ตอนที่ ๒ (ภาคปฏิบัติ) ของ บันทึกชุด เรียนรู้จากประสบการณ์นี้ ตีความแบบสรุปจากหนังสือ Experiential Learning : A Practical Guide for Training, Coaching and Education, 4th Edition (2018) เขียนโดย Colin Beard และ John P. Wilson
ตอนที่ ๑๗ นี้ ตีความจากการอ่านหนังสือบทที่ ๖ Sensory experience and sensory intelligence (SI) (the sensing dimension)
ข้อสรุปอย่างสั้นที่สุดคือ มนุษย์มีประสาทสัมผัสทั้งที่รับจากโลกภายนอก และที่รับจากโลกภายในของตนเอง มีความละเอียดอ่อนและมีข้อมูลและกลไกการรับรู้ที่ซับซ้อน หากฝึกการรับรู้ประสาทสัมผัสให้ฉลาด จะส่งผลดีต่อการเรียนรู้อย่างมากมาย
ขยายความไว หรือความชินชา ต่อประสาทสัมผัส
เราพูดกันติดปากว่า มนุษย์มีประสาทสัมผัสทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ในรายละเอียดเรามีประสาทสัมผัสมากกว่านั้นมาก ทั้งเพื่อรับรู้จากภายนอกกาย และภายในกาย (และจิต) และประสาทสัมผัสเหล่านี้ทำงานอย่างมีปฏิสัมพันธ์กัน ไม่ใช่แยกกันทำงาน นำสู่ประสาทสัมผัสชั้นสูง ที่เรียกว่า gut feeling (ผมเรียกว่ามั่วอย่างมีชั้นเชิง) และปัญญาญาณ (intuition) การเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ดี จะช่วยกระตุ้นให้ประสาทสัมผัสเหล่านี้ว่องไวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อการรับรู้ประสาทสัมผัสด้านดี หรือด้านบวก และในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยป้องกันไม่ให้รู้สึกชาชินต่อประสบการณ์เดิมๆ โดยมีการเปลี่ยนแปลงประสบการณ์เป็นครั้งคราว ทั้งหมดนี้ จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้จากประสบการณ์
ครูฝึกการเรียนรู้จากประสบการณ์ ต้องเข้าใจ “พลวัตของประสาทสัมผัส” (sensory dynamics) อันได้แก่ ความฉลาดด้านประสาทสัมผัส การกระตุ้นประสาทสัมผัส การลดประสาทสัมผัส ขั้นตอนของประสาทสัมผัส ประสาทสัมผัสถูกกระตุ้นมากเกิน การอยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยว และความเงียบ
ความฉลาดด้านประสาทสัมผัส (sensory intelligence)
ความฉลาดด้านประสาทสัมผัสหมายถึงความสามารถในการรับรู้ รู้เท่าทัน และใช้งาน สภาพของประสาทสัมผัสของตนเอง เป็นการรู้เท่าทันประสาทสัมผัสที่ให้ความพอใจ และที่ให้ความไม่พึงพอใจ และสามารถทำงานได้ทั้งในสถานการณ์ของประสาทสัมผัสที่เป็นบวก และที่เป็นลบ ของตนเอง และของผู้อื่น เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงาน หรือสังคมที่สร้างสรรค์ มีคุณค่าต่อชีวิต และสมดุลต่อโลก
ความฉลาดด้านประสาทสัมผัส เกิดจากการฝึก (๑) ตระหนักรู้ความสัมพันธ์ด้านประสาทสัมผัสต่อโลก โดยเฉพาะโลกใกล้ตัว ที่นี่และเดี๋ยวนี้ และผลต่อตัวตนของตน (๒) การรับรู้ ใช้งาน และจัดการประสบการณ์ประสาทสัมผัสที่ให้ความพอใจ ที่ได้มาฟรีๆ ไม่ต้องลงทุนลงแรง (๓) เชื่อมโยงประสาทสัมผัสของตนเอง กับความเป็นตัวตนตามธรรมชาติ และเชิงจิตวิญญาณของตนเองทั้งด้านบวกและด้านลบ ผ่านประสบการณ์ประสาทสัมผัสทางสังคม หรือในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติที่มีครูฝึกคอยช่วยแนะนำ (๔) พัฒนาความสามารถของตนเองในการกระตุ้นตัวตนผ่านประสบการณ์ประสาทสัมผัสที่มีคุณค่าต่อชีวิต (๕) พัฒนาความสามารถในการรับรู้ความต้องการประสบการณ์ด้านประสาทสัมผัสของผู้อื่น (๖) รู้จักใช้ประสบการณ์ประสาทสัมผัสที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์
น่าเสียดายว่า อารยธรรมของมนุษย์ในปัจจุบัน ทำให้มนุษย์ห่างเหินจากโลกแห่งประสาทสัมผัส
ภาษากับประสาทสัมผัส
ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน มีผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ ต่อประสบการณ์ของการเรียนรู้ คือภาษามีอิทธิพลต่อการรับรู้ประสาทสัมผัส ข้อพึงตระหนักคือ ทั้งภาษาเขียนและภาษาพูดมีลักษณะเป็นเส้นตรง ส่งผลสร้างข้อจำกัดต่อการทำความเข้าใจโลกที่ซับซ้อน มีหลายมิติ และเชื่อมโยงกัน เพื่อสื่อสารให้เข้าใจเรื่องราวที่ซับซ้อน จึงควรใช้ตัวช่วยกระตุ้นจักษุประสาทสัมผัส เช่นไดอะแกรม หรือรูปภาพ ช่วยเสริม
ต้องหาทางทำให้เกิด “ประสบการณ์ทั้งเนื้อทั้งตัว” (embodied experience) คือมีการเชื่อมโยงประสาทสัมผัส ที่นำสู่ปฏิสัมพันธ์ของกาย ใจ และสภาพแวดล้อม ในการเรียนรู้จากประสบการณ์
เพื่อเอื้อการเรียนรู้จากประสบการณ์ ในช่วง ๘๐ ปีที่ผ่านมามีวิวัฒนาการด้านเทคนิคการเอื้ออำนวย ๖ ยุค ที่ครูฝึกควรนำมาใช้ ได้แก่ (๑) ยุค คริสตทศวรรษ 1940s ปล่อยให้ประสบการณ์นำเสนอตนเอง (๒) 1950s ครูฝึกพูดแทนประสบการณ์ (๓) 1960s สะท้อนคิดประสบการณ์ (๔) 1970s ให้ความสำคัญต่อส่วนต้นของประสบการณ์ (๕) 1980s ตีกรอบประสบการณ์โดยกระจายความสำคัญอย่างทั่วถึง และ (๖) 1990s ดำเนินการทางอ้อม ในการให้ความสำคัญต่อส่วนต้นของประสบการณ์
โลกมนุษย์ตามปกติมี ๓ มิติ ประสบการณ์ทำสมาธิภาวนาจะนำสู่ประสบการณ์ในโลกที่มีเกิน ๓ มิติ หนังสือเล่มนี้จะนำสู่มิติที่ ๔ คือ มิติภายในกายกับภายนอกกาย และอาจมีมิติที่ ๕ คือมิติของการมีชีวิตกับความตาย
ความหมายของถ้อยคำ
คำที่ก่อปัญหาที่สุดในการเรียนรู้จากประสบการณ์คือคำว่า เป็นธรรมชาติ (natural) กับป่าดงพงไพร (wilderness) การจับคู่คำที่เป็นขั้วตรงกันข้าม เมือง – ป่าดงพงไพร อาจไม่สื่อความหมายที่แท้จริง นักวิชาการด้านการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เอาจริงเอาจังเรื่องภาษาได้วิพากษ์อคติหลากหลายด้านในการใช้ภาษา ที่ส่งผลเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้จากประสบการณ์
ตื่นรู้ด้านประสาทสัมผัสด้วยกิจกรรมกลางแจ้ง
เป็นการฝึกตื่นรู้ต่อสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นบรรยากาศกลางแจ้ง เป็นธรรมชาติ ที่เราพูดกันว่า ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ เติมด้วยจิตวิญญาณ (spirit) และมีคนเพิ่มปัจจัยด้าน ภูมิอากาศ ที่ร่ม อาหาร ความมืด ความเงียบ ความโดดเดี่ยว (solitude) คือเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างจากความเคยชินเดิมๆ และอาจมีกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มความแปลกใหม่ด้านประสาทสัมผัส เช่นการปิดตา การเดินเท้าเปล่า การสวมถุงมือ การได้รับประสาทสัมผัสที่เป็นขั้วตรงกันข้าม เช่น สว่าง-มืด เสียงดัง-เงียบสงัด ที่ร่ม-กลางแจ้ง อิ่ม-หิว อยู่เป็นกลุ่ม-โดดเดี่ยว โดดเดี่ยวเดียวดาย-คนแน่น อากาศร้อน-อากาศเย็น เสื้อผ้าเปียก-เสื้อผ้าแห้ง เป็นต้น
เพื่อให้การเรียนรู้ในลักษณะนี้ ในอังกฤษมีการก่อตั้งสถาบันให้บริการเพื่อการนี้โดยเฉพาะเช่น Duke of Edinburgh Scheme, United World Colleges, Outward Bound ในสิงคโปร์มีการก่อตั้ง Outward Bound Singapore
ก่อนเริ่มกิจกรรมเรียนรู้จากประสบการณ์ อาจมีกิจกรรมเตรียมกระตุ้นประสามสัมผัส เช่น (๑) ฝึกคิดดังๆ คือพูดสิ่งที่คิดออกมาให้คนอื่นฟัง (๒) ฝึกอยู่กับความเงียบ (๓) ฝึกสติ สมาธิ (๔) กิจกรรมแนะนำตนเอง เพื่อฝึกยอมรับความแตกต่าง (๕) นั่งหรือนอนบนดิน (๖) นั่งเสวนากันเป็นวงกลม (ไม่ใช่เป็นแถว) (๗) นั่งนิ่งๆ เงียบๆ คนเดียว (๘) เดินต่างจากที่เคยเดินตามปกติ เช่นเดินช้าๆ ปิดตาเดิน (๙) เดินเท้าเปล่าบนหิน บนหญ้า บนทราย บนดิน บนใบไม้ เป็นต้น (๑๐) เดินในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย เช่น ใต้ร่มไม้ ในหุบเขา บนท่อนไม้ บนหิมะ (๑๑) กิจกรรมช่วยเหลือผู้อื่น โดยตนเองเป็นผู้นำ (๑๒) กิจกรรมที่ตนเองได้รับความช่วยเหลือ (๑๓) มีสมาธิอยู่กับจังหวะของธรรมชาติ เช่นลม สายน้ำ พระอาทิตย์ขึ้น-ตก พระจันทร์ ดวงดาว (๑๔) นั่งเพ่งกองไฟ สะท้อนคิดถึงธรรมชาติ (จักรวาล ชีวิต) (๑๕) เล่าเรื่อง ฟังเรื่องเล่า (๑๖) นอนบนดิน กลางแจ้ง (๑๗) นั่งเงียบๆ ร่วมกัน แชร์ความคิดเกี่ยวกับโลก
กิจกรรมเรียนรู้จากประสบการณ์อยู่กับธรรมชาติกลางแจ้ง จะช่วยเปลี่ยนโลกทัศน์เกี่ยวกับธรรมชาติ โดยเปลี่ยนกรอบความคิด หรือภาพในใจ
ประสาทสัมผัสกับการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา
ที่จริงการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษาต้องการให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ลุ่มลึกและเชื่อมโยง จึงต้องการการกระตุ้นประสาทสัมผัสนานาชนิด เพื่อผลดังกล่าว ที่เวลานี้ก็มีการใช้เทคโนโลยีช่วย ที่นิยมแพร่หลายที่สุดน่าจะได้แก่ PowerPoint ซึ่งก็ช่วยให้การกระตุ้นประสาทสัมผัสทางตาได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็นับว่ายังช่วยได้จำกัด
เทคโนโลยีเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสที่มีอยู่ในปัจจุบันมีหลากหลายและทรงพลังมาก เช่น interactive whiteboard, วิดีโอคลิป, คลิปเสียง, ผ้าปิดตา, ผ้าปิดจมูก, กลอง, นกหวีด, กระดาษสี, กระดาษโพสต์อิท, แสงสีต่างๆ เป็นต้น ข้อเตือนใจคือ หากใช้มากเกินพอดี จะก่อผลร้าย คือไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ยินเสียงภายในตนเอง หรือเสียงคิดของตนเอง
ตัวก่อผลร้ายที่พบเป็นประจำคือ การสอนแบบบรรยาย เพื่อถ่ายทอดความรู้ (passive learning) ซึ่งแก้ได้ไม่ยากโดยการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) เพื่อกระตุ้น NLP – Neurolinguistic Programming ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงการคิด (neuro), ภาษา (linguistic), และกิจกรรม (programming) โดยใช้ ๓ รูปแบบของการคิดคือ คิดเป็นภาพ คิดเป็นเสียง และคิดเป็นความรู้สึก
เกมดิจิทัลกับการออกแบบประสบการณ์เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสหลายด้าน
เกมดิจิทัลสมัยใหม่มีลักษณะกระตุ้นประสาทสัมผัสหลากหลายชนิด ใช้ในการทหาร การแพทย์ และการศึกษาหรือการเรียนรู้ มีการใช้เทคโนโลยี VR (virtual reality) และ AR (augmented reality) และใช้สื่อหลากหลายชนิด เช่น ภาพ แอนิเมชั่น วิดีทัศน์ ตัวหนังสือ คำพูด sound effect และดนตรี ต้องจัดให้มีความพอดี อย่าให้เกิดการกระตุ้นประสาทสัมผัสมากเกิน จนทำให้เกิดผลลบต่อความผูกพัน (engagement) กับเรื่อง
การกระตุ้นประสาทสัมผัสในการเรียนและการบำบัด
นี่คือ “ประสาทสัมผัสบำบัด” (sensory therapy) ใช้สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ที่มีความต้องการพิเศษ โดยใช้พื้นที่ที่มีการกระตุ้นประสาทสัมผัสหลากชนิด ให้ผู้รับการบำบัดและผู้บำบัดเข้าไปผ่านประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อ (๑) ให้สภาพแวดล้อมที่กระตุ้นความตื่นรู้ (๒) ให้บรรยากาศน่าสนใจ เพื่อดึงดูดให้ผู้รับการบำบัดสำรวจสภาพแวดล้อม (๓) ให้บรรยากาศที่ปลอดภัย เกิดความผ่อนคลายทั้งด้านร่างกายและจิตใจ (๔) ให้บรรรยากาศอิสระเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้สำรวจตนเอง (๕) เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทีละด้านตามลำดับ เพื่อให้ผู้รับการบำบัดสร้างภาพจากประสาทสัมผัส (sensory picture) (๖) เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสเป็นชิ้นๆ เพื่อประกอบกันเข้าเป็นการรับรู้ ตัวอย่างของบริการโดยบริษัท SpaceKraft ดูได้ ที่นี่
การกระตุ้นประสาทสัมผัส อารมณ์เป็นด้านๆ (emotions) และอารมณ์ในขณะใดขณะหนึ่ง (mood)
กระตุ้นได้ด้วยสี ไอออน การกระตุ้นสายตา เสียง ความเงียบ ความมืด อากาศบริสุทธิ์ อาหาร โดยต้องได้รับในขนาดหรือปริมาณที่เหมาะสม หรือทางสายกลาง
สีโทนร้อน เช่นสีแดง กระตุ้นเลือดลม เหมาะสำหรับห้องกิจกรรม สีม่วงเหมาะสำหรับห้องนอน หรือเพื่อความรู้สึกสงบใจ สีน้ำเงินช่วยลดความดันโลหิต ลดความเครียด สีเขียวให้ความมีชีวิตชีวา
ไอออนลบ ช่วยให้มีอารมณ์ชื่นบาน พบช่วงหลังฝนตก หรือในบริเวณที่มีมวลน้ำมากๆ เช่นน้ำตก แม่น้ำ หรือชายทะเล รวมทั้งตอนอาบน้ำ ไอออนบวกส่งผลให้เกิดอารมณ์ลบ พบเมื่อมีหมอก หรือลมร้อนแห้ง
การมองเปลวไฟ ฟังเสียงน้ำไหล และอยู่กับความเงียบ เป็นประสบการณ์ที่ดี
ธรรมชาติบำบัด (Nature-guided therapy)
เขายกตัวอย่างธรรมชาติบำบัดด้วยการสร้างหน้ากาก (Mask) สมมติตัวเองเป็นคนอื่น แสดงบทบาทอื่น เพื่อปลดปล่อยพลังสมองซีกขวา หรือซีกซับซ้อนเหนือเหตุผลออกมาทำงาน โดยเขาบอกว่าเป็นวิธีจัดการสิ่งที่มองเห็น (Visual manipulation) เพื่อการพัฒนาตนเอง ทำให้เกิดความเข้าใจตนเองในแง่มุมที่ไม่เคยคิดมาก่อน
ประสาทสัมผัสภายใน
คนเราสามารถมีประสาทสัมผัสภายใน หรือประสาทสัมผัสที่ “เหนือประสาทสัมผัสตามปกติ” ได้ โดยต้องฝึกไม่ใช้ประสาทสัมผัสในชีวิตประจำวัน เพื่อเข้าสู่ “การเรียนรู้ไร้สำนึก” (unconscious learning) โดย Peter Senge แนะนำให้ใช้กิจกรรม ๓ ขั้นตอนเพื่อเข้าสู่สภาพ “การรู้ที่ลึก” (deeper knowing) ได้แก่ (๑) รับรู้ (sensing) โดยสังเกตแล้วสังเกตอีก (๒) ตั้งสติ (presence) สะท้อนคิด และเปิดช่องให้ความรู้ภายในออกมากระทำการ (๓) ตระหนัก (realizing) ปฏิบัติอย่างไหลเลื่อนไปตามธรรมชาติ หรืออย่างเพลิดเพลิน (flow) โดยที่ขั้นตอน presence เป็นรับประสาทสัมผัสส่วนลึก เพื่อสัมผัสความละเอียดอ่อนของประสบการณ์นั้น ทำให้เกิดการตระหนักรู้ที่ทรงพลัง และเกิดการรู้แบบมุมกว้าง ในสภาพเช่นนี้ขอบเขตของส่วนต่างๆ ของการเรียนรู้จะเลือนหายไป ไม่มีการแบ่งแยกเป็นประสาทสัมผัส จิต กาย วิญญาณ ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างโลกภายในกับโลกภายนอก ระหว่างตัวเรากับผู้อื่น
คนเราสามารถบรรลุสภาพจิตขั้นสูงได้ โดยฝึกกระบวนการหยุดยั้งประสาทสัมผัส (sensory anchoring) ปล่อยให้เกิด ประสบการณ์เลื่อนไหล (flow experience), ประสบการณ์สูงสุด (peak experience), การตั้งสติสะท้อนคิด (presence) หรือปัญญาญาณ (intuition) ออกมากระทำการ คำทั้ง ๔ นี้ เป็นการให้ชื่อสิ่งเดียวกัน คือสภาพการรับรู้ขั้นสูง ดร. นพ. บดินทร์ ทรัพย์สมบูรณ์ ได้เขียนเรื่อง การฟังในแบบพิเศษเหนือธรรมดา ออกเผยแพร่ น่าอ่านมาก
สรุป
ประสาทสัมผัสเป็นกลไกหนึ่งของการเรียนรู้ โดยที่อาจเกื้อหนุนหรือเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ก็ได้ การเข้ารับการฝึกในบรรยากาศสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากที่เคยชิน จะช่วยลับและขยายขีดความสามารถของประสาทสัมผัส การทำความเข้าใจประสาทสัมผัสด้วยภาษาที่ไม่ใช่คำพูดหรือการเขียน จะช่วยขยายประสาทสัมผัส
นอกจากนั้น ยังมีวิธีเข้าสู่การรับรู้ที่ลึกผ่านการหยุดยั้งประสาทสัมผัส สู่ปัญญาญาณ
วิจารณ์ พานิช
๑๔ พ.ค. ๖๖
ห้อง ๑๖๐๒ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช
Thank you for this article and น.พ.บดินทร์ ทรัพย์สมบูรณ์ for การฟังในแบบพิเศษเหนือธรรมดา.
I think experiential learning is exactly using our senses in learning.