บทบาทการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ลืม


บทบาทการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ลืม

4 สิงหาคม 2566

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1]

 

ปัญหาการบริหารจัดการขยะเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม[2] ประการหนึ่ง เป็นปัญหาสำคัญของประเทศและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญปัญหาหนึ่งในชุมชนทุกประเทศทั่วโลก ที่ภาครัฐยังมีความสนใจใส่ใจน้อย เพราะในอนาคต จะมีขยะพิษ ขยะของเสียอันตราย ขยะติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งต้องมีการกำจัดขยะที่ถูกวิธี ทราบหรือไม่ว่า เขาคิดคำนวณขยะกันโดยมีเกณฑ์พื้นฐานคือ คนสร้างขยะ 1.1 กิโลกรัม/คน/วัน[3] จากข้อมูลปี 2561 พบว่า คนกรุงเทพฯ ผลิตขยะ 11,500 ตัน/วัน คนไทยผลิตขยะ 73,560 ตัน/วัน ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชน ที่เกิดขึ้นในปี 2558-2560 ดังนี้ ปี 2556 26.77 ล้านตัน ปี 2557 26.19 ล้านตัน ปี 2558 26.85 ล้านตัน ปี 2559 27.06 ล้านตัน ปี 2560 27.40 ล้านตัน ปัจจุบัน อปท. จำนวน 7,851 แห่ง มีการดำเนินการเก็บ ขนย้าย ขยะมูลฝอยชุมชน เพียงจำนวน 4,711 แห่ง (ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ, 2561)[4]

 

มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก ระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน กรมควบคุมมลพิษ ปริมาณขยะมูลฝอย ปี 2564[5]สรุปดังนี้ 

ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น 24.98 ล้านตัน ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ 7.89 ล้านตัน ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดถูกต้อง 9.28 ล้านตัน ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้อง 7.81 ล้านตัน ปริมาณขยะมูลฝอยตกค้าง 7.50 ล้านตัน สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกต้อง ได้แก่ 115 แห่ง หมักทำปุ๋ย 4 แห่ง MBT[6] (เทคโนโลยีระบบบำบัดขยะด้วยวิธีเชิงกลและชีวภาพ MBT : Mechanical and Biological Waste Treatment) 5 แห่ง RDF[7] (การผลิตเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยเชิงพาณิชย์ RDF : Refuse Derived Fuel) 7 แห่ง ฝังกลบถูกหลักวิชาการ 1707 แห่ง เตาเผาผลิตพลังงาน (WTE) [8] 8 แห่ง เทกองควบคุม (<50 ตัน/วัน) 177 แห่ง สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง ได้แก่ 2022 แห่ง เทกองควบคุม (>50 ตัน/วัน) 4 แห่ง เตาเผาไม่มีระบบบำบัดมลพิษอากาศ 63 แห่ง การเทกอง 70 แห่ง เผากำจัดกลางแจ้ง 35 แห่ง สถานีขนถ่าย 31 แห่ง

ปริมาณขยะรายจังหวัดปี 2564[9]

ปริมาณขยะมีมากในเมืองใหญ่ คือ กทม. ปริมณฑล เมืองอุตสาหกรรม และ จังหวัดใหญ่ๆ พบข้อมูลที่น่าสนใจในการบริหารจัดการขยะในแต่ละจังหวัด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการกำจัดขยะ เรียงลำดับจากหัวข้อ (1) ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น (ตัน/วัน) (2) ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ (ตัน/วัน) (3) ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดถูกต้อง (ตัน/วัน) (4) ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้อง (ตัน/วัน) (5) ปริมาณขยะมูลฝอยตกค้าง (ตัน) เรียงลำดับจังหวัดที่มีปริมาณขยะต่อวันมากที่สุด ดังนี้

1.กรุงเทพมหานคร       12,214.00      3,564.00        8,650.00        0.00              0.00

2.ชลบุรี                    2,750.00        290.00           2,037.00        423.00           824,618.00

3.สมุทรปราการ           2,515.00        186.00           0.00              2,329.00        1,200,000.00

4.นครราชสีมา            2,271.00        1,129.00        556.00           586.00           146,558.00

5.นนทบุรี                  1,989.00        407.00           1,582.00        0.00              0.00

6.ปทุมธานี                1,714.00        161.00           495.00           1,058.00        126,630.00

7.อุบลราชธานี            1,580.00        841.00           420.00           319.00           9,400.00

8.เชียงใหม่                1,415.00        290.00           810.00           315.00           450.00

9.บุรีรัมย์                   1,380.00        505.00           167.00           708.00           15,428.00

10.ขอนแก่น               1,289.00        395.00           530.00           364.00           25,267.00

11.นครปฐม               1,225.00        214.00           570.00           441.00           144,505.00

12.พระนครศรีอยุธยา    1,287.00        197.00           644.00           446.00           398,683.00

13.สงขลา                 1,236.00        357.00           715.00           164.00           4,041.00

14.สุรินทร์                 1,139.00        734.00           55.00            350.00           1,737.00

15.อุดรธานี                1,127.00        383.00           386.00           358.00           2,143.00

พิจารณาข้อมูลเก่าปี 2561 และที่สรุปปี 2564 อย่าเพิ่งตกใจ[10] แม้จะพบว่า การกำจัดขยะของประเทศไทยดีขึ้นก็ตาม เพราะ ปริมาณขยะเฉลี่ยในปี 2564 ลดลง เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลให้เห็นถึงความยุ่งยากในการจัดการขยะเหล่านี้ ในช่วงการปฏิรูปประเทศในยุค คสช. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557[11] คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นความสำคัญของปัญหาขยะมูลฝอยได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบ Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ถือว่าปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องจัดการด่วน (National Agenda : Quick Win) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม) ได้นำเสนอ มีการศึกษาสรุปว่าให้มีการ “จัดการขยะแบบโซนนิ่ง แบบกำจัดขยะรวม” (Cluster) ตามแผนการจัดการขยะ “การจัดการขยะมูลฝอยรวม” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560[12] ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 267 ง วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ตาม “แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ” (พ.ศ.2559-2564)[13] กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกรอบแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยสำหรับ อปท. ทั่วประเทศ ทั้ง 77 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครด้วย โดยแนวคิดในการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ประกอบด้วย ลดการเกิดขยะมูลฝอยหรือของเสียอันตรายที่แหล่งกำเนิด การนำของเสียกลับมาใช้ซ้ำและใช้ประโยชน์ใหม่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตของภาคการผลิต รวมทั้งลดปริมาณการเกิดขยะมูลฝอยเพื่อให้เกิดการจัดการขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืนต่อไป นี่คือคัมภีร์ที่ อปท.หรือท้องถิ่นต้องถือปฏิบัติ เป้าหมายคือ ชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste)[14]

 

สภาพการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Waste Management of Local Government Organization)

มีงานวิจัยที่พยายามศึกษาหานวัตกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะขยะชุมชนใหญ่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งขอยกตัวอย่างการศึกษาในในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[15] (2562) เกี่ยวกับองค์ประกอบสำคัญคือ (1) นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ผู้บริหารสูงสุดต้องมีนโยบายที่ชัดเจน มีการประสานการดำเนินงาน ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม (2) ภาครัฐต้องมีแผนงานและงบประมาณในการจัดกิจกรรมลดปริมาณขยะ มีการมอบหมายผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน มีการคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบ ในการดำเนินงานและสนับสนุนการเรียนรู้ จากพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จ (3) ภาคประชาสังคม ต้องมีการสร้างกฎระเบียบขึ้นใช้ในพื้นที่ เพื่อสร้างความสามัคคี ความมีวินัย และปลูกจิตสำนึกสาธารณะรวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมลดปริมาณขยะ และกิจกรรมสร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะตามหลัก “บวร” เช่น กิจกรรมผ้าป่าขยะ ตะแกรงบุญ ถุงพลาสติกแลกไข่ ขยะพิษแลกแต้ม ประกวดหน้าบ้านน่ามอง กิจกรรมกองทุนประกันชีวิต ฌาปนกิจจากขยะ กองทุนถุงพลาสติก กองทุนออม และธนาคารขยะ โดยเฉพาะ “การจัดการขยะ Recycle” เพราะเป็นรายได้ของชุมชน ชาวบ้านสามารถสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนในการขายขยะได้ แต่ปัญหาที่ อปท.หลายแห่งประสบ เช่น ปัญหาการเก็บขนไม่หมด มูลฝอยตกค้าง วิธีกำจัดขยะมูลฝอยอย่างไม่ถูกต้อง ไม่มีที่ดินสำหรับการกำจัดขยะมูลฝอย พื้นที่ฝังกลบที่ถูกหลักสุขาภิบาลที่มีอยู่ในปัจจุบันมีพื้นที่จำกัด สาเหตุจากขาดความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ และขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

 

กรณีตัวอย่างการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ[16]

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและการจัดการ (1) อปท. ควรนำประชาชนไปศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จ เพื่อนำมาปรับปรุงและเป็นตัวแบบในพื้นที่ของตนเองต่อไป (2) ผลการวิจัยควรนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆ ของ อปท. ที่ยังขาดระบบการจัดการขยะได้ (3) การสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการแยกขยะต้นทางของประชาชนจะประสบความสำเร็จได้มากกว่าการออกกฎระเบียบข้อบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตาม โดย (1) หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องกำหนดนโยบาย วางแผนหรือดำเนินงาน การพัฒนาควรพิจารณาให้ความสำคัญด้านการวางพื้นฐานในการสร้างความตระหนักในความสำคัญของเรื่องที่จะดำเนินการก่อน จากนั้นควรสร้างความสนใจในเรื่องของการยอมรับเพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและเต็มใจที่จะเข้าร่วมในการดำเนินงานนั้นๆ และเพื่อให้ผลของการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน (2) ผู้บริหารระดับนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำเทคนิควิธีการและกระบวนการการศึกษาหรือค้นหาปัญหาที่เป็นสาเหตุบนฐานของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมด้วยเทคนิค (SWOT) การคัดเลือกแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยเทคนิค (Mind Mapping) การวิจัยเชิงสำรวจ การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับภาคีเครือข่าย พิจารณาเป็นแนวทางการปรับปรุงหรือพัฒนางาน

ข้อเสนอแนะในเชิงการปฏิบัติ (1) อปท. ได้รูปแบบของกลุ่มกิจกรรม หรือโครงการสำหรับนำไปวางแผนเพื่อเพิ่มการจัดการขยะให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับการลดปริมาณขยะ การคัดแยกขยะ การนำขยะมาใช้ หรือตามรูปแบบ Reduce Reuse Recycle เป็นอย่างน้อย โดยปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นั้นๆ และให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีการติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพการจัดการขยะของชุมชนต่อไป (2) ในการวางแผนงาน หรือโครงการจัดการขยะมูลฝอยแบบมีส่วนร่วมของ อปท. ควรมีการกำหนดนโยบายและแผนงานในการขยายผลโครงการสู่ชุมชนในระดับกว้างขึ้น เช่น กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างเครือข่ายการรณรงค์สร้างความตระหนัก การประชาสัมพันธ์ โดยเคาะประตูครัวเรือน การสร้างแรงจูงใจให้ปฏิบัติโดยการแข่งขันและให้รางวัล เป็นต้น

นวัตกรรมที่ค้นพบข้อขัดแย้งไม่เป็นไปตามหลักการบริหารและได้องค์ความรู้ใหม่ ดังนี้ (1) การแบ่งโครงสร้างการบริหาร อปท. อำนาจฝ่ายบริหารและอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ตามบัญญัติแห่งกฎหมาย ต้องแยกจากกันอย่างสิ้นเชิง แต่ผลวิจัยพบว่า บางพื้นที่มอบหมายให้ประธานสภาเป็นผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ ซึ่งผิดหลักการการบริหารในองค์กรโดยสิ้นเชิง ในทางปฏิบัติผู้บริหารเทศบาลต้องลงพื้นที่ปฏิบัติ ไม่ใช่ประธานสภาที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ (2) วัดรับบริจาคเศษใบไม้ที่สามารถนำไปเป็นขยะอินทรีย์เพื่อทำปุ๋ยหมัก โดยชาวบ้านจะนำมาใส่ถุงเก็บไว้ที่วัด หากประชาชนต้องการปุ๋ยหมักก็สามารถนำไปใช้ได้โดยบริจาคเป็นเงินบำรุงวัด

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างกรณีศึกษาเล็กๆ ที่น่าสนใจ เพื่อการจุดประกาศให้ผู้เกี่ยวข้องได้หันมาสนใจ และแก้ไขปัญหาวิกฤตขยะมูลฝอยที่กำลังเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในชนบท เพราะแต่เดิมนั้น อบต.ไม่มีการจัดการขยะ เพราะพื้นที่ชนบท ห่างไกล การเผาหญ้า เผาฟาง เผาวัชพืช รวมทั้งการเผาในที่โล่งต่างๆ จึงมีทั่วไป ในภาวะปัจจุบันที่มีวิกฤติปัญหาฝุ่นหมอกควันพิษ (PM2.5) ประกอบกับภาวะโลกร้อน การเผาในที่โล่งดังกล่าวจึงถูกห้าม และต้องควบคุมอย่างใกล้ชิด[17] นี่คือปัญหาหนึ่งที่สำคัญของท้องถิ่น โดยเฉพาะท้องถิ่นชนบทบ้านนอก ใครอย่าคิดว่าไม้สำคัญ ผู้บริหารทุกระดับ ต้องหันมาสนใจ ในกฎหมาย และการปฏิบัติที่ถูกต้องในการป้องกัน ควบคุม และการแก้ไข รัฐบาลต้องมีนโยบายนี้ในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ได้หาเสียงไว้[18] เมื่อคราวการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 11 สิงหาคม 2566, https://siamrath.co.th/n/469091   

[2]สรุปมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ (1) มลพิษทางน้ำ (2) มลพิษทางอากาศ (3) มลพิษทางเสียง และ (4) มลพิษที่เกิดจากขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล

10 ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก (2562) ได้แก่ (1) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (2) ปัญหาจากไนโตรเจน และ (3) วิกฤติภูมิอากาศ(4) ปัญหาจากฟอสฟอรัส (5) มหาสมุทรเป็นกรด (6) ปัญหาตัดไม้ทำลายป่าและการใช้ที่ดิน (7) ความเพียงพอของน้ำจืด (8) การสูญเสียชั้นโอโซน (9) มลพิษทางเคมี (10) มลพิษทางอากาศในชั้นบรรยากาศ ซึ่งลำดับที่ 1-3 ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่เกินขีดความสามารถของโลกจะรับได้อย่างปลอดภัย

วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมมีหลายประการที่สำคัญที่สุด (2565) ได้แก่ 6 วิกฤตสิ่งแวดล้อม ภัยเงียบใกล้ตัว (1) วิกฤตน้ำมันรั่วลงทะเลระยอง (2) วิกฤตไฟไหม้ป่าภัยจากฝีมือมนุษย์ (3) วิกฤตเหมืองถ่านหินอมก๋อย (4) วิกฤตอาหารเหลือทิ้งทั้งที่ยังกินได้ (5) วิกฤตขยะพลาสติกในยุคโควิด (6) วิกฤตขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้นเมือง

สถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกปัจจุบัน World Economic Forum (2022) ได้ประเมินความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดของโลก ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม 3 อันดับแรก (World Economic Forum Global Risk) ประกอบด้วย (1) ความล้มเหลวในการจัดการสภาพภูมิอากาศ (Climate action failure) (2) ความแปรปรวน/สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ (Extreme weather) (3) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity loss) 

เปิดลิสต์ “รหัสแดง” 5 ข้อภัยพิบัติที่ไทยต้องเจอ แอนโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (2565) ได้กล่าวถึง ภัยพิบัติระดับ “รหัสแดง” ที่จะเกิดขึ้นต่อมวลมนุษยชาติ (Code Red for Humanity) ไว้ว่าในอนาคตคาดว่าจะเกิดภัยธรรมชาติ 5 เรื่องหลัก ที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ (1) จากนี้ต่อไปอุณหภูมิมีแต่จะสูงขึ้น คลื่นความร้อนจะตามมา (2) เมื่ออุณภูมิสูงขึ้น น้ำระเหย ฤดูแล้งไม่มีน้ำเพราะระเหยไปหมด ภัยแล้งจะตามมา (3) น้ำที่ระเหย อาจจะมองว่าหายไป แต่ความจริงอยู่ด้านบน อยู่ในรูปของไอ ฤดูฝนเมื่อเจอความเย็นจะตกมาเป็นฝนและตกหนัก (4) หากมีความเปราะบางในพื้นที่ น้ำจะท่วม (5) เมื่ออุณหภูมิสูง น้ำทะเลก็จะร้อนขึ้น เมื่อน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น กทม. อยู่ในระดับเรี่ยกับน้ำทะเล ก็จะเสี่ยงเจอน้ำท่วมมากขึ้นตามไปด้วย

ดู ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการป้องกันแก้ไข, โดย รศ.มีชัย วรสายัณห์, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, nu.ac.th, ในวารสารภูมิศาสตร์, 2533, https://www.agi.nu.ac.th/nred/tgj/%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88_17_%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88_1/05_17_01.pdf& ปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแนวทางการป้องกันแก้ไขที่ดี, โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 (ชลบุรี), mnre.go.th, 15 มกราคม 2561, https://www.mnre.go.th/reo13/th/news/detail/9373 & 10 ปัญหา สิ่งแวดล้อม ระดับ โลก 3 เรื่อง รุนแรง เกิน โลก รับ ไหว, workpointtoday.com, 9 กรกฎาคม 2562, https://workpointtoday.com/10-environmental-threats1/ [อ้างจาก Why plastic pollution shouldn't distract from other environmental challenges, World Economic Forum, CLIMATE CHANGE, Feb 27, 2019, https://www.weforum.org/agenda/2019/02/climate-change-obsession-with-plastic-pollution-distracts-attention-from-bigger-environmental-challenges ] & จับตา 6 วิกฤติสิ่งแวดล้อม ภัยใกล้ตัว น่ากลัวกว่าที่คิด โดย ด้านนโยบายและแผน ททท., tatreviewmagazine.com, 22 มีนาคม 2565, https://tatreviewmagazine.com/article/environmental-crisis-in-thailand/ & ภัยรหัสแดง กทม. อาจจมน้ำถาวร มีโอกาสเจอ “น้ำท่วม” ใหญ่เพิ่มขึ้น 30%, กรุงเทพธุรกิจ, 28 กุมภาพันธ์ 2566, 20:15 น., https://www.bangkokbiznews.com/health/social/1055520 & จับตาสิ่งแวดล้อมโลก และสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2566, วิจารย์ สิมาฉายา, ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, 8 มิถุนายน 2566, https://www.tei.or.th/th/article_detail.php?bid=119 

[3]ในแต่ละวันมีขยะประมาณ 0.5-1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน เป็นขยะจากกิจวัตรประจำวันของคนในเมืองเฉลี่ย 1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ส่วนในสังคมชนบทปริมาณขยะจะน้อยกว่าคือ เฉลี่ยประมาณ 0.5 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ขยะที่เราก่อขึ้นมีตั้งแต่เศษอาหาร กระดาษชำระ เศษกระดาษ ถึงพลาสติก ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระเบื้อง อะลูมิเนียม นมกล่อง ถ่านไฟฉาย หลอดไฟใช้แล้ว ฯลฯ, อ้างจาก FB : Psychology CU, 7 กุมภาพันธ์ 2560

จากข้อมูลการสำรวจอัตราการเกิดขยะมูลฝอย ใน พ.ศ.2564 พบว่า เท่ากับ 1.03 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ลดลงจาก พ.ศ.2563 ที่มีอัตราการเกิดขยะมูลฝอย 1.05 กิโลกรัม/คน/วัน (กรมควบคุมมลพิษ, 2565) 

ดู รายงานตัวชี้วัด "ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนต่อคนต่อวัน (2552-2564)"รายงานตัวชี้วัด "ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนต่อคนต่อวัน (2552-2564)", โดยกองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, http://env_data.onep.go.th/reports/subject/view/150 

[4]ระเบียบกฎหมายในการจัดการมูลฝอยในการกำจัดขยะมูลฝอยรวม (Cluster) : 27 กุมภาพันธ์ 2565, https://www.gotoknow.org/posts/698315

[5]ข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศ, ระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน, กรมควบคุมมลพิษ, https://thaimsw.pcd.go.th/report1.php?year=2564

[6]ระบบบำบัดขยะด้วยวิธีเชิงกลและ ชีวภาพ MBTเทคโนโลยีการบำบัดขยะด้วยวิธีการแบบเชิงกล-ชีวภาพ (MBT, Mechanical and Biological Waste Treatment) ซึ่งเป็นอีกเทคโนโลยีที่สามารถปรับเสถียรภาพของขยะมูลฝอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)

[7]เชื้อเพลิงขยะมูลฝอย (Refuse Derived Fuel : RDF)เป็นการปรับปรุง และแปลงสภาพของขยะมูลฝอย ให้เป็นเชื้อเพลิงแข็งที่มีคุณสมบัติในด้าน ค่าความร้อน (Heating Value) ความชื้น ขนาด และความหนาแน่น เหมาะสมในการใช้เป็นเชื้อเพลิงป้อนหม้อไอน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าหรือความร้อน และมีองค์ประกอบทั้งทางเคมีและกายภาพสม่ำเสมอ 

RDF จากขยะสู่เชื้อเพลิงพาณิชย์ มุ่งเน้นการกำจัดขยะที่ตกค้างและเกิดขึ้นใหม่อย่างเป็นระบบ เช่น การนำขยะมูลฝอยส่วนที่เผาไหม้ได้มาผ่านกระบวนการแปรสภาพเป็นแก๊ส (Gasification) เพื่อผลิตแก๊สสังเคราะห์ (Syngas) ที่ใช้เป็นแก๊สเชื้อเพลิงได้, โครงการศึกษาต้นแบบการบริหารจัดการเชื้อเพลิง RDF สำหรับใช้ในการผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก การพัฒนาการแปรรูปขยะเป็นน้ำมันตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้สมดุลและครบวงจร

[8]เตาเผาผลิตพลังงานจากขยะหรือ พลังงานจากขยะ (Waste to Energy : WTE)คือ พลังงานที่ได้จากขยะ ขยะชุมชน และขยะมูลฝอยจากการอุปโภค กระบวนการผลิต หรือการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ทั้งภายในครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบัน พลังงานจากขยะถือเป็นแหล่งพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพสูงเนื่องจากสามารถนำไปผลิตเป็นพลังงานความร้อน พลังงานไฟฟ้า ก๊าซชีวภาพ และสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ทดแทนพลังงานจากแหล่งฟอสซิลได้เป็นอย่างดี มีเทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการขยะเพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นพลังงานทดแทน หลายอย่าง เช่น เทคโนโลยีผลิตก๊าซเชื้อเพลิง (Gasification) เป็นเทคโนโลยีการเผาขยะในเตาเผาที่มีอุณหภูมิสูงประมาณ 1,200-1,400 องศาเซลเซียสในบรรยากาศที่ควบคุมปริมาณออกซิเจนเพื่อกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยากระบวนการสลายตัว (Decomposition) และกระบวนการกลั่นสลาย (Devolatilization) ของโมเลกุลสารอินทรีย์ในขยะผ่านการทำปฏิกิริยาสันดาปแบบไม่สมบูรณ์ (Partial Combustion) เพื่อเปลี่ยนขยะให้เป็นก๊าซ ผลผลิตหลักที่ได้ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรเจน และมีเทน ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า และพลังงานงานความร้อนที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้ต่อไป

ด้วยเทคโนโลยีเตาเผาขยะมูลฝอย (Incineration) เป็นแนวคิดต้นแบบโรงไฟฟ้าขยะชุมชนไร้มลพิษ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ (Waste-to-energy Power Plant) ที่สร้างพลังงานทดแทนด้วยการแปรรูปขยะไม่ว่าจะเป็นขยะมูลฝอย ขยะชุมชน รวมไปถึงขยะที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ซึ่งขยะเหล่านี้สามารถนำไปแปรรูปเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทนรูปแบบต่างๆ ได้มากมาย เช่น พลังงานไฟฟ้า ก๊าซชีวภาพ น้ำมัน

ดู WASTE TO ENERGY, UAC GLOBAL PUBLIC COMPANY LIMITED, 23 กันยายน 2564, https://www.uac.co.th/en/knowledge-sharing/349/waste-to-energy#:~:text=เป็นเทคโนโลยีการเผาขยะ,เพื่อเปลี่ยนขยะให้เป็น 

[9]ข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศ, อ้างแล้ว

[10]จากข้อมูลปริมาณขยะรวมกันทั้งประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก พ.ศ.2551 ที่ 23.93 ล้านตันต่อปี เพิ่มเป็น 27.06 ล้านตันใน พ.ศ.2559 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรในช่วงเวลาเดียวกัน ถึงปี พ.ศ.2563 มีปริมาณขยะจำนวน 27.35 ล้านตัน แต่ปี พ.ศ.2564 ลดลงเหลือ 24.98 ล้านตัน ต่อปี 

[11]มติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ได้เห็นชอบ Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ซึ่งในปีต่อมาได้ประกาศแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองเป็นวาระเร่งด่วน มีการศึกษารายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่อง การปฏิรูประบบกำจัดขยะเพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน ในระบบบริหารจัดการทรัพยากร โดยการจัดการขยะระบบกลุ่มจังหวัด (Cluster base) ที่เรียกว่า “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม” รายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ วาระปฏิรูปที่ 25 : ระบบการบริหารจัดการทรัพยากร เรื่อง การปฏิรูประบบกำจัดขยะเพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน ตามหนังสือประธานกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ ด่วนที่สุดที่ (สปช) 3459/2558 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 เรื่อง รายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการอภิปรายกันเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2558 

ดู แนวทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อน Roadmapการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ในปีงบประมาณ พ.ศ.2559, กรมควบคุมมลพิษ, 2557, http://oops.mnre.go.th/download/download05/new210958/แนวทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อน%20Roadmapการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย%20ในปีงบประมาณ%202559.pdf 

[12]มติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินโครงการกำจัดขยะในพื้นที่ และให้กระทรวงมหาดไทยรับไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนการจัดตั้งโรงกำจัดขยะมูลฝอยในภาพรวมของประเทศเพื่อให้มีโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพียงพอที่จะรองรับปริมาณขยะของทุกจังหวัด

คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษา เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2558 ลงมติว่ารับทราบผลความคืบหน้าการดำเนินการโครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่ และให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการแก้ไขปัญหาขยะในภาพรวมของประเทศ โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นหน่วยงานสนับสนุนในการดำเนินการ และ คณะรัฐมนตรีในคราวประชุม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2558 ได้มีมติรับทราบแนวทางการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของกระทรวงมหาดไทย โดยมีแนวทางในการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยปัจจุบันมีการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 324 กลุ่ม เพื่อเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดขยะของแต่ละกลุ่ม

ดู ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 267ง วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 หน้า 2-8, http://www.dla.go.th/work/garbage2.PDF & ระเบียบกฎหมายในการจัดการมูลฝอยในการกำจัดขยะมูลฝอยรวม (Cluster) : 27 กุมภาพันธ์ 2565, อ้างแล้ว

[13]แผนแม่บท การบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564) กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เพื่อเป็นกรอบแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ, https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2020/05/pcdnew-2020-05-24_04-53-54_546825.pdf & (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ (พ.ศ.2565 – 2570), กองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ, กันยายน 2564, 16 ตุลาคม 2564, https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2021/10/pcdnew-2021-10-16_05-41-25_882141.pdf

[14]แนวคิด Zero waste หรือขยะเหลือศูนย์ เป็นปรัชญาที่ส่งเสริมการ หมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สูงสุด ลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุดโดยใช้หลักการของ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) รวมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถนำกลับมาใช้ ใหม่ได้เกือบทั้งหมด เพื่อเป็นการลดปริมาณของเสียที่ส่งไปกำจัดโดยวิธีการฝังกลบ และ/หรือเผา ทำลายให้มีปริมาณน้อยที่สุด 

[15]จากการศึกษา อปท.ที่ได้รับรางวัลการบริหารจัดการขยะระดับประเทศมาแล้ว รวม 3 แห่ง ได้แก่ ชุมชนพื้นที่ขนาดใหญ่ เทศบาลตำบลโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ชุมชนพื้นที่ขนาดกลาง เทศบาลตำบลเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี และพื้นที่ขนาดเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลกลันทา จังหวัดบุรีรัมย์ 

ดู การจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขนาดใหญ่ กลาง เล็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (The Large, Middle and Small Sizes of Municipality Waste Management of Local Government Organization in Northeast Region of Thailand) โดยสันชัย พรมสิทธิ์ (Sanchai Promsit), นายกเทศมนตรีตำบลบ้านค่ายหมื่นแผ้ว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ, วารสารวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2562, https://so04.tci-thaijo.org/index.php/neuarj/article/download/202730/141394/622173

[16]การจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขนาดใหญ่ กลาง เล็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสันชัย พรมสิทธิ์, 2562, อ้างแล้ว

[17]ขยะหรือขยะมูลฝอย (Refuse or Solid Waste)หมายถึง ของเสียที่อยู่ในรูปของแข็ง ซึ่งอาจจะมีความชื้นปะปนมาด้วยจำนวนหนึ่ง ขยะที่เกิดขึ้นจากอาคารที่พักอาศัย สถานที่ทำการโรงงานอุตสาหกรรม หรือตลาดสดก็ตามจะมีปริมาณและลักษณะแตกต่างกันออกไป โดยปกติแล้ววัตถุต่างๆ ที่ถูกทิ้งมาในรูปของขยะนั้น จะมีทั้งอินทรีย์สารและอนินทรีย์สาร สารวัตถุต่างๆ เหล่านี้บางชนิดก็สามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะพวกเศษอาหารเศษพืชผัก แต่บางชนิดก็ไม่อาจจะย่อยสลายได้เลย เช่น พลาสติก เศษแก้ว เป็นต้น

ประเภทขยะมูลฝอย แยกเป็น 4 ประเภท คือ (1) ขยะอินทรีย์ คือ ขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว สามารถนำมาทำปุ๋ยหมักได้ เช่น เศษผัก เปลือกผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้ เศษเนื้อสัตว์ ฯ (2) ขยะรีไซเคิล คือ ของเสียบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุเหลือใช้ ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เช่น แก้ว กระดาษ กระป๋องเครื่องดื่ม เศษพลาสติก เศษโลหะ อลูมิเนียม ยางรถยนต์ กล่องเครื่องดื่มแบบยูเอชที ฯ (3) ขยะทั่วไป คือ ขยะประเภทอื่นนอกเหนือจากขยะย่อยสลายขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย มีลักษณะย่อยสลายยาก และไม่คุ้มค่าสำหรับการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ห่อพลาสติกใส่ขนม ถุงพลาสติกบรรจุผงซักฟอก พลาสติกห่อลูกอม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงพลาสติกเปื้อนอาหาร โฟมเปื้อนอาหาร ฟอยล์เปื้อนอาหาร ซองหรือถุงพลาสติกสำหรับบรรจุเครื่องอุปโภคด้วยวิธีรีดความร้อน ฯ (4) ขยะอันตราย คือ ขยะที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรืออาจทำให้เกิดอันตรายต่อบุคคล สัตว์ พืช เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ ภาชนะที่ใช้บรรจุสารกำจัดแมลงหรือวัชพืช กระป๋องสเปรย์บรรจุสีหรือสารเคมี ฯ

ขยะอันตรายที่สำคัญ ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกวัน เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Waste) ขยะอันตราย หรือขยะมีพิษ หรือกากของเสียอุตสาหกรรมอันตราย (Hazardous Waste) คือ ขยะ วัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ผลิตภัณฑ์เสื่อมสภาพ หรือภาชนะบรรจุต่างๆ ที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนวัตถุสารเคมีอันตรายชนิดต่างๆ หรือ ขยะติดเชื้อ (infectious waste) 

จากข้อมูลพบว่า ขยะในพื้นที่ชนบทจะมีน้อยกว่าขยะเมือง แต่ขยะเมืองมีความซับซ้อนในการบริหารจัดการ เช่น มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะของเสียอันตราย ขยะติดเชื้อ เป็นต้น แต่ขยะในชนบทแต่เดิมไม่มีปัญหา เพราะเป็นขยะอินทรีย์ ที่ชาวบ้านมักจัดการกันเอง เช่นโดยวิธีเผาไฟ แต่ปัจจุบันมีการห้ามเผาในที่โล่ง จึงเป็นปัญหาในการจัดการขยะอินทรีย์ แก้ไขโดยการนำขยะอินทรีย์ไปทำปุ๋ยหมัก แต่ปัจจุบันชนบทก็มีขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมากเช่นกัน ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการรขยะเหล่านี้

ดู การคัดแยกขยะมูลฝอย การคัดแยกขยะที่ต้นทางและการจัดการขยะ ขยะมูลฝอย คืออะไร, โดย อบต.นาเรียง อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช, https://www.nareang.go.th/datacenter/doc_download/a_210618_183720.pdf

[18]นโยบายพรรคการเมืองที่ได้หาเสียงด้านสิ่งแวดล้อมมีหลายประการ ที่เสนอไว้มากได้แก่ พรรคก้าวไกล นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของ ‘พรรคก้าวไกล’ ภายใต้การบริหารจัดการโดยผู้นำพรรค ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แบ่งออกเป็นหลายหมวดหมู่ย่อย ตั้งแต่การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จัดการต้นตอก๊าซเรือนกระจก รับมือกับวิกฤตสภาพอากาศ ขยะเป็นศูนย์ เป็นต้น

ทำค่าไฟให้แฟร์ เปิดตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าเสรี คือนโยบายแรกๆ ที่เราจะได้เห็นเมื่อเข้าไปยังหน้าเว็บไซต์รวมนโยบายของพรรคก้าวไกล นอกจากนี้ยังมีการจัดการให้ภาคการเกษตรลดการเผา ภาคอุตสาหกรรมต้องมีการเปิดเผยข้อมูลมลพิษและก๊าซเรือนกระจก รวมถึงกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเหล่านี้ ควบรวมไปถึงการขนส่งสาธารณะที่ส่งเสริมให้ใช้พาหนะพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

ส่วนที่เป็นด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทางพรรคก็มีนโยบายผลักดันพื้นที่สีเขียว ทบทวนแผนจัดการบริหารน้ำ แบนพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ยกเลิกการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ จัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อม สนับสนุน พ.ร.บ.อากาศสะอาด และข้อปลีกย่อยอื่นๆ อีกมากมาย นับว่าเป็นพรรคหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียดและครอบคลุม

ดู เปิดนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมือง เลือกตั้ง ปี 2566, urbancreature.co, 26 เมษายน 2566, https://urbancreature.co/next-thailand-environment/



ความเห็น (1)

Is it possible to make this a subject for study in high schools? This article has details to create the ground to develop discussions, thinking and experimenting – the zest of science and learning.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท