ทำไมชาวบ้านไม่ชอบโรงไฟฟ้าจากขยะ


ทำไมชาวบ้านไม่ชอบโรงไฟฟ้าจากขยะ

1 กันยายน 2566

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1]

 

โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ (Waste-to-energy Power Plant)

มีการกล่าวถึงโรงไฟฟ้าพลังงานขยะมานานแล้วว่า รัฐบาลมัวทำอะไรกันอยู่ ไม่เห็นดำเนินการสักที เพราะในภาพรวมแล้วมันมีประโยชน์มาก เป็นประโยชน์หลายเด้ง แต่ในในขณะเดียวกันเสียงก่นด่า เสียงคัดค้านโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะก็มีมาไม่ขาดยาวนานที่สืบย้อนไปร่วมสิบปีได้ จะว่าไปก็ช่วง คสช.นั่นแหละ แม้ว่าในช่วง คสช.จะมีวาระแห่งชาติ Quick WIN เรื่อง “การบริหารจัดการขยะ” กำหนดไว้ และปรากฏออกมาในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วยก็ตาม เหมือนเป็นดาบสองคมที่มีดี ก็ต้องมีเสีย เช่น การดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะจะทำให้ขยะในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย ลดลง แต่อาจจะเพิ่มมลพิษให้กับชุมชนในพื้นที่นั้นๆ แต่ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นก็เป็นการสื่อความหมายว่า เป็นปัญหาที่การบริหารจัดการเสียมากกว่า เพราะ สรุปแล้วว่า มันคือปัญหา แต่ปรากฏว่ารัฐกลับแก้ไขปัญหาไม่ได้อย่างลุล่วง ดูๆ แล้วติดขัดไปหมด นอกจากนี้พรรคฝ่ายค้านได้อภิปรายสภาปี 2563 ไม่ไว้วางใจ รมว.มท.ว่า “ไทยเป็นบ่อขยะโลกนายทุนรวยประชาชนจ่ายราคา” เป็นปัญหาความเห็นต่างในเรื่องการจัดการขยะ[2] ปัญหาเหล่านี้มันสะสมขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะความไม่เข้าใจ หรือ การเสียประโยชน์ หรือการได้ผลประโยชน์กันแน่ เพราะ โครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะนั้นมีมูลค่าสูงมาก โรงไฟฟ้าชุมชนแต่ละแห่งมูลค่าหลักพันล้าน มูลค่ารวมๆ ถึงแสนล้าน และในขณะเดียวกันปริมาณขยะก็สูงเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร และการขยายตัวของเศรษฐกิจและชุมชนเมือง 

จากรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2565 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) [3] พบว่า ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น ขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ลดลง ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกต้องลดลง ปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนเพิ่มขึ้น ปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้น และ จากข้อมูลระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ย้อนหลังในปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น ปริมาณต่อวัน ขยะที่ตกค้าง ปี 2560-2565 แม้ปริมาณขยะลดลงเล็กน้อย แต่ปริมาณขยะตกค้างเพิ่มมากขึ้นถึงเท่าตัวในปี 2564-2565 ดังนี้[4] ปี 2560 ขยะ 27.37 ล้านตัน 75,000 ตัน/วัน ขยะตกค้าง 5.38 ล้านตัน ปี 2561 ขยะ 27.93 ล้านตัน 76,534 ตัน/วัน ขยะตกค้าง 4.52 ล้านตัน ปี 2562 ขยะ 28.71 ล้านตัน 78,671 ตัน/วัน ขยะตกค้าง 4.02 ล้านตัน ปี 2563 ขยะ 25.37 ล้านตัน 69,519 ตัน/วัน ขยะตกค้าง 4.25 ล้านตัน ปี 2564 ขยะ 24.98 ล้านตัน 68,450 ตัน/วัน ขยะตกค้าง 7.50 ล้านตัน ปี 2565 ขยะ 25.70 ล้านตัน 70,423 ตัน/วัน ขยะตกค้าง 9.91 ล้านตัน 

 

ข่าวการต่อต้านคัดค้านโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น แม้ว่าอาจเป็นแค่เชิงประจักษ์พบเห็นที่เกิดขึ้น แต่เนื้อแท้นั้นต้องร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ถอดรากเหง้าปัญหาออกมาให้ได้[5] โดยเฉพาะประเด็นแห่งความเงื่อนงำสงสัยต่างๆ เช่น ความไม่โปร่งใส การรวบรัดตัดตอนดำเนินการ การผูกขาดของนายทุน โดยขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนเจ้าของพื้นที่ รวมถึงแผนการจัดการพลังงานที่ผิดพลาดต่างๆ เป็นต้น ขอเก็บข่าวเหมารวมๆ มานำเสนอ

หลักการทำงานของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ (Waste to energy) [6] คือใช้ขยะมูลฝอยชุมชน (Municipal Solid Waste) เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า มีวิธีการทำงานเหมือนกับโรงไฟฟ้าอื่นๆ คือจะนำขยะมาเผาบนตะแกรง แล้วนำความร้อนที่เกิดขึ้นมาใช้ต้มน้ำในหม้อน้ำจนกลายเป็นไอน้ำเดือด ซึ่งจะไปหมุนกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า การนำขยะมาเผาเพื่อให้เกิดความร้อนไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า แต่ในขณะเดียวกันการเผาขยะ ก่อให้เกิดสารพิษที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เป็นมะเร็งและความผิดปกติในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก AEDP 2015 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน (2558)[7] ได้ทดลองลงทุนผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ด้วยเทคโนโลยีเตาเผาขยะมูลฝอย (Incineration) ตามโครงการศึกษาและจัดทำข้อมูลการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีการลงทุนผลิตไฟฟ้าและความร้อนจากขยะร่วมกับ อปท.

ในช่วงปี 2562 รัฐได้พยายามเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าขยะ มีข่าวกระทรวงมหาดไทยลุยโรงไฟฟ้าขยะ โดยการหนุนภาคเอกชนร่วมลงทุนกับท้องถิ่น (อปท.) [8], ข่าวจัดงบกองทุนอนุรักษ์ฯ 2,500 ล้าน ให้กระทรวงมหาดไทยใช้คัดแยกขยะชุมชนเพื่อผลิตไฟฟ้า (Energy News Center) [9], ข่าวสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไฟเขียวเอกชนตั้งโรงไฟฟ้าขยะ 11 โครงการ (ใน 9 จังหวัด)[10] ถือเป็นข่าวดีมาก แต่ในขณะเดียวกันข่าวการคัดค้านโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะ โดยเฉพาะที่ร่วมทุนกับท้องถิ่น ที่เริ่มมีมาก่อนหน้านี้แล้ว ได้ผุดโพล่มาเป็นละลอก ในหลายพื้นที่ จนการคัดค้านต่อต้านโรงไฟฟ้าเป็นแฟชั่นไปเลย เช่นข่าวตามสื่อตามห้วงเวลาในท้องที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก (2556) [11] อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ (2561-2563) [12] อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี (2560) [13] อ.เขาย้อย อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี (ขยะอุตสาหกรรมและขยะชุมชน 2563-2564) [14] อ.นากลาง จ.นครราชสีมา (2563-2564) [15] อ.เมือง จ.พิษณุโลก (2565) [16] อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี (โรงงานไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 2566) [17] อ.พาน จ.เชียงราย (2566) [18] อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด (2566) [19] อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ (2566) [20] อ.ขามสะแกง จ.นครราชสีมา (2566) [21] เป็นต้น

ปี 2566 ปรากฏข่าวการต่อต้านคัดค้านโรงไฟฟ้าพลังงานขยะมากขึ้นในหลายๆ แห่งของประเทศ จนเกิดม็อบ เกิดมวลชนประท้วงกันวุ่นวาย ที่เกิดจากกระแสความไม่พอใจของประชาชนว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้ฝ่ายรัฐจะพยายามเดินหน้าโครงการเพื่อ ก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะให้ได้ก็ตามก็ไม่สามารถเดินหน้าได้ แม้ว่า ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564) [22] เพื่อจัดการขยะชุมชนอย่างถูกต้องให้ได้โดยคำนึงถึงสุขภาพและชุมชนเป็นหลัก คสช.ได้มอบหมายให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นเจ้าภาพ แต่การจัดการขยะนั้นต้องการความเป็นเอกภาพ บูรณาการ มีการใช้อำนาจใน มาตรา 44 ปลดล็อกความยุ่งยากในการนำขยะชุมชนไปผลิตไฟฟ้า โดยไม่ติด พ.ร.บ.ร่วมทุน จากเดิม อปท.ไม่สามารถเข้าไปร่วมทุนกับเอกชนได้ จึงเป็นการ “รวมศูนย์อำนาจบริหารจัดการขยะ” มาไว้ที่กระทรวงมหาดไทย[23] โดยไม่ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมควบคุมมลพิษ หรือ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม[24] (เดิมชื่อ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือเรียกง่ายๆ ว่า กรมโลกร้อน) หรือกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงมากกว่า เป็นแม่งาน 

 

วิกฤตปัญหาพลังงานไทยคืออะไร

ปัญหาพลังงานไทย มีผู้สรุปวิกฤตพลังงานไทยว่า ภาพรวมปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าอุตสาหกรรมของไทยเหลือเฟือมาก มีกำลังการผลิตที่มาก เกินกว่าปริมาณการใช้ ทำให้ต้นทุนสูง เพราะมีการนำมาคิดเป็นต้นทุนผลักภาระให้ผู้บริโภคสูงกว่าความต้องการ (ดีมานด์) เป็น 10% ถือเป็นการดำเนินนโยบายในการวางแผนพลังงานที่ผิดพลาด อันเป็นสาเหตุของค่าไฟฟ้าวันนี้มีราคาแพง[25] รวมถึงพึ่งพาพลังงานจากก๊าซธรรมชาติมากเกินไป ถือว่าเราโชคไม่ดีที่ต้องเจอสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นผลของการนำเข้าเป็นจำนวนมาก หากจะกลับมาพัฒนาในอ่าวไทยก็ต้องใช้เวลา เป็นสิ่งที่กำลังจะบอกว่า ค่าไฟฟ้าจะไม่ลดลงง่ายๆ ก็คือ ต้องใช้ของแพงไปก่อน จนกว่าจะสามารถนำพลังงานที่ผลิตจากในประเทศมาใช้ได้

ท่ามกลางข่าวโรงไฟฟ้าขยะชุมชนถูกคัดค้านต่อต้าน ทำเอากระทรวงมหาดไทย และวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ทั้งกระทรวงมหาดไทย กรมส่งสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร ต้องเดินหน้าทำงานตามแผน Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ภายใต้วาระแห่งชาติในการบริหารจัดการขยะของประเทศ[26] รวมทั้ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ต้องไปออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า และประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จนถึง แผนพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) 

 

สาเหตุการคัดค้านต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะ

ทำไมประชาชนในพื้นที่ต้องออกมาคัดค้านต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะ ลองมาดูเหตุผลเดิมๆ ที่มีการกล่าวถึงกันมาตั้งแต่ปี 2558-2559 หรือก่อนหน้านั้น มีกระแสพลังงานชีวมวล[27]Recycle Reuse เน้นไปที่โรงไฟฟ้าจากบ่อขยะ โดยนายทุนเอกชนที่มาใช้แก๊สมีเทนจากบ่อขยะสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า จะถูกต่อต้านจากชุมชน ถ้ามองมุมกลับบ่อขยะจากชุมชน หากไม่มีโรงไฟฟ้ามาตั้ง ขยะก็ไม่ถูกกำจัดและได้ใช้ประโยชน์ ก็จะเน่าเหม็นและส่งพิษอยู่เช่นนั้น แต่การเผาไหม้ หรือมลพิษต่างๆ จากการผลิตไฟฟ้า เช่น อากาศเสีย น้ำเสีย เสียงดัง ฯลฯ มันมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรงเพียงใดหรือไม่ ดูเหมือนโรงไฟฟ้าถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ ด้วยเม็ดเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ชาวบ้านไม่พอใจ นอกจากนี้ต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA)[28] ด้วย การโซนนิ่งกลุ่มอุตสาหกรรม หรือการสัมปทานพื้นที่ทิ้งขยะ อาจจำเป็น เพื่อจำกัดขอบเขตขยะอุตสาหกรรม บรรดา NGO ด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ จึงเข้ามาสอดส่องช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ปัญหาคือจะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดความสมดุล ระหว่างกลุ่มผู้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า กับกลุ่มมวลชนในพื้นที่ที่ต่อต้าน และการนำของเหลือใช้มาทำประโยชน์ หรือจะทิ้งให้ถูกสุขลักษณะได้อย่างไร ให้มีประสิทธิภาพดีที่สุด ที่ญี่ปุ่นจัดการเรื่องนี้ได้ดี[29]

ในกรณีของเอกชนที่ธุรกิจที่เป็นบ่อเกิดขยะมากมาย เช่น ฟาร์มหมูขนาดใหญ่ที่มีปริมาณขี้หมูในฟาร์มเยอะเขาก็ทำกัน แม้เงินลงทุนค่อนข้างสูงก็ยอม มีประเด็นข้อโต้แย้งในมุมทั้งฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนยอมรับ เช่น (1) พลังงานขยะ พลังงานชีวมวล ย่อมสกปรกกว่าพลังงานฟอสซิลในรูปเดียวกันเสมอ (เทียบไม้ กับ ถ่านหิน หรือ Biogas กับ ก๊าซธรรมชาติ) (2) เหตุผลที่พลังงานขยะและพลังงานชีวมวล เป็นพลังงานที่สะอาด[30] คือเป็นพลังงานจากสิ่งที่เราผลิตขึ้นเอง ไม่ได้ไปรบกวนธรรมชาติมาก (3) โรงไฟฟ้าพลังงานขยะและชีวมวลจะมี Emission หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปากปล่องน้อย[31] ปัจจุบันมีระบบการบำบัดไอเสียที่ดีกว่าแต่ก่อน ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ที่ใช้ขยะร่วมกับลิกไนต์ช่วยในการเผา (Co-firing)[32] ได้พลังงานและกำจัดขยะไปในตัว 

 

ความสำเร็จของ กทม.ในการรับมือกับปริมาณขยะที่มากมาย

ข่าวปี 2559 การรับมือกับปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ จากปริมาณจัดเก็บขยะ กทม.ที่เฉลี่ยวันละ 9,900-10,000 ตัน กทม.การันตีปลอดภัยแน่นอน เตาเผาขยะผลิตไฟฟ้าแห่งแรก กรองก๊าซพิษได้ 99.99 % จากการเปิดโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งแรกของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นต้นแบบโครงการกำจัดมูลฝอยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้า[33] กทม.ลงนามสัญญาจ้างให้ บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินโครงการโดยก่อสร้างเป็นเตาเผาขนาด 500 ตันต่อวัน บนพื้นที่ภายในศูนย์จัดเก็บมูลฝอยหนองแขมซึ่งเป็นที่ดินของ กทม. โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงงานและบริหารจัดการ งบประมาณทั้งสิ้น 2,124 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการได้ต่อเนื่อง 20 ปี รวมทั้งได้รับผลพลอยได้จากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ที่ 5 เมกกะวัตต์ต่อวัน โดยโรงงานกำจัดขยะดังกล่าว จะใช้อุณหภูมิในการเผาขยะไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส ซึ่งความร้อนจากการเผาจะกลายเป็นไอน้ำ ที่มีอุณหภูมิสูง และถูกป้อนสู่ชุดเครื่องกำเนินไฟฟ้า เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้กทม.จะเป็นผู้จ่ายค่ากำจัดขยะ 970 บาทต่อตัน ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างโรงกำจัดขยะดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2555 และได้เริ่มเดินระบบการเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2559 ซึ่งโรงงานกำจัดขยะดังกล่าว ถือเป็นโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยทั่วไปด้วยระบบเตาเผาเป็นครั้งแรก ของกทม. จากที่ที่ผ่านมาได้มีการว่าจ้างเอกชนกำจัดโดยการนำไปฝังกลบมาโดยตลอด

 

ปัจจุบันมีข่าว ผู้ว่า กทม.ไปดูงานญี่ปุ่น “ถุงขยะฟุกุโอกะ” [34] ต่างกับไทย เก็บไอเดียมาพัฒนา กทม. ศึกษาวิธีแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง นับว่าเราต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ก้าวหน้า ไม่อยู่นิ่งเฉย เพราะ โกลทุกวันนี้เขาไปไกลเกินแล้ว การสร้างสรรค์ การนำแนวทางดีๆ นวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการบริหารจัดการเป็นสิ่งจำเป็นให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงแบบไม่หยุด นี่คือความเจริญของบ้านเมืองที่มาพร้อมกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาที่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้นๆ เพราะขยะต้องกำจัด แต่การกำจัดขยะจะทำอย่างไรให้สมดุลในกลุ่ม stakeholders ทั้งหลาย ทั้งรัฐ เอกชน นายทุน และชาวบ้าน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขยะ ที่เป็นการร่วมทุนของเอกชนกับท้องถิ่น

 


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 8 กันยายน 2566, https://siamrath.co.th/n/475775 

[2]ซึ่งประเด็นปัญหาขยะนี้ สส.พรรคอนาคตใหม่ (สมัยนั้น) ได้นำเสนอข้อมูลอย่างน่าสนใจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รมว.มท.เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 ดู เพราะอะไร “โรงไฟฟ้าขยะ” ถึงถูกคัดค้านแทบทุกที่, กรุงเทพธุรกิจ, 25 เมษายน 2565, https://www.bangkokbiznews.com/social/1000904 & “อนุพงษ์” ทำไทยเป็นบ่อขยะโลก นายทุนรวย-ประชาชนจ่ายราคา, สส.ปดิพัทธ์ สันติภาดา อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จาก เฟซบุ๊ก อนาคตใหม่ - Future Forward, 2 มีนาคม 2563, https://www.facebook.com/watch/?v=193987055195213 & โรงไฟฟ้าขยะ ขุมทรัพย์แสนล้าน “เสือเงียบ”, ผู้จัดการสุดสัปดาห์, 23 กันยายน 2560, https://mgronline.com/daily/detail/9600000097192 

[3]รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2565, โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER38/DRAWER027/GENERAL/DATA0001/00001639.PDF

[4]ระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน กรมควบคุมมลพิษ (คพ.), https://thaimsw.pcd.go.th/index.php 

[5]ดู เพราะอะไร “โรงไฟฟ้าขยะ” ถึงถูกคัดค้านแทบทุกที่, กรุงเทพธุรกิจ, 25 เมษายน 2565, อ้างแล้ว & โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ : ทางแก้ปัญหาขยะล้นเมือง หรือเพิ่มมลพิษให้ชุมชน, โดยณิชชา บูรณสิงห์, Academic Focus, สำนักวิชาการอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, มกราคม 2562, https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=54293&filename=house2558_2 & ข้อเสนอการยกระดับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง, โดยส่วนขยะมูลฝอยชุมชน กองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, มกราคม 2566, https://www.dla.go.th/upload/document/type2/2023/4/29257_3_1682403152230.pdf?time=1682403430921 

[6]ดู โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ (Waste-to-energy Power Plant), ภาคส่วนจัดการขยะ, โดย Energy Catalogue, https://www.energy-catalogue.com/waste-to-energy-power-plant & ถอดแนวคิด Waste to Energy ต้นแบบโรงไฟฟ้าขยะชุมชนไร้มลพิษ แห่งแรกในไทย By Lapatrada, techsauce.co, 16 ตุลาคม 2562, https://techsauce.co/tech-and-biz/waste-to-energy-ace-electricityhttps://www.ace-energy.co.th/en/investor-relations/newsroom/news-clipping/750224/ถอดแนวคิด-waste-to-energy-ต้นแบบโรงไฟฟ้าขยะชุมชนไร้มลพิษ-แห่งแรกในไทย

[7]การศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ด้วยเทคโนโลยีเตาเผาขยะมูลฝอย (Incineration) ตามโครงการศึกษาและจัดทำข้อมูลการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน โดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน, dede.go.th, 1 พฤศจิกายน 2558, https://webkc.dede.go.th/testmax/sites/default/files/การศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฟ.pdf & กฟผ.พัฒนานวัตกรรม “ต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่” ที่โรงไฟฟ้าน้ำพอง แก้ปัญหาขยะล้นเมืองอย่างยั่งยืน, Green Network, 10 เมษายน 2566, https://www.greennetworkthailand.com/egat-mobile-waste-incinerator-power-plant/

[8]“อนุพงษ์” ชี้เหลือเวลา 2 เดือนลุยโรงไฟฟ้าขยะ หนุนภาคเอกชนร่วมลงทุนท้องถิ่น, ผู้จัดการออนไลน์, 4 กุมภาพันธ์ 2562, https://mgronline.com/business/detail/9620000012302

[9]จัดงบกองทุนอนุรักษ์ฯ 2,500 ล้าน ให้มหาดไทยใช้คัดแยกขยะชุมชนเพื่อผลิตไฟฟ้า, Energy News Center, 14 กุมภาพันธ์ 2562, https://www.energynewscenter.com/จัดงบกองทุนอนุรักษ์ฯให-2/ 

[10]กกพ. ไฟเขียวตั้งโรงไฟฟ้าขยะ 11 โครงการ, สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, 17 เมษายน 2562, https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1454675 & เปิด 11 โครงการ 'โรงไฟฟ้าขยะชุมชน' ที่ต้องจ่ายไฟเข้าระบบ 31 ธันวาคม 2562, ศูนย์ข้อมูล ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ), 26 พฤษภาคม 2562, https://www.tcijthai.com/news/2019/26/scoop/9083 

[11]โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะของบริษัท วีเค เอ็นเนอร์ยี่ แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด ขนาด 6.5 เมกะวัตต์ บนเนื้อที่ 63 ไร่เศษ โดยตัวแทนสภาทนายความเดินทางไปพบชาวบ้านที่วัดแหลมเจดีย์ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เพื่อให้ความรู้ และคำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมายกับชาวบ้าน 1,200 คนที่ร่วมคัดค้านการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะที่เทศบาลตำบลบางระกำมีแนวคิดจะก่อสร้างขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะการนำรายชื่อผู้คัดค้านไปยื่นต่อที่ประชุมสภาเทศบาลฯ ในวันที่ 14 สิงหาคม 2556

ดู ชาวบ้านใน จ.พิษณุโลก คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ, ThaiPBS, ภูมิภาค, 14 สิงหาคม 2556, 01:12 น., https://www.thaipbs.or.th/news/content/189585 & เวทีประชาคมโรงไฟฟ้าขยะบางระกำป่วน ชาวบ้านฮือปิดถนนต้าน, ผู้จัดการออนไลน์, 6 สิงหาคม 2556, 10:34 น., https://mgronline.com/local/detail/9560000097019

[12]ศูนย์ฝังกลบขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองกระบี่ มีเนื้อที่ 251 ไร่ เปิดใช้มาตั้งแต่ปี 2540 มีปริมาณขยะที่ฝังกลบแล้วกว่า 6 แสนตัน และเทศบาลเมืองกระบี่ เตรียมเปิดพื้นที่บ่อฝังกลบขยะบ่อที่ 3 งบประมาณกว่า 80 ล้านบาท เพื่อรองรับขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการ ภาคเอกชนต่างๆ ปริมาณกว่า 170 ตันต่อวัน แต่หลังจากที่ชาวบ้านในช่อง ต.ทับปริก อ.เมือง ทราบว่า เทศบาลจะสร้างโรงไฟฟ้าขยะขึ้นในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ก็ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้เทศบาลเมืองกระบี่ ย้ายสถานที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ออกจากพื้นที่ โดยรวมกันต่อต้านในนามชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านในช่อง ตำบลทับปริก อำเภอเมืองกระบี่ คือ โครงการโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน ขนาด 6 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 1,000 ล้านบาท ของบริษัท อัลไลแอนซ์ คลีน เพาเวอร์ จำกัด ประชาพิจารณ์ในวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ซึ่งเทศบาลเมืองกระบี่ ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์รวมขยะของจังหวัดในการกำจัดขยะ ศูนย์กำจัดขยะวันละ 200 ตัน เป็นขยะมาจากเทศบาลในพื้นที่กระบี่ จำนวน 14 แห่ง ขยะจาก อบต.จำนวน 48 แห่ง เทศบาลเมืองกระบี่ จึงเดินหน้าโครงการเต็มสูบ มีการปรับพื้นที่และลงเสาเข็มโครงการไปเมื่อเร็วๆ นี้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวบ้าน หลังจากนี้อีก 15 เดือน โรงไฟฟ้าขยะเทศบาลเมืองกระบี่ จะเดินเครื่องกำจัดขยะที่นำมาจากทั่วทั้งจังหวัดวันละกว่า 200 ตัน รวมทั้งขยะเก่าที่อยู่ในบ่อฝังกลบ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้วันละ 6 เมกะวัตต์

ดู พับชั่วคราวโรงไฟฟ้าขยะที่กระบี่ หลังถูกชาวบ้านค้าน, ผู้จัดการออนไลน์, 1 สิงหาคม 2561, 15:58 น., https://mgronline.com/south/detail/9610000076330 & โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ : ทางแก้ปัญหาขยะล้นเมือง หรือเพิ่มมลพิษให้ชุมชน, โดยณิชชา บูรณสิงห์, Academic Focus, สำนักวิชาการอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, มกราคม 2562, อ้างแล้ว & ชาวบ้านต้านโรงไฟฟ้าขยะในจ.กระบี่ ยันไม่ร่วมประชาพิจารณ์, มติชน, 19 มิถุนายน 2562, 15:28 น., https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1545400 & ตอกเสาเข็มโรงไฟฟ้าขยะกระบี่ลงบนหัวใจและคราบน้ำตาของชาวบ้านที่คัดค้าน, ผู้จัดการออนไลน์, 27 มกราคม 2563, 14:27 น., https://mgronline.com/south/detail/9630000008690 

[13]แกนนำชาวบ้านดอนผอุง หมู่ 5 ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พร้อมตัวแทนชาวบ้านจาก 12 หมู่บ้าน รวมตัวยื่นหนังสือต่อนายวันรบ เครือณรงค์ นายอำเภอวารินชำราบ โดยเรียกร้องไม่ให้บรรจุเรื่องการขออนุญาตสร้างโรงงานคัดแยกขยะ และสร้างโรงงานไฟฟ้าจากขยะ เข้าสู่วาระการประชุมสมัยวิสามัญของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคูเมืองในวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 โดยสมาชิกสภา อบต.อ้างว่า การมีโรงไฟฟ้าจะทำให้ อบต.ได้รับประโยชน์จากภาษีบำรุงท้องถิ่น และได้รับส่วนแบ่งจากการขายไฟฟ้าตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐและเอกชน โรงไฟฟ้าใช้ขยะเป็นพลังงานเชื้อเพลิง บริษัท กรีนเนอร์เวิลด์ จำกัด ได้ยื่นแบบขออนุญาตการก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้าขนาด 9.9 เมกะวัตต์ กับองค์การบริหารส่วนตำบลคูเมือง เมื่อปลายปี 2559 หลังจากที่เข้าไปทำประชาคมกับชาวบ้านเมื่อกลางปี 2559 ชาวบ้านดอนผอุงกว่า 350 คน มีมติไม่ให้ก่อสร้าง โดยไม่มีเสียงสนับสนุนแม้แต่เสียงเดียว

จากกรณีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศจากการเผาขยะติดเชื้อและปัญหาน้ำเสียที่ชาวบ้านดอนผอุง ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ได้รับจากบ่อขยะวารินชำราบทั้ง 3 เรื่องได้แก่ความป่วยไข้ใกล้กองขยะ : เมื่อกลิ่นความตายมาเยือน ชาวชุมชนใกล้บ่อขยะวารินฯ อุบลราชธานีไม่กล้ากินปลาในหนองน้ำ โรงเรียนบ้านดอนผอุงมีกลิ่นเหม็นจากบ่อขยะและแมลงวันเป็นเพื่อน เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2561 ที่ผ่านมาจึงทำให้คิดว่าปัญหามลพิษจากกระบวนการจัดการขยะของรัฐและหน่วยงานท้องถิ่นยังล้มเหลว

ดู ชาววารินฯ ค้านสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ หวั่นปัญหาสิ่งแวดล้อมปะทุหนัก, ผู้จัดการออนไลน์, 23 กุมภาพันธ์ 2560, 15:09 น., https://mgronline.com/local/detail/9600000018905 & วิกฤตการณ์จัดการขยะที่ล้มเหลวของรัฐและหน่วยงานท้องถิ่น โดย ศมณพร สุทธิบาก, ในเดอะอีสานเรคคอร์ด, 1 เมษายน 2562, https://theisaanrecord.co/2019/04/01/waste-to-energy-recycle/?print=print

[14]ชาว อ.เขาย้อย อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี รวมตัวกันต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมและขยะชุมชน ต่อมายิ่งมีการต่อต้านมากขึ้น เมื่อมีข่าวว่าจะนำขยะชุมชนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 21 อปท. มาทิ้งในพื้นที่บ่อทิ้งขยะของเอกชน ต.สระพัง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี หลังจากได้รับแจ้งให้ยุติการนำขยะไปทิ้งที่บ่อบำบัดขยะรวมแบบฝังกลบภายในศูนย์การทหารราบค่ายธนะรัชต์ (ศร.) กองทัพบก อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป หากเป็นไปตามแผนขยะชุมชนจำนวนมหาศาลจะย้ายเส้นทางสู่จังหวัดเพชรบุรี เช่น ขยะชุมชนจากเทศบาลเมืองหัวหิน 

ดู คนเพชรฯฮือต้านโรงไฟฟ้าขยะ ทำลายชุมชน-สิ่งแวดล้อม, บ้านเมือง, 12 ธันวาคม 2563, 16.02 น., https://www.banmuang.co.th/news/politic/215536 & 'ขยะข้ามจังหวัด' ซ้ำเติมมลพิษเมืองเพชร, ไทยโพสต์, 4 กรกฎาคม 2564, 12:26 น., https://www.thaipost.net/main/detail/108556

[15]ช่วงต้นปี 2563 ฝ่ายปกครอง อ.สูงเนิน ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการที่มีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 7 ครั้ง และผ่านขั้นตอนการทำประชาคมแล้ว ต่อมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 13 แห่ง ที่เป็นคลัสเตอร์จัดการ “ขยะมูลฝอย” แจ้งยกเลิกการขนขยะมากำจัดที่โรงงาน ฯ ดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณขยะไม่เพียงพอที่กำหนดไว้วันละ 4-500 ตัน ส่งผลให้โครงการไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ต่อมาเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามการอนุญาตให้ดำเนินโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างทีโออาร์ จังหวัดนครราชสีมา มีขยะใหม่เกิดขึ้นวันละกว่า 2 พันตัน แต่สามารถกำจัดถูกต้องตามหลักวิชาการประมาณ 1 พันตัน ส่งผลให้มีปริมาณขยะกว่า 1 พันตันตกค้าง จึงเป็นที่มาขอการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ มูลค่าประมาณ 2 พันล้านบาท ตั้งงบลงทุนไว้ประมาณ 2,300 ล้านบาท โดยท้องถิ่นจะหาเอกชนมาลงทุนและบริหาร (เดิมคาดว่าจะเป็นบริษัทซิโน-ไทย ปัจจุบันยังไม่มีเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน) กำหนดพิกัดตั้งอยู่ในหมู่ 5 ต.นากลาง (ระบุไว้จากเอกสารขอความเห็นชอบจาก ครม. ) เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตขยะมูลฝอยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของเมืองและจำนวนประชากรและขาดการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง โดยจัดประชาพิจารณ์เมื่อช่วงปลายปี 2560 ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นชอบให้ดำเนินโครงการ ซึ่งพื้นที่หมู่ 5 ต.นากลาง ถือว่าเป็นจุดที่ดี แต่เนื่องจาก กฟผ.แจ้งว่า บริเวณนี้ไม่มีจุดรับส่งกระแสไฟฟ้า จึงต้องหาจุดใหม่ในการก่อสร้าง ขยะในตำบลนากลางมาจาก 9 หมู่บ้าน รวมถึงในนิคมอุสาหกรรมนวนคร เหตุการณ์ประท้วงคัดค้านดำเนินเรื่อยมาถึงปัจจุบันปี 2566

ดู ชาวบ้านยื่นหนังสือคัดค้านโครงการบริหารจัดการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนด้วยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าขยะอบต.นากลาง, สยามรัฐออนไลน์, 7 ธันวาคม 2563, 14:50 น., https://siamrath.co.th/n/202692 & ค้านโรงไฟฟ้าขยะ‘นากลาง’ หวั่นผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยืนยันปชช.ต้องมีส่วนร่วม, 11 ธันวาคม 2563, ใน นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ 46 ฉบับที่ 2656 วันพุธที่ 9-วันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563, https://www.koratdaily.com/blog.php?id=12330& ชาวบ้านยื่นหนังสือคัดค้านโครงการบริหารจัดการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนด้วยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าขยะอบต.นากลาง, สยามรัฐออนไลน์, 7 ธันวาคม 2563, 14:50 น., https://siamrath.co.th/n/202692 

[16]แกนนำประธานอนุรักษ์บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก พร้อมด้วยกลุ่มชาวบ้านบ้านกร่างจำนวนกว่า 100 คน เดินทางยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เพื่อขอคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 9.9 เมกะวัตต์ งบ 1,800 ล้าน เนื่องจากหวั่นชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบทางด้านต่างๆ ของโรงไฟฟ้าขยะ เป็นโครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิด ซึ่งมีการจัดประชุมกันใน วันที่ 25 กันยายน 2561 ขณะนั้นถูกคัดค้านโดยประชาชนในพื้นที่ของกลุ่มอนุรักษ์บ้านกร่าง ประกอบกับชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าว อบต.บ้านกร่าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยมีการทำประชาคมหรือประชาวิจารณ์จากชาวบ้าน ต่อมา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง ได้มีประกาศ เรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า มีการสรุปผลในวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ที่เกิดขึ้นอย่างรวบรัด ข้อเท็จจริงประชากรส่วนใหญ่ กลับไม่ได้รับแบบสอบถามไม่ได้รับแจ้งข้อมูลข่าวสารที่ทาง อบต.บ้านกร่าง ทำการสำรวจแบบสอบถามเฉพาะกลุ่มรายย่อยนี้ให้ทั่วถึง 

ดู ชาวบ้านนับร้อยบุกศาลากลางพิษณุโลกคัดค้านโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ, สยามรัฐออนไลน์, 25 เมษายน 2565, 16:27 น., https://siamrath.co.th/n/342707 & ชาวบ้านคัดค้านไม่เอา “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ” บุกศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก, กรุงเทพธุรกิจ, 25 เมษายน 2565, 12:14 น., https://www.bangkokbiznews.com/news/1000846 & เพราะอะไร “โรงไฟฟ้าขยะ” ถึงถูกคัดค้านแทบทุกที่, กรุงเทพธุรกิจ, 25 เมษายน 2565, อ้างแล้ว 

[17]ชาวบ้านหนองนมหนู หมู่ 3 ต.ลาดตะเคียน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และชาวปราจีนบุรี 2 อำเภอ ในนาม "กลุ่มปราจีนเข้มแข็ง" ยกขบวนร้องผู้ว่าฯ ไม่เอาโรงผลิตไฟฟ้าขยะทั้ง 3 บริษัทจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กบินทร์บุรี รวม 61 ไร่ กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงอุตสาหกรรมจากเศษผ้า ไม้ ยาง พลาสติก เศษกระดาษ และหนัง ในรูปแบบอัดแท่งหรือ SRF เพราะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัย ชี้จงใจเลี่ยงการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม กีดกันประชาชนไม่ให้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น 

ดู ชาวบ้านลาดตะเคียน ปักธงเขียว ค้านโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ปราจีนฯ, theactive, 27 กรกฎาคม 2566, https://theactive.net/news/pollution-20230727/ & กลุ่มปราจีนเข้มแข็ง ยันไม่เอาไฟฟ้าพลังงานขยะ สร้าง 3 โรงขายรวมกัน, ไทยรัฐ, 7 สิงหาคม 2566, https://www.thairath.co.th/news/local/central/2715385 

[18]ปี 2564 จุดเริ่มโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ขนาดกำลังผลิต 9.9 กิโลวัตต์ ซึ่งจะมาก่อสร้างในพื้นที่ บ้านห้วยประสิทธิ์ ม.12 ต.ป่าหุ่ง แม้ทำประชาคมไปแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ชาวบ้านในพื้นที่รอบโครงการก็ยังไม่รู้ถึงข้อมูล แถมยังมีการข่มขู่ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย ก่อนหน้านั้นสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ได้ถูกนำเสนอเพื่อก่อสร้างในหลายพื้นที่ของ จ.เชียงราย ทั้ง อ.เทิง อ.เมืองฯ อ.เชียงของ อ.เวียงชัย ซึ่งแต่ละพื้นที่ได้มีการคัดค้านจากชาวบ้านตลอดมา

ดู ชาวบ้าน ต.ป่าหุ่ง อ.พาน คัดค้านหัวชนฝา ต้านโรงงานไฟฟ้าพลังขยะ, 77kaoded, 25 พฤษภาคม 2566, https://www.77kaoded.com/news/big/2441355 & ชาวบ้านรวมตัว คัดค้าน สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ อ.พาน จ.เชียงราย, CH7HD News, 17 พฤษภาคม 2566, https://www.youtube.com/watch?v=p1oZfwa_1OE

[19]อบต.เกษตรวิสัย ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการโรงผลิตไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย ขนาดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์ ที่จะสร้างในเขตพื้นที่ตำบลเกษตรวิสัย พื้นที่ไม่น้อยกว่า 50 ไร่ ติดทางหลวงหมายเลข 202 เพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษีบำรุงท้องถิ่นจากโรงไฟฟ้า เสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในตำบลเกษตรวิสัย และตำบลใกล้เคียง โดยมีประชาชนในพื้นที่กว่า 1,000 คน เข้ามารับฟัง และประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับโครงการซึ่งมองว่าประโยชน์ที่ได้รับไม่คุ้มกับผลกระทบที่ตามมาในระยะยาว เช่นมลพิษต่างๆ เสียงดัง กลิ่นเหม็น น้ำเสียและสารปนเปื้อนจากโรงงาน และที่สำคัญกลัวมีผลกระทบกับข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา เป็นข้าวหอมที่ได้รับการขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอำเภอเกษตรวิสัย

ดู ชาวอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด กว่า 1,000 คน คัดค้านโครงการโรงผลิตไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย ขนาดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 25 สิงหาคม 2566, https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230825124935725 & ชาวบ้านค้านสร้างโรงไฟฟ้าฯ หวั่นกระทบนาข้าวหอมมะลิ, ข่าวค่ำมิติใหม่, ThaiPBS, 25 สิงหาคม 2566, 

https://twitter.com/ThaiPBS/status/1695075195629826326

[20]ปัญหาบ่อทิ้งขยะของเทศบาลตำบลกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ส่อเค้าบานปลาย เมื่อเทศบาลเดินหน้าแผนก่อสร้างโรงคัดแยกขยะ และโรงไฟฟ้าขยะขนาดใหญ่ จนชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อต้านหวั่นซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่เดิม ทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยการนำความร้อนไปผลิตพลังงานไฟฟ้า ก่อสร้างโรงงานแปรสภาพขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) โดยบริษัท กาฬสินธุ์รุ่งเรือง ไบโอเพาเวอร์ 2012 จำกัด ประชาพิจารณ์สร้างความเข้าใจให้กับชุมชนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566

ดู ส่อบานปลาย คัดค้านสร้างโรงไฟฟ้าขยะกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์, โดยเจษฎาโอ้โฮ, Ch7HD, 17 มีนาคม 2566, https://www.youtube.com/watch?v=a5Qp3KZM1oU & สร้างความเข้าใจโครงการกำจัดขยะผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 1 กรกฎาคม 2566, https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230701185742164

[21]อบต.เมืองคง เจ้าของโครงการเดิม ทำข้อตกลง (MOU) ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 17 อำเภอ 129 อปท.ตกลงจะสร้างโรงงานไฟฟ้าจากขยะที่อำเภอคง ผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ (ขนาด 9.9 เมกะวัตต์) เพื่อแก้ปัญหาจัดการขยะมูลฝอยชุมอย่างยั่งยืน งบประมาณ 1,800 ล้านบาท อบต.เมืองคง จัดประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ชาวบ้านคัดค้านจนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ จึงจะย้ายไปที่ อ.โนนไทย หรือที่ อ.ขามสะแกแสง และมีเป้าหมายจะก่อสร้างที่ อบต.พะงาด อ.ขามสะแกง ซึ่งได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นที่หอประชุม อ.ขามสะแกแสง เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2566 แต่ผู้จัดประชุมได้ปิดไมค์และเจ้าหน้าที่ร้องขอให้ผู้คัดค้านออกหอประชุม เหลือชาวบ้าน 2-300 คน อ้างเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและได้เห็นชอบดำเนินโครงการทันที จึงได้รับการต่อต้านจากชาว อ.ขามสะแกแสงและชาว อ.โนนไทยที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียง มีการเดินทางไปประท้วงถึงศาลากลางจังหวัด และได้ไปร้องเรียนส่วนกลางที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กทม.ด้วย

ดู วุ่น ชาวนากลางยึดอบต.เป็นบ้านพักชี้แจงปัญหาขยะ ด้านชาวพะงาดค้านยื่นซองประมูลโครงการกำจัดขยะ 1.8 พันล้าน, สยามรัฐออนไลน์, 28 สิงหาคม 2566, 16:56 น., https://siamrath.co.th/n/473081 & ชาวบ้านโคราชฯ ร่ำไห้ไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ, เข้มข่าวใหญ่ (2/2), PPTV HD 36, 21 สิงหาคม 2566, https://www.youtube.com/watch?v=UWbZjGtowAo & กลับบ้านแล้ว ม็อบต้านโรงไฟฟ้าขยะปิดทางขึ้นศาลากลางฯ โคราชพอใจ หลังผู้ว่าฯ รับปากทำประชาพิจารณ์ใหม่, ผู้จัดการออนไลน์, 11 สิงหาคม 2566, 10:33 น., https://mgronline.com/local/detail/9660000072254 & ชาวบ้าน 2 อำเภอ คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ จ.นครราชสีมา, ข่าวช่อง7, 11 กรกฎาคม 2566, https://www.youtube.com/watch?v=ArmPO_ycNTQ  

[22]แผนแม่บท การบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564) กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เพื่อเป็นกรอบแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ, https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2020/05/pcdnew-2020-05-24_04-53-54_546825.pdf 

[23]โรงไฟฟ้าขยะ ขุมทรัพย์แสนล้าน “เสือเงียบ”, ผู้จัดการสุดสัปดาห์, 23 กันยายน 2560, อ้างแล้ว

[24]เริ่มวันนี้ เปลี่ยนกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม, ผู้จัดการออนไลน์, 18 สิงหาคม 2566, 12:55 น., https://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000074425 

[25]‘สมโภชน์’ โชว์ยุทธศาสตร์อีเอ ทางรอดวิกฤตพลังงาน โดยนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรืออีเอ ร่วมเสวนาในหัวข้อ เดินหน้า New S-curve ซึ่งเป็นหนึ่งในเวทีเสวนาใหญ่ก้าวสู่ปีที่ 46 “Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศ 2023” จัดโดยเครือมติชน ที่ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์, ใน เวบกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, 26 มกราคม 2566, https://dmf.go.th/public/list/data/detail/id/18315/menu/ปิโตรเลียมกับเยาวชน 

[26]โรงไฟฟ้าขยะชุมชน วาระแห่งชาติ(หน้า), โดยการิมคลองหลอด, สำนักข่าวอิศรา, 9 กันยายน 2564, 10:50 น., https://www.isranews.org/article/isranews-article/102327-wastetoenergy.html 

[27]"ชีวมวล หรือ มวลชีวภาพ (Biomass)” สารอินทรีย์ทุกรูปแบบที่เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานจากธรรมชาติและสามารถนำมาใช้ผลิตเป็นพลังงานได้ โดยไม่นับการกลายเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลไปแล้ว โดยมากมาจาก กากหรือเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร หรือ กากจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย ใบและยอดอ้อย เศษไม้ เส้นใยและกะลาปาล์ม กากมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด กาบและกะลามะพร้าว ส่าเหล้า ขยะมูลฝอย น้ำเสียจากโรงงาน หรือแม้กระทั่งมูลสัตว์ต่างๆ ฯลฯ โรงไฟฟ้าชีวมวล คือ โรงไฟฟ้าที่ใช้เศษวัสดุต่างๆที่เป็นชีวมวล (Biomass) เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า หรือ ผลิตไอน้ำ ซึ่งอาจเป็นวัสดุชนิดเดียวกันหรือหลายชนิดรวมกัน เช่น โรงน้ำตาลใช้กากอ้อยที่ได้จากการหีบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโรงสีขนาดใหญ่ที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าการใช้ก๊าซชีวภาพ(Biogas) จากการหมักน้ำเสีย(ที่ได้มาจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมหรือมูลสัตว์(จากฟาร์มเลี้ยงสัตว์) มาผลิตกระแสไฟฟ้า ฯลฯ

ดู ปัญหาโรงไฟฟ้าจากขยะและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ทำให้คนไทยไม่ยอมรับ, mgronline, 28 กุมภาพันธ์ 2561, https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9610000020619 & พลังงานชีวมวล, โดยสมาคมพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย (TRECA), คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี, http://reca.or.th/biomass/

[28]การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (environmental impact assessment ย่อว่า EIA)หมายถึง การประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสุขภาพหรือความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะมีผลต่อสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อธรรมชาติ ซึ่งบางครั้งอาจนำไปสู่ภัยพิบัติต่อสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาจนิยามได้ว่าเป็น "กระบวนการเพื่อการบ่งชี้ ทำนาย ประเมิน และบรรเทาผลกระทบทางชีวกายภาพ สังคม และผลกระทบที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่มีต่อข้อเสนอการพัฒนาใดๆ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจให้ลงมือดำเนินได้" วัตถุประสงค์ของการประเมินก็เพื่อให้เป็นการประกันได้ว่า ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจได้พิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบของโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนทำการอนุมัติให้ดำเนินโครงการที่มีผู้ขออนุญาตดำเนินการ, วิกิพีเดีย

[29]มหานครโตเกียว…โมเดลการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ครัวเรือน, ThaiPublica, 27 กรกฎาคม 2557, https://thaipublica.org/2014/07/tokyos-waste-management/ 

[30]พลังงานสะอาด (Clean Energy) คือ พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายเหมือนกับพลังงานประเภทอื่นๆ หรือก่อให้เกิดมลภาวะอย่างน้อยที่สุดในทุกขั้นตอนนับตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การใช้งาน ไปจนถึงการจัดการของเสีย รวมถึงไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน พลังงานสะอาดจึงเป็นพลังงานทางเลือกที่นำมาใช้ทดแทนแหล่งพลังงานเดิมที่มีอยู่อย่างจำกัดที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก

พลังงานสะอาดอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ พลังงานสะอาดที่มาจากธรรมชาติ เช่น ลม น้ำ แสงแดด ความร้อนใต้พิภพ และพลังงานสะอาดที่มนุษย์สามารถสร้างขึ้นได้เอง เช่น พลังงานขยะ พลังงานชีวภาพ และ พลังงานชีวมวล 

ดู พลังงานสะอาด (Clean Energy), 1 พฤษภาคม 2566, https://www.cloverpower.co.th/th/updates/blog/223/พลังงานสะอาด-clean-energy  

[31]พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งมีข้อผูกพันให้ประเทศต่างๆ ต้องลดก๊าซเรือนกระจกในอัตราส่วนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ในอดีต (เฉลี่ยร้อยละ 5.2 ของระดับก๊าซในปี 1990) และเพิ่มขึ้นในระยะยาว ซึ่งก๊าซเรือนกระจกมีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ ดังนั้นแนวทาง “สังคมคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Society)” จึงถูกหยิบยกขึ้นมาศึกษาในวงกว้างในฐานะโมเดลของสังคมในอนาคต จนกระทั่งเป็น และเนื่องจากพลังงานจากชีวมวล หรือพลังงานจากขยะเป็นพลังงานที่สะอาดอยู่แล้ว จึงปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงมีน้อยกว่าจากพลังงานฟอสซิล

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero)คือการไม่ปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนี้เพิ่มขึ้นไปในชั้นบรรยากาศอีก โดยทำได้ทั้งลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือชดเชยด้วยการกำจัดก๊าซดังกล่าวเท่ากับจำนวนที่ปล่อยออกไป เพื่อการลดโลกร้อน จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2564 ภายใต้การนำของอาล็อก ชาร์มา (Alok Sharma)

ดู โลกร้อน : การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) คืออะไร ไทยสัญญาโลกไว้ว่าอย่างไร, BBC, 3 พฤศจิกายน 2564, https://www.bbc.com/thai/international-59150935

[32]กรณีศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้เชื้อเพลิงขยะ (RDF) เผาร่วมกับถ่านหินลิกไนต์ (Co-firing), https://www.dede.go.th/download/opendata_garbage/garbage_mar_62.pdf

[33]กทม.การันตีปลอดภัยแน่นอนเตาเผาขยะผลิตไฟฟ้าแห่งแรกในกรุง, เดลินิวส์, 10 พฤษภาคม 2559, 00.25 น., http://www.dailynews.co.th/bangkok/396804

[34]ส่อง “ถุงขยะฟุกุโอกะ” ต่างกับไทยสุดขีด ชัชชาติ เก็บไอเดียมาพัฒนากรุงเทพฯ, คมชัดลึก ออนไลน์, 24 สิงหาคม 2566, 15:47 น., https://www.komchadluek.net/quality-life/environment/556852



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท