น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้งที่มาของกรมโลกร้อน


น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้งที่มาของกรมโลกร้อน

25 สิงหาคม 2566 

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1] 

 

ว่าด้วยปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งชุมชนต้องมีส่วนร่วม

... น้ำท่วม น้องว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่าน้ำแห้ง ให้ฝนแล้ง เสียยังดีกว่า[2] … เสียงเพลงศรคีรี เพลงดังสมัยก่อน ยังจำได้ เพลงลูงทุ่งเก่าๆ ปรากฏแว่บเข้ามา หลายเพลงว่า น้ำท่วมไม่กลัวฝนแล้ง ฝนตกกบร้องอ๊บอ๊บ น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง เหล่านี้ในสมัยก่อนๆ ยังเชื่อว่าน้ำท่วมดีกว่า เพราะมันชี้ให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง และธรรมชาติมีได้จัดการสมดุลของมันเองดีอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันคงต้องเปลี่ยนแนวคิด เพราะ มีแนวคิดผุดขึ้นมาใหม่เยอะแยะจากข้อมูลใหม่ๆ NASA เผยภาพระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ในช่วง 30 ปี เพิ่มเกือบ 10 ซม. เหตุจากภาวะโลกร้อน[3], ข่าวเมืองลอยน้ำ (Dogen City) รองรับผู้อาศัยนับหมื่น ออกแบบมาให้ทน Climate Change[4], แนวคิดบ้าน Net Zero มีน้ำใช้ตลอดปี ไม่กลัวแล้ง ‘บ้านเก็บน้ำฝน’ ในเม็กซิโก[5] เป็นต้น มีคำถามย้อนกลับว่า “ภัยแล้งน่ากลัวไหม” เมื่อหลายปีก่อนพูดถึงเรื่องศาสตร์พระราชาสู่การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน[6] ต้องพูดต่ออีกแค่ไหน เพราะสถานการณ์วิกฤตสิ่งแวดล้อมต่างๆ นานา[7] ที่ประดังถั่งโถมเข้ามา 

มีการกล่าวถึง การแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างยั่งยืนว่า ชุมชนต้องมีส่วนร่วม (2565)[8] เพราะ ประเทศไทยเผชิญกับความแปรปรวนของธรรมชาติ ส่งผลให้ปริมาณของน้ำฝนในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เกิดภาวะน้ำท่วมและภัยแล้งขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้จัดสรรงบประมาณในการส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำด้านภัยแล้งและน้ำท่วม ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มีการนำเสนอกรณีศึกษาการแก้ปัญหานำท่วม ตั้งแต่ระบบนิเวศ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ใน 4 พื้นที่ ประกอบด้วย จ.น่าน ราชบุรี อุบลราชธานี และสตูล โดยชี้ให้เห็นภาพในปัจจุบันของปัญหาน้ำมากในช่วงฝนตกหนัก และน้ำแล้งจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนที่ตกในช่วงเวลาที่ผ่านมา การบริหารจัดการน้ำเป็นสิ่งจำเป็นที่จะบรรเทาสภาพน้ำท่วม น้ำแล้งให้อยู่ในขอบเขตที่ควบคุมได้ การจัดการน้ำโดยชุมชนต้องเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องน้ำกินน้ำใช้ โดยการใช้น้ำที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดการกระจายรายได้ รู้คุณค่าทรัพยากร ชุมชนต้องเข้ามาจัดการเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ต้องมีการขับเคลื่อนงานแบบ 3+2 คือ (1) การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน (2) การสร้างกฎกติกา (3) พัฒนาคน ร่วมกับ (1) การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี (2) จัดตั้งกองทุนในพื้นที่ของตนเอง ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค คิดค้นนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ในการจัดการน้ำและสร้างอาชีพ เนื่องจากสภาพอากาศในปัจจุบันกับเมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมามีความแตกต่างกันมาก วิธีการที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำในอนาคตขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เริ่มจากปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ เขื่อน แม่น้ำ ประตูน้ำ ปั๊มสูบน้ำ ท่อระบายน้ำ ต้องมีการออกแบบให้เหมาะสมในทุกพื้นที่ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำง่ายขึ้น ปัจจัยต่อมาคือเรื่องของกฎกติกาในบริหารการจัดการน้ำ สุดท้ายคือปัจจัยเรื่องคน ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ต้องรับรู้ข้อมูลและนำข้อมูลที่ทันสมัยมาใช้ให้มากขึ้น โครงการวิจัยนี้จึงมุ่งให้ชุมชนรับมือปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยโครงการวิจัยเป็นการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ 30 ตำบลทั่วประเทศ โดยแยกเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในแต่ละพื้นที่มีลักษณะของภูมิประเทศและปัจจัยเรื่องของคนที่แตกต่างกัน งานวิจัยเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากคนในพื้นที่เป็นผู้ประสบภัย จะต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับตำบล อบต. รวมไปถึงการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาดังกล่าว ฉะนั้น ระบบการป้องกันและวางแผนในเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้งในระดับพื้นที่จะต้องดึงชุมชนเข้ามาร่วมในการรับรู้ และสร้างแผนรองรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในปี 2566 จะถ่ายทอดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดำเนินการต่อ โดยขยายเป็น 300 ตำบล ซึ่งงานวิจัยจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการขยายผลไปสู่การแก้ปัญหาในตำบลอื่นๆ ได้

 

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate Change) สู่การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน รัฐ-เอกชน-ชุมชน

นำไปสู่การเกิดภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ในการคาดการณ์เมื่อปี 2563 ประเทศไทยที่ต้องเผชิญภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี[9] กรมอุตุนิยมวิทยา ยังคาดว่าภัยแล้งปีนี้จะเกิดขึ้นยาวนาน เพราะภาวะโลกร้อนทำให้ปริมาณน้ำฝนลดลงกว่าร้อยละ 30-40 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยต่อปีน้ำในเขื่อนเริ่มลดระดับจนแห้ง ได้มีการนำเสนอแนวคิด “รัฐ-เอกชน-ชุมชน ร่วมน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การจัดการน้ำอย่างยั่งยืนใช้ความรู้คู่คุณธรรมพาไทยรอดภัยแล้ง” เพื่อกู้วิกฤติแล้ง 

เกิดชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการน้ำ ของหมู่บ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง[10] เกิดต้นแบบบ้านเก่าขาม อบต.เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี[11] พลิกฟื้นผืนดินแล้งจาก “ระบบธนาคารน้ำใต้ดิน” ได้พลิกฟื้นพื้นที่ในตำบลที่ขาดแคลนน้ำอย่างหนัก จนไม่สามารถเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ ให้กลับมากักเก็บน้ำไว้ใช้ในชุมชนได้ถึง 3 ปี โดยไม่ต้องกังวลภัยแล้ง โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชาของในหลวง ร.9 ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างน้ำบนดินลงสู่ชั้นใต้ดินที่เรียกว่า “พื้นที่อยู่นอกเขตชลประทาน ไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ประสบภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก” นอกจากนี้อบต.เก่าขามยังนำนวัตกรรมมาช่วยในการบริหารจัดการน้ำด้วยการฝังเซ็นเซอร์ที่ชั้นใต้ดิน เพื่อช่วยวัดระยะเวลาการซึมน้ำไปสู่ชั้นใต้ดิน ปริมาณน้ำ การปนเปื้อน และวิเคราะห์คุณภาพน้ำชั้นใต้ดิน ซึ่งทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งโครงการ “บัญชีนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดินแบบพอเพียง” นี้ เข้าประเมินรับรางวัล United Nations Public Service Awards (UNPSA) ประจำปี 2563 เพื่อเชิดชูเกียรติงานบริการภาครัฐเป็นเลิศที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนายั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN) 

ในส่วนของเอกชน เอสซีจี รักษ์น้ำฯ ปันบทเรียนสู่ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง[12] ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเอสซีจีครบรอบ 108 ปี ในปี 2564 ที่สืบสาวย้อนได้ถึงจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2537 เมื่อไปตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ที่จ.ลำปาง แต่พบว่าพื้นที่มีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมจึงร่วมกันคิดฟื้นฟูปลูกป่าทดแทนแต่โดนไฟไหม้ป่าทุกปีจึงไปศึกษาโครงการพระราชดำริการสร้างฝายชะลอน้ำที่ห้วยฮ่องไคร้ และเริ่มต้นโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำจากภูผาสู่มหานที” ตั้งแต่ปี 2546

ด้านภาครัฐ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)[13] ไว้ ดังนี้ “ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” ใน 6 เส้นทางการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน[14] ด้วยวิถีการบริหารจัดการที่เน้นให้ทุกส่วนของสังคมรู้ถึงคุณค่าของน้ำ ใช้น้ำอย่างพอประมาณมีเหตุผล เพื่อให้ทรัพยากรน้ำมีใช้อย่างทั่วถึง เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ มีการบริหารจัดการน้ำตามหลักธรรมาภิบาล สรุปหลักการคือ หลักในการบริหารจัดการน้ำที่สำคัญคือการวางเป้าหมายในการจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า (Water Saving)[15] ลดปัญหาขาดน้ำและน้ำท่วม เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้วก็ดำเนินการ พัฒนาแหล่งน้ำจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ เป็น “การบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม” [16] เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจและชุมชน สทนช.ได้มีการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากมีกฎหมายบังคับใช้ ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 แผนแม่บทน้ำ 20 ปีดึงชุมชนจัดการพร้อมสั่งลุยด่วนสู้ภัยแล้ง เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นการจัดการการใช้ การพัฒนา และการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากร เพื่อให้ 38 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน โดยกำหนดให้มีการจัดตั้ง “องค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติคือ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บท และมาตรการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และมีคณะกรรมการระดับลุ่มน้ำที่ให้ตัวแทนประชาชนที่มาจากการคัดเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระดับองค์กรผู้ใช้น้ำที่มาจากกลุ่มต่างๆ ที่เป็นตัวแทนผู้ใช้น้ำจริงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

ที่จริงตั้งแต่ปี 2556 บริษัทเอกชน คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)[17] ได้นำเสนอ กลยุทธ์ “การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” (One Water Strategy)มีหลายโครงการ เช่น[18] การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Sea Water Reverse Osmosis: SWRO) และการนำน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ (Wastewater Reverse Osmosis: WWRO) โครงการ Reduce Water Injection at Oxidation Unit เพื่อลดการใช้น้ำและโซเดียมคาร์บอเนตในถังทำปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation Reactor) และทำให้น้ำเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตลดลง โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสีย ด้วยเทคโนโลยี Wastewater Reverse Osmosis (WWRO) โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในกระบวนการผลิต นำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ (Renewable Water) สนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยี ปรับปรุงกระบวนการผลิต ตลอดจนการหาแหล่งน้ำสำรอง ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับชุมชนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำ รวมถึงสื่อสารแผนการดำเนินงาน ผลการดำเนินงานให้ผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชน หน่วยงานในพื้นที่ ทราบอย่างทั่วถึงผ่านช่องทางต่างๆ ที่เหมาะสม อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานที่ได้ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

จะเห็นได้ว่า น้ำเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในวาระการพัฒนาสำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เพราะทรัพยากรน้ำสำคัญสำหรับการดำรงชีพของมนุษย์ที่ถูกใช้เพื่อกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งเพื่อการบริโภคและอุปโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม รวมถึงเพื่อปรับสมดุลของระบบนิเวศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาลที่ดี จึงต้องผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และยั่งยืน ครอบคลุมถึงน้ำอุปโภคบริโภคให้เพียงพอและได้มาตรฐานด้วย

จากข้อมูลเดิมพบว่า[19] คนไทยสามารถเข้าถึงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากขึ้น เห็นได้จากข้อมูลสถิติ อาทิ สัดส่วนสมาชิกในครัวเรือนที่ใช้น้ำดื่มจากแหล่งน้ำสะอาดที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 98 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 99.5 ในปี 2562 เช่นเดียวกับสัดส่วนสมาชิกในครัวเรือนที่มีสถานที่เฉพาะสำหรับล้างมือซึ่งมีน้ำพร้อมสบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอื่น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 81.2 เป็นร้อยละ 89 และสัดส่วนสมาชิกในครัวเรือนที่ใช้ส้วมที่ถูกสุขอนามัยและไม่ได้ใช้ร่วมกับครัวเรือนอื่น อยู่ที่ร้อยละ 97.1 ทั้งนี้ คุณภาพน้ำยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการปรับปรุง โดยระหว่างปี 2553-2562 น้ำบริโภคในครัวเรือนเพียงร้อยละ 34.3 มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภค ในขณะที่ร้อยละ 49.1 ต้องปรับปรุงคุณภาพก่อนการบริโภค และร้อยละ 16.6 มีคุณภาพไม่เหมาะสมสำหรับการบริโภค ส่วนการบำบัดน้ำเสียที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งจากชุมชนและเขตอุตสาหกรรม ส่งผลให้แหล่งน้ำบางส่วนอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม อย่างไรก็ดี แนวโน้มสถานการณ์คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินในภาพรวมดีขึ้นในปี 2562 เมื่อเทียบกับปี 2559 โดยมีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดีเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ในขณะที่มีแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมลดลงร้อยละ 2 ในด้านการจัดการน้ำ พบว่าประเทศไทยมีระดับความเครียดน้ำสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ประสิทธิภาพการใช้น้ำปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 6.95 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อลูกบาศก์เมตร ในปี 2559 เป็น 7.40 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อลูกบาศก์เมตรในปี 2561 นอกจากนี้ สัดส่วนของปริมาณน้ำสูญเสียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29.9 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 34.7 ในปี 2562 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ยอมรับได้ที่ร้อยละ 25

ประเทศไทยมีกลไกเชิงสถาบันและการมีส่วนร่วมด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอยู่ในเกณฑ์ระดับปานกลาง-สูง มีคะแนนเฉลี่ยที่ 53 คะแนน จาก 100 คะแนน โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยงานประสานหลักด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมกับนานาชาติในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยได้ร่วมกับ 4 ประเทศในลุ่มน้ำโขงจัดตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) เพื่อส่งเสริมและประสานงานด้านการจัดการและการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน

จากความสำคัญของน้ำดังกล่าว จึงมี พรบ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561[20] บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 วัตถุประสงค์ให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมบูรณาการการทำงานเพื่อให้ขับเคลื่อนภารกิจด้านน้ำ ทั้งในด้านการใช้น้ำ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา และการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำไปในทิศทางเดียว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบ ระดับลุ่มน้ำโดยคณะกรรมการลุ่มน้ำมีทั้งหมด 22 ลุ่มน้ำ[21] 

 

ประสบการณ์จากวิกฤติภัยแล้งปี 2554-2557 

มีข้อสงสัยว่าปี 2557 เกิดจากสาเหตุธรรมชาติหรือความผิดพลาดจากนโยบายป้องกันน้ำท่วมมากกว่าน้ำแล้ง เพราะหนักที่สุดในรอบ 10 ปี[22] ปัญหาฝนแล้งเป็นเพราะคนกลัวน้ำท่วมมากกว่าฝนแล้ง กลัวหนาวตายมากกว่ากลัวไฟไหม้ ทำให้เกิดนโยบายที่ผิดพลาด จากข้อมูลสถิติย้อนหลังของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พบว่าตั้งแต่ปี 2532-2554 มีมูลค่าความเสียหายจากภัยแล้ง รวมกันอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ความเสียหายจากภัยน้ำท่วมในช่วงระยะเวลาเดียวกันมีมูลค่ารวม 1.5 แสนล้านบาท[23] คือต่างกันถึง 10 เท่า แต่โอกาสที่จะมีน้ำท่วมหนักอย่างในปี 2554[24] นั้นมิใช่ว่าจะเกิดขึ้นทุกปี ว่ากันว่าความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาคือ มี (น้ำในเขื่อน)ก็ไม่เก็บ แล้วค่อยๆ ทยอยใช้ ระบายปี 2555 ทีเดียว 5,000 ล้าน ลบ.ม. ความกลัว "น้ำท่วม" จึงเป็นภาพหลอนที่เกิดขึ้นในสมองทันที คนคิดว่า น้ำท่วมยังมีสัตว์น้ำกิน ฝนแล้งเหลือแต่หินให้กิน แต่ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ น้ำท่วมกระทบในพื้นที่ทุกภาคส่วนรุนแรงกว่าช่วยเหลือได้ยากกว่า แต่ภัยแล้ง กว้างขวางกว่า อาจช่วยเหลือง่ายกว่า หลายคนบอกน้ำท่วมดีกว่า หากเทียบในความเสียหายที่เท่ากัน ประมาณโจรปล้นบ้าน กับ ไฟไหม้บ้าน แต่ก็ขึ้นกับพื้นที่ เช่น ถ้าเป็นที่ราบ ทำนา ทำไร่ หรือใกล้แหล่งน้ำ ไม่ใช่ชุมชนเมือง การที่มีน้ำท่วม น้ำหลาก เป็นเรื่องปกติ น้ำท่วม นำความอุดมสมบูรณ์ มาให้ทุกปี มีตะกอนพัดพาเอาปุ๋ยธรรมชาติมาให้ทุกปี หากเป็นชุมชนเมือง น้ำท่วมอาจส่งผลเสียหายได้มาก เพราะวิถีของคนเมืองไม่ได้พึ่งการการเกษตร กระบอกเสียงของชุมชนจึงตีข่าวว่า น้ำท่วมเป็นเรื่องเสียหายมากกว่า เป็นต้น อย่างไรก็ตามลองมาทบทวนแนวคิดนี้ จะเห็นว่า หากแล้งแบบไม่มีน้ำเลย ภัยแล้งจะรุนแรงสาหัสกว่า ในเมืองฝนแล้งก็ยังมีน้ำขาย แต่น้ำท่วมมีน้ำเยอะแยะไปหมด แต่กินไม่ได้ ก็คิดกันไป น้ำท่วม กทม.และที่ลุ่มภาคกลางเพราะเหตุหลักคือน้ำเหนือหลากในหน้าฝน[25] และน้ำทะเลหนุน แผ่นดินที่ลุ่มภาคกลางทรุด[26] ผลโดยตรงมาจากสภาพภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น

 

ภัยใหม่จึงเปลี่ยนเป็นภัยที่เรียกว่า “วิกฤตของภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง” (climate change) [27] ที่มีได้ทุกอย่างทั้งร้อน ทั้งหนาว อากาศพิษ น้ำแล้ง น้ำท่วม ฯลฯ มีทุกๆ อย่างรวมๆ กัน เรียกว่าเป็นผลมาจาก “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) [28] นี่เป็นเหตุผลการเปลี่ยนชื่อ "กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม" เป็น "กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม" หรือ "กรมโลกร้อน"[29] นั่นเอง


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 25 สิงหาคม 2566, https://siamrath.co.th/n/472364 

[2]ทุกครั้งที่เกิด “น้ำท่วม” ขึ้นในประเทศไทย เพลงดังที่สถานีวิทยุและโทรทัศน์ “ต้อง” ใช้เป็นเพลงประกอบเสมอก็คือ “เพลงน้ำท่วม” ที่ครูไพบูลย์ บุตรขัน เป็นผู้แต่ง เนื้อเพลงตอนต้นที่ร้องว่า “น้ำท่วม น้องว่าดีกว่าฝนแล้ง” นั้น ครูไพบูลย์นำมาจากเหตุการณ์จริงเมื่อน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ปี 2485 จนบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าสามารถใช้เป็นที่แข่งเรือได้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นจึงพูดแก้เกี้ยวว่า “น้ำท่วม ดีกว่าฝนแล้ง” ก่อนเข้าวงการเมื่อประมาณปี 2511-2512 อายุประมาณ 31-32 ปี เมื่อศรคีรีฝากตัวเป็นศิษย์ครูไพบูลย์ ได้เล่าประสบการณ์ของตนเองที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมไร่สับปะรดที่ประจวบเสียหายให้ครูไพบูลย์ฟัง ครูเพลงอัจฉริยะก็แต่งเป็นเพลง “น้ำท่วม” ที่ขึ้นต้นด้วยคำพูดของผู้นำประเทศ และเรื่องราวประสบการณ์ของผู้ร้องไว้ในเพลงเดียวกัน จนทำให้ชื่อของศรคีรีเป็นที่รู้จักของแฟนเพลง และเพลงก็ดังระเบิดจนถึงทุกวันนี้

ดู “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง” คารมจอมพล ป. ที่ครูไพบูลย์ใช้แต่งเพลง “น้ำท่วม” จนดังระเบิด, โดยเสมียนนารี, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม, 21 กรกฎาคม 2565, https://www.silpa-mag.com/history/article_38197 

[3]เปิดภาพระดับน้ำทะเลจาก NASA เผยให้เห็น ช่วง 30 ปี น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 9.85 ซม., nationtv, 22 มิถุนายน 2566, https://www.nationtv.tv/gogreen/378920626

[4]เปิดภาพเมืองลอยน้ำหรือ Dogen City ของบริษัทสตาร์ทอัพญี่ปุ่นที่มีคอนเซ็ปต์ Floating sustainable city เพื่อรองรับ Climate Change สึนามิ และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งเมืองนี้สามารถรับผู้อยู่อาศัยได้ประมาณ 10,000 คน แถมยังสามารรับนักท่องเที่ยวได้นับหมื่นคนอีกด้วย 

ดู เมืองลอยน้ำ (Dogen City) รองรับผู้อาศัยนับหมื่น ออกแบบมาให้ทน Climate Change, spring, 13 มิถุนายน 2566, https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/839898 

[5]ในประเทศเม็กซิโกมีบ้านรักษ์โลกที่ใช้แนวคิด Net Zero อยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ‘La Casa que Cosecha Lluvia’ หรือ บ้านเก็บน้ำฝน ซึ่งถูกออกแบบมาให้มีฟังก์ชั่นในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี แถมพลังงานที่ใช้ในบ้านยังมาจากพลังงานจากโซลาร์เซลล์ ปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้โลกร้อนขึ้น ส่งผลให้บางพื้นที่แล้งกว่าปกติ ฝนตกน้อยลง การเก็บน้ำฝนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่เม็กซิโก มีบ้านที่ใช้แนวคิด Net Zero อยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ดู มีน้ำใช้ตลอดปี ไม่กลัวแล้ง! ‘บ้านเก็บน้ำฝน’ ในเม็กซิโก แนวคิดบ้าน Net Zero, springnews, 9 มิถุนายน 2566, https://www.springnews.co.th/keep-the-world/sustainable/839758 

[6]ศาสตร์พระราชา คือ ศาสตร์การจัดการและการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษา คิดค้น และวิจัย แล้วพระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย เพื่อใช้ในการจัดการลุ่มน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ จากภูผาสู่มหานที เมื่อนำองค์ความรู้นี้มาปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ จะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดู ศาสตร์พระราชา, คลังความรู้ โดยโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน”, 2556, https://www.ajourneyinspiredbytheking.org/th/knowledge/#:~:text=ศาสตร์พระราชา%20คือ%20ศาสตร์,หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

[7]10 ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก (2562)ได้แก่ (1) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (2) ปัญหาจากไนโตรเจน (3) วิกฤติภูมิอากาศ (4) ปัญหาจากฟอสฟอรัส (5) มหาสมุทรเป็นกรด (6) ปัญหาตัดไม้ทำลายป่าและการใช้ที่ดิน (7) ความเพียงพอของน้ำจืด (8) การสูญเสียชั้นโอโซน (9) มลพิษทางเคมี (10) มลพิษทางอากาศในชั้นบรรยากาศ

ดู 10 ปัญหา สิ่งแวดล้อม ระดับ โลก 3 เรื่อง รุนแรง เกิน โลก รับ ไหว, workpointtoday.com, 9 กรกฎาคม 2562, https://workpointtoday.com/10-environmental-threats1/

& ในปีที่ผ่านมาเรียกว่าประเทศไทยเจอ 'ภัยพิบัติ' ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า คาดการณ์ว่าไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจไปกว่า 1.2-2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ เลขาธิการสหประชาชาติ ได้พูดถึงรหัสแดงต่อมนุษยชาติ 5 เรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าไทยต้องพบกับความเสี่ยงโดยเฉพาะเรื่อง 'น้ำท่วม'

ดู ‘5 รหัสแดง’ ภัยพิบัติ ไทยเสี่ยงแค่ไหน ต้องรับมืออย่างไร, กรุงเทพธุรกิจ, 27 กุมภาพันธ์ 2566, 16:45 น., https://www.bangkokbiznews.com/environment/1055262 & จับตาสิ่งแวดล้อมโลก และสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2566, วิจารย์ สิมาฉายา, ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, 8 มิถุนายน 2566, https://www.tei.or.th/th/article_detail.php?bid=119

[8]การแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างยั่งยืน ชุมชนต้องมีส่วนร่วม, ข่าวสารจุฬาฯ, เวบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 6 มกราคม 2565, https://www.chula.ac.th/news/58530/ 

[9]รัฐ-เอกชน-ชุมชน ร่วมน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การจัดการน้ำอย่างยั่งยืนใช้ ‘ความรู้คู่คุณธรรม’พาไทยรอดภัยแล้ง, โลกวันนี้, 18 มีนาคม 2563, http://www.lokwannee.com/web2013/?p=393811 & คนน้ำยืน เมืองอุบล สู้ภัยแล้งด้วยธนาคารน้ำใต้ดิน โดย ธาวิดา ศิริสัมพันธ์, ในเทคโนโลยีชาวบ้าน, 18 กุมภาพันธ์ 2563, https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_139492  

[10]ชุมชนบ้านสามขา หมู่ที่ 6 ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง, ในฐานข้อมูลการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนเชิงนิเวศ, การจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน, 14 สิงหาคม 2561 http://community.onep.go.th/location/ban-sam-kha-lampang/ 

[11]ดู คนน้ำยืน เมืองอุบล สู้ภัยแล้งด้วยธนาคารน้ำใต้ดิน โดย ธาวิดา ศิริสัมพันธ์, ในเทคโนโลยีชาวบ้าน, 18 กุมภาพันธ์ 2563, https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_139492 & ธนาคารน้ำใต้ดิน สิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่อบต.เก่าขาม อ.น้ำยืน, สถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพบก หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ภูเก็ตคลื่น FM 102.25 MHz, พฤศจิกายน 2559, https://www.ruksadindanradio.com/news/ธนาคารน้ำใต้ดิน-สิ่งมหั/ 

[12]เอสซีจี จับมือเครือข่าย ชู “เลิกแล้ง เลิกจน” โมเดล ชุมชนมีน้ำกิน-ใช้ รายได้เพิ่ม อาชีพมั่นคง, ThaiPublica, 16 มีนาคม 2564, https://thaipublica.org/2021/03/scg-model-lifts-community-out-of-poverty/ & รัฐ-เอกชน-ชุมชน ร่วมน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การจัดการน้ำอย่างยั่งยืนใช้ ‘ความรู้คู่คุณธรรม’พาไทยรอดภัยแล้ง, โลกวันนี้, 18 มีนาคม 2563, อ้างแล้ว

[13]ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ, โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, http://www.onwr.go.th/?page_id=4207 

[14]6 เส้นทาง การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน, โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, http://www.onwr.go.th/?p=4022 

[15]การใช้น้ำอย่างคุ้มค่า (Water Saving)ด้วยหลักการ 3R ได้แก่ Reduce ลดปริมาณน้ำทิ้งจากระบบหล่อเย็นในกระบวนการผลิต Reuse หมุนเวียนน้ำคอนเดนเสทมาใช้ซ้ำและเพิ่มจำนวนรอบน้ำหมุนเวียนในระบบหล่อเย็น และ Recycle นำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ผ่านระบบ Water Reverse Osmosis เป็นการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และคุ้มค่าที่สุด เพื่อโลกของเรา เช่น เทคนิคการใช้น้ำในชีวิตประจำวัน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง, วิธีการใช้น้ำอย่างไรให้ประหยัดลดค่าใช้จ่ายและคุ้มค่า, ประหยัดน้ำง่ายๆ เริ่มจากที่บ้าน, การใช้อุปกรณ์และสุขภัณฑ์ที่ประหยัดน้ำ รวมถึงวิธีประหยัดน้ำในหน่วยงาน โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

ฟอร์ดได้ริเริ่มแนวทางเพื่ออนุรักษ์น้ำในระดับสากล รวมถึงเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ใช้ภายในโรงงานตามทุกแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปได้ โดยระหว่างปี พ.ศ. 2543 ถึง 2556 ฟอร์ดได้ลดปริมาณการใช้น้ำถึง 61 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นปริมาณมากกว่า 1 หมื่นล้านแกลลอน ในวันอนุรักษ์น้ำโลก หรือ World Water Day ซึ่งตรงกับวันที่ 22 มีนาคม 

ดู 9 วิธีช่วยโลกประหยัดน้ำ, ผู้จัดการออนไลน์, 28 มีนาคม 2558, 00:35 น., https://mgronline.com/celebonline/detail/9580000035769 & การบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวมเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจและชุมชน, โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDC), 2 ตุลาคม 2564, https://sdgs.nesdc.go.th/โครงการบริหารจัดการน้ำ/

[16]บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม โดยแผนการบริหารจัดการน้ำภายในองค์กรประกอบด้วย (1) การใช้น้ำอย่างคุ้มค่า (Water Saving) ด้วยหลักการ 3R ได้แก่ Reduce ลดปริมาณน้ำทิ้งจากระบบหล่อเย็นในกระบวนการผลิต Reuse หมุนเวียนน้ำคอนเดนเสทมาใช้ซ้ำและเพิ่มจำนวนรอบน้ำหมุนเวียนในระบบหล่อเย็น และ Recycle นำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ผ่านระบบ Water Reverse Osmosis (2) การใช้นวัตกรรมการในการบริหารจัดการน้ำ (Water Innovation) ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตต่อหน่วยผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล และร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนำร่องโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำร้อยละ 15 ภายในปี 2563 และ (3) ความรับผิดชอบในการใช้น้ำตลอดห่วงโซ่การผลิต (Water Stewardship) โดยประเมินการใช้น้ำตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ในส่วนของ แผนการบริหารจัดการน้ำนอกองค์กร ได้ใช้แนวทาง 2Ws ได้แก่ การจัดการน้ำเพื่อชุมชน (Water Related to Community) และการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำอย่างยั่งยืน (Water Conservation) อาทิ โครงการฟื้นป่า รักษ์น้ำ เขาห้วยมะหาด จังหวัดระยอง ที่นำกระสอบพลาสติกแบบมีปีกมาใช้เป็นวัสดุในการจัดทำฝายชะลอน้ำเพื่อฟื้นฟูแหล่งน้ำให้กับชุมชน

ดู การบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวมเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจและชุมชน, โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDC), 2 ตุลาคม 2564, อ้างแล้ว

[17]กลยุทธ์ เป้าหมาย และผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน, โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) : GC, https://sustainability.pttgcgroup.com/th/environment/sustainable-water/sustainable-water-strategy-target-and-performance

[18]การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน (Water Stewardship) เป็นบริหารจัดการการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในกระบวนการผลิต นำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ (Renewable Water) รวมถึงสร้างความร่วมมือตลอดโซ่อุปทาน เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า (Water Saving), ดู กลยุทธ์ เป้าหมาย และผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน, โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) : GC, อ้างแล้ว 

[19]เป้าหมายที่ 6 สร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาล ให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้ สำหรับทุกคน, โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, SDGs, https://sdgs.nesdc.go.th/เกี่ยวกับ-sdgs/เป้าหมายที่-6-สร้างหลักป/ 

[20]พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 112 ก วันที่ 28 ธันวาคม 2561 หน้า 44, https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/112/T_0044.PDF

[21]ขอบเขต 25 ลุ่มน้ำหลัก 254 ลุ่มน้ำสาขา (เดิม) มีการปรับปรุงแก้ไขเป็น 22 ลุ่มน้ำหลัก 353 ลุ่มน้ำสาขา ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ.2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 138 ตอนที่ 12ก เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 

ดู 22 ลุ่มน้ำในประเทศไทย และพระราชกฤษฎีกา กำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ.2564, http://www.onwr.go.th/?p=10637http://sonwr.onwr.go.th/wp-content/uploads/2021/07/22-basin-in-thailand.pdf 

[22]วิกฤติภัยแล้ง 2557 สาเหตุจากธรรมชาติหรือความผิดพลาดจากนโยบายป้องกันน้ำท่วมมากกว่าน้ำแล้ง, ThaiPublica ประเด็นสืบสวน, 2 มีนาคม 2557,http://thaipublica.org/2014/03/disaster-drought-2014/

[23]วิกฤติภัยแล้ง 2557 สาเหตุจากธรรมชาติหรือความผิดพลาดจากนโยบายป้องกันน้ำท่วมมากกว่าน้ำแล้ง, ThaiPublica ประเด็นสืบสวน, 2 มีนาคม 2557, อ้างแล้ว

[24]อุทกภัยในประเทศไทย (สยาม) พ.ศ.2554 หรือที่นิยมเรียกกันว่า “มหาอุทกภัย” เป็นอุทกภัยรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำโขง เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2555 มีราษฎรได้รับผลกระทบกว่า 12.8 ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท, วิกิพีเดีย

[25]จากการคาดการณ์น้ำท่วมปี 2566 พบว่าน้ำเหนือไม่มาเพราะฝนตกในภาคเหนือน้อยกว่าปี 54 ดู น้ำท่วม : ปริมาณฝนในปีนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 54 หรือเปล่า, BBC, 1 กันยายน2565, https://www.bbc.com/thai/articles/c6p5z4dx3mjo 

[26]จากข้อมูลปี 2564 สภาพภูมิประเทศของกทม.เป็นที่ราบลุ่ม ตั้งอยู่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา และใกล้กับอ่าวไทย มีระดับความสูงเพียง 1.50 เมตรเหนือน้ำทะเล มีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมในช่วงมรสุม ที่ผ่านมาการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นดินทรุดตัวเฉลี่ยปีละ 1-2 เซนติเมตร ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้น จากระดับน้ำทะเลหนุนเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ถือเป็นพื้นที่เปราะบางได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และมีความเสี่ยงจะจมบาดาล หากไม่มีมาตรการป้องกันเพื่อรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ดร.ไตรเทพ วิชย์โกวิทเทน อาจารย์ประจำสาขาวิชา วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2566) กล่าวว่า “น้ำทะเลสูง-แผ่นดินทรุด” กทม. เสี่ยงน้ำท่วมรุนแรงในรอบ 50 ปี เตือนให้เร่งวางผังเมือง และหามาตรการป้องกันและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ธรณีสัณฐานมีผลต่อปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำในบริเวณที่ราบภาคกลาง

ดู ปรากฏการณ์ "น้ำทะเลหนุนสูง" เอ่อท่วมกรุง-ปริมณฑล, ไทยรัฐออนไลน์, 11 พฤศจิกายน 2564, 12:17 น., https://www.thairath.co.th/scoop/infographic/2239905 & “น้ำทะเลสูง-แผ่นดินทรุด” กทม. เสี่ยงน้ำท่วมรุนแรงใน 50 ปี, TNN ข่าวเย็น, 1 มิถุนายน 2566, https://www.youtube.com/watch?v=NWDHn-92gP8 

[27]การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change)คือ การเปลี่ยนแปลงลักษณะอากาศเฉลี่ย (average weather) ในพื้นที่หนึ่ง ตามกรอบของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ FCCC (Framework Convention on Climate Change)แต่ความหมายที่ใช้ในคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเนื่องมาจาก ความผันแปรตามธรรมชาติ หรือกิจกรรมของมนุษย์ (อ้างจาก กรมอุดุนิยมวิทยา)

ดู แต่รู้ไหมว่า Climate Change มันเกิดขึ้นได้ยังไง แล้วจะหยุดมันได้ไหม โดยคนบันดาลไฟ ในกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.), 2565, https://pdfmkm.erc.or.th/km_site/CatDetail/370?fbclid=IwAR3Lk4FX2Peax1_Qb2gT9rdLRzTqDnUTgYmu4Xpx39pfVmgP6Y4nr91pV64_aem_Aa3NnwlLsSXt5JdydEP2iSKtm5JXXBJt8QL8nVRrlVSDVbwnuH6q6hZm-r3KY8zrXBM 

[28]ภาวะโลกร้อน (Global Warming) คือ การที่ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากภาวะเรือนกระจก หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า Green house effect ซึ่งมีต้นเหตุจากการที่มนุษย์ ได้เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ การขนส่ง และการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนั้น มนุษย์เรายังได้เพิ่มก๊าซกลุ่มไนตรัสออกไซด์ และคลอโรฟลูโรคาร์บอน (CFC) เข้าไปอีกด้วย พร้อมๆกับการที่เราตัดและทำลาย ป่าไม้จำนวนมหาศาลเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์ ทำให้กลไกในการดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากระบบบรรยากาศถูกลดทอนประสิทธิภาพลง และในที่สุดสิ่งต่างๆที่เราได้กระทำต่อโลกได้หวนกลับมาสู่เราในลักษณะของภาวะโลกร้อน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ซี่งปรากฏการณ์ทั้งหลายเกิดจากภาวะโลกร้อนขึ้นที่มีมูลเหตุมาจากการปล่อยก๊าซพิษต่างๆ จากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้แสงอาทิตย์ส่องทะลุผ่านชั้นบรรยากาศมาสู่พื้นโลกได้มากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นที่รู้จักกันโดยเรียกว่า “สภาวะเรือนกระจก” ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ 6 ชนิด ที่จะต้องลดการปล่อย ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ก๊าซไฮโดรฟลูโรคาร์บอน (HFCS) ก๊าซเปอร์ฟลูโรคาร์บอน (CFCS) และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซ่าฟลูโอโรด์ (SF6)

ดู สภาวะโลกร้อน (GLOBAL WARMING), โดยบริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) : Grace(เกรซ), https://gracz.co.th/blog/post/planet-global-warming

[29]ตั้งแล้ว “กรมโลกร้อน” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป, สยามรัฐออนไลน์ , 18 สิงหาคม 2566, 13:52 น., https://siamrath.co.th/n/470732 & ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนที่ 48 ก วันที่ 17 สิงหาคม 2566 หน้า 55-57, https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140A048N0000000005500.pdf    



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท