ชีวิตที่พอเพียง  4542. สี่สหายเที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร


 

สี่สหายนัดพบกันวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๖   ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เชิญไปรับประทานอาหารเที่ยงที่บ้าน   แล้วไปชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอีก 1 ½  ชั่วโมง   พอดีๆ กับกำลังของผู้สูงอายุ    โดย ศ. ฉัตรทิพย์ได้รับความช่วยเหลือจากคุณเกรียงไกร สัมปัชชลิต ติดต่อนัดแนะกับทางพิพิธภัณฑ์ เพื่อขอผู้นำชม

ดร. ฉัตรทิพย์ เลี้ยงอาหารจาก Hoshi Japanese Restaurant ที่อยู่ติดกันกับบ้านท่าน    สั่งมาส่งให้เรานั่งรับประทานกันที่บ้าน    อาหารจานพิเศษคือปลาดิบชิมาจิ (Shima-Aji sushi) หรือปลาทูยักษ์ แล่บางสุดๆ มีไข่ปลาคาเรียร์หนึ่งจุดต่อชิ้น (ดูรูป)    เป็นครั้งแรกที่ผมได้กินปลาดิบชนิดนี้    ที่เน้นกินเพื่อสุนทรียารมณ์ ไม่ใช่เพื่ออิ่ม   

นักเที่ยวพิพิธภัณฑ์อย่างผมชอบใจมาก   เตรียมตัวเข้าเว็บไซต์ล่วงหน้า    สำหรับให้เวลา onsite ชั่วโมงครึ่งเกิดประโยชน์สูงสุด   และสำหรับใช้พิพิธภัณฑสถานเป็นแหล่งเรียนรู้จากประสบการณ์แบบ virtual experience   ใน comfort zone (พื้นที่สุขใจ) ของผม    แต่ก็เตรียมตัวได้ไม่มาก

เรานั่งรถออกจากบ้าน ศ. ฉัตรทิพย์ เวลา ๑๓.๒๐ น.  ไปถึงพิพิธภัณฑ์ฯ เวลา ๑๔ น. ตามนัดพอดี   กะว่าคนแก่เดินชมชั่วโมงครึ่งก็หมดแรง   คนนำชมเป็นภัณฑารักษ์ ชื่อคุณวิศวะ (ปลาทู) จบปริญญาตรีมาแล้ว ๑๐ ปี และจบปริญญาโทแล้ว    มีความรู้ดี และอธิบายเก่งมาก   

รถจอดหน้าพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน   ซึ่งอยู่ติดรั้วด้านหน้า   เราเดินเข้าไปข้างใน (ท่ามกลางแสงแดดจ้า) ไปที่อาคารมหาสุรสิงหนาท ซึ่งมี ๒ ชั้น  เขามีลิฟท์บริการผู้สูงอายุ   ช่วยให้สี่สหายซึ่งสะเงาะสะแงะลงไปมาก ได้รับความสะดวก    เราดูได้แค่สองห้อง คือห้องก่อนประวัติศาสตร์ กับห้องทวาราวดี   พอเข้าห้องลพบุรี (เขมรในประเทศไทย) ก็ครบชั่วโมงครึ่ง     ทุกคนเห็นพ้องกันว่า ต้องไปอีก         

ผมอ่านเรื่องยุคทวาราวดีในวิกิพีเดียแล้ว ตีความว่ายุคนี้น่าจะถือเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์    มีแต่โบราณคดีเท่านั้น ไม่มีเรื่องราวและตัวบุคคลที่เป็นประวัติศาสตร์เลย    เป็นยุคที่มีโบราณวัตถุด้านพุทธศาสนา    แสดงว่าพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในดินแดนนี้ในยุคดังกล่าว   

ห้องเด่นของยุคทวาราวดี จัดแสดงธรรมจักรที่ต้องมีกวางหมอบเหลียวหลังตั้งอยู่ข้างหน้า    เพื่อสะท้อนว่าพระพุทธเจ้าเทศนาธรรมจักกัปปวัตนสูตร หรือปฐมเทศนา แก่ปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หรือป่าสวนกวาง    ศิลปวัตถุเด่นต้องตาผมอีกชิ้นหนึ่งคือ ภาพจำหลักศิลาแสดงพุทธประวัติตอน พระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ พุทธศตวรรษที่ ๑๓   ช่วยให้ผมได้เรียนรู้เรื่องยมกปาฏิหาริย์ปราบพวกเดียรถีย์   ที่แสดงใต้ต้นมะม่วง   

โบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีทั้งเครื่องใช้ (หม้อ และเครื่องใช้ประกอบอาหาร เครื่องประดับ และพิธีกรรม)   กลองสำริดหรือกลองมโหระทึก ที่จัดแสดง  มีภาพเขียนสีพบในถ้ำที่กาญจนบุรี ช่วยการสันนิษฐานว่ากลองนี้ใช้ในพิธีกรรมแห่ศพ (ดูรูปที่ ๗, ๘ และ ๙)    เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย ที่ถือว่าการตายเป็นเรื่องใหญ่   

ผมพยายามใช้พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์  

เว็บไซต์ The Cloud นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครเมื่อปี ๒๕๖๑  อ่านและชมได้ที่ (๑)   ไม่ได้แนะนำห้องที่เราไปชมเลย    เว็บไซต์ smartmuseum นำชมพระที่นั่งต่างๆ ในเวลา ๖ นาที ชมได้ที่ (๒)    มีวิดีทัศน์ที่จัดทำโดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครเอง นำชม ๒๕ นาที น่าชมมาก ชมได้ที่ (๓)    มีการนำชมเป็นรายอาคาร รวมทั้งอาคารมหาสุรสิงหนาท ที่เราไปชมในวันนี้   เหมาะสำหรับผู้จะไปชม ณ สถานที่จริงได้ชมก่อน เพื่อเตรียมตัว        

ผมกลับมาค้นที่บ้าน พบ App FADiscovery ที่มีทั้งระบบ Android และ Apple   แต่มีรายละเอียดน้อย    

วิจารณ์ พานิช 

๒๗ ก.ค. ๖๖    

 

1 มันปู  กินกับข้าวญี่ปุ่น  และสลัดญี่ปุ่น

2 sushi ปลา Shima-Aji

3 ขนมญี่ปุ่น

4 ภาพจำหลักศิลาแสดงพุทธประวัติตอน พระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ พุทธศตวรรษที่ ๑๓

5 ห้องเด่นของยุคทวาราวดี แสดงธรรมจักรและกวางหมอบ

6 ในห้องก่อนประวัติศาสตร์

7 กลองสำริด บอกความสำคัญของพิธีกรรม

8 ภาพวาดชวนให้เดาว่ากลองสำริดใช้นำขบวนแห่ศพ

9 คำอธิบายภาพ

หมายเลขบันทึก: 714223เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2023 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2023 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับสำหรับภาพและเรื่อง ตลอดจนการเชื่อมโยงถึงเว็บต่างๆ ที่สามารถเปิดดูได้ทันที และเพิ่มเติมความรู้แบบจัดครบ–จัดเต็มเลยครับ…วิโรจน์ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท