พรรคการเมืองกับการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่น


พรรคการเมืองกับการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่น

7 กรกฎาคม 2566

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1] 

 

ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวถึง “ธัมมิกประชาธิปไตย” คือประชาธิปไตยที่ประกอบด้วยธรรม “เป็นประชาธิปไตยหมายถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” พร้อมกับอ้างเหตุผลว่า “ถ้าประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนเห็นแก่ตัว ประชาชนบ้าๆ บอๆ ก็ฉิบหายหมด” แล้วเสนอว่าประชาธิปไตยที่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ กำลังจะพูดถึงการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะ “การกระจายอำนาจและการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น”

 

หมาดๆ ยังจำกันได้ ที่ผ่านมาช่วงปลาย ส.ส. ชุดที่แล้ว (7 ธันวาคม 2565) 

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นของคณะก้าวหน้าถูกรัฐสภาโหวตวาระที่ 1 คว่ำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย[2] แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช … แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ “ร่างปลดล็อกท้องถิ่น” ที่เสนอโดย คณะก้าวหน้า กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้เสนอจำนวนรวม 76,591 คน รัฐสภามีมติด้วยวิธีการขานชื่อ ไม่รับหลักการ 245 ต่อ 254 เสียง งดออกเสียง 129 คะแนน ซึ่งมีคะแนนน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด คือ 361 เสียง (ส.ส.และ ส.ว.722 เสียง) และมี ส.ว.เห็นชอบเพียง 6 เสียง น้อยกว่าจำนวน 1 ใน 3 ของ ส.ว. หรือน้อยกว่า 83 เสียงของ ส.ว. ร่างดังกล่าวจึงไม่ผ่านชั้นรับหลักการ

ร่างฉบับนี้ภายใต้ชื่อแคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” [3] ที่ได้ดำเนินการมาหลายเดือนตั้งแต่ราวเดือนเมษายน 2565 โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญ ได้แก่

(1) ท้องถิ่นมีอำนาจทำทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องที่ให้ส่วนกลางจัดทำเท่านั้น

(2) ให้ท้องถิ่นได้งบประมาณร้อยละ 50 ภายในสามปี

(3) สภาและผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

(4) ห้ามส่วนกลางก้าวก่าย จะเพิกถอนคำสั่งต้องไปศาลปกครอง

(5) ประชาชนเข้าชื่อ 3 ใน 4 ขอถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น มีผลทันที

(6) ทำประชามติยกเลิกส่วนภูมิภาคในห้าปี

ผลการโหวตลงมติในครั้งนี้ ถือเป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายประชาธิปไตยในยกที่ 1 แต่ก็ไม่เป็นไร ต้องมาดูในยกที่ 2 ยกที่ 3 ต่อๆ มา เริ่มจากนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ[4] ที่โดดเด่นและโจษขานกันมากคือ นโยบายของพรรคก้าวไกล[5] 

ได้แก่ การปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น[6] จาก “พิมพ์เขียว” ร่าง “พรบ.จังหวัดจัดการปกครองตนเอง” ที่พรรคก้าวไกลจะผลักดันให้ทำประชามติเลือกตั้งผู้ว่าฯ ปัจจุบันที่ผู้ว่าราชการจังหวัด 75 จังหวัด มาจากแต่งตั้งของกระทรวงมหาดไทย ด้วยนโยบาย “ปลดล็อกเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด” ของพรรคก้าวไกล และนโยบาย “เลือกตั้งผู้ว่าฯจังหวัดที่พร้อม” ของพรรคเพื่อไทย

ที่จริงเรื่องนี้เริ่มจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มีการเสนอจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็น “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ทั้งจังหวัด” เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองท้องถิ่นโดยยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค จนในที่สุดได้ตกผลึกเป็นร่างพิมพ์เขียวเมื่อกว่าสิบปีก่อนสมัย คสช.แล้ว ได้แก่ “ร่าง พรบ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. ...” [7] ที่ล้มเลิกไปหลังจากมีการรัฐประหาร ปี 2557 นำร่องอย่างน้อยภูมิภาคละ 1-2 จังหวัด หรือ จังหวัดปริมณฑลก่อน เนื่องจากพื้นที่รอยต่อของจังหวัดเหล่านี้มีความกลมกลืนกับ กทม.อยู่แล้ว[8] หากประสบผลสำเร็จ ค่อยขยายผลไปยังพื้นที่อื่นต่อไป เช่น จังหวัดภูเก็ต[9] หรือสามจังหวัดชายแดน นำร่องภาคใต้ จังหวัดเชียงใหม่[10] นำร่องภาคเหนือ จังหวัดขอนแก่น หรือ อุดรธานี หรือนครราชสีมา นำร่องภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีความพร้อม และครบหลักเกณฑ์ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต ปัตตานี ระยอง ตราด พิษณุโลก สมุทรสาคร นนทบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อำนาจเจริญ

โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน สรุปโครงสร้างสำคัญ[11] คือ (1) สภาจังหวัดปกครองตนเอง มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี อำนาจหน้าที่ เช่น ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัดและร่างข้อบัญญัติฯ (2) ผู้ว่าการจังหวัด ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปีไม่เกินกว่า 2 วาระ อำนาจหน้าที่ เช่น กำหนดนโยบายและการบริหารจังหวัด พิจารณาและออกประกาศ ประกาศใช้แผนพัฒนาจังหวัด เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเจ้าหน้าที่ (3) สภาพลเมืองจังหวัดปกครองตนเอง ประกอบด้วยบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์จากองค์กร ภาคชุมชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ โดยที่สมาชิกสภาพลเมืองมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ซึ่งเป็นการออกแบบโครงสร้างที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่น อำนาจหน้าที่ เช่น การกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ การตัดสินใจทางการเมือง การจัดทำบริการสาธารณะ จัดประชุมสมัชชาพลเมือง ตลอดจนการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยการเสนอชื่อบุคคลเป็นคณะกรรมการตรวจสอบ เมื่อจัดทำประชามติประชาชนจังหวัดที่มีความพร้อมแล้ว ก็ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งตาม พรบ.ฯ ต่อไป

 

ก้าวไกลมีโรดแมพเลือกตั้งผู้ว่าฯจังหวัดสามขั้นตอน (17 พฤษภาคม 2566)[12] 

ขั้นตอนแรก การปลดล็อกท้องถิ่น ซึ่งในที่นี้หมายถึงการให้อำนาจท้องถิ่นจัดทำบริการสาธารณะได้ทั้งหมด ยกเว้นบริการสาธารณะที่กำหนดห้ามไว้เท่านั้น จากเดิมที่กำหนดว่า จะทำอะไรได้บ้าง คือ ห้ามทำ แต่ของเราจะกำหนดเฉพาะที่ห้ามทำ เช่น กองทัพ เงินตรา ศาล และสัญญาระหว่างประเทศ ส่วนที่เหลือให้ทำได้ เพื่อเปิดกว้างอำนาจของท้องถิ่นฯ

ขั้นตอนที่สอง การถ่ายโอนภารกิจ เดิมเรามีแผน (แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 มาแล้ว แต่เราจะผลักดันแผนถ่ายโอนกระจายอำนาจ ฉบับที่ 3 เพื่อเร่งถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่นมากขึ้น โดยภายใน 4 ปี จะมีก้อนเงิน 2 แสนล้านบาท/ปี ถ่ายโอนไปที่ท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้สัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นจากส่วนกลางเพิ่มขึ้น 

ขั้นตอนที่สาม การทำประชามติ เป็นส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเริ่มที่การทำประชามติ ถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ทุกจังหวัดมีผู้ว่าราชการที่มาจากเลือกตั้งทุกจังหวัด แล้วจึงจะมาดำเนินการในขั้นตอนในการแก้ไขกฎหมายต่อไป เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ประชาชนอยากไปทางนี้หรือไม่ เมื่อได้ฉันทามติจากประชาชนแล้ว ก็จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ตามแนวทางการผลักดันนโยบาย “ปลดล็อกเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด”

 

ขอตัดฉากข้ามๆ ไปยังจุดสุดท้าย ฉากนี้เลย เพราะสาระพูดไปมันก็เดิมๆ ซ้ำซาก

คนท้องถิ่นวิพากษ์เรียกร้องกันมาหลายปีแต่ไม่ได้รับการตอบรับแก้ไข[13] จนเบื่อ จนจำขึ้นใจได้หมดแล้ว ในที่นี้จะขอผ่านเรื่อง “การบริหารงานบุคคลท้องถิ่น” ไปก่อน แม้ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะเป็น “เส้นทางความก้าวหน้าในสายงานอาชีพ” (career path) ของข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นฝ่ายประจำ ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายของผู้บริหารท้องถิ่นหรือฝ่ายการเมืองท้องถิ่นให้ไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต รังสิต จ.ปทุมธานี[14] นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานมูลนิธิคณะก้าวหน้า นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารมูลนิธิคณะก้าวหน้า นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และส.ส.พรรคก้าวไกลกว่าสิบคน ร่วมกับ สมาคมข้าราชส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ได้มารับฟังข้อเสนอแนะจากข้าราชการท้องถิ่น (อบจ.,เทศบาล,อบต.) ทั่วทั้งประเทศในการแก้ไขกฎหมายท้องถิ่นที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชน เพื่อนำไปแก้ไขใน 100 วันแรกของรัฐบาลใหม่ตามที่พรรคก้าวไกลที่ได้รณรงค์หาเสียงไว้

ในระหว่างการระดมสมองทั้ง 2 วัน คือ วันที่ 1-2 กรกฎาคม 2566 ข้าราชการท้องถิ่นทุกสายงานตำแหน่งจากทุกภูมิภาคทั่วไทยได้รวบรวมข้อปัญหาต่างๆ ให้แก่มูลนิธิคณะก้าวหน้า และส.ส.พรรคก้าวไกลไปพิจารณาแก้ไขปัญหาให้แก่ข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น เพื่อการทำงานบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างราบรื่นไร้รอยต่อ 

 

มีประเด็นสาระสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นที่ขอบเขตค่อนข้างจะกว้างขวาง

สรุปความรวมๆ จากการสัมมนา ทิศทางแนวนโยบายการปรับโครงสร้างท้องถิ่น มูลนิธิคณะก้าวหน้า (และพรรคก้าวไกล) ร่วมกับสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย[15] หากจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ จะมีการปฏิรูปท้องถิ่นไปในทิศทางใด 

(1) พรรคก้าวไกล ยืนยันปีนี้จะให้งบท้องถิ่น ไม่ต่ำกว่า 30% และจะเพิ่มขึ้นทุกปี จนครบ 35% และในอนาคต จะปรับเป็น 40% เมื่อยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาค (อนาคต)

(2) เรื่องโครงสร้างส่วนราชการ แต่ละท้องถิ่นปรับให้เหมาะสมกับบริบทของตัวเอง โดยไม่ถูกบังคับ

(3) ยกฐานะ อบต เป็นเทศบาลทั้งหมด

(4) แต่ละท้องถิ่น มีสิทธิ์พัฒนาได้ทุกอย่าง ที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์กับประชาชน ได้ 100% คือถ้าคุณมีความสามารถทำรถไฟฟ้าได้ ก็ทำไปเลย ประมาณนั้น ไม่ต้องไปขอรัฐมนตรี ยกเว้นไปรบกับประเทศเพื่อนบ้าน

(5) สท. ส.อบต. 1 คน 1 เขต เลือกตั้ง เหมือน สส.

(6) ยุบรวม ยกเลิก ราชการส่วนภูมิภาค อันนี้ จะทยอยๆ น่าจะเริ่มที่ เกษตร กับ พม.

แนวคิดนี้อันนี้มาแรงข้อเสนอ 1.ยุบภูมิภาค จังหวัด อำเภอ 2.ยุบ อบต. อบจ. ควบรวม อบต.เป็นเทศบาล อบจ.ให้เป็นส่วนอำนวยการท้องถิ่น รวมกับท้องถิ่นจังหวัด (ตามบทเฉพาะกาล ให้คงอยู่ชั่วคราว เพื่อการรอยุบ ภูมิภาค สถจ.ตามข้อ 1) เพื่อเตรียมการจัดตั้ง เทศบาลจังหวัด และ เทศบาลอำเภอ[16]

 

โครงสร้างปัจจุบัน อปท.ผูกติดอยู่กับอำนาจนิยม “รัฐราชการรวมศูนย์” และ “การเมือง” ที่แสวงประโยชน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

สังคมราชการไทยปัจจุบันยังคงมีและใช้ระบบอำนาจนิยมสูง ยกตัวอย่าง มท.1​ คือใคร ปลัดกระทรวง​ ผู้ว่าฯ​ นายก​ อปท.​ ทุกระดับ​ ต้องรับนโยบาย​และปฏิบัติ​ตามคำสั่ง​ มท.1​ ดังนั้น​ การเมืองไทยจึงสำคัญ​กับทุกหน่วยราชการ

สถานการณ์การคลังท้องถิ่นในระยะหลังๆ นี้แย่[17] รัฐบาลไม่กล้ากู้เงินมาให้ อปท.เพราะกู้มาทำอย่างอื่นหมดแล้ว อีกอย่างเงินใช้หนี้เงินกู้ มันวนเวียนกับโครงการที่เจ้าหนี้ต้องเวียนมาตรวจสอบ แทะเล็ม แถมบางทีต่อเนื่อง จะเอาโครงการอุดหนุนงบเงินทอนมาให้อีก รัฐบาลไม่กล้ากู้เงินมาให้ อปท.เพราะกู้มาทำอย่างอื่นหมดแล้ว กลิ่นไอความเจริญมา แต่มีมาร พูดง่ายกว่าทำ เหมือนละเลงขนมเบื้องด้วยปาก

อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตในความน้อยเนื้อต่ำใจ ด้วยสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่างๆ นานา โดยเฉพาะคำบูลลี่ด้อยค่า แม้ข้อเท็จจริงจากการสัมมนาเมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2566 ดังกล่าวพอฟังได้ว่า มันก็คือสถานการณ์เดียวกัน มันเหมือนกับที่ฝ่ายข้าราชการคนท้องถิ่นได้คิดกันมาในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ฟังแล้วปัญหามันใช่เลย 80-90% แต่ขอยักไว้สัก 10-20% เผื่อคนโลกสวย

หากข้าราชการส่วนท้องถิ่นฝ่ายประจำยังไม่ได้คิด ไม่เริ่มทำ สถานการณ์ต่างๆ ก็คงเดิมๆ เด็กคนรุ่นหลังๆ ลำบาก สุดท้ายประชาชนก็ลำบากตามด้วยแน่ๆ เพราะ “ท้องถิ่นผูกติดกับการเมือง” อย่างแยกกันไม่ออก “ระบบอุปถัมภ์ เส้นสาย” (patronage system & connections)[18] ยังคงครองเมือง อย่าเพิ่งถอดใจ อย่าเพิ่งถามหาความ “ถูกต้อง โปร่งใส เป็นธรรม” หากตัวคุณยังไม่เริ่มคิดเริ่มทำ

มีข้อสังเกตท้วงติง 30-35% กับภารกิจที่ครอบจักรวาล งบไม่รอด ต้องพัฒนารายได้เพิ่ม การกู้เงิน ไม่น่าเป็นทางเลือก หากจะให้ท้องถิ่นอยู่รอดพึ่งพาตนเองได้ดี ควรกำกับและจำกัดขอบเขตอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอหรือหน่วยงานราชการอื่น ในการแสวงประโยชน์หาเศษหาเลยกับการบริหารงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะปัจจุบันกลับกลายเป็นว่า ปัญหาทุกข์ร้อนของชาวบ้านถูกเอาไว้หลังสุด อปท.ต้องคอยตอบสนองปัญหาของผู้ว่าฯ ปัญหาของนายอำเภอ และตอบสนองต่อปัญหาที่กรมส่งเสริมฯ ไปทำ MOU ไว้แล้วมาให้ อปท.ทำ ที่ผ่านมา อปท.เป็นเหมือนต้นไม้ที่แคระแกร็น เติบโตไม่ได้ มีวัชพืชกวนทุกกิ่งก้าน เป็นไม้กระถางที่ถูกปล่อยให้ขาดน้ำขาดปุ๋ยกำลังจะยืนต้นตายซาก แต่ครั้นพออาการหนักแย่จะตายทีไรเขาก็เอาน้ำมารด เลี้ยงไข้ไว้ ภาพลวงตาที่เห็นใบดกเขียวชอุ่มมันไม่ใช่ความอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่น แต่มันคือใบของกาฝากต่างหาก

คนทำงานยังคงเดินหน้าระดมความคิดเพื่อการตกผลึกกันอย่างไม่หยุดยั้ง ขอเป็นแรงใจให้ทุกคนที่กำลังทำงาน ฯ คนไม่ทำแต่คอยติ คอยด่า ด้อยค่าควรเบาๆ ลงบ้าง วินาทีนี้ทุกคนคงเลิกโต้เถียงทะเลาะกันไปสักพัก นี่ล่าสุดคือ 

ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง, The Voters รณรงค์ขอคนละชื่อ[19] ผลักดันเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดทั่วประเทศ และจังหวัดจัดการตนเอง ฉบับประชาชน แนะนำว่าอย่าเพิ่งนำแนวคิด “การจัดการตนเอง” (Self-determination)[20] มาพาดพิงพูดให้เลอะเทอะ วิตกจริตเสียสมองว่าเป็นการแบ่งแยกรัฐ ดินแดน เพราะมันคนละเรื่องเดียวกัน ที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย

 

ฝากไว้แล้วกัน สำหรับคนไทยหัวใจประชาธิปไตยทุกคน


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความภูมิภาค, สยามรัฐออนไลน์, 7 กรกฎาคม 2566, https://siamrath.co.th/n/460388

[2]รัฐสภาโหวตคว่ำ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น ของคณะก้าวหน้า, ประชาชาติธุรกิจ, 7 ธันวาคม 2565, https://www.prachachat.net/politics/news-1141758

[3]ใช้ชื่อแคมเปญว่า “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” เล็งคิกออฟวันที่ 1 เมษายน 2565 ซึ่งครบรอบ 130 ปี ที่ รัชกาลที่ 5 ทำการปฏิรูปจัดระเบียบการปกครองครั้งใหญ่ รวบอำนาจสู่ส่วนกลาง สร้างรัฐสยามที่เรียกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และมีมรดกตกทอดคือรัฐราชการที่ใหญ่โตเทอะทะอุ้ยอ้ายและไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนอย่างในปัจจุบันนี้

ดู ผู้คนยังเดินทางต่อ ยุบพรรค “อนาคตใหม่” ไม่สำเร็จ - เปิดภารกิจ “คณะก้าวหน้า” รณรงค์ยุติรัฐราชการรวมศูนย์-สร้างอคาเดมีนักการเมืองท้องถิ่น, คณะก้าวหน้า, 21 กุมภาพันธ์ 2565, https://progressivemovement.in.th/article/6633/ & ธนาธรแถลงปิดแคมเปญ ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ มีผู้เข้าชื่อกว่า 8 หมื่นรายชื่อ หวังพิจารณาทันอายุสภาชุดนี้ โดย THE STANDARD TEAM, 4 กรกฎาคม 2565, https://thestandard.co/thanathorn-juangroongruangkit-close-unlock-local-campaign/ & 'ธนาธร' ส่งจม.เปิดผนึก ปลุก 'ปชช.-ผู้นำ อปท.' 77 จว. ปลดล็อกท้องถิ่น, ThaiPost, 13 พฤศจิกายน 2565, https://www.thaipost.net/x-cite-news/262159/ & รัฐสภาโหวตคว่ำ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น ของคณะก้าวหน้า, ประชาชาติธุรกิจ, 7 ธันวาคม 2565, อ้างแล้ว & 'ธนาธร' จัดประชุมใหญ่นายกฯ ท้องถิ่นคณะก้าวหน้า ชูก้าวไกลเป็นรัฐบาลเปลี่ยนประเทศ, มติชน, 5 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.matichon.co.th/politics/news_3807848

[4]นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 ซึ่งมีผลให้วันที่ 20 มีนาคม 2566 เป็นวันยุบสภา หมายความว่า กกต. ต้องออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้งและวันรับสมัคร ส.ส. ภายในวันที่ 25 มีนาคม 2566 เป็นอย่างช้า ส่งผลให้บรรดาพรรคการเมืองต่างได้เตรียมการนำเสนอแนวนโยบายของพรรค หลายพรรคมีแนวนโยบายมาก่อนหน้าประกาศยุบสภามานานแล้ว ลองมาจับประเด็นแนวนโยบายของพรรคการเมืองที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจ เริ่มจากวันที่ 5 มีนาคม 2566 เป็นต้นมามีตั้งแต่เช่น พรรค พปชร.นโยบายเพิ่มเงินให้ อบต., พรรคก้าวไกล ผลักดันให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งประเทศ, พรรคเพื่อไทย การแก้ไขเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชน มากกว่าที่จะมุ่งในเรื่องของการต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิและการปกครองตนเอง, พรรคเป็นธรรม เป็นพรรคใหม่ที่มุ่งเน้นเรื่องของการกระจายอำนาจ, พรรคภูมิใจไทย ดันภาษี “รักบ้านเกิด” ไม่ใช่มิติของการเมืองการปกครอง แต่เป็นมิติการกระจายอำนาจบนทางเศรษฐกิจ, พรรคเสรีรวมไทยจะเน้นไปในเรื่องการต่อต้านทุจริต คอร์รัปชั่น การต่อสู้กับระบอบรัฐประหาร, พรรคไทยสร้างไทย เน้นนโยบายไปที่สวัสดิการคนแก่ เป็นต้น

อ่านอุดมการณ์และคำมั่นสัญญาที่ 8 พรรคการเมืองใหญ่ประกาศไว้บนเวทีเสวนา ‘ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง’ ถึงแนวคิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และแนวทางที่ไม่ขายฝันประชาชน, 

ดู ส่อง'กระจายอำนาจ' พรรคไหนชูธงหาเสียง, Matichon, 5 มีนาคม 2566, https://www.matichon.co.th/election66/news_3856388 & เลือกตั้ง 2566 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯ ยุบสภาแล้ว นับถอยหลังศึกเลือกตั้ง, BBC Thai, 20 มีนาคม 2566, https://www.bbc.com/thai/articles/czk8ljmkd0xo & พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 ให้ไว้ ณ วันที่ 17 มีนาคม 2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนที่ 22 ก เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 หน้า 1-2, https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/9/iid/167469 & ส่องนโยบาย 8 พรรค "เลือกตั้งผู้ว่าฯ-แก้รธน.-รื้องบฯ" คลายล็อกกระจายอำนาจ โดยจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง, komchadluek, 23 มีนาคม 2566, https://www.komchadluek.net/news/politics/545360 & 8 พรรคใหญ่ กับนโยบาย ‘กระจายอำนาจ’ หยุดวงจรรวมศูนย์ ทำได้หรือจกตา, voicetv, 26 มีนาคม 2566, 12:38 น., https://voicetv.co.th/read/oN2f9SZA2

[5]ร่าง พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเอง ฯ ช้าหรือเร็วต้องเกิดขึ้น, คณะก้าวหน้า, 22 เมษายน 2563, https://progressivemovement.in.th/article/442/ & เลือกตั้งผู้ว่าฯ จังหวัดที่พร้อม ดู สรุป นโยบาย 70 ข้อ จากพรรคเพื่อไทย พฤษภาคม, โดย Sale Here Editor, 15 พฤษภาคม 2566, https://salehere.co.th/articles/phue-thai-party-policy & 'ปิยบุตร' เตือนก้าวไกล 'เลือกตั้งผู้ว่าฯ' ไม่ใช่ยาวิเศษ!, ThaiPost, 3 มิถุนายน 2566, https://www.thaipost.net/politics-news/390178/

[6]ดู รัฐบาลเร่งกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแก้เหลื่อมล้ำ-ลดกระจุกตัวพัฒนา, สยามรัฐ, 7 ธันวาคม 2565, https://siamrath.co.th/n/405689 & “ธนาธร” ร่วมวงประชุม ขรก.เดินหน้า “ปลดล็อกท้องถิ่น”, สยามรัฐ, 8 ธันวาคม 2565, https://siamrath.co.th/n/405892 & 'ธนาธร' จัดประชุมใหญ่นายกฯ ท้องถิ่นคณะก้าวหน้า ชูก้าวไกลเป็นรัฐบาลเปลี่ยนประเทศ, มติชน, 5 กุมภาพันธ์ 2566, อ้างแล้ว

[7]จังหวัดจัดการตนเอง หนทางแห่งการลดความขัดแย้งและเหลื่อมล้ำ โดยสร้อยแก้ว คำมาลา, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.), 28 มีนาคม 2559, https://ref.codi.or.th/public-relations/news/14902-2016-07-04-04-45-50 & “อนุ กมธ. ปกครองท้องถิ่น” เตรียมเสนอร่าง พรบ.จังหวัดจัดการตนเอง, สยามรัฐ, 29 มกราคม 2563, https://siamrath.co.th/n/129470 & จับตา รบ.-สภา ไฟเขียวร่างกฎหมาย จังหวัดจัดการตนเอง, มติชน, 5 กุมภาพันธ์ 2563, https://www.matichon.co.th/politics/politics-in-depth/news_1945981 & รายงานการศึกษา เรื่อง รูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง โดย นายซูการ์โน มะทา ประธานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ การปกครองส่วนท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นและการบริหารราชการรูป แบบพิเศษ สำนักกรรมาธิการ 2, ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สผ 0018.05/ 6032 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564, https://pis.parliament.go.th/PARFileDownloadProxy/download?s=Dvcs_iISUxFwFDW6AP6ntk24nYODykCq7ZriGQP18XU2X0BXso_QmNm-otEEaj6WMtXQ_sDZpLmGc_kWtvuP1oZ7ZfQXA43zyg_q_OOR5RP617tyS9GiNbwubY4LNa2DW3KjgEQKeWXbJD76QZgEIlmVOqi-LC4wyWU=&ref=1582929&n=1 

[8] หนุนเลือกผู้ว่าฯแบบกทม. นำร่องจว.ปริมณฑลก่อน, ไทยโพสต์, 24 สิงหาคม 2561, 00:01 น., https://www.thaipost.net/main/detail/16044 & หากจะเดินหน้า “จังหวัดจัดการตนเอง” จังหวัดไหนเหมาะเป็นพื้นที่นำร่อง, The Active : 20 สิงหาคม 2564, https://m.facebook.com/theactive.net/photos/a.240742769290424/4473283132703012/?type=3 & กมธ.กระจายอำนาจฯ ชงเลือกตั้งผู้ว่าฯ นำร่องภาคละ 1-2 จังหวัด, ประชาไท, 26 มิถุนายน 2565, https://prachatai.com/journal/2022/06/99251

[9]ภูเก็ตไต่บันได 4 ขั้น จัดการตนเองภายใน 2 ปี, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.),28 ตุลาคม 2558, https://ref.codi.or.th/public-relations/news/14147-4-2 & "ภูเก็ต" กับโอกาส "จัดการตนเอง", รายการตรงประเด็น, Thai PBS, 4 สิงหาคม 2565, https://www.thaipbs.or.th/program/ActiveFocus/episodes/88904 & กมธ.ฯ' กระจายอำนาจฯ เผย คนภูเก็ตอยากจัดการตัวเองเหมือน กทม., มติชน, 5 ธันวาคม 2565, https://www.matichon.co.th/politics/news_3710087 

[10]เชียงใหม่ถกเรื่องเลือกตั้งผู้ว่า ยุติใช้ส่วนกลางครอบงำท้องถิ่น, มติชน, 6 กรกฎาคม 2566, 17:07 น., https://www.matichon.co.th/region/news_4066667 

[11]ดู จังหวัดจัดการตนเอง, ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%87 

[12]'ก้าวไกล’ ย้ำโรดแมฟเดินหน้าเลือกตั้ง ‘ผู้ว่าฯจังหวัด’ 3 ขั้นตอน, ดู ปฏิรูปใหญ่ ย้อน “พิมพ์เขียว” จว.ปกครองตนเอง-ว่าที่รบ.”ก้าวไกล” ดัน “ประชามติ” เลือกตั้งผู้ว่าฯ, สำนักข่าวอิศรา, 17 พฤษภาคม 2566, https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/118616-political-party-policy-election-provincial-governor-report.html

[13]มาทวนความจำกันหน่อยว่ากฎหมายระเบียบฯเหล่านี้ได้แก้ไขบ้างหรือยัง, BadLaw กฎหมายระเบียบหนังสือสั่งการที่เป็นอุปสรรคในการทำงานที่ควรแก้ไข (ยังไม่ได้จัดกลุ่มปัญหา 4 ด้าน) โดย สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย 2553-2557, ใน FB การปกครองท้องถิ่น&การปฏิรูปประเทศไทย, 19 กันยายน 2563, https://www.facebook.com/668226626619173/posts/3101275709980907/?mibextid=rS40aB7S9Ucbxw6v 

[14]เป็นการสัมมนาวิชาการในวงจำกัดเฉพาะข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น (เทศบาล อบต. และ อบจ.) โดยการระดมปัญหาอุปสรรคต่างๆ จากบรรดาตัวแทนข้าราชการกลุ่มต่างๆ ในปัญหาอุปสรรคในทางปฏิบัติทั้งหมด โดยเฉพาะในเรื่อง “ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติราชการ” ดู BadLaw กฎหมายระเบียบหนังสือสั่งการที่เป็นอุปสรรคในการทำงานที่ควรแก้ไข (ยังไม่ได้จัดกลุ่มปัญหา 4 ด้าน) โดย สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย 2553-2557, อ้างแล้ว

[15]สรุปปัญหาอุปสรรคในการกระจายอำนาจมีมากมาย การสัมมนาเป็นเพียงกันมาถามไถ่ทบทวน สร้างองค์ความรู้ร่วมกันว่า มันเป็นปัญหาที่แห้จริงหรือไม่ อย่างไร แม้ว่าการสัมมนาวิชาการครั้งนี้จะเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นฝ่ายประจำ แต่คาดว่าเป็นการจุดประกายในการตั้งใจทำงานร่วมกันกับฝ่ายการเมืองท้องถิ่น และพรรคการเมืองที่ดี นี่เป็นเพียงทิศทางแนวทางเท่านั้น เช่น การจัดทำประชามติ "ยกเลิก" ราชการส่วนภูมิภาคและ "เลือกตั้ง" ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีระยะเวลาถึงประมาณ 5 ปี เป็นต้น

[16]ประเทศไทยแบ่งโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นออกเป็น 2 ชั้น คือ (1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับบน (Upper-Tier) ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และ (2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง (Lower - Tier) ได้แก่ เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นแนวความคิดการเสนอรูปแบบการปกครองท้องถิ่นระดับล่าง (Lower-Tier) ให้รวม อปท. (เทศบาล และ อบต.) เข้าด้วยกันเป็น “เทศบาลจังหวัด และ เทศบาลอำเภอ” โดยยึดเขตการปกครองเขตจังหวัด และเขตอำเภอเป็นหลัก

[17]สถานการณ์การคลังท้องถิ่นในช่วงโควิด 2019 มีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้ อปท.ทุกแห่งมีรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลดลงมาก โดยเฉพาะ อปท.ขนาดใหญ่ ผ่านมาหลายปีถึงปีปัจจุบัน กทม.ท้วงสิทธิการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มๆ จากกระทรวงมหาดไทย เพราะมีการอำพรางการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตเมืองใหญ่มาก ทำให้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งลูกสร้างไม่ได้ นายชัชชาติฯ ยกตัวอย่างว่า เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เดิมการเก็บภาษีโรงเรือน จะคิดจากรายได้ 12.5% เพื่อมาเป็นรายได้ของเขต แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบภาษีใหม่ โดยคิดตามมูลค่าที่ดิน ยกตัวอย่าง เขตพญาไท ก่อนที่จะเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บภาษี สามารถจัดเก็บได้ประมาณ 300 ล้านบาท เมื่อเปลี่ยนรูปแบบภาษีทำให้รายได้ลดลงเหลือประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะคาดว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ผู้ที่มีรายได้มากจะต้องเสียภาษีมาก แต่พบว่า ไม่ได้เป็นไปตามนั้น 

ดู ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ฝากรัฐบาลใหม่ ทบทวนนโยบายเก็บภาษีที่ดินฯ หลังรายได้ลด-ลดเหลื่อมล้ำไม่ได้จริง, workpointtoday, 29 พฤษภาคม 2566, https://workpointtoday.com/land-and-building-tax/ 

& เทศบาลนครที่มีรายได้จัดเก็บเองมากที่สุด ในปีงบประมาณ 2562 ได้แก่ เทศบาลนครมาบตาพุด โดยมีรายได้ที่สามารถจัดเก็บเองมากถึง 1,170.69 ล้านบาท รองลงมาเป็นเทศบาลนครแหลมฉบัง มีรายได้ 661.22 ล้านบาท และเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ มีรายได้ 473.16 ล้านบาท ตามลำดับ

เทศบาลนครที่มีความสามารถในการหารายได้สูงที่สุด ในปีงบประมาณ 2562 ได้แก่ เทศบาลนครมาบตาพุด โดยมีความสามารถในการหารายได้มากถึง 66.49% รองลงมาเป็นเทศบาลนครแหลมฉบัง มีความสามารถในการหารายได้ 47.95% และเทศบาลนครเกาะสมุย มีความสามารถในการหารายได้ 39.69% ตามลำดับ

ดู สถิติน่ารู้เกี่ยวกับเทศบาล, เทศบาลนคร : ความสามารถในการหารายได้ท้องถิ่น, โดยสถาบันพระปกเกล้า : KPI, King Prajadhipok's Institute, 24 กุมภาพันธ์ 2564, https://www.kpi-corner.com/content/8325/local00123

[18]คำว่า “ระบบอุปถัมภ์เส้นสาย” (patronage system & connections)ในวงราชการส่วนท้องถิ่นมีผลกระทบต่อระบบบริหารงานบุคคลท้องถิ่นมาก ทำให้ “เส้นทางความก้าวหน้าในสายงานอาชีพ” (career path) ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นไม่โต มือใครยาวก็สาวได้สาวเอา หรือถูกขีดคั่น ถูกจำกัดด้วยเหตุประการต่างๆ เพราะนายก อปท.มี “อำนาจดุลพินิจมาก” ในการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น มีการนำระบบอุปถัมภ์มาใช้ในการสรรหาบุคคลากร การแต่งตั้งบุคลากรฝ่ายประจำ และ การใช้เส้นสายวงใน (connections) ในการบริหารงานบุคคล ที่มีมาตรฐานที่แตกต่างทำให้เกิดความลักลั่น เหลื่อมล้ำ และ เปิดช่องทางให้มีการทุจริต ซื้อขายตำแหน่ง อีกทั้งการทุจริต และทุจริตเชิงนโยบายมาก เพราะ ”การถอนทุนคืน” การไม่ซื้อสัตย์ต่อองค์กร จากการซื้อขายตำแหน่ง

[19]ขอคนละชื่อผลักดันเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดทั่วประเทศ และจังหวัดจัดการตนเอง ฉบับประชาชน ดู ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง, The Voters, https://thevotersthai.com/support-us-signature/& ‘The Voters’ ชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงชื่อผลักดันร่างแก้ รธน. ให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ โดย THE STANDARD TEAM, 11 กุมภาพันธ์ 2566, https://thestandard.co/the-voters-governors-across-the-country/

[20]สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง(Self-Determination Right or Right to self-determination : RSD or Self-Determinism) คือ สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง คือ สิทธิของประชาชนในการมีอิสระที่จะตัดสินใจเลือกสถานะทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเอง หรือในชื่ออื่น เช่น สิทธิในการกำหนดใจตนเอง, สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง, สิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตตนเอง, สิทธิในการกำหนดเจตจำนงตนเอง ฯลฯ มีการรณรงค์ในเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง หรือการพยายามเสนอร่างกฎหมายเชียงใหม่มหานคร, ปัตตานีมหานคร ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง แต่ในวงวิชาการนั้นมีมานานแล้ว นานกว่าการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติเสียอีก 

สิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเอง หรือ Right to self-determination (RSD) เป็นแนวคิดที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม โดยพบว่าชนชาติต่างๆ ต้องการกำหนดแนวทางของชนชาติตนเอง จากนั้นปรากฏนิยามในกฎบัตรสหประชาชาติในปี ค.ศ.1945 แต่ไม่ได้กำหนดนิยามแบบชัดเจน ระบุเพียงว่า เป็นหลักการขั้นพื้นฐานว่าด้วยเรื่องสิทธิของประชาชนที่จะสามารถตัดสินใจทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ด้วยตัวพวกเขาเอง (ปรวรรณ วงษ์รวยดี, 2560)

ดู สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self-Determination Right), โดยชำนาญ จันทร์เรือง, ประชาไท, 25 พฤษภาคม 2560, https://prachatai.com/journal/2017/05/71639 & ทำไม "สิทธิกำหนดชะตากรรม" ไม่เท่ากับ "การเป็นเอกราช", Thai PBS, 20 มิถุนายน 2566, https://www.thaipbs.or.th/news/content/328952 & มโนทัศน์เรื่องสิทธิในการกาหนดชะตากรรมตนเองในพื้นที่ความขัดแย้ง จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย, โดย ปรวรรณ วงษ์รวยดี, psu.ac.th, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2560, https://kb.psu.ac.th/psukb/bitstream/2016/12684/1/426583.pdf

 

NB : บทความนี้เผยแพร่ใน FB เพจสิทธิมนุษยชนและการแรงงาน, พรรคการเมืองกับการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่น : ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), 5 กรกฎาคม 2566, https://www.facebook.com/laborphachern/posts/pfbid034zhreSL5TthAjZNLQqedNNKCESovWFCU9xuqotRJMRoTVais7JjVLwR5UnxsURd6l 

หมายเลขบันทึก: 713461เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2023 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2023 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท