การสะสางปัญหาอุปสรรคระเบียบกฎหมายท้องถิ่น


การสะสางปัญหาอุปสรรคระเบียบกฎหมายท้องถิ่น

14 กรกฎาคม 2566

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

โลกทุกวันนี้ต้องมองสองด้านสามด้าน ห้ามมองด้านเดียวเด็ดขาด เพราะทุกๆ คนมีอิสระในความคิด ต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักแยกแยะ รู้จักอดใจ สุขุมคัมภีรภาพ มีความยืดหยุ่นมีความอดทนทางด้านจิตใจ (resilience) [2] อันเป็นทักษะของคนรุ่นใหม่ที่ต้องมี มีทักษะความสามารถในการรับมือกับความไม่แน่นอน ที่สามารถฟื้นตัวปรับตัวได้ดี ยอมรับความเห็นต่างได้ ต่างความคิดได้ แต่ไม่แตกแยกขัดแย้งกัน 

ในขณะเดียวกันทุกวันนี้ปัจเจกบุคคล (individual) ล้วนต่างมี “ดุลพินิจ”[3] ต่างจิตต่างใจ โอกาสที่จะเห็นด้วยแบบ “เอกฉันท์” “ฉันทามติ” [4] หรือแม้เพียงบางส่วนยังยาก โดยเฉพาะคนที่มีอิทธิพล มีอำนาจในการตัดสินใจ ผู้ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพยากรแต่ชอบใช้ดุลพินิจแทนคนอื่น แทนเจ้าของเงินเจ้าของงบประมาณ เช่น งบประมาณของท้องถิ่น แต่คนคิดแทนกลับเป็นคนส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค เช่นนี้ย่อมส่งผลต่อการกระจายอำนาจให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนท้องถิ่น เพราะ คนอื่นไม่มี “จุดเชื่อมโยง” [5] กับท้องถิ่นเลย มาแล้วก็ไป ไม่มีความรับผิดชอบในผลที่เกิดต่อประชาชน อย่าไม่อ้างความเป็นข้าราชการในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะมิใช่ “สำนึกความผูกพันรับผิดชอบร่วม” (commitment) [6] ที่เกี่ยวข้องต่อคนในท้องถิ่นนั้นเลย กล่าวคือขาดหลักประกันความชอบในการดำเนินการมาแต่ต้น ปัญหาท้องถิ่นมีมากมาย ที่สำคัญอย่างแรกก็คือ ปัญหา อุปสรรคที่เกี่ยวกับความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[7] 

 

Bad Law ระเบียบกฎหมายเจ้าปัญหาที่ต้องสะสาง

ต้องยอมรับความจริงว่า เมื่อท้องถิ่นจะทำงานอะไร ก่อนดำเนินการต้องไปขอความเห็นชอบ ขออนุมัติ หรือตกอยู่ภายใต้ภาวะจำยอมที่ต้องผ่านผู้มีอำนาจจากส่วนกลางในหลายๆ เรื่อง มันจึงไปเกี่ยวข้องกับ “ผลประโยชน์” และ และ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” (Conflict of Interest : COI) [8] จึงตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ สิ่งสำคัญที่เป็นตัวปัญหาในที่นี้ขอเรียกว่า “Bad Law” หรือจะนิยามรวมๆ ว่า หมายถึง กฎหมายระเบียบหนังสือสั่งการที่เป็นอุปสรรคในการทำงานที่ควรแก้ไข เพราะระเบียบกฎหมายเหล่านี้ล้วนถูกกำหนดโดยส่วนกลาง เพื่อให้ท้องถิ่นดำเนินการ และแน่นอนว่า มีผลกระทบต่อผู้บริหารท้องถิ่นซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะ การขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัตินั้น ก็โดยฝีมือของ “ฝ่ายประจำ” ในที่นี้ก็คือ “ข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น” รวมถึงลูกจ้างท้องถิ่นด้วยนั่นเอง

มีความพยายามแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในเรื่องระเบียบกฎหมายดังกล่าวมาโดยตลอด ล่าสุดมีการแก้ไขกฎหมายจัดตั้ง อปท.เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562 ณ ปัจจุบันผ่านมา 3-4 ปียังไม่นิ่ง รังแต่จะเกิดปัญหาแทรกซ้อน เกียร์ว่าง ไม่ทำงานหรือลากยาวในหลายประเด็น ที่เป็นปัญหามากก็คือ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น และ “การทุจริตเชิงนโยบาย” (policy corruption)[9] ที่ท้องถิ่นไม่ยอมรับในวิถีของการถูกตรวจสอบแบบเข้มจากหน่วยตรวจสอบ (ป.ป.ช., ป.ป.ท., ส.ต.ง.) และผู้กำกับดูแล (มท. จังหวัด และอำเภอ) ด้วยมองว่าขาดความเป็นมาตรฐานมืออาชีพ มีการเลือกปฏิบัติ เหลื่อมล้ำ สร้างเงื่อนไข สร้างภาระขั้นตอนที่เกินจำเป็นแก่ท้องถิ่น ในหลายประการส่งผลกระทบต่อเส้นทางความก้าวหน้าในสายงานอาชีพ (career path) แก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ที่ถูกเปรียบว่า “เป็นข้าราชการพลเรือนชั้นสอง”[10] 

ช่วงปี 2553-2557 สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย ได้พยายามรวบรวมประเด็นข้อขัดข้องต่างๆ ไว้ถึง 25 เรื่อง(ข้อ)[11] โดยไม่ได้จัดกลุ่มปัญหาแยกเป็นด้านๆ ปัจจุบันบางข้อได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ได้แก่ ระเบียบว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ระเบียบว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ระเบียบว่าด้วยการประชุมสภาท้องถิ่น ระเบียบว่าด้วยการพัสดุที่มาถือปฏิบัติตามระเบียบกลาง คือ ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 2560 เป็นต้น

 

วิเคราะห์แยกแยะกลุ่มเพื่อการแก้ไขปัญหา

ปัจจุบันปี 2566 ก่อนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เป็นโอกาสดีที่ “ข้าราชการส่วนท้องถิ่น” โดยสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ได้รวมกลุ่ม รวบรวมสภาพปัญหาที่ขัดข้องในการปฏิบัติงานดังกล่าว[12] แต่ผลสัมฤทธิ์ในความสำเร็จยังไม่สำเร็จเท่าที่ควร เพราะในท่ามกลางขั้ว กลุ่มผลประโยชน์ ผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) หลายกลุ่ม ทั้ง ฝ่ายการเมือง ฝ่ายประจำ ฝ่ายราชการส่วนกลาง ที่ต่างฝ่ายต่างก็มีมุ้งเล็กๆ อีกต่างหาก ทำให้ไม่มีความลงตัวกันในสภาพการบริหารจัดการ กล่าวคือ มีความเห็นแย้ง แตกต่าง ที่พร้อมจะทะลวง ดื้อดึง หรือ ถึงขั้นแตกหักกันได้ทีเดียว 

มีงานศึกษาวิจัยงานวิชาการหลายฉบับ ล้วนมีความเห็นที่ตรงกัน นี่ยังไม่รวมรายการการศึกษาวิจัยเฉพาะทางของท้องถิ่นในเรื่องการบริหารงานบุคคลก่อนการเข้าแท่งในปี 2559 ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้วยวงเงินจำนวนสูง[13] แต่กลับไม่ได้นำผลการศึกษามาใช้ประโยชน์อย่างที่ควร การจำแนกแยกกลุ่มปัญหาท้องถิ่นตามกรอบวิธีการคิดวิจัยเป็นสิ่งดี เพราะสามารถแยกแยะปัญหาต่างๆ ให้เข้าหมู่เข้าพวกได้ ที่ชี้ไปถึงต้นตอแห่งสภาพปัญหาได้เป็นอย่างดี ขอยกตัวอย่างเช่น

การศึกษาของจุฬาลักษณ์ พัฒนศักดิ์ภิญโญ (2553)[14] แยกกลุ่ม (1)ปัญหาอุปสรรคด้านหลักการและกฎหมาย (2)ปัญหาด้านระเบียบข้อบังคับที่เป็นการกำกับดูแลทางอ้อม (3)ปัญหาด้านหนังสือราชการที่เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ (4)ปัญหาด้านพฤติกรรมขององค์กรผู้กำกับดูแล และ อปท. (4.1) ปัญหาที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย การวางแผนพัฒนาท้องถิ่น (4.2) ปัญหาที่เกี่ยวกับการคลังและงบประมาณ (4.3) ปัญหาที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล 

การศึกษาของธนาวุฒิ คำศรีสุข และ กัมปนาท วงษ์วัฒนพงษ์ (2565)[15] ได้ศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แยกกลุ่มเป็น (1)โครงสร้างการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (2)กระบวนการสรรหาบุคลากร (3)การขาดแคลนบุคลากร (4)ระบบอุปถัมภ์ มีข้อสรุปหนึ่งคือ ปัญหาระเบียบและกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลแก่ผู้บริหารท้องถิ่นมากเกินไป ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นสามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ

การศึกษาของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในช่วงของการกระจายอำนาจตามแผนถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 (ช่วงพ.ศ.2543-2551) ปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามสามารถสรุปปัญหาอุปสรรคในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เป็น 5 เรื่องหลักๆ[16] ได้แก่ (1)ปัญหาด้านบุคลากร(2)ปัญหาด้านโครงสร้างองค์กร (3)ปัญหาด้านผู้บริหาร (4)ปัญหาด้านเทคโนโลยี (5)ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประชาชน จากโครงการติดตามและประเมินผลการกระจายอำนาจของไทยในภาพรวมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยในยุคปัจจุบัน ในรอบ 15 ปี (พ.ศ.2540-2556)[17] เรื่องที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จอย่างชัดเจนก็คือการถ่ายโอนภารกิจ ทรัพยากรบุคคล และงบประมาณสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การถ่ายโอนงาน-เงิน-คนได้หยุดชะงักไป

 

สมาคม อบต.ออกโรงแจงแก้ปัญหาท้องถิ่น

สมาคม อบต. (14 มิถุนายน 2566)[18] เปิดการรับฟังความคิดเห็นจากท้องถิ่นเพื่อส่งต่อให้พรรคการเมือง ที่จะขับเคลื่อนแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับท้องถิ่นทั้งหมด ได้เสนอแนวคิดการกระจายอำนาจท้องถิ่นที่น่าสนใจ มีสาระโดยรวมก็คือ เรื่องที่จะยกเลิกระเบียบ ยกเลิกกฎหมาย ทำระเบียบใหม่ ติดขัดเกี่ยวเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ ท้องถิ่น พื้นที่ทับซ้ำต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งราชการส่วนกลางแทนที่จะกำกับดูแลก็มากำชับควบคุม ทำให้การทำงานของท้องถิ่นเป็นไปด้วยความลำบากแทนที่จะได้ดูแลประชาชนต้องมาติดขัดในเรื่องระเบียบกฎหมาย เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการบริหารงานท้องถิ่น

สรุปกรอบข้อเสนอเบื้องต้นที่นำสู่การประชุมร่วม 3 สมาคมท้องถิ่น (อบจ. เทศบาล และ อบต.) คือ (1) เสนอให้ระบบราชการท้องถิ่น มีหน่วยงานหลักเป็นของตนเอง ซึ่งอาจมีชื่อเรียกได้ว่า “สภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ” ที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง โดยนำกรอบงานด้านการกำกับดูแล การออกแบบการบริหารงานบุคคล ด้านงบประมาณ ด้านอำนาจหน้าที่ ให้นำส่วนราชการจากกระทรวงมหาดไทยเดิม และสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ในการกำกับดูแลของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สองหน่วยงานมารวมอยู่ที่เดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารงานในอนาคต (2) เสนอให้รูปแบบ อปท. มี 2 รูปแบบ รูปแบบทั่วไป อบจ. เทศบาล เปลี่ยน อบต. เป็นเทศบาล รูปแบบพิเศษ เดิมมี พัทยา กทม. และให้จังหวัดหรือพื้นที่ได้มีความพร้อมสามารถจัดตั้งเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษได้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาขบวนการจัดทำ พรบ.ที่เป็นรูปแบบ “จังหวัดจัดการตนเอง” และเสนอให้มีการพิจารณาวาระการดำรงตำแหน่งจากเดิม 4 ปี เป็น 5 ปี เนื่องจากเดิมการทำงานไม่สอดคล้องในแผนพัฒนา 5 ปี (one plan)[19] จึงเห็นควรให้ท้องถิ่นสามารถทำงานตามแผนยุทธ์ศาสตร์ที่วางไว้ได้ครอบคลุม ข้อเท็จจริงผู้บริหารสามารถทำงานได้เพียงสามปี ซึ่งเป็นกรอบความคิดที่แปลก เนื่องจากเกินกว่ากวาระของฝ่ายการเมืองที่กำหนดวาระไว้ที่ 4 ปีเหมือนกันหมด (3) เสนอให้การเร่งรัดการแก้ไขปัญหาอุปสรรค เร่งด่วนประกอบด้วยแนวทางการกำกับดูแล ระดับอำเภอ จังหวัด กระทรวง ที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานด้านการบริงานบุคคล ด้านแผนงาน และงบประมาณรวมถึงด้านการใช้อำนาจหน้าที่พิจารณาประเด็นการแทรกแซงการดำเนินงานของ อปท. ด้านการขอรับงบประมาณจากท้องถิ่น นอกจากนี้ทั้ง 3 สมาคมเห็นร่วมกันเรื่องสภาท้องถิ่นมีอำนาจบทบาทในการจัดทำระเบียบต่างๆ ขึ้นใช้ในท้องถิ่นนั้นเองแทนระเบียบกระทรวงมหาดไทยจะเป็นโอกาสที่ให้การจัดการกระจายอำนาจกับประชาชนโดยองค์กรท้องถิ่นนั้นสามารถดำเนินการได้ตรงต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ท้องถิ่น 7,852 แห่งทั่วประเทศจะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศต่อไป

การรวมกลุ่มกันคิดและเสนอปัญหาถือเป็นสิ่งดี แม้อดีตที่ผ่านมาจะมีความเห็นต่างในแนวคิดบ้างก็ต้องยอมรับ ทั้งคน อปท.ฝ่ายประจำ และฝ่ายการเมือง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์โดยรวมในการจัด “บริการสาธารณะ” (public service) และ “กิจกรรมสาธารณะ” [20] แก่ประชาชนในพื้นที่เป็นที่ตั้ง ที่ผ่านมาต่างก็ทำเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมมากมายโดยไม่มีจุดประสงค์อื่น ประโยชน์ส่วนตนแอบแฝงทับซ้อน ไม่ใช่ส่วนตน เป็นภาพรวมที่ควรยกย่องสรรเสริญ ต้องจริงใจ เมื่ออุทิศตนทำแล้วไม่เกี่ยงคนนั้นคนนี้ ทุกคนต้องช่วยกันเชียร์ เอาใจช่วย เพื่อให้สำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็เพื่อต้องการให้ท้องถิ่นมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

 

ม่านดำท้องถิ่นต้องเอาออก

สิ่งที่วิตกเล่าขานกันมานาน แต่ไม่ได้ข้อยุติสักที เพราะทำไม่ได้ ลองคิดตามที่ควรแก้ไขต้องเอาออกเพื่อความโปร่งใสสบายตา เช่น (1)เอา อปท. ออกจากกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ไม่ให้อิสระและเป็นบ่อเกิดแห่งการทุจริตมาก (2) ให้ อปท.คิดเองทำเอง ปัจจุบันคิดเองไม่ได้ ทำเองไม่ได้ ทำได้แต่ตามที่มหาดไทยสั่ง (3) ฝ่ายการเมืองท้องถิ่นนายก อปท. บางคนมาจากการซื้อเสียง มีผลประโยชน์ทับซ้อน เข้ามาถอนทุน มาตรการทางกฎหมายลงโทษหนักอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะเมื่อฝ่ายบริหารท้องถิ่นเข้าสู่ตำแหน่งด้วยเงิน การบริหารแบบถอนทุน เงินทอนจึงเกิดขึ้น เชื่อไหมการทุจริตร้าวลึกไปถึงชุมชน แอบผลาญเงินหลวง เช่น เงินโครงการพัฒนา เงินส่งเสริมกลุ่มอาชีพ เงินกลุ่มฯ (4)สำหรับฝ่ายข้าราชการประจำ ต้องลงโทษข้าราชการทุจริตขี้โกง และออกกฎหมายคุ้มครองข้าราชการดี (5)วัฒนธรรมการบริหารของมหาดไทยฝังรากลึกมาร่วม 130 ปี การเอาหน้า สร้างอีเวนต์ โชว์ออฟ คงจะแก้ได้ไม่ง่าย แต่การทำจริง แม้จะเกิดผลหรือไม่เกิดผลก็ตาม ยังดีกว่าการไม่(ลอง)ทำใดๆ เลย ขอเพียงไม่มีราคาคุย หรือปั่นกระแสก็พอ (6) ยกเลิกงบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ งบประมาณที่ฝากมา เช่น นม อาหารกลางวัน ร.ร. งบเงินเดือนถ่ายโอน เพราะก่อให้เกิดการทุจริต และเป็นงบแหกตา ไม่สอดคล้องกับสถานการคลังที่แท้จริง 35% (7)ยุบเลิกส่วนราชการภูมิภาค คือ อำเภอ และท้องถิ่นจังหวัด และให้ยุบหน่วยงานราชการที่ซ้ำซ้อนกับ อปท.ด้วย

จากตัวอย่างที่ยกข้างต้นยังมีอีก โดยเฉพาะ “ปัญหาโลกแตก” พูดกันแบบตรงไปตรงมานานาจิตตังมีปัญหามาก คือเรื่องเกี่ยวกับ “การบริหารงานบุคคล” ที่หากแก้ไขปัญหาอุปสรรคส่วนนี้ไปได้ จะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี คนท้องถิ่นต่างคนต่างควรรับฟังปัญหาซึ่งกันและกันในฐานะฝ่ายประจำเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหรือสายงานผู้บริหาร และในฐานะผู้บริหารท้องถิ่นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่มานั่งคุยกัน อย่าเอาประเด็นเรื่องเล็กน้อยไร้สาระมาพูดกัน เสียเล็กเสียน้อย เสียยากเสียง่าย ยอมลดราวาศอกกันลง เพราะนำเรื่องไร้สาระมาพูดกันมันไม่ทำให้อะไรเจริญก้าวหน้าอะไร มีแต่ความขัดแย้ง แน่ใจหรือยังว่าท้องถิ่นแต่ละแห่ง ไม่มีการบริหารงานบุคคลแบบระบบอุปถัมภ์และระบบเส้นสาย ควรช่วยกันขจัดให้หายไปจากท้องถิ่น เริ่มกันที่เรื่องของการสรรหา และการสอบในทุกระดับ หากท้องถิ่นใดไม่มีระบบนี้อยู่ท้องถิ่นนั้นจะเจริญก้าวหน้า เกิดการสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่แม้กระทั่งการให้ขั้น ก็จะไม่เกิดความลำเอียงเพราะระบบอุปถัมภ์นี่แหละ ทำให้ อปท.ได้คนที่ทำงานไม่เป็น ทำงานไม่ได้คิด แก้ไขปัญหาไม่เป็น เป็นภาระท้องถิ่นอีกต่างหาก ท้องถิ่นไม่พัฒนาก็เพราะงานบริหารงานบุคคลนี่แหละ 

ความก้าวหน้าเติบโตในสายงานของเจ้าหน้าที่กว่าจะขึ้นสู่ตำแหน่งได้ก็ใช้เวลายาวนาน หลายคนเกือบเกษียณกันแล้ว เพราะต้องรอครองระยะเวลาตำแหน่งหลายด่าน หลายปีด้วย มิหนำซ้ำต้องมีการเปิดกรอบตำแหน่งโครงสร้างอีกหลายอย่าง มีเงื่อนไขและภาระโสหุ้ยค่าใช้จ่ายในการประสานงาน เดินเรื่อง ต้องผ่านเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหลายด่าน อันเป็นที่มาของการจ่ายเบี้ยและการซื้อขายตำแหน่ง คน อปท.ต้องช่วยกันยกระดับคน อปท.ด้วยกันให้มีศักดิ์ศรี มีหน้ามีตา ไม่เป็นที่ดูถูกดูแคลนด้อยค่าจากคนภายนอก แม้แต่คนในด้วยกัน เอาไหมหละเริ่มกันเลยเด็กรุ่นใหม่ที่จะเปิดสอบต่อไปงวดหน้าปีนี้ไม่ต้องมีระบบเส้นสาย เอาระบบคัดกรองแบบจัดเต็มไม่มีระบบอุปถัมภ์ ทำได้ไหม หากทำได้ท้องถิ่นน่าจะเจริญก้าวหน้าไปอีกเยอะ เช่น คัดกรองในเรื่องจิตสำนึกในการทำงานความเสียสละ เพื่อให้เขามีขวัญกำลังใจเพิ่มมากขึ้น 

ขอยกตัวอย่างพอกระสาย ระเบียบกติกาต่างๆ ที่ทำให้ข้าราชการท้องถิ่นท้อถอย ตกอยู่ในภาวะจำยอม ไม่มีแรงจูงใจในการทำงานเพื่อการอุทิศตัว (1) เรื่องค่าเช่าบ้าน การบรรจุที่แรกแล้วไม่สามารถเบิกค่าเช่าบ้านได้เรื่องนี้ก็ควรที่จะแก้ไขได้ เพราะ อปท.ส่วนใหญ่ไม่มีบ้านพักราชการจัดให้ หรือจัดให้แต่น้อยมาก เป็นภาระค่าใช้จ่ายมาก (2) เรื่องการประเมินและการพิจารณากลั่นกรองการเลื่อนขั้นเงินเดือน ทำอย่างไรให้เกิดมาตรฐานและเป็นธรรม ผู้บริหารไม่เป็นผู้เอนเอียงหรือว่าจะเปลี่ยนการขึ้นขั้นเงินเดือนเป็นแบบร้อยละ เหมือน ก.พ. เพราะระบบใครมือยาวสาวได้สาวเอายังมี ระบบขั้นเวียนก็อาจไม่ดี เพราะระบบอุปถัมภ์จะทำให้คนทำงานหมดขวัญและกำลังใจในการทำงานได้ (3) การสอบสายงานผู้บริหารจะแก้ไขกันอย่างไร สอบที่จังหวัดก็บอกหมดสิทธิ์ ไปสอบส่วนกลางก็สอบไม่ผ่าน สอบผ่านก็ไม่กล้าย้าย ย้ายแล้วก็อยากย้ายกลับ คนเก่งก็มัวแต่เดินสายไปอบรมคนอื่น ปล่อยคนไม่เก่งทำงาน สารพันปัญหาจิปาถะ

 

นี่ไงทำให้ท้องถิ่นวิบัติ นึกออกยัง


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, บทความพิเศษ, การสะสางปัญหาอุปสรรคระเบียบกฎหมายท้องถิ่น : ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 21 กรกฎาคม 2566, 23:15 น., https://siamrath.co.th/n/463803 

[2]Resilience ภาษาไทยใช้คำกลางๆ ว่า "ความยืดหยุ่นทางจิตใจ" เป็นความยืดหยุ่นได้ทางด้านจิตใจ หรือ ความฟื้นสภาพได้ทางด้านจิตใจ หรือ การฟื้นตัวได้ (Psychological resilience) มีนิยามว่าเป็นสมรรถภาพของบุคคลในการปรับตัวเข้ากับสิ่งที่ต้องทำในชีวิตเมื่อเผชิญกับความเสียเปรียบทางสังคม หรือกับสถานการณ์ที่มีอุปสรรคมาก : วิกิพีเดีย

Resilienceคือความสามารถในการเด้งกลับ หรือคืนสภาพนั่นเอง คำนี้ถูกเอามาใช้ในเชิงจิตวิทยาหมายถึง ความสามารถที่จะรับมือกับความล้มเหลว ความผิดหวัง ที่จะทำให้กลับมาสู่สภาวะปกติ ซึ่งปัจจุบันคำนี้ถูกนำมาใช้ในกับแนวคิดคนทำงาน ทีม และองค์กรด้วย 

[3]ดุลพินิจ มีความหมายว่า การวินิจฉัยที่สมควร การพิจารณาด้วยความเที่ยงธรรม คำว่า ดุลพินิจ ใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับความยุติธรรมในการตัดสิน เช่น ผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจพิจารณาหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์และจำเลยเสนอ แล้วจึงตัดสินคดีอย่างเที่ยงธรรม เมื่อเขาทำผิดก็ต้องยอมรับโทษ โทษจะหนักเบาเพียงใดก็แล้วแต่ดุลพินิจของศาล การตรวจข้อสอบอัตนัยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ตรวจ การอนุมัติงบประมาณในวงเงินที่จำกัด ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงาน โดย สำนักงานราชบัณฑิตยสภา บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553

"ดุลพินิจ" (discretion) เป็น การวินิจฉัยที่เห็นสมควร ซึ่งตรงข้ามกับคำว่า "อำเภอใจ" หรือ "ตามอำเภอใจ" (arbitrarily) คือ เอาแต่ใจตัวเอง, เอาตามความคิดของตัวเอง ความคิดเห็นโดยเอาแต่ใจตัว

การใช้อำนาจตามอำเภอใจ (arbitrarily) เป็นการใช้อำนาจดุลพินิจ (discretion power) ที่ยึดอัตวิสัย (subjective) อย่างบิดผันลำเอียงไร้คุณธรรม (abusive, imparity, unfairness, inequity, injustice)

[4]ฉันทานุมัติ หรือ ฉันทามติ (consensus) หรือ ความเห็นพ้อง หมายถึง ความรู้สึกร่วมกัน (feel together) โดยพจนานุกรมฉบับ Merriam-Webster’s ให้ความหมายของ consensus ไว้ว่าเป็นข้อตกลงร่วมกันที่มีลักษณะเป็นการยอมรับแบบเอกฉันท์ (unanimity) หัวใจของความเห็นพ้องมีสาระสำคัญอยู่ที่การประนีประนอมระหว่างกัน และจัดกระบวนการให้คนในสังคมหรือชุมชนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เป้าหมายของความเห็นพ้องมีเพื่อเป็นเครื่องรับประกันว่าสมาชิกทุกคนในชุมชนจะสามารถแสดงความคิดเห็นและหาข้อตกลงร่วมกันได้ ความเห็นพ้องมักเชื่อมโยงกับการตัดสินใจ (consensus decision making) : วิกิพีเดีย

ซึ่งหมายถึง มีความรู้สึกร่วมกัน เห็นด้วย เห็นพ้องกันอย่างเอกฉันท์ มีข้อตกลงหรือผลสรุปร่วมกันอย่างเป็นเอกฉันท์สรุป ฉันทามติ (consensus) หมายถึงการยอมรับที่เป็นเอกฉันท์ (unanimity) คือ ได้รับการยอมรับหรือความเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง (มากกว่าครึ่งหนึ่ง) ของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งในการเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้เกินกว่ากึ่งหนึ่ง จะได้รับความยินยอม หรือ "ฉันทามติ" (ฉันทานุมัติ) ให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล หรือ การเสนอชื่อให้ที่ประชุมรัฐสภา ให้ความเห็นชอบเป็น นายกรัฐมนตรี 

[5]คำว่า “จุดเชื่อมโยง” หรือ "จุดเกาะเกี่ยว" นี้ คือคำว่า “Connecting Points” ใช้กันมากในทางกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะสามารถอธิบายความได้ง่ายกว่า "จุดเกาะเกี่ยว" (Connecting Points)" คือ ข้อเท็จจริงที่แสดงจุดเชื่อมโยงสัมพันธภาพระหว่างรัฐกับเอกชน(บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล) โดยเกิดจาก 2 หลักคิด คือ (1)หลักดินแดน (2)หลักบุคคล(หลักสายโลหิต) ซึ่งถ้าปรากฎว่าบุคคลมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐใด รัฐนั้นก็จะมีอำนาจอธิปไตยเหนือบุคคลดังกล่าว ขณะเดียวกัน ถ้าบุคคลมีจุดเกาะเกี่ยวกับหลายรัฐ รัฐต่างๆ นั้นก็ย่อมมีอำนาจอธิปไตยเหนือบุคคลดังกล่าวเช่นกัน

แต่หากนำมาใช้ในทางการเมือง หมายถึง เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (voters) กับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน (ผู้เลือกตั้ง) ฉะนั้นคะแนนเสียงที่ ส.ส.ได้รับ จะเป็นเครื่องชี้ให้ ส.ส.ต้องรับผิดชอบและรับฟังต่อคะแนนเสียงที่ตนได้รับ เพราะว่า หาก ส.ส.ไม่รับฟังไม่สนใจไม่ใส่ใจในคะแนนเสียงนี้ ครั้งต่อไป ส.ส.ก็จะไม่ได้คะแนนเสียงอีกต่อไป นี่คือ “จุดเชื่อมโยง” ระหว่าง ประชาชน กับ ส.ส. และอธิบายได้ในทางกลับกันว่า หาก ตัวแทนของประชาชนมาจากการแต่งตั้ง โดยมิใช่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตัวแทนผู้นั้นย่อมไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนแต่อย่างใด ไม่ต้องไปรับฟังรับผิดชอบต่อประชาชนก็ได้ เนื่องจาก “ไม่มีจุดเชื่อมโยง” ซึ่งกันและกัน เพราะประชาชนไม่ได้เลือกตั้งเข้ามา เป็นต้น

[6]สำนึกความผูกพันรับผิดชอบร่วม (commitment) ในภาษาไทยมีคำศัพท์ที่ใช้กันคือคำว่า “ความผูกพันต่อองค์การ” (Commitment to the organization or Organizational commitment) หรือ ความผูกพันต่อองค์กร ต่อชุมชน เป็นความผูกพันทางจิตใจและความรู้สึก เช่น การมีส่วนร่วมและความผูกพันต่อองค์กร ความจงรักภักดีต่อองค์การ 

ความผูกพันต่อองค์การ (Commitment to the organization) คือความรู้สึกที่ดีต่อองค์การมีความรักความภาคภูมิใจความเอาใจใส่ต่อองค์การรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งมีความเชื่อมั่นยอมรับเป้าหมายและค่านิยมขององค์การเต็มใจและเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อเป้าหมายและต้องการที่จะดำรงไว้ซึ่งการเป็นสมาชิกขององค์การนั้นตลอดไป ตามทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความผูกพันต่อองค์กร ทฤษฎี Side-Bet ของ Becker ที่กล่าวว่า บุคคลใดก็ตามที่มีความผูกพันต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็เนื่องจากเขาได้ลงทุนในสิ่งนั้นๆ ไว้เช่นการที่คนเราเข้าไปทำงานอยู่ในองค์การในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จะก่อให้เกิดการลงทุนซึ่ง Becker เรียกการลงทุนนั้นว่า“Side bet” อาจเป็นการลงทุนในรูปของเวลา แรงกายแรงใจ กำลังสติปัญญาตลอดจนการยอมเสียโอกาสบางอย่าง และทฤษฎีสองปัจจัยของ Herzberg ได้เสนอทฤษฎีองค์ประกอบคู่ (Hertzberg’s Two Factor Theory) 

ดู ความผูกพันในองค์การ (The close-relation in organizational according), โดย อนุดิษฐ์ ฐานไชยกร. มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย, ThaiJo, ใน Journal of Roi Kaensarn Academi, ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม-มิถุนายน 2562, https://so02.tci-thaijo.org/index.php/JRKSA/article/download/246209/166345/865580

[7]ความอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับปัญหาการกำกับดูแลของรัฐ โดย กิตติพงษ์ เพียรพิทักษ์ นักวิชาการอิสระ, ในสสถาบันพระปกเกล้า, กันยายน - ธันวาคม 2563, https://so06.tci-thaijo.org/index.php/kpi_journal/article/download/246827/167520/866349

[8]ผลประโยชน์ทับซ้อน หรือการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (conflict of interest : COI) คือ สถานการณ์ที่บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งอันเป็นที่ไว้วางใจ (เช่น ทนายความ นักการเมือง ผู้บริหาร หรือ ผู้อำนวยการของบริษัทเอกชน หรือ หน่วยงานรัฐ) เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างผลประโยชน์ ส่วนตัวกับผลประโยชน์ทางวิชาชีพ (professional interests) อันส่งผลให้ เกิดปัญหาที่เขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง / ไม่ลำเอียงผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้น อาจส่งผลให้เกิดความไม่ไว้วางใจที่มีต่อบุคคลผู้นั้น ว่าเขาจะสามารถปฏิบัติงานตามตำแหน่งให้อยู่ในครรลองของคุณธรรมจริยธรรมได้มากน้อยเพียงใด

ภาษาไทยใช้อยู่ 3 อย่าง(คำ) คือ (1) ความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม (2) ผลประโยชน์ทับซ้อน (3) ผลประโยชน์ขัดกัน คำว่า มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูฐแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ มาตรา 184-187 แต่ไม่มีนิยามให้ความหมายบัญญัติไว้

ดู ผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) โดย act, 26 ธันวาคม 2559, http://www.anticorruption.in.th/2016/th/detail/56/1/ผลประโยชน์ทับซ้อน%20(conflict%20of%20interest)

[9]การทุจริตเชิงนโยบาย (Policy Corruption)เป็นการทุจริตรูปแบบหนึ่ง ที่อาศัยรูปแบบของกฎหมายหรือมติของคณะรัฐมนตรี หรือมติของคณะกรรมการ ต่างๆ เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ และทำให้ประชาชนเห็นว่า เป็นการกระทำถูกต้องชอบธรรม

กล่าวโดยสรุป ‘คอร์รัปชันเชิงนโยบายคือ กระบวนการทุจริตที่อาศัยอำนาจตามกฎหมายในการกำหนดนโยบายของรัฐหรือหน่วยงานรัฐ ที่มีผลต่อการใช้หรือจัดสรรทรัพยากรของรัฐ การค้าการลงทุน โดยมีเจตนาแอบแฝงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มผลประโยชน์ที่ครองอำนาจหรืออิทธิพลในรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ’ อ้างจาก ดร.มานะ นิมิตรมงคล, 22 เมษายน 2564

[10]บทวิเคราะห์ประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... โดยดร.สุรพงษ์ มาลี, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, จัดพิมพ์โดย สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า, 2554, https://kpi.ac.th/media/pdf/M10_173.pdf

[11]BadLaw กฎหมายระเบียบหนังสือสั่งการที่เป็นอุปสรรคในการทำงานที่ควรแก้ไข (ยังไม่ได้จัดกลุ่มปัญหา 4 ด้าน) โดย สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย 2553-2557 ใน FB เพจการปกครองท้องถิ่น&การปฏิรูปประเทศไทย, 19 กันยายน 2563, https://www.facebook.com/localreformthailand/posts/3101275709980907/?paipv=0&eav=AfbiobghyX1ryYTK0mS3rUHHT-ND5L7PPspGhztEMY-Q5oHWN6OfIfHdS_6um8co1z0&_rdr

[12]เมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต รังสิต จ.ปทุมธานี ข้าราชการท้องถิ่น (อบจ.,เทศบาล,อบต.) ทุกสายงานตำแหน่งจากทุกภูมิภาคทั่วไทยได้ระดมสมองรวบรวมข้อปัญหาต่างๆ ในการแก้ไขกฎหมายท้องถิ่นที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชน เพื่อนำไปแก้ไขใน 100 วันแรกของรัฐบาลใหม่ตามที่พรรคก้าวไกลที่ได้รณรงค์หาเสียงไว้ ให้แก่มูลนิธิคณะก้าวหน้า และส.ส.พรรคก้าวไกลไปพิจารณาแก้ไขปัญหาให้แก่ข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น เพื่อการทำงานบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างราบรื่นไร้รอยต่อ 

[13]โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง การปรับปรุงระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ระยะที่ 2), หน่วยงานรับผิดชอบ สำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, งบประะมาณ 15 ล้านบาทถ้วน, ระยะเวลาดำเนินการ ธันวาคม 2551-กันยายน 2552, http://local.moi.go.th/28.11.2551.pdf & รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง การปรับปรุงระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ระยะที่ 2) จัดทำโดย สถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ เสนอต่อ กระทรวงมหาดไทย, จัดทำโดยสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ, 528 หน้า, กุมภาพันธ์ 2553, http://local.moi.go.th/2009/pdf/ra1528ok.pdf

[14]ปัญหา อุปสรรคเกี่ยวกับความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย จุฬาลักษณ์ พัฒนศักดิ์ภิญโญ, psu.ac.th, 2553, https://kb.psu.ac.th/psukb/bitstream/2553/4939/9/ch6.pdf 

[15]ปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Barriers in Personnel Management of Local Government Organizations) โดย ธนาวุฒิ คำศรีสุข และ กัมปนาท วงษ์วัฒนพงษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, ThaiJO, วารสาร Roi Kaensarn Academi ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม 2565 หน้า 369, https://so02.tci-thaijo.org/index.php/JRKSA/article/download/251248/171206/935534

[16]ปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย, http://eservices.dpt.go.th/eservice_1/subsites/other/subcsp/2-1-1.html 

[17]การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยในยุคปัจจุบัน ในรอบ 15 ปี (พ.ศ.2540-2556), โครงการติดตามและประเมินผลการกระจายอำนาจของไทย, http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER0/DRAWER001/GENERAL/DATA0000/00000938.PDF & การติดตามปัญหา อุปสรรค การกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ผลการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นปี งบประมาณ 2546 โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาณุ ธรรมสุวรรณ์, วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองบูรพา ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (ก.ค.-ธ.ค. 2558), http://ojslib3.buu.in.th/index.php/poleco/article/view/4238/1479https://so06.tci-thaijo.org/index.php/kpi_journal/article/download/244801/165966/852287 

[18]สมาคม อบต. เสนอกระจายอำนาจท้องถิ่นก้าวไกลวาระ 4 ปี เป็น 5 ปี, สยามนิวส์, 14 มิถุนายน 2566, 17:35 น., https://www.siamnews.com/view-92662.html

[19]แผนพัฒนาในระดับพื้นที่ หรือที่เรียกว่า One Plan โดยเป็นแผนงานที่มีคุณสมบัติ 5 ข้อ ดังนี้

1.โครงการเป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่ และไม่มีการต่อต้าน

2.โครงการมีความสอดคล้องกับแผนระดับบน เช่น แผนชาติ แผนพัฒนาจังหวัด หรือแผนพัฒนาอำเภอ

3.โครงการมีความคุ้มค่าเหมาะสมและเป็นไปได้และสามารถดำเนิน โครงการได้ทันที รวมทั้งมีรายละเอียดข้อมูลครบถ้วน

4.กำหนดหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการบำรุงรักษาดูแลทรัพย์สินที่ เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการอย่างชัดเจน

5.มีความพร้อมของพื้นที่ ได้รับการอนุมัติ และอนุญาตการใช้พื้นที่ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หลักการ 5 ข้อของ One Plan ประกอบด้วย

1.One Plan ต้องไม่กระทบอำนาจหน้าที่ในการจัดทำและ ประสานแผนของส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่กำหนดไว้ในระเบียบ กฎหมายหรือแนวทางปฏิบัติ

2.ต้องมีแนวทางเชื่อมโยงการทำงานระหว่างการบริหารราชการ ส่วนภูมิภาคกับ อปท.

3.เป้าหมายเพื่อให้การจัดทำแผนทุกระดับ มาจากปัญหา ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

4.กลไกให้มีหน่วยงานรับผิดชอบการจัดทำแผนทุกระดับ และกำหนดแนวทางปฏิบัติในการเชื่อมโยงประสานแผน ให้การดำเนินงานไม่ซ้ำซ้อนและมีความคุ้มค่ากับประชาชนมากที่สุด

5.ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people centric) และ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารราชการส่วนภูมิภาค

ดู One Plan คือ..อะไร...ลักษณะเป็นอย่างไรฟังคลิปนี้มีคำตอบเข้าใจง่ายๆ โดย อ้วนท้องถิ่นไทย, 24 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.youtube.com/watch?v=WLyEa2sObQ0

[20]ดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 14 การปกครองท้องถิ่น มาตรา 249 -254 (6 มาตรา) 

มาตรา 250 วรรคหนึ่ง “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนรวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นตามกฎหมายบัญญัติ

หมายเลขบันทึก: 713559เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2023 01:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2023 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I am advocating for ‘workers services’ (or names like ‘human resources’ [inhuman notions], ‘people operations’ [another is ‘business operations’], ‘personnel department’ [quite neutral], สวัสดิการพนักงาน? [often used as a sub-section]…).

The point is we and the world have been seeing ‘those who work’ as ‘machines’ not as ‘people in a team’. We develop businesses. Bur we fail to develop (even plan to develop) people. We develop and service ‘clients’ (and say ‘customers are always right’) but we don’t care much about workers who serve the business and clients. We research clients’ need and want. But we order workers to do as directed. We negotiate ‘prices’ with clients, we add incentives, extra services,… for clients –for revenue. What do we do with workers?

Solving the problem here and now is ridiculous. We have to start the thinking, to ask workers a lot of questions, … we may end up changing traditions and culture!

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท