บทความเรื่อง How Culture Affects the ‘Marshmallow Test’ ลงใน Scientific American เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๖ บอกว่าเด็กญี่ปุ่นถูกฝึกให้มีความยับยั้งชั่งใจ (delayed gratification) ฝังอยู่ในชีวิตประจำวัน สูงกว่าเด็กอเมริกัน เตือนสติเราว่า พ่อแม่ไทยมีโอกาสสร้างวิถีปฏิบัติในครอบครัว เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้าน EF ให้แก่ลูกได้ และเมื่อคิดย้อนหลังไปยังชีวิตช่วงเป็นเด็ก ผมเป็นเด็กมีบุญ ที่แม่ (เรียนจบเพียง ป. ๔) สร้างจุดแข็งนี้แก่ผมและน้องๆ ทุกคน ช่วยให้เรามีชีวิตที่ดีทุกคน
โปรดอ่านรายละเอียดในบทความนะครับ ว่าผู้เขียนคือ Yuko Munakata ผู้เป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส มองประเด็นนี้ออก เพราะตนเองเป็นลูกคนญี่ปุ่นที่ย้ายถิ่นไปอยู่ในอเมริกาก่อนตนเกิด และถูกเลี้ยงดูตามวัฒนธรรมญี่ปุ่น แต่ลูกของตนโตในอเมริกา จึงดูดซับวัฒนธรรมอเมริกัน เมื่อย้ายไปอยู่ที่เกียวโตชั่วคราว จึงสังเกตเห็นความแตกต่างในวัฒนธรรมการเลี้ยงเด็กระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่น
เขาเล่าว่า เมื่อลูกเข้าเรียนในโรงเรียนที่เกียวโตในวันแรก ตอนอาหารเที่ยง เมื่อลูกเข้าแถวรับอาหารเที่ยงและเดินไปนั่งที่โต๊ะอาหาร และตั้งท่าเริ่มกิน เพื่อนๆ โบกมือห้าม ตอนหลังจึงรู้ว่าต้องนั่งรอจนเพื่อนทุกคนรับอาหารและนั่งครบทุกคน จึงกล่าวคำขอบคุณพร้อมกัน จึงจะเริ่มกินได้
ทำให้ผมนึกถึงพิธีกินอาหารเที่ยงของนักเรียนโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ที่นักเรียนที่ไปถึงโรงอาหารและได้รับอาหารก่อนไปนั่งรอเพื่อน จนพร้อมทุกคนจึงกล่าวคำขอบคุณผู้ผลิตและผู้ปรุงอาหาร จบแล้วจึงเริ่มรับประทานอาหาร น่าจะเป็นการสร้างนิสัยที่ช่วยยกระดับ EF ของนักเรียน
ระบบนิเวศในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาอีกหลายด้าน น่าจะสร้างวัฒนธรรมในโรงเรียนที่ช่วยพัฒนา EF และนิสัยดีอื่นๆ ให้แก่นักเรียน
วิจารณ์ พานิช
๒๓ ก.ค. ๖๖
This is a culture connection building. The flip side is worth learning as well. That ‘there are others waiting for you to be there, don’t be late’.
A new Japanese ‘production line’ technology (also a block-chain type) is based on delivering ‘expected product in expected time’ so that the process flows well.