การยุบพรรคการเมืองไทยย้อนแย้งอะไรหรือไม่


การยุบพรรคการเมืองไทยย้อนแย้งอะไรหรือไม่

17 พฤศจิกายน 2566

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

 

พรรคการเมือง (Political Party) คืออะไร

ตามหลักการประชาธิปไตยจะมีกลไกในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน คือ ให้มีการตั้งพรรคการเมืองได้ง่าย และยุบพรรคการเมืองได้ยาก เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีในการแสดงออกทางการเมืองให้มากที่สุด เนื่องจาก พรรคการเมือง (Political Party) คือ

องค์กรทางการเมืองที่รวมบุคคลที่มีอุดมการณ์เดียวกัน นั่นคือมีแนวความคิดทางการเมือง ในการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจ แบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน เพื่อส่งบุคคลเข้ารับเลือกตั้ง เพื่อให้ได้เสียงข้างมากในรัฐสภาและจัดตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศตามแนวความคิดหรือนโยบายที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของกลุ่ม

ลักษณะสำคัญที่สุดที่ทำให้พรรคการเมืองมีลักษณะแตกต่างจากกลุ่มทางการเมืองอื่น ๆ ก็คือ พรรคการเมืองจะต้องมีความปรารถนาหรือต้องการที่จะเป็นรัฐบาล เพื่อจะได้มีโอกาสนำนโยบายของพรรคไปปฏิบัติจริง

ในระบอบรัฐสภา พรรคการเมืองส่วนใหญ่จะมีผู้นำ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วถ้าพรรคการเมืองนั้นได้รับเสียงข้างมาก จะรับหน้าที่เป็นผู้นำรัฐบาล ขณะที่ในระบอบประธานาธิบดี พรรคการเมืองอาจไม่มีผู้นำที่ชัดเจน โดยเฉพาะในระบบการเมืองที่มีการแยกอำนาจโดยสมบูรณ์

ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองจะเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญมากและขาดไม่ได้ในกระบวนการปกครอง เพราะการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและมีอิทธิพลเหนือรัฐบาล ผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร, อ้างอิง : วิกิพีเดีย

 

หลักการควบคุมประชาธิปไตยเชิงลบ

มีคำถามว่าการยุบพรรคการเมืองง่ายสวนทางประชาธิปไตยหรือไม่ อย่างไร ถือเป็นหลักการควบคุมประชาธิปไตยเชิงลบ แม้จะอ้างว่าเป็นผลดีแก่ระบอบประชาธิปไตยในระยะแรกเริ่ม มีการยุบพรรคการเมืองเพื่อการสร้างมาตรฐานตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน หากพรรคไม่ดี ไม่ถูกต้องก็สมควรยุบ แต่การยุบพรรคการเมืองง่าย ก็ต้องตั้งพรรคการเมืองได้ง่ายเช่นกัน แต่ในข้อเท็จจริงนั้น สำหรับประเทศไทย แนวคิดดังกล่าวย้อนแย้งกัน กล่าวคือ การตั้งพรรคการเมืองได้ยากกว่า แต่การยุบพรรคการเมืองนั้นยุบได้ง่ายกว่า ซึ่งสวนทางกับหลักการประชาธิปไตยแห่งโลกเสรี ที่ผ่านมาเริ่มจากประสบการณ์การเมืองแบบไทยๆ เพราะมี "Militant Democracy" หรือเมื่อประชาธิปไตยไม่ทน

การยุบพรรคการเมือง ก็คือ การตัดสิทธิทางการเมืองของประชาชน จึงทำให้พรรคการเมืองไทยไม่แข็งไม่แกร่งเสียที ซึ่ง สมชาย ปรีชาศิลปกุล (2566) สรุปว่า ชนชั้นนำไทยตอบโต้ความพ่ายแพ้การเลือกตั้ง เพื่อทำให้การเลือกตั้งมีความหมายลดน้อยลงไปใน 3 รูปแบบคือ 1.บิดเบือนเลือกตั้ง โดยขาดการดำเนินการโปร่งใส สะดวก เข้าใจได้ง่าย 2.การยุบพรรคการเมือง ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างล้นหลาม ได้แก่ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคอนาคตใหม่ 3.การรัฐประหาร โดยเป็นการกระทำที่มีการปรึกษาหารือ การวางแผน การสร้างเครือข่าย รวมถึงการพยักหน้าของชนชั้นนำไทย เมื่อพบว่ากลไกต่างๆ ที่กล่าวมาไม่ประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นการขยายอำนาจของสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ประเทศไทยมีการรัฐประหารมาแล้วทั้งหมด จำนวน 13 ครั้ง ครั้งล่าสุด คือเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 น. โดย “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ” (คสช.)

 

ทำไมต้องยุบพรรคการเมือง เพราะอะไร

ย้อนมาดูเหตุต่างๆ ที่พรรคการเมืองไทยถูกยุบ ดังนี้

ศาลรัฐธรรมนูญกับการยุบพรรคการเมือง (บทความปี 2547 : ดร.ปัญญา อุดชาชน)
รัฐธรรมนูญกับพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่มีอยู่ควบคู่กันโดยตลอด ทั้งนี้ เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นผลมาจากการมีสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีได้ด้วยการรับรองของรัฐธรรมนูญ จึงถือได้ว่ารัฐธรรมนูญเป็นที่มาของสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการก่อตั้งพรรคการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม กรณีประเทศไทยนับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 จนถึงปัจจุบัน มีรัฐธรรมนูญ จำนวน 16 ฉบับ (ปัจจุบัน ปี 2566 มีรัฐธรรมนูญจำนวน 20 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นฉบับที่ 20) โดยแต่ละฉบับได้บัญญัติเกี่ยวกับพรรคการเมืองไว้ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก ๆ จะไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยพรรคการเมือง ทั้งนี้ เนื่องจากการพัฒนาการเมืองไทยได้รับการพัฒนาไม่ต่อเนื่องเท่าที่ควร
 

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

บทสรุป

ผลสรุปอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมือง แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมืองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมืองตามบทบัญญัติของกฎหมาย

1. อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมืองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการยุบพรรคการเมืองได้ในกรณีเกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านการเมือง การปกครองของประเทศ ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 63 กรณีประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ปรากฏใน The Basic Law For the Federal Republic of Germany ค.ศ. 1949, Article 21 (2) และกรณีประเทศสาธารณรัฐเกาหลีปรากฏใน The Constitution of the Republic of Korea Amendment ix ค.ศ.1987, Article 8 (4) ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นเสาหลักของรัฐธรรมนูญและเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ

2. อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมืองตามบทบัญญัติของกฎหมาย กล่าวคือ โดยหลักทั่วไปศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจหน้าที่เฉพาะที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เท่านั้น ยกเว้นรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไว้ในรัฐธรรมนูญว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่มีศักดิ์ลำดับรองลงมาจากรัฐธรรมนูญได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะมีอำนาจหน้าที่ยุบพรรคการเมืองตามบทบัญญัติของกฎหมายได้ ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 233 บัญญัติว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” โดยหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 233 ดังกล่าวได้นำหลักการมาจากรัฐธรรมนูญประเทศญี่ปุ่น ค.ศ.1946 มาตรา 76 (3) บัญญัติว่า “All judges are independent in the exercise of their conscience and bound only by this Constitution and the laws กรณีประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีปรากฏใน The Basic Law For the Federal Republic of Germany ค.ศ.1949, Article 21 (3) บัญญัติว่า “Details shall be regulated by federal laws และ Article 93 (2) บัญญัติว่า “The Federal Constitutional Court shall also rule on such other matters as may be assigned to it by a federal law และกรณีประเทศสาธารณรัฐเกาหลีปรากฏใน The Constitution of the Republic of Korea Amendment ix ค.ศ.1987, Article 111 (1) 5 บัญญัติว่า “Constitutional complaint as prescribed by Act” แต่อย่างไรก็ตาม กรณีประเทศสาธารณรัฐเกาหลี รัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ยุบพรรคการเมืองได้อีกด้วยดังปรากฏใน The Constitution of the Republic of Korea Amendment ix ค.ศ.1987, Article 111 (1) 3 บัญญัติว่า “Dissolution of a political party”

ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ยุบพรรคการเมืองตามบทบัญญัติของกฎหมายได้นี่เอง จึงส่งผลให้รัฐสภาได้ตรากฎหมายขึ้นเพื่อบัญญัติเกี่ยวกับรายละเอียดและเงื่อนไขต่าง ๆ ในการยุบพรรคการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญ กฎหมายดังกล่าวกรณีประเทศไทย คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 65 ถึงมาตรา 69 กรณีประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี คือ รัฐบัญญัติว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ ค.ศ.1993 (Gesetz Über das Bundesverfassungsgericht – BverGG), Section 13 (2) และ Section 46 (1) และ รัฐบัญญัติว่าด้วยพรรคการเมือง ค.ศ.1994 (Gesetz Über die politischen Parteien - Parteiengesetz), Section 32 (4) และกรณีประเทศสาธารณรัฐเกาหลี คือ พระราชบัญญัติศาลรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1997 (The Constitutional Court Act), Article 55 ถึงArticle 60

ดังนั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวตามข้อ 1 และข้อ 2 จึงสรุปได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการยุบพรรคการเมืองทั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและตามบทบัญญัติของกฎหมายได้

ข้อเสนอแนะ (ดร.ปัญญา อุดชาชน, 2547)

สำหรับกรณีของประเทศไทย ถึงแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจหน้าที่ยุบพรรคการเมืองตามบทบัญญัติของกฎหมายได้ก็ตาม แต่ตามข้อเท็จจริงมูลเหตุที่เป็นเงื่อนไขการยุบพรรคการเมืองโดย ศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะแตกต่างกันทั้งด้านกฎหมาย และ ด้านเจตนาของพรรคการเมือง ดังนี้

1. ด้านกฎหมาย จากสถิติคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระหว่างปี 2541 ถึงปี 2546 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองจำนวน 55 พรรคการเมือง โดยมูลเหตุที่เป็นเงื่อนไขการยุบพรรคการเมืองมากที่สุดมีจำนวน 22 พรรคการเมือง คือ พรรคการเมืองมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 29 บัญญัติว่า “ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ห้าพันคนขึ้นไป ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่นายทะเบียนประกาศกำหนดและมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา” และมูลเหตุที่เป็นเงื่อนไขการยุบพรรคการเมืองน้อยที่สุดมีจำนวน 1 พรรคการเมือง คือ พรรคการเมืองมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 25 บัญญัติว่า “เมื่อนายทะเบียนได้รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองแล้ว การดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ ให้พรรคการเมืองกระทำโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง

(1) การเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรคการเมือง

(2) การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคการเมือง

(3) การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง รองหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการ พรรคการเมือง รองเลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง โฆษกพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคอื่น

(4) การอื่นตามที่กำหนดในประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง”

2. ด้านเจตนาของพรรคการเมือง ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองแต่ละพรรค ศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2541 และปัจจุบันได้ดำเนินการตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2546 เช่น การพิจารณาคดีของศาลให้กระทำโดยเปิดเผยเมื่อมีการออกนั่งพิจารณาในการสืบพยาน การให้คู่กรณีแสดงความคิดเห็น หรือการฟังคำแถลงของคู่กรณี เป็นต้น จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นปรากฏว่าเมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมือง ในกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมือง บางพรรคการเมืองใช้ระยะเวลาพิจารณาวินิจฉัยนานเนื่องจากพรรคการเมืองที่จะถูกยุบนั้นได้ต่อสู้กับนายทะเบียนพรรคการเมือง จนบางครั้งศาลรัฐธรรมนูญต้องดำเนินการออกนั่งพิจารณาในการสืบพยาน บางพรรคการเมืองใช้ระยะเวลาพิจารณาวินิจฉัยน้อยเนื่องจากพรรคการเมืองที่จะถูกยุบนั้นได้แสดงเจตนาขอยุบพรรคการเมืองตนเอง เช่น พรรคชาติประชาไทยขอยุบพรรคตนเอง เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือใดๆ จากสมาชิกพรรค คณะกรรมการสาขาพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค กล่าวคือ ไม่สามารถจัดประชุมสามัญประจำปีได้ และเนื่องจากมีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึง 15 คน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 65 วรรคแรก (2) (เรื่องพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่ 8/2547 วันที่ 9 มีนาคม 2547) เป็นต้น หรือพรรคการเมืองที่จะถูกยุบนั้นหมดสภาพการเป็นพรรคการเมืองเพราะไม่มีตัวตนแล้วทั้งบุคลากรและสถานที่ทำการพรรคการเมือง หรือพรรคการเมืองที่จะถูกยุบนั้นไม่ประสงค์ที่จะต่อสู้กับนายทะเบียนพรรคการเมือง

3. จากข้อเท็จจริงตามข้อ 1 และข้อ 2 ดังกล่าว มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

(1) ศาลรัฐธรรมนูญควรมีอำนาจหน้าที่ยุบพรรคการเมืองได้ในกรณีดังต่อไปนี้

1. ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติของกฎหมาย กรณีที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านการเมือง การปกครองของรัฐ โดยพรรคการเมืองได้กระทำการที่มีลักษณะเป็นการล้มล้างหรืออาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมืองอย่างร้ายแรงที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

2. ตามบทบัญญัติของกฎหมาย กรณีที่พรรคการเมืองที่นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอให้ยุบนั้นได้ต่อสู้ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและประเด็นข้อกฎหมายกับนายทะเบียนพรรคการเมือง

(2) กรณีอื่นๆ นอกจากกรณีตามข้อ (1) นายทะเบียนพรรคการเมืองควรมีอำนาจหน้าที่ยุบพรรคการเมืองได้ในกรณีดังต่อไปนี้

1. ตามบทบัญญัติของกฎหมาย กรณีเพื่อให้เป็นไปตามเจตนาของพรรคการเมือง เช่น พรรคการเมืองที่แสดงเจตนายุบพรรคการเมืองไปรวมกับพรรคการเมืองอื่น หรือพรรคการเมืองที่แสดงเจตนายุบพรรคการเมืองตนเอง เนื่องจากไม่มีสภาพเป็นพรรคการเมืองตามองค์ประกอบและบทบาทของพรรคการเมือง เป็นต้น

2. ตามบทบัญญัติของกฎหมาย กรณีที่พรรคการเมืองที่นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอให้ยุบนั้นไม่ได้ต่อสู้ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและประเด็นข้อกฎหมายกับนายทะเบียนพรรคการเมือง

 

สาเหตุต่างๆ ของการยุบพรรคการเมืองในช่วงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550

บทบัญญัติกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดไว้ดังนี้ (จากบทความเขียนปี 2558 : ชงคชาญ สุวรรณมณี)

1.ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองแล้วไม่สามารถดำเนินการให้มีสมาชิก 5,000 คน ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย สมาชิกที่มีที่อยู่ในแต่ละภาคและจังหวัดที่นายทะเบียนประกาศกำหนด และให้มีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อย ภาคละ 1 สาขา

2.ไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้งติดต่อกันหรือเป็นเวลา 8 ปีติดต่อกัน สุดแต่ระยะเวลาใดจะยาวกว่ากัน

3.มีสมาชิกเหลือไม่ถึง 5,000 คนเป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปี

4.ไม่เรียกประชุมใหญ่พรรคการเมืองหรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปีโดยมิได้มีเหตุอันสมควรอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย

5.เหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมือง

6.มีการวบรวมพรรคการเมือง

7.หัวหน้าพรรคไม่จัดทำรายงานผลการดำเนินกิจการของพรรคในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมา

8.ไม่ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนตามที่กำหนดไว้และไม่จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินในรอบปีปฏิทิน ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป

9.พรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันอาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง ดังนี้

1)กระทำการล้มล้างหรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2)กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

3)กระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือ

4)กระทำการฝ่าฝืน ในกรณีต่อไปนี้

-พรรคการเมืองรับบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย เข้าเป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งใดๆ ในพรรคการเมือง หรือยอมให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง

-พรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง ช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งหรือได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

-พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

-พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคจากผู้ใด เพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์เศรษฐกิจของประเทศหรือราชการแผ่นดิน หรือกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

-พรรคการเมืองรับบริจาคเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมืองจาก

1)บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย

2)นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการหรือจดทะเบียนสาขาอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักร

3)นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร ซึ่งมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบ

4)องค์การหรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ

5)บุคคล องค์การ หรือนิติบุคคลตามที่กำหนดในประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

-พรรคการเมืองหรือผู้ใดสมคบรู้เห็นเป็นใจ หรือสนับสนุนให้บุคคลใดดำเนินการใด เพื่อให้บุคคลอื่นหรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง หลงเชื่อหรือเข้าใจว่าพรรคการเมืองอื่นหรือบุคคลใดกระทำความผิดโดยปราศจากมูลความจริง

-พรรคการเมืองหรือผู้ใดสมครบ รู้เห็นเป็นใจ หรือสนับสนุนให้บุคคลใดดำเนินการใดเพื่อกลั่นแกล้งพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองโดยปราศจากมูลความจริง

 

สรุปและข้อเสนอแนะ (ชงคชาญ สุวรรณมณี, 2558)

การยุบพรรคการเมืองถือเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนมาก ตามประวัติศาสตร์มีการถกเถียงกันมาโดยตลอดว่าเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยหรือไม่ ซึ่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งฝ่ายที่สนับสนุนเรื่องนี้เห็นว่ามาตรการยุบพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือในการรักษาประชาธิปไตยไว้ ดังที่นักวิชาการบางท่านได้กล่าวว่า "เมื่อพวกหัวรุนแรงจัดมาในคราบพรรคการเมือง ก็จะสร้างความท้าทายต่อหัวใจของระบบเลยทีเดียว" การยุบพรรคการเมืองเป็นเรื่องของประชาธิปไตย เป็นวิธีที่เหมาะสมหรือไม่ ผู้ศึกษาเห็นว่ามาตรการยุบพรรคการเมืองยังเป็นสิ่งจําเป็นเพื่อหยุดยั้งพรรคที่ก่อให้เกิดอันตรายอย่างยิ่งต่อระบอบประชาธิปไตย รัฐต้องดำเนินการเป็นสองรูปแบบ กล่าวคือ ควรใช้มาตรการรณรงค์ประชาธิปไตยสร้างจิตสํานึกให้ประชาชนได้พัฒนาเรียนรู้เข้าใจเข้าถึงบทบาทของพรรคการเมือง สามารถมองเห็นได้เองว่าพรรคการเมืองใดดีหรือไม่ดีควรสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใด และรัฐควรมีมาตรการยุบพรรคการเมืองไว้เพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบ สันติสุขภายใต้การปกครองระบบประชาธิปไตยที่เต็มใบ โดยต้องใช้มาตรการเฉพาะหน้า เช่น ให้มีการตีความและใช้บังคับกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ-หลักนิติธรรมและหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเคารพหลักเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง สิทธิในการฟ้องร้องคดีต่อศาล สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและมาตรการระยะยาว ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 เช่น การเสนอคําร้องให้ยุบพรรคการเมืองเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งมิใช่เป็นการใช้อำนาจร่วมของคณะกรรมการการเลือกตั้งกับนายทะเบียน เป็นต้น

 

กลไกการยุบพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560
‘ยุบพรรคง่าย’ ระเบียบการเมืองของ คสช. 
พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ปี 2560 ถูกยกร่างขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีที่มาจากความเห็นชอบของ คสช. โดย พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ฉบับนี้ ได้ให้อำนาจกับองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง ในการพิจารณายุบพรรค กล่าวคือ หาก กกต.มี 'หลักฐานอันควรเชื่อ' ได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำผิดดังต่อไปนี้ ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค 
ยกตัวอย่างเช่น
กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(1))
กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(2))
ยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกพรรค ควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(3), 28)
ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(3), 45)

แม้ว่าบทบัญญัติข้างต้นจะเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่ร้ายแรง แต่บทบัญญัติดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยการตีความเพื่อประกอบกับข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำฐานล้มล้างการปกครองฯ ปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ครอบงำ ชี้นำพรรคการเมือง หรือก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อย ซึ่งผู้ที่จะทำหน้าที่ในการตีความบทบัญญัติดังกล่าว คือ กกต. กับ ศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี เมื่อดูที่มาขององค์กรอิสระทั้งสองแห่งจะพบว่า ล้วนแล้วแต่มาจากการให้ความเห็นชอบของสภาแต่งตั้งของ คสช.โดย กกต. ทุกคนมาจากการให้ความเห็นชอบของ สนช. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากมาจากความเห็นชอบของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามบทเฉพาะกาล ดังนั้น อาจพูดได้ว่า การยุบพรรคการเมือง ขึ้นอยู่กับการตีความกฎหมายขององค์กรที่มาจาก คสช.

พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ "ตั้งพรรคยาก ยุบพรรคง่าย ห้ามประชานิยม" (บทความโดย iLaw,  2560) 
วันที่ 7 ตุลาคม 2560 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ เป็นหนึ่งในสี่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะนำประเทศไปสู่การเลือกตั้ง ตามโรดแมปที่จะเกิดอย่างช้าในเดือนพฤศจิกายน 2561
สาระสำคัญของพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ฉบับนี้คือ การกำหนดสิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำก่อนไปสู่การเลือกตั้ง โดยกฎหมายจะกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการจัดตั้งพรรคการเมือง การหาสมาชิกพรรค การหาเสียงเลือกตั้ง รวมไปถึงบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับศาลรัฐธรรมนูญ ในการลงโทษตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารและยุบพรรคการเมือง

ตั้งพรรคใหม่ต้องใช้อย่างน้อย 500 รายชื่อ บังคับจ่ายคนละ 1,000 บาท รวมกันให้ได้หนึ่งล้าน
สำหรับการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 9 กำหนดให้ บุคคลไม่น้อยกว่า 500 คน ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกันอาจร่วมกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งพรรคการเมือง แต่การตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท โดยผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกินคนละ 50,000 บาท
สำหรับพรรคการเมืองเก่า มาตรา 141 กำหนดว่าถ้ายังมีสมาชิกไม่ถึง 500 คน ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกให้ครบ 500 คน ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ป.ฉบับใหม่ใช้บังคับ และจัดให้มีทุนประเดิมจำนวน 1,000,000 บาท เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ 
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดู พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2550 จะพบว่าการจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นไปอย่างง่ายดายมากกว่า เพราะประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 15 คน ก็สามารถตั้งพรรคการเมืองได้ และไม่มีบทบัญญัติให้พรรคการเมืองต้องมีทุนตั้งต้นประเดิมมาก่อน

ตั้งพรรคหนึ่งปีต้องมีสมาชิก 500 คน สี่ปีต้องเพิ่มเป็น 10,000 คน
เมื่อรวบรวมสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งได้ครบจำนวน 500 คนขึ้นไป และได้ทำการจดทะเบียนพรรคการเมืองเรียบร้อย มาตรา 33 (1) กำหนดให้นับแต่วันที่จดทะเบียนพรรคการเมือง ภายในหนึ่งปีพรรคการเมืองต้องดำเนินการให้มีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายในสี่ปี
สำหรับพรรคการเมืองเก่า มาตรา 141 กำหนดให้สมาชิกพรรคจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน ต้องชำระค่าบำรุงพรรคภายในเวลา 180 และจัดให้สมาชิกพรรคชำระเงินค่าบำรุงพรรคให้ได้จำนวน ไม่น้อยกว่า 5,000 คนภายในหนึ่งปี และให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายในสี่ปี เมื่อพ้นระยะเวลาสี่ปีแล้ว ให้สมาชิกภาพของสมาชิกที่มิได้ชำระค่าบำรุงพรรค เป็นอันสิ้นสุดลง

พรรคเก่าจัดประชุมใหญ่ภายใน 180 วัน และต้องมีสาขาพรรคอย่างน้อย 4 สาขา
นับตั้งแต่พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ บังคับใช้ภายในเวลา 180 วัน มาตรา 141 (6) กำหนดให้พรรคการเมืองเก่าจัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับและจัดทำคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองและนโยบายของพรรคการเมือง และเลือกหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง การประชุมใหญ่ต้องมีหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าสี่สาขา และมีสมาชิกของพรรคการเมืองซึ่งรวมกันแล้วมีจำนวนไม่น้อยกว่า 250 คน เข้าร่วมประชุม

ตั้งสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา และต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 500 คน ใน 1 ปี
เมื่อพรรคการเมืองทำการจดทะเบียนพรรคการเมืองเรียบร้อย มาตรา 33 (2) กำหนดว่าภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่จดทะเบียน พรรคการเมืองต้องดำเนินการจัดให้มีสาขาพรรคในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัด ที่กกต.กำหนด อย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา โดยสาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป
ทั้งนี้ เขตเลือกตั้งในจังหวัดใดไม่ได้มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือสาขาพรรคการเมือง มาตรา 35 กำหนดว่า ถ้าพรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นเกิน 100 คน ให้พรรคการเมืองนั้นแต่งตั้งสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นซึ่งมาจากการเลือกของสมาชิกดังกล่าวเป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบนั้น
สำหรับพรรคการเมืองเก่า มาตรา 141 กำหนดว่าจะต้องจัดตั้งสาขาพรรค และตัวแทนพรรคประจำจังหวัดให้ครบถ้วนภายใน 180 อย่างไรก็ดี พรรคการเมืองอาจทำหนังสือขอขยายเวลาออกไปได้ แต่ต้องไม่เกินสามปี นับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลา 180 วัน เมื่อครบระยะเวลาแล้วพรรคการเมืองใดยังไม่ได้ดำเนินการให้เสร็จ ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพไป
การจัดตั้ง "สาขาพรรค" หรือ "ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด" มีความสำคัญ เพราะจะมีส่วนในการจัดการเลือกผู้สมัครส.ส.ขั้นต้น (primary vote) เพื่อหาตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ของแต่ละพรรคการเมือง ทั้งนี้หากพรรคใดไม่มีสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ก็จะไม่มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้น อย่างไรก็ตาม คำนิยามและวิธีการกำหนดเขตพื้นที่ของสาขาพรรค และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ยังคงมีความคลุมเคลือว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไร ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวไว้ในจดหมายที่ส่งถึงประธานกรธ.เรื่องให้ทบทวนระบบ primary vote

กำหนดข้อบังคับให้สมาชิกพรรคต้องจ่ายค่าบำรุงอย่างน้อยปีละ 100 บาท
สำหรับบุคคลที่ต้องการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องจ่ายค่าบำรุงพรรค โดยมาตรา 15 (15) กำหนดไว้ว่าการจ่ายเงินบำรุงพรรคการเมือง แต่ละพรรคต้องกำหนดลงในข้อบังคับการประชุม โดย “อัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองต้องเรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละ 100บาท” หรืออาจกำหนดให้เรียกเก็บค่าบำรุงพรรคจากสมาชิก แบบตลอดชีพก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 2,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ในบทเฉพาะกาล มาตรา 146 ระบุว่า ในการเรียกเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองสำหรับปีแรกที่พ.ร.บ.พรรคการเมืองบังคับใช้ พรรคจะเรียกเก็บต่ำกว่า 100 บาท ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 50 บาท

ปรับห้าแสนบาท หากเสนอนโยบายไม่ชี้แจงการใช้เงินและความคุ้มค่าของนโยบาย 
อีกสิ่งหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ คือ มาตรา 57 กำหนดให้การโฆษณานโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงิน อย่างน้อยต้องมีการแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1) วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ 2) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย ในกรณีพรรคการเมืองไม่ได้ดำเนินการตามนี้ ให้กกต.สั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด หากพรรคการเมืองยังไม่ดำเนินการตามคำสั่งกกต. มาตรา 121 กำหนดกกต.ปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

กกต.สั่งปลดคณะกรรมการบริหารทั้งหมด ห้ามยุ่งเกี่ยวพรรค 20 ปี
บทลงโทษที่ค่อนข้างจะรุนแรงอย่างหนึ่งปรากฎ มาตรา 22 คือ ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา หากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ควบคุมและกำกับดูแลสมาชิกจนกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายต่างๆ กกต.สามารถมีคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองจนกว่าจะพ้นเวลา 20 ปี อย่างไรก็ตาม กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งพ้นจากตำแหน่งมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของกกต. ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายใน 30 วัน

ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค หากเชื่อได้ว่าให้บุคคลภายนอกชี้นำพรรค
การยุบพรรคการเมืองถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 92 ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำผิด โดยให้ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำผิด ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอน สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น การกระทำผิดที่จะนำไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เช่น กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือ ให้บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคในลักษณะที่ทำให้พรรคหรือสมาชิกของพรรคขาดความอิสระ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เป็นต้น

 

การยุบพรรคการเมืองไทยปัจจุบัน (บทความนี้เขียนปี 2563 : เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง)

น่าเสียดายที่มาตรการยุบพรรคการเมืองในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นมีภาพลักษณ์ที่น่าเคลือบแคลง ไม่โปร่งใส เริ่มตั้งแต่การยุบพรรคไทยรักไทยโดยคณะตุลาการที่มาจากคณะรัฐประหาร และการบังคับใช้มาตรการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งย้อนหลัง แม้แต่คดีอิลลูมินาติเอง เพียงเริ่มต้นก็เต็มไปด้วยความเคลือบแคลง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้มีการพิจารณาคดี แต่นัดฟังคำวินิจฉัยภายในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งที่สิทธิในการชี้แจงเมื่อตนเองถูกกล่าวหาเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ถูกร้องในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าข้อกล่าวหานั้นจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม ชวนให้หวนระลึกถึงคดีพรรคพลังประชาชนที่ศาลรัฐธรรมนูญรวบรัดตัดคดีเช่นกัน

นอกจากนั้น ในภาพรวม พรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคทั้งสามครั้งสามครา และเผชิญกับข้อหายุบพรรคอีกทั้งสามครั้ง คือ พรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมชาตินิยมที่ก่อการรัฐประหารทั้งสองครั้ง กล่าวได้ว่า การยุบพรรคการเมืองเป็นมาตรการทางกฎหมายที่มีผลทางการเมืองสูงเป็นอย่างยิ่ง

เริ่มตั้งแต่เจตนารมณ์ ประชาธิปไตยไม่ทนหมายถึงการมอบให้ฝ่ายตุลาการพิทักษ์ระบอบการเมืองด้วยการยุบพรรคการเมืองได้ แต่กรณีของประเทศไทยนั้น ระบอบการเมืองที่ฝ่ายตุลาการพยายามจะพิทักษ์คือระบอบใด ระบอบประชาธิปไตยจริงหรือไม่ งานศึกษาหลายชิ้นโต้แย้งว่าตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ภาวะประชาธิปไตยของไทยถดถอยจากระบอบเสรีประชาธิปไตยมาเป็นกึ่งประชาธิปไตย หรืออำนาจนิยมแปลงรูปด้วยซ้ำ ผลเชิงประจักษ์คือ การยุบพรรคการเมืองที่ผ่านมาทั้งหมด ไม่ได้นำให้ประเทศไทยเกิดประชาธิปไตยมากขึ้นแม้แต่น้อย

 

อ้างอิง

กฎหมาย

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 105 ก วันที่ 7 ตุลาคม 2560 หน้า 1-40, https://ilaw.or.th/sites/default/files/Political%20Party.PDF 
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนที่ 7 ก วันที่ 28 มกราคม 2566 หน้า 13-19, https://party.ect.go.th/storage/app/media/280166.pdf 

 

บทความ

วิกิพีเดีย

ศาลรัฐธรรมนูญกับการยุบพรรคการเมือง โดย ผู้เรียบเรียง ดร. ปัญญา อุดชาชน, วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี 2547 เล่มที่ 3, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%8D%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87 

การยุบพรรคการเมือง, โดย ชงคชาญ สุวรรณมณี, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2558, https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=30205

พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ "ตั้งพรรคยาก ยุบพรรคง่าย ห้ามประชานิยม", โดย iLaw, 16 ตุลาคม 2560, https://ilaw.or.th/node/4654 

การเมืองเรื่องยุบพรรคการเมือง, โดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ , The 101 World, 19 มีนาคม 2562, https://www.the101.world/dissolution-of-political-party/ 

ยุบพรรค ยุบนิติธรรม ยุบประชาธิปไตย,โดยเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง, The 101 World, 17 มกราคม 2563, https://www.the101.world/party-dissolution-and-democracy/

‘ยุบพรรค’ วิบากกรรมการเมืองก่อนถึงการเลือกตั้งใหม่, โดย ณัชปกร นามเมือง, Thairath Plus, 4 เมษายน 2565, https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/101337 

บิดเบือนเลือกตั้ง, ยุบพรรค, รัฐประหาร: การตอบโต้ของชนชั้นนำต่อความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง, โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล, The 101 World, 8 พฤษภาคม 2566, https://www.the101.world/elite-in-election/ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 716281เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2023 07:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2023 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท