โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

วิถีแห่งคนหาผึ้ง


วิถีแห่งคนหาผึ้ง

โสภณ เปียสนิท

..........................................

                การกลับคืนสู่หมู่บ้านเกิดอีกครั้งหลังเกษียณก็เหมือนได้กลับมาทบทวนชีวิตของตัวเองอีกครั้ง วันวานกับวันนี้แม้จะแตกต่างจากเดิมไปมาก แต่หลายอย่างก็ยังคงวนเวียนอยู่ดังเดิม หมู่บ้านชานเมืองยังคงเหมือนเดิม นานๆ มีเสียงรถแล่นผ่านขึ้นล่องถนนสายกาญจนบุรี-เอราวัณ แว่วมาให้ได้ยินสักครั้ง เสียงเครื่องยนต์บางครั้งทำให้ชีวิตไม่เงียบจนเกินไป แต่บางครั้งเมื่อเสียงมากเกินไปก็ทำให้การผักผ่อนไม่เพียงพอ

วัยเด็กเห็นคนแก่นอนหลับกลางวัน เคยคิดว่า แล้วกลางคืนจะนอนหลับได้อย่างไร ถึงวันนี้เพิ่งรู้ว่า การได้นอนงีบหลับกลางวันสักครึ่งชั่วโมง หรือหนึ่งชั่วโมงเหมือนได้เพิ่มพลังชีวิตให้สดชื่นขึ้น และรู้เพิ่มเติมอีกว่า คนสูงวัยมักจะตื่นกลางดึกอยู่สักครั้งสองครั้งเสมอ อาจเป็นเพราะสังขารเสื่อมโทรมลงทนการกดทับนานหลายชั่วโมงไม่ไหว ทำให้รู้สึกตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ

บ่ายวันวานผมตื่นขึ้นหลังจากงีบหลับไปยามบ่ายเพราะหมาจรข้างบ้านที่เลี้ยงไว้วิ่งวนไปมาหูตั้ง รุกลี้รุกลนเหมือนว่าจะมีบ้างอย่างไม่ปกติ ผมออกเดินสำรวจรอบบ้านที่ค่อนข้างรกเรื้อ เพราะเต็มไปด้วยต้นไม้ที่ปลูกเอง และต้นไม้ที่ขึ้นเอง รอบบ้านใกล้ๆ ยังไม่เห็นสิ่งผิดปกติ จึงเพิ่มรอบให้กว้างขึ้น 

หลังบ้านด้านซ้ายมือห่างออกไปราวร้อยกว่าเมตร มองจากระยะไกลลอดเงาไม้ใหญ่น้อยที่ปกคลุมด้านบนจนเกิดเงาลางเลือน เหมือนมีผ้าดำคลุมตอไม้เตี้ยอยู่ข้างทางเดินช้างป่า ผมจ้องมองแต่เห็นไม่ชัด จึงเดินเข้าใกล้ไปเรื่อยๆ จนเห็นว่า นั่นไม่ใช่ผ้าดำ แต่เป็นเสื้อดำของชายร่างเล็กที่กำลังนั่งทำกิจกรรมบางอย่างอยู่กับพื้นดิน เมื่อเดินเข้าไปใกล้ ชายคนดังกล่าวหันหน้ามาจึงจำได้ว่า เป็นคนในหมู่บ้าน เขาชื่อเฉลิม นักตีผึ้ง

เดินเข้าใกล้แล้วผมจึงทักทาย ทำประหนึ่งว่า ไม่ถือสาที่เขาเข้ามาตีผึ้งในเขตที่ดินของเราซึ่งเป็นเจ้าบ้าน “ทำอะไรครับ” เฉลิมหันหน้าอันซีดเซียวเรียวเล็กแก้มตอบมองมาทางผม ตอบกลับมาสั้นๆ “ตีผึ้ง” สังเกตเห็นฟันของเขาหลอเกือบหมดปาก เขานั่งขาซ้ายเหยียดชี้ไปข้างหน้าอย่างผิดรูปร่าง ใช่ครับขาข้างซ้ายของเขาพิการ เคยสอบถามเพื่อนบ้านว่า ขาของเขาพิการเพราะอะไร เพื่อนบ้านเล่าว่า เพราะเขาตกต้นไม้จากการปีกขึ้นไปตีผึ้ง

ผมมองเลยไปทางด้านหน้าที่เขานั่งหันหน้าไปในป่ารกชัฏ แต่ก็ยังไม่เห็นรังผึ้งดังที่เขาว่าจึงถามต่อ “ตรงนี้มีผึ้งด้วยหรือ” เขาหันมาทำหน้าเฉยชา ตอบห้วนๆ “ก็อยู่นั่นไง” เขาพูดพร้อมกับหันไปเข้าป่า เหมือนเอาปากแทนนิ้วชี้ไปข้างหน้าตรงๆ จนผมต้องก้มตัวลงมองลอดกิ่งก้านไม้นานาพันธุ์สระประสานกันจนหนาทึบ “อ่อ อยู่นั่นเอง ขนาดนี้ได้สักครึ่งขวดไหม” ผมชวนเขาคุย “ไม่ได้หรอก ต้องสักสามรัง” เขาตอบขณะควักกาบมะพร้าวขนาดเล็กออกมาจากกระเป๋าเสื้อเสียบกับกิ่งไผ่ยาวราวหนึ่งเมตร พร้อมจุดไฟรนที่กาบมะพร้าว 

ยุงกลุ่มใหญ่รวมตัวกันเป็นกลุ่มบินวนเหนือหัวเขาเหมือนกำลังจะหามเขาออกไปจากที่นี่ คาดว่า บนหัวของผมคงมียุงอีกกลุ่มบินวนอยู่เช่นกัน “กาบมะพร้าวน้อยไปมั้ง” ผมว่าไปเรื่อยแบบคนไม่รู้ เขาตอบขณะใช้ไฟแช็คลนที่กาบมะพร้าวเล็กๆ นั่น “พอถมเถไป” คำนี้ผมไม่ได้ยินใครพูดมานานมากแล้ว “ถมเถ” มีความหมายว่าเกินพอ

ควันไฟสีเทาเริ่มลอยคว้างขึ้นไปในอากาศ ขณะยุ่งกระจายตัวออกไป เขาค่อยๆ แหย่กาบมะพร้าวติดไฟเข้าไปใกล้ด้านล่างของรังผึ้ง ควันสีเทาพร้อมความร้อนและกลิ่นไฟไหม้รมเข้าที่รังผึ้งอย่างเห็นได้ชัด ผมได้ยินเสียงผึ้งขยับปีกและเบิกตัวออกไปจับกอดกลุ่มอยู่ตรงน้ำหวานด้านบนคอน เผยให้เห็นรังผึ้งสีเหลืองมีตัวอ่อนเต็มจากด้านล้าง ครู่เดียว เฉลิมค่อยๆ ปีนกิ่งไม้ใหญ่ด้วยมือสองข้าง เข้าใกล้รังผึ้ง เมื่อนั่งบนกิ่งไม้ใกล้รังผึ้งได้แล้ว เขาหยิบมีดเหน็บสีขาววับตัดเลาะกิ่งไม้สองสามกิ่งที่เกะกะออก แล้วตัดฉับลงไปที่คอนไม้ ใช้มือซ้ายจับคอนไว้แล้วไต่กลับลงมา ขณะที่ตัวผึ้งบินหึ่งกระจายออกไป แต่ไม่เห็นผึ้งต่อยเขา อาจเป็นเพราะผึ้งยังคงเร่งรีบกับการดูดน้ำหวานคืน เพราะกลัวไฟไหม้รัง 

เฉลิมกลับลงมานั่งบนพื้นดินที่เดิมแล้วเก็บสัมภาระกลับเข้าย่าม แล้วเดินห่างออกมาจากจุดเดิมพอสมควร ผึ้งยังคงบินวนอยู่ใกล้บริเวณที่เคยมีรัง ส่วนใหญ่จับกลุ่มรวมตัวกันอีกครั้งใกล้ๆ แม้จะไม่มีรังเหลืออีกแล้ว ห่างออกมาพอควรแล้วจึงชวนเขาคุยต่อ “วันหนึ่งตีผึ้งได้เยอะไหม” เขาหันหน้ามามองตรงๆ “ไม่ค่อยเยอะหรอก ผึ้งมันน้อย คนตีมันเยอะ แล้วอีกอย่าง ป่ามันก็ลดลงมาก ไม่เหมือนเมื่อก่อน” 

เขามีท่าทีอยากจะเดินจากไป แต่ผมยังสนใจวิถีแห่งคนตีผึ้งจึงชวนคุย “ขายกันแพงไหม เดี๋ยวนี้” เขาหยิบซองยาเส้น บุหรี่ใบจากออกจากย่าม “มันก็แพงขึ้นนะ แต่ค่าครองชีพมันก็แพงขึ้นตามไปด้วย” ผมแอบคิดว่า ตาเฉลิมนี่เหมือนจะมีความรู้ไม่น้อย เพราะพูดคำว่า ค่าครองชีพ “เก่งนะรู้จักคำว่าค่าครองชีพ” เขายิ้มโชว์ฟันหลอให้เห็นอีกคราว “ฟังเขาพูดกันที่ร้านกาแฟเมื่อวันก่อน” 

“แล้วขายกันขวดละเท่าไร” ผมถามต่อด้วยความอยากรู้ “ขายในหมู่บ้านเราก็สองร้อยห้าสิบบาท คนซื้อเขาเอาไปขายต่อสามสี่ร้อยบาท” เขาตอบขณะหยิบยาเส้นจัดเรียงบนใบจากแล้วค่อยๆ มวนให้กลมนำใส่ปากใช้ฟันซี่ที่เหลืออยู่กัดไว้ในปาก ผมชวนเขาคุยต่อ “แล้วเราต้องตีกี่รังจึงจะพอได้อยู่ได้กิน” มือซ้ายของเขาวางรังผึ้งไว้บนใบไม้ มือขวาจับมวนยาใบจากออกจากปาก ทอดสายตามองเข้าไปในดงไม้อันรกชัฏที่เขาคุ้นเคย “มันจะไปแน่นอนอะไรกันเล่า” เขาไม่ตอบแต่กลับตั้งเป็นคำถามแทน

ผมถามต่อ “มันยังไงหรือ” สีหน้าของเขายังคงนิ่ง มือขวาจับบุหรี่ยาเส้นที่ยังไม่ได้จุดค้างไว้ “บางวันเจอผึ้งใหญ่ รังเดียวสองสามขวดก็สบายไป บางวันได้รังเล็ก รังสองรังไม่ถึงขวด มันก็ไม่พอกิน ต้องไปหางานรับจ้างอื่นประกอบไปด้วยจึงจะพออยู่รอด” ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ขาของเขาพิการอย่างนี้จะรับจ้างอะไร “รับจ้างงานอะไรได้บ้างละ” “ก็เฝ้าสวน เฝ้าไร่ เฝ้าบ้าน และทุกอย่างที่พอจะทำได้แหละ”

เห็นเขานั่งนิ่งไป ผมถือโอกาสถาม “ไปเรียนตีผึ้งมาจากไหน” เหมือนเขาจะขำในคำถามของผม “ตีผึ้งจะต้องไปเรียนทำไมกัน ใครที่จุดไฟได้ก็ตีผึ้งได้ แค่หาเศษกิ่งใบหญ้าจุดไฟให้มีควันรมที่รังผึ้ง แค่นั้นก็ตีได้แล้ว” ผมจึงทดลองถามเขาต่อ “ผมเคยได้ยินเขาเล่ากันว่า คนสมัยก่อนเขาต้องใช้คาถา” “ผมก็เคยได้ยินเขาเล่ามาอย่างนั้นเหมือนกัน แต่สมัยก่อนโน้นส่วนมากเขาตีผึ้งใหญ่ในป่าลึก ต้องปีนขึ้นต้นไม้ใหญ่ต้องตอกลูกทอยขึ้นไปตี หรือไม่ก็ตีตามหน้าผาสูง บ้านเราเดี๋ยวนี้มีแต่ผึ้งเล็ก ผึ้งหวี่แค่นี้แหละ” 

“มันก็จริงดังว่า เลยไม่ต้องใช้คาถาอาคมกันแล้ว” ผมว่าไปตามเขา “เสียเวลาเหนื่อยเปล่า” เขาว่าตามความเชื่อ “แล้วเคยโดนต่อยบ้างหรือเปล่า” เขายิ้มน้อยๆ “จะเหลือหรือ นักตีผึ้งไม่โดนต่อยก็ไม่ใช่นักตีผึ้งซิ” ผมแอบนึกถึงภาพคนขายน้ำผึ้งที่หน้าตาบวมปูดร้องขายผึ้งว่า น้ำผึ้งแท้แน่นอน

“เคยตีผึ้งในกอไผ่ไหม” ผมถามชวนคุย “บ่อยไป ผึ้งบ้านเราชอบแอบเขาไปซ่อนรังไว้ในกอไผ่ หน้าฝนผึ้งมักจะทำรังตามสุมทุมพุ่มไม้เตี้ยๆ พอถึงหน้าแล้งพวกนี้จะกลัวไฟ มักจะขึ้นไปทำรังบนต้นไม้ที่สูงขึ้นไปหน่อย นักตีผึ้งอย่างพวกเราจะรู้กันดี” เขาเผยปรัชญานักตีผึ้งออกมากให้ผมรู้อีกเล็กน้อย

“ตีผึ้งในกอไผ่ มันรกขนาดนั้น มีหนามแหลมมากด้วย จะลำบากไหม” ผมพูดเชิงเห็นอกเห็นใจนักตีผึ้ง “มันก็ลำบากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ไม่มีอะไรเกินความเพียร” เขาอ้างหลักธรรมนำใจให้ผมได้ฟังอีกแล้ว นี่ถ้าไม่ได้คุยกันแบบนี้ ผมก็คงจะเห็นเขาเป็นแค่ชายแก่ยากจนธรรมดาๆ แต่นี่เขาเหมือนเป็นนักปรัชญาอีกคนหนึ่งทีเดียว

“ทำอย่างไรบ้าง เมื่อเราต้องตีผึ้งในกอไผ่” ผมตั้งคำถามเพื่อให้เขาค่อยๆ คิดเป็นขั้นเป็นตอน “ไม่ต้องอะไรมากหรอก แค่มีดคมๆสักเล่ม เชื้อไฟที่มีควันเยอะๆก็พอแล้ว วิธีการก็แค่จุดไฟไว้ข้างก่อไผ่ให้ควันรมไปทางรังผึ้ง แล้วก็ค่อยๆ ฟันเปิดช่องเข้าถึงรังผึ้งให้ได้ กะว่ายื่นมือเข้าไปตัดกิ่งคอนได้ก็พอ ริดกิ่งไผ่ทีละกิ่งสองกิ่งเข้าไปเรื่อย กิ่งข้างๆ กิ่งรอบๆ ระหว่างกำลังริดกิ่งอยู่นั้นอย่าให้ไฟดับก็แล้วกัน” “ทำไมรึ” ผมถาม “ผึ้งอาจตั้งตัวได้ หันมาต่อยเราเข้า”

“ผึ้งบนต้นไม้สูงเรายังพอตีไหวไหม” ผมถามหยั่งเชิง “สบายมาก ตีผึ้งใช้มือโดยส่วนมาก เท้าซ้ายขวาเราไม่ค่อยได้ใช้งานเท่าไรในการตีผึ้ง แต่หมายถึงว่า ไม่สูงจนมากเกินไปนะ ถ้าสูงเกินผมต้องใช้ตัวช่วย” “อ้าว มีตัวช่วยด้วยหรือ” “มีซิ ทำได้ง่ายมาก แค่เรียกพวกๆ มาช่วยเท่านั้นก็ได้แล้ว” เขาพูดจากประสบการณ์

เมื่อตอนเด็กผมก็เคยตีผึ้งกับเขาเหมือนกัน จำได้ว่า ครั้งหนึ่งผมตามพี่ชายไปเล่นใต้ถุนกุฏิพระ เห็นมีก้นบุหรี่อยู่มากมาย กล่องไม้ขีดก็มี เลยทดลองนำก้นบุหรี่มาคาบปากเหมือนที่เห็นผู้ใหญ่เขาทำกันแล้วจุดไฟที่ปลายก้นบุหรี่ ปรากฏว่าพอมึนได้เหมือนกัน ครั้งหนึ่งเห็นผึ้งอยู่บนกิ่งมะขามเตี้ยๆ จึงจุดก้นบุหรี่ที่พอหาได้ไปพ่นรังผึ้ง ควันรมผึ้งได้นิดเดียวคราวนี้ก็ต้องจุดติดต่อกันหลายมวน ผลปรากฏว่าผมเมาบุหรี่ตกกิ่งมะขามลงมานั่งตาลายเลยไม่ได้ตีผึ้ง อดกินน้ำผึ้ง

หมายเลขบันทึก: 716104เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2023 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2023 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตอนเด็กๆผมมีอาชีพตีผึ้งขายไปยันท่ามะนาว ท่าหวี ปกติเขาชอบอยู่ใกล้แหล่งน้ำ บางทีใช้การดูผึ้งกินน้ำแล้วตามไปรังเหมือนกัน ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท