ชีวิตที่พอเพียง  4539. เรียนรู้ neurodiversity จากเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้ป่วยสมองเสื่อมที่ ซานฟรานซิสโก


 

บทความเรื่อง How My Mother’s Dementia Showed Me Another Side of Neurodiversity ลงใน Scientific American  เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๖    น่าสนใจสำหรับผมเพราะเป็นเรื่องราวของคนเป็น vascular dementia เหมือนภรรยาของผม   

เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นคำว่า neurodiversity   เมื่ออ่านรายละเอียดก็ได้รู้ว่าเป็นวาทกรรมที่เสนอโดยนักสังคมศาสตร์    เพื่อสร้างการยอมรับให้แก่คนเป็น ออทิสซึม    ไม่ใช่เริ่มจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสมอง     แต่ก็กระตุ้นให้เกิดคำระบุลักษณะของคนสองแบบ คือ neurodiverse person (คนมีระบบประสาทหลากหลาย)  กับ neurotypical person (คนมีระบบประสาทแบบทั่วไป)   ซึ่งเป็นการยอมรับทางสังคมว่าไม่มองเป็นความผิดปกติ แต่มองเป็นความแตกต่าง   ในทำนองเดียวกันกับเรื่องเพศสภาพ   

ตามข้อเขียนเรื่อง How My Mother’s Dementia Showed Me Another Side of Neurodiversity ผู้เขียน ซึ่งมีอาชีพเป็นนักเขียน   เสนอให้มองคนสมองเสื่อมทั้งสองแบบ คือมองว่าเป็นโรคทางสมอง    และในทางอาการ มองว่าเป็นคนที่มีระบบประสาทอีกแบบหนึ่ง (หลากหลาย)    โดยตามเรื่องที่เล่า แม่ของผู้เขียนมีอาการของความหลงผิด (delusion)   คือบอกเรื่องราวที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง      

ผู้เขียนต้องการให้แม่ได้เคลื่อนไหวและเข้าสังคมในช่วงโควิดระบาด  จึงนำไปเข้ารับการดูแลที่สถานบริการดูแลคนสมองเสื่อม แห่งหนึ่ง (ในซานฟรานซิสโก) ที่เรียกว่า board-and-care home   และพบว่าบริการแย่มาก  เจ้าหน้าที่รวมทั้งหัวหน้าใหญ่ไม่มีความเข้าใจคนสมองเสื่อม    แม่ของผู้เขียนจึงเดือดร้อนหนัก    กล่าวหาเจ้าหน้าที่ของสถานบริการต่างๆ นานา (จากความหลงผิด)   

ในที่สุดผู้เขียนจึงตาสว่าง ว่าเหตุการณ์ที่แม่บอกนั้นเป็น “ความจริง”    ที่ไม่ใช่ความจริงแท้  แต่เป็น “ความจริงทางอารมณ์”    ผู้เขียนปรึกษาเพื่อนหาสถานบริการใหม่    ได้สถานที่ชื่อ Ivy Park at Cathedral Hill ที่คุณภาพสูงยิ่ง    ไปอยู่แค่สิบนาทีแม่ก็ร่วมร้องเพลงอย่างมีความสุข    ผู้เขียนสังเกตว่า เมื่อจะพูดกับผู้ใช้บริการที่นั่งอยู่บนรถเข็น หัวหน้าผู้ให้บริการจะนั่งลง และพูดกับผู้รับบริการแบบเงยหน้าขึ้นพูดด้วย   เป็นการแสดงท่าทีเคารพผู้สูงอายุที่สมองเสื่อม   ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าได้รับการยอมรับนับถือ ได้รับการรับฟัง   

ผู้เขียนเล่าว่า  เมื่อแม่เข้าไปอยู่ในห้องพักและมองออกไปทางหน้าต่าง  ก็พูดว่า “ฉันเคยมาอยู่ที่นี่”    ผู้เขียนทำท่าจะค้าน    เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลรีบพูดแทรกว่า “เป็นความรู้สึกที่ดีมาก”   สะกิดให้ผู้เขียนเข้าใจความหมายคำพูดของแม่ ว่าแม่รู้สึกว่าที่นี่ปลอดภัย   

เมื่อไปเยี่ยมครั้งหลัง  แม่พูดกับผู้เขียนว่า “ขอบคุณที่ฟังแม่” 

ข้อเขียนนี้สอนผมมาก    ให้หาทางคุยกับภรรยาผู้เป็นโรคเดียวกัน  และอาการคล้ายกันกับในเรื่อง    ด้วยจิตวิทยาเชิงบวก    ตีความถ้อยคำแบบไม่ใช่ภาษาปกติทั่วไป    แต่เป็นภาษาของคนสมองเสื่อม    ต้องตีความจากมุมของคนสมองเสื่อม    ผมจะต้องฝึกฝนตนเองในเรื่องนี้    

ทำความเข้าใจ neurodiversity   จากภาษาที่มาจากความหลงผิด (delusion)   และจากประสาทหลอน (hallucination)   ตีความหาความหมายทางจิตวิทยา    ซึ่งที่ผ่านมาผมก็ตีความว่า ภรรยาเขาสื่อสารความรู้สึกกังวลว่าจะถูกทอดทิ้ง     เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ตอนนี้ความรู้สึกปลอดภัยน่าจะเข้ามาแทนที่ได้เกินครึ่งแล้ว           

วิจารณ์ พานิช 

๒๕ ก.ค. ๖๖    

        

หมายเลขบันทึก: 714167เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2023 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2023 17:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I noted ‘… เมื่อจะพูดกับผู้ใช้บริการที่นั่งอยู่บนรถเข็น หัวหน้าผู้ให้บริการจะนั่งลง และพูดกับผู้รับบริการแบบเงยหน้าขึ้นพูดด้วย เป็นการแสดงท่าทีเคารพผู้สูงอายุที่สมองเสื่อม ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าได้รับการยอมรับนับถือ ได้รับการรับฟัง…” and recalled from reading a few books from https://www.facebook.com/peacefuldeath2011 (Please note that 2011 – the year this page started and there seems to be no recent posts on the page).

These kinds of subtleties are really tricks of the trade (best practices, assets of the industry, cultural excellence,…) that are too valuable to lose. Do we have a museum/curatory/a repository [Gotoknow.org for example] to keep and promote the use of them? Perhaps, as supplementary courses in health care?

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท