ชีวิตที่พอเพียง  4542. สมองกับความรู้สึกตัวตนทางกายภาพ


 

บทความเรื่อง How the Brain Creates Your Physical Sense of Self  ลงใน Scientific American  เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๖    น่าสนใจมากสำหรับผม   

William James (1890) เสนอว่ามนุษย์เรามี ๒ ตัวตน   คือ I (ผู้ดำรงตัวตนในโลก) กับ me (ผู้ถูกประสบการสร้างขึ้น)   ทฤษฎีดังกล่าวมีข้อมูลหลักฐานสนับสนุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ    เริ่มจากการค้นพบเครือข่ายใยประสาทในสมอง ที่ทำงานตอนอยู่เฉยๆ หรือช่วงพักสมอง (default mode network)   ที่เป็นตัวกำหนด me   ที่ผลการวิจัยพบว่าเครือข่ายนี้จะทำงานช่วงสมองไม่ทำงาน (ไม่พุ่งเป้าไปที่เรื่องใด)   และเครือข่ายนี้จะไม่ทำงานหรือลดการทำงานเมื่อสมองทำงาน    กล่าวง่ายๆ ว่าแม้ขณะใจลอย ก็ยังมี “ฉัน” ในรูปแบบที่จับต้องไม่ได้   

ความรู้สึก “ฉัน” แบบ I คือมีตัวตนจับต้องได้ ศึกษายากกว่า   มันเกิดขึ้นในใจเราบางขณะเท่านั้น   เช่นรู้สึกว่ามีมือต่อเมื่อต้องการใช้มือทำอะไรบางอย่าง    ความเข้าใจกลไกในสมองเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่งเริ่มต้น    โดยเริ่มจากความรู้ว่า เปลือกสมองส่วนด้านหลังใกล้จุดบรรจบระหว่างสมองสองซีก ที่เรียกชื่อว่า PMC (postero-medial cortex) มีส่วนกำกับความรู้สึกตัวตนแบบนี้

เร็วๆ นี้ มีคนเป็นโรคลมชักคนหนึ่งที่บอกว่าเวลาชักไม่สามารถบังคับร่างกายได้ และหมดความรู้สึกตัวตน     เมื่อตรวจสอบจุดในสมองที่เป็นชนวนให้เกิดอาการชัก ก็พบว่าอยู่ที่สมองส่วน PMC (postero-medial cortex) บริเวณ anterior precuneus    นักวิจัยเรื่องนี้จึงหาผู้ป่วย ที่มีอาการชักจากจุดกำเนิดอื่น และหมอได้ใส่อีเล็กโทรดเข้าไปกำกับการทำงานของสมอง    และทดลองกระตุ้นสมองส่วน PMC นี้    พบว่าผู้นั้นรู้สึกเลื่อนลอย มึนงง หมดความรู้สึกตัวตนเช่นเดียวกัน   บางคนบอกว่ารู้สึกเหมือนตอนใช้ยาหลอนประสาท    

จุดอ่อนของผลการวิจัยนี้ อยู่ที่ผู้ป่วยบอกความรู้สึกของตน   ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์   

นักวิจัยได้ใช้เครื่องมือ fMRI ตรวจการทำงานของสมองส่วน anterior precuneus ว่าเกี่ยวข้องกับ default mode network หรือไม่    พบว่าไม่   เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันทฤษฎีที่บอกว่าคนเรามี ๒ ตัวตน คือ  I กับ me                    

วิจารณ์ พานิช 

๒๗ ก.ค. ๖๖    

 

หมายเลขบันทึก: 714239เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2023 18:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2023 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท