ทางออกประเทศไทย 2566


         

          ทางออกประเทศไทย 2566 โดย 4 แกนหลัก พลิกโฉมไทยให้เติบโต มั่นคง ยั่งยืน สามารถก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ ทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอย สงคราม สภาพภูมิอากาศที่ส่งผลทางภูมิรัฐศาสตร์ คลื่นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี พลังงาน ความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐ เป็นต้น เพื่อให้สังคมประเทศหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง หลุดจากกำแพงภาษีของประเทศมหาอำนาจท่ามกลางความท้าทายของโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ แรงงานขาดแคลดหดหาย การลงทุนล่าถอยออกจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป้าหมายประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หากประสบผลเป็นจริง นี่คือ ทางออกประเทศไทย จาก 4 แกนหลัก พลิกโฉมไทยให้เติบโต ประกอบด้วย

          1. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

          ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ Sufficiency Economy Philosophy หรือ SEP ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีทั้งองค์การสหประชาชาติ ประชาชน องค์กรทุกภาคส่วนควรกลับมาทำความเข้าใจจริงๆ อย่างจริงจังและร่วมกันสืบสาน รักษา ต่อยอดการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างมีเหตุผล ความพอประมาณ ภูมิคุ้มกันบนฐานของความรู้ คุณธรรมและความเพียร โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับสถานการณ์และเงื่อนไขระดับประเทศและระดับโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ รวมถึงศักยภาพของทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคมและทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ อย่างที่กำลังเป็น เช่น Soft power เป็นต้น
ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความสมดุลในมิติต่างๆ ทั้งความสมดุลระหว่างการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ มุ่งเน้นส่งสินค้าออกไปขายทั่วโลกกับความสามารถในการพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง เช่น ไทยเที่ยวไทย ไม่ใช่ไทยเอาเงินออกไปเที่ยวทั่วโลกตามกระแสสังคม เป็นต้น
เสริมสร้างความสมดุลของการกระจายโอกาสเพื่อลดความเหลื่อมล้าระหว่างกลุ่มคนและพื้นที่ รักษาความสมดุลทางธรรมชาติเพื่อให้คนอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย รุกล้ำ ทำลายรวมถึงการบริหารจัดการองคาพยพต่างๆ ของประเทศให้พร้อมรับกับความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน การค้าขายผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตที่คนไทยเสียเปรียบ เป็นต้น

          นอกจากนี้ ในการวางแผนและการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติต้องอาศัยองค์ความรู้ทางวิชาการที่รอบด้านและพิจารณาด้วยความรอบคอบ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบ Knowledge based Economy หรือ Innovative Based Economy ไม่ใช่ใช้ความเชื่อควบคู่กับการยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมเป็นที่ตั้ง มุ่งสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างสังคมทำงานมากกว่ามุ่งเน้นระบบอุตสาหกรรมไร้คนทั้งหมดและมุ่งมั่นผลักดันให้การพัฒนาคน ทรัพยากร งบประมาณ ระบบการบริการภาครัฐ เติบโตอย่างสมดุล สอดคล้องกับสถานการณ์บรรลุบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

          2. การสร้างความสามารถในการ “ล้มแล้ว ลุกไว”

          ความสามารถในการ “ล้มแล้ว ลุกไว” มุ่งเน้นพัฒนาใน ๓ ระดับ ประกอบด้วย

          2.1 การพร้อมรับ หรือ ระดับ “อยู่รอด” การแก้ไขข้อจำกัดหรือจุดอ่อนที่มีอยู่ ซึ่งเป็นผลให้ประชาชนประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิตหรือทำให้ประเทศมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกและภายใน รวมถึงการสร้างความพร้อมในทุกระดับในการรับมือกับสภาวะวิกฤติที่อาจเกิดขึ้น ให้สามารถฟื้นคืนสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว

          2.2 การปรับตัว หรือ ระดับ “พอเพียง” ปรับเปลี่ยนปัจจัยจำเป็นเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในระดับฐานราก ครอบครัว ชุมชน พื้นที่และประเทศ รวมถึงปรับทิศทาง รูปแบบและแนวทางการพัฒนาให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลง

ของโลกยุคใหม่มากกว่ายึดโยงกับระบบเดิมๆ ขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนมากมาย

          2.3 การเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ ระดับ “ยั่งยืน” ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในมิติต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความสามารถของบุคคลและสังคมในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อสนับสนุนให้ประเทศสามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

          3. เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ Sustainability Development Goal (SDGs) โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของแนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” มุ่งเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกกลุ่มทั้งในมิติของการมีปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานที่เพียงพอ การมีสภาพแวดล้อมที่ดี การมีปัจจัยสนับสนุนให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การมีโอกาสที่จะใช้ศักยภาพของตนในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี และการมุ่งส่งต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีไปยังคนรุ่นต่อไป

          4. การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model โดยให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสมัยใหม่และความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต การให้บริการและการบริโภคเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง มีแผนการเปลี่ยนผ่านการผลิต แสวงหา การใช้พลังงานอย่างจริงจัง สื่อสารให้ประชาคมโลกรับทราบ อาทิ วางตำแหน่งประเทศเป็นศูนย์กลางการเติมน้ำมัน Bio-jet ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาด ขึ้นภาษีรถยนต์ที่ยังใช้พลังงานจากฟอสซิล เป็นต้น

          สิ่งสำคัญของการเดินทางสู่ ทางออกประเทศไทย 2566 คือ 1) การสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นจากรัฐบาลถึงประชาชน จากรัฐบาลถึงองค์กรเอกชน และ 2) สามัคคี คือ การที่ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนทั้ง 4 แกนสู่การปฏิบัติอย่างพร้อมเพียงกันและสุดท้าย คือ 3) เสถียรภาพทางการเมือง ที่มีผลต่อการกำหนด ปรับเปลี่ยน ปรับปรุงนโยบาย จำเป็นต้องมีจุดยืนส่งเสริมสนับสนุนให้ชัดเจน ต่อเนื่อง เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศที่เจริญแล้ว ค้าขายได้กำไร ผู้คนมีความสุข สิ่งแวดล้อมเติบโต ยั่งยืน

รู้จักผู้เขียน /ติดตามแนวคิดอื่นๆ

หมายเลขบันทึก: 715976เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2023 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2023 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท