ทำไม “บล็อกเชน (Blockchain)” จึงควรถูกจัดไว้ในสมการแก้โกง


ทำไม “บล็อกเชน (Blockchain)” จึงควรถูกจัดไว้ในสมการแก้โกง

10 พฤศจิกายน 2566

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1] 

 

 

ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่สูงมาก

ต้องยอมรับว่าสังคมไทยมีโจทย์ใหญ่ คือ เรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” [2] ในรายได้มาก การทลายทุนผูกขาดยาก เพราะโอกาสของกลุ่มคนมีไม่เท่ากัน สัดส่วนกลุ่มคนรวยมากกับคนจนมากในช่วง 10% ส่วนบนยอดและส่วนล่างของปิรามิด ประชากรโลก 7 พันล้านคนมีคนรวยมากเพียง 3% ในขณะที่คนจนที่ฐานล่างของปิรามิดมีถึง 57% จำนวน 4 พันล้านคน ข้อมูลไทยปี 2564 พบว่า [3] มีกลุ่มคนรวย 10% ถือครองทรัพย์สิน 1 ใน 3 และมีรายได้คนจนที่สุดต่อคนรวยที่สุดห่างกันเกือบ 16 เท่า 

สัดส่วนยิ่งมากขึ้นจากข้อมูลการวิจัยล่าสุดของ Credit Suisse Global Wealth Data Book พบว่า [4] ประชากรที่รวยที่สุด 10% ของไทยถือครองทรัพย์สินมากกว่า 77% ของคนทั้งประเทศ และประชากรที่รวยที่สุดเพียง 1% มีความมั่งคั่งเฉลี่ย 33 ล้านบาทต่อคน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรที่จนที่สุด 20% ถึง 2,500 เท่า เพราะคนรวยย่อมมีโอกาสทางสังคมที่มากกว่าคนกลุ่มอื่น ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยที่สุด 10% และคนส่วนใหญ่ในประเทศ ยิ่งขยายกว้างเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ [5] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนจนระดับล่าง 10% คนหาเช้ากินค่ำแทบจะไม่ได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก

 

บล็อกเชน (Blockchain) คืออะไร มีความปลอดภัยหรือไม่

ขอเปิดประเด็นแนวทางหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำ คือนโยบายเงินดิจิตอล หรือ “ดิจิทัล วอลเล็ต” หรือ “กระเป๋าเงินดิจิทัล” (Digital wallet) [6] 10,000 บาท(ต่อคน) ของรัฐบาล ที่ยังไม่ถึงทางตัน แต่มีเสียงวิพากษ์เชิงลบมากมาย โดยเฉพาะจากฝ่ายนักวิชาการหรือจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ทำให้คนจำนวนมากงุนงงสงสัยในนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่จะเกิดขึ้น และคนหันมาให้ความสนใจเทคโนโลยีที่เรียกว่า “บล็อกเชน (Blockchain)” กันอย่างกว้างขวาง หากจะอธิบายเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างง่ายและสั้นกระชับที่สุด อาจกล่าวได้ว่า “บล็อกเชน” นั้น เป็นบัญชีข้อมูลที่มีฐานข้อมูลแบบกระจายร่วมกันของอุปกรณ์ ทุกเครื่องที่ใช้ระบบเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ฯ โดยทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรม (transaction) อุปกรณ์ทุกเครื่องที่ใช้งานโปรแกรมเดียวกันจะได้รับการกระจายข้อมูลชุดเดียวกัน [7] โดยสร้างข้อมูลแบบระบบเครือข่ายขึ้น ดังนั้น คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่ใช้โปรแกรมนี้จึงมีชุดข้อมูลเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนมากมาย เป็นข้อมูลระบบแบบกระจายศูนย์ (Decentralization) ไม่มีตัวกลาง พึ่งพาระบบ Peer-to-Peer (P2P) ภายในเครือข่ายและส่งข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมและ Block ใหม่ทุกครั้ง [8] ซึ่งอาจคำนวณอย่างง่ายว่า หากรัฐบาลกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนคนที่จะได้รับทั้งหมด ขั้นต่ำประมาณ 50 ล้านคน [9] ซึ่งจะมีการกระจายข้อมูลการทำธุรกรรมไปยังอุปกรณ์ขั้นต่ำประมาณ 50 ล้านอุปกรณ์ ทุกคนจะรับทราบร่วมกัน ว่าใครเป็นเจ้าของและมีสิทธิในข้อมูลตัวจริง [10]  

ดังนั้น บล็อกเชนจึงเป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูง แก้ไขได้ยาก หรือแม้แต่ทำลายข้อมูลในทุกอุปกรณ์ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก หรือแทบไม่อาจทำได้เลย เพราะแม้เจ้าของบัญชีคนใดคนหนึ่งจะทำการแก้ไขข้อมูลในบัญชีของตน แต่ข้อมูลการทำธุรกรรมในทุกครั้ง หรือการสร้าง Block ใหม่ทุกครั้ง จะถูกกระจายข้อมูลไปสู่อุปกรณ์ทุกเครื่องที่ใช้โปรแกรมเดียวกัน จึงไม่มีบุคคลหรือกลุ่มใดที่สามารถควบคุมได้ แต่ผู้ใช้งานทุกอุปกรณ์จะเป็นผู้ควบคุมร่วมกัน จึงย่อมไม่อาจแก้ไขข้อมูลในทุกอุปกรณ์ได้ การทำธุรกรรมดังกล่าวจึงปลอดภัยและไม่เปลี่ยนรูปได้ 

นอกจากนี้ผลพลอยได้ที่ตามมาของบล็อกเชน เช่น (1) เป็นสิ่งที่จะเพิ่มความมีคุณธรรมและโปร่งใสในการตรวจสอบ (Integrity & Transparency) และระบบติดตามการโอนเงินได้มากขึ้น (2) ลดความเสี่ยงในการปลอมแปลงบัญชี (3) ในขณะเดียวกันจะเป็นการพัฒนา identity management ทำให้การตรวจสอบข้อมูลของผู้ถือบัญชีจะง่ายขึ้น [11] จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดรัฐบาลยืนยันว่า จะไม่ใช้กับแอปเป๋าตัง (ใช้ระบบ Database) เหมือนที่ทำนโยบายคนละครึ่ง แต่จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนที่โปร่งใสกว่า ปลอดภัยกว่า และยังเป็นการปูพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศไทยในระยะยาว [12] แต่แท้จริงแล้ว บล็อกเชนย่อมให้อะไรกับประชาชนที่มากกว่านั้น 

 

เทคนิคการกระจายข้อมูลและการกระจายอำนาจในการควบคุมข้อมูล

หากพิจารณาการกระจายข้อมูลและการกระจายอำนาจในการควบคุมข้อมูลจะเห็นได้ว่า ปัจจัยเหล่านี้ไม่ต่างอะไรจากพื้นฐานการสร้าง “ความโปร่งใส” ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น จึงอาจกล่าวได้ว่า บล็อกเชนจะเป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มความยุติธรรมและประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ ลดโอกาสในการคอร์รัปชั่น ด้วยการสร้างความโปร่งใส ทำให้ในต่างประเทศมีการนำบล็อกเชนไปใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งสร้างระบบทะเบียนทรัพย์สินและที่ดินให้มีประสิทธิภาพ และปกป้องสิทธิของประชาชนไปพร้อมกัน [13] โดยปัญหาเหล่านี้ล้วนต่างเกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ความไม่ปลอดภัยในระบบทรัพย์สินและที่ดิน โดยบรรดามิจฉาชีพจะสืบค้นข้อมูลมาจากหลายแหล่งแล้วนำมาประกอบกัน เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรจากบริษัทหรือพนักงานที่ให้บริการส่งสินค้า ดังเช่นข่าวการขายข้อมูลคนไทยกว่า 15 ล้านรายชื่อให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ถือเป็นการล้วงขโมยข้อมูลส่วนบุคคลที่นำไปให้บุคคลอื่นโดยมิชอบ เป็นต้น

การค้นหาตำแหน่งที่ตั้งจาก Google Maps การสืบค้นผ่านโปรแกรม LandsMaps [14] ซึ่งเป็นแอปค้นหาข้อมูลแปลงที่ดินบนมือถือของกรมที่ดิน ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยการนำข้อมูลรูปที่ดินมาซ้อนทับกับระบบข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่เชื่อมต่อระบบนำทางแผนที่สากลของ Google Maps ซึ่งให้บริการฟรีแก่ประชาชน และนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้หลอกลวงโดยอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดิน ทำให้ประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐ หรือนักข่าว ฯ และสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก [15] และมิจฉาชีพยังนำข้อมูลเหล่านี้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฯ และด้วยการที่มิจฉาชีพเหล่านี้มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหยื่อ จึงใช้ข้อมูลเหล่านั้นในการพูดจาหลอกล่อให้เหยื่อหลงเชื่อได้ไม่ยาก สร้างความเสียหายอย่างมากมาย รวมทั้งรูปแบบสารพัดวิธีการ ในการหลอกลวงทางออนไลน์ การโทรศัพท์หลอก ส่งเมสเสจ คือข้อความสั้น รูปภาพ รูป QRcode ลิงค์ให้ดาวน์โหลด ที่เป็นการหลอกลวง สุดท้ายก็ดูดเงินจากบัญชีของเหยื่อไปหมด

โดยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 นายกรัฐมนตรีได้เสนอว่า ในช่วงระยะเวลา 1 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ได้เกิดคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (Cyber Crime) เป็นจำนวนมากกว่า 330,000 คดี มูลค่าความเสียหายมากกว่า 45,000 ล้านบาท แต่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น สถานการณ์ดังกล่าว ย่อมทำให้ประชาชนจำนวนมากเริ่มกังวลว่า เมื่ออาชญากรยังลอยนวลใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจะอยู่ที่ใด ซึ่งเมื่อกล่าวถึงตรงนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า บล็อกเชนจะเป็นหนึ่งในตัวช่วยให้สามารถทำให้ตรวจสอบ และตรวจจับอาชญากรทางเทคโนโลยีเหล่านี้ได้โดย “การกระจายข้อมูลและกระจายอำนาจในการควบคุมข้อมูล” ที่สร้างความโปร่งใสบนโลกออนไลน์พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกัน 

มีหลากหลายงานวิชาการทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศที่มีความสอดคล้องกันว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถตรวจสอบกิจกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการสาธารณะ และช่วยเปิดโปงการคอร์รัปชั่นได้ และทำให้ยากต่อการปกปิดการฉ้อฉลและการรับสินบนใต้โต๊ะ [16] จุดเด่นของเทคโนโลยีนี้ คือ การที่ไม่มีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวหรืออุปกรณ์เพียงเครื่องเดียวที่สามารถควบคุมบล็อคเชนและข้อมูลในนั้นได้แต่เพียงผู้เดียว ทำให้ทั้งระดับการมองเห็นเป็นสาธารณะบนระบบการควบคุมที่เป็นประชาธิปไตย ระบบนี้จึงถูกนำเสนอให้นำไปใช้กับภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตและระบบการบริหารจัดการที่ไม่ถูกต้องที่มีมานานหลายศตวรรษ จึงเป็นระบบที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจากหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การนำไปใช้ในระบบการเลือกตั้ง ด้วยการใช้บล็อกเชนในลงคะแนนเสียง ทำให้ทุกครั้งที่มีการลงคะแนน การลงคะแนนนั้นจะถูกบันทึกต่อสาธารณะแบบเรียลไทม์บนบล็อกเชนสาธารณะ ซึ่งหมายความว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรายงานผิด นับผิด หรือเปลี่ยนแปลงการลงคะแนนเสียงที่ลงคะแนนไปแล้ว ลดความผิดพลาดและปิดช่องทางการคอร์รัปชัน เนื่องจากประชาชนสามารถเห็นผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ ทำให้โอกาสที่การเลือกตั้งจะถูกโกงหรือบิดเบือนจะลดลง ซึ่งประเทศไทยเองก็เคยประสบปัญหานี้ ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ว่า อาจมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพิ่มความโปร่งใสในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไปด้วย นอกจากนี้ หลายมหาวิทยาลัยทั่วโลกยังใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการออกและตรวจสอบใบรับรองการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยบาห์เรน หรือ MIT ระบบนี้ช่วยให้นายจ้างสามารถยืนยันข้อมูลของผู้สมัครงานได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที รวมทั้งในภาครัฐ ได้มีการใช้บล็อกเชนในการออกเอกสารของรัฐบาล เช่น หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ และบัตรประจำตัวประชาชน ช่วยในการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว และข้อมูลในเอกสารบนบล็อกเชนระดับชาติได้อย่างง่ายดาย ช่วยแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ปลอมเอกสาร รวมทั้งการปลอมแปลงเอกสารโดยประชาชนทั่วไป อีกทั้ง บล็อกเชนยังสามารถนำไปใช้กับการเก็บบันทึกการเบิกจ่ายเงินของกองทุนสาธารณะได้ทั่วโลก ป้องกันการยักยอกโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะการใช้บล็อกเชนมีการแสดงข้อมูลแบบสาธารณะทำให้เห็นว่ามีการเบิกจ่ายเงินไปที่ใดบ้าง จะช่วยควบคุมและเปิดเผยการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ [17] สิ่งเหล่านี้ จะช่วยตอบโจทย์ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรมเพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยไปพร้อมกัน

 

ความคุ้มค่าสมประโยชน์ในบล็อกเชนมีเพียงใด

การศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนนี้อาจเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แบบที่เรียกว่า ช่วยปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ อีกทั้งพัฒนาทั้งเทคโนโลยีตลอดจนเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน โดยที่ภาครัฐและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด แต่คนอีกจำนวนมากกลับไปเข้าใจบล็อกเชนในแง่ “คริปโตเคอร์เรนซี” (Cryptocurrency) หรือ “บิตคอยน์” (Bitcoin) ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว บล็อคเชนไม่ได้จำกัดแค่คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือ บิตคอยน์ (Bitcoin) เพียงแต่คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือ บิตคอยน์ (Bitcoin) เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยบล็อกเชน และประชาชนควรจะได้ใช้เทคโนโลยีนี้ให้สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถแลกเปลี่ยนเงิน 1 บาทให้มีคุณค่ามากขึ้นอย่างอิสระ และสามารถนำมาลงทุนในตลาดใดๆ ก็ได้ เป็นเทคโนโลยี Disrupt ตลาดการเงินให้เป็น Fintech ในอนาคตอย่างแน่นอน [18]อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า ในทุกนโยบายจะมีทั้งผู้เห็นด้วยและเห็นต่างอยู่เสมอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ หากจะมีคนจำนวนหนึ่ง หรือจำนวนมากออกมาคัดค้านนโยบายนี้การรับฟังข่าวที่มีหลายมุมมอง หลายแง่คิดเช่นนี้ จึงควรต้องรับฟังอย่างรอบด้านด้วยความระมัดระวัง เพราะทุกนโยบายมักสร้างความเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกัน ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ และทุกการพัฒนามักสร้างโอกาสและทำลายโอกาสของคนใดและคนกลุ่มใดไปพร้อมกันอยู่เสมอ ขึ้นอยู่เพียงว่า จะนำไปสู่คำตอบสุดท้าย คือ ประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมได้อย่างไร และท่ามกลางการทุจริตในท้องถิ่นที่เจ้าหน้าที่หน้าใหม่ของท้องถิ่นมักถูกชักชวนให้เข้าร่วมกระบวนการทุจริตเสมอ บล็อกเชนอาจเป็นคำตอบในการสร้างระบบที่เรียกว่า “โกงยาก” เพราะการทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนเป็นคนดี ย่อมไม่อาจทำได้ แต่การสร้างระบบการตรวจสอบที่แน่นหนา ด้วยการเปิดเผยและกระจายข้อมูลเพื่อปิดช่องทางการทุจริตย่อมเป็นสิ่งที่อาจเป็นไปได้มากกว่า และเมื่อปิดโอกาสและช่องทางในการทุจริตแล้ว อาจเป็นการนำร่องในการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ด้วยการพาประเทศไทยเข้าสู่ประเทศที่มีความโปร่งใสในลำดับต้นๆ ของดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของโลกก็เป็นได้ 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกเปลี่ยนแปลงด้วยการก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างที่เราแทบไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่กลับเปิดรับอย่างค่อยเป็นค่อยไปเสมอ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกเปลี่ยนไปด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การสื่อสารอย่างไร้พรมแดน รวมทั้งรูปแบบการใช้เงินที่ทุกวันนี้ บางคนแทบไม่มีเงินสดติดตัว แต่ใช้การสแกนจ่ายผ่านมือถือสมาร์ทโฟนแทน หากเราหวนกลับไปใคร่ครวญในสิ่งเหล่านี้แล้ว จะเห็นว่า เทคโนโลยีสร้างความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และทุกการเปลี่ยนแปลงจะต้องมีร่องรอยของประวัติศาสตร์ (Digital footprint) [19] ไว้เสมอ ในโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook, Twitter, Instagram และ YouTube ที่สามารถสืบค้นตรวจสอบ หรือ การวาร์ป (Warp) การส่องหรือการตามติด สืบค้นตรวจสอบข้อมูลบุคคลจากแหล่งโซเซียล เพื่อทราบความเป็นตัวตนของบุคคลคนนั้นได้ หวังว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในครั้งนี้ จะทิ้งร่องรอยประวัติศาสตร์การคอร์รัปชั่นของประเทศไทยไว้ในอดีตเช่นกัน 

มีผู้เห็นจุดอ่อนประการหนึ่งว่า เนื่องจากบล็อกเชนมีรายการที่เบ็ดเสร็จในแต่ละรายๆ ไป โอกาสที่จะจับผิด แฮกเกอร์ได้จึงเป็นเพียงส่วนน้อย ในทางกลับกันแฮกเกอร์กลับชื่นชอบในระบบบล็อกเชนนี้ เพราะว่าอาชญากรรมส่วนใหญ่มักได้ “ไตร่ตรองเตรียมการไว้ล่วงหน้าอย่างดีแล้ว” แถมยังมี “กลอุบายการหลอกลวง” สารพัดมากมาย ที่ฝ่ายรัฐตามแก๊งต้มตุ๋นไซเบอร์ไม่ทัน ที่ต่างล้วนมีเทคนิค วิธีการ ภูมิความรู้ เคล็ดลับการโกงของมันเฉพาะ ปัญหาประชากรแฝงที่ไปอาศัยหรือทำงานต่างพื้นที่จำนวนมาก ทำให้บุคคลเหล่านี้เสียสิทธิในการใช้จ่ายเงิน 10,000 บาทไป และขนาดแพลตฟอร์มที่สมบูรณ์แบบนั้นต้องมีขนาดใหญ่มากๆ ที่ต้องใช้เทคโนโลยีและการควบคุมที่สูง ในระยะเร่งด่วนนี้อาจมีข้อจำกัดและปัญหาในความพร้อมของหน่วยงานที่จะนำระบบบล็อกเชนมาใช้

 

ไปๆ มาๆ นี่เรากำลังเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ หรือวิชาไอที หรือวิชาการบริหารการพัฒนา กันแน่ ตกลงก็คือ รวมกันในทุกวิชาทุกองค์ความรู้ที่มีนั่นแหละ เพราะปัจจุบัน “วิทยาการเป็นแบบประยุกต์” (Applied Science) เป็น “สหวิทยาการ” (Interdisciplinary) หรือ “พหุวิทยาการ” (Multidisciplinary) [20] เป็นการใช้องค์ความรู้หลายสาขาวิชา หลายศาสตร์หรือหลายอนุศาสตร์ มาผสมผสานใช้ในการสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ใหม่ นี่คือศาสตร์ใหม่โดยแท้


 

[1]Watcharapron Maneenuch & Wisitsak Singkhan & Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unari-ne, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 10 พฤศจิกายน 2566, 23:30 น., https://siamrath.co.th/n/491633 

[2]ในมติของความเหลื่อมล้ำนั้น สุดท้านจะมาลงที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หรือรายได้ที่เกี่ยวข้องการการดำรงชีวิต (cost of living) ในมาตรฐานชีวิตขั้นต่ำที่สุด (Basic Minimum Need : BMN) หรือ ความจำเป็นพื้นฐาน หรือ จปฐ.เป็นมาตรฐานขั้นต่ำของการดำรงชีวิต กำหนดเอาไว้ว่า คนควรจะมีคุณภาพชีวิตในแต่ละเรื่องอย่างไรในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ 

ในที่ประชุม World Employment Conference เมื่อปี 1986 ซึ่งมีพื้นฐานความคิดที่ต้องการให้เกิดความมเสมอภาคในการกระจายทรัพยากรและบริการพื้นฐานไปยังประชาชนที่ยากจนในท้องที่ห่างไกล เพื่อให้บรรลุถึงความจำเป็นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ซึ่งได้ให้แนวทางในการกำหนดความจำเป็นพื้นฐานไว้

ความเหลื่อมล้ำในสังคมด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจนั้นเป็นปัญหา ที่เราต้องหาทางแก้ไข และควรใช้วิธีอะไร เป็นคำถามที่ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์หรือจุดยืนของคนในสังคมปัจจุบัน

ดู ความเหลื่อมล้ำ : แนวคิด สถานการณ์ในประเทศไทย และแนวทางแก้ไข (INEQUALITY: CONCEPTS, SITUATION IN THAILAND AND SOLUTIONS REDUCING), โดย ภูริวัจน์ ปุณยวุฒิปรีดา, นักวิชาการอิสระ, ในวารสารสหวิทยาการนวัตกรรมปริทรรศน์(Journal of Interdisciplinary Innovation Review), ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน 2561, https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jidir/article/download/255805/173141/932537 

[3]ปี 2546 มีผู้ประมาณการว่า ในโลกนี้จะมีกลุ่มคนที่ถือได้ว่าเป็นกลุ่มฐานล่างของปิรามิดอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นจำนวนถึงประมาณ 4,000 ล้านคน ปี 2556 กลุ่มคนรวย คือมีรายได้ 20,000 เหรียญ/ปีขึ้นไป จำนวน 200 ล้านคน (3%) สหประชาชาติระบุว่า ปัจจุบันโลกมีจำนวนประชากรมากถึง 8 พันล้านคนแล้ว โดยเพิ่มจาก 7 พันล้านคนในปี 2011 ภายในเวลาเพียง 11 ปี อ้างจาก BBC (Nov 15, 2022)

“สศช.” เผยในช่วงการพัฒนาตาม “แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ” ฉบับที่ 12 พบความเหลื่อมล้ำยังอยู่ในระดับสูง “รายได้คนจนที่สุด-คนรวยที่สุด” ห่างกันเกือบ 16 เท่า ขณะที่คนรวย 10% ถือครองทรัพย์สิน 1 ใน 3 ของประเทศ ระบุแม้จำนวนยากจนจะลดลงเหลือ 6.48% แต่รายได้เฉลี่ยเติบโตเพียง 4.6% ต่อปี ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 15% ต่อปี

ดู เปิดรายงาน “สภาพัฒน์” เผย “ความเหลื่อมล้ำ” ยังสูง-คนรวย 10% ถือครองทรัพย์สิน 1 ใน 3, สำนักข่าวอิศรา, 14 พฤษภาคม 2565, 11:56 น., https://www.isranews.org/article/isranews-news/108803-gov-NESDC-National-Economic-and-Social-Development-Plan-12-news.html

[4]จากข้อมูลการวิจัยของ Credit Suisse Global Wealth Data Book พบว่า ประชากรที่รวยที่สุดร้อยละ 10 ของไทยถือครองทรัพย์สินมากกว่าร้อยละ 77 ของคนทั้งประเทศ และประชากรที่รวยที่สุดร้อยละ 1 มีความมั่งคั่งเฉลี่ย 33 ล้านบาทต่อคน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรที่จนที่สุดร้อยละ 20 ถึง 2,500 เท่า

ดู คนรวย1%ถือทรัพย์สิน77%! ย้อนดูปัญหา”เหลื่อมล้ำฯ” ก่อนว่าที่”รบ.ใหม่”ปักธง”ทลายทุนผูกขาด”, สำนักข่าวอิศรา, 21 พฤษภาคม 2566, 15:39 น., https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/118718-political-party-policy-Demonopolize-policy-inequality-problem-report.html

[5]ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย พบว่า มหาเศรษฐีไทย 40 ลำดับแรกในปี 2565 ถือครองทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 5.7 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2552 คิดเป็นมูลค่าเกือบ 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) พร้อมสำรวจรายได้ ค่าใช้จ่าย ของประชากรแต่ละกลุ่มในประเทศไทย 

ดู มหาเศรษฐี40ลำดับแรก รวยเพิ่มขึ้น 5.7ถ่างความเหลื่อมล้ำสุดขั้ว ปทุมธานีหนี้บานมากที่สุด : Matichon TV, 14 มกราคม 2566, https://www.youtube.com/watch?v=asWHBanc-As

& คนรวย1%ถือทรัพย์สิน77%! ย้อนดูปัญหา‘เหลื่อมล้ำฯ’ ก่อนว่าที่‘รบ.ใหม่’ปักธง‘ทลายทุนผูกขาด’, สำนักข่าวอิศรา, 21 พฤษภาคม 2566, อ้างแล้ว & ความเหลื่อมล้ำ : แนวคิด สถานการณ์ในประเทศไทย และแนวทางแก้ไข (INEQUALITY: CONCEPTS, SITUATION IN THAILAND AND SOLUTIONS REDUCING), โดย ภูริวัจน์ ปุณยวุฒิปรีดา, 2561, อ้างแล้ว

[6]รัฐบาลเรียกคำนี้ว่า “ดิจิทัลวอลเล็ต” และปฏิเสธว่ามิใช่ Bitcoin หรือ Crypto ซึ่งเป็นเงินดิจิทัลเช่นกัน เพราะไม่เหมือนกัน

“กระเป๋าเงินดิจิทัล” (Digital Wallet) หมายถึง ตัวกลางที่ทำหน้าที่เสมือนกระเป๋าเงิน ใช้ในการแลกเปลี่ยน การชำระเงินต่างๆ ทั้งแบบใช้จ่ายโดยตรงในชีวิตประจำวัน หรือการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ โดยมีการนำเอาระบบเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) มาปรับใช้ร่วมด้วย เพื่อให้ใช้งานได้ครอบคลุมไปถึงสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น Bitcoin หรือสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ (Cryptocurrency) รวมถึงสามารถรองรับการใช้งานตามเงื่อนไขของสกุลเงินนั้นๆ ได้อีกด้วย

ซึ่ง Digital Wallet นี้ มีทั้งในรูปแบบของแอปพลิเคชันบนมือถือ โปรแกรมบนเดสก์ทอปคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งในรูปแบบของกระดาษบันทึก โดยจะมีการตั้งรหัสการเข้าถึงข้อมูลธุรกรรมที่เรียกว่า “Private Key” ซึ่งเป็นกุญแจส่วนตัวที่ใช้ในการเข้าถึงข้อมูล ทำหน้าที่เป็นรหัสผ่านในการเข้ากระเป๋าเงิน จุดประสงค์เพื่อไม่ให้บุคคลอื่นสามารถเข้าถึงข้อมูลของเราได้ และ “Public Key” คือ ที่อยู่ (Wallet Address) ที่ใช้ในการแจ้งผู้อื่นเพื่อการทำธุรกรรมต่างๆ เปรียบเสมือนเลขที่บัญชีของกระเป๋าเงินนั่นเอง “Digital Wallet” จะแตกต่างกับ “E-wallet” หรือ “Mobile Wallet”

ดู DigitalWallet ที่เขาพูดถึงกันคืออะไร?, โดย Science and Technology Park, Chiang Mai University : CMU-STeP, สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566, https://www.step.cmu.ac.th/view_content.php?ct_id=TXprPQ==

[7]Node คืออะไร?, โดย bitcointhailand, สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2566, https://bitcointhailand.org/what-is-node/ 

[8]โหนด (Node) คืออะไร? Nodes มีกี่ประเภท มันทำงานอย่างไรใน Blockchain?, โดย Akhradet Mornthong, 15 มิถุนายน 2565, https://th.beincrypto.com/learn/nodes-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/ 

[9]เงินดิจิทัล 10,000 บาท ลงทะเบียนที่ไหน-กดเป็นเงินสดได้ไหม ใช้ยังไง เช็กเงื่อนไขที่นี่, Sanook, 28 สิงหาคม 2566, 13:54 น., https://www.sanook.com/money/911291/ 

[10]8 เหตุผลที่ Blockchain จะพลิกวงการการเงิน, By Krungsri Plearn Plearn, สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2566,  https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/blockchain-and-bank 

[11]8 เหตุผลที่ Blockchain จะพลิกวงการการเงิน, เรื่องเดียวกัน.

[12]บล็อกเชนคืออะไร ? ทำไม “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ไม่ใช้แอปเป๋าตัง, AMARIN 34 HD, 7 กันยายน 2566, สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2566,  https://www.amarintv.com/spotlight/economy/detail/51482 

[13]How blockchain can help dismantle corruption in government services, World Economic Forum, Jul 5, 2021, สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2566, https://www.weforum.org/agenda/2021/07/blockchain-for-government-systems-anti-corruption/ 

[14] LandsMaps เป็นแอปค้นหาข้อมูลแปลงที่ดินบนมือถือของกรมที่ดิน โดยการนำข้อมูลรูปที่ดินมาซ้อนทับกับระบบข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งสามารถค้นหาข้อมูลต่างๆ ของแปลงที่ดินนั้นได้ แม้ว่าจะมีหรือไม่มีโฉนดที่ดินก็ตาม

ดู ค้นหาแปลงที่ดิน สะดวก ง่าย ด้วย LandsMaps, https://tb.co.th/article/tips/search-for-plots-of-land 

& ตรวจสอบโฉนดที่ดิน ชื่อเจ้าของ ค้นหาแปลงที่ดิน 77 จังหวัดของประเทศไทย, โดย DDproperty Editorial Team, อัปเดตล่าสุด 4 สิงหาคม 2566, https://www.ddproperty.com/คู่มือซื้อขาย/ค้นข้อมูลที่ดินออนไลน์-กรมที่ดิน-แอป-landsmaps-5131 

[15]ผู้ประกาศข่าวถูกหลอกติดตั้งแอปฯ ดูดเงินสูญกว่า 1 ล้านบาท, Thai PBS, 9 สิงหาคม 2566, สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2566, https://www.thaipbs.or.th/news/content/330482 

[16]Here's how blockchain could stop corrupt officials from stealing school lunches, World Economic Forum, May 17, 2019, สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2566, https://www.weforum.org/agenda/2019/05/heres-how-blockchain-stopped-corrupt-officials-stealing-school-dinners/ 

[17]Is Blockchain the Solution to Corruption in the Public Sector?, By Marie Singer, Published Sep 10, 2021 at 16:47 PM GMT, สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2566, https://marketbusinessnews.com/blockchain-solution-corruption-public-sector/275291/ 

[18]บล็อคเชน 101 ที่ไม่ใช่แค่คริปโต, Blockfint, 24 มิถุนายน 2564, สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2566, https://www.blockfint.com/th/blog/blockchain-is-not-just-about-crypto 

[19]Digital Footprintคือ รอยเท้าบนโลกดิจิทัล รวมทั้งพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook, Twitter, Instagram และ YouTube การพิมพ์ข้อความคอมเมนต์ การโพสต์ข้อความ วิดีโอ เขียนบล็อก การเข้าสู่เว็บไซต์ การกดไลก์เพจ หรือแชร์ข้อความ พฤติกรรมการใช้งานต่างๆ เหล่านี้จะถูกบันทึกไว้ ให้ติดตามร่องรอยถึงตัวเรา

[20]พหุวิทยาการ (Multidisciplinary) หรือ สหวิทยาการ (Interdisciplinary) หมายถึง การใช้องค์ความรู้หลายสาขาวิชา หลายศาสตร์หรือหลายอนุศาสตร์ มาผสมผสานใช้ในการวิเคราะห์ วิจัยและสังเคราะห์ขึ้นเป็นองค์ความรู้ใหม่และพัฒนาเป็นศาสตร์ใหม่ขึ้น (คำนิยามของ สกอ.)

ดู คู่มือการประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ปีการศึกษา 2557 (อ้างอิงจากคู่มือการประกันคุณภาพการศึกษา สกอ. ปีการศึกษา 2557) บทที่ 5 นิยามศัพท์ที่ใช้ในตัวบ่งชี้ (จัดเรียงตามตัวอักษร), 2557, หน้า 47-58, https://web.sut.ac.th/qa/Vocab.pdf

หมายเลขบันทึก: 716031เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2023 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2023 00:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

A good coverage of blockchains, but no mentions of the cost of running a blockchain node (good blockchains need to have many independent nodes; my estimate is about THB5000/month) and the processing time (Bitcoin blockchain takes 10 minutes to confirm a block of transactions).

Like all technologies, blockchains can be used for good and evil! Because blockchains are perceived as ‘good’, they are useful for ‘evil’ in the same way as ‘fraud crimes’ are prevalent because ‘victims’ see ‘good’ in them.

Dear sir, sr, I see & agree on your comment. We hoped that government concern all or most effective negative factors too.

Big Oooops and apologies from me! this “my estimate is about THB5000/month” in my comment above, should be “my cost estimate is about THB5000/month for each node “ (in electricity and internet data, excluding the hardware or computer; Bitcoin mining nodes need very high performance systems because of the computation and competition among mining nodes to ‘add’ new blocks - Bitcoin blockchain pays mining nodes for new blocks they add to the blockchain).

In this TH gov 10K giveaway scheme context, there is no mention of rewards for independent mining nodes, no incentives for new (validating) nodes to offset the cost. We can guess that any new nodes that join the blockchain would do so for some benefits (outside the scheme). And because blockchain validation is democratic or majority-rule, it is not difficult to become the majority of the (few nodes gov blockchain) system and to control its content and direction.

We can compare this to TH recent democratic election. We cannot blindly trust the system of democracy, Nor can we blindly trust blockchains.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท