศผล วันที่ 26 พ.ย.2564 ผู้ร้องเรียน ระบุว่า พบพิรุธหลายอย่าง ซึ่งคนที่สอบได้คะแนนน้อยที่สุดได้เพียง 9 คะแนนเท่านั้น เมื่อตรวจสอบกลับพบว่า คำตอบถูกแล้ว แต่ข้อสอบสลับกัน หรือ ผู้มีรายชื่อผ่านการสรรหา เป็นผู้ได้รับข้อสอบชุดที่ 1 มากกว่าชุดอื่นๆ อย่างชัดเจน คิดเป็นร้อยละ 80-90 รวมทั้งข้อสอบที่ออกไม่ตรงตามสายงานบริหารที่ตนเองทำ 

หลังจากนั้น ในวันที่ 2 มี.ค.2565 มีการสุ่มตรวจข้อสอบ ปรากฏว่า ข้อสอบที่นำมาให้ตรวจไม่ตรงกับข้อสอบที่ใช้ในวันสอบจริง กระดาษด้านในคนละสี และมีรอยเย็บเข้าเล่มใหม่ อีกทั้งมีการทำสัญลักษณ์ขีดเขียนในกระดาษคำถามให้มีลักษณะคล้ายกับของผู้สอบ แต่ผู้เข้าสอบที่ได้ตรวจดูยืนยันว่าไม่ใช่ของตนเอง มีเพียงหน้าปกเท่านั้นที่ตรงกับชื่อ

ทั้งนี้ ผู้ร้องเรียน ขอให้มีการตรวจกระดาษคำตอบใหม่ ขอให้อายัดข้อสอบและกระดาษคำตอบตัวจริง ก่อนการทำลายเอกสารภายใน 1 ปี ตามสัญญาจ้าง และให้ชะลอการขึ้นบัญชี หรือเรียกใช้บัญชีสำหรับผู้ที่สอบผ่าน พร้อมชะลอการจัดสอบใหม่ รวมทั้งขอให้สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ดำเนินการเป็นคดีพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก 

[8]“ก้าวไกล” ยื่นกฎหมาย 2 ชุดแรก ปฏิรูปกองทัพ-ปิดช่องทุนผูกขาด ให้สภาฯ พิจารณาแล้ว, workpoint, 18 กรกฎาคม 2566, https://workpointtoday.com/move-forward-1st-bills/ 

[9]วช. ปิดจ๊อบเสวนา Future Thailand วิจัยและนวัตกรรม ฉายภาพ 10 มิติสำคัญ, ไทยรัฐออนไลน์, 1 ก.ค. 2564, 16:51 น., https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2129912 

[10]ITA (Integrity and Transparency Assessment : ITA)การประเมินคุณธรรมและความ โปร่งใสในการดาเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เป็นเครื่องมือการประเมินเชิงบวกเพื่อเป็นมาตรการป้องกันการ ทุจริต และเป็นกลไกในการสร้างความตระหนักให้หน่วยงานภาครัฐมีการดาเนินงานอย่างโปร่งใสและมีคุณธรรม ซึ่งประกอบด้วย 10 ตัวชี้วัด หลักเกณฑ์การประเมิน ITA ประกอบด้วย 3 เครื่องมือ โดยมีผลรวมคะแนน ร้อยละ 100 ดังนี้

(1) แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (Internal Integrity and Transparency Assessment :IIT) เป็นแบบวัดที่ให้ผู้ตอบเลือกคำตอบตามการรับรู้ของตนเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน เป็นการประเมินระดับการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในที่มีต่อหน่วยงานตนเอง โดยวัดการรับรู้ 5 ตัวชี้วัด (ตัวชี้วัดที่ 1–ตัวชี้วัดที่ 5) โดยมีค่าน้ำหนักร้อยละ 30 (2) แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment: EIT) เป็นแบบวัดที่ให้ผู้ตอบเลือกคำตอบตามการรับรู้ของตนเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูล จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก เป็นการประเมินระดับการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกที่มีต่อหน่วยงานที่ประเมิน โดยวัดการรับรู้ 3 ตัวชี้วัด (ตัวชี้วัดที่ 6–ตัวชี้วัดที่ 8) โดยมีค่าน้ำหนักร้อยละ 30 (3) แบบตรวจการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment : OIT) เป็นแบบวัดที่ให้ผู้ตอบเลือกตอบมีหรือไม่มีการเปิดเผยข้อมูล พร้อมทั้งระบุ URL เพื่อเชื่อมโยงไปสู่แหล่งที่อยู่ของการเปิดเผยข้อมูล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลจากเว็บไซต์ของหน่วยงาน เป็นการประเมินระดับการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของหน่วยงานเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์หลักของหน่วยงานได้ ประกอบด้วย 2 ตัวชี้วัด (ตัวชี้วัดที่ 9–ตัวชี้วัดที่ 10) โดยมีค่าน้ำหนักร้อยละ 40 

ดู ITA หรือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563), https://www.amlo.go.th/acoc/uploads/content_attachfile/5ebcb34429cd8.pdf 

[11]ดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ Corruption Perceptions Index : (CPI)คือดัชนีที่สะท้อนภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชันของประเทศต่างๆทั่วโลก จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ซึ่งมีส านักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศเยอรมนีมีสถานะเป็นองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ มีวัตถุประสงค์ในการต่อสู้กับการทุจริตทุกรูปแบบด้วยการแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และสร้างความตระหนักรู้ถึงผลเสียของการทุจริต

ดู TG รวมพลังป้องกันภัยทุจริต ปีที่ 7 ฉบับที่ 5 ประจำเดือน มีนาคม 2561, http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER1/DRAWER057/GENERAL/DATA0000/00000869.PDF 

[12]ราชการไทย “โปร่งใส” ด้วยการทำเว็บไซต์ตอบเกณฑ์วัดผล, โดย สรัช สินธุประมา, the101world, 6 พฤศจิกายน 2566, https://www.the101.world/integrity-transparency-assessment-thailand/ & ล็อค – ลอก – บัง (1) : ข้อเสนอแนะ, โดยดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), สำนักข่าวอิศรา, 23 กรกฎาคม 2566, 11:40 น, https://www.isranews.org/article/isranews-article/120426-mana-36.html & ล็อค – ลอก – บัง (2) : ข้อเสนอแนะ, โดยดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), สำนักข่าวอิศรา, 24 กรกฎาคม 2566, 15:40 น., https://www.isranews.org/article/isranews-article/120448-mana-37.html & การประเมิน “เครืองมือประเมิน” พิชิตความโกงของ ป.ป.ช. กรณีศึกษาองค์กรปกครองสวนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย (The ITA of NACC “Assessment Tools” for the Corruption Conquest A Case Study of the Local Administrative Organization in Chiang Rai) โดย สุรพี โพธิสาราช, สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, ในวารสารนิติสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2561, https://so01.tci-thaijo.org/index.php/CMUJLSS/article/download/134232/118551/454660

[13]“จิตสาธารณะ” หรือ “จิตบริการ” (Service Mind or Public Consciousness) คือ การที่จะทำให้คนมีใจรักในการให้บริการ การมีหัวใจในการให้บริการ เป็นจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม จิตที่คิดสร้างสรรค์ คิดดี ทำดี เพื่อส่วนรวม เพื่อสาธารณะโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ หมายถึงจิตที่พร้อมที่จะสละเวลา แรงกาย และสติปัญญาเพื่อสาธารณะประโยชน์เป็นจิตที่ไม่นิ่งดูดายเมื่อพบเห็นปัญหาหรือความทุกข์ยามที่เกิดขึ้นกับผู้คน เป็นจิตที่มีความสุขเมื่อได้ทำความดีและเห็นน้ำตาเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม เป็นจิตที่เปี่ยมด้วย “บุญ” คือความสงบเย็นและพลังแห่งความดีจิตแห่งการให้ความดีงามทั้งปวงแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยความเต็มใจ สมัครใจ อิ่มใจ ซาบซึ้งใจ ปิติสุข มีคุณค่าและพัฒนาจิตวิญญาณให้สูงขึ้น เป็นความสมัครใจ เต็มใจตั้งใจทำ และเสียสละทั้งแรงกายและแรงใจหรือทรัพย์สินในการทำกิจกรรมหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน และมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น จิตบริการเป็นการให้บริการโดยบูรณาการความเป็นมนุษย์เชื่อมโยงมิติทางสังคม อ่อนโยน ต่อชีวิต อ่อนน้อมต่อธรรมชาติ ความเป็นกัลยามิตร จัดบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์, อ้างจาก อัตตลักษณ์ของสถาบันพระบรมราชนก, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา, http://www.bcnpy.ac.th/v2/images/stories/bcnpy2008/1111.pdf 

[14]“พนักงานส่วนหน้า” หรือ “Frontline Workers “, “การบริการที่ดีแบบมืออาชีพ” หรือ “Frontline Staff” เป็นผู้ให้บริการส่วนหน้า (front line employee) หรือ เจ้าหน้าที่ในแนวหน้า (Front-line workers) หรือผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เป็น งานบริการด่านหน้า(Front Line Service) ที่ต้องมี พนักงานหน้างาน (Frontline Workers) หรือ พนักงานบริการส่วนหน้า (Frontline employee) หรือคนทำงานด่านหน้า (First Response) ซึ่งเป็นบุคคลที่ติดต่อปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าโดยตรง พนักงานหน้างานเปรียบเสมือนเป็น “กระดูกสันหลังของธุรกิจ” เนื่องจากเป็นกลุ่มคนทำงานส่วนใหญ่ที่ต้องพบปะกับบุคคลภายนอกและให้บริการลูกค้าอยู่เสมอ เช่น พนักงานบริการ พนักงานขาย พนักงานทำความสะอาด บุคลากรทางการแพทย์ ทีมคอลเซ็นเตอร์ ช่างเทคนิคสนับสนุน เจ้าหน้าที่ในแผนกต้อนรับ คนงานในโรงงาน หรือพนักงานภาคพื้นในสนามบิน 

ดู เมื่อ Frontline Workers เป็นผู้กำหนดประสบการณ์ของลูกค้ายุคดิจิทัล, techtalkthai, 30 กันยายน 2563, https://www.techtalkthai.com/digital-user-experience-was-rule-out-by-frontline-workers/ 



ความเห็น (1)

Thank you for this candid article. For an outsider (like me) it opens new channels of thinking. Not pleasant ones though ;-)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท