ชีวิตที่พอเพียง  4564. เดินทางไปประชุมวิชาการ HTASiaLink ที่มาเลเซีย : 2. การประชุมหลักวันแรก


 

วันอังคารที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๖ ผมออกไปเดินออกกำลังที่สนามและป่าหน้าโรงแรม  เลยจากบริเวณสนามเป็นถนนไฮเวย์ ที่มีลู่จักรยานคู่ขนาน   เป็นการเดินออกกำลังยามเช้าที่สดชื่นมาก   รู้สึกว่ามีเสียงจิ้งหรีดมากกว่าเมื่อเช้าวาน   

วันนี้เป็นวันประชุมหลักวันแรกใน ๓ วัน   จัดที่ห้องประชุมของอาคารที่อยู่หลังคาเดียวกันกับโรงแรมชื่อ Shaftsbury   ห้องประชุมชื่อ Renjana Hall  อยู่ติดกับห้องจัดเลี้ยงต้อนรับเมื่อคืนวันที่ ๔ ก.ย.  เป็นห้องประชุมที่ไม่ดีทั้งโครงสร้างทางกายภาพ และด้านเสียง    น่าจะเป็นห้องจัดเลี้ยงมากกว่าห้องประชุม   

ตอนลงไปกินอาหารเช้า พบทีมจาก MUHTA ของมหาวิทยาลัยมหิดล   ได้ความว่าทีมนี้มากัน ๒๖ คน    รวมแล้วผู้เข้าร่วมจากประเทศไทยน่าจะอยู่ราวๆ ๘๐ คน   จากทั้งหมด ๓๐๐ คน   

การประชุมระหว่าง ๘.๓๐ - ๑๐.๓๐ น. เป็น Plenary Session เสนอโดยวิทยากร ๓ ท่าน เสนอทางออนไลน์ ๑ ท่าน   มาพูดในห้อง ๒ ท่าน  ภายใต้หัวข้อหลักว่า  Accelerating Access to Health Technology    คนแรกพูดทางไกล เรื่อง Regulator-HTA-EU Experience ท้าวความการก่อเกิด HTA เมื่อสามสิบปีก่อนมาจนถึงปัจจุบัน    คนที่สองพูดเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย    คนที่สามพูดเรื่อง customer engagement & education ในสิงคโปร์    ได้แนวความคิดเรื่องการใช้ข้อมูลและความรู้จากผู้รับบริการในการพัฒนาระบบสุขภาพ ในหลากหลายแง่มุม 

จะเห็นว่า ทั้งสามเรื่องเข้ากับหัวข้อหลักของ 11th HTASiaLink Conference 2023 : Reshaping and Reshifting HTA in Navigating the Future Landscape   ที่เน้นการมองอนาคต

ที่ผมชอบมากคือ มีการริเริ่มโมเดลที่ผู้ป่วยหรือผู้ใช้บริการเข้ามามีส่วนร่วม    ทำให้ได้ทั้งข้อมูลและมุมมองของฝ่ายผู้รับบริการ    เป็นการเคารพการตีความข้อมูลเดียวกันจากต่างมุมมอง            

พิธีเปิดสไตล์ตะวันออกมีพิธีกรรมมาก    เริ่มด้วยพิธีเปิดเพลงชาติ ที่ทุกคนต้องยืนทำความเคารพ    ตามด้วยพิธีทางศาสนา (อิสลาม) มีคนมากล่าวอวยพรแบบอิสลาม   ตามด้วยการปราศรัยของหน่วยงาน partner ที่วิดีโอคอลมาจากต่างประเทศ ได้แก่ INAHTA, ISPOR, HTAi และผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำมาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน    ตามด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขมากล่าวเปิดในงาน    

ตอนรับประทานอาหารเที่ยงหมอยศจับกรรมการ HITAP ๔ คน (คือ ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย, ศ. ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์, นพ. สมศักด์ ชุณหรัศมิ์ และผม) ไปนั่งโต๊ะที่เขาเสิร์ฟ     คุยกันสนุกสนาน    ดร. วรวรรณเล่าเรื่องการดูแลแม่ระยะสุดท้ายที่พบว่าระบบของโรงพยาบาลสมเด็จพระปกเกล้าจันทบุรีดีมาก    ผมจึงได้ไอเดียว่าควรมีการวิจัยหาตัวอย่างโรงพยาบาลที่ให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างมีคุณภาพสูงเป็นที่ยกย่องของญาติ และผู้ป่วยพอใจ   นำออกเผยแพร่เพื่อกระตุ้นนโยบายการพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย   และเพื่อเป็นตัวอย่างของการใช้เสียงของผู้ใช้บริการเพื่อกระตุ้นนโยบาย    ในรูปแบบของเสียงเชิงบวก   เป็นการใช้จิตวิทยาเชิงบวกเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ   

ช่วงบ่ายเป็น Oral Presentation  ตามด้วย Poster Presentation    ช่วง Oral Presentation ผมไปเข้าฟังห้อง Health Service Research ที่มี ๒ ห้อง    แต่ละเรื่องนำเสนอ ๑๐ นาที  ซักถาม ๕ นาที    กำหนดให้ฝรั่ง ๒ คนทำหน้าที่ซัก    ไม่มีการขอให้ผู้ฟังถามเลย    ผมเลือกไปฟังห้องที่มีผู้นำเสนอทั้งจาก HITAP และ MUHTA    เริ่มจากศาสตราจารย์จีนนำเสนอเรื่องผลของนโยบายใช้ PCI (Percutaneous Coronary Intervention) รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจที่เซี่ยงไฮ้   สรุปได้ว่าผู้ป่วยนิยมมากกว่าการผ่าตัดเปิดทรวงอก   และทำให้ราคาของ stent ลดลง    ประมาณว่าประหยัดเงินไปราวๆ ๔๐๐ ล้านหยวนต่อปีในเซี่ยงไฮ้       

ต่อด้วยผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ระบบ RMS (Remote Monitoring System) สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการฝังเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (CIEDs – Cardiac Implantable Electronic Devices) โดยทีมงานจาก HITAP   ใช้วิธีสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ๖ กลุ่ม  ได้ทราบว่าในขณะนี้ข้อมูลจากผู้ป่วยที่ฝังเครื่องและมีเครื่องส่งสัญญาณไปยังศูนย์นั้นศูนย์อยู่ที่บริษัทผู้ให้บริการเท่านั้น   ไม่มีระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลไปยังสถานพยาบาลอื่นๆ    มีผู้เสนอว่า ประเทศไทยควรมีระบบกำกับดูแลข้อมูลทางการแพทย์ 

ต่อด้วยรายงานการใช้เทคนิค Network Meta-analysis ในการศึกษาว่ายารักษาโรคเบาหวานกลุ่ม SGLT-2 Inhibitors มีผลต่ออาการโรคหัวใจวาย ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ อย่างไร   จากทีม MUHTA    ตอบอย่างสั้นคือลดอัตราตายจากโรคหัวใจได้ร้อยละ ๒๐  และบอกได้ว่ายา SGLT-2 Inhibitors ชื่อ Canagliflocin กับ Sotagliflocin ดีกว่า    เป็นการศึกษาในผู้ป่วยกว่า ๒๐,๐๐๐ คน   วิธีวิเคราะห์ Network Meta-analysis นี้ มีรายละเอียดมาก     

ตามด้วย Systematic review ในหลายประเทศในโลก รวมทั้งไทย ว่าโรคอัลไซเมอร์ก่อภาระด้านเศรษฐกิจแค่ไหน   คำตอบคือ แตกต่างกันมากระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปีละ ๑๖,๐๐๐ บาท ในผู้มีอาการน้อยในประเทศอิหร่าน  ไปถึงเกือบ ๖ ล้านบาทในผู้ป่วยอาการรุนแรงที่สหรัฐอเมริกา   เรื่องนี้ขึ้นกับบริบทที่ต่างกันทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากมาย   

เรื่องสุดท้าย Clinical Pathways กับการให้บริการสุขภาพคุณภาพสูงในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย มาเลเซีย    เป็นครั้งแรกที่ผมรู้จักคำนี้    ที่น่าจะใช้คำไทยว่า “ชุดบริการทางคลินิก”   เขาเอามาใช้พัฒนาคุณภาพของบริการ มีผลงานตีพิมพ์หลายเรื่อง   

ตอนเย็นไปร่วมทีม HITAP กินอาหารเย็นและคุยความร่วมมือกับทีมจาก African CDC ที่ก่อตั้งมา ๖ ปี    เป็นส่วนหนึ่งของ African Union ที่มีสมาชิก ๕๓ ประเทศ   ประเด็นความร่วมมือคือการฝึกให้เขามีสมรรถนะด้าน HTA   ฟังแล้วผมมีความรู้สึกว่าเขาไม่มีเป้าหมายของตนเองอย่างชัดเจน   ไม่มีการจัดระบบงาน    ยังพูดเรื่องต่างๆ แบบลอยๆ   

เป็น ๑ วันที่ได้ประสบการร์มาก ได้เรียนรู้มากจริงๆ        

วิจารณ์ พานิช

๕ ก.ย. ๖๖

ห้อง ๒๓๐๑  โรงแรม Mercure Living Hotel Putrajaya

 

 

1 ก่อนออกไปเดินไปชมโปสเตอร์ผลงานวิชาการก่อน

 2 ลู่เดินเวลา ๖.๓๐ น.

   

3 ถนนไฮเวย์มีทั้งลู่จักรยานและลู่คนเดิน

 

 

4 อาคารที่พักและที่จัดประชุม

5 ป้ายพิธีเปิดงาน

6 ผู้เข้าร่วมประชุมลงไปเตรียมถ่ายรูปหมู่

7 ขันโตกมาเลย์ อาหารเที่ยง

หมายเลขบันทึก: 714680เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2023 14:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2023 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท