ชีวิตที่พอเพียง  4565. เดินทางไปประชุมวิชาการ HTASiaLink ที่มาเลเซีย : 3. การประชุมหลักวันที่สอง


 

วันพุธที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๖ 

เช้าฝนตกค่อนข้างหนัก  อุณหภูมิ ๒๔ องศา    แผนของผมที่จะกินอาหารเช้าก่อน แล้วออกไปเดินออกกำลังช่วงที่สว่างหน่อย เป็นอันพับไป    จึงไปเข้าห้องประชุมก่อนเวลามากหน่อย    ได้ที่นั่งแถวหน้าสุดได้มองเห็นจอชัดเจน และถ่ายรูปสไลด์ PowerPoint ได้ชัดเจนมาก    การที่คนแก่คนหนึ่งนั่งฟังอย่างตั้งใจ จด และถ่ายรูป slide presentation เป็นที่สังเกตของผู้เข้าร่วมประชุม   มีคนมาเอ่ยกับผมสองสามคน 

Plenary Session 2 : Role of HTA in Assessing Public Health Intervention   มีวิทยากร ๔ ท่าน  ท่านแรก ศ. Mark Jit  หนภ. Infectious Disease Epidemiology จาก London School of Hygiene and Tropical Medicine กล่าววางพื้นฐานความเข้าใจเชิงทฤษฎี เรื่องโมเดลทางระบาดวิทยา   อธิบายให้เข้าใจความหมายของคำว่า “โมเดล”   ว่าหมายถึงการสร้างสิ่งทดแทนหรืออธิบายสิ่งของหรือเหตุการณ์ที่ซับซ้อน มีหลากหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง ให้เข้าใจง่าย    ที่ฟังแล้วผมนึกในใจว่า โมเดล เป็น reductionist   หรือเป็นเครื่องมือเสนอแทนการเสนอความจริงที่เสนอได้ยากมากหรือเสนอไม่ได้    ซึ่งหากผมเข้าใจถูกต้อง เวลาใช้โมเดลต้องมีสติระมัดระวังมาก   ซึ่งในการประชุมก็มีการเสนอเช่นนั้น 

ฟัง Mark Jit นำเสนอแล้ว ยืนยันศรัทธาที่คุณหมอยศและผมมีต่อท่าน ว่าเป็นอัจฉริยะทางวิชาการที่บุคลิกจ๋องๆ ผอมกระหร่อง   แต่ยามบรรยายอัจฉริยภาพของท่านก็ฉายแสงออกมาเจิดจ้า    และช่วยให้ผมนึกถึงเมื่อกว่ายี่สิบปีมาแล้ว ผมไปฟังนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลท่านหนึ่ง มาบรรยายที่คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล   เวลาบรรยายมือของท่านจะเหวี่ยงไปมาอยู่ตลอดเวลา    เป็นการเหวี่ยงแบบไม่น่าดูหรือดูนานๆ จะเวียนศีรษะ    แต่ของ มาร์ค จิต มือของท่านเคลื่อนไหวไปมาอย่างน่าดู   แต่ที่ฟังท่านแล้วชื่นใจที่สุดคือคำบรรยายของท่านมีความชัดเจนมาก        

หลักการสำคัญของ Plenary Session 2 คือ    เมื่อ HTA เริ่มเกิดขึ้นเมื่อสามสิบปีที่แล้ว   เป็นเครื่องมือประเมินวิธีดำเนินการด้านการปฏิรักษาผู้ป่วยเป็นรายๆ เป็นหลัก    แต่วันนี้ เรามาเรียนรู้การใช้ HTA ประเมินวิธีการด้านสาธารณสุข เพื่อดูแลคนจำนวนมากหรือประชากร   ซึ่งต้องใช้วิธีวิทยาที่ซับซ้อนขึ้นอย่างมากมาย    คือ modelling 

อีก ๓ ท่าน มานำเสนอการประยุกต์ใช้ในมาเลเซีย  ออสเตรเลีย  และไต้หวัน   เป็นตัวอย่างการประยุกต์ใช้ที่ให้การเรียนรู้เป็นอย่างมาก   

หลังเบรก เป็นช่วง Poster Session ครึ่งชั่วโมง    ผมไปซักหมอจีนที่มาทำปริญญาเอกสาขาระบาดวิทยาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ภายใต้ความร่วมมือกับ HITAP   ทำวิจัยเรื่องสุขภาพช่องปากของเด็กอายุ ๗ - ๙ ขวบในชนบทของมณฑลยูนนานของจีน    เธอใช้คำว่าเป็นการศึกษาแบบ Structural Equation Modelling (ดูรูป)    หากมีเวลาได้ซักจนเข้าใจจริงๆ จะได้เรียนรู้มาก   

ผมตั้งใจไปเข้าฟังห้อง Oral Presentation ห้อง Health Service Research   แต่ระหว่างเดินไป พบคุณหมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ    ท่านชวนผมไปร่วมประชุมหารือความร่วมมือ African CDC – HTASiaLink ที่ห้อง ๑ ชั้น ๓๕   ที่ HITAP จัด    จึงได้เรียนรู้ความคล่องแคล่วเฉลียวฉลาดของ นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์ ในการสร้างกลไกความร่วมมือ    เพราะเมื่อจบการประชุมที่ใช้เวลา ๑ ชั่วโมง    ท่านบอกว่าทาง HITAP มีทีม Focal Point ที่นั่งจดการประชุมอยู่ข้างหลัง    ทำหน้าที่ประสานงานกับ Focal Point ของ African CDC  รวมทั้งกล่าวเชิญ African CDC ให้มาร่วมประชุม 12th HTASiaLink ในปี 2025 ที่สิงคโปร์    

จากการประชุม African CDC – HTASiaLink ผมได้เรียนรู้ว่ามาเลเซียเป็นประเทศแรกที่นำ HTA มาใช้ ในปี 1995   โดยจัดตั้ง MAHTAS (อ่านว่า มาท่าส) ขึ้นดำเนินการภายใต้กระทรวงสาธารณสุข   และอยู่ยั้งยืนยงมาจนปัจจุบัน    ออสเตรเลียเริ่มปี 1998  ไทยล้มเหลวในการก่อตังกลไก HTA สามครั้ง   มาสำเร็จเมื่อคุณหมอยศเป็นผู้นำจัดตั้ง HITAP ในปี 2007 (พ.ศ. ๒๕๕๐)    NECA ของเกาหลีเริ่มปี 2009 (ขณะนี้มีพนักงาน ๒๐๐ คน)    ส่วน HTASiaLink เริ่มปี 2011 มีสมาชิก ๔ หน่วยงาน ขณะนี้มี ๒๔  

ผมนึกในใจว่า หากผมเป็นหัวหน้าของ African CDC ผมจะไม่ส่งเฉพาะคนของ African CDC ไปร่วมประชุมครั้งนี้    จะชวนแชมเปี้ยนของการก่อตั้งกลไก HTA ในประเทศสมาชิกอย่างน้อยสองสามประเทศร่วมไปด้วย   เพื่อร่วมกันคิดหาทางสร้าง HTAfrLink  ไปพร้อมๆ กับสร้างหน่วย HTA ขึ้นในประเทศสมาชิก   

ฟังจากการตั้งคำถาม และการเจรจา เห็นได้ชัดว่าทีม African CDC ทั้ง ๕ คนนี้ เป็นคนเก่ง จับประเด็นได้เร็ว   แต่เราไม่ทราบเป้าหมายลึกๆ ของเขา   คุณหมอสุวิทย์แนะว่า ต้องให้แม่นว่า African CDC ไม่ใช่องค์กรนโยบาย แต่เป็นหน่วยงานสนับสนุนเชิงเทคนิค    ซึ่งในที่นี้คือ ความสามารถในการสร้างข้อมูลหลักฐานเพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านสุขภาพ ของประเทศสมาชิก   โดยใช้กลไกเครือข่าย   

เขาถามตัวอย่างของการที่หน่วยงานสมาชิก HTASiaLink ช่วยเหลือกันในเรื่องข้อมูลเพื่อพัฒนาหลักฐานเสนอเพื่อการตัดสินใจ    ช่วยให้ผู้เข้าร่วมประชุมจากมาเลเซีย เกาหลี  ออสเตรเลีย และคุณหมอยศช่วยกันยกตัวอย่าง    ที่การช่วยเหลือให้ข้อมูลกันทำให้หน่วย HTA เสนอข้อมูลประกอบทางเลือกเพื่อตัดสินใจได้ภายใน ๒ วัน   แทนที่จะเป็น ๒ ปี หากต้องเริ่มจากศูนย์    คุณหมอยศยกตัวอย่างกรณีประเทศไทยเรื่อง ยา glucosamine, renal dialysis, ROTA vaccine  

ประชุมเสร็จเที่ยง    ลงไปกินอาหารเที่ยงที่ภัตตาคาร Volcano Shabu Shabu & Grill ที่มีอาหารสดจำพวกเนื้อปรุงรส และอาหารทะเลสด เอามาต้มหรือลวกในหม้อที่เตรียมวางไว้บนเตาไฟฟ้าที่วางราบอยู่กับโต๊ะอาหาร    เป็นการกินที่เอิกเกริก    ที่ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ สำหรับผม   จึงเริ่มชำนาญ   

กินเสร็จกลับห้องพัก เตรียมประชุมคณะกรรมการพิจารณาปริญญากิตติมศักดิ์ของ มอ.   ที่ประชุมกันทาง ออนไลน์   ไม่มีใครรู้ว่าผมประชุมอยู่ที่ต่างประเทศ    ตอนบ่ายผมจึงไม่ได้ไปประชุม HTASiaLink   

วันนี้ผมได้เรียนรู้ความหมายของคำว่า โมเดล ในวิชาการด้านระบาดวิทยา   ที่ความหมายแตกต่างจากคำว่าโมเดลทางสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และด้านแฟชั่น รวมทั้งด้าน role model 

วิจารณ์ พานิช

๕ ก.ย. ๖๖

ห้อง ๒๓๐๑  โรงแรม Mercure Living Hotel Putrajaya

 

 

1 ห้องอาหาร Volcano Shabu Shabu _ Grill

2 ศาสตราจารย์ Mark Jit กำลังออกท่าทาง

3 คุณหมอสมศักดิ์ กำลังฟังคำอธิบาย Poster Session

 

4 โปสเตอร์เรื่องสุขภาพช่องปากของเด็กชนบทในยูนนาน

 

5 การประชุมหารือความร่วมมือ Africa CDC - HTASi

หมายเลขบันทึก: 714714เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2023 17:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2023 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท