มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะกรรมการติดตามประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดี จึงได้จัดให้มีการสนทนากลุ่มต่าง ๆ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) แบ่งเป็นกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม ....
เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัย และในฐานะคณธกรรมการติดตามประเมินผล ฯ จึงได้นัดกลุ่มย่อยด้านศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน เพื่อสนทนยากลุ่มเพื่อให้ได้ประเด็นในการประเมินและข้อเสนอแนะในการพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มศิษย์เก่า และกลุ่มนักศึกษาปัจจุบัน ผมได้รับการเชิญให้เข้าร่วมในฐานะที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 2 กลุ่มในฐานะผู้ปฏิบัติงาน เพื่อร่วมสังเกตการณ์ รวบรวมข้อมูล และอาจนำไปสู่การพัฒนาร่วมกัน
เสียงสะท้อนของทั้ง 2 กลุ่ม มีจุดร่วมจุดเดียวกันที่เห็นควรให้มหาวิทยาลัยได้ปรับวิธีการดำเนินงานเรื่องนี้คือ การสื่อสาร เพราะบุคคลภายนอก หรือศิษย์เก่า ได้รับสารจากมหาวิทยาลัยน้อยมาก จึงทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่เป็นที่รู้จักในวงการต่าง ๆ แม้จะมีอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญอยู่มาก แต่ขาดการนำเสนอให้สังคมทั่วไปได้รับรู้รับทราบ รวมถึงกิจกรรมหรือภารกิจสำคัญที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการได้อย่างดีเยี่ยม แต่การสื่อสารข้อมูลในวงกว้างยังค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบเคียงกับมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศ
อีกประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อได้เสวนาร่วมกับสภานักศึกษา ประเด็นที่น่าสนใจคือการพูดคุยถึง ปณิธานของมหาวิทยาลัย “วิทยา จริยา และปัญญา” นักศึกษามองว่า วิทยาและปัญญา มหาวิทยาลัยดำเนินการได้ดีแล้ว แต่มีความเห็นว่ามหาวิทยาลัยควรนิยามคำว่า “จริยา” ให้กว้างขวางขึ้น เพื่อรองรับสังคมและค่านิยมที่หลากหลาย ทั้งเรื่องเพศ ศาสนา ความเชื่อ หรือปัจจัยอื่น ๆ อยากให้มองว่า “จริยา” ไม่ใช่เพียงแค่ความเชื่อทางศาสนา แต่ควรหมายถึงนอบน้อมและความเห็นอกเห็นใจกัน (Empathy) ในความหลากหลายทางความรู้สึกนึกคิดและความแตกต่าง นั่นต่างหากที่ควรจะเป็น “จริยา” อันหมายถึง ความประพฤติดีที่เห็นอกเห็นใจกันมากขึ้นของคนในสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมกันของมนุษย์ อันคือความ “เกื้อกูลกัน”
อะตอม ประธานสภานักศึกษา เสนอว่า ควรปรับปรุงและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น มีฐานข้อมูลวิจัยที่นักศึกษาสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก ครอบคลุมทุกศาสตร์วิชา หรือแม้แต่ควรสนับสนุนให้องค์กรกิจกรรมนักศึกษาเข้มแข็งขึ้นด้วยการส่งเสริมให้นักศึกษาพัฒนาศักยภาพตนเองผ่านองค์กรกิจกรรมนักศึกษาให้มากขึ้น และทิ้งท้ายว่า “การมีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนามหาวิทยาลัย”
เจมส์ กรรมการสภานักศึกษา เสนอว่า “การพูดคุยกัน จะสามารถทำให้เข้าใจกันมากขึ้น และนำสู่การทำงานพัฒนาได้อย่างดีเยี่ยม”
ณ มอดินแดง
กันยายน 2566
ไม่มีความเห็น